อยากสอบเกี่ยวกับการตั้งจิตก่อนให้ทานหรือถวายสังฆทานให้ถูกต้องครับ

 
สืบต่อพุทธ
วันที่  5 เม.ย. 2557
หมายเลข  24677
อ่าน  1,178

ไม่ทราบว่าการตั้งจิตก่อนการให้ทานหรือถวายทานให้ถูกต้องตามพระอภิธรรมหรือปรมัตถ์ธรรมอย่างไรครับ จะได้เป็นไปเพื่อสละออกครับ

ขอบคุณครับ สาธุๆ ๆ ครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 6 เม.ย. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ไม่มีตัวตนที่ไปตั้ง แต่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย และต้องมีความเข้าใจว่า ทาน คือ การให้สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น ก็ไม่พ้นไปจากสภาพจิตที่ดีงามที่เกิดขึ้น เพราะไม่ว่าจะกล่าวถึงเรื่องใด ก็ไม่พ้นไปจากธรรม เป็นสิ่งที่มีจริงๆ ในชีวิตประจำวัน ทาน เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว ไม่ได้เกิดขึ้นตลอด สำหรับผู้ที่เห็นประโยชน์ของการเจริญกุศลว่า ถ้าไม่เป็นกุศลแล้วก็เป็นโอกาสของอกุศลที่จะเกิดขึ้น ก็จะไม่ละเลยโอกาสของการเจริญกุศลแม้เพียงเล็กน้อย และที่สำคัญก็เป็นไปเพื่อการสละกิเลสขัดเกลาสิ่งที่ไม่ดีที่สะสมอยู่ในจิตของตนเอง เพราะฉะนั้นแล้ว จุดประสงค์ของการเจริญกุศล ไม่ใช่เพื่อติดข้องต้องการ ไม่ใช่เพื่อหวังผลของบุญกุศลที่ได้ทำ แต่ต้องเป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลสของตนเองซึ่งสะสมมาอย่างเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ การเดินทางในสังสารวัฏฏ์ยังอีกยาวไกลมาก การสะสมความดีและฟังพระธรรมให้เข้าใจ ย่อมเป็นที่พึ่งได้อย่างแท้จริง ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 6 เม.ย. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงเป็นไปตามเหตุปัจจัย ที่สำคัญเป็นไปตามกำลังปัญญาของการสะสมมา แม้การตั้งจิต ก็แล้วแต่ว่า จะเกิดการตั้งจิตที่ดีก่อนการให้ทาน การทำบุญหรือไม่ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา แต่เมื่อได้ศึกษาพระธรรมละเอียดมากขึ้นแล้ว ปัญญาเจริญขึ้น จิตก็น้อมไปในทางที่ดี เพื่อละคลาย สละออกจากกิเลส จากสังสารวัฏฏ์

แม้แต่การทำบุญ ทำกุศลต่างๆ ก็เกิดจิตที่ดี ที่เรียกว่า ตั้งจิตไปในทางที่ดี แท้ที่จริงก็คือ จิตที่ดีเกิดขึ้นก่อนทำกุศล ที่จะเป็นไปเพื่อออกจากสังสารวัฏฏ์ ซึ่งพระพุทธเจ้าได้แสดงพระธรรมในส่วนนี้ไว้ว่า การเจริญประการใดประการหนึ่งก็ตาม การที่จิตที่ดีเกิดขึ้น คือ น้อมจิตไปในการเจริญกุศลเพื่อออกจากสังสารวัฏฏ์ เพื่อดับกิเลส เป็นสิ่งที่ถูกต้อง ซึ่งขอยกข้อความในพระไตรปิฎก มาแสดงดังนี้ ครับ

[เล่มที่ 32] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 97

อรรถกถา ปณิหิตอัจฉวรรค สูตรที่ ๒

กุศลมีจำนวนน้อย ไม่ว่าจะเป็นการให้ใบไม้ประมาณกำมือหนึ่ง หรือกุศลใหญ่ๆ เช่นการให้ของเวลามพราหมณ์เป็นต้น ก็ตามเถิด ถ้าปรารถนาวัฏฏสมบัติ จิต ชื่อว่าตั้งไว้ผิด ด้วยอำนาจอิงวัฏฏะ สามารถนำวัฏฏะเท่านั้นมาให้ หาสามารถนำวิวัฏฏะมาให้ไม่. แต่เมื่อบุคคลปรารถนาวิวัฏฏะอย่างนี้ว่า "ขอทานของเรานี้ จงนำมาซึ่งความสิ้นอาสวะ" จิตชื่อว่าตั้งไว้ชอบ ด้วยอำนาจวิวัฏฏะ ย่อมสามารถให้ทั้งพระอรหัตต์ ย่อมสามารถให้ทั้งปัจเจกโพธิญาณทีเดียว.

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

ดังนั้น การตั้งจิต คือ เกิดจิตที่ก่อนทำบุญ ปรารถนาเกิดในสวรรค์ ได้ลาภ สักการะ ขณะนั้นเป็นการตั้งจิตผิด เพราะเกิดอกุศลจิตก่อนทำกุศล ส่วนขณะใดที่ทำกุศล น้อมไปให้กุศลนั้น เพื่อละกิเลสประการต่างๆ เป็นบารมี ขณะนั้น ชื่อว่า ตั้งจิตไว้ถูกต้อง เพราะเป็นกุศล ที่มีความเข้าใจถูกเป็นสำคัญ แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า ทุกอย่างเป็นธรรมและเป็นอนัตตา ไม่สามารถบังคับให้เกิดจิตที่ดี หรือ ไม่ดีได้ในขณะใดขณะหนึ่ง ครับ

ที่สำคัญ อยู่ที่ การมีปัญญา เข้าใจพระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้และทรงแสดง เมื่อปัญญาเกิดขึ้น ขณะที่ปัญญาเกิด ความเข้าใจถูกเกิดขึ้น ก็สละออกจากิเลส ละกิเลสในขณะนั้น และการเจริญกุศลก็เป็นไปตามเหตุปัจจัย แม้ไม่ได้อธิษฐาน ในขณะนั้นก็ตาม แต่ก็ชื่อว่าตั้งจิตไว้ถูกต้องแล้ว ครับ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
one_someone
วันที่ 6 เม.ย. 2557

สิ่งสำคัญอยู่ที่ความเข้าใจพระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้และทรงแสดงจนกระทั่งมีผู้รู้ตามเห็นถูกเข้าใจถูก เพราะขณะที่เข้าใจถูกต้องก็คือ

"การสละออก"

แม้ว่าจะไม่ได้อธิษฐานอะไรก็ตาม

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ