ความต่างของ เวทนา ตัณหา อุปาทาน

 
WS202398
วันที่  6 ม.ค. 2557
หมายเลข  24297
อ่าน  6,013

ท่านใดมีประสบการณ์การระลึกรู้ ความต่างกันของ เวทนา ตัณหา และอุปาทาน ช่วยชี้แนะด้วยครับ คือ เวทนาสามนี้ ก็พอจะรับรู้ได้แบบหยาบๆ ว่าถ้าเป็นเวทนาที่พอใจ ก็น่าจะเป็นสุขหรือโสมนัส หรืออุเบกขา หากไม่พอใจก็น่าจะเป็นทุกข์โทมนัส แต่ตัณหา กับอุปาทาน นี้ไม่ค่อยเห็นครับ เมื่อพิจารณาว่า เวทนาย่อมต่างจากตัณหาแน่ เพราะไม่อย่างนั้นท่านไม่แยกเป็นเวทนา เป็นตัณหาแน่แท้ ทั่วๆ ไปเคยได้ยินว่า ตัณหา คือ ความอยาก อันว่าความอยากนี้โดยทั่วไปเข้าใจได้ไม่สับสนว่า ความอยากกับ ความรู้สึกสุขกับทุกข์ เป็นคนละอย่าง เพราะคนไม่ได้ต้องการความอยาก เมื่อความอยากเกิดขึ้นก็รู้ว่าความอยากเกิดขึ้น ขณะที่ไม่ได้อย่างที่อยากก็เกิดโทมนัส หากได้ตามอยากก็จะเกิดสุขหรือโสมนัส

ดังนั้น ความอยาก (กับความรู้สึกสุขทุกข์) จึงไม่ใช่อันเดียวกัน ความอยากนี้โดยเฉพาะกามตัณหานี้ เกิดได้ทั้งจากการผัสสะรูปโดยตรง และที่ระลึกถึงรูปที่เคยสัมผัสในอดีตใช่หรือไม่ครับ

เมื่อพิจารณาในสายปฏิจจสมุปบาท เมื่อเกิดรูปผัสสะ ก็จะเกิดเวทนา ต่อมาก็จะเกิดตัณหา ตัณหานี้หรือความอยากนี้ อยากในเวทนา หรืออยากในรูปครับ เพราะเวลาความอยากเกิดขึ้น ถ้าเป็นกามตัณหา คนก็จะแสวงหารูป ไม่ได้แสวงหาเวทนาโดยตรง เพราะคนจะเข้าใจว่ารูปนี้ๆ ทำให้ได้เวทนานี้ๆ ผมจึงสงสัยว่า ตัณหานี้มีอะไรเป็นอารมณ์ มีเวทนา หรือมีรูปเป็นอารมณ์

ถ้าจะพิจารณากับคนติดยาเสพติด เวลาเสพยาเกิดสุขโสมนัสเวทนา แต่เวลาอยาก ถ้าโดยความรู้สึกความเข้าใจทั่วๆ ไป ก็คือ อยากยา แสวงหายา อยากอาหาร ก็แสวงหาอาหาร ผมจึงอนุมานว่า ตัณหาความอยาก หรืออยากในรูปในกรณีของกามตัณหา ใช่หรือไม่ครับ

อีกอย่างหนึ่งเมื่อผมพิจารณามาถึงจุดนี้ ก็ตั้งข้อสังเกตว่า เวทนาสาม ที่เกิดจากผัสสะชนิดต่างๆ นั้น ต่างกันหรือไม่ สุขโสมนัสทางตา ต่างจากทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หรือไม่อย่างไร อนุมานว่าเวทนาสามก็คือเวทนาสาม ท่านไม่ได้แยกว่าเวทนาสามนี้แตกต่างกันโดยความที่อารมณ์ต่างกัน แต่ที่รับรู้กันทั่วไปว่า ต่างที่สุขมากสุขน้อยต่างกัน

มาถึงตรงนี้ท่านผู้รู้ช่วยอธิบายด้วยครับว่า เหตุปัจจัยกระบวนธรรมของสุขเวทนากับโสมนัสเวทนาต่างกันอย่างไรครับ เช่น เมื่อตากระทบรูป แล้วอาจเกิดได้ทั้งสุขและโสมนัสหรือไม่อย่างไรครับ สุขเวทนากับโสมนัสเวทนา เกิดได้กับผัสสะทั้งห้าหรือเปล่าครับ

ต่อมาครับ อุปาทานนี้ ท่านว่าคือความยึดมั่นถือมั่น อุปาทานนี้ตรงกับเจตสิกใดหรือไม่ครับ ความอยากกับความยึดต่างกันอย่างไรครับ

ขอเชิญท่านผู้รู้ ช่วยให้ความเห็นกับความเห็น ช่วยแก้ปัญหากับปัญหาเหล่านี้ครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 6 ม.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เวทนา ซึ่งเป็นความรู้สึก นั้น มี ๕ คือ ความรู้สึกที่เป็นสุขทางกาย (สุขเวทนา) ความรู้สึกที่เป็นสุขทางใจ (โสมนัสเวทนา) ความรู้สึกที่เป็นทุกข์ทางกาย (ทุกขเวทนา) ความรู้สึกที่เป็นทุกข์ทางใจ (โทมนัสเวทนา) และ ความรู้สึกเฉยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์ (อทุกขมสุขเวทนา หรือ อุเบกขาเวทนา) ซึ่งจะต้องเกิดขึ้นตามสมควรแก่จิตประเภทนั้นๆ ซึ่งเวทนาเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง ในขณะที่เห็นเกิดขึ้นมีเวทนาเจตสิกเกิดร่วมด้วยแต่เป็นอุเบกขาเวทนาเท่านั้น ส่วนเหตุให้เกิดเวทนาคือ ผัสสะ ครับ

ส่วนประเด็นตัณหา กับ อุปทาน

ตัณหา คือ โลภะ ความติดข้องต้องการ ที่ไม่มีกำลัง ไม่ยึดมั่นมาก เท่ากับอุปทาน ครับ

-อุปาทาน คือความยึดมั่น มี ๔ ได้แก่ กามุปาทาน ๑ ทิฏฐุปาทาน ๑ สีลัพพตุปาทาน ๑ อัตตวาทุปาทาน ๑

-กามุปาทาน โดยสภาพธรรม ได้แก่ โลภเจตสิกอย่างเดียวก็ได้ โดยไม่มีความเห็นผิด เช่น ติดข้องมากๆ ในรูป เสียง กลิ่น รส สิ่งที่กระทบสัมผัส เป็นกามุปาทาน หรือ ติดข้องในความยินดีในภพ เป็นต้น

พระอรหันต์ เท่านั้น ที่ละ กามุปาทานได้

ส่วน ทิฏฐุปาทาน ๑ สีลัพพตุปาทาน ๑ อัตตวาทุปาทาน ๑ เป็นทิฏฐิเจตสิก คือ มีความเห็นผิดด้วย พระโสดาบัน ละ อุปทาน ๓ เหล่านี้ได้ ครับ

โดยสภาพธรรมได้แก่ โลภะ และทิฏฐิ ทั้งโลภะและทิฏฐิมีหลายระดับ ความแตกต่างของตัณหาและอุปาทานก็คือ ตัณหาเป็นโลภะที่เกิดขึ้นครั้งแรก มีกำลังอ่อน เหมือนโจรที่เหยียดมือไปรับเอาสิ่งของ กามุปาทาน เป็นความยึดมั่นในอารมณ์นั้น โดยไม่ปล่อย เป็นโลภะที่มีกำลัง เหมือนโจรที่ยึดของนั้นไว้ การเป็นปัจจัยของตัณหา และอุปาทาน มีอธิบายได้หลายนัย เช่น โดยปกตูปนิสสยปัจจัย ตัณหาที่เกิดก่อนๆ เป็นปัจจัยแก่ กามุปาทานที่เกิดหลังๆ หรือ โดยปัจจัยอื่นๆ เช่น ตัณหาเป็นปัจจัยแก่ทิฏฐุปาทานฯ ที่เกิดพร้อมกันโดยสหชาตปัจจัย อัญญมัญญปัจจัย สัมปยุตปัจจัย เป็นต้น

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 6 ม.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ธรรม เป็นสิ่งที่มีจริงๆ ละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้และทรงแสดงเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์โลก ให้มีความเข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริง ซึ่งจะต้องมีความเพียร อดทน จริงใจ ที่จะศึกษาเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกจริงๆ

-เวทนา เป็นความรู้สึก เป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ เวทนา เกิดกับจิตทุกขณะ แต่ไม่ได้เกิดพร้อมกันทีเดียวทั้ง ๕ เวทนา แต่เกิดตามควรแก่จิตประเภทนั้นๆ เช่น ขณะที่เกิดความติดข้องต้องการ เวทนาในขณะนั้น อาจจะเป็นโสมนัสเวทนาก็ได้ หรือ อุเบกขาเวทนา ก็ได้ ตามความเป็นจริง ถ้าเป็นในขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส ก็เป็นอุเบกขาเวทนา ถ้าเป็นในขณะที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกายจะเป็นทุกขเวทนา (ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรม) หรือเป็นสุขเวทนา ถ้าเป็นผลของกุศลกรรม เป็นต้น เวทนาจะเกิดเองลอยๆ ไม่ได้ เกิดเพราะเหตุปัจจัย ถ้าไม่มีผัสสะกระทบอารมณ์แล้ว เวทนาซึ่งเป็นความรู้สึกก็เกิดขึ้นเป็นไปไม่ได้

-ตัณหา เป็นความอยาก ความต้องการ เมื่อว่าโดยสภาพธรรมแล้ว ได้แก่ โลภเจตสิก ติดข้องในรูปบ้าง เสียงบ้าง กลิ่นบ้าง รสบ้าง โผฏฐัพพะบ้าง เป็นต้น เป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ สภาพธรรมที่เป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา คือ เวทนา ความรู้สึก เป็นที่น่าพิจารณาว่า คนมีทุกข์ ก็ต้องการสุข คนมีสุขก็ยิ่งต้องการสุขยิ่งๆ ขึ้นไป เวทนาที่เป็นปัจจัยแก่ตัณหา ก็ด้วยอำนาจแห่งปกตูปนิสสยปัจจัย

-อุปาทาน เป็นสภาพธรรมที่ยึดมั่นถือมั่น ทั้งที่เป็นการยึดมั่นในกาม ยึดมั่นในความเห็นผิด ยึดมั่นในข้อวัตรปฏิบัติที่ผิด ยึดมั่นในความเป็นตัวตน เมื่อว่าโดยสภาพธรรมแล้ว ไม่พ้นไปจาก โลภะ กับ ทิฏฐิ อุปาทาน ก็ไม่ได้เกิดขึ้นเองลอยๆ แต่เกิดเพราะเหตุปัจจัย สิ่งที่เป็นปัจจัยแก่อุปาทาน ก็ได้แก่ตัณหา ด้วยอำนาจของปัจจัยต่างๆ อย่างเช่น ความเห็นผิด เกิดขึ้น ก็ต้องเกิดร่วมกับโลภะหรือตัณหา ตัณหาจึงเป็นปัจจัยแก่อุปาทานที่เป็นทิฏฐิในขณะนั้น ด้วยอำนาจปัจจัยต่างๆ เช่น เหตุปัจจัยบ้าง สหชาตปัจจัย บ้าง อัญญมัญญปัจจัย บ้าง เป็นต้น แสดงถึงความเป็นจริงของธรรมที่เป็นอนัตตา เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัยไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 6 ม.ค. 2557

ตัณหา คือ ความอยาก อุปทาน คือ ความยึดมั่นถือมั่น เป็นความเห็นผิดก็ได้และมีกำลังมากกว่าตัณหา ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
WS202398
วันที่ 6 ม.ค. 2557

ขอบพระคุณสำหรับคำตอบครับ

ทำไม่อุเบกขาเวทนาถึงไม่มีแบ่งเป็นทางกายกับทางใจครับ

ที่ว่า "ในขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส ก็เป็นอุเบกขาเวทนา" นี้ แสดงว่า ขณะที่แสงจ้ามากแสบตา เสียงดังมากแสบหู ถือเป็นกายสัมผัสใช่ไหมครับ เพราะมันเป็นทุกขเวทนา

เวลาได้กลิ่นเหม็น หรือลิ้มรสอร่อยไม่อร่อยจะเป็นอุเบกขาเวทนาได้อย่างไรครับ หรือว่าขณะเกิดวิญญาณรับรู้รูป เสียง กลิ่น รส เป็นอุเบกขา แล้วไปปรุงต่อทางใจ เป็นโสมนัส โทมนัส แสดงว่ารูปเสียงกลิ่นรส ไม่สามารถทำให้เกิดสุขเวทนา (สุขทางกายได้ใช่หรือไม่ครับ)

เหตุใดสัมผัสทางกายถึงไม่เป็นอุเบกขาเวทนาบ้างครับ

สัมผัสทางกายทำให้เกิดโสมนัส โทมนัส ได้หรือไม่ครับ

แต่ละขั้นลำดับการเป็นปัจจัยในปฏิจจสมุปบาทเกิดขึ้นพร้อมกันในจิตขณะเดียวกันหรือเกิดขึ้นต่างขณะจิตไปตามขั้นๆ ครับ เช่น ขณะที่เกิดจักขุวิญญาณ ถือว่าเกิดอุปาทานหรือยัง หรือว่าต้องรอให้เกิด เวทนาในดวงต่อไป ตัณหาในดวงถัดๆ ไปครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
paderm
วันที่ 7 ม.ค. 2557

เรียน ความเห็นที่ 4 ครับ

อุเบกขาเวทนาเกิดได้ทั้งทาง ตา หู จมูก ลิ้น แต่ขณะที่เป็นกายวิญญาณ ต้องไม่ใช่อุเบกขาเวทนา เพราะความรู้สึกทั้งกาย จะสุข หรือ ทุกข์เท่านั้น เพียงแต่จะทุกข์มากหรือทุกข์น้อยมากก็ได้ หรือ สุขมาก หรือ สุขน้อยๆ ก็ได้ ครับ และ ขณะที่เจ็บหู ก็เป็น ทุกขเวทนาทางกาย ครับ

เวลาได้กลิ่นเหม็น ขณะได้กลิ่น เป็นอุเบกขาเวทนา แต่ ชอบ ไม่ชอบ เป็นความคิด หลังจาก ได้กลิ่น ครับ

ส่วน สัมผัสทางกาย ขณะที่กายวิญญาณเกิด ไม่ใช่โสมนัส โทมนัส แต่ โสมนัส โทมนัสเกิดทางใจ ซึ่งสามารถเกิดต่อจากนั้นได้ ครับ

ส่วนปัจจัยในปฏิจจสมุปบาท เป็นปัจจัยโดยการเกิดพร้อมกัน และ ต่างขณะกันก็ได้ เพราะ แต่ละ องค์ของปฏฺจจสมุปบาท อาศัยปัจจัยหลายๆ ปัจจัยเกิดขึ้น ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
WS202398
วันที่ 7 ม.ค. 2557

ขอบพระคุณสำหรับคำตอบครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
chatchai.k
วันที่ 9 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ