ทัพพีไม่รู้รสแกง

 
papon
วันที่  6 ม.ค. 2557
หมายเลข  24294
อ่าน  4,523

ขอทราบความหมายของคำว่า ทัพพีไม่รู้รสแกง


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 6 ม.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

[เล่มที่ 41] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒-หน้าที่ 190

เรื่องพระอุทายีเถระ

ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพระอุทายีเถระ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "ยาวชีวมฺปิ เจ พาโล" เป็นต้น

คนไม่รู้มักถือตัว

ได้ยินว่า พระอุทายีเถระนั้น เมื่อพระเถระผู้ใหญ่หลีกไปแล้ว ไปสู่โรงธรรมแล้ว นั่งบนธรรมาสน์ ต่อมาวันหนึ่ง พวกภิกษุอาคันตุกะเห็นพระอุทายีเถระนั้นแล้วเข้าใจว่า "ภิกษุนี้จักเป็นพระมหาเถระผู้พหูสูต" จึงถามปัญหาปฏิสังยุตด้วยขันธ์เป็นต้นแล้ว ติเตียนท่านผู้ไม่รู้อยู่ซึ่งพระพุทธวจนะอะไรๆ ว่า "นี่พระเถระอะไร อยู่ในพระวิหารเดียวกันกับพระพุทธเจ้า ยังไม่รู้ธรรมแม้สักว่าขันธ์ธาตุและอายตนะ" ดังนี้แล้ว จึงกราบทูลความเป็นไปนั้นแด่พระตถาคต ลำดับนั้น พระศาสดา เมื่อจะทรงแสดงธรรมแก่พวกภิกษุอาคันตุกะนั้น จึงตรัสพระคาถานี้ว่า :-

"ถ้าคนพาล เข้าไปนั่งใกล้บัณฑิตอยู่ แม้จนตลอดชีวิต เขาย่อมไม่รู้ธรรม เหมือนทัพพีไม่รู้รสแกงฉะนั้น"

อธิบายว่า เหมือนอย่างว่า ทัพพี แม้คนแกงต่างชนิด มีประการต่างๆ อยู่ จนกร่อนไป ย่อมไม่รู้รสแกงป่า 'นี้รสเค็ม นี้รสจืด นี้รสต่างๆ อยู่จนกร่อนไป ย่อมไม่รู้รสแกงป่า 'นี้รสเค็ม นี้รสจืด นี้รสขม นี้รสขื่น นี้รสเผ็ด นี้รสเปรี้ยว นี้รสฝาด ฉันใด; คนพาลเข้าไปนั่งใกล้บัณฑิตลอดชีวิต ย่อมไม่รู้ธรรมมีประการดังกล่าวแล้ว ฉันนั้นเหมือนกัน.


จะเห็นได้ว่าการศึกษาธรรม เป็นไปเพื่อน้อมประพฤติปฏิบัติ เมื่อเข้าใจถูกต้องด้วยจุดประสงค์ที่ถูก ปัญญาย่อมทำหน้าที่ปรุงแต่งให้สติเกิดระลึกสภาพธรรม ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา นี่คือผลของการศึกษาพระธรรมที่ถูกต้อง แต่หากศึกษาเพื่อเรา เพื่อได้ เพื่อจะรู้ ไม่ใช่เพื่อละ คือ ละความไม่รู้ในสภาพธรรมขนาดนี้ แม้จะจำข้อความธรรมได้มาก แต่ก็ไม่เข้าใจอรรถ ไม่เข้าใจตัวจริงของสภาพธรรมไม่เข้าใจว่าสิ่งที่ศึกษาก็อยู่ในชีวิตประจำวันและปัญญาควรรู้ในขณะนี้ รู้ในสภาพธรรมที่มีในขณะนี้ ก็เป็นการศึกษาที่ผิด เป็นการศึกษาที่เรียกว่าจับงูผิดที่หาง ไม่เป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลส ไม่รู้ความจริงขณะนี้

ดังนั้น แม้อยู่ใกล้บัณฑิตแต่ศึกษาธรรมด้วยความไม่แยบคาย ก็ลืมจุดประสงค์ที่ว่าเพื่อขัดเกลากิเลส และรู้สภาพธรรมที่มีในขณะนี้ ก็มีแต่เพิ่มกิเลสและความไม่รู้ ก็เปรียบ เหมือนทัพพี แม้จะอยู่ใกล้อาหารที่ดีตลอดเวลา แต่ก็ไม่สามารถรู้รสแกงของอาหารได้เลย คือไม่ได้คุณธรรมความดีจากการศึกษา เมตตาเพิ่มขึ้นไหม กุศลประการต่างๆ เพิ่มขึ้นไหม และสำคัญที่สุด ก็ไม่ได้เข้าใจสภาพธรรมที่มีในชีวิตประจำวันด้วยครับ วาจาแม้กล่าวมาก แต่ไม่ได้ประพฤติปฏิบัติตาม ก็เหมือนดอกไม้มีสีแต่ไม่มีกลิ่นฉะนั้น การศึกษาธรรมจึงเป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลสและรู้สภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ ไม่มีคำว่าสายครับ หากเริ่มต้นถูกต้อง

พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงนั้น ไม่ใช่เพื่อโลภะ ไม่ใช่เพื่อลาภ ไม่ใช่เพื่อยศ ไม่ใช่เพื่อสักการะ ไม่ใช่เพื่อสุข ไม่ใช่เพื่อการสรรเสริญ แต่ต้องเป็นไปเพื่อปัญญาซึ่งเป็นความเข้าใจถูก เห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง การที่จะเข้าใจได้มากน้อยแค่ไหนนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับการสั่งสมมาของแต่ละบุคคลด้วย จากที่ไม่เคยรู้มาก่อน ก็จะค่อยๆ รู้ขึ้น เข้าใจเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นพระธรรมทั้งหมด เพื่อให้ผู้ฟัง ผู้ศึกษาเกิดปัญญาเป็นของตัวเอง ถ้าเป็นผู้ที่เข้าใจอย่างแท้จริง และมีความมั่นคงในหนทางที่ถูกต้อง ย่อมจะดำเนินไปสู่จุดหมายปลายทาง (คือการดับกิเลส) ได้ในสักวัน คงไม่เป็นเหมือนกับทัพพีที่ไม่รู้รสแกง อย่างแน่นอน ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 6 ม.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง เป็นสิ่งที่ละเอียด ลึกซึ้ง บุคคลผู้ที่มีความละเอียดรอบคอบและมีความเคารพในพระธรรมจึงจะได้ประโยชน์จากพระธรรม คือเข้าใจความจริงของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ และได้ประโยชน์ คือเป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลสที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ซึ่งประโยชน์นี้เกิดขึ้น จากการฟังธรรม สะสมความเข้าใจไปทีละเล็กละน้อย นั่นเอง ในทางตรงกันข้าม บุคคลผู้มีโอกาสได้ฟัง แต่ขาดความละเอียดรอบคอบและมีจุดประสงค์ที่ไม่ถูกต้องในการศึกษา แม้จะได้อยู่ใกล้บัณฑิตซึ่งเป็นผู้รู้แต่ก็ไม่ได้ประโยชน์จากพระธรรม เพราะไม่รู้ความจริงของสภาพธรรม ไม่รู้ว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำและไม่ได้ขัดเกลากิเลสของตนเองเลย ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรกับทัพพีที่ไม่รู้รสแกง ดังนั้นประโยชน์สูงสุดของการศึกษาพระธรรม คือ น้อมประพฤติปฏิบัติตาม เพื่อขัดเกลากิเลสของตนเองด้วยความจริงใจ ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะเป็นอย่างทัพพีไม่รู้รสแกง ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 6 ม.ค. 2557

ทัพพีไม่รู้รสแกงเปรียบเหมือนคนที่อยู่ใกล้บัญฑิต อยู่ใกล้ธรรม แต่ไม่ได้ซึมซับความเข้าใจธรรม และไม่ได้ประพฤติตามพระธรรมคำสอนพระพุทธเจ้า ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
peem
วันที่ 8 ม.ค. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
สิริพรรณ
วันที่ 1 ก.ค. 2559

กราบอนุโมทนา ขอบพระคุณยิ่งค่ะ

อ่านพระสูตรนี้ แล้วยิ่งระลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระพุทธองค์ ที่ตรัสรู้ ความจริงของสภาพธรรม ที่มีความละเอียด ลึกซึ้ง เริ่มต้น ด้วยการ ฟัง พระธรรม จากบัณฑิต และน้อมประพฤติตามพระธรรมนั้น ด้วยความเคารพ เพื่อละความไม่รู้ จนกว่าจะ ละความเป็นเราได้ ในวันหนึ่งที่ไม่ทราบว่า จะเป็นวันใดนานเพียงใด ชาติใด ก็เป็นอนัตตา

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
thilda
วันที่ 29 ก.ค. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
chatchai.k
วันที่ 3 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ