เพราะเหตุใดละสักกายทิฏฐิได้แต่ยังละมานะไม่ได้

 
Suth.
วันที่  29 ต.ค. 2556
หมายเลข  23935
อ่าน  1,639

เพราะเหตุใดพระอริยเจ้าขั้นโสดาบันละสักกายทิฏฐิได้แล้ว แต่ยังละมานะไม่ได้ ทั้งที่ละความเห็นว่าเป็นตัวตนออกได้แล้ว ยังมีมานะอยู่อีก มานะเป็นองค์ธรรมใดครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 29 ต.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สักกายทิฏฐิ เป็นความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรม คือ ขันธ์ ๕ ว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นเรา เป็นของเรา ซึ่งผิดไปจากความเป็นจริงของสภาพธรรม (ตามที่คุณนิรมิตได้แสดงความคิดเห็นมา) ขึ้นชื่อว่าความเห็นผิดแล้ว (มิจฉาทิฏฐิ) เป็นสภาพธรรมที่เห็นคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ไม่ตรงตามความเป็นจริง แม้แต่ความเห็นผิดที่เป็นสักกายทิฏฐิ ก็เช่นเดียวกัน เป็นความเห็นผิดประการหนึ่ง ที่เห็นผิดในสภาพธรรมที่เป็นรูปธรรมและ นามธรรม ว่าเป็นตัวตนเป็นสัตว์เป็นบุคคล และยังครอบคลุมถึงเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดด้วย เพราะแท้ที่จริงแล้ว ธรรม เป็นธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นแต่เพียงสภาพธรรมแต่ละอย่างๆ เท่านั้น แต่เพราะยังไม่ได้ดับความเห็นผิดได้อย่างเด็ดขาด ยังมีพืชเชื้อของความเห็นผิดอยู่ ความเห็นผิดประเภทนี้ ก็ย่อมจะเกิดขึ้นได้ เพราะตราบใดก็ตามที่ยังไม่ได้เป็นพระอริยบุคคล ก็ยังไม่สามารถดับความเห็นผิดใดๆ ได้เลย ความเห็นผิดทุกประการจะถูกดับได้อย่างหมดสิ้น เมื่อรู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระโสดาบัน เพราะฉะนั้น พระโสดาบัน ละความเห็นผิดได้เลย ครับ

มานะ ในทางโลกเข้าใจกันว่าเป็นความพยายามบากบั่นขยันหมั่นเพียร แต่ในทางธรรม มานะ เป็นความสำคัญตน เป็นความทะนงตน ถือตน เป็นเจตสิกประเภทหนึ่ง เป็นอกุศลเจตสิกที่เกิดร่วมกับโลภมูลจิตเท่านั้น มานะ เป็นความถือตนทะนงตน ซึ่งไม่มีใครชอบอย่างแน่นอน ผู้ที่ยังไม่ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระอรหันต์ มานะก็ยังมี แต่ว่าความหยาบ ความเบาบางก็แตกต่างกันออกไป เมื่อศึกษาในเรื่องของมานะ ซึ่งเป็นอกุศลเจตสิกประเภทหนึ่ง ทำให้เห็นว่าอกุศลในชีวิตประจำวันมีมากจริงๆ แล้วแต่ว่าใครจะสะสมหนักมากไปในทางใด หรือว่า ใครจะสามารถขัดเกลาให้เบาบางลงได้ในแต่ละทาง ซึ่งธรรมที่ตรงกันข้ามกับมานะ ก็จะต้องเป็นกุศลธรรมเท่านั้น ที่ควรอบรมเจริญให้มีขึ้นในชีวิตประจำวัน มี ความอ่อนน้อมถ่อมตน เป็นต้น เพราะขณะนั้น จิตใจอ่อนโยน ไม่หยาบกระด้าง และประการสำคัญ การอบรมเจริญปัญญา ซึ่งเริ่มจากการฟัง การศึกษาพระธรรมในชีวิตประจำวัน เป็นหนทางเดียวที่จะทำให้สามารถไปถึงซึ่งการดับกิเลสได้ รวมถึงกิเลสที่กำลังกล่าวถึง คือ มานะ ด้วย กิเลสทั้งหลายที่มีนั้น ต้องเป็นผู้มีปัญญา ถึงจะดับได้ ถ้าไม่มีปัญญา ก็ไม่สามารถดับกิเลสใดๆ ได้เลย

ซึ่ง จากคำถามในความเป็นจริงแล้ว กิเลส มีความละเอียดลึกซึ้ง ตั้งแต่กิเลสที่หยาบ จนถึง ละเอียดมากๆ สำหรับ พระโสดาบัน นั้น ดับความเห็นผิดได้แล้ว แต่ยังมีมานะ ที่เป็น ความสำคัญตนอยู่ แต่ พระโสดาบันก็ดับ ละ ความสำคัญตนผิด คือ มานะที่เปรียบเทียบผิด คือ ไม่สำคัญตนผิดว่า ตนเป็น พระสกทาคามี แต่ รู้ว่าเป็นพระโสดาบัน แต่ ก็ยังมีการเปรียบเทียบ มีมานะ ที่ละเอียดได้ เช่น มีการเปรียบเทียบว่า ตนเอง เสมอกับ พระโสดาบัน อีกท่านเหมือนกัน เมื่อใดเปรียบเทียบ แม้เพียงเสมอกัน ก็เป็นมานะแล้ว นี่แสดงถึง ความละเอียดของมานะ ที่เมื่อมีการเปรียบเทียบเมื่อไหร่ ก็เป็นมานะ ไม่จำเป็นจะต้อง เป็นมานะที่หยาบที่ เปรียบเทียบว่าตนเองสูงกว่าเลย ครับ และ แม้ เปรียบเทียบว่า ตนเอง ต่ำกว่า ด้วยมานะก็ได้ ก็เกิดมานะแล้ว เพราะฉะนั้น มานะเป็นกิเลสที่มีความหยาบ ละเอียด เป็นลำดับไป ซึ่งพระอริยเจ้า แต่ละขั้น ก็ค่อยๆ ละมานะที่หยาบ และ ละเอียดลงไปเรื่อยๆ จนในที่สุด ผู้ที่ไม่มีมานะเลย คือ พระอรหันต์ ครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ ครับ

ทิฏฐิกับมานะ

มานะ [ธรรมสังคณี] โทษของมานะ [มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์]

ใจเจียม ด้วยไม่มีมานะ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 29 ต.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การดับกิเลสดับเป็นขั้นๆ ไม่ใช่ถึงความเป็นพระอรหันต์เลย ต้องเป็นไปตามลำดับขั้น ตั้งแต่ขั้นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี จนถึงความเป็นพระอรหันต์ การบรรลุเป็นพระอริยบุคคลนั้น เป็นได้ด้วยผลแห่งการอบรมเจริญปัญญาเท่านั้น ความเห็นผิดทุกประเภท พระโสดาบันดับได้ ส่วนมานะซึ่งเป็นกิเลสที่ละเอียดมาก ผู้ที่จะดับได้จนหมดสิ้น ก็คือ พระอรหันต์ ความเป็นจริง ไม่มีใครเปลี่ยนแลงได้ เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น ที่ควรจะได้พิจารณาคือ อกุศลธรรมมีจริงๆ ในชีวิตประจำวัน เป็นธรรมที่เกิด เพราะเหตุปัจจัย ตามการสะสมของแต่ละบุคคล มานะ ก็เช่นเดียวกัน เป็นอกุศลธรรม ที่ตราบใดยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ ก็ยังมี และที่ตั้งแห่งมานะ ความสำคัญตนนั้น มีมากทีเดียว ทั้งชาติตระกูล ยศ วิชาความรู้ การได้รูป เสียง กลิ่น รสโผฏฐัพพะ เป็นต้น ล้วนเป็นที่ตั้งของมานะได้ทั้งนั้น มีความสำคัญว่า ได้ดีกว่าผู้อื่น ต่ำกว่าผู้อื่น หรือเท่าเทียมกับผู้อื่น ด้วยการเปรียบเทียบ

ทั้งหมดที่ได้ฟังได้ศึกษาก็เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริง ว่า เป็นธรรม ไม่ใช่เรา เห็นถึงความหลากหลายของอกุศลธรรมในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะต้องขัดเกลา ด้วยกุศลธรรมและความเข้าใจถูก เห็นถูกต่อไป ครับ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 29 ต.ค. 2556

มานะ เป็นความสำคัญตน ดีกว่า เก่งกว่า เสมอเขา พระโสดาบันยังละไม่ได้ พระโสดาบัน ละความเห็นผิด วิจิกิจฉา และ ข้อปฏิบัติที่ผิด พระอรหันต์เท่านั้น ที่ละมานะได้ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Suth.
วันที่ 31 ต.ค. 2556

ขอบพระคุณทุกท่านและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
nopwong
วันที่ 3 พ.ย. 2556

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ธนฤทธิ์
วันที่ 3 พ.ย. 2556

ขอบคุณและขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ