เกี่ยวข้องกับการเจริญสติปัฏฐานอย่างไร

 
วิริยะ
วันที่  2 มี.ค. 2555
หมายเลข  20673
อ่าน  2,289

เรียนถาม

ดิฉันเข้าไปอ่านเรื่องเกี่ยวกับการเจริญสมถภาวนาและการเจริญสติปัฏฐาน ได้พบหัวข้อหรือหมวดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกัน คือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ และโพชฌงค์ ๗ ดิฉันยังไม่ค่อยเข้าใจว่า หมวด เหล่านี้ มีความเกี่ยวข้องกันอย่างไรในการบรรลุมรรค คือ เจตสิกที่มีในหมวดต่างๆ ที่กล่าวนั้น ก็คล้ายๆ กัน อาทิ วิริยเจตสิก สมาธิ และปัญญาเป็นต้น ดิฉันเข้าใจว่า เมื่อมีการเจริญสติปัฏฐาน จิตก็จะมีเจตสิกเหล่านั้นในหมวดต่างๆ แต่เป็นไปในระดับน้อยไปจนถึงมาก เมื่อจะบรรลุมรรค ไม่ทราบว่าเข้าใจถูกต้องหรือไม่คะ ขอคำอธิบายเพียงคร่าวๆ เพราะคิดว่า การศึกษาในหมวดต่างๆ ที่ได้กล่าวมานั้น ต้องใช้เวลา และต้องมีความละเอียดอย่างยิ่ง

ขอบพระคุณอย่างสูง


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 2 มี.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

จากที่กล่าวมานั้น เป็นธรรมที่อยู่ในหมวดโพธิปักขิยธรรม คือ ธรรมที่เป็นฝักฝ่ายในการตรัสรู้ คือ ถ้าจะบรรลุธรรม เป็นพระอริยบุคคลก็จะต้องเจริญธรรม ที่เป็นโพธิปักขิยธรรม ซึ่งในโพธิปักขิยธรรมก็มีธรรมหลายหมวด อันแบ่งไปตามกำลังของกุศลธรรมและปัญญา ตามที่ผู้ถามเข้าใจนั้นก็ถูกต้องโดยส่วนหนึ่ง ครับ ซึ่ง โพธิปักขิยธรรม ประกอบด้วยธรรม คือ สติปัฏฐาน ๔ อิทธิบาท ๔ สัมมัปปธาน ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ จากที่กล่าวมาเป็นเรื่องของสภาพธรรฝ่ายดี ที่เป็นกุศลธรรมล้วนๆ และที่สำคัญที่สุด ธรรม ๗ หมวด ในโพธิปักขิยธรรม ขาดปัญญาไม่ได้เลยครับ ซึ่งก็มีการแบ่งระดับในแต่ละธรรมในหมวด ๗ นี้ไว้เช่นกันครับ

ซึ่ง โพธิปักขิยธรรม จึงเป็นเรื่องของการเจริญวิปัสสนา ไม่ใช่สมถภาวนา เพราะโพธิปักขิยธรรมจะต้องทำให้ถึงการตรัสรู้ บรรลุ มรรค ผล ครับ สำหรับ สติปัฏฐาน ๔ ก็คือการเจริญวิปัสสนา ที่เป็นการระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งขณะที่สติปัฏฐานเกิด ขณะนั้นก็มี ศรัทธา สติ หิริ โอตตัปปะ และเจตสิกที่ดีอย่างอื่นๆ ด้วย รวมทั้ง ปัญญา ซึ่งขณะที่สติปัฏฐานเกิด ขณะนั้นก็เป็นอิทธิบาท คือ ธรรมเครื่องทำให้สำเร็จ คือ ถึงการดับกิเลสได้ก็เพราะมี ศรัทธา สติ ... และปัญญาเช่นกัน องค์ธรรมในเจตสิกฝ่ายดีก็เหมือนกัน ดังนั้น ที่ตรัสชื่อต่างๆ กัน เพราะการทำหน้าที่ของสภาพธรรม สามารถเรียกได้หลากหลาย และขณะที่สติปัฏฐานเกิด ก็มีสัมปธาน ความเพียรที่จะละอกุศล และกุศลก็เกิดขึ้นด้วย เป็นต้น แต่เป็นวิริยะ ที่เกิดกับเจตสิกฝ่ายดีอื่นๆ และปัญญา ซึ่งก็มีองค์ธรรมคือเจตสิกฝ่ายดีเหมือนกับสติปัฏฐาน อิทธิบาท อีกเช่นกัน ส่วนขณะที่สติปัฏฐานเกิด จะถึงความเป็นอินทรีย์และพละ คือ สภาพธรรมที่มีกำลัง ก็ต้องอบรมเจริญบ่อยๆ จนมีกำลัง คือ ปัญญามีกำลัง ศรัทธา สติมีกำลังเป็นต้น ดังนั้น จึงแสดงถึงระดับที่ต่างกันว่า จะเป็นพละ ๕ ก็ต้องมีกำลัง คือ สติปัฏฐานเกิดบ่อยๆ จนมีกำลัง ครับ

ส่วน โพชฌงค์ ๗ คือ ธรรมที่ทำให้ตรัสรู้ ก็จะต้องเป็นปัญญาที่มีกำลังมากๆ แล้วไม่ใช่เพียงสติปัฏฐานเพิ่งเกิดไม่นาน หรือ อบรมมาไม่มามาก ยังไม่เป็นโพชฌงค์ ครับ ดังนั้นปัญญาที่มีกำลังมาก รวมทั้งเจตสิกฝ่ายดีอื่นๆ ที่มีกำลังมากแล้ว มี สติ เป็นต้น ชื่อว่าเป็นโพชฌงค์ ครับ และ อริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นปัญญาและสติ และเจตสิกฝ่ายดีอื่นๆ ที่มีกำลังมาก จนถึงสามารถเกิดการประชุมพร้อมที่เป็นอริยมรรคแปดองค์ได้ และมีกำลังมาก คือปัญญามีกำลังมากถึงขนาดดับกิเลสได้

ดังนั้น การเจริญสติปัฏฐานเบื้องต้น ก็ยังไม่ถึงอริยมรรคมีองค์ ๘ ครับ แต่ขณะที่เป็นอริยมรรคมีองค์ ๘ ก็เป็นอิทธิบาท เป็นพละ เป็นต้นด้วย แต่ด้วยระดับกำลังที่เป็นปัญญาขั้นสูง ระดับโลกุตตรธรรม ครับ

สรุปได้ว่า โพธิปักขิยธรรม ธรรมเป็นไปเพื่อการตรัสรู้ก็แสดงหลากหลายนัย และแสดงถึงกำลังที่แตกต่างกันไป แล้วแต่จะกล่าวโดยนัยใด ซึ่งธรรมหมวดในโพธิปักขิยธรรมก็มีทั้งระดับที่เป็นโลกียะ และ โลกุตตระด้วย ครับ และการจะตรัสรู้ได้ก็ต้องอบรมเจริญธรรม ๗ ประการนี้ ที่สำคัญหากเราเข้าใจถูกตั้งแต่ต้น การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม เรื่องสภาพธรรม ย่อมทำให้ถึงโพธิปักขิยธรรมได้โดยที่ไม่มีตัวตนที่จะพยายามจะทำหมวดใดเลย ครับ เพราะธรรมทำหน้าที่ไม่ใช่เรา

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา ครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ

โพธิปักขิยธรรม ๓๗

โพธิปักขิยธรรม (ธรรมที่ให้ไปสู่นิพาน)

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 2 มี.ค. 2555

การที่จะบรรลุ มรรค ผล นิพพาน ต้องอาศัยการบำเพ็ญบารมี ๑๐ ประการ และการสะสมความดีทุกอย่าง โดยเฉพาะ การสะสมปัญญา ไม่ว่าจะเป็นการเจริญพละ ๕ อิทธิบาท ๔ สัมมัปปธาน ๔ อินทรีย์ ๕ การเจริญสติปัฎฐาน ๔ ฯลฯ ทุกอย่างต้องเกี่ยวเนื่องกับปัญญา จึงจะเป็นไปเพื่อการบรรลุอริยสัจจ์ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 2 มี.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สำหรับผู้ที่เห็นประโยชน์ของการได้เข้าใจธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงในชีวิตประจำวันไม่ขาดการฟัง การศึกษาพระธรรม สะสมความเข้าใจถูก เห็นถูกไปตามลำดับ วันหนึ่งก็ย่อมสามารถที่จะประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ เพราะจะหาความเจริญสมบูรณ์พร้อมของปัญญาได้จากที่ไหน ถ้าไม่เริ่มตั้งแต่ขั้นต้น ด้วยการฟัง ด้วยการศึกษาพระธรรม ศึกษาในสิ่งที่มีจริง เพื่อเข้าใจถูก เห็นถูกตามความเป็นจริง ซึ่งจะเห็นได้ว่า องค์ธรรมที่เป็นไปในฝักฝ่ายของการตรัสรู้นั้น ไม่ขาดปัญญาเลย การที่ปัญญาระดับสูงที่จะเกิดขึ้นได้ จะเจริญขึ้นได้ จนกระทั่งสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ดับกิเลสได้ตามลำดับขั้นต้น ก็ต้องอาศัยการสะสมปัญญาความเข้าใจถูก เห็นถูก ต้องตั้งแต่เบื้องต้นจริงๆ ถ้าไม่มีปัญญาเลย ไม่มีความเข้าใจถูก เห็นถูกเลย แล้วจะไปถึงซึ่งการดับกิเลสได้อย่างไร สำหรับโพธิปักขิยธรรมนั้น เป็นธรรมที่เป็นฝักฝ่ายของการตรัสรู้ ก็ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมฝ่ายดีประการต่างๆ อันแก่ สติ ปัญญา ศรัทธา เป็นต้น เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ของตนๆ ในขณะนั้น

การที่ดำเนินไปถึงซึ่งความบริบูรณ์ของโพธิปักขิยธรรม ต้องเป็นผู้มีความเข้าใจพระธรรม โดยเริ่มจากความเป็นผู้ใคร่ที่จะฟัง ที่จะศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ซึ่งจะต้องอาศัยกาลเวลาที่ยาวนานทีเดียวในการอบรมเจริญปัญญา ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 2 มี.ค. 2555

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
เซจาน้อย
วันที่ 2 มี.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
pornchai.s
วันที่ 2 มี.ค. 2555

การอบรมเจริญวิปัสสนาภาวนา (สติปัฏฐานภาวนา หรือ มรรคภาวนา)

คือการอบรมเจริญปัญญา ที่ต้องใช้เวลานานมากๆ เป็นหลายๆ ล้านภพชาติครับ

อนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
pat_jesty
วันที่ 2 มี.ค. 2555

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
homenumber5
วันที่ 3 มี.ค. 2555

ขออนุโมทนาทุกท่าน

ดิฉัน เข้าใจว่า ธรรมสูงสุดที่เราสนทนานี้ ยังห่างไกลจากความจริง สภาวธรรมของดิฉัน มากมายนัก คล้ายกับว่า ปราสาทที่เราต้องการเดินทางไป นั้นมีอยู่ แต่จุดที่เราเริ่มต้นนี้ ยังห่างไกลมากนัก อาจต้องมีคนนำทาง คือ พระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ ส่วนความเข้าใจธรรมต้องอาศัย กัลยาณมิตร ที่ สิกขาธรรมมานานและเข้าใจลึกซึ้ง ทั้งนี้ก็ขึ้นกับการสะสมกุศลของแต่ละท่านที่จะไปพบกับ กัลยาณมิตร หรืออื่นๆ ที่อยู่ตรงข้าม พาเราไปหลงทาง หมดเวลา เสียทรัพย์ เพราะคนเราที่เวียนว่ายในสังสารวัฏฏ์เพราะอวิชชา คือฝ่ายที่ตรงข้ามกับวิชชาของพระพุทธองค์ ส่วนท่านใดจะพบ วิชชา ที่แท้จริง ก็แล้วแต่การสะสม สิ่งที่ ดิฉันสงสัยและคลางแคลงใจ คือธรรมาจารย์ แต่ละท่าน อ่านพระไตรปิฎกหรืออาจจะไม่อ่านตลอด อ่านบางส่วน แล้วมาสอน เราไม่ทราบว่า ท่านอ่านมาจากไหน ทำไม ถึงมีความหลากหลาย จนมีสำนัก ที่อ้างว่า เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ที่สอนแตกต่างกันมาก เช่น สำนักนั่ง เดิน จงกรม สำนักวิปัสสนา สำนักสัมมาอรหัง สำหรับดิฉัน เชื่อที่อ. สุจินต์ ท่านว่า เมื่อครั้งพุทธกาล เมื่อฆราวาส สาวก เข้าเฝ้าพระพุทธองค์ พระองค์ทรงเทสนาให้ ท่านเหล่านั้น ฟัง ไม่ได้ให้ท่านเหล่านั้น มานั่ง เดิน อะไรๆ ที่ว่าทำกันมากมายในเวลานี้ แต่หากว่าจะทำแล้วสบายใจ ไม่เกิดอาการผิดปกติ ไม่เสียทรัพย์ ก็ยังเสียเวลาอยู่ดี แต่การฟังธรรมมีแต่ใช้เวลา และ เวลาว่างเท่านั้น แล้วลองดูว่า ความคิดเราเปลี่ยน การกระทำเราเปลี่ยนไปทางกุศลมากขึ้นไหม เราเป็นสัตว์ประเสริฐ มีสมองใช้คิด ทดลองม้ากมาก ลองมาฟังธรรมดูกันดีไหมคะ แล้วดูว่า จิตใจ เราเข้าใจ คนรอบข้างมากขึ้นไหม สภาพรอบตัวมากขึ้นไหม

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
Yongyod
วันที่ 3 มี.ค. 2555

การศึกษาพระธรรมต้องเป็นผู้ละเอียด

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
วิริยะ
วันที่ 4 มี.ค. 2555

ขอขอบคุณความเห็นที่ 9 และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
orawan.c
วันที่ 6 มี.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ