ปฐม - ทุติยชีวกัมพวนสูตร - สมาธิสูตร - ๑๖ ธ.ค. ๒๕๔๙

 
บ้านธัมมะ
วันที่  15 ธ.ค. 2549
หมายเลข  2482
อ่าน  1,860

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส

พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ

••• ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย •••

ทุกวันเสาร์ ...

ขอเชิญร่วมรายการ

สนทนาธรรมที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

พระสูตร ที่นำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ

วันเสาร์ที่ ๑๖ ธ.ค.๒๕๔๙

เวลา ๐๙:๐๐ - ๑๒:๐๐ น.

[เล่มที่ 28] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้าที่ 296

ปฐมชีวกัมพวนสูตร

ทุติยชีวกัมพวนสูตร

ว่าด้วยสิ่งทั้งปวงปรากฏตามความเป็นจริง


[เล่มที่ 28] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ -หน้าที่ 169

สมาธิสูตร

ว่าด้วยสมาธิ

นำการสนทนาโดย..

ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และคณะวิทยากร

ขอเชิญท่านอ่านพระสูตรนี้ได้ในกรอบต่อไป ครับ ...


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 15 ธ.ค. 2549

[เล่มที่ 28] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้าที่ 296

๕. ปฐมชีวกัมพวนสูตร

ว่าด้วยสิ่งทั้งปวงปรากฏตามความเป็นจริง

[๒๔๙] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ชีวกัมพวัน กรุงราชคฤห์ ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย ฯลฯ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเจริญสมาธิ เพราะเมื่อภิกษุมีจิตตั้งมั่นแล้ว สิ่งทั้งปวงย่อมปรากฏตามความเป็นจริง ก็อะไรเล่าปรากฏตามความ เป็นจริง คือ จักษุย่อมปรากฏตามความเป็นจริงว่า ไม่เที่ยง รูปย่อมปรากฏตามความเป็นจริงว่า ไม่เที่ยง จักษุวิญญาณย่อมปรากฏตามความ เป็นจริงว่า ไม่เที่ยง จักษุสัมผัสย่อมปรากฏตามความเป็นจริงว่า ไม่เที่ยง แม้สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะจักขุสัมผัส เป็นปัจจัย ย่อมปรากฏตามความเป็นจริงว่า ไม่เที่ยง ฯลฯ ใจย่อมปรากฏ ตามความเป็นจริงว่า ไม่เที่ยง ธรรมย่อมปรากฏตามความเป็นจริงว่า ไม่เที่ยง มโนวิญญาณย่อมปรากฏตามความเป็นจริงว่า ไม่เที่ยง มโนสัมผัส ย่อมปรากฏตามความเป็นจริงว่า ไม่เที่ยง แม้สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรือ อทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย ย่อมปรากฏตาม ความเป็นจริงว่า ไม่เที่ยง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเจริญสมาธิ เพราะเมื่อภิกษุมีจิตตั้งมั่นแล้ว สิ่งทั้งปวงย่อมปรากฏตามความเป็นจริง

จบ ปฐมชีวกัมพวนสูตรที่ ๕

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 15 ธ.ค. 2549

[เล่มที่ 28] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้าที่ 296

๖. ทุติยชีวกัมพวนสูตร

ว่าด้วยสิ่งทั้งปวงปรากฏตามความเป็นจริง

[๒๕๐] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ชีวกัมพวัน กรุงราชคฤห์ ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย ฯลฯ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงหลีกเร้นบำเพ็ญความเพียร เพราะเมื่อภิกษุหลีกเร้นอยู่ สิ่งทั้งปวงย่อมปรากฏตามความเป็นจริง ดูก่อนภิกษุ ทั้งหลาย ก็อะไรเล่าย่อมปรากฏตามความเป็นจริง คือ จักษุย่อมปรากฏ ตามความเป็นจริงว่า ไม่เที่ยง รูปย่อมปรากฏตามความเป็นจริงว่า ไม่เที่ยง จักษุวิญญาณย่อมปรากฏตามความเป็นจริงว่า ไม่เที่ยง จักษุสัมผัสย่อม ปรากฏตามความเป็นจริงว่า ไม่เที่ยง แม้สุขเวทนา ทุกข์เวทนา หรือ อทุกขมสุขเวทนา ที่เกิด เพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย ก็ย่อมปรากฏตาม ความเป็นจริงว่า ไม่เที่ยง ฯลฯ ใจย่อมปรากฏตามความเป็นจริงว่า ไม่เที่ยง ธรรมย่อมปรากฏตามความเป็นจริงว่า ไม่เที่ยง มโนวิญญาณย่อม ปรากฏตามความเป็นจริงว่า ไม่เที่ยง มโนสัมผัสย่อมปรากฏตามความเป็น จริงว่า ไม่เที่ยง แม้สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย ก็ย่อมปรากฏตามความเป็นจริงว่า ไม่เที่ยง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงหลีกเร้นบำเพ็ญความเพียร เพราะเมื่อ ภิกษุหลีกเร้นอยู่ สิ่งทั้งปวงย่อมปรากฏตามความเป็นจริง

จบ ทุติยชีวกัมพวนสูตรที่ ๖

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 15 ธ.ค. 2549

อรรถกถาชีวกัมพวนสูตรที่ ๕ - ๖

สูตรที่ ๕ ตรัสสำหรับเหล่าภิกษุผู้ยังบกพร่องด้วยสมาธิ.

สูตรที่ ๖ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่า กรรมฐานของพวกเธอต้องได้พี่เลี้ยง จึง ตรัสสำหรับเหล่าภิกษุผู้ได้ความที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง และความสงัดกาย แต่ยังบกพร่องด้วยการหลีกเร้น

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โอกฺกายติ ได้แก่อันเขารู้กันทั่ว คือ ปรากฏ ดังนั้น ในสูตรทั้ง ๒ พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงได้ตรัสมรรค ๔ พร้อมด้วยวิปัสสนา.

จบ อรรถกถาชีวกัมพวนสูตรที่ ๕ - ๖

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 15 ธ.ค. 2549

[เล่มที่ 28] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้าที่ 169

๖. สมาธิสูตร

ว่าด้วยสมาธิ

[๑๔๗] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเจริญสมาธิเถิด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุมีจิตตั้งมั่นแล้ว ย่อมรู้ตามความเป็นจริง รู้อะไร ตามความเป็นจริง รู้ตามความเป็นจริงว่า จักษุไม่เที่ยง รู้ตามความเป็น จริงว่า รูปทั้งหลายไม่เที่ยง รู้ตามความเป็นจริงว่า จักษุวิญญาณไม่เที่ยง รู้ตามความเป็นจริงว่า จักษุสัมผัสไม่เที่ยง รู้ตามความเป็นจริงว่า สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย ไม่เที่ยง ฯลฯ รู้ตามความเป็นจริงว่า ใจไม่เที่ยง รู้ตามความเป็นจริงว่า ธรรมทั้งหลายไม่เที่ยง รู้ตามความเป็นจริงว่า มโนวิญญาณไม่เที่ยง รู้ตามความเป็นจริงว่า มโนสัมผัสไม่เที่ยง รู้ตามความเป็นจริงว่า สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย ไม่เที่ยง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย จงเจริญสมาธิเถิด ดูก่อนภิกษุ ทั้งหลาย ภิกษุมีจิตตั้งมั่นแล้วย่อมรู้ตามความเป็นจริง

จบ สมาธิสูตรที่ ๖

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 15 ธ.ค. 2549

อรรถกถาสมาธิสูตรที่ ๖

ในสมาธิสูตรที่ ๖ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้

บทว่า สมาธิ ได้แก่ ความที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง จริงอยู่ พระองค์เห็นบุคคลผู้เสื่อมจากความเป็นผู้มีจิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง ทรงรู้ว่า เมื่อคนเหล่านี้ ได้ความที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง กรรมฐานจักต้องมีพี่เลี้ยง ดังนี้แล้ว จึงตรัสพระสูตรนี้

จบ อรรถกถาสมาธิสูตรที่ ๖

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ปุถุชนคนหนึ่ง
วันที่ 22 ธ.ค. 2549

"...ดังนั้น ในสูตรทั้ง ๒ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสมรรค ๔ พร้อมด้วยวิปัสสนา"

ขอรบกวนถามว่ามรรค ๔ คือสัมมาสังกัปปะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิใช่มั้ย ค่ะ และเพราะเหตุใดพระผู้มีพระภาคฯ จึงตรัสให้ภิกษุทั้งหลายเจริญสมาธิ เมื่อจิตตั้งมั่น แล้วย่อมรู้สิ่งทั้งปวงตามความเป็นจริง เพราะตามที่เข้าใจการเจริญสติปัฏฐานเท่านั้นที่จะทำ ให้รู้สิ่งทั้งปวงตามความเป็นจริง กรุณาอธิบายพระสูตรนี้ให้กระจ่างด้วยค่ะ

ขอบพระคุณค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
study
วันที่ 24 ธ.ค. 2549

มรรค ๔ ในที่นี้ หมายถึง โสดาปัตติมรรค ๑ สกทาคามิมรรค ๑ อนาคามิมรรค ๑ อรหัตตมรรค ๑ ส่วนสมาธิที่ทรงให้ภิกษุเจริญต้องเป็นสัมมาสมาธิ และเป็นสมาธิที่เกิดกับวิปัสสนา

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
chatchai.k
วันที่ 17 พ.ย. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ