ลักษณะศรัทธา หรือความเชื่อ ทางโลกกับทางธรรม

 
นิรมิต
วันที่  25 ก.ย. 2555
หมายเลข  21785
อ่าน  3,322

อยากทราบว่า ศรัทธา หรือ สัทธา ที่เป็นตัวสัทธาเจตสิกนั้น มีลักษณะอย่างไร ด้วยเหตุเท่าไหร่จึงจะเป็นสัทธาเจตสิก ต่างกับความเชื่อปรกติอย่างไร

เพราะทราบว่าสัทธาเจตสิก เป็นกุศลโสภณเจตสิก ซึ่ง ไอ้การเชื่อด้วยกุศลเนี่ย มีลักษณะอย่างไร อย่างไรถึงเป็นการเชื่อด้วยกุศลจิต

เพราะคำว่าเชื่อ มันก็มีลักษณะเหมือนกันหมด จะเชื่อเรื่องอะไรก็ตาม ทั้งทางโลกทางธรรม ลักษณะ "เชื่อ" ก็ไม่เห็นจะแตกต่างกันเลยอ่ะครับ มันก็ยังคงคือลักษณะของ อาการ "เชื่อ" ทั้งการเชื่อในความเห็นผิด หรือในความเห็นถูก ต่างๆ นานา ก็ไม่เห็นว่าลักษณะเชื่อจะแปลกจากกันเลย

ถ้าบอกว่าเชื่อด้วยปัญญา เชื่อในเหตุในผล แต่สัทธาเจตสิกก็เป็นโสภณสาธารณะ เกิดกับกุศลจิตทุกดวง ใช่ไหมครับ ซึ่งก็ไม่พร้อมกับปัญญาเจตสิกก็ได้ แล้วการเชื่อในเหตุ ในผล ก็เป็นทางโลกก็ได้ เพราะฉะนั้นการเชื่อด้วยกุศลนั้น เจตสิกตัวนี้ ต่างกับการเชื่อด้วยอกุศลอย่างไรครับ

แล้วอย่างผู้ที่เริ่มศึกษาพระธรรม ขณะนั้นที่เลื่อมใส อาจจะเลื่อมใสด้วยอกุศลจิต ด้วยโลภะ (อาจจะมีทิฏฐิด้วยก็ได้ เพราะไม่เข้าใจพระธรรม หรือโลภะไม่มีทิฏฐิก็ได้) ก็ได้ เพราะยังไม่เข้าใจพระธรรมใดๆ เลย ซึ่งขณะนั้นก็ต้องไม่มีสัทธาเจตสิกแน่ๆ

แต่ก็มีที่อธิบายว่า เชื่อในพระพุทธเจ้าแล้วจิตเป็นกุศลเสมอๆ อย่างนี้ก็ไม่น่าจะใช่ใช่ไหมครับเพราะงั้น เชื่ออย่างไร แบบไหน ด้วยเหตุเท่าไร จึงจะเป็นสัทธาเจตสิก ที่เป็นกุศลจิต จริงๆ แล้ว พระอรหันต์ ไม่ต้องเชื่อๆ อะไรใดๆ เพราะประจักษ์เองแล้ว ก็แจ้งด้วยปัญญา อย่างที่ท่านพระสารีบุตรท่านได้กล่าวไว้ แล้ว โสภณจิตของท่าน ที่เป็นตัวสัทธาเจตสิก ยังมีอยู่ไหม แล้วจะมีลักษณะอย่างไรครับ ในเมื่อท่านไม่ต้องเชื่อใดๆ แล้ว?


เช่นเดียวกับการเข้าใจก็เช่นกัน ผมยังไม่ค่อยเข้าใจว่า ลักษณะอาการ "เข้าใจ" ที่เป็นปัญญาเจตสิก กับการเข้าใจด้วยโลภะ ต่างกันอย่างไร เพราะลักษณะที่เข้าใจ ก็ยังคือลักษณะเข้าใจ เหมือนๆ กัน

ขออนุญาตรบกวนอธิบายโดยแยบคายให้เข้าใจทีครับผม


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 25 ก.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ศรัทธาเป็นสภาพธรรมที่ผ่องใส ศรัทธาเป็นปรมัตถธรรม เป็นเจตสิกฝ่ายดี คือเป็น
เจตสิก ที่เกิดร่วมกับโสภณจิตทุกประเภท ศรัทธาจึงเปรียบเหมือนสารส้มหรือแก้วมณีที่ทำให้น้ำใสสะอาดไม่ขุ่นมัว เพราะเหตุว่าเมื่อศรัทธาเจตสิกเกิดขึ้น อกุศลธรรมทั้งหลาย ซึ่งเปรียบเหมือนกับโคลนตม ย่อมจมลง คือเกิดขึ้นไม่ได้

ดังนั้น เมื่อศรัทธา เกิดขึ้น อกุศลธรรมประการต่างๆ จะเกิดร่วมไม่ได้เลย เพราะศรัทธาเป็นธรรมฝ่ายดีจะไม่เกิดร่วมกับอกุศลจิต

ลักษณะของศรัทธาในพระไตรปิฎกแสดงลักษณะไว้ ๒ อย่างคือ

๑. มีความเลื่อมใสเป็นลักษณะ

๒. มีการข่มนิวรณ์คือข่มกิเลสทำให้จิตผ่องใสเป็นลักษณะ

ศรัทธามีความเลื่อมใสเป็นลักษณะ ... จึงต้องมีวัตถุให้เลื่อมใส วัตถุนั้นต้องเป็นสิ่งที่ดี เช่น เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า เลื่อมใสในพระธรรม เลื่อมใสในพระสงฆ์

แต่การใช้คำว่า เลื่อมใสในสิ่งที่ไม่ดี เช่น เลื่อมใสในบุคคลที่เห็นผิด เลื่อมใสในความเชื่อ ความเห็นที่ผิด ไม่ใช่ลักษณะของศรัทธาเพราะว่า ความหมายศรัทธาประการที่สองคือ ต้องเป็นจิตที่ผ่องใสจากกิเลส แต่การใช้ภาษาว่าเลื่อมใส แต่ในสิ่งที่ผิดเป็นอกุศลไม่ใช่กุศล ดังนั้น จึงไม่ใช่ศรัทธา เพราะศรัทธาเจตสิก จะไม่เกิดกับจิตที่เป็นอกุศลเลยครับ

แสดงให้เห็นว่าลักษณะศรัทธามีสองประการตามที่กล่าวมา และต้องประกอบกัน เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น ขณะที่มีความเชื่อในแนวคิด ปรัชญาหรือในหลักการเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ไม่ได้หมายความว่ามีศรัทธาในเรื่องนั้น เพราะขณะนั้นจิตเป็นอกุศล คือพอใจ ติดข้องในความเห็นนั้นคือเป็นโลภะ ซึ่งศรัทธาจะไม่เกิดกับอกุศลจิตเลย

ในทำนองเดียวกัน หากมีศรัทธาในหนทางที่ผิด ในความเชื่อที่ผิด จะกล่าวว่ามีศรัทธาแต่ไม่มีปัญญาก็ไม่ได้ครับ เพราะขณะนั้นมีความเชื่อ พอใจในความเห็นที่ผิด จึงเป็นโลภะที่ประกอบด้วยความเห็นผิด เป็นอกุศลจิต

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 25 ก.ย. 2555

ความเชื่อ ก็คือการคิดนึก ที่เป็นจิต เจตสิก

ดังนั้นการคิดนึก ที่เป็นความเชื่อ ก็มีทั้งที่เป็น จิตที่เป็นกุศล หรือ อกุศล ความเชื่อ หรือแนวคิดก็มีทั้งที่เป็นกุศล และ อกุศล

ซึ่งแนวคิดที่เป็นกุศล คือ แนวคิดความเชื่อที่เป็นความเห็นถูก ที่ถูกต้อง กับ แนวคิดความเชื่อที่เป็นความเห็นผิด คือ ไม่ถูกต้อง ดังนั้น จึงมีความเชื่อใหญ่ อยู่ ๒ ประการ เท่านั้น ไม่ว่าจะมีความเชื่อในโลกนี้เท่าไหร่ก็ตาม ก็ไม่พ้นจากความเชื่อ หรือ แนวคิด คำสอน อยู่ ๒ ประการ คือ

ความเชื่อ ที่เป็นความเห็นถูก และ ความเชื่อที่เป็นความเห็นผิด แต่ เราก็ต้องตีความให้ถูก กับ ความเชื่อที่เป็นความเห็นถูก และ ความเชื่อที่เป็นความเห็นผิด ความเชื่อที่เป็นความเห็นผิด ก็เป็นเพียงความคิดที่ไม่ตรง และ ไม่ใช่ เชื่อด้วยศรัทธา ที่เป็น เจตสิกฝ่ายดี แต่เชื่อด้วย โลภมูลจิตที่ประกอบด้วยความเห็นผิดนั่นเองครับ

ส่วน ความเชื่อที่เป็นความเห็นถูก เชื่อเพราะปัญญาเกิดนะครับ คือ เป็นมหากุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา คือ เมื่อปัญญาเกิดรู้ความจริง ก็เชื่อด้วยศรัทธา ด้วยกุศลจิต เพราะมีปัญญาความเห็นถูกเกิดร่วมด้วยครับ

ดังนั้น ความเชื่อ แม้จะเป็นคำกลางๆ แต่ความเชื่อที่เกิดขึ้นนั้น ก็เกิดได้ด้วย จิต เจตสิกและแตกต่างกัน ตามปัญญาที่เกิด หรือความเห็นผิดที่เกิด ทำให้ มีความเชื่อที่เป็นความเห็นถูกและความเชื่อที่เป็นความเห็นผิดครับ

ซึ่งศรัทธาเป็นสภาพธรรมฝ่ายดีจะไม่เกิดกับอกุศลจิต จึงไม่อาจกล่าวได้เลยว่า ขณะนั้นมีศรัทธาแต่ขาดปัญญา แต่ขณะใดที่มีความเชื่อในหนทางที่ถูก อันเกิดจากความเข้าใจ ขณะนั้นมีศรัทธา เพราะเป็นจิตที่เป็นกุศล เมื่อกุศลเกิดย่อมมีศรัทธาเกิดร่วมด้วยเสมอครับ

เชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมที่นี่ ครับ

ความเชื่อกับความงมงาย

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 25 ก.ย. 2555

คำถามที่ว่า

แล้ว พระอรหันต์ ไม่ต้องเชื่อๆ อะไรใดๆ เพราะประจักษ์เองแล้ว ก็แจ้งด้วยปัญญา อย่างที่ท่านพระสารีบุตรท่านได้กล่าวไว้ แล้ว โสภณจิตของท่าน ที่เป็นตัวสัทธาเจตสิก ยังมีอยู่ไหม แล้วจะมีลักษณะอย่างไรครับ ในเมื่อท่านไม่ต้องเชื่อใดๆ แล้ว?


สัทธาเจตสิก เกิดกับจิตฝ่ายดีทุกประเภท เพราะฉะนั้น กิริยาจิตของพระอรหันต์ที่เป็นจิตฝ่ายดีก็มีอยู่ เช่น การให้ทาน การกล่าวธรรม เป็นต้น ของพระอรหันต์ ก็มีสัทธาเจตสิกเกิดร่วมด้วยในขณะนั้น แต่ สัทธาเจตสิก นี้ทำหน้าที่ คือ เป็นสภาพธรรมที่ทำให้จิตผ่องใส ดังได้อธิบายแล้วในความเห็นข้างต้นถึงลักษณะของศรัทธา ครับ

เหมือนกับ ปุถุชนให้ทาน ก็มีสัทธาเจตสิกใช่ไหม ครับ แต่ไม่ได้แสดงถึงลักษณะว่าเชื่ออะไรสักอย่างที่เป็นเชื่อพระรัตนตรัยในขณะที่ให้ทาน แต่แสดงถึงลักษณะที่ทำให้จิตผ่องใส เหมือนสารส้มที่กวนน้ำให้ใสได้ ครับ เช่นเดียวกับ จิตของพระอรหันต์ที่เป็นจิตฝ่ายดีที่เกิดขึ้น สัทธาเจตสิกเกิดขึ้นทำให้จิตผ่องใสในขณะนั้น เพราะปราศจากกิเลส ครับ


จากคำถามที่ว่า

เช่นเดียวกับการเข้าใจก็เช่นกัน ผมยังไม่ค่อยเข้าใจว่า ลักษณะอาการ "เข้าใจ" ที่เป็นปัญญาเจตสิก กับการเข้าใจด้วยโลภะ ต่างกันอย่างไร เพราะลักษณะที่เข้าใจ ก็ยังคือลักษณะเข้าใจ เหมือนๆ กัน


เข้าใจด้วยปัญญา จะต้องเป็นการเข้าใจตรงตามความเป็นจริงของสัจจะที่เป็นธรรมชาติ เช่น เข้าใจในเรื่องกรรมและกฎแห่งกรรม เข้าใจในเรื่องสภาพธรรม เป็นต้น แต่ เราใช้คำว่าเข้าใจ คือ คิดได้ถูกต้องตรงตามทฤษฎีในทางโลก คือ คิดออกว่า ๗ + ๗ เป็น ๑๔ ก็คิดออก คือ เข้าใจตามทฤษฎีนั้น แต่ไม่ตรงตามสัจจะความจริง ที่จะต้องเป็นกุศลจิตในขณะนั้นด้วย เพราะปัญญาเจตสิกจะต้องเกิดกับจิตที่ดีงาม

ขณะที่เข้าใจเรื่องราวทางโลก ขณะนั้นจิตเป็นอกุศล ไม่ใช่เข้าใจด้วยปัญญา แต่คิดออกด้วยโลภะ ที่คิดตามทฤษฎีทางโลก ครับ

เพราะฉะนั้นเราจะต้องแยกคำว่า คิดออก หรือ เข้าใจว่า คิดออก เข้าใจด้วยปัญญาที่เกิดกับกุศลจิตก็ได้ หรือ คิดออก เข้าใจตามเหตุผลของทฤษฎีทางโลก ด้วยโลภะ อกุศลจิตก็ได้

แต่ขณะที่เข้าใจด้วยปัญญา ละความไม่รู้ที่เป็นกิเลสชั่วขณะ แต่ ขณะที่เข้าใจด้วยโลภะ ด้วยอกุศล ไม่ได้ละกิเลส มี ความไม่รู้เป็นต้น เพราะมีความไม่รู้เกิดร่วมด้วย ที่ไม่รู้ตามความเป็นจริงของสภาพธรรมในขณะนั้น ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
นิรมิต
วันที่ 25 ก.ย. 2555

กราบขอบพระคุณ อ.ผเดิม ครับ

ขออนุญาตแสดงตามที่เริ่มเข้าใจใหม่ในตอนนี้นะครับ ผิดถูกประการใดรบกวนชี้แนะด้วยครับ

ก่อนอื่นก็ต้องละความเข้าใจเดิมๆ ของ ลักษณะอาการ "เชื่อ" กับ "เข้าใจ" ในความหมายที่เราๆ ใช้กันอยู่ออกก่อน

เอาที่ตัวลักษณะของสภาพธรรมะ สัทธา มีลักษณะ ๒ อย่างดั่งที่อาจารย์กล่าวมา คือ มีความเลื่อมใสเป็นลักษณะ และมีการทำจิตให้ผ่องใสเป็นลักษณะ

ก็คือ ความเลื่อมใสในที่นี้ หมายถึง ลักษณะของกุศลจิต ที่เลื่อมใสในกุศลธรรมทั้งหลาย คือเป็นลักษณะที่ ขอใช้คำว่า "น้อมไป" สู่กุศลทั้งหลาย ได้ไหมครับ แทนคำว่าเชื่อ

ส่วนมีการทำจิตให้ผ่องใสเป็นลักษณะ ก็เพราะว่า ตอนนั้นเป็นกุศลจิต และสัทธาเกิดกับกุศลจิตทุกดวง ก็ย่อมต้องทำให้จิตขณะนั้นผ่องใส สงบ เพราะไม่ใช่อกุศลจิตที่มีอุจทัจจะเจตสิกทำให้ขุ่นมัว ฟุ้งซ่าน ไม่สงบ จึงชื่อว่ามีลักษณะข่มนิวรณ์ให้จิตผ่องใส พูดอย่างนี้ได้ไหมครับ

แล้วทีนี้ ยังสงสัยจากข้อความที่ว่า

รูปปฺปมาณ เลื่อมใสศรัทธาเพราะเห็นรูปสมบัติสวยงาม

ลูขปฺปมาณ เลื่อมใสศรัทธาเพราะเห็นความประพฤติเรียบร้อยเคร่งในธรรมวินัย

โฆสฺปปมาณ เลื่อมใสศรัทธาเพราะได้ฟังเสียงอันไพเราะ

ธมฺมปฺปมาณ เลื่อมใสศรัทธาเพราะได้สดับฟังธรรมของผู้ที่ฉลาดในการแสดงสัทธา

เลื่อมใสในรูปสมบัติสวยงาม ในความประพฤติดีในธรรมวินัย ในเสียงไพเราะเหล่านี้ เป็นสัทธาเจตสิกในกุศลจิตอย่างไรครับ เพราะเหมือนมันจะเป็นโลภะมากกว่า ไม่ใช่เหรอครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
paderm
วันที่ 25 ก.ย. 2555

เรียนความเห็นที่ 4 ครับ

จากที่ คุณ นิรมิตกล่าวไว้ข้างต้นก็ถูกต้องครับ

ส่วนประเด็นที่ถามเพิ่มเติมในเรื่องความเลื่อมใส เช่น เลื่อมใสในรูป ใน เสียง เป็นต้น เลื่อมใสในที่นี้ หมายถึงอะไร

เลื่อมใส จริๆ แล้วเป็นคำกลางๆ ซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งสองความหมาย คือ เลื่อมใสในสิ่งที่ผิด และ เลื่อมใสในสิ่งที่ถูก ดังข้อความในพระไตรปิฎกที่แสดงถึง การเลื่อมใส ในสิ่งที่ผิด มีโทษ การเลื่อมใสในสิ่งที่ถูกมีคุณ

ดังนั้น เมื่อกล่าวถึงความเลื่อมใส ก็คือ การเชื่อถือในสิ่งเหล่านั้น ซึ่ง การเชื่อถือในสิ่งเหล่านั้น ที่เป็นความเลื่อมใส ก็เป็นความเชื่อถือด้วยจิตที่เป็นอกุศลก็ได้ ด้วยจิตที่เป็นกุศล ก็ได้ ครับ

เพราะฉะนั้น คนที่มีความเลื่อมใส เชื่อถือ ก็เลื่อมใส เชื่อถือในบุคคลนั้นด้วยเหตุแห่งรูปก็ได้ เพราะ มีรูปร่างหน้าตาดี น่าเชื่อถือ ก็เป็นความเลื่อมใสด้วยอกุศลจิต ไม่ใช่ด้วยศรัทธา

บางคนก็เลื่อมใสเพราะถือประมาณ ในเสียง คือ เป็นผู้ที่มีชื่อเสียง มีคนยกย่อง จึงเลื่อมใส ก็ด้วยอำนาจของอกุศลจิต ครับ

ส่วนประการสุดท้าย ที่เลื่อมใสเพราะถือธรรมเป็นประมาณ ก็เชื่อถือเลื่อมใส ในคุณธรรม ธรรมเป็นสำคัญ ว่าเป็นผู้มีคุณความดี จึงเลื่อใสในบุคคลนั้น ซึ่ง แสนคน จะมีสักคนเดียว ที่เลื่อมใส เชื่อถือด้วยการถือเอาธรรมเป็นประมาณ ซึ่งการเลื่อมใส เชื่อถือด้วยการถือเอาธรรมเป็นประมาณ ก็ต้องรู้จักธรรมฝ่ายดี และ รู้คุณความดีตามความเป็นจริงด้วยปัญญา จึงเป็นการเลื่อมใสที่เกิดจากกุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา

เพราะฉะนั้น คำว่า เลื่อมใส จึงเป็นคำกลางๆ ที่ใช้กัน ซึ่งเป็นได้ทั้งกุศล อกุศลก็ได้ อันหมายถึง ความเชื่อถือในสิ่งนั้นด้วยกุศล หรือ อกุศล ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
นิรมิต
วันที่ 25 ก.ย. 2555

แล้วอย่างปัญญาเนี่ยครับ

บางทีฟังธรรม ก็คิดตาม คิดออก เข้าใจธรรม แต่ด้วยโลภะได้ไหม ด้วยอกุศลได้ไหม เพราะบางครั้งฟังธรรมก็ไม่ได้รู้สึกว่าจิตผ่องใส แต่ก็มีการคิดพิจารณาตามพระธรรม ก็มีการเข้าใจขึ้นบ้าง ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเข้าใจถูกหรือเข้าใจผิด พอกลับมาทบทวนก็ทราบว่า ยังไม่ได้เข้าใจ แต่ไอ้ตอนเข้าใจ มันก็รู้สึกว่าเข้าใจ แล้วถ้าเป็นปัญญาจริงๆ จะต้องไม่สงสัยภายหลังเลยเหรอครับ? แบบ ไม่สงสัยอีกเลย ไม่ว่าจะยังไม่ได้ดับวิจิกิจฉาก็ตาม เหรอครับ? ปัญญาขั้นไหนที่วิจิกิจฉายังกลับไปสงสัยได้ ขั้นไหนวิจิกิจฉากลับไปสงสัยไม่ได้

เข้าใจว่า สุตตมยปัญญา กับจินตามยปัญญา วิจิกิจฉายังเกิดสงสัยได้ แต่ถ้าถึงขั้นภาวนามยปัญญา กับปัญญาที่เกิดในวิปัสสนาญาณ วิจิกิจฉาสงสัยอีกไม่ได้ ถูกต้องไหมครับ

แล้วอย่างคนที่เคยได้นามรูปปริจเฉทญาณ ในอดีตชาติ มาปัจจุบันชาติก็ลืมไปแล้ว จำไม่ได้ด้วยว้ำลักษณะนั้นเป็นอย่างไร ก็ยังสงสัยได้อยู่เลยนี่ครับ ว่าลักษณะของนามรูปปริจเฉทญาณนั้นมีลักษณะอย่างไร ไม่ใช่หรือครับ?

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
khampan.a
วันที่ 26 ก.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สำคัญที่ความเข้าใจอย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริง ไม่ว่าจะได้ยินคำอะไร สำคัญที่ความเข้าใจ และท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ก็ได้กล่าวเตือนอยู่เสมอ เพื่อความเป็นผู้ไม่ประมาทในการศึกษาพระธรรม ว่า "ตั้งแต่เกิดจนตายพูดคำที่ไม่รู้จักหรือเปล่า?"

และ "จะหาความละเอียดของคำที่ได้ยินได้ฟัง จากที่ไหน ถ้าไม่ใช่จากพระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง"

จากประเด็นคำถาม มีคำอยู่ ๒ คำ คือ ศรัทธา กับ คำว่า เลื่อมใส หรือ ความเชื่อ ควรที่จะได้พิจารณาว่า ศรัทธา เป็นธรรมฝ่ายดีเท่านั้น เป็นเจตสิกธรรมที่เกิดร่วมกับจิตที่ดีงาม คือจิตที่ไม่มีกิเลสเกิดร่วมด้วย ศรัทธาเป็นสภาพธรรมที่ผ่องใส ไม่ขุ่นมัว เป็นไปในทาน เป็นไปในศีล เป็นไปในภาวนา จะไม่เกิดร่วมกับอกุศลจิต (ซึ่งแปลแล้วก็แปลได้ทั้งความเชื่อ ความเลื่อมใส ในทางธรรม) แต่ถ้ากล่าวถึงความเลื่อมใส ความเลื่อมใสแล้ว เป็นไปได้ทั้งที่เป็นกุศล และ เป็นอกุศล นี้คือ สิ่งที่ควรจะได้พิจารณา ถ้ามีความเชื่อ ความเลื่อมใส ในสิ่งที่ดี ในสิ่งที่ควรเลื่อมใส เช่น ในพระรัตนตรัย กล่าวคือ พระพุทธเจ้า พระธรรม และพระอริยสงฆ์ นี้คือ ความเชื่อ ความเลื่อมใส ที่เป็นกุศล เป็นธรรมที่งาม แสดงถึงสภาพจิตที่ดีงามเกิดขึ้นเป็นไปในขณะนั้น

แต่ถ้าเชื่อหรือเลื่อมใส ในสิ่งผิดๆ เป็นไปกับด้วยอกุศล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ อวิชชา ความไม่รู้ โลภะ ความติดข้อง และมิจฉาทิฏฐิ (ความเห็นผิด) อย่างนี้ ไม่ใช่กุศลอย่างแน่นอน แต่เป็นอกุศลธรรม

ในพระไตรปิฎก แสดงตัวอย่างไว้อย่างชัดเจน คือ มีความเลื่อมใสในความเห็นผิดของพวกอัญญเดียรถีย์ทั้งหลาย นี้คือ ตัวอย่างของความเชื่อ ความเลื่อมใส ที่เป็นอกุศล

ขอกล่าวถึงความประเสริฐของศรัทธาในทางพระพุทธศาสนา ถ้าไม่มีศรัทธา กุศลธรรมทั้งหลาย ย่อมจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าเทียบเป็นชั้นๆ แล้ว ทรัพย์ของชาวโลก ซึ่งเป็นแก้วแหวนเงินทอง ข้าทาสบริวารทั้งหลาย ไม่ใช่ทรัพย์ที่ประเสริฐ เพราะว่าสิ่งเหล่านี้ ไม่ได้ทำให้พ้นจากทุกข์ และไม่ได้นำความสุขมาให้อย่างแท้จริง

ยกตัวอย่างเช่น คนที่มีเงินมากๆ ก็เป็นทุกข์มากเพราะเงิน แสดงว่าทรัพย์นั้นไม่ได้ประเสริฐ ทรัพย์ที่เป็นเงินนั้นไม่ทำให้เกิดในภพภูมิที่ดีได้ เพราะฉะนั้นทรัพย์เหล่านั้นนำมาแต่ความทุกข์ ความกังวลใจ ในปัจจุบันนี้มีทรัพย์มากเท่าไรก็มีศัตรูมากเท่านั้น เพราะมีทรัพย์ ก็มีอำนาจ มีข้าศึกมาก เพราะฉะนั้นทรัพย์ของชาวโลก จึงไม่ประเสริฐเลย, ส่วนทรัพย์ในทางธรรมมีศรัทธาเป็นต้น ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยกเอาศรัทธาเป็นประธาน ซึ่งก็รวมทั้งศีลสุตะ (การสดับตรับฟังพระธรรม) จาคะ (การสละ) และปัญญาด้วย ทรัพย์เหล่านี้โจรก็ลักไปไม่ได้ มีแต่จะติดตามเจ้าของทรัพย์ไปได้เท่านั้น

เพราะฉะนั้นความประเสริฐของศรัทธาจึงมากกว่าทรัพย์ทั่วๆ ไปของชาวโลก จึงเห็นได้ว่า อริยทรัพย์มีศรัทธาเป็นต้น ทำให้พ้นจากอบายภูมิ ทำให้พ้นจากทุกข์ และพ้นจากวัฏฏะได้ ทำให้ถึงความเป็นพระอรหันต์ได้ นี้คือความประเสริฐของทรัพย์ คือ ศรัทธาเพราะเหตุว่า มีศรัทธา จึงฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา และย่อมจะได้รับประโยชน์จากพระธรรมตามกำลังปัญญาของแต่ละบุคคล ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
paderm
วันที่ 26 ก.ย. 2555
อ้างอิงจาก : หัวข้อ 21785 ความคิดเห็นที่ 6 โดย นิรมิต

แล้วอย่างปัญญาเนี่ยครับ

บางทีฟังธรรม ก็คิดตาม คิดออก เข้าใจธรรม แต่ด้วยโลภะได้ไหม ด้วยอกุศลได้ไหม เพราะบางครั้งฟังธรรมก็ไม่ได้รู้สึกว่าจิตผ่องใส แต่ก็มีการคิดพิจารณาตามพระธรรม ก็มีการเข้าใจขึ้นบ้าง ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเข้าใจถูกหรือเข้าใจผิด พอกลับมาทบทวนก็ทราบว่ายังไม่ได้เข้าใจ แต่ไอ้ตอนเข้าใจ มันก็รู้สึกว่าเข้าใจ แล้วถ้าเป็นปัญญาจริงๆ จะต้องไม่สงสัยภายหลังเลยเหรอครับ? แบบ ไม่สงสัยอีกเลย ไม่ว่าจะยังไม่ได้ดับวิจิกิจฉาก็ตาม เหรอครับ? ปัญญาขั้นไหนที่วิจิกิจฉายังกลับไปสงสัยได้ ขั้นไหนวิจิกิจฉากลับไปสงสัยไม่ได้

เข้าใจว่า สุตตมยปัญญา กับจินตามยปัญญา วิจิกิจฉายังเกิดสงสัยได้ แต่ถ้าถึงขั้นภาวนามยปัญญา กับปัญญาที่เกิดในวิปัสสนาญาณ วิจิกิจฉาสงสัยอีกไม่ได้ ถูกต้องไหมครับ

แล้วอย่างคนที่เคยได้นามรูปปริจเฉทญาณ ในอดีตชาติ มาปัจจุบันชาติก็ลืมไปแล้ว จำไม่ได้ด้วยว้ำลักษณะนั้นเป็นอย่างไร ก็ยังสงสัยได้อยู่เลยนี่ครับ ว่าลักษณะของนามรูปปริจเฉทญาณนั้นมีลักษณะอย่างไร ไม่ใช่หรือครับ?

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

บางทีฟังธรรม ก็คิดตาม คิดออก เข้าใจธรรม แต่ด้วยโลภะได้ไหม ด้วยอกุศลได้ไหม เพราะบางครั้งฟังธรรมก็ไม่ได้รู้สึกว่าจิตผ่องใส แต่ก็มีการคิดพิจารณาตามพระธรรม ก็มีการเข้าใจขึ้นบ้าง ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเข้าใจถูกหรือเข้าใจผิด พอกลับมาทบทวนก็ทราบว่ายังไม่ได้เข้าใจ แต่ไอ้ตอนเข้าใจ มันก็รู้สึกว่าเข้าใจ

- สำคัญว่าเข้าใจได้ ก็ใส่ชื่อเอาเองได้ครับว่าเข้าใจ แต่อาจจะไม่เข้าใจถูกต้องก็ได้ แต่สำคัญว่าเข้าใจ ก็เป็นอกุศลจิตในขณะนั้น ที่ไม่ใช่การเข้าใจด้วยปัญญา

แล้วถ้าเป็นปัญญาจริงๆ จะต้องไม่สงสัยภายหลังเลยเหรอครับ? แบบ ไม่สงสัยอีกเลย ไม่ว่าจะยังไม่ได้ดับวิจิกิจฉาก็ตาม เหรอครับ? ปัญญาขั้นไหนที่วิจิกิจฉายังกลับไปสงสัยได้ ขั้นไหนวิจิกิจฉากลับไปสงสัยไม่ได้

- ยังสงสัยได้เป็นธรรมดา ครับ และพระโสดาบันเท่านั้ที่จะละวิจิกิจฉาได้ ครับ

เข้าใจว่า สุตตมยปัญญา กับจินตามยปัญญา วิจิกิจฉายังเกิดสงสัยได้ แต่ถ้าถึงขั้นภาวนามยปัญญา กับปัญญาที่เกิดในวิปัสสนาญาณ วิจิกิจฉาสงสัยอีกไม่ได้ ถูกต้องไหมครับ

- ไม่สงสัยในเฉพาะวิปัสสนาญาณในระดับที่ตนเองได้ ครับ ในขณะนั้น แต่เพราะปัญญายังไม่คมกล้ามากพอ ก็ยังทำให้เกิดความสงสัยในขณะอื่นๆ ได้

แล้วอย่างคนที่เคยได้นามรูปปริจเฉทญาณ ในอดีตชาติ มาปัจจุบันชาติก็ลืมไปแล้ว จำไม่ได้ด้วยว้ำลักษณะนั้นเป็นอย่างไร ก็ยังสงสัยได้อยู่เลยนี่ครับ ว่าลักษณะของนามรูปปริจเฉทญาณนั้นมีลักษณะอย่างไร ไม่ใช่หรือครับ?

- สัญญาเจตสิกที่เคยจำลักษณะของวิปัสสนาญาณเกิดแล้ว ไม่เปลี่ยนลักษณะ ไม่หายไปไหน เพียงแต่ไม่ได้ปัจจัยให้ วิปัสสนาญาณเกิดอีกครั้ง เมื่อยังไม่ได้เหตุปัจจัย ย่อมนึกไม่ออก ได้ในสภาพธรรมที่ได้ประจักษ์ ก็ยังเกิดความสงสัยได้บ้างเป็นธรรมดา แต่เมื่อเหตุปัจจัยพร้อม ก็สามารถเกิดปัญญารู้ลักษณะที่เคยประจักษ์ได้ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
jaturong
วันที่ 28 ก.ย. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
นิรมิต
วันที่ 29 ก.ย. 2555

กราบขอบพระคุณและอนุโมทนาสาธุ อ.ผเดิม และ อ.คำปั่น อย่างยิ่งครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
nong
วันที่ 1 ต.ค. 2555

ชัดเจนและเป็นประโยชน์มากค่ะ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
nopwong
วันที่ 7 ก.ย. 2557

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
Avika
วันที่ 8 มิ.ย. 2564

อนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ