การเกิดวิปัสสนาญาณในมโนทวารกับปัญจทวาร

 
Warameth
วันที่  4 ม.ค. 2557
หมายเลข  24285
อ่าน  1,115

พอดีผมนั่งฟัง แนวทางเจริญวิปัสสนา แผ่นที่ ๑๙ - ชุด เทปวิทยุ ครั้งที่ 1100 อยู่ครับ

มีท่านผู้ถามถามท่านอาจารย์ยาวนานพอสมควร และท่านอาจารย์ก็ได้ตอบคำถามในข้อสงสัยเหล่านั้น แต่ผมฟังไปแล้วก็รู้สึกสับสน ฟังอีกรอบก็ยังสงสัยอยู่ ขอรบกวนถามดังนี้นะครับ

ท่านอาจารย์ตอบอย่างชัดเจนว่า การเกิดวิปัสสนาญาณ ต้องเกิดกับมโนทวารเท่านั้น แต่ก็เหมือนไม่ได้ปฏิเสธว่าไม่เกิดในปัญจทวาร แล้วก็ยกตัวอย่างประกอบทั้งสติปัฏฐานเมื่อเกิดขึ้นที่มโนทวารได้ แล้วจะไม่ให้เกิดที่ปัญจทวารหรือ นั่นก็คือหมายถึงว่าสติปัฏฐานเกิดขึ้นได้ทั้งปัญจทวารและมโนทวาร หรืออกุศล เมื่อเกิดในปัญจทวาร มโนทวารก็ต้องเป็นกุศลเช่นเดียวกัน

ทำให้มีข้อสังเกตครับว่า เช่น เมื่อเกิดการเห็น ปัญจทวารเห็นสี ชวนจิตเป็นกุศล เกิดภวังค์คั่น มโนทวารรับอารมณ์ต่อจากปัญจทวาร แล้วระลึกถึงสิ่งที่เห็นต่อ ชวนจิตก็เป็นกุศล นั่นหมายถึงปัญจทวารและมโนทวารเป็นไปในทิศทางเดียวกัน แต่ในเรื่องการเกิดวิปัสสนาญาณกลับมีแต่มโนทวารเท่านั้น นั่นหมายถึงว่าปัญจทวารไม่สามารถเกิดวิปัสสนาญาณได้ใช่ไหมครับ รู้แต่เพียงสภาพธรรมที่ปรากฏ ยังไม่ระลึกถึงสัตว์บุคคล ตัวตน

หากเมื่อเป็นเช่นนี้จริง งั้นสติปัฎฐานไม่ใช่วิปัสสนาญาณเหรอครับ หรือผมงงเองครับ

PS. อาจมีการใช้คำผิดไปบ้างนะครับ พอดีฟังก่อนนอนและตอนนี้ค่อนข้างง่วงระดับหนึ่ง แต่สงสัยมากครับ เลยมาถามครับ

ขอบพระคุณล่วงหน้านะครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 4 ม.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก่อนอื่น ก็เข้าใจทีละคำ เพื่อประโยชน์ในความเข้าใจที่ถูกต้องของผู้ถาม และสำหรับสหายธรรมที่เป็นผู้เริ่มต้น ครับ

ปัญจทวาร คือ ทางที่ทำเกิดวิถีจิต ที่เป็นจิตประเภทต่างๆ ซึ่ง ปัญจะ หมายถึง ๕ เพราะฉะนั้น ปัญจทวาร จึงหมายถึง ทางทั้ง ๕ ที่ทำให้เกิดจิตประเภทต่างๆ ที่เป็นวิถีจิต ทาง ๕ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย มโนทวาร ทางที่ทำให้เกิดจิต วิถีจิตที่รู้ได้ทางใจ

สติปัฏฐาน คือ กุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญาและเจตสิกฝ่ายดี มีศรัทธา สติ เป็นต้น ที่รู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ที่เป็นนามธรรม มีจิต เจตสิก และ รูปธรรม มี เสียง สี กลิ่น เป็นต้น ก็ได้ ครับ

ซึ่งสำหรับ ปัญญา ที่เป็นอโมหเจตสิกเกิดกับจิตที่ดีงาม มีกุศลจิต เป็นต้น ในขณะที่สติปัฏฐานเกิด เป็นกุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา สำหรับวิถีจิตนั้น กุศลจิตจะเกิดที่ชวนจิต และ ชวนจิตนั้น ไม่ได้มีเฉพาะทางมโนทวารเท่านั้น ชวนจิต เกิดได้ทางปัญจทวารด้วย ซึ่ง ชวนจิต ก็คือ จิตที่แล่นไป เป็นกุศลจิตบ้าง อกุศลจิตบ้าง เช่น ทางปัญจทวาร คือ อาศัยทวาร คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย เมื่อมี สีมากระทบที่ตา เป็นปัจจัยให้มีการเห็นเกิดขึ้น เมื่อเห็นแล้ว จิตอื่นๆ เกิดสืบต่อ และ ถึงชวนจิต สำหรับปุถุชนผู้ที่หนาด้วยกิเลส แม้เพียงเห็นเพียง สี ยังไม่รู้ว่าเป็นอะไรเลย ก็เกิดอกุศลจิตที่ชวนจิตแล้ว พอใจ ในสีสวยๆ อย่างรวดเร็ว โดยไม่รู้ตัว แม้แต่ทางหู เมื่อได้ยินเสียงฟ้าผ่าดังมาก ขณะเพียงวิถีจิตแรก ยังไม่รู้ว่าเป็นเสียงฟ้าผ่า แต่ก็ได้ยินเสียงนั้นแล้วเกิดจิตอื่นๆ สืบต่อ จนถึง ชวนจิต โดยมากก็เป็นอกุศลเมื่อได้ยินเสียงดัง เกิดโทสะมูลจิตนั้น นี่แสดงว่า กุศล และ อกุศล สามารถเกิดได้ทางปัญจทวาร อย่างรวดเร็วไม่รู้ตัวเลย ทั้งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย จึงกลับมาที่ประเด็นที่ว่า สติปัฏฐานเกิดทางปัญจทวาร คือ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ได้หรือไม่ ตามที่กล่าวแล้วครับว่า สติปัฏฐานก็เป็นกุศล แต่เป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา เพราะฉะนั้น กุศลที่ประกอบด้วยปัญญาก็สามารถเกิดทางปัญจทวารได้ เพราะทางปัญจทวารก็มีวิถีจิตที่เป็น ชวนจิตด้วย ครับ

ยกตัวอย่าง การเกิดสติปัฏฐานทางปัญจทวาร ว่ามีลักษณะอย่างไร นะครับ

ขณะนี้ได้ยินเสียง โสตวิญญาณ จิตได้ยินเกิดขึ้น จิตอื่นๆ สืบต่อ เมื่อปัญญาถึงพร้อม สติปัฏฐานก็เกิดระลึกรู้ลักษณะของเสียงนั้น โดยเกิดที่ชวนจิตทางปัญจทวารระลึกรู้ว่าเสียงเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา ในขณะนั้น เพราะ เสียงที่เป็นอารมณ์ตลอดวิถีทางปัญจทวารยังไม่ได้ดับไป กุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญาที่เป็นสติปัฏฐานก็เกิดรู้ลักษณะของรูป คือ เสียง ที่ยังไม่ได้ดับไปได้ เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานก็สามารถเกิดได้ทั้งทางปัญจทวาร และ มโนทวาร แต่สำหรับทางปัญจทวารนั้น สติปัฏฐาน ไม่สามารถรู้ลักษณะของนามได้ เพราะ ทางปัญจทวาร มี รูปเป็นอารมณ์ คือ สี เสียง กลิ่น รส สิ่งที่กระทบสัมผัส แต่ สติปัฏฐานก็ระลึกรู้ลักษณะของรูปนั้นทางปัญจทวารได้ แต่ก็ต้องเป็นผู้มีปัญญามากพอสมควร และ สติปัฏฐานก็สามารถเกิดทางมโนทวาร ที่สามารถระลึกลักษณะของนามธรรมได้ มี จิต เจตสิก เป็นต้น ได้ ครับ

เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานไม่ปรากฏทางปัญจทวาร เพราะ จะต้องอบรมปัญญามามาก และที่สำคัญ สติปัฏฐานที่เกิดทางมโนทวาร ก็ต้องไม่ใช่เรื่องของการคิดนึกตรึกพิจารณาตัวธรรม แต่ต้องเป็นสติ และปัญญาที่ระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น โดยไม่ได้คิดนึกเป็นเรื่องเลย จึงเป็นเรื่องยากและไกล ซึ่งสติปัฏฐาน ไม่ใช่การคิดนึกไตรตรองตัวสภาพธรรม เพราะถ้าเข้าใจว่า เป็นการคิดนึกถึงตัวสภาพธรรม ก็อาจจะทำให้ เข้าใจว่าเกิดทางปัญจทวารไม่ได้ เพราะไม่สามารถคิดนึกได้ทางปัญจทวาร ครับ

สรุปได้ว่า สติปัฏฐานสามารถเกิดได้ทางปัญจทวารและมโนทวาร แต่แนะนำเพิ่มอีกครับว่า แต่ถ้าเป็นวิปัสสนาญาณในแต่ละขั้น จะเกิดทางมโนทวารเท่านั้น ไม่เกิดทางปัญจทวาร เพราะ วิปัสสนาญาณ มีการรู้ลักษณะของนามธรรม ตามความเป็นจริงด้วยการแทงตลอด ซึ่งทางปัญจทวาร ไม่สามารถรู้นามได้ รู้ได้เฉพาะรูป จึงสามารถเกิดปัญญาที่คมกล้า ที่รู้ นามและรูป โดยนัยต่างๆ ตามความเป็นจริง วิปัสสนาญาณจึงเกิดเฉพาะทางมโนทวาร ส่วนสติปัฏฐาน เกิดได้ทั้งทางปัญจทวาร และ มโนทวาร ตามที่ได้อธิบายมา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 4 ม.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สภาพธรรมที่มีจริงทั้งหมดเป็นที่ตั้งให้สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะที่ปรากฏตามความเป็นจริงได้ ไม่ว่าจะเป็นรูปธรรม หรือ นามธรรม สำคัญอยู่ที่ความเข้าใจถูกเห็นถูกในเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้มีเพียงพอหรือไม่ ที่จะเป็นเหตุให้สติปัฏฐานเกิด เป็นเรื่องของความเข้าใจทั้งหมด ตามความเป็นจริงแล้ว สติปัฏฐานเกิดได้ทั้งทางปัญจทวาร และ ทางมโนทวาร ตามเหตุตามปัจจัย ถ้าเป็นทางปัญจทวาร ก็ระลึกรู้รูปธรรมที่ปรากฏ ส่วนทางมโนทวารก็มีสภาพธรรมที่มีจริง เช่น ในขณะที่จิตคิดถึงรูปร่างสัณฐานจากสิ่งที่ปรากฏทางตา ในขณะนั้นสภาพธรรมที่มีจริง คือ จิตซึ่งเป็นสภาพธรรมที่คิดนึก จิตคิดนึก มีจริง แต่เรื่องที่คิดไม่มีจริงเพราะเป็นเพียงเรื่องราวที่คิดนึกในรูปร่างสัณฐานจากสิ่งที่ปรากฏทางตา เท่านั้น เพราะฉะนั้น ขณะที่คิดนั้นจิตมีจริง ปัญญาที่เกิดพร้อมสติ ที่เป็นสติปัฏฐานนั้น ก็ระลึกรู้ในลักษณะของจิตที่กำลังคิดนึกได้ เป็นสติปัฏฐานที่เกิดขึ้นเป็นไปทางมโนทวาร เป็นต้น

สำหรับวิปัสสนาญาณ เป็นปัญญาที่รู้อย่างแจ่มแจ้ง มีเป็นลำดับขั้น ถ้าหากว่าไม่มีความความเข้าใจตั้งแต่ต้นแล้ว ทั้งสติปัฏฐาน ทั้งวิปัสสนาญาณ ย่อมไม่สามารถที่จะเกิดขึ้นเป็นไปได้เลย เพราะฉะนั้นแล้ว จึงสำคัญที่การเริ่มต้นฟังให้เข้าใจในสิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้ ครับ

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความนี้เพิ่มเติม ซึ่งเป็นข้อคิดเตือนใจที่ดีเป็นอย่างยิ่ง ครับ

ก่อนจะถึง...สติ-ปัฏฐาน !

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
Warameth
วันที่ 4 ม.ค. 2557

ขอบพระคุณอาจารย์ผเดิม และอาจารย์คำปั่นมากๆ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
chatchai.k
วันที่ 3 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
Witt
วันที่ 24 ต.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ