คดตั้งแต่ต้น ปลายจะตรงได้อย่างไร

 
เมตตา
วันที่  3 ก.ย. 2555
หมายเลข  21659
อ่าน  1,289

ทุกคนชอบคำจริง ชอบความจริง ทั้งตนเอง และผู้อื่นก็ย่อมเป็นเช่นนั้น เมื่อตนเองไม่ชอบคำเท็จ ชอบแต่คำจริง ก็ไม่ควรที่จะกล่าวคำเท็จและควรพูดแต่คำจริงเท่านั้น การกล่าวคำเท็จ ก็มาจากจิตที่เป็นอกุศล เพราะถ้าไม่มีกิเลสอกุศลที่สะสมมา จะพูดเท็จไม่ได้เลย

ความเป็นผู้ตรง เป็นสิ่งสำคัญ แม้แต่การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมก็จะขาดความเป็นผู้ตรงไม่ได้ว่า ศึกษาเพื่ออะไร เพื่อความเข้าใจธรรม เมื่อรู้ว่ายังไม่เข้าใจ ก็เป็นผู้ตรงที่รู้ว่ายังมีความไม่รู้อีกมากมายแค่ไหน ความเป็นผู้ตรงจึงเป็นเหตุให้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม และพิจารณาธรรมด้วยความจริงใจที่จะเพียงเข้าใจความจริง ไม่ใช่เพื่อให้มีความรู้ในพระธรรมมากๆ เพื่อให้คนอื่นรู้ว่าเรารู้มาก หรือเพื่ออยากให้เราเป็นคนดี เพื่อกระทำกุศล เพราะนั่นก็ยังเป็นเรา แต่ฟังเพื่อเข้าใจถูก เห็นถูกในความจริงที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ ทุกอย่างเป็นธรรม ไม่ใช่เรา

ฟังพระธรรมเพื่อเข้าใจให้ถูกต้อง แล้วน้อมประพฤติปฏิบัติเพื่อละความไม่รู้ เพื่อขัดเกลากิเลสของตนเอง ถ้าไม่มีความเป็นผู้ตรงเช่นนี้ ย่อมไม่ได้สาระจากพระธรรม เพราะเป็นผู้คด คือไม่ตรงตั้งแต่ต้นนั่นเอง

...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ อย่างยิ่งค่ะ...


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 3 ก.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เมื่อว่าโดยสัจจะ ความจริง คือ สภาพธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไป ของ จิต เจตสิก

ดังนั้น ความตรง และ ความไม่ตรงที่คด ก็ไม่พ้นจาก จิต เจตสิก ที่เป็นนามธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไป ดังนั้น ขณะใดที่ไม่ตรง คือ คด ขณะนั้น เป็นอกุศลจิต อกุศลจิตเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ไม่ว่าจะเป็นทางกาย วาจาและใจ ขณะนั้น ชื่อว่าคดแล้ว ดังเช่น คันธนูที่โก่งคด ไม่ตรง อกุศลที่เกิดขึ้นก็คด ไม่ตรงตามความเป็นจริงเช่นกัน ครับ แต่ขณะใดที่เป็นกุศล ขณะนั้น ชื่อว่า ตรง ไม่คดด้วยอกุศลที่เกิดขึ้น การเจริญอบรมปัญญาเพื่อดับกิเลส จึงจะต้องเป็นผู้ที่ตรง ตรงต่อสภาพธรรม ว่า อกุศลเป็นอกุศล กุศลเป็นกุศล เป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา และ ขณะใดที่รู้ความจริงของสภาพธรรม ขณะนั้น กำลังดำเนินหนทางที่ตรง คือ สติปัฏฐาน ๔ ที่จะถึงการบรรลุ มรรค ผลนิพพาน ครับ

ดังนั้น จึงเป็นธรรมดาที่ยังมีกิเลส ยังมีอกุศล ยังเป็นผู้ไม่ตรงทางกาย วาจาและใจ เป็นปกติ แต่หนทางการอบรบให้เป็นผู้ที่ตรงยิ่งขึ้น คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ขณะที่เข้าใจ ก็ค่อยๆ ตรงทีละน้อย เหมือนค่อยๆ ดัดไม้ที่โก่งงอ แต่ต้องใช้เวลายาวนานกว่าจะเป็นผู้ตรงที่สุด คือ ถึงความเป็นพระอรหันต์ ครับ

ความเข้าใจพระธรรมที่เกิดขึ้น จะเป็นเครื่องดัดศรให้ตรง ดัดอุปนิสัย ที่เต็มไปด้วยกิเลส ให้ตรงด้วยปัญญา ครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่

ชื่อว่าเป็นผู้ที่ตรงต่อธรรม

ความเป็นผู้ซื่อตรง และ อ่อนโยน

ตรง

ผู้ตรง ... ไม่ลืมพิจารณาตนเอง

ขออนุโมทนาพี่เมตตาที่นำธรรมดีๆ มาเตือนใจ และ ขออนุโมทนาทุกๆ ท่าน ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
daris
วันที่ 3 ก.ย. 2555

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
เข้าใจ
วันที่ 3 ก.ย. 2555

กราบขอบพระคุณ และกราบอนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 3 ก.ย. 2555

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาพี่เมตตาและอาจารย์ผเดิม มากครับ

เห็นได้ถึงความสำคัญของ "คำจริง" ได้ดีทีเดียว

มีอยู่คราวหนึ่งผมได้กราบเรียนถามท่านอาจารย์สุจินต์ว่า

"เหตุใดพระโพธิสัตว์ ท่านไม่ล่วงศีลข้อ ๔ เลย แต่ศีลข้ออื่นท่านยังอาจมีพร่อง

หรือล่วงได้ในบ้างคราว"

ท่านอาจารย์ถามกลับว่า "แล้วปกติผมอยากรู้ความจริงหรือเปล่า?"

ทำให้ผมย้อนคิดได้เลยว่า พระโพธิสัตว์ท่านบำเพ็ญบารมีก็เพื่อที่จะรู้ความจริง

เมื่อท่านไม่พูดจริงเสียแล้ว ท่านก็คงไม่มีโอกาสที่จะได้รู้สัจธรรมเพียงพอในระดับที่

สามารถจะสงเคราะห์สัตว์โลกได้แน่นอน

แม้เราเองจะไม่ได้ปรารภในพระโพธิญาณก็ตาม แต่เมื่อปรารภที่จะรู้ความจริงแล้ว

ศีลข้อมุสานี้ก็มีความสำคัญยิ่งทีเดียวนะครับ

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
เมตตา
วันที่ 3 ก.ย. 2555

มีอยู่คราวหนึ่งผมได้กราบเรียนถามท่านอาจารย์สุจินต์ว่า

"เหตุใดพระโพธิสัตว์ ท่านไม่ล่วงศีลข้อ ๔ เลย แต่ศีลข้ออื่นท่านยังอาจมีพร่อง

หรือล่วงได้ในบ้างคราว"

ท่านอาจารย์ถามกลับว่า "แล้วปกติผมอยากรู้ความจริงหรือเปล่า?"

ทำให้ผมย้อนคิดได้เลยว่า พระโพธิสัตว์ท่านบำเพ็ญบารมีก็เพื่อที่จะรู้ความจริง

...ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของ อ.ผเดิม คุณผู้ร่วมเดินทาง และ ทุกๆ ท่านด้วยค่ะ...

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
pat_jesty
วันที่ 3 ก.ย. 2555

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาพี่เมตตา และทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
nong
วันที่ 4 ก.ย. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
rrebs10576
วันที่ 5 ก.ย. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ