ศาสนพิธีแบบพุทธแท้คืออย่างไร

 
Pure.
วันที่  28 ก.พ. 2556
หมายเลข  22552
อ่าน  4,973

ตามที่ทราบมาศาสนพิธีแบบพุทธๆ คือไหว้พระ สวดมนต์ ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ รับศีล ฟังธรรม...ใช่หรือไม่ครับ พิธีกรรมอื่่นๆ นอกจากที่กล่าวมานั้น ที่เห็นทำตามวัด หรือบ้าน หรือที่ไหนๆ ก็ไม่ใช่พิธีกรรมทางพุทธใช่ไหมครับ อย่างในหนังสือนธ. ธศ. ก็ได้กล่าวถึงศาสนพิธีเท็จจริงอย่างไรครับ บุคคลผู้ยึดติดในสิ่งเหล่านี้จะถือว่ายึดมั่นถือมั่น เป็นสีลัพพตปรามาสไหมครับ

อนุโมทนาบุญครับ.


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 1 มี.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

-ตามที่ทราบมาศาสนพิธีแบบพุทธๆ คือไหว้พระ สวดมนต์ ถึงพระพุทธ พระธรรมพระสงฆ์ เป็นสรนะ รับศีล ฟังธรรม...ใช่หรือไม่ครับ

ทุกอย่างก็เป็นการใส่ชื่อเข้าไปว่าเป็นพิธีกรรมของศาสนา หากแต่ว่า ศาสนาพุทธคือ ศาสนาที่สอนให้เกิดปัญญา ความเห็นถูก และ เกิดกุศลธรรม ซึ่งพระพุทธเจ้าแสดงไว้ว่า ธรรมเหล่าใด ที่แสดงเพื่อเป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย คลายกำหนัด อกุศลธรรมเสื่อมไป กุศลธรรมเจริญขึ้น นั่นเป็นธรรมที่เราแสดงไว้ และ เป็นสิ่งที่ถูกต้อง ส่วนธรรมเหล่าใด หรือ สิ่งใด ที่กระทำแล้ว อกุศลธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรมเสื่อมไปไม่ใช่ธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง และ ไม่ใช่การกระทำที่ถูกต้อง

เพราะฉะนั้น การกระทำอะไรก็ตามที่ใส่ชื่อเข้าไปว่า พิธีศาสนาพุทธ แต่ทำแล้วทำให้อกุศลเจริญ เพื่อให้ได้กุศล เพื่ออยากได้กุศลธรรม การทำนั้นเพื่อได้ ไม่ใช่เพื่อละ เป็นไปกับความติดข้อง ก็ไม่ถูกต้อง และ ไม่ใช่พระพุทธศาสนา แต่ แม้จะใส่ชื่อ หรือ ไม่ใส่ชื่อก็ตาม แต่ การกระทำนั้น ไม่ใช่เพื่อความติดข้อง แต่เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรม ก็เป็นพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นพระพุทธศาสนา ครับ

ที่สำคัญพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ไม่ใช่เรื่องของรูปแบบ ที่จะต้องมีพิธีเป็นขั้นตอน ที่จะต้องยึดติดว่าจะต้องเป็นแบบนั้น เพียงแต่ว่า การกระทำต่างๆ จะต้องเกิดจากปัญญา ความเห็นถูก กาย วาจา และใจ ก็จะน้อมไปในทางกุศลแม้ แต่การรักษาศีล ก็ไม่ต้องมีพิธีรับศีล เพราะศีล คือ มีเจตนางดเว้น อันเกิดจากจิต ใจ ไม่ได้เกิดจากการพูดตามๆ กัน

ส่วนประเพณีที่สำคัญ ที่ชาวพุทธในสมัยพุทธกาลเห็นถึงความสำคัญ คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม เพราะเป็นเหตุนำมาซึ่งปัญญา ความเห็นถูก และ การกระทำต่างๆ ก็ถูกเพราะมีปัญญา ครับ

-พิธีกรรมอื่นๆ นอกจากที่กล่าวมานั้นที่เห็นทำตามวัด หรือบ้าน หรือที่ไหนๆ ก็ไม่ใช่พิธีกรรมทางพุทธใช่ไหมครับ

เช่นเดียวกับที่กล่าวมา การกระทำใด ที่ทำให้อกุศลเจริญขึ้น กุศลเสื่อม ก็ไม่ใช่พระพุทธศาสนา ส่วนการกระทำใด อกุศลเสื่อม กุศลเจริญ ก็เป็นพระพุทธศาสนา ครับ

-บุคคลผู้ยึดติดในสิ่งเหล่านี้จะถือว่ายึดมั่นถือมั่น เป็นสีลัพพตปรามาสไหมครับ

สีลัพพตปรามาส คือ ความยึดถือด้วยข้อวัตรปฏิบัติที่ผิด ที่สำคัญว่า ข้อปฏิบัติวัตรนั้นจะทำให้ถึงความบริสุทธิ์ ครับ สีลัพพตปรามาส โดยองค์ธรรม ก็คือ ความเห็นผิดนั่นเอง คือ ทิฏฐิเจตสิก สีลัพพตปรามาส เป็นความเห็นผิดที่ยึดถือ ลูบ คลำ ในข้อวัตรปฏิบัติที่ผิด ว่าเป็นหนทางที่ถูกต้อง เป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์ได้ การที่ยึดถือในพิธีที่เป็นรูปแบบ ด้วยสำคัญว่า ถ้าจะบรรลุจะต้องทำตามรูปแบบอย่างนี้ เป็นสีลัพพตปรามาส เป็นข้อวัตรปฏิบัติที่ผิด แต่ถ้าทำด้วยไม่ได้สำคัญว่าจะได้บรรลุ ก็ไม่เป็นสีลัพพตปรามาส ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
Pure.
วันที่ 1 มี.ค. 2556

อนุโมทนาขอบคุณครับอาจารย์.

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
nong
วันที่ 1 มี.ค. 2556

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 1 มี.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขออนุญาตร่วมแสดงความคิดเห็นครับ

พระพุทธศาสนา เป็นคำสอนของบุคคลผู้ที่ทรงตรัสรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงตรัสรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงแล้วทรงแสดงความจริงให้ผู้อื่นได้รู้ตาม พระธรรมคำสอนของพระองค์ เป็นไปเพื่อปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูกโดยตลอด เมื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกเจริญขึ้น ก็ย่อมจะเป็นเครื่องอุปการะเกื้อกูลให้กุศลประการต่างๆ ในชีวิตประจำวันเกิดขึ้นเป็นไป คล้อยตามความเข้าใจที่ค่อยๆ เจริญขึ้น ความประพฤติเป็นไปในชีวิตประจำวัน จากที่มากไปด้วยอกุศล มากไปด้วยความไม่รู้ ก็เริ่มที่จะเห็นโทษของอกุศล เห็นคุณของกุศล และ เป็นผู้ไม่ประมาทในการเจริญกุศลประการต่างๆ เท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะถ้ากุศลไม่เกิด ก็ย่อมเป็นเหตุให้อกุศลธรรมเกิดขึ้นเป็นไป จากคำกล่าวที่ว่า "ศาสนพิธีแบบพุทธ" เข้าใจมากน้อยแค่ไหน ส่วนใหญ่ก็มักจะเข้าใจว่า เป็นรูปแบบของการกระทำในการทำความดีประการต่างๆ เช่น พิธีถวายทาน จะต้องทำอะไรก่อน และหลังจากนั้นจะต้องทำอะไร เป็นต้น ซึ่งจะต้องไม่ลืมความเป็นอนัตตาของธรรม พระพุทธศาสนาไม่มีรูปแบบ ไม่มีกฏข้อบังคับ พระองค์ทรงแสดงพระธรรมตามความเป็นจริง เพื่อให้ผู้ฟัง ผู้ศึกษา เกิดปัญญาเป็นของตนเอง ถ้าจะให้คำจำกัดความของคำว่าศาสนพิธีแล้ว หมายถึง การประพฤติที่ถูกที่ควรคล้อยตามพระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง หมายรวมความดีทุกอย่าง ที่ไม่ใช่อยู่ที่รูปแบบ แต่อยู่ที่สภาพจิตเป็นสำคัญ

ดังนั้น แม้จะใช้คำว่า ไหว้พระ สวดมนต์ รับศีล ฟังธรรม ถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง ซึ่งจะต้องมีความเข้าใจถูกเห็นถูกจริงๆ การไหว้ การกราบสักการะบูชา ในสิ่งที่ควรบูชา เป็นสิ่งที่ดี แสดงถึงสภาพจิตที่อ่อนโยน สวดมนต์ คือ อะไร สวดเพื่อต้องการสิ่งนั้นสิ่งนี้ เพื่อให้ตนเองเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ จุดประสงค์ก็ผิดแล้ว ไม่ตรง ไม่ได้เป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลสของตนเองเลย ก็ต้องเข้าใจว่า การที่จะเข้าใจพระธรรม ไม่ใช่การนำเอาธรรมบทหนึ่งบทใด มากล่าวเป็นภาษาบาลี โดยที่ตัวเองก็ฟังไม่รู้เรื่อง เพราะเป็นภาษาของชาวมคธที่คนในแคว้นมคธใช้พูดกันและเข้าใจได้ในทันทีโดยไม่ต้องแปล

การที่เข้าใจธรรม ก็ต้องฟัง ต้องศึกษาให้เข้าใจจริงๆ ในภาษาของตนๆ เพราะตามความเป็นจริงแล้ว สิ่งที่มีจริง แม้ว่าจะใช้ชื่อว่าอย่างไร ความเป็นจริงไม่เคยเปลี่ยน รับศีล คืออะไร ไม่ใช่เพียงการกล่าวคำภาษาบาลี แต่เป็นความตั้งใจ จริงใจ ที่จะไม่ล่วงในสิกขาบทนั้นๆ มีการตั้งใจว่าจะไม่ฆ่าสัตว์ จะไม่ลักทรัพย์ เป็นต้น การมีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง ไม่ใช่เพียงการพูดตามๆ กัน แต่เป็นเรื่องของการพึ่งพระปัญญาตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่จะได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจจริงๆ ไม่ใช่อยู่ที่รูปแบบพิธีการแต่อย่างใด แต่อยู่ที่ความเข้าใจถูกเห็นถูก ทั้งหมดนั้น ก็ต้องอาศัยเหตุ ที่สำคัญจริงๆ คือ การฟังพระธรรมให้เข้าใจ ประเพณีการฟังพระธรรม สนทนาธรรม เป็นประเพณีที่ควรรักษาไว้เป็นอย่างยิ่ง เพราะจะเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกอย่างแท้จริง ซึ่งถ้ามีความเข้าใจถูกเห็นถูกแล้ว ความดีก็ย่อมเจริญขึ้น

-พิธีกรรมอื่่นๆ นอกจากที่กล่าวมานั้นที่เห็นทำตามวัด หรือบ้าน หรือที่ไหนๆ ก็ไม่ใช่พิธีกรรมทางพุทธใช่ไหมครับ

ต้องไม่ลืมว่า พระพุทธเจ้าทรงสอนอะไร เพื่ออะไร ถ้ามีการกระทำใดๆ ที่ผิดแปลก คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงของธรรม เพิ่มพูนความติดข้อง เพิ่มพูนความเป็นตัวตน นั่นก็ไม่ชื่อว่าเป็นผู้คล้อยตามพระพุทธพจน์ ไม่เป็นไปตามคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง

-อย่างในหนังสือนธ. ธศ. ก็ได้กล่าวถึงศาสนะพิธีเท็จจริงอย่างไรครับ?

สำคัญอยู่ที่ความเข้าใจถูกเห็นถูกตามพระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ในหนังสือสวนใหญ่แล้ว เน้นไปที่รูปแบบวิธีการ แต่ถ้าเรามีความเข้าใจถูกเห็นถูก ก็สามารถที่จะแยกแยะได้ว่า สิ่งใดถูก สิ่งใดผิด สามารถที่จะเกื้อกูลให้ผู้อื่นได้เข้าใจถูกเห็นถูกด้วย ทั้งหมดก็มาจากความเข้าใจที่ถูกต้องจากการฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง

-บุคคลผู้ยึดติดในสิ่งเหล่านี้จะถือว่ายึดมั่นถือมั่น เป็นสีลัพพตปรามาสไหมครับ?

ต้องเข้าใจก่อนว่า สีลัพพตปรามาส เป็นการยึดถือในข้อวัตรปฏิบัติที่ผิดที่เข้าใจว่าจะเป็นหนทางแห่งความบริสุทธิ์หมดจด ต้องเกี่ยวกับข้อวัตรปฏิบัติที่ผิดเท่านั้น มีตั้งแต่อย่างหยาบที่เห็นชัดเจน เช่น การทรมานตนให้ลำบาก การนอนบนหนาม ละเอียดลงไปถึงการทำสมาธิ การจดจ้องต้องการให้รู้สภาพธรรม เป็นต้น ทั้งหมด เป็นสีลัพพตปรามาส การแก้กรรม การสะเดาะห์ เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของสีลัพพตปรามาส ส่วนการยึดถือในรูปแบบวิธีการต่างๆ ที่ทำตามๆ กันมา โดยที่ไม่ได้เกี่ยวกับข้อวัตรปฏิบัติที่ผิด ที่ตนเองเข้าใจว่าจะทำให้เป็นผู้บริสุทธิ์หมดจดจากกิเลส คือ ไม่ได้มีความเห็นว่าเป็นหนทางแห่งความหมดจด ก็ไม่ใช่สีลัพพตปรามาส ครับ

..ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
wannee.s
วันที่ 1 มี.ค. 2556

เป็นชาวพุทธจริงๆ ไม่ใช่แค่สวดมนต์ถือศีล แต่ต้องศึกษาธรรมและน้อมนำมาประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมคำสอน คือ มีศีล สมาธิ และ ปัญญา ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
nopwong
วันที่ 1 มี.ค. 2556

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
Pure.
วันที่ 1 มี.ค. 2556

ขอบคุณอาจารย์ครับฺ

+ผมพอเข้าใจว่าสิ่งใดก็ตามที่ทำลงไปแล้วโดยมีเจตนาดีเป็นธรรม หวังผลคือกุศลและความสุข จะเรียกว่าพิธีกรรมอะไรก็ตามถือว่าเป็นสิ่งที่ดีใช่หรือไม่

+สีลัพพตปรามาส เป็นสิ่งที่บุคคลยึดมั่นถือมั่นและประพฤติปฏิบัติอยู่เป็นเนืองนิจถือเป็นอกุศลใช่หรือไม่

+ส่วนประเพณี วัฒนธรรม พิธีกรรมต่างๆ อันดีงามทำให้บุคคลมีความสุขทำลงไปโดยไม่หวังมรรคผลนิพพานนั้นไม่ถือว่าเป็นสีลัพพตปรามาสใช่ไหมครับ

+แต่ถ้าบางคนบอกว่าจะต้องทำให้ได้ มีให้ได้และขาดไม่ได้ ในพิธีกรรมต่างๆ เขาเป็นคนอย่างไร

อนุโมทนาขอบคุณครับฺ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
paderm
วันที่ 1 มี.ค. 2556

เรียนความเห็นที่ 7 ครับ

+ผมพอเข้าใจว่าสิ่งใดก็ตามที่ทำลงไปแล้วโดยมีเจตนาดีเป็นธรรมหวังผลคือกุศลและความสุขจะเรียกว่าพิธีกรรมอะไรก็ตามถือว่าเป็นสิ่งที่ดีใช่หรือไม่

สิ่งที่ทำเป็นเจตนาที่ดี แต่สิ่งที่ทำจะต้องเป็นกุศล เป็นสิ่งที่ดีด้วย ครับ

+สีลัพพตปรามาส เป็นสิ่งที่บุคคลยึดมั่นถือมั่นและประพฤติปฏิบัติอยู่เป็นเนืองนิจถือเป็นอกุศลใช่หรือไม่

ต้องยึดมั่นด้วยความเห็นผิด ที่จะถึงการหลุดพ้น แต่ถ้าไม่ใช่ ก็เป็นความเห็นผิดเช่นกัน แต่ไม่ใช่สีลัพพตปรามาส

+ส่วนประเพณี วัฒนธรรม พิธีกรรมต่างๆ อันดีงามทำให้บุคคลมีความสุขทำลงไปโดยไม่หวังมรรคผลนิพพาน นั้น ไม่ถือว่าเป็นสีลัพพตปรามาสใช่ไหมครับ

ถูกต้อง ครับ

+แต่ถ้าบางคนบอกว่าจะต้องทำให้ได้ มีให้ได้และขาดไม่ได้ในพิธีกรรมต่างๆ เขาเป็นคนอย่างไร

เป็นความยึดถือด้วยอกุศลจิตที่เป็นโลภะก็ได้ ไม่จำเป็นจะต้องเห็นผิด หรือเห็นผิดได้ แต่ ไม่จำเป็นจะต้องเป็น สีลัพพตปรามาส ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
dhammafellow
วันที่ 3 มี.ค. 2556

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
orawan.c
วันที่ 25 มิ.ย. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
chatchai.k
วันที่ 16 พ.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ