ปรุงยาถ่าย

 
ณัฐวุฒิ
วันที่  2 มี.ค. 2556
หมายเลข  22561
อ่าน  1,098

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 14

พระสมณะโคดมเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยเดรัจฉานวิชา อย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังเลี้ยงชีพโดยทางผิด ด้วยเดรัจฉานวิชาเห็นปานนี้คือ ทำพิธีบนบาน ทำพิธีแก้บน ร่ายมนต์ขับผี สอนมนต์ป้องกันบ้านเรือน ทำกะเทยให้กลับเป็นชาย ทำชายให้กลายเป็นกะเทย ทำพิธีปลูกเรือน ทำพิธีบวงสรวงพื้นที่ พ่นน้ำมนต์ รดน้ำมนต์ ทำพิธีบูชาไฟ ปรุงยาสำรอก ปรุงยาถ่าย ปรุงยาถ่ายโทษเบื้องบน ปรุงยาถ่ายโทษเบื้องล่าง ปรุงยาแก้ปวดศีรษะ หุงน้ำมันหยอดหู ปรุงยาตา ปรุงยานัตถุ์ ปรุงยาทากัด ปรุงยาทาสมาน ป้ายยาตา ทำการผ่าตัด รักษาเด็ก ใส่ยา ชะแผล

อยากทราบว่า ในข้อการปรุงยา ดูเหมือนว่าจะเป็นทางที่จะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ แต่ข้อความแสดงว่าเป็นเดรัจฉานวิชา ขอความกรุณาท่านวิทยากรทุกท่าน ช่วยให้ความหมายที่ลึกซึ้งกว่านี้ครับ

ขอบพระคุณครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 2 มี.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การปรุงยาถ่ายที่ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ไม่ใช่กิจของสงฆ์ที่ควรกระทำ เพราะพระภิกษุ บวชมาไม่ใช่เพื่อความเป็นหมอ แต่ บวชเพื่อสละ ขัดเกลากิเลสของตนเอง เป็นสำคัญ กิจของพระภิกษุ จึงมี 2 อย่าง คือ การศึกษาพระธรรมที่เป็นคันถธุระ และการอบรมปัญญาที่เป็นวิปัสสนาธุระ การที่พระภิกษุปรุงยาถ่ายให้คฤหัสถ์ทานกัน รักษากัน นอกจากจะเป็นการทำตนดังเช่นคฤหัสถ์ ซึ่งไม่สมควรแล้ว ก็เป็นการประจบคฤหัสถ์ได้ ใช้เวลาในสิ่งที่ไม่สมควร ที่จะยุ่งในกิจการงานที่ดังเช่นคฤหัสถ์ทำ การปรุงยาถ่าย เพื่อรักษาตนเอง มีน้ำมูตรเน่า หรือ รักษาเพื่อนภิกษุ ที่ป่วยย่อมควร แต่ การทำปรุงยาถ่าย เพื่อรักษาผู้อื่น ชาวโลก จิตที่ดีมี แต่ผิดที่ไม่เหมาะกับเพศพระภิกษุ และ เป็นไปเพื่อลาภ สักการะ และ ความมักมากจึงเป็นเดรัจฉานวิชา พระพุทธเจ้า และ พระอริยสาวก เว้นขาดจากการกระทำเช่นนี้ อันเป็นการกระทำไม่ขัดเกลา แต่เพื่อกิเลส เพิ่มความมักมากในลาภ สักการะ ครับ

ดังนั้น การกระทำอะไรก็ตามที่เป็นดังเช่นคฤหัสถ์ บรรพชิตย่อมไม่ควรทำ เพราะได้สละความเป็นคฤหัสถ์แล้ว การเป็นหมอรักษาเป็นหน้าที่ของคฤหัสถ์ ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ใฝ่รู้
วันที่ 2 มี.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
nopwong
วันที่ 2 มี.ค. 2556

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 2 มี.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ความเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นธรรมดาของผู้ที่ได้เกิดมาแล้ว เป็นสิ่งที่ไม่สามารถจะรู้ได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด ในลักษณะใด สำหรับผู้ที่เป็นบรรพชิต พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้พระภิกษุด้วยกัน ดูแลรักษากันเองเมื่อมีพระภิกษุอาพาธขึ้น เพราะเหตุว่าไม่มีพ่อ ไม่มีแม่ ไม่มีญาติพี่น้องแล้ว ก็ต้องอาศัยพระภิกษุด้วยกันคอยดูแล แต่ถ้าพระภิกษุมีการประกอบยาเพื่อคฤหัสถ์ โดยมุ่งลาภ สักการะ เพื่อให้ตนเองได้มาซึ่งปัจจัยต่างๆ อย่างนี้เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่ใช่กิจของพระภิกษุเลย ไม่ได้เป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลสของตนเองเลยแม้แต่น้อย ความเข้าใจพระธรรมวินัย จะเป็นเครื่องอุปการะเกื้อกูลให้กระทำในสิ่งที่ถูกต้อง เหมาะสมตามควรแก่เพศของตนๆ ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
wannee.s
วันที่ 2 มี.ค. 2556

เพศบรรพชิต ที่บวชมามีกิจ 2 อย่างเท่านั้น คือ คันถธุระ วิปัสสนาธุระ นอกเหนือจากนี้เป็นเดรัจฉานวิชาทั้งหมด ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ณัฐวุฒิ
วันที่ 2 มี.ค. 2556

ขอบพระคุณครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ