ปุริสสูตร และ ปาเถยยสูตร - ๒๕ พ.ย. ๒๕๔๙

 
บ้านธัมมะ
วันที่  22 พ.ย. 2549
หมายเลข  2380
อ่าน  1,335

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส

พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ

••• ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย •••

ทุกวันเสาร์...ขอเชิญร่วมรายการ

สนทนาธรรมที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

พระสูตร ที่นำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ

วันเสาร์ที่ ๒๕ พ.ย. ๒๕๔๙

เวลา ๐๙:๐๐ - ๑๒:๐๐ น.

ปุริสสูตร และ ปาเถยยสูตร

[เล่มที่ 24] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑

นำการสนทนาโดย..

ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และคณะวิทยากร

ขอเชิญท่านอ่านพระสูตรนี้ได้ในกรอบต่อไป ครับ ...


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 พ.ย. 2549

[เล่มที่ 24] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 420

๒. ปุริสสูตร

[๓๒๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อาราม ของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ ประทับ ครั้นแล้วจึงทรงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.

พระเจ้าปเสนทิโกศลประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วแล ได้ทูล พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมก็อย่างเมื่อบังเกิดขึ้นใน ภายในของบุคคล ย่อมบังเกิดขึ้นเพื่อความไม่เป็นประโยชน์ เพื่อความทุกข์ เพื่อความอยู่ไม่สบาย.

[๓๒๙] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า ดูก่อนมหาบพิตร ธรรม ๓ อย่าง เมื่อบังเกิดขึ้นในภายในของบุรุษ ย่อมบังเกิดขึ้นเพื่อความไม่เป็น ประโยชน์ เพื่อความทุกข์ เพื่อความอยู่ไม่สบาย ธรรม ๓ อย่างเป็นไฉน ธรรม ๓ อย่าง คือ. ๑. โลภะ ๒. โทสะ ๓. โมหะ

ดูก่อนมหาบพิตร ธรรม ๓ อย่างนี้แล มื่อบังเกิดขึ้นในภายในของบุคคล ย่อมบังเกิดขึ้นเพื่อ ความไม่เป็นประโยชน์ เพื่อความทุกข์ เพื่อความอยู่ไม่สบาย.

[๓๓๐] พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้พระสุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณ์ คำร้อยแก้วนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาคำร้อยกรองต่อไปอีกว่า โลภะ โทสะ และโมหะ ที่เกิดขึ้นในตนย่อมฆ่าบุคคลผู้ใจบาป เหมือนขุยไผ่ย่อมฆ่าต้นไผ่ ฉะนั้น.

อรรถกถาปุริสสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในปุริสสูตรที่ ๒ ต่อไป :-

บทว่า อภิวาเทตฺวา ความว่า พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงอภิวาท ในสูตรนี้ ก็เพราะทรงถึงสรณะแล้วในสูตรก่อน.

บทว่า อชฺฌตฺตํ ได้แก่ ภายในตัวเอง อธิบายว่า เกิดขึ้นในสันดานของตน. บรรดาอกุศลมูล ๓ มี โลภะเป็นต้น โลภะมีลักษณะละโมบ โทสะมีลักษณะขัดเคือง โมหะมีลักษณะ ลุ่มหลง.

บทว่า หึสนฺติ ได้แก่ เบียดเบียน ทำให้เสียหาย ทำให้พินาศ.

บทว่า อตฺตสมฺภูตา แปลว่า เกิดแล้วในตน

บทว่า ตจสารํว สมฺผลํ ความว่า ผลของตัวเอง ย่อมเบียดเบียน คือ ทำต้นไม้ที่มีเปลือกเป็นแก่น ไม่ว่า ต้นไผ่หรือต้นอ้อให้พินาศ ฉันใด อกุศลมูลทั้งหลาย ก็เบียดเบียน คือทำให้พินาศ ฉันนั้น.

จบ อรรถกถาปริสสูตรที่ ๒

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 พ.ย. 2549

[เล่มที่ 24] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 313

๙. ปาเถยยสูตร

[๒๑๕] เทวดาทูลถามว่า อะไรหนอย่อมรวบรวมไว้ซึ่งเสบียง อะไรหนอ เป็นที่มานอนแห่งโภคทรัพย์ ทั้งหลาย อะไรหนอ ย่อมเสือกไสนรชน ไป อะไรหนอ ละได้ยากในโลก สัตว์เป็น อันมากติดอยู่ในอะไร เหมือนนกติดบ่วง.

[๒๑๖] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า ศรัทธาย่อมรวบรวมไว้ซึ่งเสบียงสิริ (คือมิ่งขวัญ) เป็นที่มานอนแห่งโภคทรัพย์ ทั้งหลาย ความอยากย่อมเสือกไสนรชนไป ความอยากละได้ยากในโลก สัตว์เป็น อันมากคิดอยู่ในความอยาก เหมือนนก ติดบ่วง.

อรรถกถาปาเถยยสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในปาเถยยสูตรที่ ๙ ต่อไป :-

บทว่า ศรัทธาย่อมรวบรวมไว้ซึ่งสะเบียง อธิบายว่า บุคคล ยังศรัทธาให้เกิดขึ้นแล้ว ย่อมให้ทาน ย่อมรักษาศีล ย่อมทำอุโบสถกรรม ด้วยเหตุนี้แหละ พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงตรัสว่า ศรัทธาย่อมรวบรวมไว้ซึ่ง สะเบียง ดังนี้

บทว่า สิริ ได้แก่ ความเป็นใหญ่.

บทว่า อาสโย ได้แก่ เป็นที่อาศัย จริงอยู่ โภคะทั้งหลายย่อมมาจากทางบกบ้าง ทางน้ำบ้าง มุ่งหน้าเฉพาะผู้เป็นใหญ่เท่านั้น ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า สิริเป็นที่มานอนแห่งโภคทรัพย์ ดังนี้

บทว่า ปริกสฺสติ ได้แก่ ย่อม ฉุดคร่าไป.

จบ อรรถกถาปาเถยยสูตรที่ ๙

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
อิสระ
วันที่ 22 พ.ย. 2549
ขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
chatchai.k
วันที่ 17 พ.ย. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ