สเหตุกกุศลวิบาก

 
วิริยะ
วันที่  10 ก.พ. 2555
หมายเลข  20522
อ่าน  1,933

เรียนถาม

สเหตุกกุศลวิบากจิต ต้องมีโสภณเหตุเกิดร่วมด้วย โสภณเหตุนั้นคือ อโมหเหตุซึ่งหมายถึงปัญญา ใช่หรือไม่คะ และถ้าเป็นกรณีที่ ไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วยแล้ว อยากทราบว่า โสภณเหตุคืออะไร

ขอบพระคุณอย่างสูง


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 10 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

โสภณเหตุ คือ เหตุเจตสิกที่เกิดได้กับโสภณจิต หมายถึงเหตุเจตสิก ๓ ดวงคือ อโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิก ซึ่งเกิดได้กับจิตที่ดีงาม คือ โสภณจิต ๕๙ ดวง ซึ่งมีทั้ง ๓ ชาติ เป็นกุศลชาติ ๒๑ ดวง เป็นวิปากชาติ ๒๑ ดวง และเป็นกิริยาชาติ ๑๗ ดวง โสภณจิตบางดวงมีเหตุ ๒ บางดวงก็มีเหตุ ๓

ส่วนคำว่า สเหตุกะ

สเหตุกะ หมายถึง ธรรม ที่มีเหตุเกิดร่วมด้วย

ได้แก่ สเหตุกจิต ๗๑ และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ซึ่งสเหตุกจิต คือ จิตที่ประกอบด้วย เหตุเกิดร่วมด้วย เหตุในที่นี้ หมายถึง สภาพธรรมที่เป็นเหตุ ที่เป็นเจตสิก ๖ ดวง คือ โลภเจตสิก โทสเจตสิก โมหเจตสิก อโลภเจตสิก อโทสเจตสิกและอโมหเจตสิก จิตใดที่มีเหตุ ประการใดประการหนึ่ง ในเหตุ ๖ ประการที่กล่าวมา ชื่อว่า สเหตุกจิต สเหตุกกุศลวิบาก คือ วิบากจิตที่มีเหตุประกอบ หมายถึง วิบากจิต ๒๑ ดวง ที่มี เหตุเจตสิกเกิดร่วมด้วยได้แก่ มหาวิบากจิต ๘ ดวง ญาณวิปปยุตต์ ๔ ดวง มีเหตุ ๒ คือ อโลภ อโทสญาณสัมปยุตต์ ๔ ดวง มีเหตุ ๓ คือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ

รูปวจรวิบากจิต ๕ ดวง มีเหตุ ๓ คือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ

อรูปาวจรวิบากจิต ๔ ดวง มีเหตุ ๓ คือ อโลภ อโทส อโมหโลกุตรวิบากจิต ๔ ดวง มีเหตุ ๓ คือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ

จะเห็นนะครับว่า สเหตุกกุศลวิบาก จะต้องประกอบด้วยเหตุที่ดี อย่างน้อย ๒ เหตุ คือ อโลภ อโทส แต่ไม่จำเป็นจะต้องมี อโมหเจตสิก ที่เป็นปัญญาเกิดร่วมด้วยก็ได้ครับ

ตามที่ได้กล่าวมา ในการอธิบาย สเหตุกกุศลวิบากและประเภทครับ คือ มหาวิบาก ๔ ดวง ที่เป็น กามาวจรกุศลวิบาก ไม่ประกอบด้วยปัญญา คือ ไม่ประกอบด้วยอโมหเจตสิก แต่มี อโลภเจตสิกและอโทสเจตสิก ครับ

สรุปได้ว่า ที่ไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย ที่เป็น สเหตุกกุศลวิบาก มีเหตุเกิดร่วมด้วย ๒ ประการ คือ อโลภะ และ อโทสะ ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 10 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การศึกษาพระธรรม ต้องมีความละเอียดรอบคอบ เมื่อกล่าวถึงคำอะไร ก็ต้องเข้าใจว่า คำนั้นหมายถึงอะไร สเหตุกกุศลวิบากจิต หมายถึง จิตชาติวิบากอันเป็นผลของกุศล ที่มีเหตุเกิดร่วมด้วย หรือ กุศลวิบากจิตอันประกอบด้วยเหตุ ก็ได้ และจะต้องเข้าใจอีกว่า เหตุ นั้น ได้แก่อะไร

เหตุ หมายถึงสภาพธรรมที่เป็นมูลรากให้สภาพธรรมเหล่านั้นเกิดขึ้น เจริญขึ้น มีด้วยกันทั้งหมด ๖ เหตุ แบ่งเป็น ๒ ฝ่าย คือ อกุศลเหตุ ๓ ได้แก่ โลภเหตุ โทสเหตุ และ โมหเหตุ

อกุศลเหตุทั้ง ๓ นี้ จะเกิดร่วมกับจิตชาติอกุศลเท่านั้น จะไม่เกิดร่วมกับจิตชาติอื่นๆ เลย และ อีกฝ่ายหนึ่งคือ โสภณเหตุ หมายถึง เหตุที่ดีงาม มี ๓ เหตุ คือ อโลภเหตุ อโทสเหตุ และ อโมหเหตุ โสภณเหตุทั้ง ๓ นี้ เกิดร่วมกับจิตฝ่ายดีเท่านั้น จึงชื่อว่าโสภณเหตุ เกิดร่วมกับกุศลจิตก็ได้ วิบากจิตก็ได้ กิริยาจิตก็ได้ ตามสมควรแก่จิตประเภทนั้น แต่โสภณเหตุทั้ง ๓ จะไม่เกิดร่วมกับอกุศลจิตเลย

ดังนั้น จากคำถามที่ว่า สเหตุกกุศลวิบากจิต ต้องมีโสภณเหตุ เกิดร่วมด้วย ใช่หรือไม่?

คำตอบ คือ ใช่ เพราะเหตุว่า เป็นกุศลวิบากที่ประกอบด้วยเหตุ เหตุ ในที่นี้ต้องไม่ใช่อกุศลเหตุอย่างแน่นอน เพราะจากความเข้าใจเบื้องต้นที่ว่า อกุศลเหตุ ๓ จะเกิดร่วมกับอกุศลจิตเท่านั้น ไม่เกิดร่วมกับจิตชาติอื่น เหตุที่เกิดร่วมกับกุศลวิบากนี้ ต้องเป็นโสภณเหตุเท่านั้น ตามสมควรแก่วิบากจิตประเภทนั้น อย่างน้อยต้องประกอบด้วยโสภณเหตุ ๒ คือ อโลภเหตุ กับ อโทสเหตุ แต่ถ้ากุศลวิบากจิตประเภทนั้น มีปัญญาเกิดร่วมด้วย ก็จะมีอโมหเหตุ (ซึ่งก็คือปัญญาเจตสิก) เกิดร่วมด้วย ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
วิริยะ
วันที่ 10 ก.พ. 2555

เรียนถาม

เข้าใจที่อาจารย์ได้กรุณาอธิบาย ในแง่ของเหตุ ๓ เหตุแล้วค่ะ

อยากเรียนถามต่อว่า สเหตุกกุศลวิบาก เรียกว่า เป็นสิ่งบ่งชี้ถึงปฏิสนธิจิตของบุคคลที่ประกอบกุศลกรรมในอดีตชาติ เท่านั้น ใช่หรือไม่

ส่วนอเหตุกกุศลวิบากจิตอีก ๘ นั้น คือจิตที่ได้รับอารมณ์ที่ดี ซึ่งถ้าเอ่ยถึงวิถีจิตแล้ว ก็หมายถึง ปัญจวิญาณจิต ไปจนถึงตฑาลัมพนจิต ยกเว้น ปัญจทวาราวัชนจิต โวฏฐัพพนจิต ชวนจิต และมโนทวาราวัชนจิต เท่านั้น เพราะไม่ใช่ชาติวิบาก

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
เซจาน้อย
วันที่ 10 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

จากคำถามที่ว่า สเหตุกกุศลวิบากจิต ต้องมีโสภณเหตุ เกิดร่วมด้วย ใช่หรือไม่?

คำตอบ คือ ใช่

"สเหตุกกุศลวิบากจิต หมายถึง จิตชาติวิบากอันเป็นผลของกุศล ที่มีเหตุเกิดร่วมด้วย หรือ กุศลวิบากจิตอันประกอบด้วยเหตุ ก็ได้"

สเหตุกกุศลวิบากที่ไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย (โสภณเหตุ) คือ

เหตุเกิดร่วม ด้วย ๒ ประการ คือ อโลภะ และ อโทสะ ครับ

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนา อ.ผเดิม, อ.คำปั่น และ ทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
paderm
วันที่ 10 ก.พ. 2555

เรียนความเห็นที่ 3 ครับ

สำหรับ คำถามที่ว่า

สเหตุกกุศลวิบาก เรียกว่า เป็นสิ่งบ่งชี้ถึงปฏิสนธิจิตของบุคคลที่ประกอบกุศลกรรมในอดีตชาติ เท่านั้น ใช่หรือไม่

ถูกต้องครับ


และจากคำถามที่ว่า

ส่วนอเหตุกกุศลวิบากจิตอีก ๘ นั้น คือ จิตที่ได้รับอารมณ์ที่ดี ซึ่งถ้าเอ่ยถึงวิถีจิตแล้ว ก็หมายถึง ปัญจวิญาณจิต ไปจนถึงตฑาลัมพนจิต ยกเว้น ปัญจทวาราวัชนจิต โวฏฐัพพนจิต ชวนจิต และมโนทวาราวัชนจิต เท่านั้นเพราะไม่ใช่ชาติวิบาก


ถูกต้องครับ และ ขออธิบายเสริมดังนี้

อเหตุกุศลวิบาก ๘ ดวง เป็นผลของกามาวจรกุศลจิต ๘ ดวง ซึ่งมีเจตนาที่เป็นกุศล สำเร็จในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ คือ ทาน ศีล ภาวนา เป็นต้น เมื่อกุศลเจตนาเกิดขึ้น กระทำกุศลกรรมสำเร็จแล้ว กุศลเจตนานั้นย่อมเป็นกัมมปัจจัยให้เกิดผลคือ กามาวจรกุศลวิบากจิต ๑๖ ดวง คือ เป็นกามาวจรสเหตุกกุศลวิบากจิต ๘ ดวง และเป็นอเหตุกกุศลวิบากจิต ๘ ดวง

อเหตุกกุศลวิบากจิต ๘ ดวงคือ ...

อุเปกฺขาสหคตํ จกฺขุวิญฺญาณํ

จิตเห็นวัณณะ (ที่ดี) เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา

อุเปกฺขาสหคต โสตวิญฺญาณํ

จิตได้ยินเสียง (ที่ดี) เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา

อุเปกฺขาสหคตํ ฆานวิญฺญาณํ

จิตได้กลิ่น (ที่ดี) เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา

อุเปกฺขาสหคต ชิวหาวิญฺญาณํ

จิตลิ้มรส (ที่ดี) เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา

สุขสหคตํ กายวิญฺญาณํ

จิตรู้โผฏฐัพพะ (ที่ดี) เกิดร่วมกับสุขเวทนา

อุเปกฺขาสหคตํ สมฺปฏิจฺฉนฺนํ

จิตรับรู้อารมณ์ ๕ ต่อจากปัญจวิญาญาณ กุศลวิบากจิต เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา

อุเปกฺขาสหคตํ สนฺตีรณํ

เป็นสันตีรณจิต คือ จิตพิจารณาอารมณ์ ๕ ต่อจากสัมปฏิจฉันนะกุศลวิบากจิต เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา

โสมนสฺสสหคตํ สนฺตีรณํ

เป็นสันตรณจิต คือ จิตพิจารณาอารมณ์ ๕ ที่ดีพิเศษ ต่อจากสัมปฏิจฉันนะ กุศลวิบากจิต เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
khampan.a
วันที่ 10 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขออนุญาตแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมจากความคิดเห็นที่ 3 ครับ

สเหตุกกุศลวิบาก กว้างมาก มีทั้งมหาวิบาก ๘ รูปาจวรวิบาก ๕ อรูปาวจรวิบาก ๔ และ โลกุตตรวิบาก ๔ (รวมเป็น ๒๑ ดวง) ถ้าจะกล่าวถึงสเหตุกกุศลวิบากจิต ที่กระทำปฏิสนธิกิจ ต้องหมายถึงเฉพาะ มหาวิบาก ๘ ดวงหนึ่งดวงใด รูปาวจรวิบาก ดวงหนึ่งดวงใด และ อรูปาวจรวิบาก ดวงหนึ่งดวงใด ซึ่งเป็นจิตที่กระทำปฏิสนธิกิจ เท่านั้น เมื่อกระทำปฏิสนธิกิจ ก็กระทำภวังคกิจ และ จุติกิจ ด้วย

ส่วนสเหตุกกุศลวิบาก ที่เป็นโลกุตตรวิบาก ๔ ดวง ไม่ได้เป็นเหตุให้เกิดในภพใหม่ ไม่ได้กระทำปฏิสนธิกิจ สเหตุกกุศลวิบากจิตที่กระทำปฏิสนธิกิจ มีเพียง ๑๗ ดวงเท่านั้น คือ มหาวิบาก ๘ (ดวงหนึ่งดวงใด) รูปาวจรวิบาก ๕ (ดวงหนึ่งดวงใด) และ อรูปาวจรวิบาก ๔ (ดวงหนึ่งดวงใด) ซึ่งเป็นของกุศลกรรม ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
วิริยะ
วันที่ 10 ก.พ. 2555

เรียนถาม

อุเบกขา สันตีรณอกุศลวิบาก อุเบกขาสัณตีรณกุศลวิบาก และ สเหตุกกุศลวิบาก มีกิจต่างกันอย่างไร ต้องขอประทานโทษถ้าดิฉันถามวกวน เพราะบางทีก็จะเริ่มงงๆ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
paderm
วันที่ 10 ก.พ. 2555

เรียนความเห็นที่ 7 ครับ

อุเบกขา-สันตีรณ-อกุศลวิบากจิต. เป็นผลของอกุศลกรรม อย่างใดอย่างหนึ่ง ทำปฏิสนธิกิจในอบายภูมิ ๔ คือเกิดในนรก เกิดเป็นเปรต เกิดเป็นอสุรกาย เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน. และทำกิจ ภวังคกิจ และ จุติกิจ

อุเบกขา-สันตีรณ-กุศลวิบากจิต. เป็นผลของกุศลกรรมอย่างอ่อน ที่ไม่มีกำลัง. เมื่ออุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก ทำปฏิสนธิกิจ ในภูมิมนุษย์เนื่องจากเป็นผลของกุศลกรรมที่ไม่มีกำลัง จึงมีปัจจัยให้ อกุศลกรรมเบียดเบียน ทำให้เกิดเป็นมนุษย์ที่พิการ บ้า ใบ้ บอด หนวก ฯลฯ ตั้งแต่กำเนิด. และเมื่อทำปฏิสนธิ ก็ทำภวังคกิจและจุติกิจ ด้วยครับ

สเหตุกกุศลวิบากจิต มีหลายดวง บางดวงทำกิจปฏิสนธิจิต ภวังคกิจ และจุติกิจ แต่สเหตุกกุศลวิบากจิต บางดวงไม่ได้ทำกิจ ปฏิสนธิ ภวังค์ และ จุติกิจครับ

สรุป คือ

มหาวิบาก ๘ (ดวงหนึ่งดวงใด ทำกิจปฏิสนธิ ทำกิจภวังค์ และทำกิจจุติ สำหรับผู้ที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ไม่พิการตั้งแต่กำเนิด และผู้ที่เกิดเป็นเทวดาในสวรรค์ชั้นต่างๆ ) ,

อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก (ทำกิจปฏิสนธิ ทำกิจภวังค์ และทำกิจจุติ สำหรับผู้ที่เกิดเป็นมนุษย์ที่พิการตั้งแต่กำเนิด และ เกิดเป็นเทวดาชั้นต้น) ,

อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบาก (ทำกิจปฏิสนธิ ทำกิจภวังค์ และทำกิจจุติ สำหรับผู้เกิดเป็นสัตว์ในอบายภูมิ) ,

รูปาวจรวิบาก ๕ (ทำกิจปฏิสนธิ ทำกิจภวังค์ และ ทำกิจจุติ สำหรับผู้เกิดเป็นรูปพรหมบุคคล) ,

อรูปาวจรวิบาก ๔ (ทำกิจปฏิสนธิ ทำกิจภวังค์ และ ทำกิจจุติ สำหรับผู้เกิดเป็นอรูปพรหมบุคคล)

แต่โลกุตตรกุศลวิบาก ไม่ทำกิจ ปฏิสนธิ ภวังค์ และ จุติกิจ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
วิริยะ
วันที่ 11 ก.พ. 2555

เรียนถาม

ขอเรียนถามว่า อุเบกขา สันตีรณ กุศลวิบากจิต และ อุเบกขา สันตีรณ อกุศลวิบากจิต นอกจากจะทำกิจ ปฏิสนธิ ภวังค์ และ จุติกิจแล้ว ยังทำกิจ สันตีรณ ตฑาลัมพน ด้วยหรือไม่อย่างไรคะ

ขอบพระคุณอย่างสูง

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
paderm
วันที่ 11 ก.พ. 2555

เรียนความเห็นที่ 10 ครับ

อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบากจิต และ อุเบกขา สันตีรณอกุศลวิบากจิต นอกจากจะทำกิจปฏิสนธิ ภวังค์ และ จุติกิจแล้ว ยังทำกิจ สันตีรณะ และ ตฑาลัมพนะ ด้วยครับ

ถูกต้องครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
วิริยะ
วันที่ 11 ก.พ. 2555

เรียนถาม

มหาวิบากจิต ๘ ทำกิจ ปฏิสนธิ ภวังค์ และ จุติ รวมทั้ง ตฑาลัมพนะ แต่ไม่มี สันตีรณะ หรือคะ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
paderm
วันที่ 11 ก.พ. 2555

เรียนความเห็นที่ 12 ครับ

มหาวิบากจิต ๘ ทำกิจ ปฏิสนธิ ภวังค์ และจุติ รวมทั้ง ตฑาลัมพนะ แต่ไม่มี สันตีรณะกิจเพราะ มหาวิบาก เป็นจิตที่ประกอบด้วยเหตุ สันตีรณะ เป็นอเหตุกจิต และ สันตีรณจิต ที่ทำ สันตีรณกิจ แต่ มหาวิบาก ไม่ได้ทำ สันตีรณกิจครับ ต้องเป็น สันตีรณจิต ทำกิจสันตีรณะ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
วิริยะ
วันที่ 11 ก.พ. 2555

ขอบพระคุณอาจารย์ผเดิมมากค่ะ จะค่อยๆ ศึกษาไปตามลำดับค่ะ และ

ขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ