ธรรมะ ที่ช่วยให้ระลึกได้เพื่อหน่ายในความรัก

 
ทับทิม
วันที่  28 ก.ย. 2555
หมายเลข  21797
อ่าน  1,488

มีหัวข้อธรรมะ ใดบ้าง ที่ช่วยให้ระลึกได้เพื่อหน่ายในความรัก


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 28 ก.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตามหลักธรรมคำสอนในทางพระพุทธศาสนา แสดงไว้ว่า ความรัก ความติดข้อง ความยินดีพอใจ เป็นโลภะ เป็นอกุศลธรรม เป็นกิเลสตัณหา เป็นเครื่องเศร้าหมองของจิตใจ

ไม่ใช่เพียงแค่ความรักของหนุ่มสาวเท่านั้น ความรักพี่น้อง รักเพื่อน หรือความติดข้องยินดีพอใจในกามคุณ ๕ กล่าวคือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย) ก็เป็นโลภะ เป็นตัณหาเหมือนกัน และที่สำคัญ ตัณหาเป็นต้นเหตุของทุกข์ทั้งปวง เพราะมีรัก เมื่อยังไม่พลัดพรากจากสิ่งที่รัก ก็เพิ่มโลภะมากยิ่งขึ้น แต่ถ้าผิดหวัง หรือ พลัดพรากจากสิ่งที่รัก ก็เป็นเหตุแห่งทุกข์ นำมาซึ่งความเศร้าโศกเสียใจ

เมื่อกล่าวโดยประมวลแล้ว ทุกข์ที่เกิดขึ้นก็เพราะยังมีตัณหา เมื่อดับตัณหาเสียได้ ทุกข์ย่อมถูกดับไปด้วย

โลภะ (หรือตัณหา) เกิดขึ้นเมื่อใด ย่อมทำให้ไม่เห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะขณะที่โลภะเกิด ย่อมมีโมหะ (ความไม่รู้) เกิดร่วมด้วยทุกครั้ง ทำให้คิดไปในทางที่ผิด การพูดก็ผิด การกระทำก็ผิด ทำให้ไม่รู้ว่าสิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร ไม่รู้ว่าสิ่งใดมีโทษ สิ่งใดไม่มีโทษ ไม่รู้ว่าสิ่งใดมีประโยชน์ สิ่งใดไม่มีประโยชน์,

ขณะที่อกุศลจิตเกิด จึงไม่นำมาซึ่งประโยชน์ใดๆ เลย ทำให้ไม่รู้ความจริง แต่โดยนัยตรงกันข้าม เมื่อปัญญาเกิด ย่อมเห็นตามความเป็นจริง แตกต่างจากขณะที่เป็นอกุศล อย่างสิ้นเชิง

บุคคลผู้ที่เข้าใจตามความเป็นจริงว่ากิเลสเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ แล้ว ก็ใคร่ที่จะละคลายกิเลสลง ด้วยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา ไม่ละเลยโอกาสของการเจริญกุศลประการต่างๆ สะสมอุปนิสัยในการอบรมเจริญปัญญาเป็นปกติทุกๆ วัน เพื่อละคลายกิเลสของตนเอง บุคคลประเภทนี้ เป็นบัณฑิต ควรอย่างยิ่งที่จะเป็นอย่างนี้ ด้วยการเห็นประโยชน์ของการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมในแนวทางที่ถูกต้อง สะสมความเข้าใจถูกต่อไป

ความดี และปัญญาที่สะสมไว้ตั้งแต่เมื่อยังมีชีวิตอยู่เท่านั้นที่จะสะสมเป็นที่พึ่งต่อไปในภายหน้า

เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว ตราบใดที่ยังมีโลภะอยู่ โลภะก็เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย ผู้ที่จะละโลภะที่กล่าวถึง อันเป็นความรัก ความติดข้องต้องการ ได้อย่างเด็ดขาด นั้น ต้องอบรมปัญญาจนกระทั่งบรรลุธรรมถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคล เพราะพระอนาคามีไม่มีความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และที่จะดับโลภะได้อย่างหมดสิ้นจริงๆ ก็ต้องถึงความเป็นพระอรหันต์

ฉะนั้น ปุถุชนยังมีความติดข้องเป็นธรรมดา ยังไม่มีปัญญาที่จะละคลาย ก็ยังละคลายยังไม่ได้ แต่ค่อยๆ อบรมปัญญาเพื่อรู้สภาพธรรมที่มีจริงตามความเป็นจริงได้ เพราะโลภะ ก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง หนทางแห่งการอบรมเจริญปัญญา จึงเป็นหนทางที่เป็นไปเพื่อขัดเกลาละคลายกิเลส จนกว่ากิเลสจะถูกดับหมดสิ้นไปได้อย่างแท้จริง แต่ถ้าไม่มีปัญญาแล้ว ก็ไม่สามารถที่จะดับกิเลสอะไรๆ ได้เลย

ก็ขอให้ได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมต่อไป ขณะที่ฟังพระธรรมเข้าใจ ขณะนั้นก็ได้ขัดเกลาความติดข้องต้องการ ขัดเกลาความไม่รู้ เป็นต้น เนื่องจากว่าขณะที่กุศลจิตเกิด อกุศลย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ ครับ

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

ความรัก ...

ความรักและความเมตตา

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 28 ก.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เมื่อพูดถึงความรัก ที่เป็นอกุศล คือ โลภะ ซึ่ง โลภะนั้นเป็นสมุทัยเป็นเหตุแห่งทุกข์ ซึ่ง หากได้ศึกษาพระธรรม โดยละเอียดจะทำให้เข้าใจความละเอียดของโลภะที่มีหลายระดับ และมีความละเอียดของโลภะอย่างมากมาย ซึ่งก็แบ่งเป็นโลภะ ความติดข้องพอใจในความเห็นผิด โลภะที่ติดข้องพอใจในรูปเสียง กลิ่น รส สิ่งที่กระทบสัมผัส ซึ่งสมมติว่าเป็นความรักทางโลก และ โลภะที่พอใจในความมี ความเป็น ความมีอยู่ของตัวเอง ของขันธ์

นี่แสดงถึงความละเอียดของโลภะว่ามีมากมายและหลายระดับ ดังนั้น การละกิเลส หน่ายกิเลส ก็ต้องเป็นปัญญา และ จะต้องเป็นปัญญาหลายระดับ และละไปตามลำดับด้วย ครับ

ซึ่ง โลภะที่พอใจ ยึดถือด้วยความเห็นผิดว่ามีสัตว์ บุคคล มีเรา มีเขา ละได้เมื่อเป็นพระโสดาบัน โลภะ ที่พอใจในรูป เสียง กลิ่น รส สิ่งที่กระทบสัมผัส ที่สมมติว่าเป็นความรักทางโลก ละได้เมื่อเป็นพระอนาคามี และ โลภะที่พอใจในความมี ความเป็น ความมีอยู่ของตน ของขันธ์ที่เกิดขึ้น ละได้เมื่อเป็นพระอรหันต์

ดังนั้น ธรรมที่จะทำให้หน่ายและละโลภะได้ ก็ต้องปัญญาเท่านั้นที่ทำหน้าที่ ไม่ใช่เรา แต่จะละได้อย่างไร ก็ต้องอบรมปัญญา ด้วยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ซึ่งการจะละโลภะ เบื่อหน่ายในโลภะ ความรักได้ที่สมมติทางโลกได้จริงๆ ก็ต้องเป็นพระอนาคามี แม้พระโสดาบัน ท่านก็มีความรักทางโลก มีความยินดี พอใจในรูป เสียง กลิ่น รส สิ่งที่กระทบสัมผัส

เพราะฉะนั้น โลภะ ความรักที่ควรละ และต้องเป็นไปตามลำดับก่อน คือ โลภะ ความรัก ความยึดถือว่ามีเรา มีสัตว์ บุคคล มีเราด้วยความเห็นผิด ครับ

เพราะฉะนั้น หากไม่ได้ละโลภะ การยึดถือด้วยความเห็นผิดว่ามีเรา มีสัตว์ บุคคลแล้ว กิเลสที่เป็นโลภะ ที่เป็นความรักทางโลกที่พอใจในรูป เสียง ... สิ่งที่กระทบสัมผัส ก็ไม่มีทางหน่าย และละได้เลย เพราะเริ่มจากการข้ามขั้นตอน และด้วยหนทางที่ไม่ถูกต้อง ครับ

พระพุทธเจ้าจึงทรงแสดงทางสายเอก นั่นคือ การเจริญสติปัฏฐาน คือ การรู้ความจริงของสภาพธรรมในขณะนี้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา เพื่อละกิเลส คือ โลภะที่ยึดถือว่ามีเรา มีสัตว์ บุคคลได้ก่อน ตามลำดับ

ด้วยเหตุว่า การจะโลภะ ความรัก ได้ด้วยปัญญา แต่ถ้าไม่รู้จักโลภะ ตามความเป็นจริงแล้วว่าคืออะไร จะละโลภะได้อย่างไร เปรียบเหมือนสงคราม การจะชนะศัตรู ก็จะต้องรู้จักศัตรูให้ดีเสียก่อน จึงจะชนะศัตรูได้ จะละกิเลส จะเบื่อหน่ายจากกิเลส เบื่อหน่ายจากโลภะ ความรัก ก็ต้องรู้จักโลภะด้วยปัญญา เพราะฉะนั้น การจะรู้จักโลภะ ไม่ใช่เพียงคิดเป็นเรื่องราวว่า โลภะไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้ เพียงเท่านั้น เพราะ ไม่ได้ทำอะไรโลภะได้เลย เพราะ ยังไม่รู้จักตัวโลภะ ความรักจริงๆ

หนทางการละโลภะ คือรู้จักโลภะ ว่าเป็นโลภะ ว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา นี่คือหนทางการหน่าย การละคลายความรัก ซึ่งก็ต้องละโลภะ ที่ยึดถือว่ามีสัตว์ บุคคลมีเราก่อนครับ เพราะ ถ้าละตรงนี้ไม่ได้ ก็เป็นตัวตนที่คิดว่าความรักไม่ดี เป็นเราที่มีความรักไม่ดี มีเราที่ไม่อยากรัก ก็ไม่พ้นจากความเป็นเรา ก็ไม่มีทางละ เบื่อหน่ายความรักที่พอใจในรูป เสียง ... สิ่งที่กระทบสัมผัส ที่สมมติว่าเป็นความรักได้เลย

ซึ่งหากเราพิจารณาความจริงในชีวิตประจำวัน ที่เรากล่าวว่าความรัก เราก็มักคิดถึงความรักหนุ่มสาว ความรักที่มีต่อคนอื่น ต่อสัตว์ บุคคล หากแต่ว่า ความรักมีความละเอียดมากกว่านั้น แม้แต่ขณะนี้เพียงเห็น ก็เกิดโลภะ ความรักแล้ว เพราะติดข้องในสิ่งที่เห็นโดยไม่รู้ตัวเลย

แล้วจะละโลภะเหล่านี้ได้อย่างไร ก็ด้วยการเจริญสติปัฏฐาน รู้จักโลภะ ตามความเป็นจริงว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ตามที่กล่าวมา ซึ่งเป็นหนทางสายเอก ครับ

เพราะฉะนั้น เพียงฟังธรรมสูตรอื่นๆ ก็คิดได้ว่าโลภะไม่ดี แต่ก็ยังเกิดโลภะ ในขณะนี้อยู่อีกโดยไม่รู้ตัว ที่พอใจในรูป เสียง กลิ่น รส สิ่งที่กระทบสัมผัส พอใจในรสอาหาร พอใจในสิ่งของสวยๆ เพราะฉะนั้นแทนที่จะหาธรรมที่จะละโลภะ ก็ค่อยๆ เข้าใจหนทางการรู้จักโลภะ ก็จะค่อยๆ ละคลายกิเลส ความเบื่อหน่ายได้ เพราะ จะต้องเป็นเรื่องของปัญญา เป็นสำคัญ การอบรมปัญญาจึงเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน ที่ไม่ใช่การจะทำอย่างไร แต่ เป็นเรื่องที่เข้าใจอย่างไร คือ เข้าใจว่า โลภะมีเหตุปัจจัย ความรักมีเหตุปัจจัยเกิดขึ้นได้เป็นธรรมดา หนทางคือ รู้จักโลภะและ สภาพธรรมที่มีในชีวิตประจำวัน ว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา ซึ่งก็ต้องอาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมไปเรื่อยๆ ในเรื่องต่างๆ ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ไม่ว่าเรื่องใด ก็เป็นประโยชน์ เพราะต้องอบรมปัญญามากๆ เพราะ กิเลสมีมาก โลภะสะสมมานาน จึงควรเริ่มจากความเข้าใจ ไม่ใช่การแสวงหาทางที่จะละ โดยที่ไม่เริ่มจากความเข้าใจเบื้องต้น ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
peem
วันที่ 17 พ.ย. 2556

ขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ