คำว่า ทรงจำธรรม , คล่องปาก ขึ้นใจ

 
พิมพิชญา
วันที่  26 ต.ค. 2555
หมายเลข  21962
อ่าน  2,021

กราบเรียนถามดังนี้นะคะ

จากการอ่านพระไตรปิฎก

พบคำว่า "ทรงจำธรรม" "คล่องปาก ขึ้นใจ"

ตามความเข้าใจจากการอ่านเอง ดิฉันเข้าใจว่า

๑. หมายถึงการศึกษาพระธรรมอยู่เนืองๆ มีความเข้าใจขั้นฟัง (ขั้นแรก) และสามารถจดจำความเข้าใจนั้นได้ขึ้นใจและจำเนื้อความของพระธรรมได้คล่องปาก?

หรือว่า

๒. หมายถึง การศึกษาพระธรรมอยู่เนืองๆ มีความเข้าใจขั้นฟัง จนสติเจตสิก ระลึกรู้สภาพธรรมะที่กำลังปรากฏอยู่เนืองๆ และสัญญาเจตสิกจึงจดจำลักษณะไว้ ด้วยเหตุนี้ จึงคล่องปาก ขึ้นใจ?

ไม่ทราบว่าเข้าใจถูกผิดอย่างไร ขอช่วยแก้ไขและอธิบายคำเหล่านี้อย่างละเอียดทีค่ะ

ขอบพระคุณค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 30 ต.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

หากได้อ่านพระสูตร จะไม่ใช่มีเพียงคำว่า ทรงจำธรรม คล่องปาก แต่จะต่อด้วยคำว่า แทงตลอดด้วยดี ด้วยทิฏฐิ นั่นคือ เข้าใจด้วยความเห็นถูก

เพราะฉะนั้น หากเราพูดคำกลางๆ การทรงจำธรรมได้ ก็คือ การสามารถจดจำเรื่องราวได้ และ คล่องปาก ก็สามารถพูดในคำที่ทรงจำไว้ได้ย่างละเอียด ซึ่ง แม้แต่การศึกษาทั่วไป และ แม้แต่การศึกษาทางโลก สัญญาเจตสิกก็เกิดกับจิตทุกดวง แต่ปัญญา ไม่เกิดกับจิตทุกดวง เพราะฉะนั้น ก็มีผู้ที่สามารถจำเรื่องราวที่เรียนได้ พูดตามได้ แต่ไม่มีความเข้าใจ

แต่ถ้าเป็นไปในทางพระพุทธศาสนา เป็นเรื่องของปัญญาเป็นสำคัญ เพราะ "พุทธ" หมายถึง ผู้รู้ รู้ไม่ใช่รู้ด้วยสัญญา ความจำ แต่ รู้ได้ด้วยปัญญา ก็จะต้องมีปัญญา เป็นสำคัญ เพราะฉะนั้น การทรงจำธรรมได้ คล่องปาก ก็เกิดจากการแทงตลอดด้วยดี ด้วยทิฏฐิ คือ ด้วยสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นถูกเป็นสำคัญ เพราะ มีปัญญา เข้าใจธรรม ก็ทำให้สามารถทรงจำได้ คือ สัญญาเจตสิกเกิดร่วมกับปัญญา และ คล่องปาก เพราะเข้าใจพระธรรมนั้นได้ละเอียดจริงๆ สามารถกล่าวได้ไม่ผิดพลาด

ซึ่งในความหมายของ การทรงจำธรรม คล่องปากในที่นี้ ต้องหมายรวม ปัญญาด้วยตามที่กล่าวมา แต่ปัญญาก็มีหลายระดับ ปัญญาขั้นการฟัง ปัญญาขั้นสติปัฏฐานและปัญญาที่เป็นถึงการบรรลุเป็นพระอริยบุคคล

เพราะฉะนั้น การทรงจำธรรมคล่องปาก ก็แบ่งหลายระดับ ตามระดับของปัญญาด้วย ครับ ที่เป็นพหูสูต ฟังธรรมมาก และมีความเข้าใจขั้นการฟัง ก็สามารถทรงจำธรรมได้คล่องปาก ตามระดับปัญญาขั้นการฟัง ส่วนผู้ที่รู้ ลักษณะความจริงของสภาพธรรมในขณะนี้ ขณะนั้นก็ทรงจำธรรมได้ พร้อมกับปัญญา และ หากมีปัญญา ก็สามารถอธิบายได้อย่างละเอียดถูกต้อง คล่องปาก ตามที่ตนเองรู้ในขณะนั้น และ หากเป็นพระอริยบุคคล ก็มีปัญญามาก เพราะ แทงตลอดด้วยทิฏฐิ ด้วยสัมมาทิฏฐิ ก็ทรงจำธรรม ในลักษณะของสภาพธรรม ด้วยปัญญา และ สัญญา อีกระดับหนึ่ง ก็ตามระดับของปัญญาเป็นสำคัญด้วย ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
nopwong
วันที่ 30 ต.ค. 2555

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 30 ต.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ธรรม เป็นเรื่องที่ละเอียด ลึกซึ้ง ยาก แต่ไม่เหลือวิสัย สำหรับผู้ที่มีความตั้งใจ มีความจริงใจ มีความเพียร มีความอดทน ที่จะฟัง ที่จะศึกษา เพื่อความเข้าใจจริงๆ

ซึ่งก็จะต้องเป็นผู้เห็นประโยชน์ของพระธรรม เป็นผู้ตรง และจริงใจ จึงจะได้สาระจากพระธรรม เหตุที่จะให้ปัญญาเจริญขึ้น ต้องได้ฟังธรรม ศึกษาพระธรรม พิจารณาไตร่ตรองในเหตุในผลของพระธรรม เมื่อไม่ขาดการฟังพระธรรม ฟังพระธรรมบ่อยๆ เนืองๆ ปัญญาย่อมเจริญขึ้น เป็นผู้ทรงจำพร้อมด้วยปัญญา ความเข้าใจถูก เห็นถูก ไม่มีความคลาดเคลื่อน จากความเป็นจริง เพราะได้เข้าใจอย่างถูกต้อง ไม่ใช่เพียงแต่จำ แต่ไม่ได้มีความเข้าใจอะไรเลย และประการที่สำคัญ จุดประสงค์ของการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่น แต่เพื่อเข้าใจธรรม ตามความเป็นจริง เท่านั้น ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 30 ต.ค. 2555

เฉพาะสาวกเท่านั้นที่ทรงจำธรรมะของพระพุทธเจ้าได้แม่นยำ สืบต่อๆ กัน จนทุกวันนี้ เป็นพระไตรปิฎก ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
nong
วันที่ 31 ต.ค. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
พิมพิชญา
วันที่ 20 พ.ย. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
peem
วันที่ 13 ก.ย. 2557

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
เมตตา
วันที่ 19 ก.ย. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
Kalaya
วันที่ 27 ธ.ค. 2565

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ