อยากทราบวิธีขจัดความกลัว

 
เอริน
วันที่  24 ก.พ. 2557
หมายเลข  24519
อ่าน  2,340

บางทีมีใครมาทักอะไรๆ ในสิ่งที่ตามองไม่เห็น หรือบางครั้งอาจจะรู้สึกไปเอง ทราบว่าในโลกนี้ ไม่มีคน ไม่มีสัตว์ ....แต่บางครั้งพอมีใครพูดมา ก็ยังมีบ้างที่ขาดสติ กลายเป็นความกลัวเกิดขึ้นในใจ ปัญญาที่มีก็ยังน้อยนิด เมื่อความกลัวเกิดขึ้น ไม่ทราบว่าควรจะคิดอย่างไรให้ถูกต้องดีคะ..

ก่อนหน้านี้ได้นึกถึงคนที่เพิ่งตายไป คิดวกๆ วนๆ ไปมาอยู่อย่างนั้นทุกวัน สงสารเขาค่ะ นึกถึงเขาคิดว่าเขาจะเป็นอย่างไรในโลกอื่น เขาจะลำบากไหม ก่อนตายเขาทำความดีอะไรไว้บ้าง กุศลที่ทำจะพอคุ้มครองเขาไหม ฯลฯ คิดทุกวันนานพอควร แต่ก็ไม่ได้เล่าหรือบอกให้ใครทราบ ...อยู่ๆ มีผู้ทรงศีลท่านหนึ่งทัก ท่านอาจจะเห็นอะไรหรืออย่างไร ท่านก็ไม่ได้บอกรายละเอียด แต่ส่วนตัวรู้สึกกลัวมาก กอรปก่อนหน้านั้นรู้สึกเหมือนเห็นอะไรแปลกๆ แม้จะเตือนสติตัวเองว่าเรามีพระพุทธคุณ พระธรรมคุณเป็นที่ระลึก ดิฉันกลายเป็นคนขวัญอ่อน ไม่ทราบว่าจะขจัดความกลัวแบบนี้ได้อย่างไรคะ? และควรคิดอย่างไรเพื่อให้สติหรือปัญญาเกิดคะ? ขอบพระคุณค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 24 ก.พ. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ความกลัวเป็นสภาพธรรมที่มีจริง ทีเ่กิดจากกิเลส คือ โทสะ ซึ่ง เป็นธรรมดาของปุถุชน ที่ยังมากด้วยกิเลส ย่อมเกิดความกลัวได้ เมื่อเหตุปัจจัยพร้อม ผู้ที่ไม่กลัวคือ พระอนาคามี ครับ

อย่างไรก็ดี การจะกำจัดความกลัว ให้ดีขึ้น ก็คือ อาศัยการฟังสิ่งที่ดี คือ พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงบ่อยๆ เพื่อให้คิดนึก ในสิ่งที่ดี แทนสิ่งที่ไม่ดี แม้จะไม่สามารถบังคับให้เกิดความกลัวได้ ก็ให้รู้ว่าเป็นธรรมดา ยังไงก็ยังจะต้องเกิดความกลัว แต่ ความกลัวเกิดขึ้นได้ เพราะ คิดนึกในเรื่องที่กลัว เพราะฉะนั้น ก็สะสมความคิดนึกใหม่ คือ อ่านหรือฟังธรรม เพราะ ขณะที่อ่าน หรือ ฟัง ก็กำลังคิดนึกเรื่องราวใหม่ๆ อยู่ในขณะนั้น ก็สะสม ความคิดนึกที่ดีใหม่ๆ ทำให้มีปัจจัยที่จะคิดนึกเรื่องธรรมมากขึ้น แม้จะยังไม่มากก็ตาม

เพราะฉะนั้น พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง อุปการะ เกื้อกูลให้เห็นถูก แต่ไม่ใช่ยารักษาให้หายโรคกิเลสทันที เพราะสะสมกิเลสมากมาก แต่ค่อยๆ บรรเทา และ อยู่กับกิเลสด้วยความเข้าใจว่า ความกลัว เป็นอนัตตา บังคับให้เกิด หรือ ไม่เกิด ไม่ได้ แต่ควรเข้าใจถูกว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เราที่โกรธ และเห็นประโยชน์ของการศึกษาพระธรรม เพราะเห็นโทษของความกลัว เห็นโทษของกิเลสที่ทำให้ทุกข์ การไม่ทุกข์เพราะปัญญาเกิด เพราะฉะนั้น ค่อยๆ สะสม ปัญญาไปทีละนิด โดยการสะสมความคิดนึกที่ถูกต้องด้วยการฟังพระธรรม แม้จะสลับกับความกลัวบ้าง แต่อย่างน้อยก็ได้สะสม ความเห็นถูก จนในที่สุด ในอนาคตกาล ย่อมดับกิเลส ดับความกลัวได้ในที่สุดครับ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 24 ก.พ. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง นั้น แสดงถึงความเป็นจริง ของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา เพื่อให้ผู้ฟังได้เข้าใจถึงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง สำหรับธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงนั้น ไม่พ้นไปจากสิ่งที่มีจริงในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งทีกระทบสัมผัส คิดนึก จิตเป็นกุศล เป็นอกุศล เป็นวิบาก เป็นกิริยา โดยประมวลแล้ว เป็นจิต เจตสิก รูป หรือ เป็นนามธรรม กับ รูปธรรม เมื่อประมวลให้ย่อที่สุดแล้ว คือ เป็นธรรม หรือ เป็นธาตุ เมื่อเป็นธรรม เป็นธาตุแต่ละอย่างๆ จึงหาความเป็นสัตว์เป็นบุคคลไม่ได้เลย สภาพธรรมทั้งหลายเหล่านี้ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และ เป็นอนัตตา ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ควรรู้ ควรศึกษาให้เข้าใจ และสามารถเข้าใจได้ ด้วยปัญญา ความกลัว ก็เป็นธรรมที่มีจริง

ในขณะที่เกิดความกลัวขึ้นนั้น ก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นสภาพจิตที่เป็นอกุศล ประกอบด้วยโทสะ และ ความรู้สึกไม่สบายใจ ขณะที่เกิดความกลัวย่อมไม่มีความสบายใจบ้างเลย ซึ่งเป็นธรรมดาของบุคคลผู้ที่ยังละโทสะไม่ได้ การที่จะดับความกลัวไม่ให้เกิดขึ้นอีกเลย ต้องเป็นผู้อบรมเจริญปัญญาถึงขั้นที่เป็นพระอนาคามี จึงจะไม่มีความกลัวเกิดขึ้น, ในชีวิตประจำวัน ขณะที่จิตเป็นกุศล ก็ไม่กลัวแล้ว เพราะขณะที่จิตเป็นกุศล ไม่มีโทสะเกิดร่วมด้วยอย่างแน่นอน เป็นธรรมคนละประเภทกัน ไม่เกิดร่วมกันอย่างเด็ดขาด ค่อยๆ เจริญกุศลไปในชีวิตประจำวัน ก็จะบรรเทาความกลัวได้ ดังนั้น การที่จะกำจัดความกลัว ต้องด้วยกุศลทุกๆ ประการเท่านั้น แต่ที่สำคัญ ต้องไม่ลืมความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม ที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น แม้แต่ความกลัว ก็เป็นธรรมที่มีจริง ไม่ใช่เรา และกุศลธรรม ที่เกิดขึ้นก็เป็นธรรม ไม่ใช่เราอีกเหมือนกัน ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 24 ก.พ. 2557

ต้องมีปัญญาที่จะรู้ว่าความกลัวเป็นธรรมไม่ใช่เรา ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
เอริน
วันที่ 24 ก.พ. 2557

จากความคิดเห็นที่ 2 รบกวน ขอสอบถามท่านอาจารย์ khampan.a เพิ่มเติมนะคะ

ที่แจงว่า .......เป็นธาตุแต่ละอย่างๆ จึงหาความเป็นสัตว์เป็นบุคคลไม่ได้เลย......

"ธาตุ" ที่พูดถึง คือ จิต เจตสิก ซึ่งเป็นนามธรรมจับต้องไม่ได้ ส่วน รูป ก็เป็นรูปธรรม ซึ่งแยกออกมาแล้วเป็น ดิน, เป็นน้ำ, เป็นลม, เป็นไฟ ซึ่งก็เป็นรูปธาตุๆ หนึ่ง รวมแบบนี้ด้วยใช่ไหมคะ?

ที่แจงว่าธรรมคือสิ่งที่มีจริงๆ ถ้าอย่างนั้นความกลัว / กลัวจริงๆ ก็เป็นธรรมๆ หนึ่ง คือหมายถึงไม่มีเรา และไม่ใช่เราที่ต้องไปกลัว ไม่ทราบว่า พอจะมีหัวข้อ เรื่องไหนอธิบายหรืออยากแนะนำ ให้อ่านเพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องยิ่งขึ้น ขอความกรุณาและรบกวนท่านอาจารย์ช่วยแนะนำด้วยนะคะ

กราบอนุโมทนาและขอบพระคุณท่านอาจารย์ทั้ง 3 ท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
khampan.a
วันที่ 24 ก.พ. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เรียน ความคิดเห็นที่ ๔ ครับ

ธรรม ต้องค่อยๆ ฟังค่อย ๆ ศึกษาไป ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย สำหรับคำว่า "ธาตุ" นั้น ไม่พ้นไปจากสิ่งที่มีจริง เป็นสิ่งที่มีจริงๆ แต่ละหนึ่งๆ โดยไม่ปะปนกัน ทรงไว้ซึ่งลักษณะสภาวะของตนๆ ใครๆ ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ แม้แต่ที่เรียกว่าเป็นตัวเรา ก็คือ ธาตุ นั่นเอง ตา ก็เป็นธาตุอย่างหนึ่ง หู ก็เป็นธาตุอย่างหนึ่ง ลิ้น ก็เป็นธาตุอย่างหนึ่ง จิต ก็เป็นธาตุ เจตสิก ที่เกิดร่วมกับจิต ก็เป็นธาตุ เป็นต้น หรือ แม้แต่ที่คุณ เอริน กล่าวถึง จิต เจตสิกเป็นนามธาตุ รูปแต่ละรูป เช่น ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม เป็นต้น เป็นธาตุในส่วนที่เป็นรูป ก็โดยนัยเดียวกัน ไม่ว่าจะกล่าวถึงสิ่งใดที่มีจริง ล้วนเป็นธาตุ ทั้งหมด แม้แต่ความกลัว ก็เป็นธาตุ ขณะที่ความกลัวเกิดขึ้น ก็ต้องมีจิต ที่เป็นอกุศลจิต อกุศลจิตก็เป็นธาตุ (มโนวิญญาณธาตุ) ในขณะนั้นโทสเจตสิก เกิดร่วมกับอกุศลจิต พร้อมกับเจตสิกประการอื่นๆ เจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ก็เป็นธาตุ (คือ เป็นธัมมธาตุ) ดังนั้น จึงหาความเป็นสัตว์เป็นบุคคลไม่ได้ เพราะมีแต่ธาตุ แต่ละอย่างๆ เท่านั้น ครับ

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

ไม่มีเรา มีแต่ธาตุ

ธาตุ

ธาตุ ๑๘

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
peem
วันที่ 25 ก.พ. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 26 ก.พ. 2557

สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ และขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ