ขอเรียนถามเพิ่มเติม อุปาทาน 4 กับอุปาทานขันธ์ 5

 
Suth.
วันที่  12 ต.ค. 2556
หมายเลข  23837
อ่าน  1,661

หลังจากได้อ่านคำอธิบายจากท่านผู้ตอบ 3 ท่านแล้ว ใคร่ขอเรียนถามเพิ่มเติมดังนี้ครับ

1. บุคคลละอุปาทาน 4 และอุปาทานขันธ์ 5 ได้เมื่อมีความเห็นถูกระดับไหน สามารถละองค์ธรรมใดบ้าง

2. พระอริยเจ้าขั้นโสดาบันละอุปาทาน 4 ข้อใดได้บ้าง เหลือข้อใดบ้าง และละอุปาทานขันธ์ 5 ได้เพียงใด องค์ธรรมใด

3. พระอนาคามีละอุปาทาน 4 และอุปาทานขันธ์ 5 ได้เพียงใด องค์ธรรมใด

4. ในปฏิจจสมุปบาท ถ้าไม่มีอุปาทานก็ไม่มีภพ เป็นความหมายของอุปาทาน 4 หรืออุปาทานขันธ์ 5 ครับ

กรุณาให้ความกระจ่างด้วยจักเป็นพระคุณอย่างสูง


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 12 ต.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

1. บุคคลละอุปาทาน 4 และอุปาทานขันธ์ 5 ได้เมื่อมีความเห็นถูกระดับไหน สามารถ ละ องค์ธรรมใดบ้าง

อุปาทาน คือ ความยึดมั่น มี ได้แก่ กามุปาทาน ๑ ทิฏฐุปาทาน ๑ สีลัพพตุปาทาน ๑ อัตตวาทุปาทาน ๑ กามุปาทาน โดยสภาพธรรม ได้แก่ โลภเจตสิกอย่างเดียวก็ได้ โดยไม่มีความเห็นผิด เช่น ติดข้องมากๆ ในรูป เสียง กลิ่น รส สิ่งที่กระทบสัมผัส เป็นกามุปาทาน หรือติดข้องในความยินดีในภพ เป็นต้น พระอรหันต์ เท่านั้น ที่ละ กามุปาทานได้ ส่วน ทิฏฐุปาทาน๑ สีลัพพตุปาทาน ๑ อัตตวาทุปาทาน ๑ เป็นทิฏฐิเจตสิก คือมีความเห็นผิดด้วย ครับ พระโสดาบัน ละ อุปทาน 3 เหล่านี้ได้ ครับ

อุปาทานขันธ์ 5 คือ สภาพธรรมที่เป็นขันธ์ 5 เช่นกัน แต่เป็นที่ตั้งที่ยึดถือของโลภะ เป็นต้น จึงเป็นอุปาทานขันธ์ 5 ซึ่งก็คือสภาพธรรมที่มีจริงทั้งหมด เว้นแต่โลกุตตรธรรมครับ ซึ่งโลภะไม่สามารถติดข้องได้ ไม่สามารถยึดถือได้ จึงไม่เป็นอุปาทานขันธ์ 5

ดังนั้น อุปทานขันธ์ 5 จึงหมายถึง ที่ตั้งที่เป็นยึดถือของโลภะ ก็หมายถึง สภาพธรรมที่มีจริงทั้งหมด ยกเว้น โลกุตตรธรรม 9 ที่เป็นมรรคจิต 4 ผลจิต 4 และนิพพาน ส่วนสภาพธรรมที่เหลือ ที่เป็นอุปทานขันธ์ 5 คือ จิต และเจตสิกที่เหลือ และรูปทั้งหมด คือ สภาพธรรมที่เป็นขันธ์ 5 นั่นเอง ที่ยกเว้น โลกุตตรธรรม 9 เพราะฉะนั้น อุปทานขันธ์ 5 จึงกว้างกว่า อุปาทาน 4 เพราะ อุปทาน 4 คือ โลภะเจตสิก และทิฏฐิเจตสิก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอุปาทานขันธ์ 5 คือ เป็นส่วนของสังขารขันธ์ ครับ จึงกล่าวโดยสรุปได้ว่า อุปทานขันธ์ 5 เป็นสภาพธรรมที่เป็นที่ตั้งของการยึดถือ ส่วนอุปทาน 4 เป็นสภาพธรรมที่เป็นตัวยึดถือ ยึดมั่นด้วยกิเลสคือ โลภะ และทิฏฐิ ครับ

2. พระอริยเจ้าขั้นโสดาบัน ละ อุปาทาน 4 ข้อใดได้บ้าง เหลือข้อใดบ้าง และละ อุปาทานขันธ์ 5 ได้เพียงใด องค์ธรรมใด พระโสดาบัน ละ ทิฏฐุปาทาน๑ สีลัพพตุปาทาน ๑ อัตตวาทุปาทาน ๑ เป็นทิฏฐิเจตสิก ละ อุปทาน 3 อย่างได้หมด แต่ ยังเหลิอ กามุปาทาน ครับ ส่วนอุปทานขันธ์ 5 หมายถึง ขันธ์ที่เป็นที่ตั้งของความยึดถือ ก็ยังมีอยู่ ครับ เพราะมีขันธ์ 5 อยู่

3. พระอนาคามี ละ อุปาทาน 4 และอุปาทานขันธ์ 5 ได้เพียงใด องค์ธรรมใด พระอนาคามี ทำนองเดียวกับพระโสดาบัน คือ ละ อุปทาน 3 แต่เหมือน กามุปาทาน ที่เป็น โลภะ ที่ยินดี ติดข้องในภพ ครับ ส่วน พระอนาคามี ถ้ามีขันธ์ 5 อยู่ ก็มี อุปทานขันธ์ ที่เป็นที่ตั้งของความยึดถือ ครับ

4. ในปฏิจจสมุปบาท ถ้าไม่มีอุปาทาน ก็ไม่มีภพ เป็นความหมายของอุปาทาน 4 หรือ อุปาทานขันธ์ 5 ครับ หมายถึง อุปาทาน 4 ครับ ที่ยึดถือด้วยโลภะ และทิฏฐิ ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
Suth.
วันที่ 12 ต.ค. 2556

ขอบพระคุณอย่างสูงครับ

คำตอบแต่ละคำตอบผมจะอ่านอย่างพินิจพิเคราะห์หลายเที่ยวเพื่อให้เข้าใจให้มากที่สุดเท่าที่ผมจะสามารถ นอกจากนั้นแล้วผมก็นำมาอ่านซ้ำอีกในยามว่าง

ขออนุโมทนาในกุศลครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 12 ต.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อุปาทาน เป็นความยึดมั่นถือมั่น เป็นเรื่องของกิเลสอย่างแท้จริง ตราบใดที่ยังมีกิเลสอยู่ก็ไม่พ้นไปจากความยึดมั่นถือมั่น ที่เป็นอุปาทาน ๔ ได้แก่ กามุปาทาน ความยึดมั่นในกาม (รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ) ทิฏฐุปาทาน (ความยึดมั่นด้วยความเห็นผิด) สีลัพพตุปาทาน (ความยึดมั่นในข้อวัตรปฏิบัติที่ผิด) อัตวาทุปาทาน ความยึดมั่นในสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์บุคคล) ไม่พ้นไปจากความติดข้อง และความเห็นผิดเลย การดับกิเลส ก็ดับเป็นขั้นๆ และเป็นไปได้ด้วยปัญญาที่ถึงความสมบูรณ์ พร้อมแล้วเท่านั้น พระโสดาบัน ดับความเห็นผิดได้อย่างหมดสิ้น พระอนาคามีดับความติดข้องในกามได้ พระอรหันต์ดับความติดข้องในภพได้ตลอดจนถึงดับกิเลสทั้งหลายทั้งปวงได้อย่างหมดสิ้น ไม่มีการเกิดขึ้นอีก ครับ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 12 ต.ค. 2556

อุปทาน 4 ทั้งหมด พระอรหันต์ละได้ แต่พระโสดาบันยังละไม่ได้ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
peem
วันที่ 13 ต.ค. 2556

ขออนุโมทนาคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Suth.
วันที่ 13 ต.ค. 2556

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาทุกคำตอบครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ