หลักตัดสินพระธรรมวินัย ๘ ประการ

 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่  10 ต.ค. 2556
หมายเลข  23820
อ่าน  11,620

เรียนสอบถามเกี่ยวกับเรื่องหลักตัดสินพระธรรมวินัยครับ

เนื่องจากปัจจุบันมีข้อโต้แย้งในการศึกษาพระธรรมวินัยว่า พระธรรมข้อนี้เป็นพระพุทธวจนะ รับฟังได้ พระธรรมข้อนี้ไม่ใช่ ไม่ควรรับฟัง การศึกษาในพระไตรปิฎก ก็มีการแบ่งแยก การศึกษา ออกเป็นส่วนๆ ตั้งข้อปฏิเสธที่จะไม่รับฟังแม้อรรถกา ฎีกา เป็นต้น จึงมีการกล่าวอ้างถึงหลักการตัดสินพระธรรมวินัย ๘ ประการ ดังนี้

ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อ

๑.วิราคะ ความคลายกำหนัด, ไม่ติดพัน มิใช่เพื่อความกำหนัดย้อมใจ การเสริมให้ติด

๒.วิสังโยค ความหมดเครื่องผูกรัด,ความไม่ประกอบทุกข์ มิใช่เพื่อผูกรัดหรือประกอบทุกข์

๓.อปจยะ ความไม่พอกพูนกิเลส มิใช่เพื่อพอกพูนกิเลส

๔.อัปปิจฉตา ความมักน้อย มิใช่เพื่อความมักมาก

๕.สันตุฏฐี ความสันโดษ มิใช่เพื่อความไม่สันโดษ

๖.ปวิเวก ความสงัด มิใช่เพื่อความคลุกคลีอยู่ในหมู่

๗.วิริยารัมภะ การประกอบความเพียร มิใช่เพื่อความเกียจคร้าน

๘.สุภาตา ความเป็นคนเลี้ยงง่าย มิใช่เพื่อความเลี้ยงยาก

ธรรมเหล่านี้พึงรู้ว่าเป็นธรรม เป็นวินัย เป็นสัตถุสาสน์ (คำสอนของพระศาสดา) ตรงข้ามจากนี้ ไม่ใช่ธรรม ไม่ใช่วินัย ไม่ใช่สัตถุสาสน์ คำกล่าวในหลักนี้ อ้างอิงหรือนำมาจากพระสูตรหรือคัมภีร์ใดครับ และหลักการนี้ใช้ในการตัดสินความถูกต้องของพระธรรมวินัยได้ด้วยการพิจารณา ด้วยความละเอียดรอบคอบอย่างไรครับ และมีข้อควรระวังอย่างไรครับ เนื่องจากในบางครั้ง อาจมีการเข้าใจผิดว่า เรื่องบางเรื่องเป็นเรื่องคลายความติดข้อง แต่แท้จริงแล้ว เป็นเรื่องที่ทำให้ติดข้องหรือยึดมั่นในสิ่งนั้นๆ แทน เช่น การศึกษาเฉพาะพระวินัย เฉพาะพระสูตร เฉพาะพุทธวจนะ เป็นต้น

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 10 ต.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

คำกล่าวในหลักนี้ อ้างอิงหรือนำมาจากพระสูตรหรือคัมภีร์ใดครับ?

สังขิตตสูตร ... วันเสาร์ที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๕๕

และหลักการนี้ ใช้ในการตัดสินความถูกต้องของพระธรรมวินัยได้ ด้วยการพิจารณาด้วยความละเอียดรอบคอบอย่างไรครับ และมีข้อควรระวังอย่างไรครับ เนื่องจากในบางครั้ง อาจมีการเข้าใจผิดว่า เรื่องบางเรื่อง เป็นเรื่องคลายความติดข้อง แต่แท้จริงแล้ว เป็นเรื่องที่ทำให้ติดข้องหรือยึดมั่นในสิ่งนั้นๆ แทน เช่นการศึกษาเฉพาะพระวินัยเฉพาะพระสูตร เฉพาะพุทธวจนะ เป็นต้น

ซึ่งการพิจารณา ตัดสินว่าเป็นธรรมของพระพุทธเจ้า ด้วย ๘ ประการ มี เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย คลายกำหนัด จะตัดสินได้อย่างไรนั้น สำคัญที่สุด คือ ปัญญา ความเห็นถูก ที่เป็นสัมมาทิฏฐิ เพราะอาศัย ปัญญา ความเห็นถูก ย่อมรู้ถูกว่า ธรรมนี้ เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย คลายกำหนัด ละคลาย มักน้อย สันโดษ มีความเพียร เพราะหากไม่มีปัญญาแล้ว ก็ย่อมสำคัญในสิ่งนั้น เป็นสิ่งที่ละคลายกิเลส ทั้งที่จริง เป็นการเพิ่มกิเลส เพราะมีความไม่รู้ มีความเห็นผิด ทำให้เข้าใจธรรมนั้นผิดไป ครับ
ยกตัวอย่างเช่น การที่เข้าใจธรมนั้น เป็นไปเพื่อความเพียร แต่เพราะไม่ได้ศึกษา ก็ไม่รู้ว่ามีทั้งความเพียรผิด และ เพียรถูก จึงไปพยายามเพียรนั่งสมาธิ เป็นต้น ก็สำคัญว่า เป็นผู้มีความเพียรแล้ว และ เป็นคำสอนที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง เพราะเป็นไปเพื่อความเพียร แต่เป็นความเพียรผิด ดังนั้น จะเห็นได้ว่า การตัดสินว่าจะถูกต้องตาม ๘ ประการนี้ ก็จะต้องมีปัญญา เป็นสำคัญ ที่จะรู้ว่าเพียรถูก นั้นเป็นอย่างไร และเพียรผิดนั้นเป็นอย่างไร และ แม้แต่การเป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย คลายกำหนัด ละกิเลส หากมีการพยายามบ้งคับ ด้วยความเป็นเราที่จะทำ ก็ไม่ใช่การละคลาย แต่เป็นการเพิ่มกิเลส คือ ความต้องการ โดยไม่รู้ตัว ก็ไม่ใช่ธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง จึงสรุปได้ว่า จะต้องมีปัญญา ความเข้าใจถูก ในหนทางที่ถูกต้อง และในพระธรรมคำสอนเป็นสำคัญ ปัญญา จึงเป็นหัวหน้าของกุศลธรรมทุกๆ ประการ ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 10 ต.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

จะเห็นถึงความบริสุทธิ์ของพระธรรม ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงอย่างแท้จริงว่าเป็นไปเพื่อละ ตั้งแต่ต้นจนถึงที่สุด คือ สามารถดับกิเลสทั้งปวง ได้อย่างหมดสิ้นไม่เกิดอีก ที่จะเป็นอย่างนี้ได้ ก็ต้องอาศัยพระธรรมคำสอนที่เป็นพุทธพจน์ เพื่อจะได้มีความเข้าใจถูกเห็นถูก มั่นคงในความเป็นเหตุเป็นผลของธรรม และขัดเกลา ละคลายกิเลส ของตนเอง อบรมเจริญปัญญาสะสมเป็นที่พึ่งต่อไป
ถ้าคำสอนใดหรือหนทางไหน สอนเพื่อที่จะให้ได้ สอนให้ติดข้อง นั่นเท่ากับว่า เป็นการเพิ่มสมุทัย (เหตุแห่งทุกข์) คือความติดข้องต้องการ ไม่ใช่คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า อย่างแน่นอน รวมไปถึงสอนให้กระทำอะไร ด้วยความเห็นผิด ไม่รู้ หลงงมงาย นั่นก็ไม่ใช่คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เช่นเดียวกัน พระธรรมทั้งหมด ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ต้องเป็นไปเพื่อรู้ และ ขัดเกลาละคลายกิเลส เท่านั้น
เพราะฉะนั้นแล้ว กว่าจะได้เข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริงของสภาพธรรม ตรงตามพระธรรม ที่พระองค์ทรงแสดง ก็ต้องเป็นการฟังด้วยการพิจารณาจริงๆ จึงจะสามารถรู้ในพระคุณ ที่ได้ทรงประจักษ์ความจริงของสภาพธรรม ถึงความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงพระธรรม โดยละเอียด โดยนัยประการต่างๆ ตลอด ๔๕ พรรษา ฟังแล้วก็ต้องฟังอีก แล้วก็ต้องมีการพิจารณาไตร่ตรอง ในสิ่งที่ได้ยิน ได้ฟัง ซึ่งเป็นเรื่องยากมาก การอบรมเจริญปัญญา ต้องเป็นไปตามลำดับจริงๆ ที่สำคัญที่สุด คือ ไม่ขาดการฟังพระธรรม เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 10 ต.ค. 2556

ถ้าศึกษาธรรมก็จะรู้เฉพาะตนว่าธรรมที่ศึกษาเป็นไปเพื่อละอกุศลทั้งหมด ปัญญาก็รู้ว่ากุศลควรเจริญทุกอย่างโดยเฉพาะการเจริญสติปัฏฐาน ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 10 ต.ค. 2556

ขอบพระคุณและขออนุโมทนา อ.ผเดิม อ.คำปัน อ.วรรณี และทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่ 10 ต.ค. 2556

ขอบพระคุณ และ ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
papon
วันที่ 25 ต.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
sasha
วันที่ 4 ก.พ. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

เป็นความโชคดีที่ได้อ่านธรรมะเพื่อที่จะมีปัญญาเรียนรู้เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ และนำมาใช้ในชีวิตประจำวันค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
ประสาน
วันที่ 27 พ.ย. 2562

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ