กุศล-อกุศล กับ โยนิโสมนสิการ-อโยนิโสมนสิการ

 
นิรมิต
วันที่  18 พ.ย. 2555
หมายเลข  22062
อ่าน  1,668

กราบสวัสดีท่านวิทยากร และมิตรธรรมที่เคารพทุกท่าน

สืบเนื่องจากกระทู้

อยากทราบความหมายของคำว่า น้อมจิต และ โยนิโสมนสิการ

และกระทู้

ปัญญาทางโลก เรียนถามเพิ่มเติม

ใคร่อยากจะขออนุญาตกราบเรียนถามเพิ่มเติมดังนี้ครับ

เรื่องของ โยนิโสมนสิการ และ อโยนิโสมนสิการ ยังไม่ค่อยเข้าใจ ในสภาพธรรมสองอย่างนี้ โดยนัย เจตสิก คือ มนสิการเจตสิกอย่างที่ อ.ผเดิม ได้ชี้แจงไว้ แต่ ด้วยศัพท์แล้ว โยนิโสมนสิการ ต้องเป็นการเกิดดับสืบต่อของจิตที่เป็นไปในกุศล ใช่หรือไม่ อย่างไรครับ

เช่นเดียวกับอโยนิโสมนสิการ ก็คือ การเกิดดับสืบต่อของจิต ที่เป็นไปในอกุศลทั้งหลาย ในที่นี้อยากเรียนถามว่า บุคคลที่ฉลาดในหน้าที่การงาน มีการคิดแยบคาย อย่างเช่น นักธุรกิจ นักวางแผนยุทธศาสตร์ต่างๆ มีการคิดเป็นไปในการวางแผน วางกลยุทธ์ วิเคราะห์ต่างๆ ที่ละเอียดลออ ซับซ้อน ที่ทางโลกกล่าวว่า เป็นความฉลาดนั้น ขณะเหล่านั้น ชื่อว่าเป็นอโยนิโสมนสิการ อย่างนั้นหรือครับ? (เพราะขณะเหล่านั้น เท่าที่ทราบก็คือ โดยมากแล้วย่อมเป็นไปด้วยอกุศลจิต เพราะไม่ได้เป็นไปในทาน ในศีล ในภาวนา ซึ่งก็น่าจะเป็นด้วยโลภะเป็นส่วนมาก)

แล้วอาการของจิตที่คิดไปต่างๆ ในเรื่องที่ซับซ้อน ดั่งเช่นการคิดวิเคราะห์ คิดวางแผน คิดคาดการณ์ ด้วยเหตุด้วยผลต่างๆ ของนักธุรกิจ นักยุทธศาสตร์ต่างๆ ดังที่กล่าวนั้น อาการคิดแยบคาย (ทางโลก) เหล่านี้ ทางธรรมจะเรียกว่าอย่างไร?

และเพราะเหตุใด มนุษย์จึงมีการคิดเหล่านี้มากกว่าดิรัจฉาน (สืบจากกระทู้ที่แล้ว ที่ อ.ผเดิม กล่าวไว้ว่า เป็นโยนิโสมนสิการ สรุปแล้ว ต้องไม่ใช่โยนิโสมนสิการ ใช่ไหมครับ เพราะเป็นไปด้วยอกุศล แล้วอาการคิดซับซ้อนแบบมนุษย์นี่ สรุปแล้วเป็นด้วยเหตุอะไร และจะยังเกี่ยวกับปฏิสนธิจิตหรือไม่ อย่างไร ครับ?)

แล้วอย่างในทางกุศล ถ้าผมยกตัวอย่างว่า การให้ทานกับขอทานของบุคคลสองคนโดยที่ทั้งสองคนทราบว่า ขอทานคนนี้ขี้เมาและมักนำเงินไปซื้อเหล้าดื่มอยู่บ่อยๆ บุคคลแรกแม้จะทราบว่าขอทานมักนำเงินไปซื้อเหล้าแต่ก็ให้ทานกับขอทาน ด้วยคิดว่าขอทานจักได้ปัจจัยนี้ ไปยังตนให้เป็นสุขที่ไม่ใช่การซื้อเหล้า กับอีกคนเห็นขอทานแต่ไม่ได้ให้ทาน ด้วยคิดว่าหากเราให้ทานนี้ไป ขอทานก็จักนำไปซื้อเหล้าดื่ม ก็เป็นการไม่สมควร อาการคิดทั้งสองอย่างนี้ ต่างกัน แต่จะกล่าวว่าเป็นด้วยโยนิโสมนิการด้วยกันทั้งคู่ได้หรือไม่ (เช่นเดียวกับในเรื่องอื่นๆ อันนี้ คือผมขออนุญาตยกตัวอย่างโดยสังเขป) เพราะเกิดด้วยกุศลทั้งคู่ ถือเป็นโยนิโสมนิการคนละขั้นได้หรือไม่ อย่างไร

กราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 20 พ.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก่อนอื่นขอกล่าวกระทู้ เรื่องสัตว์เดรัจฉานกับมนุษย์ ในเรื่องโยนิโสมนสิการก่อนนะครับ ตามที่ได้อธิบายไว้ครับว่า มนุษย์เกิดโยนิโสมนสิการได้ง่ายกว่าสัตว์เดรัจฉาน ซึ่งก็หมายถึง เกิดกุศลจิตได้ง่ายกว่าสัตว์เดรัจฉาน เพราะด้วยปฏิสนธิที่ต่างกัน มนุษย์ปฏิสนธิประกอบด้วย ๒ เหตุ (สำหรับผู้ที่ไม่พิการตั้งแต่กำเนิด) ส่วนสัตว์เดรัจฉาน ปฏิสนธิไม่ประกอบด้วยเหตุเลย เพราะฉะนั้นมนุษย์เกิดกุศลจิตได้ง่ายกว่าด้วยอำนาจปฏิสนธิ เพราะฉะนั้นโยนิโสมนสิการของมนุษย์ จึงเกิดได้ง่ายกว่าของสัตว์เดรัจฉาน

ส่วนการคิดเหตุผลทางโลก ที่เป็นเหตุผลทางโลก เช่น นักวิทยาศาสตร์ หากไม่ใช่เป็นไปใน ทาน ศีล ภาวนา แม้จะคิดด้วยความละเอียด แต่ก็เป็นความละเอียดที่อาศัย วิตก และ มนสิการที่เกิดกับอกุศลจิต มีโลภะ เป็นต้น ไม่ใช่ โยนิโสมนสิการเลย ครับ แต่เป็นอโยนิโสมนสิการ และเจตสิกอื่นๆ ทำให้คิดไปในเรื่องราวต่างๆ ที่ได้สะสมมา ในเรื่องราวนั้นอย่างชำนาญ ครับ เพราะหากเป็นโยนิโสมนสิการจริง นักวิทยาศาสตร์ ก็จะต้องเกิดกุศลจิตมาก โดยไม่มีปัญญาทางธรรมที่เป็นเหตุให้กุศลเจริญเลย ครับ

และจากคำถามที่ว่า

แล้วอย่างในทางกุศล ถ้าผมยกตัวอย่างว่า การให้ทานกับขอทาน ของบุคคลสองคนโดยที่ทั้งสองคนทราบว่า ขอทานคนนี้ขี้เมาและมักนำเงินไปซื้อเหล้าดื่มอยู่บ่อยๆ บุคคลแรก แม้จะทราบว่าขอทานมักนำเงินไปซื้อเหล้า แต่ก็ให้ทานกับขอทาน ด้วยคิดว่า ขอทานจักได้ปัจจัยนี้ไปยังตนให้เป็นสุข ที่ไม่ใช่การซื้อเหล้า กับอีกคน เห็นขอทานแต่ไม่ได้ให้ทาน ด้วยคิดว่า หากเราให้ทานนี้ไป ขอทานก็จักนําไปซื้อเหล้าดื่ม ก็เป็นการไม่สมควร

อาการคิด ทั้งสองอย่างนี้ต่างกัน แต่จะกล่าวว่า เป็นด้วยโยนิโสมนิการด้วยกันทั้งคู่ได้หรือไม่ (เช่นเดียวกับในเรื่องอื่นๆ อันนี้คือผมขออนุญาตยกตัวอย่างโดยสังเขป) เพราะเกิดด้วยกุศลทั้งคู่ ถือเป็นโยนิโสมนิการคนละขั้น ได้หรือไม่ อย่างไร


- ก็ต้องย้อนกลับไปที่ความหมายของโยนิโสมนสิการ ครับว่า คือสภาพธรรมที่ใส่ใจด้วยดีที่เกิดกับจิตที่ดีงาม ขณะใดที่กุศลจิตเกิด คิดแยบคายเป็นไปในทางกุศลแล้ว ในขณะนั้น ครับ เพราะฉะนั้นการคิดจะให้ด้วยจิตกุศล ก็มีโยนิโสมนสิการด้วยเพราะเป็นกุศลจิต และแม้การคิดพิจารณาด้วยปัญญา ที่จะไม่ให้ด้วยความเห็นถูก ก็ด้วยกุศลจิตก็ได้ แต่ถ้าไม่ให้เพราะ ความขุ่นเคืองผู้รับ ที่เอาเงินไปทำอย่างอื่น จิตเป็นอกุศล ก็เป็นความคิดที่ไม่แยบคายในขณะนั้น ครับ เป็นอโยนิโสมนสิการ เพราะฉะนั้นก็ต้องกลับมาพิจารณาที่สภาพจิตเป็นสำคัญ หากเอาเรื่องราวมาปนก็จะสับสน และจะมีตัวอย่างไม่รู้จบ ครับ สำคัญที่จิตแต่ละขณะ ว่าเป็นอย่างไร

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
daris
วันที่ 20 พ.ย. 2555

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
นิรมิต
วันที่ 23 พ.ย. 2555

กราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
nong
วันที่ 26 พ.ย. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
khampan.a
วันที่ 26 พ.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ความเป็นจริงของสภาพธรรมไม่เคยเปลี่ยน เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น ที่พอจะเข้าใจ คือ ขณะที่อกุศลเกิดขึ้นเป็นไปนั้น เป็นอโยนิโสมนสิการ แต่ถ้ากุศลจิตเกิดขึ้นเป็นไป ไม่ว่าจะเป็นกุศลในระดับใดก็ตาม ขณะนั้นก็เป็นโยนิโสมนสิการ ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 1 ธ.ค. 2556

สาธุ สาธุ สาธุ

อนุโมทามิ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
chatchai.k
วันที่ 20 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ