จิตตั้งมั่น กับการเจริญสติปัฐฐาน

 
rojer
วันที่  10 ก.พ. 2555
หมายเลข  20521
อ่าน  3,559

จากการศึกษา เข้าใจว่า จิตตั้งมั่นเป็น ขณิกสมาธิ จึงเรียกว่า วิปัสสนากรรมฐาน แต่ถ้าจิตแนบแน่นในอารมณ์ที่รู้ เรียกว่า สมถกรรมฐาน ถ้าเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ก็ไม่ต้องทำให้จิตแนบแน่นก็ได้ รู้สภาพธรรมที่เกิดขึ้นเป็นขณะ แต่ถ้าเจริญสมถะ ก็ต้องแนบแน่นไม่รู้อารมณ์ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย รู้แต่อารมณ์กรรมฐาน ใช่มั้ยครับ


บางท่านบอกว่า การเจริญวิปัสสนา จะต้องมีจิตที่ตั้งมั่นเป็นสมาธิ หนุนหลังอยู่จึงจะสามารถรู้อารมณ์ได้ชัด และยาวนานกว่าขณิกสมาธิ โดยการทำสมาธิแนนบแน่นจนถึงละวิตก วิจารณ์ แล้วค่อยออกจากฌาน มารู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย จึงจะสามารถรู้ได้ชัด และยาวนาน ทำอย่างนี้ได้มั้ย ครับ ขอฟังความเห็นจากผู้รู้


ในขณะที่เกิดการเปลี่ยนแปลงในองค์ฌาน เช่น ปิติ สุข เอกัคคตา สามารถเป็นวิปัสสนากรรมฐานได้มั้ยครับ เช่นเห็นความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และอนัตตาขององค์ฌาน หรือสภาพจิตในขณะนั้น ขอความรู้ด้วยครับ ขอบคุณครับเราสามารถเจริญวิปัสสนาสลับกับสมถภาวนา ได้มั้ยครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 11 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

จากคำถามที่ว่า ๑. จากการศึกษา เข้าใจว่า จิตตั้งมั่นเป็น ขณิกสมาธิ จึงเรียกว่า วิปัสสนากรรมฐาน แต่ถ้าจิตแนบแน่นในอารมณ์ที่รู้ เรียกว่า สมถกรรมฐาน ถ้าเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ก็ไม่ต้องทำให้จิตแนบแน่นก็ได้ รู้สภาพธรรมที่เกิดขึ้นเป็นขณะ แต่ถ้าเจริญสมถะ ก็ต้องแนบแน่น ไม่รู้อารมณ์ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย รู้แต่อารมณ์กรรมฐาน ใช่มั้ยครับ

ก่อนอื่นก็ต้องเข้าใจ คำ แต่ละคำก่อนนะครับ

วิปัสสนา คือ การเจริญปัญญา ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ ว่าเป็นธรรม ที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์และเป็นอนัตตา ไม่ใช่เรา อันเห็นตามความเป็นจริงของสภาพธรรม ครับ

สมถภาวนา คือ การอบรมความสงบจากกิเลส เพื่อละ นิวรณ์ คือ อกุศลที่กลุ้มรุมจิต ชั่วขณะที่อกุศลเกิด ซึ่งเป็นปัญญาที่รู้ว่า ขณะใด เป็นกุศล ขณะใดเป็นอกุศล แล้วจึงอบรมเจริญกุศลให้มั่นคง ติดต่อกันไป

สมาธิ หมายถึง ความตั้งมั่น ซึ่ง ในพระอภิธรรม ก็คือ เอกัคคตาเจตสิก ซึ่งความตั้งมั่นที่เป็นเอกัคคตาเจตสิก เกิดกับจิตทุกประเภท คือ เกิดกับจิตที่เป็นกุศล หรือ อกุศลจิตก็ได้ ดังนั้น สมาธิ ที่เป็นเอกัคคตาเจตสิก จึงมีทั้งสมาธิ ความตั้งมั่นที่ดี ที่เกิดกับกุศลจิต เรียกว่า สัมมาสมาธิ และ สมาธิที่ไม่ดี ที่เกิดกับอกุศลจิต เรียกว่า มิจฉาสมาธิครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 11 ก.พ. 2555

สมาธิมีหลายระดับ

สมาธิ ความตั้งมั่นแห่งจิต ก็แบ่งระดับ ความตั้งมั่นไว้อีกครับว่า การตั้งมั่น เพียงชั่วขณะจิต ตามที่กล่าวแล้ว จิตทุกประเภทมีสมาธิ คือ มีเอกัคคตาเจตสิกเกิดอยู่แล้ว จิตทุกขณะ ทุกประเภทที่กำลังเกิด จึงมีความตั้งมั่น แต่เป็นความตั้งมั่น ชัวขณะจิต เรียกว่า ขณิกสมาธิ อันเป็นความตั้งมั่นชั่วขณะครับ ยังไม่แนบแน่น จนปรากฏความตั้งมั่นที่มีกำลัง ที่แนบแน่นในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งครับ ซึ่ง ก็มีความตั้งมั่นอีกระดับหนึ่ง ที่ใกล้ต่อ การแนบแน่น ตั้งมั่น คือ อุปจารสมาธิ และก็มีระดับที่สมาธิ มีความตั้งมั่น จนแนบแน่น ถึงระดับฌาน สมาธินั้นเป็น อัปปนาสมาธิ ครับ

ขณิกสมาธิ สมาธิ ตั้งมั่นชั่วขณะ เกิดกับจิตที่เป็นกุศลก็ได้ อกุศลก็ได้ และเกิดกับวิปัสสนาภาวนา แต่ไม่ใช่ สมถภาวนา

อุปจารสมาธิ และ อัปปนาสมาธิ สมาธิที่แนบแน่น เป็นกุศลเท่านั้น แต่เป็นกุศล ที่เป็นสมถภาวนา ไม่ใช่ กุศล วิปัสสนาภาวนา วิปัสสนาภาวนา ต้องเป็น ขณิกสมาธิเท่านั้น เหตุผลเพราะว่า ขณะที่เป็นวิปัสสนา คือ ขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา สติและปัญญา กำลังรู้ลักษณะของสภาพธรรม เพียงชั่วขณะจิตนั้น ที่สติและปัญญากำลังรู้ รู้ขณะของสภาพธรรมนั้นที่กำลังปรากฏ ซึ่งขณะนั้นก็มีเอกัคคตาเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่เป็นเพียงชั่วขณะ คือ ตั้งมั่นชั่วขณะ ที่เป็น ขณิกสมาธิครับ

ดังนั้นการเจริญวิปัสสนา หรือ สติปัฏฐาน ที่ระลึกรู้ลักษระของสภาพธรรม จึงไม่ใช่จะต้องทำสมาธิให้แนบแน่น เป็นฌาน เพราะฌาน ก็เป็นสมถภาวนา ไม่ใช่วิปัสสนา คนละส่วนกัน วิปัสสนา จึงเป็นขณิกสมาธิ สมาธิ ตั้งมั่นชั่วขณะนั้น แต่ก็มีปัญญาที่รู้ความจริงในขณะนั้นด้วยครับ


๒. บางท่านบอกว่า การเจริญวิปัสสนา จะต้องมีจิตที่ตั้งมั่นเป็นสมาธิ หนุนหลังอยู่จึงจะสามารถรู้อารมณ์ได้ชัด และยาวนานกว่า ขณิกสมาธิ โดยการทำสมาธิแนบแน่นจนถึงละวิตก วิจารณ์ แล้วค่อยออกจากฌาน มารู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย จึงจะสามารถรู้ได้ชัด และยาวนาน ทำอย่างนี้ได้มั้ย ครับ ขอฟังความเห็นจากผู้รู้


ก็ต้องเข้าใจ คำว่า มีกำลัง ก่อนครับ ว่าคืออะไร สภาพธรรมที่มีกำลัง เรียกว่า พละ ซึ่งพละ ที่เป็นไปในการตรัสรู้ วิปัสสนา คือ พละ ๕ ประกอบไปด้วย ศรัทธาพละ สติพละ วิริยพละ สมาธิพละ และ ปัญญาพละ ซึ่ง สภาพธรรมเหล่านี้ จะเป็นพละ มีกำลังได้ ก็เพราะมีปัญญาที่มีกำลัง จึงจะเป็นพละได้ ใช่เพราะสมาธิครับ ดังนั้น จึงไม่ใช่ว่า จะต้องเจริญสมถภาวนา ได้ฌาน จึงจะทำให้เกิดสติระลึกลักษณะของสภาพธรรมได้นาน ตรงกันข้าม ปัญญาต่างหากครับ ถ้ามีปัญญามาก ย่อมทำให้เกิดสติระลึกลักษณะของสภาพธรรมนั้นได้นาน และบ่อยขึ้น ตามกำลังของปัญญาครับ และหากไม่มีปัญญาที่มีกำลัง แม้จะได้ฌาน ออกจากฌาน แม้จะมีวิตก วิจาร มีสภาพธรรม แต่ปัญญาก็ไม่สามารถระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นได้เลยครับ เพราะฉะนั้น ความมีกำลัง เพราะปัญญา ไม่ใช่เพราะสมาธิ เพราะผู้ที่ได้สมาธิ แต่ไม่บรรลุธรรมมีมากมาย เพราะไม่มีกำลัง คือ ปัญญาที่มีกำลังครับ เป็นพละ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 11 ก.พ. 2555

๓. ในขณะที่เกิดการเปลี่ยนแปลงในองค์ฌาน เช่น ปิติ สุข เอกัคคตา สามารถเป็นวิปัสสนากรรมฐานได้มั้ยครับ เช่นเห็นความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และอนัตตาขององค์ฌาน หรือสภาพจิตในขณะนั้น ขอความรู้ด้วยครับ ขอบคุณครับ เราสามารถเจริญวิปัสสนาสลับกับสมถภาวนา ได้มั้ยครับ


สภาพธรรมใดที่มีจริง สามารถเป็นอารมณ์ เป็นที่ตั้งของสติและปัญญา ของวิปัสนนา ให้รู้ได้ครับ แม้แต่ วิตก วิจาร ปิติ สุข เป็นต้น

ในองค์ฌาน ซึ่งผู้มีปัญญามาก สามารถ อบรมวิปัสนสนาและรู้ความจริงขององค์ฌานได้ แต่เป็นเรื่องที่ยาก ที่สำคัญ หากไม่เข้าใจเบื้องต้น แม้แต่คำว่า ธรรม และที่สำคัญที่สุด แม้แต่คำว่า อนัตตา คือ บังคับบัญชาไม่ได้ เมื่อไม่เข้าใจ ก็จะพยายามที่จะทำ ที่จะเลือก ที่จะเจริญสมถภาวนาก่อน แล้วก็เจริญวิปัสสนา นั่นก็เท่ากับว่า เริ่มด้วยเหตุไม่ถูก ก็ไม่มีทางถึงวิปัสสนาได้เลย เพราะแม้ความเข้าใจเบื้องต้นก็ไม่ถูกต้องแล้ว ที่จะมีเรา ที่จะทำ ที่จะเลือกเจริญสิ่งใด สิ่งหนึ่ง ครับ ที่สำคัญ ขณะนี้กำลังมีสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในชีวิตประจำวัน เช่น เห็น ได้ยิน แต่ยังไม่รู้ แต่จะไปรู้ สิ่งที่ยังไม่ได้ คือ ฌาน ก็ย่อมไม่ใช่ฐานะเลย เพราะ สิ่งที่กำลังมีก็ยังไม่รู้ครับ ซึ่งผู้ที่เจริญวิปัสสนาอย่างเดียวและบรรลุธรรมมีมากมาย ไม่ได้หมายความว่าเมื่อจะบรรลุธรรมได้ จะต้องเจริญสมถภาวนาก่อนครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
rojer
วันที่ 11 ก.พ. 2555

ขอบคุณครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
khampan.a
วันที่ 11 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง นั้น มีความละเอียด ลึกซึ้ง เป็นไปเพื่อความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง การที่พระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงจะเป็นไปเพื่อความไม่รู้ นั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

ดังนั้น จึงขึ้นอยู่กับผู้ฟัง ผู้ศึกษา ว่าจะมีความละเอียดในการฟัง ในการศึกษามากน้อยแค่ไหน อย่างแรกสุด ได้ยินหรือพบคำหรือข้อความใด ต้องรู้ว่า คือ อะไร อย่างเช่น จากประเด็นเรื่องของสมาธิ แล้วสมาธิคืออะไร

ตามความเป็นจริงแล้ว สมาธิ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นสภาพธรรมที่ตั้งมั่นในอารมณ์ที่จิตรู้ (เอกัคคตาเจตสิก) เป็นเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกประเภท ไม่มีเว้น ขึ้นอยู่กับว่าจะเกิดร่วมกับจิตประเภทใด เกิดร่วมกับอกุศลจิต ก็เป็นมิจฉาสมาธิ เกิดร่วมกับกุศลจิต ก็เป็นสัมมาสมาธิ (กล่าวอย่างรวมๆ ) เพราะในพระไตรปิฎกแสดง สัมมาสมาธิ ซึ่งเป็นความสงบแนบแน่นของจิต เป็นฌานขั้นต่างๆ ซึ่งผลของสัมมาสมาธิ ที่เป็นฌานขั้นต่างๆ นั้น คือ ทำให้เกิดเป็นพรหมบุคคลตามระดับขั้นของฌาน เมื่อสิ้นสุดความเป็นพรหมบุคคลแล้ว ก็กลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้อีก คือ ยังไม่พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด ยังไม่พ้นจากทุกข์ในวัฏฏะ ไม่สามารถที่จะดับกิเลสใดๆ ได้เลย

สิ่งที่ควรพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง คือ การอบรมเจริญปัญญา (วิปัสสนาภาวนา) เป็นการอบรมเจริญปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูก ให้มีมากขึ้น เจริญขึ้น ซึ่งในขณะนั้น สมาธิที่เกิดขึ้นก็เป็นสัมมาสมาธิด้วย เมื่อมีปัญญาเจริญขึ้นคมกล้าขึ้น เป็นโลกุตตร-ปัญญา ย่อมละกิเลสได้ตามลำดับ สูงสุดคือถึงความเป็นพระอรหันต์ดับกิเลสทั้งปวงได้อย่างเด็ดขาด ไม่มีเหลือ ผู้มีจิตตั้งมั่น ในขณะที่ระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น เมื่อว่าโดยสภาพธรรมแล้ว คน สัตว์ ไม่มี มีแต่ ธรรม ซึ่งเป็นสัมมาสมาธิของผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานในชีวิตประจำวัน ซึ่งในขณะนั้นเกิดร่วมกันกับองค์มรรคอื่นๆ คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวายามะ และ สัมมาสติ ทั้งหมดนั้นเป็นเรื่องของความเจริญขึ้นของปัญญาที่เกิดจากการฟังการศึกษาพระธรรม ฟังในสิ่งที่มีจริง กล่าวคือ นามธรรมและรูปธรรม นั่นเอง

ถ้าขาดการฟัง การศึกษา ขาดความเข้าใจพระธรรมแล้วทำ ก็ทำผิด พูดก็ผิด ทุกอย่างผิดไปหมด เป็นการพอกพูนกิเลสอกุศลให้มีมากขึ้น ทำให้สังสารวัฏฏ์ยืดยาวต่อไปอีก

ดังนั้น ประโยชน์สูงสุดของการเกิดมาเป็นมนุษย์ คือ มีโอกาสได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ