จิตที่เกิดพร้อมอุเบกขา

 
peeraphon
วันที่  3 พ.ค. 2555
หมายเลข  21065
อ่าน  2,420

เรียนท่านอาจารย์ครับ

มีข้อสงสัยในเรื่องของปรมัตถธรรมครับ. เข้าใจว่าจิตมีทั้งหมด ๔ ชาติ กุศล อกุศล วิบากและ กริยา. แต่มามุ่งเน้นในเรื่องของ กิริยาจิต. กิริยาจิต เป็นจิตของพระอรหันต์ ที่ไม่เป็นกุศล ไม่เป็นอกุศล. แต่ พอมาถึงจิตของปุถุชน ที่บางครั้ง เห็น แล้วไม่รู้สึกอะไร คือไม่เป็นกุศล หรือ อกุศล ไม่รู้สึกยินดีพอใจ หรือ ขุ่นเคืองใจ ผมจำไม่ได้ว่า ขณะนั้นมีเจตสิก ที่ชื่อว่าอะไร เกิดร่วมด้วยกับจิต (ที่เป็นอุเบกขา) . ถ้าเห็นแล้ว ไม่เป็นกุศล หรือ อกุศล จะให้ผลอย่างไรครับ?

ขอบคุณและขออนุโมทนาครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 4 พ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

โดยทั่วไปแล้ว จิตมีทั้งหมดเ ๔ ชาติ กุศล อกุศล วิบากและกิริยา สำหรับปุถุชนแล้ว มีจิต ครบทั้ง ๔ ชาติ ส่วนพระอรหันต์ มี จิต เพียง ๒ ชาติเท่านั้น คือ วิบากและกิริยา

สำหรับพระอรหันต์ เมื่อท่านเห็นแล้ว จิตย่อมไม่เป็นกุศล อกุศลเลย แต่สามารถเกิดจิตที่ดีงาม มี เมตตา เป็นต้น แต่ขณะนั้น เป็นกิริยาจิต ครับ

โดยทั่วไปของปุถุชนนั้น เมื่อเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้ม รส รู้กระทบสัมผผัสแล้ว ชวนจิตของปุถุชน จะต้องเป็นกุศลจิต หรือ อกุศลจิต ไม่ใช่ กิริยาจิตดังเช่นพระอรหันต์เลยครับเพราะฉะนั้น เห็นแล้วก็เป็นกุศล หรือ อกุศลอย่างใดอย่างหนึ่ง ครับ จะเป็นอื่นนอกจากนี้ ไม่เป็นกุศล หรือ ไม่เป็นอกุศล ไม่ได้เลย สำหรับปุถุชน ครับ ซึ่ง ควรเข้าใจคำว่า อุเบกขา ครับ ว่า คือ การวางเฉย การวางเฉย ที่เป็นอุเบกขา โดยนัยที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง มีความละเอียดลึกซึ้ง ครับ

การวางเฉย ที่เป็นอุเบกขามีหลายอย่าง ที่เป็นอุเบกขา ๑๐

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ ... อุเบกขามี ๑๐ อย่าง อะไรบ้าง

เช่น การวางเฉย ที่เป็นความรู้สึก เป็นอุเบกขาเวทนา อุเบกขาเวนทนาเกิดกับจิตทุกประเภท คือ เป็นกุศล ก็ได้ อกุศลก็ได้ วิบากก็ได้ กิริยาจิตก็ได้ ครับ เพราะฉะนั้น การวางเฉยที่เป็นความรู้สึกเฉยๆ ไม่ใช่ตัวติดสินว่า จะเป็นกุศล เพราะ เฉยๆ ด้วยอกุศลก็ได้ เช่น ขณะที่ไม่รู้ เป็นโมหะ ก็มีความรู้สึกเฉยๆ ครับ

ความวางเฉยอีกอย่าง คือ วางเฉย ที่เป็น อุเบกขาพรหมวิหาร คือ เป็นการวางเฉยด้วยความเข้าใจถูกว่าสัตว์ทั้งหลายมีกรรม เป็นของๆ ตน อันนี้ มุ่งถึง กุศลแล้ว คืออุเบกขานี้ไม่ได้หมายถึงความรู้สึก แต่หมายถึง การวางเฉยด้วยกุศล ที่เป็น ตัตรมัชฌัตตเจตสิก ดังนั้นการวางเฉย ด้วย ตัตรมัชฌัตตเจตสิก จึงเป็นการวางเฉยที่ไม่หวั่นไหวเอนเอียงไปใน อกุศล ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 4 พ.ค. 2555

การวางเฉยอีกอย่างหนึ่ง คือ การวางเฉยด้วยปัญญา คือ เมื่อปัญญาเกิด ก็วางเฉยเพราะเห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่หวั่นไหวในอกุศลในขณะนั้นด้วย ครับ

ดังนั้น อุเบกขาที่เกิดกับจิต ที่เป็น อุเบกขาเวทนา เกิดกับจิตทุกประเภท แต่เกิดกับอกุศลก็ได้ แต่สำหรับปุถุชน เมื่อเห็น ได้ยินแล้ว จะไม่เป็นอกุศล หรือ กุศลไม่ได้ ต้องเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ที่สำคัญตามที่กล่าวมา ครับ

ขณะที่ปัญญาเกิดรู้ความจริง ขณะนั้นเป็นการวางเฉยด้วยปัญญา ที่เป็น วิปัสสนูเบกขา (อุเบกขาในวิปัสสนาคือปัญญา) ซึ่งตามที่ผู้ถามได้กล่าวไว้ครับว่า คือ ไม่รู้สึกยินดีพอใจ หรือ ขุ่นเคืองใจ ขณะที่ปัญญาเกิด รู้ความจริงของสภาพธรรมในขณะนี้ ที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์และเป็นอนัตตา ขณะนั้น ไม่หวั่นไหวไปในความรู้สึกยินดีพอใจ (โลภะ) และไม่หวั่นไปในความขุ่นเคืองใจ ที่เป็นโทสะ สมดัง การเจริญสติปัฏฐาน ที่เป็นการเจริญสติและปัญญา ที่พระพุทธองค์กล่าวไว้ว่า พึงกำจัดอภิชฌา (โลภะ) และโทมนัส (โทสะ) ในโลกเสียได้ คือ ขณะที่สติปัฏฐาน หรือ ปัญญาเกิดรู้ความจริงในขณะนั้น ไม่หวั่นไหวไปในอกุศล คือ โลภะ และ โทสะ ครับ แต่ จิตขณะนั้นที่รู้อารมณ์ทาง ตา ... ใจ ของปุถุชนที่อบรมสติปัฏฐาน ก็ต้องเป็นกุศล ครับ

และอีกนัยหนึ่ง ขณะที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้น มี ตัตรมัชฌัตตเจตสิก เป็นการวางเฉย ที่เกิดกับจิตที่ดีงามทุกประเภท ครับ ขณะนั้น ไม่เอนเอียงไปในอกุศล ด้วยอคติ แต่เป็นสภาพธรรมที่ตรง และวางเฉย ด้วยกุศลธรรม เป็นต้น ครับ

เพราะฉะนั้น จากคำถามที่กล่าวว่า เป็นการวางเฉย ไม่รู้สึกยินดีพอใจ หรือ ขุ่นเคืองใจ ผมจำไม่ได้ว่า ขณะนั้น มีเจตสิก ที่ชื่อว่าอะไร เกิดร่วมด้วยกับจิต (ที่เป็นอุเบกขา) ก็สามารถเป็น ตัตรมัชฌัตตเจตสิก ที่เกิดกับจิตที่เป็นกุศลจิตของปุถุชน หรือ เป็นปัญญาเจตสิกที่เกิดกับจิตที่เป็นกุศลของปุถุชน ทำให้ไม่หวั่นไหวใน โลภะ โทสะ หรืออกุศลประการต่างๆ อันเป็นการวางเฉยด้วยกุศลและการวางเฉยด้วยปัญญา ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 4 พ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก่อนอื่นต้องเข้าใจตั้งแต่ต้นว่า จิต คือ อะไร จิตเป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ เมื่อจิตมีความหลากหลายแตกต่างกัน เพราะเจตสิกธรรมที่เกิดร่วมด้วยบ้าง แตกต่างกันเพราะอารมณ์ บ้าง แตกต่างกันโดยชาติ (การเกิดขึ้น) บ้าง เป็นต้น แต่ละขณะ เป็นจิตที่เกิดขึ้น ไม่พ้นจากจิตแม้แต่ขณะเดียว จิต เกิดขึ้นเป็นกุศล ก็มี เกิดขึ้นเป็นอกุศลก็มี เกิดขึ้น เป็นวิบาก ก็มี เกิดขึ้นเป็นกิริยา ก็มี นี้คือการกล่าวอย่างกว้างๆ

เมื่อกล่าวถึง กุศลจิต กับ อกุศลจิต แล้ว มุ่งหมายถึงผู้ยังมีกิเลส มีอวิชชา อันเป็นธรรมที่ทำให้วัฏฏะเป็นไป คือ ทำให้มีการเกิดในภพต่างๆ อยู่ร่ำไป สำหรับผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ เป็นปกติธรรมดาที่ในขณะที่เป็นชวนะ จะต้องเป็นกุศล หรือ เป็น อกุศลอย่างหนึ่งอย่างใด ตามการสะสม ไม่มีทางที่จะเป็นมหากิริยาได้เลย เพราะมหากิริยาจิต จะเป็นจิตของพระอรหันต์เท่านั้น ถ้าจะพิจารณาให้ละเอียดแล้ว ขณะที่จิตเป็นกุศล ขณะนั้นก็มีความตรง มีความไม่เอนเอียงไปด้วยอำนาจของอกุศลแล้ว ชั่วขณะที่จิตเป็นกุศล ประกอบด้วยโสภณเจตสิกประการต่างๆ มีศรัทธา หิริ โอตตัปปะ อโลภะ อโทสะ ตัตรมัชฌัตตตา เป็นต้น มีความเป็นกลาง ไม่หวั่นไหวไปด้วยอำนาจของอกุศลแล้ว จนกว่าจะไม่หวั่นไหวจริงๆ ได้อย่างเด็ดขาด ไม่มีกิเลสใดๆ เกิดขึ้นอีกเลย เมื่อถึงความเป็นพระอรหันต์ ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 4 พ.ค. 2555

ปุถุชนมีอุเบกขาที่เป็นกุศลก็ได้ อกุศลก็ได้ เช่น ถ้าเป็นฝ่ายอกุศล อุเบกขาก็เป็นโมหะ การเฉยๆ ด้วยความไม่รู้ว่าเป็นธรรมะ ถ้าเป็นฝ่ายกุศล อุเบกขาก็ด้วยความเข้าใจว่า สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
peeraphon
วันที่ 4 พ.ค. 2555

เข้าใจอย่างมากครับ ลึกซึ้งที่สุด ขอขอบพระคุณทุกท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
intra
วันที่ 4 พ.ค. 2555

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
เซจาน้อย
วันที่ 4 พ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

โดยมากแล้วในแต่ละวันถ้ากุศลจิตไม่เกิดก็จะเป็นอกุศลจิตเกิดมากกว่า

เช่นอวิชา โลภะ โทสะเกิดมากกว่าโดยแท้

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ