เลือกให้ทาน

 
emancipation
วันที่  4 ก.ย. 2555
หมายเลข  21671
อ่าน  3,783

การให้ทานควรจะเลือกการให้ทานไหมครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 6 ก.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมพระพุทธเจ้าละเอียดลึกซึ้ง แม้แต่กุศลในขั้นทาน ครับ

ดังข้อความจากพระไตรปิฎกที่ว่า

[เล่มที่ 24] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 178

ข้าแต่พระองค์ผู้ไม่มีทุกข์ ฯลฯ ทานที่ให้แก่บุคคลผู้มีธรรมอันได้แล้ว เป็นการดี อนึ่ง ทานที่บุคคลเลือกให้ยิ่ง เป็นการดี ทานที่เลือกให้พระสุคตทรงสรรเสริญแล้ว.

การให้ทาน โดยการเลือกให้เป็นการดี พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญ จะต้องเข้าใจความหมาย และ ความละเอียดว่า ทรงมุ่งหมายอยย่างไร ครับ

ทานที่บุคคลเลือกให้ การเลือกให้ มี ๒ อย่าง คือ

๑. เลือกทักขิณา (ของสำหรับทำบุญ)

๒. เลือกพระทักขิไณยบุคคล (บุคคลผู้ควรรับของทำบุญ)

เลือกทักขิณา (ของสำหรับทำบุญ) หมายถึง การที่นำของที่ไม่ดี เลือกแต่ของที่ดีๆ ให้กับผู้รับ ชื่อว่า การเลือกของทำบุญ ซึ่งขณะนั้น จิตประณีตด้วยการพิจารณาเลือกของที่เหมาะสมและควร พระพุทธเจ้าจึงทรงสรรเสริญการเลือกให้ของทำบุญ ครับ

เลือกพระทักขิไณยบุคคล (บุคคลผู้ควรรับของทำบุญ) หมายถึงการเว้นบุคคลที่ประพฤติไม่ดี นอกศาสนา และเลือกให้บุคคลประพฤติปฏิบัติที่ดี มีคุณธรรม

ดังนั้น การเลือกให้ในบุคคลที่เหมาะสม ชื่อว่า การเลือกให้ ที่พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญ ดังเช่น การหว่านพืช ย่อมเลือก หว่านในที่ดี ไม่หว่านในนาที่แข็ง เลว ไม่ดี แต่ไม่ใช่ด้วยการหวังผลของบุญที่อยากได้อานิสงส์มากๆ จึงเลือกให้คนนี้ไม่ให้คนนี้ แต่ความหมาย คือ ควรให้บุคคลที่เหมาะสมก่อน เลือกให้คนที่ดี มีคุณธรรมก่อน แล้วก็สามารถให้บุคคลอื่นๆ ได้ ครับ

ซึ่งพวกอัญญเดียรถีย์ ในสมัยพุทธกาล เสื่อมจากลาภ สักการะ จึงกล่าวหาพระพุทธเจ้าว่า พระพุทธเจ้าตรัสว่า ให้เราหรือสาวก มีผลมาก ไม่ควรให้กับคนอื่นๆ เพราะ อ้างพระพุทธพจน์ และ เรื่องการเลือกให้ นี่แสดงให้เห็นว่า เป็นผู้ไม่ละเอียด และ อัญญเดียรถีย์ มุ่งโจมตี ครับ

พระเจ้าปเสนทิโกศล จึงทูลถามเรื่องนี้ ว่า พระองค์ตรัสห้ามว่าไม่ควรให้คนอื่น ให้เฉพาะเรา หรือ สาวกที่มีคุณธรรมเท่านั้นใช่ไหม พระพุทธเจ้าตรัสว่า จิตเลื่อมใสในที่ใด ควรให้ในที่นั้น นี่แสดงให้เห็นครับว่า พระองค์ไม่ได้ห้ามให้ทานกับใครเลย แล้วแต่การสะสมของแต่ละบุคคล ถ้ามีศรัทธากับใคร บุคคลใด ขณะไหน ก็ให้ ณ ที่นั้น ตามความเลื่อมใสของผู้ให้ เพียงแต่ว่า ผู้มีปัญญา ย่อมเลือกให้ ในเขตบุญ ที่ดีก่อนแล้ว จึงให้ทั่วไปกับทุกๆ คน เพราะเคารพในสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า ในผู้มีคุณธรรม จึงให้ผู้นั้นก่อนครับ และก็ให้ทาน ไม่ได้จำกัดบุคคลต่อไปครับ

ดังนั้นการเลือกให้ด้วยโลภะ ที่อยากได้อานิสงส์ พระพุทธเจ้าไม่สรรเสริญ แต่การให้ ด้วยการเลือกให้อาหารที่เหมาะสม และการเลือกให้ ในบุคคลที่ควรรับ โดยให้ผู้นั้นก่อน เพราะ เคารพในคุณธรรม และ เป็นเจตนาที่ดี โดยที่ไม่ใช่โลภะ พระพุทธเจ้า ทรงสรรเสริญ ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

เชิญคลิกอ่านที่นี่ ครับ

เหตุผลในการเลือกให้ทาน [สคาถวรรค]

สัปปุริสทาน [ปฐมสัปปุริสสูตร]

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 6 ก.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ถ้าทานกุศลในชีวิตประจำวัน ไม่เกิดเลย จะดำเนินไปถึงการดับกิเลสได้อย่างไร

การเจริญกุศล ก็ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่น แต่เพื่อขัดเกลากิเลส กุศลเป็นสภาพธรรมฝ่ายดี ควรที่จะอบรมเจริญในชีวิตประจำวัน ขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นจะเบาสบาย ผ่องใส ซึ่งจะตรงกันข้ามกับขณะที่จิตเป็นอกุศลอย่างสิ้นเชิง

แม้ในขณะที่ให้ทาน ไม่ใช่ให้เพื่อหวังผลเป็นสิ่งตอบแทนจากการให้ เป็นต้น แต่ เพื่อขัดเกลากิเลสของตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ ความตระหนี่ ถ้าเป็นผู้ได้ศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม ก็จะทำให้เห็นอกุศลที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง แล้วเริ่มขัดเกลากิเลสของตนเอง และเป็นผู้ที่เข้าใจในเหตุในผลมากยิ่งขึ้น

ทั้งหมดย่อมเป็นเพราะได้ศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม ปัญญาเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังมีในขณะนั้น การเจริญกุศลเพื่อหวังสิ่งหนึ่งสิ่งใดตอบแทนนั้น ไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง ถ้าเริ่มเข้าใจพระธรรมไปตามลำดับแล้ว การเจริญกุศลทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นใน

ขั้นของทาน (การให้ สละวัตถุสิ่งของ เพื่อประโยชน์สุขของบุคคลอื่น อันเป็นการสละซึ่งความตระหนี่)

ขั้นของศีล (งดเว้นจากทุจริตกรรมประการต่างๆ และประพฤติในสิ่งทีดีงาม)

ขั้นของภาวนา (การอบรมเจริญความสงบของจิต และการอบรมเจริญปัญญาที่ประจักษ์แจ้งในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง)

ย่อมเป็นไปเพื่อการขัดเกลากิเลสทั้งสิ้น ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 7 ก.ย. 2555

พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญการเลือกให้ทาน ให้กับคนที่มีคุณธรรม เช่น พระอริยบุคคล หรือ ผู้มีศีล ทานนั้นจะมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
peem
วันที่ 8 พ.ย. 2556

ขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ