โมฆะบุรุษและความเห็นผิด

 
natural
วันที่  26 มิ.ย. 2556
หมายเลข  23091
อ่าน  12,698

โมฆะบุรุษและความเห็นผิดเป็นอย่างไร


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 26 มิ.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

จากคำถามที่ว่า

ขอเรียนถามความหมายคำว่า โมฆะบุรุษ

โมฆบุรุษมีหลายนัยดังอธิบายดังนี้ครับ

โมฆบุรุษคือบุคคลที่ว่างเปล่า ไม่มีแก่นสาร ว่างเปล่าจากอะไร

1.ว่างเปล่าจากกุศลธรรมในขณะนั้นคือขณะนั้นเป็นอกุศลที่มีกำลัง เป็นโมฆบุรุษใน ขณะนั้น

2.ว่างเปล่าจากความเห็นถูกคือเป็นผู้มีความเห็นผิด เป็นโมฆบุรุษ

3.ว่างเปล่าเพราะไม่มีอุปนิสัยที่จะได้บรรลุมรรคผลในชาตินั้นคือไม่มีทางบรรลุในชาติ นั้นก็ชื่อว่าเป็นโมฆบุรุษ

4.ว่างเปล่าแม้จะมีอุปนิสัยจะได้บรรลุในชาตินั้นและท้ายที่สุดได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ แต่ขณะนั้นเป็นอกุศลจึงว่างเปล่าจากการบรรลุในขณะนั้น ขณะนั้นก็ชื่อว่าเป็นโมฆบุรุษ พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 70

บทว่า โมฆปุริโส ความว่าบุรุษเปล่า จริงอยู่ พระพุทธเจ้าทั้งหลายเรียกบุรุษผู้

ไม่มีอุปนิสัยแห่งมรรคและผลในอัตภาพนั้นว่าโมฆบุรุษ. ครั้นเมื่ออุปนิสัยแม้มีอยู่ แต่

มรรคหรือผล ไม่มีในขณะนั้น ก็เรียกว่า โมฆบุรุษเหมือนกัน.

นัยที่ 1 คือว่างเปล่าจากกุศลธรรมในขณะนั้นคือขณะนั้นเป็นอกุศลที่มีกำลัง เป็น

โมฆบุรุษในขณะนั้น ยกตัวอย่างเช่น ภิกษุชาวเมืองโกสัมพีด่าว่ากันและกัน ขณะนั้น

เป็นอกุศลที่มีกำลัง เป็นโมฆบุรุษว่างเปล่าจากกุศลธรรม พระพุทเจ้าทรงเรียกเหล่า

ภิกษุชาวเมืองโกสัมพีว่าโมฆบุรุษ

นัยที่ 2 คือว่างเปล่าจากความเห็นถูกคือเป็นผู้มีความเห็นผิด เป็นโมฆบุรุษ พระ-

พุทธเจ้า ทรงเรียกครูมักขลิโคสาลผู้ที่มีความเห็นผิดอย่างมากว่าเป็นโมฆบุรุษ

นัยที่ 3 คือว่างเปล่าเพราะไม่มีอุปนิสัยที่จะได้บรรลุมรรคผลในชาตินั้นคือไม่มีทางบรรลุในชาตินั้นก็ชื่อว่าเป็นโมฆบุรุษ ผู้ที่ว่างจากการบรรลุในชาตินั้นจึงเป็นโมฆบุรุษ

นัยที่ 4 คือ ว่างเปล่าแม้จะมีอุปนิสัยจะได้บรรลุในชาตินั้นและท้ายที่สุดได้บรรลุเป็น

พระอรหันต์ แต่ขณะนั้นเป็นอกุศล จึงว่างเปล่าจากการบรรลุในขณะนั้น ขณะนั้นก็ชื่อ

ว่าเป็นโมฆบุรุษ ในพระไตรปิฎก พระพุทธเจ้าทรงติเตียนท่านพระอุปเสนวังคันตบุตร

ว่าเป็นโมฆบุรุษเพราะเป็นผู้มักมาก ท่านสะสมบริขารมีบาตรและจีวรมากมาย ทำให้เป็น

ผู้มักมากในขณะนั้น ขณะนั้นจึงว่างเปล่าจากการบรรลุ ว่างเปล่าจากกุศลธรรมจึงเป็น

โมฆบุรุษ ซึ่งท่านพระอุปเสนวังคันตบุตรท่านมีอุปนิสัยได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ในชาติ

นั้นและต่อมาไม่นานที่พระพุทธเจ้าทรงติเตียนว่าโมฆบุรุษ ท่านก็ได้บรรลุเป็นพระ-

อรหันต์ครับ

โมฆบุรุษจึงมีหลายระดับ หลากหลายนัยตามที่กล่าวมาครับ จึงเป็นเครื่องเตือน

ว่าแต่ละท่านนั้นเป็นโมฆบุรุษหรือไม่ และเมื่อรู้ตามความเป็นจริงแล้ว สิ่งที่จะทำให้ละ

ความเป็นโมฆบุรุษได้คืออะไร ถ้าไม่ใช่การฟังพระธรรมในหนทางที่ถูกต้องและ

น้อมประพฤติปฏิบัติตามพระธรรม

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

จากคำถามที่ว่า ....... เพราะเหตุใดความเห็นผิดจึงมีโทษมากค่ะ

ความเห็นผิดมีโทษมาก โดยเฉพาะ ความเห็นผิด ที่ดิ่ง สามารถทำบาปได้ทุกอย่าง

เพราะมี ความเห็นผิดเป็นปัจจัย ความเห็นผิดที่ดิ่ง มี 3 อย่างคือ

นิยตมิจฉาทฎฐิ ๓ ได้แก่ คลิกอ่านที่นี่... นิยตมิจฉาทิฏฐิ - อเหตุกทิฎฐิ เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นเองเป็นเอง ไม่อาศัยเหตุปัจจัยให้เกิดให้มีขึ้น ไม่เชื่อในเหตุ คลิก...อเหตุกทิฏฐิ

- นัตถิกทิฎฐิ เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ผลอันเนื่องมาแต่เหตุผล

ของการทำดีทำชั่ว ไม่มีโลกนี้โลกหน้า สัตว์บุคคลไม่มี เป็นแต่ธาตุประชุมกันตายแล้วสูญไม่เกิดอีก เชื่อว่าไม่มีอะไรทั้งนั้น คลิก... นัตถิกทิฏฐิ

- อกิริยทิฎฐิ เห็นว่าการกระทำใดๆ ไม่ชื่อว่าเป็นอันกระทำ ผลบาปบุญไม่มี

แก่ผู้ทำกระทำแล้วก็เป็นอันแล้วกันไป ปฏิเสธการกระทำโดยประการทั้งปวง

คลิกอ่านที่นี่ครับ.. อกิริยทิฏฐิ

มิจฉาทิฏฐิที่ดิ่งเป็นนิยตมิจฉาทิฏฐิ มีโทษมากกว่าอนันตริยกรรม (ฆ่า บิดา

มารดา (เป็นต้น) เพราะอนันตริยกรรมยังพอกำหนดอายุที่จะไปอบายได้ เช่น

ไปนรก 1 กัปดังเช่น พระเทวทัตทำสังฆเภท (ทำสงฆ์ให้แตก) ซึ่งเมื่อครบกำหนด

อายุกรรมแล้วก็สามารถไปเกิดในสุคติภูมิและบรรลุธรรมภายหลังได้ ดังเช่น

พระเทวทัต ภายหลังท่านก็ได้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าในอนาคตกาล แต่ว่ามิจฉา

ทิฏฐิไม่สามารถออกจากวัฏฏะได้เลย (ตอวัฏฏะ) และยังเป็นเหตุให้ที่ทำบาปกรรม

ต่างๆ มากมายด้วย มีการทำอนันตริยกรรม เป็นต้น จึงไม่สามารถไปสุคติภูมิได้

และไม่มีทางบรรลุมรรคผล จึงมีโทษมากดังนี้

ด้วยเหตุนั้นนั่นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรามองไม่เห็น

ธรรมอย่างหนึ่ง อันอื่นที่มีโทษมาก เหมือน

อย่างมิจฉาทิฏฐิเลย กระบวนโทษทั้งหลาย

มิจฉาทิฏฐิมีโทษอย่างยิ่ง.

และ แม้ความเห็นผิด จะไม่ได้มีกำลังมากถึงกับดิ่ง แต่ ความเห็นผิด แม้ การเห็นผิด

ในข้อปฏิบัติ และ อื่นๆ ก็มีโทษมาก เำเพราัะเมื่อมีความเห็นผิดย่อมเป็นปัจจัยให้

อกุศลธรรมอื่นๆ ตามมามากมายและล่วงศีลได้ เมื่อเห็นผิด ย่อมคิดผิด ย่อมมีวาจา

ผิด (พูดเท็จ พูดหยาบ พูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อ) ย่อมมีการงานผิด ประพฤติทาง

กายผิด (ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม) ย่อมเลี้ยงชีพผิด ย่อมเพียรผิด

ย่อมระลึกผิด ย่อมตั้งมั่นผิด ย่อมรู้ผิด เป็นต้น สมดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ หน้าที่ 360

๒. ทุติยอธรรมสูตร

ว่าด้วยบุคคลพึงปฏิบัติตามสิ่งที่เป็นธรรมและตามสิ่งที่เป็นประโยชน์

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความเห็นผิดเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม ความ

เห็นชอบเป็นสิ่งที่เป็นธรรม อกุศลธรรมอันลามกมิใช่น้อย ที่เกิดขึ้น

เพราะความเห็นผิดเป็นปัจจัย เป็นสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ส่วนกุศลธรรม

มิใช่น้อย ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์ เพราะความเห็นชอบเป็นปัจจัย

เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์.

---------------------------------------------------

เชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมที่นี่ ครับ

มิจฉาทิฏฐิ มีโทษมาก

มิจฉาทิฏฐิมีโทษมาก

มิจฉาทิฏฐิมีโทษมากกว่าอนันตริยกรรม

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
nongnooch
วันที่ 26 มิ.ย. 2556

ว่างเปล่าแม้จะมีอุปนิสัยจะได้บรรลุในชาตินั้นและท้ายที่สุดได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ แต่ขณะนั้นเป็นอกุศลจึงว่างเปล่าจากการบรรลุในขณะนั้น ขณะนั้นก็ชื่อว่าเป็นโมฆบุรุษ

กราบขอคำอธิบาย และยกตัวอย่างค่ะ

สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 26 มิ.ย. 2556

เรียนความเห็นที่ 2 ครับ

ธรรม พิจารณาได้ละเอียด แม้ในขณะจิต ผู้ที่อบรมปัญญามา จะบรรลุธรรมเป็น

พระอรหันต์ในชาตินั้น เช่น ท่านพระอุปเสนวังคันตบูตร แต่ก่อนที่จะเป็นพระอรหันต์

ท่านก็ยังเป็นปุถุชน ท่านก็ประพฤติสิ่งที่ไม่ดี คือ การมักมาก ใน ปัจจัยต่างๆ ขณะนั้น

เป็นอกุศล เมื่อเป็นอกุศล ก็ว่างเปล่า จาก มรรค ผล จาก คุณความดี ก็ชื่อว่าเป็น

โมฆบุรุษ บุคคลที่ว่างเปล่าจากคุณธรรม ขณะจิตนั้น เรียกว่า เป็นโมฆบุรุษ

พระพุทธเจ้าทรงทราบ ทรงติเตียนท่าน พระอุปเสนวังคันตบุตร ท่านเห็นโทษ

อบรมปัญญา และ บรรลุเป็นพระอรหันต์ ขณะนั้น ท่านไม่ว่างเปล่า ไม่ใช่โมฆบุรุษ

แล้ว เพราะ ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ครับ ดังนั้น ข้อความที่ผู้ถามยกมา กำลัง

แสดง ถึง โมฆบุรุษ โดยขณะจิตเป็นสำคัญ ครับ

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 301

บทว่า อถ โข ภควา ภิกฺขู อามนฺเตสิ นี้เป็นอนุสนธิแผนกหนึ่ง

โดยเฉพาะ. ได้ยินว่า อริฏฐภิกษุคิดว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสเรียกเราว่า

โมฆปุริส แต่เธอจะไม่มีธรรมอันเป็นอุปนิสัยแห่งมรรคและผล ด้วยเหตุเพียง

ตรัสว่า โมฆปุริส หามิได้แล จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกอุปเสนวัง

คันตบุตรด้วยวาทะว่าโมฆปุริส ว่าดูก่อนโมฆปุริส เธอเป็นผู้เวียนมาเพื่อความ

มักมากเร็วเกินไป ภายหลังพระเถระเพียรพยายามกระทำให้แจ้งซึ่งอภิญญา ๖

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

ระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 70

ข้อความบางตอนจาก....

อรรถกถา มหาสีหนาทสูตร

บทว่า โมฆปุริโส ความว่าบุรุษเปล่า จริงอยู่ พระพุทธเจ้าทั้งหลายเรียกบุรุษ

ผู้ไม่มีอุปนิสัยแห่งมรรคและผลในอัตภาพนั้นว่าโมฆบุรุษ. ครั้นเมื่ออุปนิสัยแม้

มีอยู่ แต่มรรคหรือผล ไม่มีในขณะนั้น ก็เรียกว่า โมฆบุรุษเหมือนกัน.

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
nongnooch
วันที่ 26 มิ.ย. 2556

ธรรม ในแต่ล่ะขณะจิต ช่างลึกซึ้ง หากเรามีขันติ ในการที่จะเพียรพยายาม

ศึกษาให้เป็นผู้รู้ถูก เห็นถูก และได้ร่วมสนทนากับผู้มีปัญญาด้วยแล้วก็จะทำให้ปัญญา

ของเราเจริญขึ้นตามลำดับ

ต้องขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงค่ะสำหรับข้อสนทนา

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
khampan.a
วันที่ 26 มิ.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ที่กล่าวถึงโมฆบุรุษ ซึ่งเป็นคนที่ว่างเปล่าจากคุณความดี ว่างเปล่าจากความ

เข้าใจถูกเห็นถูก เป็นต้น นั้น ก็ย่อมเป็นเครื่องเตือนที่ดีว่า ตนเองเป็นอย่างนั้นหรือไม่

เพื่อจะได้เป็นผู้ไม่ประมาทในการสะสมความดีและฟังพระธรรมให้เข้าใจ ต่อไป

อ้างอิงจาก ... ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๙๕ ประเด็นเรื่อง "โมฆบุรุษ" เป็นเครื่องเตือนใจที่ดีเป็นอย่างยิ่ง มีหลากหลายนัย

ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับเตือนตนเองว่าเป็นโมฆบุรุษหรือไม่ เพื่อเป็นผู้ไม่ประมาทในชีวิต

ไม่ประมาทในการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญาต่อไป เพราะเมื่อกล่าวอย่างกว้างๆ แล้ว ผู้ที่เป็นโมฆบุรุษ คือ ผู้ว่างเปล่า ได้แก่ ว่างเปล่าจากคุณธรรมว่างเปล่าจากคุณความดี บุคคลผู้ที่ไม่ได้น้อมประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง ชื่อว่า เป็นโมฆบุรุษ การฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง ประโยชน์ คือ เพื่อเข้าใจธรรมตามความเป็นจริง เพื่อเห็นโทษของอกุศลธรรม และเห็นคุณประโยชน์ของกุศลธรรม ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่น ไม่ใช่เพื่อลาภ สักการะ สรรเสริญ จนกว่าจะเป็นผู้ถูกฝึกด้วยพระธรรม เป็นผู้ว่าง่ายและน้อมประพฤติปฏิบัติตามพระธรรม จึงจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากพระธรรม ค่อยๆ ขัดเกลาความเป็นโมฆบุรุษ ต่อไป ครับ

-ความเห็น เป็นธรรมที่มีจริง ถ้าเห็นถูกเข้าใจถูก เป็นปัญญา หรือ สัมมาทิฏฐิ เป็น เหตุให้กุศลธรรมทั้งหลาย เจริญขึ้น อกุศลธรรมเสื่อมไป แต่ถ้าเป็นความเห็นผิดแล้ว ไม่ใช่สัมมาทิฏฐิ แต่เป็นมิจฉาทิฏฐิ อกุศลธรรมทั้งหลาย มีแต่จะเพิ่มพูนมากยิ่งขึ้นสืบ เนื่องมาจากความเห็นผิด นั้น ดังนั้น เรื่องของความเห็น จึงมี ๒ ประเภทดังที่กล่าวมา ถ้ามีความเห็นถูก กาย วาจา ใจ ย่อมเป็นไปในทางที่ถูกด้วย ก็จะเป็นหนทางนำไปสู่ สุคติ คือมนุษย์ภูมิและสวรรค์ และสามารถทำให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ดับกิเลสตามลำดับ ขั้น ด้วย แต่ถ้ามีความเห็นผิด กาย วาจา และ ใจ ย่อมเป็นไปในทางที่ผิด ทุกอย่างผิดไปหมด ผลที่ จะเกิดขึ้น คือ เป็นเหตุให้เข้าถึง อบาย ทุคติ วินิบาต นรก อันเป็นผลที่เผ็ดร้อน ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ไม่น่าพอใจ เป็นอย่างยิ่ง การที่จะค่อยๆ เพิ่มพูนความเข้าใจถูกเห็นถูกยิ่งขึ้น ขัดเกลาละคลายความเห็นผิดความไม่รู้และอกุศลธรรมทั้งหลาย ก็เพราะอาศัยการศึกษา การฟังพระธรรมที่พระสัมมา สัมพุทธเจ้าทรงแสดง บ่อยๆ เนืองๆ เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ไม่ขาดการฟังพระ ธรรม ครับ ...ขออนุโมทนาในกุศลจิตทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
wannee.s
วันที่ 26 มิ.ย. 2556

โมฆบุรุษ คือ คนที่ฟังธรรมแล้วไม่ประพฤ๖ิปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
kinder
วันที่ 26 มิ.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
natural
วันที่ 27 มิ.ย. 2556

ขอบพระคุณและอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
nongnooch
วันที่ 27 มิ.ย. 2556

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ