จบที่ใจ

 
dets25226
วันที่  11 ก.พ. 2555
หมายเลข  20526
อ่าน  3,537

ขออนุญาตนำเอาข้อความในหนังสือธรรมะเล่มหนึ่งมากล่าวครับ ซึ่งผมคิดว่า มีประเด็นที่ควรนำมากล่าวอยู่ ดังต่อไปนี้

"หลายคนแสวงหาหนทางไม่มีสิ้นสุด แต่บางคนสิ้นสุด เพราะหยุดแสวงหา"

ธรรมดาปุถุชนก็ต้องหลงคิดปรุงแต่งหรือหลงส่งจิตออกนอกไป พอใจ ไม่พอใจ หรือ เพลินใจไปกับสิ่งใดๆ เสียก่อน เมื่อใดรู้ว่าตัวเองยังเป็นคนหลงไปดังกล่าว ก็ไม่ต้อง เสียใจ เพราะเมื่อใดรู้ว่าตัวเองเป็นคนหลงนั่นแหละจะทำให้สิ้นหลง ทุกขณะที่รู้ว่าหลง คิดปรุงแต่งหรือหลงส่งจิตออกนอก ก็เพียงแค่ให้มีสติรู้เท่ากันทุกครั้ง ไม่ต้องเครียดหรือหงุดหงิดไป ให้อภัยตัวเองอยู่เสมอๆ และไม่ต้องโทษว่าคนอื่นมาทำให้เราเป็นทุกข์ ให้มี สติ รู้เท่าทันทุกขณะที่หลงคิดหรือหลงส่งจิตออกนอกเรื่อยไปโดยไม่ ย่อท้อ สักวันหนึ่งก็จะสิ้นหลง

ดังที่ชาติหนึ่งพระพุทธองค์เกิดเป็นพระมหาชนก เมื่อเรือล่มแล้วก็ยังว่ายน้ำอยู่กลางมหาสมุทร โดยไม่ละความเพียร แม้ไม่เห็นฝั่ง ซึ่งเปรียบเหมือนการปฏิบัติธรรม ถึงแม้ไม่เห็นฝั่งพระนิพพาน ก็ให้เพียรมีสติ รู้เท่ากันทุกครั้งที่หลง (สติขาด) ถ้าไม่ท้อแท้เสียก่อน สักวันหนึ่งย่อมพบพระนิพพาน

พระนิพพานไม่ได้อยู่ไกลเกินเอื้อมที่จะไขว่คว้า แต่อยู่ที่ใจของตนเอง พระท่านหนึ่งได้ให้ปริศนาธรรมไว้ว่า พระนิพพานอยู่ฟากน้ำฝั่งโน้น พร้อมกับท่านชี้นิ้วยื่นออกไป ข้างหน้าราวกับว่าไกลลิบๆ แล้ววกนิ้วกลับมาชี้ที่ใต้ตาหรือริมตาขอท่านเอง พร้อมกับยิ้มแล้วพูดว่า ริมตา ซึ่งพระท่านหนึ่งจะบอกว่า พระนิพพานอยู่ใต้ตา หาเท่าไหร่ก็ไม่เห็น หยุดหาจึงจะเห็น

ขณะจิตใดที่สิ้นหลงคิดปรุงแต่ง ดิ้นรน ค้นหา พยายามอย่างใดๆ หรือสิ้นหลงส่งจิตออก นอกไปยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดทั้งภายในและภายนอกร่างกาย หรือสิ้นหลงปรุงแต่งเอาตัวเรา ไปรู้แล้ว "ธาตุรู้" หรือ "ธรรมธาตุ" หรือ "นิพพานธาตุ" ซึ่งเป็นความว่างเช่นเดียวกับ ความว่างของจักรวาล ไม่มีตัวตน ไม่มีรูปร่าง ไม่มีที่อยู่ ไม่มีขอบเขต ไม่มีอาการเกิดดับ หรือเปลี่ยนแปลง ก็เปิดเผยขึ้นมาเองโดยอัตโนมัติทันที เปรียบเหมือนกับความมืดหายไป ความสว่างก็ปรากฏขึ้นมาทันที

ข้อความดังกล่าว ถูกต้องบางส่วน หรือทั้งสิ้น โปรดกรุณาชี้แนะด้วยครับ

ด้วยความเคารพอย่างสูง

ธัมมสากัจฉา ตามกาลครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 12 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก่อนอื่นก็ต้องเข้าใจ คำว่า ปรุงแต่งให้ถูกต้องก่อนครับ ปรุงแต่ง หมายถึงอะไร

ขออธิบายเรื่องการปรุงแต่งและไม่ปรุงแต่งครับ จริงๆ แล้วเรามักเข้าใจว่าเมื่อไม่คิดอะไร เฉยๆ คือ การไม่ปรุงแต่ง แต่ในความจริงแล้ว สภาพธรรมที่ปรุงแต่งจิต คือ เจตสิก ซึ่งเมื่อใดที่จิตเกิดก็จะต้องมีเจตสิกเกิดแล้วครับ ปรุงแต่งจิตในขณะนั้นครับ ดังนั้นเพียงแค่ เห็น มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยปรุงแต่งจิตแล้ว ยังไม่ทันรู้ว่าเป็นอะไรเลยและขณะนั้นก็เฉยๆ เท่านั้นก็ปรุงแต่งแล้วครับ ปรุงแต่งด้วยเจตสิกที่เกิดขึ้นครับ

ธรรมเป็นเรื่องละเอียด แม้แต่หนทางในการอบรมปัญญา ที่เป็นการเจริญสติปัฏฐาน ต้องเริ่มจากคำว่า อนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ ไม่มีเรา มีแต่ธรรม ที่เป็น จิต เจตสิก และ รูป ครับเมื่อเข้าใจว่ามีแต่ ธรรม ไม่มีเราที่จะทำ หรือจะบังคับให้เป็นไปตามใจชอบ สภาพธรรมย่อมเป็นไปตามเหตุปัจจัยของเขา เมื่อเข้าใจ ความเป็นอนัตตาเช่นนี้แล้ว ก็ไม่พยายามที่จะทำ

ดังคำกล่าว ที่ว่า ก็เพียงแค่ให้มีสติรู้เท่าทันทุกครั้ง ไม่ต้องเครียด หรือหงุดหงิดไป ให้อภัยตัวเองอยู่เสมอๆ จากข้อความนี้ นั่นก็แสดงถึงความมีตัวตน ไม่เข้าใจว่าธรรมเป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ สติ เป็นธรรม และเป็นอนัตตา จึงไม่ใช่เราที่จะสามารถที่จะทำ คือ ให้สติเกิดรู้เท่าทันทุกครั้ง นั่นไม่ใช่ฐานะที่จะเป็นไปได้ ก็แล้วแต่ว่า สติจะเกิดเมื่อไหร่ครับ

และจากคำกล่าวที่ว่า

ไม่ต้องเครียด ไม่ต้องหงุดหงิด ให้อภัยตนเองเสมอ จากคำกล่าวนี้ เท่ากับว่า ยังไม่ได้เห็นถึงกำลังของกิเลสที่แท้จริงที่สะสมมาเนิ่นนาน และยังเป็นปุถุชนที่ยังมีอนุสัยกิเลส ครับ รวมทั้ง ปฏิฆานุสัย อันเป็นเหตุให้เกิด โทสะ ความเครียด เป็นต้น ดังนั้น เมื่อมีเหตุปัจจัย ก็เกิดความเครียด ความไม่พอใจ เป็นธรรมดา ไม่มีตัวเราที่จะต้องให้อภัย เพียงแต่ค่อยๆ เข้าใจความจริงที่เกิดขึ้น แม้ ความเครียด ก็มีจริง เป็นธรรม เป็นสภาพธรรมที่ควรรู้ยิ่งครับ และก็เกิดแล้ว ห้ามไม่ได้ เป็นปกติในชีวิตประจำวัน การอบรมปัญญา ก็ต้องเป็นปกติในชีวิตประจำวัน คือ ไม่ไปกั้นไม่ให้เครียด ไม่พอใจ แต่รู้ในสิ่งที่เกิดแล้ว นั่นเอง แต่ก็แล้วแต่ว่า สติและปัญญาจะเกิดหรือไม่ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 12 ก.พ. 2555

และจากข้อความที่ว่า

ดังที่ชาติหนึ่งพระพุทธองค์เกิดเป็นพระมหาชนก เมื่อเรือล่มแล้วก็ยังว่ายน้ำอยู่กลางมหาสมุทร โดยไม่ละความเพียร แม้ไม่เห็นฝั่ง ซึ่งเปรียบเหมือนการปฏิบัติธรรม ถึงแม้ไม่เห็นฝั่งพระนิพพาน ก็ให้เพียรมีสติ รู้เท่ากันทุกครั้งที่หลง (สติขาด) ถ้าไม่ท้อแท้เสียก่อน สักวันหนึ่งย่อมพบพระนิพพาน


ตามที่กล่าวแล้ว สภาพธรรมเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย แม้แต่ความเพียร ก็ไม่มีเราที่จะเพียร ซึ่ง ความเพียร หรือ วิริยเจตสิกเกิดกับจิตเกือบทุกประเภท ทั้งกุศล และ อกุศล ดังนั้น ปกติในชีวิตประจำวัน จึงมีความเพียรอยู่แล้ว โดยที่ไม่ต้องทำความเพียรต่างหาก และ ความเพียรให้มีสติรู้เท่าทัน ก็ไม่มีตัวเราที่จะทำความเพียรให้มีสติ เพราะแล้วแต่ว่า สติและปัญญาจะเกิดหรือไม่ เมื่อไหร่ที่สติและปัญญาเกิด มีความเพียรแล้วในขณะนั้น และจากข้อความที่ว่า

พระนิพพานไม่ได้อยู่ไกลเกินเอื้อมที่จะไขว่คว้า แต่อยู่ที่ใจของตนเอง พระรูปหนึ่ง ได้ให้ปริศนาธรรมไว้ว่า พระนิพพานอยู่ฟากน้ำฝั่งโน้น พร้อมกับท่านชี้นิ้วยื่นออกไป ข้างหน้าราวกับว่าไกลลิบๆ แล้ววกนิ้วกลับมาชี้ที่ใต้ตาหรือริมตาของท่านพร้อมกับยิ้ม แล้วพูดว่า ริมตา ซึ่งพระรูปนั้นคงจะบอกว่า พระนิพพานอยู่ใต้ตา หาเท่าไหร่ก็ไม่เห็น หยุดหาจึงจะเห็น


การจะเห็นพระนิพพาน ด้วยปัญญา ดังนั้นจะหา หรือไม่หาก็ตาม จะหยุดแสวงหาก็ตาม หากไม่มีปัญญาระดับสูง ก็ไม่มีทางเห็นพระนิพพานได้เลยครับ ซึ่งก่อนจะถึงพระนิพพาน ก็ต้องเข้าใจสภาพธรรมที่มีในขณะนี้ให้เข้าใจ ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา การจะถึงที่สุดของโลก คือ พระนิพพาน ไม่ใช่ไปหาด้วยโลภะ แสวงหาด้วยข้อปฏิบัติที่ผิด หรือ ไปหาในสถานที่ต่างๆ แต่ที่ตัวเรา ที่ ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจนี่เอง ซึ่งเมื่อรู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทาง ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ ย่อมถึงที่สุดของโลก คือ โลก ที่ไม่เกิด ดับ นั่นคือ ถึงพระนิพพาน ด้วยปัญญาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 12 ก.พ. 2555

และจากคำกล่าวที่ว่า

ขณะจิตใดที่สิ้นหลงคิดปรุงแต่ง ดิ้นรน ค้นหา พยายามอย่างใดๆ หรือสิ้นหลงส่งจิตออกนอก ไปยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดทั้งภายในและภายนอกร่างกาย หรือสิ้นหลงปรุงแต่ง เอาตัวเราไปรู้แล้ว "ธาตุรู้" หรือ "ธรรมธาตุ" หรือ "นิพพานธาตุ" ซึ่งเป็นความว่างเช่นเดียว กับความว่างของจักรวาล ไม่มีตัวตน ไม่มีรูปร่าง ไม่มีที่อยู่ ไม่มีขอบเขต ไม่มีอาการเกิด ดับ หรือเปลี่ยนแปลง ก็เปิดเผยขึ้นมาเองโดยอัตโนมัติทันที เปรียบเหมือนกับความมืด หายไป ความสว่างก็ปรากฏขึ้นมาทันที


จากข้อความนี้ ที่กล่าวว่าเอาตัวเราไปรู้ ย่อมเห็นพระนิพพาน ซึ่งเป็นไปไมได้เลยครับ ตัวเราไปรู้ไม่ได้ แต่ปัญญาต่างหากที่จะสามารถรู้ได้ รู้ความจริงทุกสิ่งทุกอย่างรวมทั้งพระนิพพานด้วย ส่วน พระนิพพาน ไม่ใช่ ความว่างเหมือนจักรวาล เพราะความว่างของจักรวาล ยังมีการกินเนื้อที่ มีเวลา แตกต่างจากสภาพธรรมที่เป็นพระนิพพาน ไม่มีการกินเนื้อที่ ไม่มีสถานที่และเวลา เพราะไม่มีการเกิดขึ้นนั่นเองครับ


และจากข้อความที่ว่า

"หลายคนแสวงหาหนทางไม่มีสิ้นสุด แต่บางคนสิ้นสุด เพราะหยุดแสวงหา"


การจะสิ้นสุด ไม่สิ้นสุด เป็นเรื่องของปัญญา เป็นสำคัญ การแสวงหา ตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ มี ๒ ประการ คือ การแสวงหาที่ประเสริฐ และการแสวงหาที่ไม่ประเสริฐ

การแสวงหาที่ประเสริฐ คือ การแสวงหาพระนิพพาน ด้วย ปัญญาที่อบรม ขณะนั้น กำลังแสวงหา เพื่อถึงพระนิพพาน

การแสวงหาที่ไม่ประเสริฐ คือ การแสวงหา สิ่งที่มีความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นธรรมดามี บุตร ภรรยา เงินและทอง เป็นต้น

ดังนั้น การอบรมปัญญา ย่อมทำให้ถึงจุดที่สิ้นสุด คือ ถึงการดับกิเลสและถึงพระนิพพานได้ครับ แต่ก่อนหน้านั้น ก็ต้องแสวงหา ด้วยปัญญา นั่นคือ การฟังพระธรรม ศึกษาพรธรรม อบรมปัญญา และเจริญกุศลประการต่างๆ ที่เป็นบารมี ๑๐ ครับ จบที่ใจที่มีปัญญา ไม่ใช่ใจอื่นครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ปุ้ม
วันที่ 12 ก.พ. 2555

จิตไปไหนเจตสิกก็อยู่ก็ไปกับจิต เพราะเกิดพร้อมจิต ถ้าไม่มีปัญญา หารู้ได้ ว่าอันไหนจิต อันไหนเจตสิก เพราะจิตแลเจตสิกไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน แต่คือธรรมธาตุ

จะรู้ได้นั้น เพียงปัญญาที่พ้นเจตนาเข้าร่วม ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ใช้เจตนาด้วยใจได้ แต่ถ้าเป็นปัญญา จะมีเจตนาหามิได้ ตราบใดที่มีเจตนาเข้ารู้ นั้นมิใช่ปัญญาที่เห็นนิพพาน

ขออุโมทนาครับ ท่านอาจารย์ทุกท่านครับ สาธุๆ ๆ ๆ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ปุ้ม
วันที่ 12 ก.พ. 2555

เมื่อเห็นนิพพาน มิกล่าวว่า ธาตุรู้คือนิพพาน

ใจที่ได้ปัญญามาอบรมแล้ว ไม่ควรกล่าวอีกว่าคือใจ แต่เป็นนิพพาน เพราะเป็นอันใหม่ มิใช่ของเดิม

"จบที่ใจที่มีปัญญา ไม่ใช่ใจอื่นครับ ขออนุโมทนา"

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
khampan.a
วันที่ 12 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สภาพธรรม คือ สิ่งที่มีจริง ที่เกิดเพราะปัจจัยปรุงแต่งแล้วก็ดับไป เกิดแล้วดับ ไม่มีอะไรเหลือ ไม่มีอะไรที่ยั่งยืน ดังนั้น จึงไม่มีใครเป็นเจ้าของสิ่งหนึ่งสิ่งใดในโลกเลย เพราะเกิดแล้วดับ ตามความเป็นจริงแล้ว ถึงแม้ว่าสิ่งที่เป็นที่รัก ที่น่าปรารถนาน่าใคร่น่าพอใจเหล่านั้นไม่ได้พลัดพรากไป แต่ในที่สุด เราก็จะต้องจากสิ่งที่น่าปรารถนาเหล่านั้นไปเมื่อถึงวาระที่จะต้องละจากโลกนี้ เพราะทุกคนเกิดมาแล้วต้องตาย และไม่สามารถนำเอาอะไรติดตามตัวไปได้เลย ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สมบัติ หรือบุคคลผู้เป็นที่รัก ก็ตาม สิ่งที่ควรแสวงหา จึงไม่ใช่รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ แต่สิ่งที่ควรจะแสวงหาเป็นอย่างยิ่ง คือ ปัญญา ความเข้าใจถูก เห็นถูก ซึ่งเป็นการแสวงหาที่ประเสริฐ ที่จะทำให้รู้ความจริงของสภาพธรรม จนกระทั่งสามารถที่จะละคลายความติดข้องต้องการได้ เพราะความติดข้องต้องการนี้เอง เป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ เกิดความเดือดร้อนมากมาย เมื่อมีปัญญาที่เพิ่มขึ้นไปตามลำดับ ก็จะสามารถละคลายความติดข้องต้องการและสามารถดับทุกข์ได้ในที่สุด ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏฏ์อีกต่อไป เป็นการสิ้นสุดแห่งสังสารวัฏฏ์ สิ้นสุดการเดินทางในสังสารวัฏฏ์ โดยต้องเริ่มจากการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ในแนวทางที่ถูกต้อง ตรงตามที่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้เท่านั้น ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
peem
วันที่ 12 ก.พ. 2555
ขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
pamali
วันที่ 13 ก.พ. 2555

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
เซจาน้อย
วันที่ 14 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
ไตรสรณคมน์
วันที่ 14 ก.พ. 2555
อ้างอิงจาก : หัวข้อ 20526 ความคิดเห็นที่ 4 โดย ปุ้ม

จิตไปไหนเจตสิกก็อยู่ก็ไปกับจิต เพราะเกิดพร้อมจิต ถ้าไม่มีปัญญา หารู้ได้ ว่าอันไหน

จิต อันไหนเจตสิก เพราะจิตแลเจตสิกไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน แต่คือธรรมธาตุ

จะรู้ได้นั้น เพียงปัญญาที่ พ้นเจตนาเข้าร่วม ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ใช้เจตนาด้วยใจได้

แต่ถ้าเป็นปัญญา จะมีเจตนาหามิได้ ตราบใดที่มีเจตนาเข้ารู้ นั้นมิใช่ปัญญาที่เห็นนิพพาน

ขออุโมทนาครับ ท่านอาจารย์ทุกท่านครับ สาธุๆ ๆ ๆ

ท่านค่ะ เจตนาเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวงไม่เว้นเลยนะคะ ไม่ทราบว่าท่านจะเอาเจตนาไปทิ้งไว้ที่ไหน?

ขณะที่ปัญญาเกิด ขณะนั้นเจตนาก็เกิดร่วมด้วยค่ะ (พร้อมกับเจตสิกดวงอื่นๆ )

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
ไตรสรณคมน์
วันที่ 14 ก.พ. 2555
อ้างอิงจาก : หัวข้อ 20526 ความคิดเห็นที่ 5 โดย ปุ้ม

เมื่อเห็นนิพพาน มิกล่าวว่า ธาตุรู้คือนิพพาน

ใจที่ได้ปัญญามาอบรมแล้ว ไม่ควรกล่าวอีกว่าคือใจ แต่เป็นนิพพาน เพราะเป็นอันใหม่

มิใช่ของเดิม

"จบที่ใจที่มีปัญญา ไม่ใช่ใจอื่นครับ ขออนุโมทนา"

นิพพานไม่ใช่ใจ และใจก็ไม่ใช่นิพพานค่ะ ทั้งนิพพานและใจ (จิต) เป็นนาม

แต่นิพพานไม่ใช่สภาพรู้ แต่สามารถรู้ได้ด้วยจิต ซึ่งเป็นสภาพรู้ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
dets25226
วันที่ 15 ก.พ. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ ที่ได้กรุณาอธิบายข้อเท็จ - จริง

ผมคิดว่า คนเราสมัยนี้ รวมถึงผมด้วย มองอะไรก็มองง่ายๆ มากจนเกินไป คิดว่า ธรรมะ เป็นของง่ายๆ เข้าใจง่ายๆ ปฏิบัติง่ายๆ

หารู้ซึ้งถึงสภาพที่เป็นจริง ซึ่งองค์พระศาสดาผู้ประกอบด้วยพระบารมีถึง ๓๐ ทัศ หาผู้เสมอไม่ได้ ทรงตรัสรู้ด้วยพระปัญญา ก็ต้องใช้เวลาถึง ๖ ปีในการแสวงหาโมกขธรรมไม่

มนุษย์ตัวน้อยคนหนึ่ง เรียนมาแค่เล็กๆ น้อยๆ คิดว่า เข้าใจดี เขียนโน้น เขียนนี่ ไปต่างๆ

ผมคิดว่า มันยังห่างไกลความจริงมากอยู่ ถึงจะใกล้ความจริง ก็แค่ลอกๆ เขามา ไม่ใช่วิมุตติที่ได้ถึงเอง

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ