วิการรูป

 
วิริยะ
วันที่  19 พ.ย. 2555
หมายเลข  22070
อ่าน  3,848

เรียนถาม

เมื่อกายวิญญัติรูปและวจีวิญญัติรูป ซึ่งเกิดจากจิต เกิดขึ้นเมื่อใด ย่อมมีวิการรูปเกิดร่วมอยู่ด้วยใช่หรือไม่คะ และวิการรูปนั้น ไม่สามารถพิจารณาระลึกได้ เช่นเดียวกับลักขณรูป ดิฉันเข้าใจถูกต้องหรือไม่คะ

ขอบพระคุณอย่างสูง


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 19 พ.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก่อนอื่นก็ต้องเข้าใจความหมายของ กายวิญญัติรูป วจีวิญญัติรูป และ วิการรูป ว่าคืออะไร ก่อน ครับ

กายวิญญัติรูป เป็นอสภาวรูป คือ ไม่มีภาวะลักษณะของตน แต่เป็นวิการหรืออาการของสภาวรูปที่เกิดจากจิด ซึ่งต้องการให้เกิดความหมายต่างๆ โดยแสดงออกมา ทางกาย ในขณะที่จิตเกิดคิดขึ้นว่า "เราจักกวักมือ จักพยักหน้า จักยักคิ้ว จักหลิ่วตา ย่อมยังจิตตชรูปให้ตั้งขึ้น พร้อมกับการเกิดขึ้นของจิต วาโยธาตุ ที่มีจิตเป็นสมุฏฐานในภายในแห่งรูปกลาป ซึ่งอาศัยมหาภูตรูป ย่อมค้ำจุน ทรงไว้ ยังรูปกายที่เกิดพร้อมกับตนนั้นให้เคลื่อนไหว ให้เป็นไปต่างๆ ความวิการแห่งอาการที่สามารถ เพื่อเป็นปัจจัยให้คํ้าจุน ให้เคลื่อนไหว ให้ทรงไว้ ซึ่งรูปกลาป ที่เกิดพร้อมกับวาโยธาตุที่มีจิตเป็นสมุฏฐานนั่นแหละชื่อว่า กายวิญญัติรูป

วจีวิญญัติรูป เป็นอสภาวรูป คือไม่มีภาวะลักษณะของตน แต่เป็นวิการ หรืออาการของสภาวรูป ที่เกิดจากจิตซึ่งมีเจตนาจะพูด ในขณะที่จิตเกิดขึ้น ว่า “เราจักกล่าวคำนี้“ ย่อมยังรูปให้ตั้งขึ้น พร้อมกับการเกิดขึ้นของจิต ปฐวีธาตุที่มีจิตเป็นอุปาทินนกรูป (รูปที่เกิดจากกรรม) ทำให้เกิดเสียงขึ้น เสียงที่เกิดจากจิตนี้ไม่ใช่วจีวิญญัติ ความวิการแห่งอาการ ที่สามารถเพื่อเป็นปัจจัย แก่การกระทบฐานเสียงซึ่งเป็นอุปาทินนกรูป ของปฐวีธาตุที่มีจิตเป็นสมุฏฐานนั่นแหละ ชื่อว่า วจีวิญญัติรูป

เสียง ที่ไม่ได้เกิดจากจิตที่เป็นปัจจัย ทำให้มีรูปกระทบที่ฐานของเสียง ไม่มีวจีวิญญัติรูป เช่น เสียงเรอ เสียงอ้วก

เสียง ที่เปล่งออกมาเป็นภาษาใดภาษาหนึ่ง แม้เสียงสุนัขที่เห่า ไม่ว่าผู้ฟังจะเข้าใจความหมายหรือไม่ก็ตาม หรือแม้พูดอยู่คนเดียว ก็มีวจีวิญญัติรูป

วิการรูป คือ รูปที่ทำให้มีอาการที่ต่าง หรือเปลี่ยนไปจากเดิม หมายถึง อสภาวรูป ๓ รูป คือ ลหุตารูป มุทุตารูป กัมมัญญตารูป เป็นอาการ เบา อ่อน และควรแก่การงานของสภาวรูป ก็คือ กลุ่มของอวินิพโภครูปนั่นแหละที่ เบา อ่อน ควรแก่การงาน จึงทำให้สัตว์บุคคลทำกิจการงานได้สะดวก รู้สึกกระฉับกระเฉง วิการรูปทั้ง ๓ นี้เกิดจากสมุฏฐาน ๓ คือ จิต อุตุ และอาหาร เพราะฉะนั้น ถ้าสมุฏฐานใดบกพร่อง วิการรูปที่เกิดจากสมุฏฐานนั้น ก็ไม่มีกำลัง เช่น จิตอ่อนแอ อ่อนเพลียละเหี่ยใจ ก็ทำให้ไม่มีแรง หรืออากาศร้อน หนาวเกินไป ก็ทำให้ร่างกายไม่เบา ไม่อ่อน ไม่ควรแก่การงาน หรือขณะที่รับประทานอาหารที่เป็นพิษ หรือขณะที่หิวมากๆ ร่างกายก็อิดโรย เพราะวิการรูปทั้ง ๓ ไม่เกิด หรือเกิดแต่ไม่มีกำลัง วิการรูปเมื่อเกิด ต้องเกิดพร้อมกันทั้ง ๓ และเกิดเฉพาะในรูปที่เป็นสัตว์บุคคล เท่านั้น ไม่เกิดในรูป ที่เป็นสิ่งไม่มีชีวิ

ซึ่งจากคำถามที่ว่า

เมื่อกายวิญญัติรูป และวจีวิญญัติรูป ซึ่งเกิดจากจิต เกิดขึ้นเมื่อใด ย่อมมีวิการรูปเกิดร่วมอยู่ด้วยใช่หรือไม่คะ

- เมื่อกายวิญญัติรูป และวจีวิญญัติรูปเกิด ไม่จำเป็นจะต้องมี วิการรูป ๓ เกิดก็ได้ครับ เช่น การพูด เปล่งวาจา แต่ด้วยความอ่อนเพลีย ไม่สบาย เป็นต้น เพราะไม่มีวิการรูป ๓ เกิด หรือ การยักคิ้ว แสดงอาการทางกายให้รู้ แต่เพราะไม่มีวิการรูป ๓ เกิด ก็ทำให้ทำด้วยความอ่อนเพลีย ไม่คล่องแคล่วก็ได้ ครับ ซึ่งกายวิญญัติรูปที่ไม่มีวิการรูป ๓ เรียกว่า กายวิญญัตินวกกลาป คือ กลุ่มของกายวิญญัติรูป ซึ่งมีรูปรวมกัน ๙ รูป คือ อวินิพโภครูป ๘ และ กายวิญญัติรูป ๑ ย่อมเกิดพร้อมกับอุปาทขณะของจิต ซึ่งต้องการให้รูป แสดงความหมาย.

ส่วน วจีวิญญัติรูป ที่ไม่มีวิการรูปเกิด เรียกว่า วจีวิญญัติสัทททสกกลาป คือ กลุ่มของรูป รวมกัน ๑๐ รูป ได้แก่ อวินิพโภครูป ๘ วจีวิญญัติรูป ๑ สัททรูป ๑ ย่อมเกิดพร้อมกับ อุปาทขณะ ของ "จิต" ซึ่งเป็น "สมุฏฐานของเสียง" คือ วาจา.

ส่วน กายวิญญัติรูป และวจีวิญญัติรูป ที่มีวิการรูปเกิดร่วมด้วย ก็จะเป็นการแสดงอาการทางกาย หมายให้รู้ ด้วยความแคล่วคล่อง เพราะมีวิการรูป เช่นเดียวกับการพูด วาจา ก็พูดด้วยความแคล่วคล่องเช่นกัน ครับ


ส่วนคำถามที่ว่า

และวิการรูปนั้น ไม่สามารถพิจารณาระลึกได้เช่นเดียวกับลักขณรูป ดิฉันเข้าใจถูกต้องหรือไม่คะ

วิการรูป ก็สามารถรู้ได้ แต่รู้ได้สำหรับผู้มีปัญญาสูงมากๆ ดังที่ท่านอาจารย์สุจินต์ กล่าวไว้ เมื่อมีชาวต่างชาติท่านหนึ่งถามว่า สติปัฏฐาน สามารถเกิดระลึกรู้ รูปเบา รูปอ่อน และรูปที่ควรแก่การงานได้ไหม

คำตอบ คือ ได้ แต่เกิดขึ้นกับใคร

สิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้ยังไม่รู้ ควรอบรมความรู้ความเข้าใจในลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฏขณะนี้ เป็นสิ่งสำคัญที่สุด ส่วนวิการรูปนั้น เมื่อไรที่ปรากฏกับผู้มีปัญญาที่ได้สะสมมา เมื่อปรากฏ ผู้นั้นรู้เอง

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
วิริยะ
วันที่ 19 พ.ย. 2555

เรียน ถาม

วิการรูป ต้องมีทั้งสามอย่างอยู่ด้วยกัน เกิดขึ้นพร้อมกัน ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ ใช่หรือไม่คะ และที่ท่านอธิบายว่า กายวิญญัติรูปและวจีวิญญัติรูป ที่ไม่มีวิการรูปเกิด และเกิดในขณะที่เป็นอุปาทขณะ หมายความว่า เกิดพร้อมจิตแล้วดับเลย ไม่มีขณะที่ตั้งอยู่หรืออย่างไรคะ หรือว่า พิจารณาเพียงแค่ว่า ความอ่อนเพลีย ความที่ไม่ควรแก่การงานนั้น หมายถึงไม่มีวิการรูป ผู้ที่เป็นอัมพาตเดินไม่ได้ ขับถ่ายเองไม่ได้ ก็ไม่มีวิการรูป ใช่หรือไม่คะ

รูปที่เกิดจากจิตเป็นสมุฏฐาน อย่างเช่น การเอื้อมมือ การก้าวเดิน ถ้าสำหรับคนพิการ จะอธิบายอย่างไรคะ ในแง่ของปัจจัยที่เกี่ยวกับรูป

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 19 พ.ย. 2555

เรียนความเห็นที่ 2 ครับ

วิการรูป ต้องเกิดพร้อมกัน ๓ อย่าง ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ ครับ

ซึ่งในความเป็นจริง เราไม่สามารถที่จะรู้ว่า ขณะใดมีวิการูปหรือไม่มี ในขณะที่อ่อนเพลีย เพราะไม่ได้มีปัญญามาก เพียงแต่ให้รู้ ขณะที่มีการเคลื่อนไหวทางกาย มีวิการรูปก็ได้ ไม่มีก็ได้

ส่วนผู้ที่เป็นอัมพาตนั้น ก็ไม่มีวิการรูปเกิดขึ้น แม้จะมีจิตที่ต้องการเคลื่อนไหว และปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้เคลื่อนไหวไม่ได้ครับ มีการไหวไปด้วยอาศัยวาโยธาตุ คือธาตุลมเป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดมาก เพราะเป็นพระปัญญาตรัสรู้และต้องอาศัยหลายๆ ปัจจัย ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
วิริยะ
วันที่ 19 พ.ย. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
daris
วันที่ 19 พ.ย. 2555

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
khampan.a
วันที่ 19 พ.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

รูปธรรม เป็นสภาพธรรมที่ไม่รู้อะไร มีจริง เกิดขึ้นจากสมุฏฐานของตนๆ แล้วก็ดับไป ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน และสภาพธรรมแต่ละอย่าง ที่เกิดขึ้นเป็นไปนั้น เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร จะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม ธรรมะเป็นไปอย่างไร ก็เป็นอย่างนั้น, ถ้าเป็นผู้เห็นประโยชน์ ของการได้เข้าใจความจริงซึ่งไม่เคยรู้มาก่อน ว่าเป็นธรรม ย่อมจะไม่ละเลยโอกาสแห่งการอบรมเจริญปัญญาด้วยการฟังพระธรรม ซึ่งจะต้องค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูก เห็นถูกในสภาพธรรมที่มีจริง ไปทีละเล็กทีละน้อย จะข้ามขั้นไม่ได้เลยทีเดียว

กายวิญญัติ และวจีวิญญัติ เป็นรูปที่เกิดจากจิต มีความประสงค์ที่จะทำให้รู้ความหมายที่แสดงออกมาทางกาย ก็เป็นกายวิญญัติรูป มีความประสงค์ที่จะทำให้รู้ความหมายด้วยคำพูด ก็เป็นวจีวิญญัติรูป เป็นอาการของสภาวรูป

การที่จะเข้าใจความเป็นจริงของสภาพธรรมที่มีจริงได้ ก็ต้องอาศัยการฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เพราะสิ่งที่มีจริงทุกอย่าง ควรรู้ยิ่ง เพราะเป็นสิ่งที่มีอยู่จริงๆ สามารถศึกษาและรู้ตามความเป็นจริงได้ ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
วิริยะ
วันที่ 20 พ.ย. 2555

เรียนท่านผู้รู้

ดิฉันกลับไปอ่านเรื่องรูป ๒๘ แล้วนำไปคิดทบทวนว่า ในรูป ๒๘ นั้น แทบจะไม่สามารถระลึกและพิจารณาได้เลย ยกเว้น แสง สี กลิ่น รส เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว แม้แต่สิ่งที่ปรากฏ ก็ยังไม่ได้ระลึก แล้วจะคิดอะไรกับสิ่งที่ ถึงแม้มี แต่ปัญญาไม่สูงพอที่จะระลึก

จึงต้องกราบขอบพระคุณท่านอาจารย์สุจินต์ ที่ได้กรุณาเตือนผู้ศึกษาธรรม และขอขอบคุณท่านผู้รู้ทุกท่านที่ได้กรุณาอธิบายให้เกิดความเข้าใจ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
paderm
วันที่ 20 พ.ย. 2555

ขออนุโมทนาในความเห็นถูก ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
peem
วันที่ 29 ส.ค. 2562

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
chatchai.k
วันที่ 14 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
สิริพรรณ
วันที่ 7 ก.ค. 2564

กราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ