ปัญญาทางโลก เรียนถามเพิ่มเติม

 
นิรมิต
วันที่  8 พ.ย. 2555
หมายเลข  22025
อ่าน  1,559

กราบสวัสดีท่านวิทยากรและมิตรธรรมที่เคารพทุกท่าน

เรียนถามปัญญาทางโลก คือ การเข้าใจหลักเหตุผลต่างๆ (ด้วยโลภะ หรือโทสะ) ของมนุษย์ ไม่เหมือนกับของสัตว์ดิรัจฉาน คือมนุษย์เข้าใจได้ลึกซึ้งกว่า หรือก็คือ มีจิตที่เป็นไปในวิตก วิจาร มนสิการ เกิดดับสืบต่อในเรื่องราว ในบัญญัตินั้นๆ มากกว่าดิรัจฉาน อย่างเช่น ดิรัจฉานเห็น ก็เห็น แล้วก็ไม่มีการคิดนึกอะไร ที่ละเอียดลึกซึ้งต่อ เห็นแล้วชอบ ไม่ชอบ ก็ตามแต่เหตุปัจจัย

แต่มนุษย์ พอเห็นแล้ว ชอบแล้ว ไม่ชอบแล้ว มีวิถีจิตเกิดดับสืบต่อ ในเรื่องราวบัญญัติมากกว่านั้น คือมีวิตก วิจาร เป็นไปในสัญญาก็ดี ในบัญญัติก็ดี ว่านี้สีอะไร นี้เรียกว่าอะไร นี้เอามาทำอะไรได้บ้าง นี้ให้ความเพลิดเพลินอย่างไรได้บ้าง นี้ใครชอบ นี้ใครไม่ชอบ ก็มีวิตก วิจาร มนสิการเจตสิก เกิดปรุงแต่งต่างๆ นานาไป นู่น นี่

ถ้ากล่าวอย่างนี้ ว่าปัญญาทางโลก (คือการเข้าใจเหตุเข้าใจผลต่างๆ ไม่ใช่ปัญญาเจตสิก) ของดิรัจฉานกับของมนุษย์ ต่างกันโดยประการอย่างนี้ถือว่าถูกหรือเปล่าครับ

แล้วที่เป็นอย่างนี้ อยากเรียนถามเพิ่มเติมว่า เป็นเพราะภพภูมิประการหนึ่งด้วยหรือเปล่า ที่ทำให้การเกิดดับสืบต่อของจิต เป็นไปในลักษณะหยาบ ละเอียด แตกต่างกันอย่างนี้

แล้วการเป็นผู้มีปัญญามากในทางโลก คือการเป็นผู้มีวิตก วิจาร มนสิการ เกิดสืบต่อในเรื่องราวต่างๆ มาก (ด้วยโลภะ) จนมีความจำ มีความเข้าใจ ในเรื่องราวนั้นๆ มาก ก็เลยเป็นผู้เลิศในศิลปะ วิชาต่างๆ มาก เป็นผลมาจากปฏิสนธิจิตด้วยหรือไม่ อย่างผู้ปฏิสนธิด้วยญาณสัมปยุตต์ หรือติเหตุกบุคคล ก็จะมีอาการของ วิตก วิจาร มนสิการ เกิดดับสืบต่อจนเข้าใจเรื่องราวต่างๆ ได้มาก และถ่องแท้กว่าผู้ปฏิสนธิด้วยทวิเหตุกะ หรือไม่อย่างไร

ทั้งนี้ที่เข้าใจอย่างนี้ เพราะอาศัยพิจารณา เทียบเคียงกับพระชาติต่างๆ ของพระโพธิสัตว์ ก่อนที่ท่านจะตรัสรู้ ท่านเกิดในมนุษย์ เป็นติเหตุกบุคคล เป็นผู้มีปัญญาทางโลกมากในทุกๆ ชาติ คือร่ำเรียนวิชาใดก็เก่ง ก็ถ่องแท้ ก็เลยสงสัยว่า ปฏิสนธิจิตที่เป็นติเหตุกะ เป็นเหตุ เป็นปัจจัย ให้เป็นผู้มีปัญญาทางโลกมากด้วยหรือไม่ และปัญญาทางโลกนั้น กล่าวโดยนัยที่ผมกล่าวแล้ว ถือว่าถูกหรือไม่ อย่างไร

ขอบพระคุณเป็นอย่างสูงครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 10 พ.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

วิตก วิจารเจตสิก เป็นปกิณณกเจตสิก เกิดกับจิตเกือบทุกประภท แม้สัตว์เดรัจฉาน และมนุษย์ ต่างก็มีวิถีจิต และก็มีวิตก วิจารเจตสิกด้วยครับ และไม่ได้หมายความว่าสัตว์เดรัจฉานจะมีวิตก วิจารเจตสิกน้อยกว่ามนุษย์ เพียงแต่ว่า เพราะอาศัยปฏิสนธิจิตที่ต่างกัน มนุษย์จึงมีความคิดพิจารณา คือ เกิดโยนิโสมนสิการ การคิดที่แยบคายได้ง่ายกว่าสัตว์เดรัจฉาน ที่มากไปด้วยความไม่รู้ คือมากไปด้วยอกุศล มากกว่ามนุษย์ และการคิดพิจารณาในเหตุผลของมนุษย์ ที่เป็นปัญญาทางโลก มีมากกว่า เพราะไม่ได้ปฏิสนธิโดยไม่ประกอบด้วยเหตุ ดังเช่นสัตว์เดรัจฉาน

ซึ่งในพระไตรปิฎกแสดงไว้บางแห่งครับว่า สัตว์เดรัจฉานมากไปด้วยโมหะ ความไม่รู้ เป็น อยู่ เพียงเพื่อต้องการอาหารดำรงชีวิตเท่านั้น เพราะฉะนั้น จึงไม่มีปัญญาทางโลก ที่เป็นการคิดแบบเป็นเหตุ เป็นผล ครับ

ส่วนสัตว์เดรัจฉาน มีการคิดนึกครับ คือ เห็นสี แล้วก็คิดนึกเป็นรูปร่างสัณฐาน และก็คิดนึกเป็นเรื่องราวต่างๆ แต่คิดโดยมากด้วยอกุศลเป็นส่วนมาก มากไปด้วยโมหะ ดังนั้น ผู้ที่ปฏิสนธิ มีปัญญาเกิดร่วมด้วย รวมทั้งเกิดเป็นมนุษย์ ย่อมคิดพิจารณาได้ถูกต้อง แต่ไม่ได้หมายความว่า มีวิตก วิจาร เกิดมาก เพียงแต่คิดพิจารณาในเหตุผลได้มากกว่าสัตว์เดรัจฉาน ซึ่งเกิดที่ชวนจิต ครับ

ส่วนการเลิศด้วยศิลปะต่างๆ ก็ด้วยเหตุปัจจัยหลายๆ ประการ เพราะมีการสะสมความสามารถเหล่านั้นมาในอดีตชาติมามากแล้ว มาชาติปัจจุบัน ก็ทำให้มีความสามารถในเรื่องนั้นมาด้วย ครับ และปฏิสนธิจิตก็ยังมีผลด้วยเช่นกัน ผู้ที่มีปัญญา ย่อมเรียนรู้และคิดนึกในเรื่องเหตุผลและความแยบคายของความดี ได้ดีกว่าผู้ที่ปฏิสนธิที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ หรือมีเพียงเหตุ ๒ เท่านั้น ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
นิรมิต
วันที่ 11 พ.ย. 2555

กราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

อย่างนี้แปลว่าขณะที่เข้าใจเหตุเข้าใจผลในทางโลก ขณะนั้นมีปัญญาเจตสิกเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยหรือครับ?

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 11 พ.ย. 2555

เรียน ความเห็นที่ 2 ครับ

ขณะที่เข้าใจเหตุผลทางโลก ถ้าไม่ใช่ความเห็นถูกตามความเป็นจริงในสัจจธรรม ก็ไม่มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย ครับ เพียงแต่อาศัยการไตร่ตรองเหตุผลในเรื่องนั้นๆ ด้วยอกุศลจิตก็ได้ ครับ เช่นเดียวกับการนึกคิดของสัตว์ ก็สามารถนึกคิดเป็นเหตุผลได้บ้าง แต่เพียงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับมนุษย์ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Boonyavee
วันที่ 11 พ.ย. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
khampan.a
วันที่ 11 พ.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ถ้าจะกล่าวถึงมนุษย์ กับ สัตว์ดิรัจฉานแล้ว กล่าวถึงโดยความเสมอกัน คือมีธรรมเกิดขึ้นเป็นไป มีจิต เจตสิก รูป เกิดขึ้นเป็นไป แต่ที่แตกต่างกันคือการสะสมและการได้รับผลของกรรม มนุษย์ เกิดในสุคติภูมิ ส่วนสัตว์ดิรัจฉาน เป็นสัตว์ในอบายภูมิ ที่จะมีความคิด การกระทำอย่างไรนั้น ก็เป็นไปตามการสะสมอย่างแท้จริง

ธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ความประพฤติเป็นไปของแต่ละบุคคล ก็เป็นไปตามการสะสม ซึ่งก็ไม่พ้นไปจากธรรมอีกเหมือนกัน แต่ละคน ก็เป็นแต่ละหนึ่ง ไม่เหมือนกันเลย สะสมมาที่จะให้ความสำคัญกับสิ่งหนึ่งสิ่งใด ให้เวลากับสิ่งนั้นมาก ความชำนาญก็จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องใดๆ ก็ตาม รวมไปถึงการสะสมปัญญา ความเข้าใจถูก เห็นถูกด้วย ถ้าเห็นประโยชน์ของความเข้าใจความจริง มีความจริงใจ มีความตั้งใจ มีความอดทนที่จะฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดง ความรู้ความเข้าใจ (ปัญญา) ก็จะค่อยๆ เจริญขึ้น จนกว่าจะถึงความสมบูรณ์พร้อมในที่สุด ซึ่งการที่จะเข้าใจได้นั้น ต้องอาศัยเหตุ คือการฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง จะขาดการฟังพระธรรมไม่ได้เลย

สิ่งที่จะเป็นประโยชน์เป็นที่พึ่งที่แท้จริง เป็นที่พึ่ง ให้ค่อยๆ ละคลายความติดข้อง ละคลายความไม่รู้และละคลายอกุศลธรรมประการต่างๆ ไม่ใช่ความฉลาดในทางโลก แต่ต้องเป็นปัญญา ความเข้าใจถูก เห็นถูก ที่ค่อยๆ เจริญขึ้นจากการได้ฟังพระธรรม

ประโยชน์สูงสุดของการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมคือเพื่อเข้าใจธรรมตามความเป็นจริง และสิ่งที่จะสามารถศึกษาและเข้าใจได้ก็คือสภาพธรรมที่มีจริงในชีวิตประจําวัน ไม่พ้นไปจากธรรมที่มีจริงทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ ที่มีจริงอยู่ทุกขณะ ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ธนฤทธิ์
วันที่ 11 พ.ย. 2555
ขอขอบคุณและขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
นิรมิต
วันที่ 11 พ.ย. 2555

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
chatchai.k
วันที่ 20 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ