สักกายทิฏฐิ ๒๐

 
นาวาเอกทองย้อย
วันที่  21 มิ.ย. 2555
หมายเลข  21287
อ่าน  2,350

สมาชิกวงสนทนาธรรมตั้งปัญหาขึ้นมาว่า สักกายทิฏฐิมีถึง ๒๐ อย่าง มีอะไรบ้าง และที่ว่า โสดาปัตติมรรคตัดสักกายทิฏฐิได้นั้น ตัดได้ทั้ง ๒๐ หรือประการใด

ขอบพระคุณครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 22 มิ.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สิ่งที่มีจริงๆ เป็นธรรม และสิ่งที่มีจริงนั้น มีจริงในชีวิตประจำวัน ทุกขณะมีแต่ธรรมเท่านั้นที่เกิดขึ้นเป็นไป หาความเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดไม่ได้ แต่เพราะยังไม่ได้ดับความเห็นผิดได้อย่างเด็ดขาด ยังมีพืชเชื้อของความเห็นผิดอยู่ ความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล (สักกายทิฏฐิ) ก็ย่อมเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ เป็นธรรมที่มีจริง เป็นอกุศลธรรมที่เห็นคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงของสภาพธรรมที่เป็นจริง และที่ตั้งที่จะให้ทิฏฐิประเภทนี้เกิดขึ้น ก็ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่มีจริงที่เกิดดับในขณะนี้ ที่เป็นขันธ์ ๕ ได้แก่รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์และวิญญาณขันธ์ ซึ่งล้วนเป็นธรรมที่มีจริงในขณะนี้

ความเห็นผิดที่ยึดถือในขันธ์ ๕ แต่ละขันธ์ๆ อย่างละ ๔ จึงรวมกันเป็น สักกายทิฏฐิ ๒๐ เช่น เห็นรูปเป็นตน เห็นตนมีรูป เห็นรูปในตน เห็นตนในรูป เป็นต้น

ตราบใดก็ตามที่ยังไม่ได้เป็นพระอริยบุคคล ก็ยังไม่สามารถดับความเห็นผิดใดๆ ได้เลย แต่ความเห็นผิดทุกประการจะถูกดับได้อย่างหมดสิ้น เมื่อรู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระโสดาบัน พระโสดาบันดับความเห็นผิดได้อย่างหมดสิ้น สักกายทิฏฐิ ซึ่งเป็นความเห็นผิดที่ยึดถืดสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน สัตว์ บุคคล ก็ดับได้ ไม่เกิดขึ้นอีกเลย

พระโสดาบันไม่มีความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน สัตว์ บุคคล กิเลสที่มี ที่เคยสะสมมาอย่างเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ ก็จะสามารถถูกดับได้ตามลำดับมรรค อย่างเช่น ความเห็นผิดทุกประเภท ดับได้ด้วยโสดาปัตติมรรค กิเลสใดๆ ที่ดับได้แล้ว ก็จะไม่เกิดขึ้นอีกเลยในสังสารวัฏฏ์ หนทางที่จะเป็นไปเพื่อดับกิเลส ก็คือ หนทางแห่งการอบรมเจริญปัญญา ครับ

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่หัวข้อดังต่อไปนี้ ครับ

สักกายทิฏฐิ 20

สักกายทิฏฐิ 20 คืออะไ

สักกายทิฏฐิ การยึดถือขันธ์ ๕ ว่าเป็นตัวตน

สักกายทิฏฐิ ขณะนั้นมีความเห็นเกิดขึ้น ยึดถือว่าเป็นเรา

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 22 มิ.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สำหรับเรื่องของสักกายทิฏฐิ ๒๐ จำแนกตามขันธ์ ๕ คือ

ย่อมเห็นรูปโดยความเป็นตน ๑

ย่อมเห็นตนมีรูป ๑

ย่อมเห็นรูปในตน ๑

ย่อมเห็นตนในรูป ๑

ไม่ใช่เพียงรูปเท่านั้นที่ยึดถือโดยอาการ ๔ ที่กล่าวมา ยึดถือด้วยความเห็นผิดใน เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ด้วย ว่าเป็นตน เป็นคน รวมเป็น ขันธ์ ๕ ในอาการ ๔ เป็นสักกายทิฏฐิ ๒๐ ครับ

หากสังเกตพิจารณาให้ดีในอาการ ๔ นั้น จะเห็นคำว่า ตน แสดงว่า มีพื้นฐาน ความเข้าใจผิดตั้งแต่ต้นว่า ไม่ว่าสภาพธรรมใด ทั้งนามธรรมที่นามขันธ์ ๔ และรูปธรรม ที่เป็นรูปขันธ์ รวมความว่า สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ สัตว์โลก ย่อมยึดถือว่า เป็นตน เป็นสัตว์ บุคคล ไม่รู้ว่าเป็นแต่เพียงธรรม สักกายทิฏฐิ จึงเป็นการยึดถือ กายที่เป็นามกาย และรูปกาย ที่เป็นนามธรรม รูปธรรม ที่กำลังเกิด ว่าเป็นเราจริงๆ เพราะมีสักกายทิฏฐิ ความสำคัญว่ามีเรา มีตัวตน จึงยึดถือด้วยอาการต่างๆ เช่น สำคัญร่างกาย ว่าเป็นเรา เป็นรูปของเรา อุปมาเหมือนว่า เปลวไฟ กับ แสงสว่าง

เปลวไฟ กับ แสงสว่าง ต่างก็ไม่ใช่อย่างเดียวกัน แต่เพราะมี เปลวไฟ แสงสว่างจึงมีได้ เพราะฉะนั้น เพราะ มีสภาพธรรมที่มีจริง จึงบัญญัติว่ามีเรา มีตน มีสัตว์ บุคคล แต่เพราะปุถุชนไม่เข้าใจ สำคัญว่า เปลวไฟก็คือ แสงสว่าง หรือ ดังอุปมา เงาต้นไม้ กับ ต้นไม้ คือ สักกายทิฏฐิ ย่อมสำคัญว่า เงาต้นไม้ และ ต้นไม้เป็นอย่างเดียวกัน ความจริงไม่ใช่

เพราะ เงาต้นไม้ มีได้ เพราะอาศัยต้นไม้ ฉันใด เพราะ มีสภาพธรรมที่มีจริง จึงบัญญัติได้ว่าเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นตน แต่ ตน เรื่องราว และ สภาพธรรมที่มีจริง ก็คนละอย่างกัน แต่ปุถุชน ย่อมสำคัญผิดว่า สภาพธรรมที่มีจริงที่มีเกิดขึ้น เป็นตน และ ยึดถือว่าเป็นตน ดังสำคัญว่า เงาต้นไม้ เป็นต้นไม้นั่นเอง ครับ

การจะดับสักกายทิฏฐิ คือ เริ่มจากการรู้ความจริงของสภาพธรรมที่มีในขณะนี้ แต่ละขณะที่เกิดขึ้นว่าเป็นแต่เพียงธรรม ไม่ใช่เรา ค่อยๆ ละความเห็นว่า เป็นตน เพราะ สติเกิดรู้ว่าเป็นแต่เพียงธรรมแต่ละขณะ และละสักกายทิฏฐิได้หมดสิ้น เมื่อเป็นพระอริยโสดาบัน ครับ แต่ว่าจะถึงตรงนั้น ก็จะต้องเริ่มจากเหตุที่ถูกต้อง คือ การฟังพระธรรมในเรื่องสภาพธรรม ก็จะเริ่มค่อยๆ เข้าใจ ไม่สำคัญผิดว่า เงาต้นไม้เป็นต้นไม้ หรือ เปลวไฟ กับ แสงสว่าง เป็นสิ่งเดียวกัน แต่เป็นสิ่งที่เนื่องกัน ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
miran
วันที่ 22 มิ.ย. 2555

สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
nong
วันที่ 23 มิ.ย. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
เข้าใจ
วันที่ 11 ก.ค. 2555

กราบอนุโมทนากับอาจารย์ด้วยครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ