มารคือใคร

 
Thanapolb
วันที่  23 พ.ค. 2555
หมายเลข  21158
อ่าน  4,779

ขอเรียนถาม เรื่องมารด้วยครับ

เคยได้ยินเรื่องที่ว่ามีมารไปบอกพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรื่องพระโคธิกะภิกขุ (อาจสะกดคำผิดนะครับ) ที่ว่าท่านจะฆ่าตัวตายหลังจากเสื่อมจากฌาณ หลายครั้ง ซึ่งมารู้ว่าท่านจะบรรลุอรหันต์ แล้วก็ปรินิพาน จึงไปบอกพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าอย่าให้ท่านพระโคธิกะภิกขุ ฆ่าตัวตาย

จึงอยากถามว่า

๑. มารคือใคร

๒. ทำไมมารจึงรู้ว่าท่านพระโคธิกะภิกขุ จะสำเร็จเป็นพระอรหันต์ก่อนสิ้นชีวิต (ปรินิพพาน) สงสัยเพราะ มารน่าจะหมายถึงบุคคลที่ไม่ดี ฝ่ายอกุศล

๓. แล้วรู้วาระจิตผู้อื่นได้อย่างไร ถ้ารู้แบบนี้ ทำไมมารไม่ทำสิ่งที่เป็นกุศล หรือเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นครับ

๔. ในชีวิตที่เราเป็นมนุษย์ มารของแต่ละคนคืออะไร

ถ้าฟังมาไม่ครบสมบูรณ์ช่วยขัดเกลาด้วยนะครับ

ขออนุโมทนา


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 23 พ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สำหรับเรื่องราวที่ผู้ถามได้ถามนั้น อยู่ในโคธิกสูตร ที่ พระภิกษุ ชื่อ โคธิกะ ท่านไม่อาลัยชีวิต จึงหามีดมา เพื่อฆ่าตัวตาย เพราะ ท่านเสื่อมจากฌานบ่อยๆ จึงอยากจะสิ้นชีวิต ตอนที่ฌานไม่เสื่อม ท่านจึงไม่อาลัยชีวิต พยายามจะฆ่าตัวตาย ครับ

คำถามที่ ๑. มารคือใคร

- คำว่า มาร ความหมายว่า ทำให้ตาย ขัดขวางไม่ให้ความดีเจริญ ข้าศึกทั้งปวง

ซึ่งมาร มี ๕ อย่างดังนี้ครับ

กิเลสมาร คือ กิเลสต่างๆ มี โลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น

ขันธมาร คือ ขันธ์ ๕ มี รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์

อภิสังขารมาร คือ เจตนาเจตสิก อันได้แก่ กุศลกรรมและอกุศลกรรมอันเป็นไปในวัฏฏะ

มัจจุมาร คือ ความตาย

เทวบุตรมาร คือ เทวดาผู้ขัดขวางความดี

จะเห็นนะครับว่า มาร มีหลากหลายนัย ทั้งที่เป็นสภาพธรรมที่เป็น จิต เจตสิก รูป ก็ชื่อว่า มาร กิเลส ก็ชื่อว่ามาร และ โดยนัย เป็นสัตว์ บุคคล ก็ชื่อว่า มาร

ดังนั้น มี เทวบุตรมาร ด้วยที่เป็นสัตว์ บุคคล ที่เป็นเทพบุตร อยู่บนสวรรค์ชั้นสูงสุด แต่มีความเห็นผิด และ เป็นผู้ที่ขัดขวางผู้อื่นทำความดี การขัดขวางผู้อื่นทำความดี จึงชื่อว่ามารด้วย แต่เป็นมาร ที่เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน มี เทวดา เป็นต้น ที่เรียกว่า เทวบุตรมาร


คำถามที่ ๒. ทำไมมารจึงรู้ว่าท่านพระโคติกะภิกขุ จะสำเร็จเป็นพระอรหันต์ก่อนสิ้นชีวิต (ปรินิพพาน)

- เทวบุตรมาร ไม่รู้หรอกครับว่า ใครจะเป็นพระอรหันต์ หรือไม่ ในขณะต่อไป นอกเสียจากพระพุทธเจ้า แต่มาร คิดพิจารณา โคธิกะภิกษุ ไม่อาลัยในร่างกายแล้ว ผู้ที่ไม่อาลัยในร่างกาย ย่อมเริ่มตั้งความเพียร และ สามารถบรรลุเป็นพระอรหันต์ได้ คิด ด้วยการเทียบเคียง เทวบุตรมาร จึง รีบไปกราบทูลพระพุทธเจ้า ให้มาห้าม โคธิกะภิกษุที่จะฆ่าตัวตาย เพราะ ขึ้นชื่อว่า มาร ไม่อยากให้ใครได้ดี และ อยากให้อยู่ในวิสัยของตน คือ การเวียนว่ายตายเกิด แต่พระพุทธเจ้า ทรงรู้ว่า ท่านจะเป็นพระอรหันต์ก่อนสิ้นชีวิต แน่นอน จึงไม่ได้ไปตรัสห้าม เพราะฉะนั้น มาร คิด รู้ด้วยการเทียบเคียง แต่ไม่สามารถรู้ โดยการรู้อนาคต ด้วยญานพิเศษ ครับ

ดังข้อความในอรรถกถาที่ว่า

[เล่มที่ 25] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 67

อรรถกถาโคธิกสูตร

บทว่า อุปสงฺกมิ ความว่า มารคิดว่า สมณะนี้ ประสงค์จะฆ่าตัวตาย ก็ขึ้นชื่อว่า การฆ่าตัวตายนี้ ย่อมมีแก่ผู้ไม่เยื่อใยในร่างกายและชีวิต สมณะนั้นพิจารณามูลกัมมัฏฐาน (วิปัสสนา เป็นต้น) แล้ว ย่อมสามารถยึดแม้พระอรหัตไว้ได้ ถึงเราห้ามปราม เธอคงไม่ละเว้น ต่อพระศาสดาทรงห้ามปราม จึงจะเว้น ดังนี้ จึงทำเหมือนหวังดีต่อพระเถระ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า.


คำถามที่ ๓.

แล้วรู้วาระจิตผู้อื่นได้อย่างไร ถ้ารู้แบบนี้ ทำไมมารไม่ทำสิ่งที่เป็นกุศล หรือเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นครับ

- แต่โดยมาก เทวดา ย่อมรู้วาระจิตของผู้อื่นที่กำลังคิดนึก แต่ไม่รู้ว่า ขณะต่อไป จะเป็นอย่างไร ครับ ที่สำคัญ แม้จะรู้วาระจิตของผู้อื่น ตามกำลัง ที่เกิดเป็นเทวดา แต่อุปนิสัยที่สะสมมาที่มีความเห็นผิด และ ไม่ศรัทธาในพระรัตนตรัย ไม่ได้หายไปไหน แม้รู้ว่าคนอื่นคิดอย่างไร แต่ก็ไม่สามารถห้ามใจตนเอง ที่จะทำให้เกิดอกุศล ที่จะไม่ชอบความดี และ พยายามขัดขวางการทำความดีของผู้อื่นได้ เพราะความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม ที่เป็นการสะสมมาของบุคคลนั้น ที่เป็นมาร ครับ


คำถามที่ ๔. ในชีวิตที่เราเป็นมนุษย์ มารของแต่ละคนคือะไร

- ชีวิต ที่บัญญัติว่าเป็นมนุษย์ เป็นสัตว์มีชีวิตต่างๆ ความจริง ก็คือ การประชุมรวมกันของสภาพธรรมที่เป็น จิต เจตสิก และรูป จึงบัญญัติว่าเป็นมนุษย์ ครับ

เพราะฉะนั้น แต่ละคน แต่ละชีวิต ก็มีมารอยู่ โดยไม่รู้ตัวเลย ทั้ง กิเลสมาร ที่เป็นโลภะ โทสะ ที่เกิดขึ้นในจิตใจ มี อภิสังขารมาร คือ เจตนาที่เป็นไปในการทำกุศล อกุศล เมื่อมีจิต ก็ต้องมี เจตสิก และมีเจตนาเจตสิก ที่เกิดกับจิต ขณะใดที่ทำกุศล มีเจตนาเกิดแล้ว เป็นอภิสังขารมาร ที่ทำให้ต้องเวียนว่ายตายเกิด เพราะ การทำกุศล และ เจตนาในการทำอกุศลก็โดยนัยเดียวกัน ครับ และ ยังมีมาร ที่เป็น ขันธมาร คือ มี สภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไป ที่เป็น จิต เจตสิกและรูปนั่นเอง ที่เป็นมาร อยู่ โดยไม่รู้ตัว และ ก็มีมัจจุมาร คือ ความตาย ที่เป็นความตายที่เป็นปรมัตถะสัจจะ คือ ความตาย ที่เป็นการดับไปของสภาพธรรม (ขณิกมรณะ) จิตเห็นเกิดขึ้นก็ดับไป ขณะที่ดับไป ก็เป็นมารแล้ว ตายแล้วชั่วขณะจิต ที่เป็น มัจจุมาร และ เมื่อจุติจิตเกิด ก็ตาย จากความเป็นบุคคลนี้ ก็เป็นมัจจุมาร ส่วน ผู้ที่มีความเห็นผิด แม้จะไม่เป็นเทวดา ก็ชื่อว่า เป็น มารที่เป็นสัตว์ บุคคลได้ แม้จะไม่ใช่ เทวปุตตมาร ขณะใดที่ขัดขวางความดีของผู้อื่น แนะนำผู้อื่นในทางอกุศล ก็ชื่อว่าเป็นมาร ที่เป็นสัตว์ บุคคลแล้วในขณะนั้น ครับ

เพราะฉะนั้น จากที่กล่าวมา ชีวิตของแต่ละคน ก็ไม่พ้นจาก มาร ๕ ประการเลย ตราบใดที่ยังมีการเกิดขึ้นของสภาพธรรมที่เป็น จิต เจตสิก รูป ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 23 พ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ความประพฤติเป็นไปของเทวปุตตมาร สำหรับผู้ที่มีโอกาสได้ฟัง ได้ศึกษาพระธรรมด้วยความละเอียดรอบคอบแล้ว ก็จะสามารถพิจารณาได้ว่า แม้จะได้เกิดเป็นเทวดาซึ่งเป็นผลของกุศลกรรม แต่เพราะได้เคยสะสมอุปนิสัยที่ดีไม่ดี สิ่งที่ไม่ดีเหล่านี้ไม่สูญหายไปไหน ไม่สูญหายไปไหน สะสมสืบต่ออยู่ในจิต เมื่อได้เหตุได้ปัจจัยก็เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ จึงทำให้เป็นผู้ ไม่อยากเห็นผู้อื่นได้ดี คอยขัดขวางทุกวิถีทาง มีแต่ อยากจะเห็นผู้อื่นอยู่ในวัฏฏะ ต่อไป เทวปุตตมารจึงมีความประพฤติเป็นไปที่ไม่ดีต่างๆ มากมายหลากหลาย ตามที่ปรากฏในพระไตรปิฎก แม้กระทั่งมีความคิดที่จะกราบทูลเชิญให้พระอรหนตสัมมาสัมพุทธเจ้ากลับมาครองราชสมบัติ ก็มี นี้คือความเป็นไปของธรรมฝ่ายที่ไม่ดี ที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น มีความคิดที่วิจิตรหลากหลายตามการสะสม เต็มไปด้วยอกุศลไม่สามารถเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังมีกำลังปรากฏตามความเป็นจริงได้ ก็ย่อมเป็นเครื่องเตือนที่ดีสำหรับผู้ที่มีโอกาสได้ฟัง ได้ศึกษา เพื่อความเป็นผู้ไม่ประมาทในอกุศลธรรม เพราะขึ้นชื่อว่าอกุศลธรรมแล้ว ไม่มีอะไรดีเลยแม้แต่อย่างเดียว ไม่นำประโยชน์ใดๆ มาให้ใครเลยทั้งสิ้น

เมื่อกล่าวโดยประมวลในเรื่องของมาร สามารถพิจารณาได้ว่า เพราะมีตา หู จมูกลิ้น กาย ใจ มี รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรม และ มี จิตที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์เหล่านั้น พร้อมกับธรรมที่เกิดร่วมด้วย (เจตสิก) อยู่ ณ ที่ใด การบัญญัติว่า มาร ก็มีอยู่ ณ ที่นั้น ซึ่งก็ไม่พ้นไปจากความเกิดขึ้นเป็นไปของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นแล้วดับไป ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ซึ่งเมื่อกล่าวถึง มาร แล้ว ครอบคลุมสภาพธรรมที่เกิดขึ้นแล้วดับไปทั้งหมด หรือ จะกล่าวว่า วัฏฏะทั้งสิ้น เป็นมาร ก็ได้ ครับ

พระสูตร เรื่องมาร ... วันเสาร์ที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๕๕

มาร ๕ [ข้าศึกทั้งปวง ... ตอนที่ ๑]

มาร ๕ [กิเลสมาร ... ตอนที่ ๒]

มาร ๕ [ขันธมาร ... ตอนที่ ๓]

มาร ๕ [อภิสังขารมาร ... ตอนที่ ๔]

มาร ๕ [มัจจุมาร ... ตอนที่ ๕]

[เทวบุตรมาร ... ตอนที่ ๖ ... จบ]

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
kinder
วันที่ 24 พ.ค. 2555

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
nong
วันที่ 24 พ.ค. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
jaturong
วันที่ 24 พ.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Thanapolb
วันที่ 24 พ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอขอบพระคุณท่านอาจารย์ทั้งสองมากครับ และอนุโมทนากับทุกท่านที่ร่วมสนทนา

เข้าใจเรื่องมารขึ้นเยอะเลยครับ จากที่ไม่เคยทราบมาก่อน

คงดังที่ท่านเคยเปรียบ มหาภูตรูปที่ ๔ ว่าเป็นดังงูพิษ ที่เราเลี้ยงดูนึกว่าเป็นเครื่องประดับเปรียบ ขันธ์ห้า ดังเป็นศัตรู เปรียบอายตนะทั้งหกว่าเป็นมหาโจร ซึ้งทั้งหมด ไม่ว่าจะงูพิษ ศัตรู หรือมหาโจร ก็คือมาร นี่เอง ใช่ไหมครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
paderm
วันที่ 24 พ.ค. 2555

เรียนความเห็นที่ 6 ครับ

ถูกต้องครับ

ทั้งอายตนะ และ มหาภูตรูป สี่ ที่เป็นรูปธรรม ล้วนแล้วแต่เป็นมาร เพราะว่า มาร หมายถึง สภาพธรรมที่นำไปสู่ความตาย อายตนะ และ มหาภูตรูป ที่เป็นรูปก็ล้วนแล้วแต่เกิดขึ้น และจะต้องดับไป ขณะที่ดับไป ชื่อว่า ตาย แล้ว จึงเป็นมารโดยนัยนี้ ครับ

เชิญคลิกอ่านที่กระทู้นี้ ที่แสดงว่า อายตนะ เป็นมาร อย่างไร ครับ

มารอยู่ที่ไหน?

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
pat_jesty
วันที่ 25 พ.ค. 2555

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาทุกๆ ท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
kinder
วันที่ 29 พ.ค. 2555

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
peem
วันที่ 2 มี.ค. 2562

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ