รูปที่มีกรรมเป็นสมุฏฐานมีอย่างอื่นไหมครับ

 
asp
วันที่  27 ต.ค. 2555
หมายเลข  21970
อ่าน  1,313

รูปที่มีกรรมเป็นสมุฏฐานนอกจากปสาทรูป ๕ แล้ว ยังมีอย่างอื่นไหมครับ และการได้มีโอกาสพบกัน ของ รูป เสียง กลิ่น รส เย็น ร้อน อ่อน แข็ง กับ ปสาทรูปทั้ง ๕ นี้ มีเหตุปัจจัยอะไรให้พบกันครับ

เหตุที่ทำให้สงสัยคือ เพื่อนบอกว่า การประสบเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เป็นเรื่องของโชค แต่ผมบอกเขาว่าไม่ใช่ เป็นเรื่องผลของกรรมที่ได้กระทำมาแล้ว แต่ก็อธิบายไม่ได้ว่า รูป เสียง กลิ่น รส เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ซึ่งมีอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ และไม่รู้เรื่องรู้ราวเลย จะมีโอกาสพบกับปสาทรูป ซึ่งก็ไม่รู้อะไรเลย ได้อย่างไร อะไรหนอเป็นเหตุให้สิ่งที่ไม่รู้อะไรเลยทั้งสองมาพบกันได้ ผมเชื่อว่าในพุทธศาสนาไม่มีคำว่าฟลุก ต้องสามารถอธิบายได้ เลยเขียนมาถามครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 27 ต.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก่อนอื่น ต้องเข้าใจก่อนว่า รูปธรรม เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นสภาพธรรมที่ไม่รู้อะไร ไม่ใช่สภาพรู้ ไม่ใช่ธาตุรู้ แต่มีจริงๆ รูปธรรมมีมากมาย เมื่อประมวลแล้ว ก็มีทั้งหมด ๒๘ รูป และมีสมุฏฐาน (ที่ก่อตั้งให้รูปเกิดขึ้น) ที่แตกต่างกัน มีทั้ง รูปที่เกิดจากกรรม เกิดจากจิต เกิดจากอุตุ และ เกิดจากอาหาร ทั้งหมดนั้น ล้วนเป็นธรรมที่มีจริง ที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไป ไม่เที่ยง ไม่ยังยืน

สำหรับรูปที่เกิดจากกรรมนั้น ไม่ได้มีเพียงปสาทรูป ๕ (คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย) เท่านั้น ยังมีรูปอื่นๆ อีก ที่เกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน ด้วย คือ หทยรูป ชีวิตตินทรีย์ และ ภาวรูป

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ ...

กัมมชรูป

ธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปนั้น ต้องเกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นต้น หรือ สภาพธรรมที่เป็นนามธรรม คือ จิต และ เจตสิก ก็เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่มีใครทำอะไร หรือบังคับอะไรให้เกิดขึ้นได้เลย

การที่จะได้เห็นรูปที่ดี ได้ยินเสียงที่ดี ได้กลิ่น ที่ดี ได้ลิ้มรส ที่ดี ได้ถูกต้องกระทบสัมผัสที่ดี หรือ ไม่ดี ก็ตาม เป็นเรื่องของ ผลของกรรม ที่ได้กระทำแล้วในอดีตเป็นสำคัญ เพราะกุศลกรรม ที่ได้กระทำแล้วเป็นปัจจัย จึงทำให้ได้ประสบกับสิ่งที่ดีๆ ได้รับสิ่งที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ได้เห็นรูปที่ดี ได้ยินเสียงที่ดี ได้กลิ่นที่ดี ได้ลิ้มรสที่ดี ได้ถูกต้องกระทบสัมผัสที่ดี ที่เป็นอิฏฐารมณ์ ในทางตรงกันข้าม ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรม ที่ได้กระทำแล้วในอดีต ก็ทำให้ได้ประสบกับสิ่งที่ไม่ดี ได้เห็นรูปที่ไม่ดี ได้กลิ่นไม่ดี เป็นต้น ที่เป็นอนิฏฐารมณ์ ทั้งหมดนั้น ล้วนเป็นธรรม ที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยทั้งสิ้น ถ้าไม่มีเหตุให้สภาพธรรมเกิดขึ้น สภาพธรรมนั้นๆ ก็เกิดขึ้นไม่ได้ และที่สำคัญสภาพธรรมที่เกิดขึ้นนั้น ก็มีหลายปัจจัย แสดงให้เห็นถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมที่เป็นอนัตตา ไม่มีเรื่องฟลุก ไม่มีเรื่องบังเอิญใดๆ ทั้งสิ้น

เพราะธรรมเกิดเพราะเหตุปัจจัย

วิบากจิตที่เกิดขึ้นเป็นไปในชีวิตประจำวัน จะไม่พ้นไปจากทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เลย เพราะมีตา หู จมูก ลิ้น กาย จึงเป็นเหตุให้จิต (และเจตสิก) เกิดขึ้นรับรู้อารมณ์ ทางตา เป็นต้น ซึ่งเมื่อศึกษาไปตามลำดับก็จะเข้าใจได้ว่า ขณะใดบ้างที่เป็นวิบากจิตในชีวิตประจำวัน ซึ่งก็คือ ขณะที่เห็น ขณะที่ได้ยิน ขณะที่ได้กลิ่น ขณะที่ลิ้มรส ขณะที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง นี้เอง ครับ

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ ...

ขอเรียนถามเรื่องวิบาก

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 27 ต.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

จากคำถามที่ว่า

การได้มีโอกาสพบกัน ของ รูป เสียง กลิ่น รส เย็นร้อน อ่อนแข็ง กับปสาทรูปทั้ง ๕ นี้ มีเหตุปัจจัยอะไรให้พบกันครับ เหตุที่ทำให้สงสัยคือ เพื่อนบอกว่าการประสบเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตประจำวันเป็นเรื่องของโชค แต่ผมบอกเขาว่าไม่ใช่เป็นเรื่องผลของกรรมที่ได้กระทำมาแล้ว

----------------------------------------------------------------

โดยมาก ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ เมื่อไม่ได้ศึกษาพระธรรม ย่อมมีความเห็น ไปตามความนึกคิดของตนเอง ว่า สิ่งนี้เกิด เพราะ เป็นอย่างนี้ เพราะ เป็นความบังเอิญ หรือ เพราะอาศัยสิ่งนี้ จึงทำให้เกิดสิ่งนี้ แต่ไม่รู้ว่า สิ่งใดที่จะเกิด จะต้องอาศัยเหตุปัจจัย เป็นสำคัญ

เพราะฉะนั้น แม้แต่การจะเห็น รูปที่ดี หรือ ไม่ดี เป็นต้นก็อาศัยกรรม เป็นปัจจัย จึงทำให้มีการกระทบกันของรูป และปสาทรูป ทำให้เกิดการเห็น รูปที่ดี หรือ ไม่ดี การได้ยินเสียงที่ดี หรือไม่ดี การได้กลิ่นที่ดี หรือ ไม่ดี การลิ้มรสที่ดี หรือ ไม่ดี การรู้กระทบสัมผัสที่ดี หรือ ไม่ดี ล้วนแล้วแต่มาจากมี กรรม เป็นปัจจัยสำคัญ ครับ

หาก กรรมดีให้ผล ก็ทำให้ได้รู้ รูปที่ดี ได้เห็นรูปที่ดี ถ้าอกุศลกรรมให้ผลก็ทำให้ได้เห็นรูปที่ไม่ดี โดยนัยเดียวกัน กับทางหู การจะได้ยินเสียงไหน อย่างไร ก็แล้วแต่กรรม ที่เป็นกุศลกรรมให้ผล หรือ อกุศลกรรมให้ผล

ซึ่งในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้า ก็ทรงได้ตรัสเล่า เหตุการณ์ของบุคคล ที่มีความเข้าใจผิด ไม่ได้เข้าใจในเรื่องกรรมและผลของกรรม ว่าจะทำให้ได้รับสิ่งที่ดี หรือ ไม่ดี

ยกตัวอย่าง เช่น เมื่อในอดีตกาล มีฤาษีผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ อาศัยอยู่ในพระราชอุทยานของ พระราชา ชื่อ พระเจ้าทัณฑกี สมัยนั้น นางคณิกา หรือ นางโสเภณีแห่งเมืองนั้น ออกเดินเที่ยวเมือง เพราะความงามของนาง ก็มีแต่คนชมชอบ เหลียวดูแต่นาง พระราชาถามผู้ใกล้ชิดว่า ผู้นั้นเป็นใคร ทำไมมีแต่คนนิยมยกย่อง

ผู้ใกล้ชิด กราบทูลว่า เป็นนางโสเภณี พระราชาได้ยินเกิดความอิจฉา ริษยา จึงสั่งพนักงานให้ถอดยศของนางโสเภณีนั้น นางหมดยศ หมดตำแหน่ง ก็เที่ยวหากินเหมือนคนยากจน ระหว่างทางนั้น พบ พระฤาษี อยู่ในพระราชอุทยาน แต่งตัวสกปรก สำคัญว่า เราดวงไม่ดี ยังเห็นสิ่งที่ไม่ดีอีก จึงให้เอาน้ำมาล้างตาและบ้วนปาก แต่กลับบ้วนปาก รดพระฤาษี ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ หลังจากนั้น ไม่นาน พระราชาใคร่ครวญแล้ว ให้อภัย กลับมามอบยศตำแหน่งกับนางดังเดิม เพราะเหตุนี้ นางจึงสำคัญว่า การที่ตนเองได้ยศ ตำแหน่ง ได้สิ่งที่ดี เพราะอาศัย การบ้วนน้ำรดพระฤาษี ต่อมา ปุโรหิตถูกถอดจากตำแหน่ง จึงเข้าไปถามนางคณิกาโสเภณีว่า เจ้าทำกรรมอะไร จึงได้ยศดังเดิม นางกล่าวว่า เพราะเราบ้วนน้ำลายรดพระฤาษี จึงได้ยศตำแหน่งดังเดิม ปุโรหิต จึงเข้าไปที่พระราชอุทยาน และ บ้วนน้ำรดพระฤาษี และ วันนั้นเอง พระราชาคิดว่า เรากล่าวไม่คิดก่อน จึงให้ยศตำแหน่งปุโรหิตดังเดิม

ต่อมาพระราชาไปปราบเมืองอื่น ถามปุโรหิตว่า เราจะชนะได้อย่างไร ปุโรหิตก็กล่าวว่า ให้ไปบ้วนน้ำรดพระฤาษี พระราชาก็ทำตาม และให้กองทัพ ทำตามทุกคน ใครไม่ทำมีโทษ แม้แต่ประชาชนก็มาทำ พระราชาก็รบชนะ

อุปฏฐากของพระฤาษี รู้ว่ามีภัยกับท่านพระฤาษี แต่เมื่อมาถึง พระฤาษีก็ถูกทำสิ่งที่ไม่ดี ได้รับความลำบากมาก อุปฏฐาก จึงขออภัย พระฤาษีไม่โกรธ แต่ท่านกล่าวว่า เทวดาทั้งหลายโกรธมาก หากพระราชาไม่ขอขมา ย่อมเกิดภัยร้ายแรง แต่พระราชาไม่เชื่อ ไม่ขอขมา อุปฏฐาก จึงหนีไปกับพระฤาษี เทวดา โกรธ บันดาลฝนตกลงมาก่อน ประชาชนสำคัญว่า เพราะ เราทำกับฤาษี ฝนที่ไม่ตก ก็ตกลงมา เราทำสื่งที่ควรแล้ว ต่อมา ฝนมะลิก็ตก ฝนเงินทองก็ตกลงมา ผู้คนก็ออกจากบ้านเก็บกัน สุดท้าย เทวดาบันดาลฝนที่ตก เป็นมีด และ ลูกไฟ ทำลายเมืองทั้งเมือง ให้สิ้นไป ครับ

จากเรื่องนี้ แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ปุถุชนผู้ไม่ได้เข้าใจธรรม ย่อมไม่รู้ ในเหตุ และผล ที่ว่า สัตว์ทั้งหลายต้องเป็นไปตามกรรมของตน ไม่ได้อยู่กับสิ่งอื่น กลับสำคัญการกระทำที่ไม่ถูกต้องว่าให้ผลดี เพียงเพราะ นึกคิดเอาเอง แท้ที่จริงการได้รับสิ่งที่ดี ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้กระทบสัมผัสที่ดี ก็จะต้องมาจาก กรรมดี ไม่ได้มาจากกรรมที่ไม่ดี เลย ครับ

เพราะฉะนั้น ไม่มีคำว่า บังเอิญ เลย ในพระพุทธศาสนา เพราะ ทำกรรมเช่นใด ก็ได้รับกรรมเช่นนั้น กรรมยุติธรรมเสมอ เพียงแต่จะรู้หรือไม่เท่านั้น แต่พระพุทธเจ้าทรงรู้และอธิบายเหตุผลให้ผู้ที่ศึกษาพระธรรมได้เข้าใจ ผู้ไม่ได้ศึกษา ย่อมไม่เข้าใจ เป็นธรรมดา ครับ ซึ่งเราไม่สามารถที่จะห้ามให้แพื่อนเชื่อ หรือ ไม่เชื่อ ได้เลย เพราะ เป็นความเข้าใจของแต่ละคน ที่สะสมมาแตกต่างกัน ครับ

สำคัญที่สุด ประโยชน์ไม่ได้อยู่ที่ว่า จะได้รับผลของกรรม จะได้เห็นสิ่งที่ดี หรือไม่ดี แต่ที่สำคัญ คือ รู้ความจริงหรือไม่ ในขณะที่เห็นแล้ว ว่าความจริง คือ อะไร เพราะก็ไม่พ้นจากความเป็นธรรม ซึ่งการจะรู้ความจริงได้ ก็ต้องอาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมเป็นสำคัญ ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
asp
วันที่ 28 ต.ค. 2555

ขอบคุณมากครับ ผมได้นำเรื่องราวที่คุณ paderm เล่ามา ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่า มีเหตุ มีผล ไปเล่าให้เพื่อนฟัง และบอกเพิ่มเติมว่า เหตุที่ปสาท ซึ่งไม่รู้เรื่องอะไรเลย จะไปพบกับสิ่งที่ไม่รู้อะไรอีกสิ่ง ซึ่งสามารถพบกันได้ เพราะมีสิ่งหนึ่งพาไป เช่นจิตคิดจะไปที่ทำงาน ก็มีสิ่งหนึ่งเป็นเหตุนำไป สิ่งนั้นอยู่ในกุศลจิตและอกุศลจิต ซึ่งทำให้ธาตุลมไหว เป็นเหตุให้ปสาทที่เกิดดับมีโอกาสไปเกิดดับ ณ ที่ทำงาน สี เสียง กลิ่น รส สัมผัส

ณ สถานที่ทำงานจะเป็นเช่นไรก็มีโอกาสพบกับปสาท แล้ววิบากจิต ก็มีโอกาสเกิดขึ้นรู้ทางปสาทต่างๆ และแม้แต่ในขณะนี้ ก็มีเหตุนำมาให้ปสาท พบกับสิ่งต่างๆ ในขณะนี้ ส่วนเริ่มแรกของภพนี้ ก็เป็นวิบากจิตซึ่งมีชนกกรรมนำมาสู่สถานที่นี้ ซึ่งบัญญัติว่าโลก และเมื่อตายไป ก็มีชนกกรรมใหม่ ชึ่งนำไปสู่สถานที่ใหม่ เมื่ออธิบายเสร็จด้วยเหตุผล เพื่อนก็ค้านไม่ได้ ส่วนเจตสิกของเขาจะปรุงแต่งยังไงก็ไม่อาจทราบได้

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
paderm
วันที่ 28 ต.ค. 2555

ขออนุโมทนาในธรรมทานเช่นกัน ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
wannee.s
วันที่ 28 ต.ค. 2555

ขออนุโมทนา ค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ