ธรรมะใดช่วยเตือนให้ความติดข้องลดน้อยลง

 
Nareopak
วันที่  24 ก.พ. 2555
หมายเลข  20619
อ่าน  1,105

ความติดข้องใดๆ (ทั้งยินดีและไม่ยินดี คือ จิตยังคิดถึงเรื่องที่ไม่ทำให้เกิดความยินดี) เป็นเพราะเหตุใดและธรรมะใดช่วยเตือนใจให้ความติดข้องลดน้อยลง

ขออนุโมทนาในการอนุเคราะห์คำตอบค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 24 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรม ตลอด ๔๕ พรรษา โดยละเอียด โดยประการทั้งปวง เพื่อให้ผู้ฟัง ผู้ศึกษาได้พิจารณาเห็นตามความเป็นจริงว่า สภาพธรรมทั้งหมด เป็นสิ่งที่มีจริง เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัยแล้วก็ดับ ไม่ยั่งยืน แม้แต่โลภะ ซึ่งเป็นความติดข้องยินดีพอใจก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เกิดขึ้นตามการสะสมมาของแต่ละบุคคล พอใจในรูปบ้าง พอใจในเสียงบ้าง พอใจในกลิ่นบ้าง พอใจในรสบ้าง พอใจในสิ่งที่กระทบสัมผัสกายบ้าง เป็นต้น ชีวิตประจำวัน ยากที่จะพ้นไปจากโลภะได้ มีมากจริงๆ , เราไม่สามารถที่จะมีกุศลจิตเกิดตลอดเวลา และตลอดทั้งวันก็ไม่ใช่ว่าจะมีแต่อกุศลจิตเกิดแต่เพียงอย่างเดียว (มีกุศล เกิดบ้าง) บุคคลผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ ย่อมมีความเป็นไปอย่างนี้จริงๆ กล่าวคือ มีทั้งกุศลและอกุศล แต่ในชีวิตประจำวันอกุศลจะเกิดมากกว่ากุศล โลภะ ความติดข้องยินดีพอใจ เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเป็นปกติในชีวิตประจำวัน แล้วแต่ว่าจะเป็นโลภะที่ติดข้องยินดีพอใจในสิ่งที่ตนมี ที่ตนหามาได้ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต โดยชอบธรรม ที่ไม่ทำให้บุคคลอื่นเดือดร้อนโดยการกระทำทุจริต หรือจะเป็นโลภะที่มีกำลังกล้าจนกระทั่งสามารถที่จะล่วงออกมาเป็นทุจริตกรรมประการต่างๆ สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น ขณะที่ประกอบอกุศลกรรม ได้ชื่อว่า กระทำความพินาศให้แก่ตนเอง ด้วยการกระทำที่เป็นอกุศลกรรมที่จะเป็นเหตุให้ตนเองได้รับผลที่ไม่ดี ในอนาคตข้างหน้า แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นความติดข้องในระดับใด ย่อมเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจทั้งนั้น เพราะเป็นอกุศลธรรม,

อกุศลธรรม เป็นโทษ เป็นภัย ไม่นำประโยชน์สุขใดๆ มาให้เลยแม้แต่น้อย และในขณะที่จิตเป็นอกุศล ขณะนั้นไม่รู้ความจริง เพราะเป็นอกุศล มีโมหะ (ความไม่รู้) เกิดร่วมด้วย ทุกขณะที่จิตเป็นอกุศล จะมีโมหะเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง บุคคลผู้ที่ได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อดทนที่จะศึกษา อดทนที่จะฟังพระธรรมเท่านั้น จึงจะเห็นประโยชน์ของปัญญา ถ้าไม่มีปัญญาแล้ว การที่จะลด ละ คลายกิเลส มีโลภะ เป็นต้นนั้น ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

เมื่อมีความเข้าใจพระธรรมตามความเป็นจริงแล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เห็นถึงกิเลสของตนเอง โดยที่ค่อยๆ ขัดเกลากิเลส เพราะเห็นโทษของกิเลส แล้วกิเลสทั้งหลายก็จะค่อยๆ คลายลง กุศลทั้งหลายก็จะค่อยๆ เจริญขึ้นตามระดับขั้นของปัญญา ดังนั้นการที่จะลดละคลายกิเลสอกุศล มีโลภะ เป็นต้น ได้ จึงมีหนทางเดียวเท่านั้น คือ อบรมเจริญปัญญา เพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง และไม่ใช่จะดับได้ในทันทีทันใด ต้องอาศัยกาลเวลาที่ยาวนานในการอบรมเจริญปัญญา ครับ.

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

ภัย [มลสูตร]

โลภะ [อิติวุตตกะ มลสูตร]

โลภะ ไม่เป็นประโยชน์ [ติกนิบาต เกสปุตตสูตร]

กิเลส เป็นศัตรู [ขุททกนิกาย ชาดก กุมภการชาดก]

โลภะ ไม่รู้จักพอ [ขุททกนิกาย กามชาดก]

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 24 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาัสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เหตุที่ทำให้มีความติดข้องใดๆ (ทั้งยินดีและไม่ยินดี คือ จิตยังคิดถึงเรื่องที่ไม่ทำให้เกิด ความยินดี) ก็เพราะมี อวิชชา ความไม่รู้ เพราะไม่รู้ตามความเป็นจริง ย่อมทำให้ติดข้อง และเกิดความไ่ม่ยินดีในสิ่งต่างๆ ครับ ความติดข้องที่เป็นโลภะ เป็นสภาพธรรมที่ติดข้อง เกิดเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ซึ่ง โลภะก็มีหลายระดับ ตามระดับของกิเลสและโลภะ ซึ่งโลภะ ความติดข้องจะละได้หมดสิ้น เมื่อถึงความเป็นพระอรหันต์ แต่โลภะที่พอใจในรูป เสียง กลิ่น รส สิ่งที่กระทบสัมผัส

เมื่อถึงความเป็นพระอนาคามี แต่โลภะที่จะต้องละ ดับก่อน คือ โลภะที่ยินดีพอใจในความเห็นผิดว่ามีสัตว์ บุคคล ตัวตน ครับ โลภะที่เกิดกับความเห็นผิด จึงเป็นโลภะที่จะต้องละก่อน ดังนั้น จึงไม่ใช่จะไปละ พยายามที่จะละความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่นรส สิ่งที่กระทบสัมผัส เพราะเหลือวิสัย และไม่ใช่กิเลสที่จะต้องละก่อนนะครับ

ดังนั้น หนทางในการละโลภะ และกิเลสได้ทีละน้อย คือ ปัญญาที่เกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงในขณะนี้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา เป็นหนทางที่จะค่อยๆ ละโลภะได้จริงๆ ครับ ดังนั้น แม้จะพยายามคิดถึงว่าปฏิกูล น่ารังเกียจเพื่อไม่ติดข้อง ก็เป็นการละกิเลสชั่วคราวในขณะนั้น ไม่ได้ละโลภะได้จริงๆ ดังนั้นหนทางการอบรมปัญญา จึงไม่ใช่ ไม่ให้โลภะเกิด แต่เข้าใจความจริงในขณะที่โลภะที่เกิด ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา เป็นหนทางการละโลภะที่ยินดีพอใจในความเห็นผิดว่ามีสัตว์ บุคคล ตัวตน อันเป็นโลภะที่จะต้องละก่อน ครับ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อันเป็นเหตุให้สติปัฏฐานระลึกลักษณะของสภาพธรรมว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา เป็นหนทางการละโลภะทีละน้อยและเป็นหนทางการละโลภะที่ถูกต้อง ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
pat_jesty
วันที่ 25 ก.พ. 2555

"ทุกอย่างเป็นธรรมแต่ละอย่างๆ ที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่ เรา"

สะสมการฟังพระธรรม การศึกษาพระธรรมบ่อยๆ เนืองๆ ความเข้าใจที่เพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อย จะค่อยๆ ละคลายไปเรื่อยๆ ค่ะ

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Nareopak
วันที่ 25 ก.พ. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
เซจาน้อย
วันที่ 25 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

"มรรคมีองค์ ๘"

การที่จะลดละคลายกิเลสอกุศล มีโลภะ เป็นต้น ได้ จึงมีหนทางเดียวเท่านั้น คือ อบรมเจริญปัญญา

"การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม" อันเป็นเหตุให้สติปัฏฐานเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา เป็นหนทางการละโลภะทีละน้อย และเป็นหนทางการละโลภะที่ถูกต้อง ครับ

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาอ.คำปั่น, อ.ผเดิมและทุกๆ ท่านด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
bsomsuda
วันที่ 26 ก.พ. 2555

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
jaturong
วันที่ 27 ก.พ. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
PUM
วันที่ 29 ก.พ. 2555

เหตุที่ยังติดข้องในอารมณ์ทั้งหลาย ก็เพราะถูกอวิชชาปิดบังสภาวะธรรมที่แท้จริงไว้ ทำให้ไม่เห็นสามัญลักษณะ คือ อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา ในอารมณ์ทั้งหลายที่เข้าไป ติดข้อง การหมั่นเจริญสติปัฏฐาน ๔ จะเป็นเหตุให้ปัญญาที่รู้เห็นสามัญลักษณะในธรรมทั้งหลายปรากฏ ก็จะทำลายความเห็นผิด ว่าเป็นตัวตน เรา เขาได้ สติปัฏฐาน ๔ คือ ธรรมที่ควรเจริญและทำให้มากเพื่อให้ทันกับอารมณ์ที่มากระทบ ปัญญาที่รู้สภาวะธรรมตามความเป็นจริง จะเป็นเครื่องทำลายอวิชชา เหตุแห่งความติดข้องในอารมณ์ทั้งปวง ก็จะทำให้เห็นโทษและความไม่เป็นสาระในอารมณ์ทั้งหลายที่หลงไปติดข้อง

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ