จิต เจตสิก

 
นิรมิต
วันที่  14 เม.ย. 2556
หมายเลข  22760
อ่าน  1,056

กราบสวัสดีท่านวิทยากรและมิตรธรรมที่เคารพทุกท่าน

ขออนุญาตกราบเรียนถามปัญหาดังนี้ครับ

ก็ชื่อว่ากุศลจิตนั้น เป็นสภาพธรรมที่มีปรมัตถลักษณะปรากฏ หรือเป็นสภาพที่ไม่มีปรมัตถลักษณะปรากฏ เพราะเหตุว่ากุศลจิต ก็คือจิตที่ประกอบด้วยกุศลเจตสิกต่างๆ มีสัทธา สติ หิริ โอตตัปปะ เป็นต้น ซึ่งสภาพที่มีลักษณะเป็นกุศล ต้องมีเจตสิกต่างๆ ดังนี้

ส่วนจิต เป็นโดยความเป็นปรมัตถธรรม ก็เป็นนามธรรมที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้เท่านั้น เป็นปัณฑระ ไม่ใช่กุศลไม่ใช่อกุศล เพราะ มีสภาพรู้เท่านั้น แต่เมื่อเกิดพร้อมกับกุศลเจตสิก จึงชื่อว่ากุศลจิต (โดยนัยเดียวกับอกุศลเช่นกัน)

ฉะนั้น เมื่อสติปัฏฐาน ต้องระลึกในปรมัตถธรรมเท่านั้น ที่มีลักษณะจริงๆ ปรากฏเกิดดับ จึงสงสัยว่า แม้จิตเจตสิกต้องอาศัยกันและกันเกิดขึ้น เกิดก็เกิดพร้อมกัน รู้ก็รู้อารมณ์เดียวกัน แต่ในเมื่อจิตก็อย่างหนึ่ง เจตสิกก็อย่างหนึ่ง จึงสงสัยว่า ชื่อว่ากุศลจิตนี้ มีลักษณะที่เป็นปรมัตถ์ปรากฏ ที่สติปัฏฐานสามารถระลึกรู้ได้หรือไม่ อย่างไร ประการใด และเป็นลักษณะอะไร ต่างกับลักษณะของกุศลเจตสิกเพียวๆ อย่างไรครับ? (เช่นกันโดยนัยเดียวกับอกุศล)

กราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 14 เม.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขออนุญาตร่วมแสดงความคิดเห็นครับ

สภาพธรรมที่มีจริงๆ เป็นปรมัตถธรรม ไม่เปลี่ยนแปลงลักษณะเป็นอย่างอื่น เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น ซึ่งเมื่อกล่าวโดยประเภทแล้ว ได้แก่ จิต เจตสิก รูป และนิพพาน เป็นสภาพธรรมที่มีจริงทั้งหมด จากประเด็นคำถามก็จะต้องมีความเข้าใจตั้งแต่เบื้องต้นจริงๆ ว่าจิต คือ อะไร เจตสิก คือ อะไร

จิต เป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ ทุกขณะไม่เคยขาดจิตเลย มีจิตเกิดดับสืบต่อกันอย่างไม่ขาดสาย จิตขณะหนึ่งดับไป เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อทันที จิตมีหลากหลายมาก หลากหลายโดยอารมณ์ หลากหลายโดยภูมิซึ่งเป็นระดับขั้นของจิต หลากหลายโดยเจตสิกธรรมที่เกิดร่วมด้วย และจิตแต่ละขณะที่เกิดขึ้น ต้องเป็นชาติหนึ่งชาติใดใน ๔ ชาติ โดยไม่ปะปนกัน คือ จิตเกิดขึ้นเป็นกุศล จิตเกิดขึ้นเป็นอกุศล จิตเกิดขึ้นเป็นวิบาก จิตเกิดขึ้นเป็นกิริยา ตามความเป็นจริงของจิตประเภทนั้นๆ จากตรงนี้ ก็พอจะเข้าใจได้ว่า กุศลจิตก็มี อกุศลจิตก็มี วิบากจิตก็มี และ กิริยาจิตก็มี จะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม ความจริงย่อมเป็นความจริง แต่ไม่ว่าจะเป็นจิตประเภทใด ขณะใด ความเป็นลักษณะของจิตไม่เคยเปลี่ยน คือ มีการรู้แจ้งซึ่งอารมณ์เป็นลักษณะ จิตเป็นปรมัตถธรรม เป็นสภาพธรรมที่มีจริงที่มีลักษณะให้รู้ตามความเป็นจริงได้

เจตสิก หมายถึงสภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิต ดับพร้อมกับจิต รู้อารมณ์เดียวกันกับจิต และสำหรับในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ก็อาศัยที่เกิดที่เดียวกันกับจิต เจตสิกมีมากมายถึง ๕๒ ประเภท มีผัสสะ เวทนา สัญญา เป็นต้น เป็นจริงแต่ละหนึ่ง มีลักษณะเฉพาะของตนๆ เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ของตนๆ แล้วก็ดับไป เจตสิกย่อมเกิดขึ้นกับจิตตามสมควรแก่จิตประเภทนั้นๆ เช่น จากประเด็นคำถาม คือ กุศลจิต สภาพธรรมที่เกิดร่วมกันในขณะนั้นได้แก่ จิต และเจตสิกประเภทต่างๆ เจตสิกประเภทต่างๆ ที่เกิดร่วมกับกุศลจิตก็มีความเสมอกันกับจิตในขณะนั้น คือ เป็นกุศล ด้วย

สิ่งที่มีจริงซึ่งเป็นปรมัตถธรรมนั้น เป็นที่ตั้งหรืออารมณ์ของสติปัฏฐานได้ ซึ่งต้องเป็นแต่ละหนึ่งๆ เท่านั้น สติปัฏฐาน หมายถึง การระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น โดยที่มีสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรม เป็นอารมณ์ ในขณะที่สติเกิดขึ้นระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ และปัญญารู้ตามความเป็นจริงเช่น กุศลจิตเกิดขึ้น กุศลจิตมีจริงๆ สติปัฏฐานระลึกรู้จิต ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนั้น ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา แต่ถ้ามีการระลึกรู้เจตสิก ก็ต้องเป็นแต่ละหนึ่ง ขึ้นอยู่กับว่ากำลังของสติปัญญาจะมีมากแค่ไหน แต่เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว จิตมีจริงๆ สติปัฏฐานสามารถเกิดระลึกรู้จิตตามความเป็นจริงได้ ว่าเป็นธรรม และเจตสิกทั้งหลายก็เป็นที่ตั้งของสติปัฏฐานได้เช่นเดียวกัน ซึ่งขณะนั้นก็ระลึกรู้ เจตสิก (ไม่ใช่ระลึกรู้จิต) และในขณะที่ระลึกรู้เจตสิก จะไม่มีชื่อว่าเจตสิก มีแต่ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏว่าเป็นธรรม

ธรรมละเอียดลึกซึ้งมาก แสดงถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมแต่ละอย่างๆ โดยไม่ปะปนกัน ที่น่าพิจารณา คือ ก่อนที่จะไปถึงสติปัฏฐานนั้น ก็ต้องมีความเข้าใจถูกเห็นถูกในเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริง ที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับทีละเล็กทีละน้อย ครับ

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

ก่อนจะถึง...สติ-ปัฏฐาน !

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 14 เม.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

จากที่ผู้ถามได้ถามนั้น ถามถึงประเด็นโดยสรุปได้ดังนี้ คือ

๑. กุศลจิตเกิดร่วมกับเจตสิกที่ดีงาม ขณะที่สติปัฏฐานเกิด ระลึกรู้ในตัวกุศลจิตอย่างไร

สติปัฏฐาน คือ สติและปัญญาที่เกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ โดยรู้ที่ตัวลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรม ซึ่ง เบื้องต้นพื้นฐานที่จะต้องเข้าใจในเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน ก็ต้องย้อนกลับมาที่ว่า จิตเมื่อเกิดขึ้นก็จะต้องมีอารมณ์ คือ สิ่งที่ถูกจิตรู้ ซึ่งสิ่งที่ถูกจิตรู้ก็จะต้องมีเพียงอย่างเดียว ยกตัวอย่างเช่น จิตเห็นเมื่อเกิดขึ้น ก็จะต้องมีอารมณ์ คือ สิ่งที่จิตเห็นรู้เพียงอย่างเดียว คือ สิ่งที่ปรากฎทางตา หรือ สี โดยนัยเดียวกับจิตประเภทอื่น หากเข้าใจให้ถูก สติปัฏฐานที่เกิดขึ้น ก็ไม่พ้นจากจิตที่เกิดขึ้น พร้อมกับเจตสิกที่ดีงาม จึงเป็นกุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญาที่รู้ความจริง และเกิดพร้อมสติเจตสิกที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม สติและปัญญาที่เป็นเจตสิก เมื่อจิตรู้สิ่งใด เจตสิกก็รู้สิ่งนั้น และจะต้องมีอารมณ์เดียวกันด้วย

เพราะฉะนั้น ขณะที่สติปัฏฐานเกิด คือ กุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญาเกิดขึ้น มีอารมณ์ของกุศลจิตนั้นที่กำลังรู้ คือ สภาพธรรมที่กำลังปรากฎให้รู้เพียงอย่างเดียวที่มีลักษณะให้รู้ในขณะนั้น เพราะฉะนั้น จึงกลับมาที่คำถามที่ว่า กุศลจิตเกิดร่วมกับเจตสิกที่ดีงาม ขณะที่สติปัฏฐานเกิด ระลึกรู้ในตัวกุศลจิตอย่างไร

กุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา คือ ขณะที่สติปัฏฐานเกิด จะต้องมีอารมณ์เดียวเท่านั้นหรือ ลักษณะของสภาพธรรมนั้นเพียงอย่างเดียว หากแม้ว่าสภาพธรรมที่เป็นกุศลจิต เช่น ขณะที่ให้ทาน ก็มีทั้งกุศลจิต คือ ตัวจิตเองที่เกิดขึ้น และมีเจตสิกฝ่ายดีที่เกิดร่วมด้วย เช่น ศรัทธา สติ หิริ โอตตัปปะ เป็นต้น ก็เกิดร่วมด้วยในขณะนั้น แม้จะมีสภาพธรรมทั้งที่เป็นจิตและเจตสิกในขณะที่เป็นกุศลจิต แต่เมื่อใดที่สติปัฏฐานเกิด ก็สามารถเกิดระลึกรู้สภาพธรรมที่เกิดร่วมด้วยกันแต่เพียงอย่างเดียว เพราะตัวสติที่ทำหน้าที่ระลึก ระลึกในตัวสภาพธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น รู้ตัวสภาพธรรมที่เป็นกุศลจิต คือ รู้ในลักษณะที่เป็นแต่เพียงลักษณะสภาพรู้เท่านั้น ขณะที่รู้ลักษณะของจิตที่เป็นสภาพรู้ ละเอียดลงไปอีก คือ จะต้องมีปัญญารู้ความจริง คือ สติปัฏฐานเกิด รู้จิตในจิต จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานว่า ขณะนั้น เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เป็นจิตนั้น ไม่ใช่เรา เพราะมีลักษณะของจิตที่รู้ ขณะนั้น แม้มีเจตสิกที่ดีงามเกิดร่วมด้วย แต่ลักษณะไม่ปรากฎ คือ ไม่ปรากฎกับสติ และปัญญาในขณะนั้น เพราะลักษณะที่กำลังปรากฎ เป็นสภาพธรรมที่เป็นกุศลจิต ส่วนขณะใดที่สติปัฏฐานเกิด แม้ขณะที่ให้ทาน ก็รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นเจตสิก แต่ละอย่าง แต่ละประเภทก็ได้ ที่เป็นสภาพธรรมที่เป็นเจตสิกฝ่ายดี เช่น สติเจตสิกในขณะนั้น ว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา อันแสดงถึงความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม ที่ไม่สามารถบังคับได้เลยว่า สติปัฏฐานจะเกิดระลึกรู้ลักษณะขงอสภาพธรรมอะไรในขณะนั้น ครับ

๒. กุศลจิตมีลักษณะของปรมัตถธรรมหรือไม่

กุศลจิต คือ จิตที่ดีงาม ที่ประกอบด้วยเจตสิกที่ดีงามที่เกิดร่วมด้วยในขณะนั้น เมื่อพูดถึงกุศลจิต ก็จะต้องเป็นเพียงสภาพธรรมที่เป็นเพียงแต่จิตเท่านั้น ไม่ใช่เจตสิก ที่เป็นเพียงสภาพรู้ แต่ที่เรียกว่ากุศลจิตเพราะมีเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยครับ โดยปรมัตถธรรมก็คือ นามธรรมที่เป็นจิต

๓. กุศลจิตต่างกับกุศลเจตสิกอย่างไร ในขณะที่สติปัฏฐานเกิด

กุศลจิต กล่าวโดยนัยที่เป็นเพียงสภาพรู้ที่เป็นใหญ่ในการรู้เท่านั้น ไม่ได้ทำหน้าที่อื่นๆ เช่น จำ ระลึก เป็นต้น เพียงแต่เรียกกุศลจิตตามประเภทของเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ครับ ส่วนกุศลเจตสิกที่มีเจตนาที่ดีงาม ก็เป็นเจตสิกที่ดี เช่น สติ หิริ ซึ่งขณะที่สติปัฏฐานเกิด ระลึกรู้ในตัวกุศลจิตและกุศลเจตสิกต่างกันตรงที่ ระลึกรู้ในคนละสภาพธรรม เพียงแต่ สติปัฏฐานจะต้องมีอารมณ์เดียวเท่านั้น แต่ระลึกในตัวสภาพธรรมที่เป็นลักษณะของจิต ที่เป็นกุศลจิต ซึ่งลักษณะของกุศลจิต แท้จริง ก็คือ รู้ลักษณะของตัวสภาพธรรมที่เป็นจิตเท่านั้น หากได้อ่านในส่วนของจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน จะแสดงหมวดของการรู้จิตโดยนัยต่างๆ ทั้งจิตที่เป็นโลภะ จิตที่เป็นกุศล จิตที่ได้ฌาน เหล่านี้ ที่มีหลายหมวด เพื่อแสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าจิตโดยลักษณะแบบใด โดยนัยต่างๆ ก็เป็นเพียงจิตที่เป็นสภาพรู้เท่านั้น ขณะที่สติปัฏฐานเกิด ก็ระลึกรู้ที่ตัวลักษณะของจิตเท่านั้น ว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา นี่คือ ความละเอียดของการเจริญสติปัฏฐาน เจริญอบรมปัญญาที่ไม่ใช่เพียงการรู้โดยการคิดนึก แต่ประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นจิต ที่เป็นเพียงสภาพธรรมที่เป็นจิตเท่านั้น แม้จะมีจิตโดยหลายประเภทก็ตาม ครับ

ส่วนการระลึกในตัวลักษณะของเจตสิกที่ดี ก็แล้วแต่ว่า สติจะเกิดระลึกรู้ในลักษณะของสภาพธรรมอะไร เจตสิกอะไร ก็ระลึกรู้เพียงเจตสิกอย่างละประเภท มีอารมณ์เดียวในขณะนั้นแต่ที่ไม่ต่างกัน คือ มีปัญญารู้ในลักษณะของสภาพธรรมใด ก็แสดงถึงว่าไม่มีสัตว์ บุคคล เพราะมีสภาพธรรมแต่ละอย่างที่แสดงว่าไม่ใช่เรา ซึ่งเป็นปัญญาที่รู้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ครับ

๔. โดยนัยของอกุศลจิต และ อกุศลเจตสิก สติปัฏฐานเกิดระลึกรู้อย่างไร

โดยนัยของอกุศลจิตก็เช่นกัน แล้วแต่ว่า สติปัฏฐานที่เป็นกุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญาจะเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมอะไร ทั้งที่เป็นตัวจิตก็ได้ หรือ เจตสิกที่ไม่ดีก็ได้ ครับ

จากที่กล่าวมา จึงแสดงถึงความละเอียดของการเจริญสติปัฏฐานอย่างยิ่ง ครับ ซึ่งจะต้องเริ่มจากการฟังพระธรรม และ อาศัยการฟังไปเรื่อยๆ เมื่อสติปัฏฐานเกิด ย่อมรู้ตามพระธรรมที่พระพุทธเจ้าแสดงไว้แน่นอน ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
เข้าใจ
วันที่ 16 เม.ย. 2556

กราบอนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
nong
วันที่ 16 เม.ย. 2556

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
orawan.c
วันที่ 7 พ.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
thilda
วันที่ 28 ก.ค. 2556

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
dawhan
วันที่ 5 ต.ค. 2556

ขอขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ