เมื่อเราต้องรับผิดแทนคนอื่น

 
Attempt
วันที่  2 มี.ค. 2556
หมายเลข  22560
อ่าน  3,116

เมื่อเราทำงานร่วมกับอีกฝ่ายที่เป็นคู่ค้า แล้วเขาทำไม่ได้ตามที่เคยสัญญาไว้ คนที่รับหน้ากับลูกค้าคือเรา เราอยากรับผิดแต่ผู้เดียวที่วางใจคนมากไป จึงต้องทนรับผิดและเกิดทุกข์ในใจ เรากำลังทำผิดอยู่ใช่ใหมครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 2 มี.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ในทางพระพุทธศาสนา ความจริงที่เป็นสัจจะ คือ สภาพธรรมที่มีจริง ที่เป็น จิต เจตสิก รูป ที่เกิดขึ้น ที่สมมติว่ามีเรา มีเขา มีใคร ก็คือ การเกิดขึ้นของจิต เจตสิก เพราะฉะนั้นไม่มีเรา มีแต่ธรรม เมื่อมีธรรม จึงสมมติว่ามีเรา มีเขา มีลูกค้า มีบุคคลต่างๆ ดังนั้นในชีวิตประจำวัน ในขณะที่ทำงาน ก็จะต้องจากการเกิดขึ้นของจิต เจตสิก ที่เกิดขึ้นทำหน้าที่ ขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้กระทบสัมผัส ก็เป็นสภาพธรรม คือ จิต เจตสิกเกิดขึ้น เป็นจิตที่เห็น ไม่ใช่เราที่เห็น เป็นจิตได้ยิน ไม่ใช่เราที่ได้ยิน แต่เมื่อเห็นแล้ว ก็คิดนึก คิดนึกตามรูปร่างว่า คนนี้เป็นลูกค้า เป็นหัวหน้า เป็นเพื่อนร่วมงาน ดังนั้น การคิดเรื่องการงาน คิดเรื่องลูกค้า เหล่านี้ ก็คือ จิต เจตสิก ที่คิดนึก ไม่ใช่เราที่คิดนึก แต่การคิดนึก จิตที่เกิดขึ้น ก็มีทั้งจิตที่ดี และ จิตที่ไม่ดี จิตที่ดี คือ จิตที่เป็นกุศล เช่น เมตตา ความเสียสละ ความไม่เศร้าโศก ความไม่เสียใจ ขันติ เป็นต้น เหล่านี้ เป็นจิตที่ดี จิตที่ดีที่เกิดขึ้น ไม่ผิด ถูกต้อง และก็มีจิตที่ไม่ดีเกิดขึ้นด้วย เช่น โกรธ ไม่ชอบ ติดข้อง เสียใจ ทุกข์ใจเหล่านี้เป็นอกุศลจิตเป็นจิตที่ไม่ดี เป็นจิตที่ผิด ไม่ถูกต้อง

เพราะฉะนั้น จึงกลับมาที่คำถามว่า ขณะที่เราทนรับผิด ทุกข์ใจในเรื่องนี้ เรากำลังทำผิดไหม ตามที่กล่าวแล้ว ไม่มีเรา มีแต่ธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไป คือ จิต เจตสิก เพราะฉะนั้น ขณะที่ทุกข์ใจเกิดขึ้น เสียใจ ไม่สบายใจ ขณะนั้นจิตไม่ดี จิตเป็นอกุศล อกุศลเป็นสิ่งที่ไม่ดี เป็นสิ่งที่ผิดในขณะนั้น แต่ ความผิดที่เป็นอกุศลก็มีหลายระดับ คือ ความผิด อกุศลที่เป็นเพียงอกุศลจิต ที่ไม่ได้เบียดเบียนใคร ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน แต่ทำให้ตนเดือดร้อนเองจากอกุศล จากความสบายใจ ทุกข์ใจที่เกิดขึ้น ซึ่ง ผู้ถามก็เป็นเพียงอกุศลจิตที่คิดทุกข์ใจ ก็ไม่ได้เบียดเบียนใคร ก็ไม่ผิดในการที่ไม่เบียดเบียนผู้อื่น แต่ผิดที่เกิดอกุศลในใจของตนเองที่ทำให้ทุกข์ใจ ครับ ซึ่งเหตุก็มาจากกิเลสที่ตนเองมี ซึ่งเมื่อกล่าวถึงเรื่องราวที่ควรหรือไม่ควร แล้วในเหตุการณ์นี้ การที่บุคคลเสียสละ รับผิดเสีย ด้วยการไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน ตนเองรับผิดในเรื่องนี้ ด้วยความเสียสละ ย่อมเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว เพราะ เป็นการสะสมอุปนิสัยในการยอมรับผิด และ เสียสละที่จะรับผิด สละความเห็นแก่ตัวในขณะนั้น แต่ อกุศลที่เกิดขึ้นต่อมา ก็เป็นธรรมดาที่จะทุกข์ใจกับการได้รับเรื่องนั้นที่เข้ามาในการรับผิดแต่เพียงผู้เดียว

เพราะฉะนั้น ต่อไปในคราวหน้า ก็คิดด้วยความแยบคาย ถูกต้องว่า ควรแล้วที่จะรับผิด รับผิดชอบเช่นนี้ ด้วยการเสียสละเพื่อผู้อื่นที่จะต้องไม่มารับผิด การเสียสละด้วยจิตที่เป็นกุศล ก็จะทำให้ไม่ทุกข์ หรือ ทุกข์น้อยเลง เพราะเราทำเพื่อคนอื่นไม่ใช่เพื่อตนเอง ก็เป็นการขัดเกลากิเลสของตนเองด้วยครับ

ดังเช่น เหตุการณ์ในสมัยพุทธกาล พระสาวกทั้งหลายเป็นผู้ขัดเกลากิเลสอย่างยิ่ง สามเณรราหุลยังเป็นปุถุชน แต่เป็นผู้ขัดเกลากิเลสอย่างยิ่ง เมื่อคราวที่มีคนกวาดลานวัด แต่ ไม่ได้เก็บไม้กวาด ระหว่างนั้น ท่านสามเณรราหุลเดินมา ตัวท่านเองไม่ได้เป็นคนทิ้งไม้กวาดไว้เลย ภิกษุกลุ่มหนึ่งเดินมาเห็นไม้กวาดไม่ได้เก็บ และ เห็นพระราหุลอยู่ตรงนั้น ภิกษุกลุ่มนั้นกล่าวว่า ทำไมท่านถึงไม่เก็บ พระราหุลกล่าวคำขอโทษ ไม่พูดอะไรเลยว่าตนไม่ได้เป็นคนวางไว้ และ ตนเองก็เป็นคนเก็บไม้กวาดให้ นี่แสดงถึงตัวอย่างของผู้ที่ขัดเกลากิเลส สละความเห็นแก่ตัว แม้ตนเองไม่ได้ทำผิดเลย แต่ก็รับผิดแทนคนอื่น เพื่อไม่ให้เกิดเรื่องมากขึ้น และ ก็รับผิดชอบงานนั้นแทนคนอื่น ครับ

ความเป็นผู้เสียสละ รับผิด เป็นสิ่งที่ควร สละความเห็นแก่ตัว ขณะใดที่กุศลเกิด ขณะนั้นถูก คือ ขณะที่รับผิดแต่เพียงผู้เดียว เสียสละ และ ขณะใดที่อกุศลเกิด คือ ขณะที่ทุกข์ใจในเรื่องนั้น ขณะนั้นผิด ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ใฝ่รู้
วันที่ 2 มี.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 2 มี.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

แต่ละบุคคลก็มีความประพฤติเป็นไปตามการสะสมจริงๆ มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ไม่เหมือนกันเลย การจะคิด จะทำอะไร ก็เป็นไปตามการสะสม เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ความเป็นจริงของธรรมไม่เปลี่ยน เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น กุศลเป็นกุศลอกุศลเป็นอกุศล ขณะที่ทำในสิ่งที่ถูกต้องดีงามเป็นกุศล แต่ที่จะเป็นความผิดก็ต้องเป็นอกุศลไม่ใช่กุศล ควรอย่างยิ่งที่จะได้กระทำในสิ่งที่ถูกต้องเท่านั้น โดยปกติการทำงาน ก็ย่อมมีอุปสรรคเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ถ้าเป็นผู้ที่ละเอียด ก็ควรพิจารณาหาเหตุหาผล เพื่อจะได้แก้ไขให้ถูกต้อง และที่สำคัญถ้าเป็นผู้ที่ได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ มั่นคงในคุณความดี เห็นโทษของความไม่ดี คือ กิเลสอกุศลประการต่างๆ ก็จะไม่กระทำในสิ่งที่ผิด แต่จะกระทำในสิ่งที่ถูกต้องเท่านั้น เพราะชีวิตเป็นสิ่งที่เล็กน้อย สั้นมาก สิ่งที่จะเป็นที่พึ่งในชีวิตจริงๆ ไม่ใช่ทรัพย์สินเงินทอง แต่เป็นความดีที่ตนเองได้สะสมไว้ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งไม่ได้จำกัดว่าจะเป็นเวลาใด ขณะใด ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น แม้แต่ในการทำงานร่วมกันกับผู้อื่น ความดีก็สามารถเกิดขึ้นได้ ความดีเป็นที่พึ่งได้จริงๆ เวลาที่ความดีให้ผล ก็ให้ผลเป็นสุขเพียงอย่างเดียว ไม่นำความทุกข์ความเดือดร้อนมาให้เลยแม้แต่น้อย ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 2 มี.ค. 2556

ถ้าเราทำความผิด และ เรายอมรับผิด และ แก้ไข บัณฑิตสรรเสริญ แต่การที่เรายอมรับผิด แล้วมาทุกข์ใจ ก็เป็นอกุศลจิตของเรา ที่เราสะสมมาที่จะคิดแบบนี้ ไม่มีอะไรจะช่วยเราได้ นอกจากศึกษาธรรม จนกว่าปัญญาจะค่อยๆ เจริญ ปัญญาท่านั้นที่ทำให้ไม่ทุกข์ ค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ