ความเห็นผิด

 
นิรมิต
วันที่  25 ก.ย. 2555
หมายเลข  21784
อ่าน  1,464

กราบสวัสดีท่านวิทยากรและมิตรธรรมที่เคารพ

การที่ศาสนาอื่น ศาสนาใดก็ตาม ได้เผยแพร่คำสอนของเขา ที่เป็นความเห็นผิด ปฏิบัติผิด แต่ไม่ได้สอนให้ล่วงศีล ยังมีศีลมีธรรมที่เป็นคุณงามความดีอยู่ อย่างเช่น ดาบส ฤๅษี ทั้งหลาย หรือของศาสนาพราหมณ์ แต่ก็ยังเป็นความเห็นผิด ซึ่งขณะที่เขาเผยแพร่ เขาก็มีจิตคิดว่านี่จะนำความสุขไปให้ผู้อื่น ขณะนั้นก็เป็นเมตตา แต่ตอนเป็นความเห็นผิด ก็ต้องเป็นโลภะทิฏฐิสัมปยุตต์ ซึ่งไม่ทราบว่า เวลาเขาเผยแพร่คำสอนของเขา เขาก็ทำด้วยจิตสองอย่างนี้สลับกันไป เขาจะได้รับวิบากเป็นกุศล หรืออกุศลครับ? เพราะอะไร? อย่างไร? แล้วอย่างศาสนาพุทธเรา ที่ก็มีหลายสำนักสอนให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้บ้าง แต่เขาก็ทำด้วยกุศลจิต ซึ่งบางครั้งก็ไม่ตรง บางครั้งก็ตรง คือก็สอนๆ กันผิดบ้างถูกบ้าง แต่ก็ด้วยกุศลจิต ไม่ใช่ด้วยอกุศลที่มีความคิดจะบิดเบือนคำสอน เป็นต้น ไม่ทราบว่าจะเป็นกุศลหรืออกุศลกรรมครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 26 ก.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การที่ศาสนาอื่น ศาสนาใดก็ตาม ได้เผยแพร่คำสอนของเขา ที่เป็นความเห็นผิด ปฏิบัติผิด แต่ไม่ได้สอนให้ล่วงศีล ยังมีศีลมีธรรมที่เป็นคุณงามความดีอยู่ อย่างเช่น ดาบส ฤๅษี ทั้งหลาย หรือของศาสนาพราหมณ์ แต่ก็ยังเป็นความเห็นผิด ซึ่งขณะที่เขาเผนแพร่ เขาก็มีจิตคิดว่านี่จะนำความสุขไปให้ผู้อื่น ขณะนั้นก็เป็นเมตตา แต่ตอนเป็นความเห็นผิดก็ต้องเป็นโลภะทิฏฐิสัมปยุตต์ ซึ่งไม่ทราบว่า เวลาเขาเผยแพร่คำสอนของเขา เขาก็ทำด้วยจิตสองอย่างนี้สลับกันไป เขาจะได้รับวิบากเป็นกุศล หรืออกุศลครับ? เพราะอะไร? อย่างไร?


พระธรรมเป็นเรื่องละเอียดมาก ครับ

ละเอียดเพราะ เป็นความละเอียดของจิต เจตสิก ที่เกิดขึ้นและดับไปแต่ละขณะ เพราะฉะนั้นการพิจารณาในความเห็นถูก ความเห็นผิด ความหวังดี เป็นต้น จะต้องพิจารณาทีละขณะจิต เป็นสำคัญ

ซึ่งศาสนาอื่นก็ต้องมีส่วนที่เป็นความเห็นผิดก็มี ในส่วนที่ไม่ใช่ความเห็นผิดก็มี ขณะใดที่มีเจตนาดี มีความหวังดี ขณะนั้นด้วยกุศลจิต และ ขณะที่สอนในสิ่งที่ไม่ผิด คือ ถูก เช่น สอนให้ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ให้มีเมตตากับเพื่อนมนุษย์ ขณะนั้นก็เป็นสิ่งที่ถูกต้องในขั้นศีล การสอนเช่นนั้น ไม่ว่าจะกล่าวหรือใช้คำว่าศาสนาอะไรก็เป็นสิ่งทีดี่ ถูกต้อง เป็นกุศลธรรมในขั้นศีล ในขณะนั้นครับ ที่สอนถูกในเรื่องนั้น

แต่ ขณะใดที่หวังดี คิดจะให้ผู้อื่นมีความเข้าใจก็เป็นกุศล แต่ อีกขณะหนึ่งที่สอนผิด เช่น สอนว่า ตายแล้วก็จะไปอยู่ในสถานที่ที่นิรันดร์ เที่ยงตลอดเวลา ก็เป็นความเห็นผิดในขณะนั้น การหวังดี เป็นจิตขณะหนึ่ง แต่ขณะที่สอนผิด เป็นโลภะที่ประกอบด้วยความเห็นผิดครับ

ดังนั้น ที่กล่าวว่าศาสนาที่สอนในความเห็นผิด ก็ต้องแยกพิจารณาไปทีละเรื่อง ทีละขณะ เพราะ บางเรื่อง บางขณะก็สอนถูก แต่สอนถูกในขั้นศีล แต่บางขณะก็สอนผิด ได้ ซึ่ง กุศลก็ต้องเป็นกุศล อกุศลก็ต้องเป็นอกุศล ครับ ซึ่ง ขณะที่สอนถูก เป็นกุศล ผลก็ต้องเป็นกุศลวิบาก ขณะที่สอนผิด เป็นอกุศล ผลก็ต้องเป็นอกุศลวิบาก ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 26 ก.ย. 2555

แล้วอย่างศาสนาพุทธเรา ที่ก็มีหลายสำนักสอนให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้บ้าง แต่เขาก็ทำด้วยกุศลจิต ซึ่งบางครั้งก็ไม่ตรง บางครั้งก็ตรง คือก็สอนๆ กันผิดบ้างถูกบ้าง แต่ก็ด้วยกุศลจิต ไม่ใช่ด้วยอกุศลที่มีความคิดจะบิดเบือนคำสอน เป็นต้น ไม่ทราบว่าจะเป็นกุศลหรืออกุศลกรรมครับ

- โดยนัยเดียวกัน คำว่า ศาสนาพุทธ ก็เป็นการสมมติขึ้นแต่งตั้งว่านับถือ สอนศาสนาพุทธ แต่การพิจารณาก็ต้องพิจารณาไปทีละขณะจิตครับว่า ขณะใดเป็นกุศล ขณะใดเป็นอกุศล ขณะใดเป็นความเห็นถูก ขณะใดเป็นความเห็นผิด โดยไม่มีชื่อศาสนาพุทธ หรือ ศาสนาอะไรเข้ามาใส่ เพราะ มีแต่ตัวปรมัตถธรรมที่ตัดสินความจริง ที่เป็น จิต เจตสิก ครับ

ดังนั้น ขณะใดมีเจตนาที่ดี ให้ผู้อื่นเข้าใจธรรม เป็นจิตที่เป็นกุศลในขณะหนึ่ง แต่ขณะที่สอนผิด ขณะนั้นก็ต้องเป็นความเห็นผิด ในขณะนั้น เป็นอกุศลในขณะนั้น เพราะ ขณะนั้นมีความไม่รู้เกิดร่วมด้วย เพราะ ไม่รู้จึงเห็นผิด

แม้ไม่มีเจตนาที่จะบิดเบือนคำสอน แต่ขณะนั้นเข้าใจผิด และสอนในสิ่งที่ผิด ก็เป็นอกุศลในขณะนั้น

ดังนั้น จึงไม่สามารถที่จะเอา กุศล กับ อกุศลมาปนกัน หักล้างกันได้เลย เจตนาหวังดี มี เป็นกุศล แต่ สอนผิด ก็เป็นอกุศลในขณะนั้น ครับ

ซึ่งการสอนผิด ทำให้ผู้อื่นเข้าใจผิด ก็มีโทษมาก เป็นบาป ดังข้อความในพระไตรปิฎกที่ว่า

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้าที่ 558

อสัตบุรุษยิ่งกว่าอสัตบุรุษ เป็นไฉน?

บุคคลบางคนเป็นผู้มีความ เห็นผิด ฯลฯ มีวิมุตติผิดด้วยตนเองด้วย ชักชวนผู้อื่นให้เป็นอย่างนั้นด้วย นี้เรียกว่า อสัตบุรุษยิ่งกว่าอสัตบุรุษ.

[เล่มที่ 33] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 192

[๑๙๕]  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ที่ชักชวนเข้าในธรรมวินัยที่กล่าวไว้ชั่ว ๑ ผู้ที่ถูกชักชวนแล้วปฏิบัติเพื่อความเป็นอย่างนั้น ๑ คนทั้งหมดนั้น ย่อมประสบกรรม มิใช่บุญ เป็นอันมาก ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะธรรมท่านกล่าวไว้ชั่ว.

เชิญคลิกอ่านที่นี่ ครับ

อาจารย์สอนผิด

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
นิรมิต
วันที่ 26 ก.ย. 2555

โดยไม่มีชื่อศาสนาพุทธ หรือ ศาสนาอะไรเข้ามาใส่ เพราะ มีแต่ตัวปรมัตถธรรมที่ตัดสินความจริง ที่เป็น จิต เจตสิก

กราบขอบพระคุณ อ.ผเดิม และอนุโมทนาครับ

เห็นประโยชน์ของการศึกษาธรรมะจริงๆ ครับ ถ้าไม่ศึกษาโดยละเอียด ศึกษาให้ถ่องแท้จริงๆ แล้วไปปฏิบัติโดยไม่มีความรู้ ปฏิบัติผิด นอกเหนือประไตรปิฎก ก็กลายเป็นพุทธศาสนานอกคำสอนพระพุทธเจ้า พอไปสอนๆ กันก็เห็นผิดๆ กันต่อไป ทั้งๆ ที่หวังดี หวังความหลุดพ้นด้วยกันแท้ๆ มิจฉาทิฏฐินี่น่ากลัวเหลือเกินครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
นิรมิต
วันที่ 26 ก.ย. 2555

สงสัยเพิ่มเติมอีกนิดนึงครับ

คืออย่างเช่นเวลาเราให้ธรรมะเป็นธรรมทาน อย่างให้หนังสือธรรมะกับคนอื่น หรือถวายหนังสือธรรมะแด่พระสงฆ์เป็นต้น โดยที่หนังสือที่ให้ยังไม่ทันได้เปิดอ่านตรวจทานดูก่อน หรือ อ่านตรวจทานแล้วก็เห็นว่ามีบางช่วงบางตอน ไม่ค่อยตรง แต่ที่เหลือก็ถือว่าโอเค ก็เลยถวายให้หรือให้ไปด้วยเจตนาคิดว่า จะเป็นพื้นฐานพระธรรม ให้เขามีพื้นฐานเพื่อจะได้เข้าใจธรรมขั้นสูงต่อไป

อย่างนี้จะถือว่าเป็นการให้มิจฉาทิฏฐิหรือเปล่าครับ?

แล้วอย่างเวลาเราสนทนาธรรมกับคนอื่น เราก็มีให้ธรรมะกับเขาถูกบ้างผิดบ้าง เพราะปัญญาเราก็ยังน้อย อย่างนี้ก็ได้บุญระคนบาปไหมครับ แล้วถ้าเกริ่นไว้ก่อนว่า ได้ยินมาอย่างนี้ ถูกผิดประการใดก็ต้องหาข้อมูลให้ละเอียดอีกที จะได้ไหม

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
khampan.a
วันที่ 26 ก.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เรียน ความคิดเห็นที่ 4 ครับ

ขออนุญาตแสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับการให้ธรรมเป็นทาน ครับ

ข้อความจากอรรถกถา ทานสูตร [เล่มที่ 45] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตก [เล่มที่ 45] เล่ม ๑ ภาค ๔ มีว่า

บทว่า ธมฺมทานํ

ความว่า บุคคลบางคนในพระศาสนานี้ เมื่อ (แสดง) จำแนกกุศลกรรมบถ และอกุศลกรรมบถ ออกไปว่า “ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล ธรรมเหล่านี้มีโทษ ธรรมเหล่านี้ไม่มีโทษ ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้ตำหนิ ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้สรรเสริญ ธรรมเหล่านี้สมาทานให้บริบูรณ์แล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อสิ่งไร้ประโยชน์ เพื่อทุกข์ ธรรมเหล่านี้ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข” ดังนี้ กระทำกรรมและผลของกรรมให้ปรากฏ ดุจชี้ให้เห็นโลกนี้และโลกหน้า โดยประจักษ์แสดงธรรมให้เลิกละอกุศลธรรม ให้ตั้งอยู่ในกุศลธรรมทั้งหลาย นี้ชื่อว่า ธรรมทาน.

---------------------------------------------------

ธรรมทาน หมายถึง การให้ธรรม คือ การให้ความรู้ ให้ความเข้าใจ ให้ความเห็นถูกในธรรม การให้ในสิ่งที่ผิด คำสอนที่ผิด ไม่ใช่ธรรมทาน บุคคลผู้ที่ให้ธรรม อย่างสูงสุด คือ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จากการทรงแสดงพระธรรมของพระองค์ มีผู้ที่ได้รับประโยชน์จากพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงมากมาย นับไม่ถ้วน ทั้งมนุษย์ เทวดา และ พรหมบุคคล

จากการที่ได้ฟังพระธรรมที่ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ บรรยาย

ได้สรุปถึงการให้ธรรมเป็นทานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้อย่างไพเราะทีเดียว ว่า

การให้ธรรมเป็นทานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นการให้ชีวิต ให้เป็นชีวิตที่ประเสริฐด้วยความดีและความเข้าใจธรรม ให้ความเบิกบาน เบิกบานที่ได้เข้าใจความจริง ให้ยารักษาโรค (โรคคือกิเลส) ซึ่งสามารถรักษาได้ทุกโรคทุกกาล เป็นเสมือนการปล่อยสัตว์ออกจากกรง (กรงใหญ่ คือ สังสารวัฏฏ์ กรงของความทุกข์ ความไม่รู้ และความเห็นผิดรวมไปถึงกิเลสทั้งหลาย) .

อ้างอิงจาก ... ปันธรรม-ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๓๒

ผู้ที่ได้รับประโยชน์จากพระธรรม มีความเข้าใจธรรมตรงตามพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ก็สามารถที่จะเกื้อกูลผู้อื่นให้รู้ตามได้ด้วย ตามกำลังปัญญาของแต่ละบุคคล เมื่อมีความเข้าใจอย่างถูกต้องแล้ว การที่จะให้ในสิ่งผิดๆ ให้ความเห็นที่ผิด ย่อมเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าไม่มีปัญญาเลย ก็ไม่สามารถที่เกื้อกูลให้ผู้อื่นเข้าใจได้เลย และประการที่สำคัญ สิ่งที่จะเป็นเครื่องป้องกันความเห็นผิด ก็คือ การได้เข้าใจพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง, ธรรมเป็นเรื่องยาก ละเอียด ลึกซึ้ง จึงต้องอาศัยกาลเวลาอันยาวนาน ในการสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย ครับ

...ขอบพระคุณ อ. ผเดิม และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
paderm
วันที่ 26 ก.ย. 2555

เรียนความเห็นที่ 4 ครับ

จากคำถามที่ว่า

คืออย่างเช่นเวลาเราให้ธรรมะเป็นธรรมทาน อย่างให้หนังสือธรรมะกับคนอื่น หรือถวายหนังสือธรรมะแด่พระสงฆ์เป็นต้น โดย ที่หนังสือที่ให้ยังไม่ทันได้เปิดอ่านตรวจทานดูก่อน หรือ อ่านตรวจทานแล้วก็เห็นว่ามีบางช่วงบางตอน ไม่ค่อยตรง แต่ที่เหลือก็ถือว่าโอเค ก็เลยถวายให้หรือให้ไปด้วยเจตนาคิดว่า จะเป็นพื้นฐานพระธรรม ให้เขามีพื้นฐานเพื่อจะได้เข้าใจธรรมขั้นสูงต่อไป อย่างนี้จะถือว่าเป็นการให้มิจฉาทิฏฐิหรือเปล่าครับ?

เจตนาดีมีครับ แต่ ควรตรวจสอบให้ดีเสียก่อน ซึ่งหากมีส่วนผิด ก็ควรชี้แจงในส่วนที่ผิดให้เข้าใจก่อนให้ ก็จะเป็นสิ่งที่สมควร แต่ให้ไป โดยไม่ได้ตรวจสอบก็ไม่ควรครับ ก็ชื่อว่าให้ความเห็นถูก และ ความเห็นผิดด้วย หากมีส่วนที่ผิด ครับ

------------------------------------------------------------

แล้วอย่างเวลาเราสนทนาธรรมกับคนอื่น เราก็มีให้ธรรมะกับเขาถูกบ้างผิดบ้าง เพราะปัญญาเราก็ยังน้อย อย่างนี้ก็ได้บุญระคนบาปไหมครับ แล้วถ้าเกริ่นไว้ก่อนว่า ได้ยินมาอย่างนี้ ถูกผิดประการใดก็ต้องหาข้อมูลให้ละเอียดอีกที จะได้ไหม

- ก็เป็นธรรมดาครับ ที่เราไม่ได้มีปัญญามากมาย ก็ให้สิ่งที่ถูกและผิดบ้างเป็นธรรมดา ซึ่ง การพูดโดยให้ตรวจสอบก่อนภายหลังก็เป็นสิ่งที่ดี ครับ

แต่อะไรที่ไม่แน่ใจก็อย่าเพิ่งอธิบาย ใช้คำว่า ขอไปตรวจสอบ เทียบเคียงกับพระธรรม หรือ สอบถามจากผู้รู้ก่อน จะเป็นการดีกว่า ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
นิรมิต
วันที่ 27 ก.ย. 2555

ขอบพระคุณ อ.ผเดิม ครับ

ขอเรียนถามอีกนิดครับ คือยังไม่กระจ่างเรื่องของให้ธรรมทานที่ผิด

คือ ปรกติกรรมสำเร็จด้วยเจตนาใช่ไหมครับ ขออนุญาตลองเรียบเรียงที่เข้าใจในกรณีต่างๆ ผิกถูกประการใดรบกวนชี้แนะด้วยครับ

1. ถ้าให้ธรรมทาน โดยธรรมนั้นผิด ธรรมนั้นเป็นมิจฉา แต่ตัวเองสำคัญว่าเป็นสัมมา เจตนาคือ จะพูดคำผิดนั้น (คือพูดด้วยโลภะทิฏฐิสัมปยุตต์) มีการพูด จึงถือว่าล่วงวจีกรรมที่เป็นการสั่งสอนมิจฉาทิฏฐิ จึงเป็นอกุศลกรรม แต่ในขณะใด ที่พูดในสิ่งที่ถูก แม้จิตจะไม่ได้เป็นกุศล (คือเป็นโลภทิฏฐิวิปยุตต์ เพราะความเห็นผิดไม่ได้เกิดร่วมด้วย) ขณะนั้นก็ไม่ได้เป็นกุศลกรรม ไม่มีผลเป็นวิบาก เพราะไม่ใช่พูดด้วยกุศลจิต? แต่ถ้าพูดด้วยจิตที่เป็นกุศล จึงจะจัดเป็นกุศลวจีกรรม ที่เป็นการให้ธรรมเป็นทาน?

2. ถ้าให้หนังสือธรรมะ โดยที่มีการตรวจสอบอ่านแล้วเห็นว่าผิดบ้างถูกบ้าง แต่ยังให้ อันนี้พอเข้าใจว่าทำไมเป็นกุศลกรรม ปน อกุศลกรรม เพราะจิตตอนให้ก็ขณะหนึ่ง ธรรมที่ถูกมี จิตเราทราบแล้วเพราะอ่าน ธรรมผิดก็มี จิตเราก็ทราบเพราะอ่าน แต่ยังให้ ก็เลยได้กุศลในส่วนที่ถูก ได้อกุศลให้ส่วนที่ผิด

แต่การให้ธรรมะ โดยสำคัญว่าความข้างในนั้นถูกต้อง แต่ไม่ได้ตรวจทาน ไม่ได้เอะใจว่าธรรมนั้นจะผิด อาจจะเพราะได้มาจากอาจารย์ที่สอนถูก หรือเคยอ่านผู้เขียนท่านี้แล้วก็เห็นว่าสอนถูก

เจตนานั้นคือจะให้ธรรมนี้ที่สำคัญว่าถูกเป็นทาน แล้วได้ให้ ปรากฏธรรมนั้นผิด กลายเป็นอกุศลกรรม? แล้วอย่างนี้มันจะไม่เหมือนกับ การที่เราให้ทานอื่นๆ ด้วยเจตนาดี เช่นให้เงินขอทาน แต่เขากลับเอาเงินไปใช้ซื้อเหล้าซื้อยาเสพติดกิน เหรอครับ?

ทำไมในกรณีนี้ที่ให้หนังสือธรรมะเป็นอกุศลกรรม แต่ในกรณีที่ให้เงินขอทานกลับเป็นกุศลกรรม ในเมื่อก็กรรมสำคัญที่เจตนามิใช่หรือ?

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
paderm
วันที่ 27 ก.ย. 2555

เรียนความเห็นที่ 7 ครับ

ข้อที่ 1 ถูกต้อง ครับ

2. ถ้าให้หนังสือธรรมะ โดยที่มีการตรวจสอบอ่านแล้วเห็นว่าผิดบ้างถูกบ้าง แต่ยังให้ อันนี้พอเข้าใจว่าทำไมเป็นกุศลกรรม ปน อกุศลกรรม เพราะจิตตอนให้ก็ขณะหนึ่ง ธรรมที่ถูกมี จิตเราทราบแล้วเพราะอ่าน ธรรมผิดก็มี จิตเราก็ทราบเพราะอ่าน แต่ยังให้ ก็เลยได้กุศลในส่วนที่ถูก ได้อกุศลให้ส่วนที่ผิด แต่การให้ธรรมะ โดยสำคัญว่าความข้างในนั้นถูกต้อง แต่ไม่ได้ตรวจทาน ไม่ได้เอะใจว่าธรรมนั้นจะผิด อาจจะเพราะได้มาจากอาจารย์ที่สอนถูก หรือเคยอ่านผู้เขียนท่านี้แล้วก็เห็นว่าสอนถูก เจตนานั้นคือจะให้ธรรมนี้ที่สำคัญว่าถูกเป็นทาน แล้วได้ให้ ปรากฏธรรมนั้นผิด กลายเป็นอกุศลกรรม? แล้วอย่างนี้มันจะไม่เหมือนกับ การที่เราให้ทานอื่นๆ ด้วยเจตนาดี เช่นให้เงินขอทาน แต่เขากลับเอาเงินไปใช้ซื้อเหล้าซื้อยาเสพติดกิน เหรอครับ?

ทำไมในกรณีนี้ที่ให้หนังสือธรรมะเป็นอกุศลกรรม แต่ในกรณีที่ให้เงินขอทานกลับเป็นกุศลกรรม ในเมื่อก็กรรมสำคัญที่เจตนามิใช่หรือ?

-------------------------------------------------------------------

กรรม สำคัญที่เจตนาครับ

ซึ่งจิตเกิดดับ สลับกันรวดเร็วอย่างมาก ครับ ขณะที่เจตนาดี อยากให้ผู้อื่นเข้าใจถูกเป็นอย่างหนึ่ง แต่ ขณะที่ให้สิ่งทีผิด ก็ต้องมีวัตถุที่จะให้ใช่ไหมครับ

สำหรับการให้ทาน แต่วัตถุที่ให้ เป็นสิ่งที่ผิด ไม่ถูกต้อง แม้เจตนาดี ในจิตขณะก่อนหน้านี้และจิตอื่นสืบต่ออย่างรวดเร็ว คือ เจตนาให้แต่ในวัตถุที่ผิด คือ ธรรมที่ผิด จะเป็นกุศลไม่ได้เลย ครับ เพราะฉะนั้นเนื่องจากการเกิดดับ สลับกันของจิตที่รวดเร็วมาก จนอาจสำคัญว่า เจตนาดี ปนกับขณะให้สิ่งที่ผิดได้ ครับ เช่นเดียวกับ การให้ธรรมของอาจารย์ผู้สอนผิด มีเจตนาดี แต่ไม่รู้ว่า สิ่งตนเองสอนเป็นสิ่งที่ผิด เจตนาดีขณะที่อยากผู้อื่นเข้าใจ เป็นกุศลขณะหนึ่ง แต่ ขณะที่กล่าวผิด ในธรรมที่ผิด จะเป็นกุศลไม่ได้ ก็เป็นอกุศลในขณะนั้น ครับ

ส่วนการให้เงินขอทานนั้น เจตนาดี และ วัตถุที่ให้เป็นประโยชน์กับผู้อื่น ที่ไม่ใช่ ให้ความเห็นผิดครับ

สมดังที่พระพุทธเจ้าได้แสดงไว้ครับว่า บุคคลคนเดียวที่เกิดขึ้นมาในโลก ย่อมทำให้ผู้อื่น สัตว์โลกประสบทุกข์เป็นอันมาก คือ ผู้ที่มีความเห็นผิด เพราะ เมื่อมีความเห็นผิดจะรู้ตัวหรือ ไม่รู้ตัวว่าตนเองเห็นผิดก็ตาม แต่ก็ชักชวน แนะนำ จะด้วยความหวังดี หรืออย่างไรก็ตาม แต่การชักชวน แนะนำ ด้วยการพูด การทำหนังสือให้อ่าน ก็ชื่อว่า เผยแพร่ในสิ่งที่ผิด ทั้งที่เจตนาดี อยากให้ผู้อื่นเข้าจธรรม แต่เนื้อหาไม่ถูกต้อง มีทั้งผิด และถูก ซึ่งส่วนที่ผิด ก็ทำให้ผู้อื่นเข้าใจผิดได้ ครับ ทำให้สัตว์โลก ไหลไปตามความเห็นผิดได้ง่าย ก็ทำให้ประสบทุกข์โดยมาก ครับ

เปรียบเหมือนการดักปลาด้วยอวนตาถี่ที่ปากอ่าว ย่อมเป็นโทษกับปลาโดยมาก ครับ เพราะโดยมากสัตว์ย่อมไหลไปตามอกุศลโดยมาก ไหลไปตามความเห็นผิด เมื่อได้ยิน ได้อ่านในสิ่งที่ผิด ก็ทำให้คล้อยไปโดยมากเป็นส่วนใหญ่ ครับ

ดังนั้น สำคัญที่เจตนา มีเจตนาให้สิ่งที่ผิด แต่สำคัญว่าถูก ก็เป็นเจตนาที่ผิด ให้ในสิ่งที่ผิด ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
ประสาน
วันที่ 27 ก.ย. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
นิรมิต
วันที่ 28 ก.ย. 2555

กราบอนุโมทนาสาธุ อ.ผเดิม และ อ.คำปั่น ครับ

สรุปก็คือ กรรมนั้น ชื่อว่ากุศลกรรม หรืออกุศลกรรม ไม่ใช่มีเจตนาเป็นใหญ่ เจตนาเป็นประธานอย่างเดียว ใช่ไหมครับ

คือ ถ้าการกระทำนั้น เป็นอกุศลกรรม เช่นการล่วงอกุศลกรรมบท ๑๐ หรือศีล ๕ ซึ่งแม้จะล่วงด้วยเจตนา ที่ เหมือนจะดี เช่น โกหกเพราะปราถนาให้ผู้รับฟังเป็นสุข หรือให้ธรรมที่ผิดแม้จะเจตนาดี เป็นกุศลก็ตาม แต่ชื่อว่ากระทำแล้วซึ่งอกุศลกรรม

ส่วนการกระทำ ที่เป็นกุศลกรรม เช่น เป็นไปในกุศลกรรมบถ ๑๐ หรือบุญกิริยาวัตถุ แม้จะกระทำด้วยจิตอกุศล อย่างเช่น ทำทานเพราะหวังโน่นหวังนี่ ไม่ได้มีจิตคิดสละจริงๆ อย่างที่เรียกว่าทำบุญเอาหน้า หรืออย่างถือศีล ที่เป็นศีล ๕ ศีล ๘ แต่ด้วยความเห็นผิดว่าจะพ้นทุกข์ได้ โดยไม่ต้องใช้ปัญญา อย่างงี้ก็เป็นกุศลกรรม แม้จิตขณะทำจะเป็นอกุศลก็ตาม

แบบนี้หรือเปล่าครับ คือ พิจารณาโดยเจตนาที่เป็นกุศล หรืออกุศลอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องพิจารณาที่การกระทำด้วย ว่าเป็นไปในอย่างไหน แต่ถ้าทำด้วยจิตแบบนี้ ก็เป็นอกุศลกรรม หรือกุศลกรรมที่มีกำลังอ่อน ถูกต้องไหมครับ

เว้นเสียแต่ว่า การกระทำนั้นไม่ได้มีเจตนา เช่น ทำหนังสือธรรมะที่เป็นมิจฉาทิฏฐิหล่น ไม่ได้มีเจตนาให้ใครเลย แล้วมีคนหยิบไปอ่าน หรือ เหยียบมดตายโดยไม่ได้ตั้งใจ หรืออย่างในฝ่ายกุศลก็เช่น ทำเงินหล่น ไม่ก็ มีคนอื่นเอาเงินเราไปทำบุญทำทาน แต่เราไม่รู้อิโหน่อิเหน่อะไรด้วย อันนี้ก็ชื่อว่าไม่ได้บุญไม่ได้บาป อย่างนี้ถูกต้องไหมครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
paderm
วันที่ 28 ก.ย. 2555

เรียนความเห็นที่ 10 ครับ

กรรมมีเจตนาเป็นใหญ่เช่นเดิม ครับ

ซึ่งก็จะแสดงออกมาทางกาย วาจา แต่ที่สำคัญ จะต้องพิจารณาทีละขณะจิตตามที่กล่าวมา ขณะที่หวังดี มีเจตนาดี ขณะหนึ่ง แต่ขณะที่ให้สิ่งที่ผิด เจตนาดีผ่านไปแล้ว ให้สิ่งที่ผิดอีกขณะหนึ่ง เจตนาให้สิ่งที่ผิด เป็นอกุศล ครับ

ส่วน ถ้าไม่มีเจตนาให้สิ่งที่ผิด หนังสือที่ผิดหล่น คนอื่นเอาไปอ่าน ก็ไม่เป็นอกุศล ที่ให้สิ่งที่ผิด ครับ

กรรมชื่อว่ามีเจตนาเป็นสำคัญเช่นเดิม แต่ต้องพิจารณาทีละขณะจิต เพราะ จิตเกิดดับรวดเร็วมาก ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
jaturong
วันที่ 28 ก.ย. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
นิรมิต
วันที่ 28 ก.ย. 2555

กราบอนุโมทนาและขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูงครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
nong
วันที่ 1 ต.ค. 2555

เป็นหัวข้อที่น่าสนใจและน่าใส่ใจมาก เพราะเกิดขึ้นอยู่เสมอ ต้องระมัดระวังมากค่ะ

ขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ