ปฏิบัติเพื่อละตัวตน หรีอว่าละตัวตนเสียก่อนจึงปฏิบัติ

 
apitum
วันที่  16 ม.ค. 2555
หมายเลข  20374
อ่าน  4,021

เรากลัวว่าจะมีตัวตนในการปฏิบัติ ต้องปฏิบัติโดยไม่มีตัวตน เราจะงงไปหรีอเปล่าที่เอาผลมาเป็นเหตุ (กลับหัวกลับหางกัน) ปฏิบัติเพื่อละตัวตน หรือว่าละตัวตนเสียก่อนจึงปฏิบัติ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 16 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เพราะเหตุไม่ถูกต้อง ผลจะถูกต้องไม่ได้เลยครับ เพราะเหตุไม่ตรง ผลจะตรงไม่ได้ แต่เพราะเริ่มจากเหตุที่ตรงที่ถูกต้อง ผลก็ย่อมถูกต้องได้ครับ ดังนั้น เริ่มจากความเข้าใจถูกเบื้องต้นในขั้นการฟังว่า ไม่มีเรา มีแต่ธรรม ไม่มีตัวตน เมื่อมีความเข้าใจเบื้องต้นที่ถูกต้อง เช่นนี้ ก็ย่อมนำไปสู่ผลที่ถูกต้อง คือ ละคลายความยึดถือว่ามีตัวตน รู้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา นี่คือ เริ่มจากเหตุที่ถูกต้อง ย่อมนำไปสู่ผลที่ถูกต้อง หากแต่ว่าเริ่มจากเหตุที่ผิด คือ สำคัญผิดว่า มีเรา มีตัวตน ผล คือ จะละความเป็นตัวตนไม่ได้ เพราะสำคัญผิด ตั้งแต่ต้นนั่นเองครับ เพราะแม้แต่คำว่าปฏิบัติ ใครปฏิบัติครับ เรา หรือ ธรรม หากเข้าใจผิดตั้งแต่ต้น ว่าทำได้ ใครทำครับ เรา หรือ ธรรมที่ทำหน้าที่ สติและปัญญาต่างหากที่เกิดขึ้นทำหน้าที่ปฏิบัติ และ สติ ปัญญาก็เป็นธรรม และเมื่อเป็นธรรม ก็เป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ เพราะไม่ใช่เรา หากสำคัญว่าทำได้ ก็ลืมความเป็นอนัตตา ก็พยายามจะทำสติ ทำปัญญาให้เกิด นี่ก็เริ่มจากความเป็นตัวตนที่เข้าใจผิดตั้งแต่ต้น ก็ไม่มีทางถึง การละคลายความเป็นตัวตนได้เลย เพราะเริ่มจากความเป็นตัวตน คือทำได้ เพราะไม่เข้าใจคำว่าเป็นอนัตตานั่นเองครับ เพราะธรรมทั้งหลายเกิดจากเหตุปัจจัย ไม่ใช่เรา ครับ

ดังนั้น หากสำคัญว่า หัวเป็นหาง หรือ หางเป็นหัว ก็เท่ากับเข้าใจผิดตั้งแต่ต้น ผลก็ไม่ถูกต้องตามเหตุที่ไม่ถูกต้อง ครับ แต่หากเริ่มจากความเห็นถูก คือ สัมมาทิฏฐิ เข้าใจว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา ไม่มีเรา มีแต่ธรรมในขั้นการฟัง เริ่มจากขั้นการฟังนะครับ เข้าใจว่าไม่มีตัวตนที่จะทำ หรือ ปฏิบัติ เพราะมีแต่ธรรมทำหน้าที่ ก็จะไม่พยายามที่จะเลือกธรรมให้สติเกิด รู้อย่างนั้น อย่างนี้ แต่อบรมเหตุ คือ ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ปัญญาก็ค่อยๆ เจริญขึ้น จนเมื่อเหตุปัจจัยพร้อม สติก็เกิด ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้เอง เป็นปกติและเป็นอนัตตานั่นเองครับ เริ่มจากเหตุถูก ผลย่อมถูก เริ่มจากเหตุผิด เข้าใจผิด ผลก็ย่อมผิดครับ อภิธรรมก็บอกอยู่แล้วครับว่า มีแต่ธรรม ไม่มีเรา เริ่มจากการฟังให้เข้าใจตรงนี้ก่อนครับ แม้แต่คำว่า อภิธรรม และไม่มีสูตรไหน พระธรรมบทใดเลยที่แสดงว่า เริ่มจากความมีตัวตน เริ่มจากความเห็นผิด ย่อมนำไปสู่ การละคลายความมีตัวตน นำไปสู่ความเห็นถูก ครับ

ขออนุโมทนา

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ ...

ปฏิบัติธรรม ไม่ใช่การไปทำปฏิบัติ

ลองคลิกฟังที่นี่ครับ

ไม่มีตัวตนที่น้อม แต่น้อมโดยสังขารขันธ์

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 16 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ในคำสอนทางพระพุทธศาสนา มีคำว่า ปฏิบัติธรรม แต่ถ้าไม่ได้ศึกษาให้เข้าใจในความเป็นจริงของสภาพธรรมแล้ว ย่อมไม่มีทางที่จะเข้าใจในความเป็นจริงของคำดังกล่าวนี้ เพราะทรงแสดงถึงการถึงเฉพาะซึ่งสภาพธรรมที่มีจริงที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ธรรมเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ของธรรม คือ สติเกิดขึ้นระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมและปัญญารู้ตรงตามความเป็นจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งจะต้องอาศัยการฟัง การศึกษาพระธรรม สะสมความเข้าใจในเรื่องของสภาพธรรมไปตามลำดับ เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีความเข้าใจที่ถูกต้องแล้ว การปฏิบัติถูกต้อง ย่อมมีไม่ได้อย่างแน่นอน มีแต่เป็นการไปทำอะไรที่ผิดปกติขึ้นมาทำให้สะสมกิเลส กล่าวคือ ความเห็นผิดและความไม่รู้ เป็นต้น ต่อไปอีก จนยากที่จะแก้ไขได้ เพราะฉะนั้นความเข้าใจถูก เห็นถูก จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด โดยขอให้ค่อยๆ เริ่มฟัง เริ่มศึกษา ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ เพราะแท้ที่จริงแล้ว สัตว์ บุคคล ตัวตนไม่มี มีแต่ธรรมเท่านั้นจริงๆ ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
เซจาน้อย
วันที่ 16 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่ 16 ม.ค. 2555

อยากได้คำตอบ แต่ไม่ใส่ใจ ในคำตอบ

สิ่งที่ชอบ ตอบถูกใจ จึงใฝ่ถึง

ถูกหรือผิด ไม่ใคร่ครวญ หวนคำนึง

ถูกใจจึง จะชอบ ให้ตอบมา

ก็พระธรรม คำลึกซึ้ง พึงครวญคิด

เพ่งพินิจ ให้ถูกต้อง ที่ปองหา

หากเห็นผิด ไม่ตรง ซึ่งปัญญา

อกุศลพา บุคคลไป ที่ไหนกัน

ก็มานะ ตัวตน คนช่างคิด

จิตวิจิตร จริงแท้ ไม่แปรผัน

มีตัวตน สำคัญผิด ชีวิตพลัน

หลงจุดหมาย สิ้นกัน แห่งชีวี

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
วิริยะ
วันที่ 16 ม.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
pat_jesty
วันที่ 16 ม.ค. 2555

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
--MoN--Pp--
วันที่ 17 ม.ค. 2555

เรียนขอร่วมสนทนา กับ คุณ apitum

จากข้อความที่คุณยกมา

เรากลัวว่าจะมีตัวตนในการปฏิบัติ ต้องปฏิบัติโดยไม่มีตัวตน เราจะงงไปหรีอเปล่า ที่เอาผลมาเป็นเหตุ (กลับหัวกลับหางกัน) ปฏิบัติเพื่อละตัวตน หรือว่าละตัวตนเสียก่อนจึงปฏิบัติ

ขอสนทนาดังนี้

เพราะว่า กว่าจะฟังให้เข้าใจ จนสติปัฐานเกิดได้ ต้องมีเหตุคือ สมาธิพร้อมปัญญาในสัจจญาณ มากน้อยขึ้นอยู่กับอินทรีย์ คือกุศลและสมาธิทั้งปวงที่เป็น วิวัฏฏะ ที่สะสมต่างกัน ไม่ใช่เฉพาะกุศลและสมาธิ ที่เป็น วัฏฏะ แม้เป็น อัปปนาสมาธิ ก็ไม่ใช่ สัมมาสมาธิ ในองค์มรรค เพราะ อุปมา การต้องการผลของเมล็ดพันธ์ุพืช แต่ได้ผลคนละพันธ์ุ กุศลและสมาธิที่เป็นวัฏฏะ เพียงอุปถัมภ์ เหมือนให้ร่มเงาแก่พันธ์ุพืช ที่ปลูกจนออกดอก ผลตรงกับพันธ์ุที่ปลูก แต่ไม่ได้ออกดอกผลตามพันธ์ุพืช ที่ให้ร่มเงา เอามาเป็นสิ่งเดียวกันไม่ได้ ไม่ต้องพูดถึงการเข้าใจผิดที่เป็น อกุศล และมิจฉาสมาธิ เป็นวัฏฏะที่ไม่ดี

ผู้เข้าใจการเจริญสติปัฏฐาน รู้กำลัง ปัญญาของตัวเอง สะสมที่จะมีความเพียร วิริยเจตสิก ทำหน้าที่ไม่ท้อถอยไม่ยอมแพ้อกุศลธรรมอยู่แล้ว ไม่ต้องพูดออกมา หรือพูดในใจว่าต้องเพียรเสียก่อนและไม่ต้องบอกให้ใครรู้ว่าเป็นตัวตนเสียก่อน เพราะใครๆ ที่ไม่มีสัจจญาณ ก็เป็นอย่างนั้น จึงไม่เป็นปัจจัยให้ สติปัฐานเจริญขึ้น ด้วยการพูด นั้นไม่ใช่หนทาง (สัมมามรรค) เพราะหากสติปัฏฐานเกิดได้

สัจจญาณ รู้ว่าแม้ที่เข้าใจว่าเป็นตัวตนนั้น ก็รู้ว่าเป็นเราด้วยโลภะบ้าง เป็นเราดัวยอัตสัญญาบ้าง มานะบ้าง แต่ไม่ต้องเป็นเราก่อน เพราะไม่มีเราเลย แต่เป็น อัตสัญญาเจตสิกบ้าง เป็นโลภะบ้าง

เพราะในขณะที่ไม่มีสติปัฏฐาน และ สัจจญาณที่มั่นคง แม้เป็นอุปจาร หรืออัปปนาสมาธิ ไม่พ้นจากความเข้าใจว่ามีเรา จนเข้าใจผิดได้ว่าต้องมีเราก่อน ตัวตนก่อน จึงเหมือนบังคับได้ก่อน แต่ เพราะไม่มีญาณต่างๆ ในอริยสัจ ๔ นั่นเอง

ประภาส

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
เซจาน้อย
วันที่ 17 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณคุณประภาสที่ให้ความกระจ่างแจ้ง

และขออนุโมทนาในกุศลวิริยะของอ.ผเดิม, อ.คำปั่นและทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
dets25226
วันที่ 17 ม.ค. 2555

ขอร่วมสนทนานะครับ สั้นๆ ครับ

ความคิดของผมนะครับ คือ ปฏิบัติเพื่อละตัวตน ครับ ถูกต้องที่สุด แต่ไม่ใช่การปฏิบัตินะครับ เป็นการเข้าใจถูกต้องในสภาพธรรม แล้วเกิดปัญญา บรรลุธรรมนะครับ

อีกประเด็นหนึ่ง ถ้าคุณละตัวตนได้แล้ว คุณจะปฏิบัติอะไรที่ไหนอีกละ คนที่ละตัวตนได้ ก็คือเข้าใจความจริงแล้ว จึงละตัวตนได้ กิเลสตัณหาก็ตั้งอยู่ไม่ได้แล้ว ก็มีชีวิตอยู่ด้วยปัญญาครับ สบายๆ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
SOAMUSA
วันที่ 17 ม.ค. 2555

กราบอนุโมทนาอาจารย์และทุกๆ ท่านค่ะ

"ในคำสอนทางพระพุทธศาสนา มีคำว่า ปฏิบัติธรรม แต่ถ้าไม่ได้ศึกษาให้เข้าใจในความเป็นจริงของสภาพธรรมแล้ว ย่อมไม่มีทางที่จะเข้าใจในความเป็นจริงของคำดังกล่าวนี้" (อ. คำปั่น)

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
ธุลีพุทธบาท
วันที่ 17 ม.ค. 2555

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ฯ

(ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น)

- ประเด็นที่ ๑

อ้างอิง : เรากลัวว่าจะมีตัวตนในการปฏิบัติ

ตอบ : ผู้ที่เข้าใจพระธรรมถูกต้อง ไม่ได้มี "ความกลัว" ว่าจะมี "ตัวตน" ในการปฏิบัติ แต่มี "ปัญญา" ที่ "รู้ตามความเป็นจริง" ว่า "ไม่มีตัวตน" อยู่แล้ว ตามความเป็นจริงครับ

- ประเด็นที่ ๒

อ้างอิง : ต้องปฏิบัติโดยไม่มีตัวตน

ตอบ : เพราะต้องปฏิบัติด้วย "สติ" ที่ระลึกรู้ และ "ปัญญา" ที่เข้าใจถูกต้อง ครับ

- ประเด็นที่ ๓

อ้างอิง : เราจะงงไปหรือเปล่า ที่เอาผลมาเป็นเหตุ (กลับหัวกลับหางกัน) ปฏิบัติเพื่อละตัวตน หรือว่าละตัวตนเสียก่อนจึงปฏิบัติ?

ตอบ : ไม่ใช่ทั้งสองอย่าง ครับ เพราะ "ปัญญา" ที่ละความเห็นผิดว่าเป็น "ตัวตน" คือ การปฏิบัติอยู่แล้ว จึงไม่มีอะไรที่ต้องทำก่อน หรือทำทีหลัง ครับ

ที่ คุณ apitum กล่าวอย่างนี้ เพราะเข้าใจว่ามี "ตัวตน" อยู่จริงๆ ในขั้นต้น เพื่อที่จะไปปฏิบัติจนกว่าจะไม่มี "ตัวตน" ซึ่งเคยมีอยู่ โดยการไป "กระทำ" สิ่งใดสิ่งหนึ่งขึ้นมา ตัวตนที่เคยมีอยู่ก็จะค่อยๆ น้อยลงไป จนกระทั่งถึงความไม่มีอีก

แต่ "ตัวตน" ไม่มีอยู่แล้ว ครับ จึงไม่ต้องทำให้ "ตัวตน" ลดลง โดยไปปฏิบัติ !!! แท้จริงแล้ว "ตัวตน" ไม่มีให้ต้องไปละ แต่สิ่งที่ควรละคือ "ความเห็นผิดว่ามีตัวตน" ซึ่งขั้นต้น คือ ต้องเข้าใจถูกต้องในขั้นฟังพระธรรมว่า ไม่มีตัวตนจริงๆ และไตร่ตรองกับความจริงที่เกิดขึ้นว่า ไม่มีตัวตนจริงๆ ตรง ตามพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง และเมื่อมีปัญญาขั้น "ปฏิบัติ" เกิดขึ้น จะไม่มี "ความเห็นผิดว่าเป็นตัวตน" ที่ไปปฏิบัติอีก เพราะเข้าใจถูกต้องตั้งแต่ขั้นการฟัง

เพราะ "ความเห็นผิดว่ามีตัวตน" เป็น "ความเห็นผิด" เป็น "อกุศล" ซึ่ง "อกุศล" ไม่สามารถละกิเลสอะไรได้เลย "ความเห็นผิด" จึงปฏิบัติตามพระธรรมไม่ได้ ครับ

หรือ คุณ apitum เข้าใจจริงๆ ว่า จะนำ "ความเห็นผิดว่ามีตัวตน" ไปปฏิบัติ ในขั้นต้น เพื่อจะนำไปละ "ความเห็นผิดว่ามีตัวตน" เมื่อปฏิบัติไปเรื่อยๆ ครับ? จึงไม่แปลกที่จะมีความ งง และ สงสัยเป็นธรรมดา ด้วยเหตุนี้ ถ้าเริ่มต้นมี "ความเห็นผิด" ที่เข้าใจว่ามี "ตัวตน" จริงๆ ไปปฏิบัติ ก็มี แต่จะพอกพูนความเห็นผิด ว่ามีตัวตนจริงๆ ให้หนาแน่นขึ้นเรื่อยๆ แทนที่ปฏิบัติแล้วจะละคลายความเป็นตัวตนลง ก็กลายเป็นพอกพูนทับถมให้หนาแน่นขึ้น เพราะสะสมความเห็นผิดทีละเล็กทีละน้อย จากความเข้าใจว่ามีตัวตนจริงๆ ในการปฏิบัติเพราะความเห็นผิดที่เกิดขึ้น ย่อมสะสม และเมื่อเกิดขึ้นบ่อยๆ ก็สะสมไปจนมีกำลังจึงเป็นไปไม่ได้ที่ "ตัวตน" จะสามารถ "ละ" ความเห็นผิดว่ามีตัวตนลงได้เลยครับ

เปรียบเหมือนบุคคลนำ "น้ำสกปรก" มา ด้วยตั้งใจว่า "เราจะล้างน้ำสกปรก" ด้วยน้ำนี้ จึงนำน้ำสกปรก ล้างน้ำสกปรกไปเรื่อยๆ น้ำสกปรกก็มีแต่จะเพิ่มมากขึ้น เริ่มต้นปฏิบัติ ก็คิดว่า จะมี "ตัวตน" ไปปฏิบัติก่อนแล้วเมื่อปฏิบัติไปเรื่อยๆ ตัวตน จึงจะลดลงไปเอง จนถึงความไม่มี แม้ความคิดนี้ ก็มีอุปมาเหมือนอย่างนั้น ครับ

ถ้าเป็นอย่างนี้ ไม่ใช่การเอาผลมาเป็นเหตุ (กลับหัวกลับหางกัน) ครับ แต่เป็นการเจริญเหตุที่ไม่ตรงกับผล ห่างไกลจากผล ไม่มีทางที่จะไปถึงผลนั้นได้เลย ส่วนผู้ที่เข้าใจถูกต้องในพระธรรม ฉลาดในพระพุทธพจน์ ย่อมเป็นผู้ "ตรง" และเข้าใจถูกต้องว่า "ไม่มีตัวตน" ตั้งแต่ขั้นฟังพระธรรม และรู้ตามความเป็นจริงว่า "ความเห็นผิดว่ามีตัวตน" ยังมีอยู่มากมาย จะละไปไม่ได้นอกจากการอบรมเจริญปัญญา จึงอบรมเจริญปัญญา น้อมประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมด้วย "ปัญญา" ไม่ใช่ด้วย "ตัวตน" แล้วปัญญาของผู้นั้นก็ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไปตามลำดับครับ โดยไม่ได้มีความกลัวว่าจะมีตัวตน หรือไม่มีตัวตน เพราะรู้ความจริงว่า "ตัวตน" ไม่มีอยู่แล้วจริงๆ

เมื่อใดที่ "ความเห็นผิดว่ามีตัวตน" มีอยู่ ก็รู้ว่า เป็นเพียงความเห็นผิด เป็นอกุศลธรรม ที่สะสมมา "ตามปัจจัย" เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป จึงอบรมเจริญปัญญา ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมต่อไป เพื่อรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ตามความเป็นจริง เป็นไปในกายบ้าง เวทนาบ้าง จิตบ้าง ธรรมบ้าง ตามปัจจัยที่ได้สะสมมา โดยไม่มีความเห็นผิดว่ามีตัวตนจริงๆ ไปเลือกที่จะรู้ รูปนั้น นามนี้ ตามใจชอบ จนกว่าจะดับความเห็นผิดว่ามีตัวตนลงได้โดยเด็ดขาด เมื่อเป็นพระโสดาบัน ครับ

ที่สำคัญ "ความเห็นผิดว่ามีตัวตน" ต้องเริ่ม "ละ" ตั้งแต่เริ่ม "ฟังพระธรรม" แล้วครับ ไม่ใช่รอไป "ละ" ตอน "ไปปฏิบัติ" ครับ เพราะการปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา ไม่ใช่การปฏิบัติด้วยการทำตามๆ กันไป ไม่ใช่การปฏิบัติด้วยความเป็นตัวตน ไม่ใช่การปฏิบัติโดยการเลือกทำตามใจชอบ

แต่การปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา ปฏิบัติ ด้วย "ปัญญา" และกุศลธรรม ครับ

ต้องขออภัย คุณ apitum ด้วยครับ ที่กล่าวอย่างตรงไปตรงมา เพราะผมเข้าใจว่า คุณ apitum จะสามารถรับฟังในเหตุผลได้ จึงกล่าวครับ และหากมีสิ่งใดที่จะสนทนาเพิ่มเติม ในเหตุผล และความละเอียดลึกซึ้งของพระธรรม ขอเชิญสนทนาได้ ครับ

ขอกราบนมัสการอย่างสูงสุด แด่พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ และสังฆรัตนะ

ขอกราบขอบพระคุณและอนุโมทนา

อ.ผเดิม, อ.คำปั่น และคุณประภาส ด้วยครับ

ขณะอย่าได้ล่วงเลยท่านทั้งหลายไปเสีย.

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
apitum
วันที่ 17 ม.ค. 2555

[๑๖๖๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงอย่าตรึกถึงอกุศลวิตกอันลามก คือ กามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะวิตกเหล่านี้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่ใช่พรหมจรรย์เบื้องต้น ย่อมไม่เป็นไปเพื่อความหน่าย ความคลายกำหนัด ความดับ ความสงบ ความรู้ยิ่ง ความตรัสรู้ นิพพาน ก็เมื่อเธอทั้งหลายจะตรึก พึงตรึกว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะความตรึกเหล่านี้ ประกอบด้วยประโยชน์เป็นพรหมจรรย์เบื้องต้น ย่อมเป็นไปเพื่อความหน่าย ความคลายกำหนัด ความดับ ความสงบความรู้ยิ่ง ความตรัสรู้ นิพพาน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลาย พึงกระทำความเพียรเพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรคามินีปฏิปทา

จะเลือกตรึกธรรมะได้ไหม มีตัวตน หรือไม่มีตัวตนมา ตรึกไหม?

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
apitum
วันที่ 17 ม.ค. 2555

[๓๘๔] ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย บรรดาโพชฌงค์ ๗ ประการนี้ เราประสงค์จะอยู่ด้วยโพชฌงค์ข้อใดๆ ในเวลาเช้า ก็อยู่ด้วยโพชฌงค์ข้อนั้นๆ เราประสงค์จะอยู่ด้วยโพชฌงค์ข้อใดๆ ในเวลาเที่ยง ก็อยู่ด้วยโพชฌงค์ข้อนั้นๆ เราประสงค์จะอยู่ด้วยโพชฌงค์ข้อใดๆ ในเวลาเย็นก็อยู่ด้วยโพชฌงค์ข้อนั้นๆ .

[๓๘๕] ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ถ้าสติสัมโพชฌงค์มีอยู่แก่เรา ดังพรรณนามานี้ เราก็รู้ว่าสติสัมโพชฌงค์ของเราหาประมาณมิได้ อันเราปรารภดีแล้ว สติสัมโพชฌงค์ เมื่อยังตั้งอยู่ เรก็รู้ว่าตั้งอยู่ ถ้าแม้สติสัมโพชฌงค์ของเราเคลื่อนไป เราก็รู้ว่าเคลื่อนไปเพราะสิ่งนี้เป็นปัจจัย นฯลฯ

[๓๘๖] ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ถ้าอุเบกขาสัมโพชฌงค์มีอยู่แก่เรา ดังพรรณนามานี้เราก็รู้ว่าอุเบกขาสัมโพชฌงค์ของเราหาประมาณมิได้ อันเราปรารภดีแล้ว อุเบกขาสัมโพชฌงค์เมื่อยังตั้งอยู่ เราก็รู้ว่าตั้งอยู่ ถ้าแม้อุเบกขาสัมโพชฌงค์ของเราเคลื่อนไป เราก็รู้ว่าเคลื่อนไปเพราะสิ่งนี้เป็นปัจจัย.

[๓๘๗] ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย หีบผ้าของพระราชาหรือของราชมหาอำมาตย์ เต็มด้วยผ้าสีต่างๆ พระราชาหรือราชมหาอำมาตย์ ประสงค์จะนุ่งห่มผ้าชุดใดๆ ในเวลาเช้า ก็นุ่งห่มผ้านุ่งห่มผ้าชุดใดๆ ในเวลาเย็น ก็นุ่งห่มผ้าชุดนั้นๆ ได้ แม้ฉันใด เราก็ฉันนั้นเหมือนกัน บรรดาโพชฌงค์ทั้ง ๗ นี้ ประสงค์จะอยู่ด้วยโพชฌงค์ข้อใดๆ ในเวลาเช้า ก็อยู่ด้วยโพชฌงค์ข้อนั้นๆ ประสงค์อยู่ด้วยโพชฌงค์ข้อใดๆ ในเวลาเที่ยง ก็อยู่ด้วยโพชฌงค์ข้อนั้นๆ ประสงค์จะอยู่ด้วยโพชฌงค์ข้อใดๆ ในเวลาเย็น ก็อยู่ด้วยโพชฌงค์ข้อนั้นๆ .

ขออนุโมทนา

เราจะเลือกธรรมะหมวดไหนมา ใช้เจริญได้ไหม

อ่านจากพระสูตรนี้ คงไม่ต้องโต้แย้ง

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
ธุลีพุทธบาท
วันที่ 17 ม.ค. 2555

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ฯ

(ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น)

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต

[๒๗๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย คน ๒ จำพวกนี้ ย่อมกล่าวตู่ตถาคต ๒ จำพวกเป็นไฉน คือ คนที่แสดงพระสุตตันตะที่มีอรรถจะพึงนำไปว่า พระสุตตันตะมีอรรถนำไปแล้ว ๑ คนที่แสดงพระสุตตันตะที่มีอรรถอันนำไปแล้วว่าพระสุตตันตะมีอรรถที่จะพึงนำไป ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย คน ๒ จำพวกนี้แลย่อมกล่าวตู่ตถาคต

ดูกรภิกษุทั้งหลาย คน ๒ จำพวกนี้ ย่อมไม่กล่าวตู่ตถาคต ๒ จำพวกเป็นไฉน คือ คนที่แสดงพระสุตตันตะที่มีอรรถจะพึงนำไปว่า พระสุตตันตะมีอรรถที่จะพึงนำไป ๑ คนที่แสดงพระสุตตันตะที่มีอรรถอันนำไปแล้วว่าพระสุตตันตะมีอรรถอันนำไปแล้ว ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย คน ๒ จำพวกนี้แลย่อมไม่กล่าวตู่ตถาคต ฯ

อรรถกถาสูตรที่ ๔

ในสูตรที่ ๔ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

บทว่า เนยฺยตฺถํ สุตฺตนฺตํ ความว่า สุตตันตะใดมีเนื้อความพึงแนะนำ ซึ่งสุตตันตะ มีเนื้อความพึงแนะนำนั้น.

บทว่า นีตตฺโถ สุตฺตนฺโตติ ทีเปติ ความว่า เมื่อกล่าวว่า สุตตันตะนี้มีเนื้อความกล่าวไว้แล้ว. ในบาลีประเทศนั้น สุตตันตะเห็นปานนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลจำพวก ๑ บุคคล ๒ จำพวก บุคคล ๓ จำพวก บุคคล ๔ จำพวกดังนี้ ชื่อว่ามีเนื้อความพึงแนะนำ. ก็ในที่นี้ ถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลจำพวก ๑

ดังนี้ เป็นต้นก็จริง ถึงอย่างนั้น เมื่อว่าโดยปรมัตถ์ บุคคลหามีไม่ พึงแนะนำเนื้อความแก่เขาอย่างนี้ด้วยประการฉะนี้ทีเดียว แต่บุคคลผู้นี้โง่เขลาจึงแสดงว่า สุตตันตะนี้มีเนื้อความแนะนำแล้ว.

เพราะว่า เมื่อบุคคลไม่มีโดยปรมัตถ์แล้ว พระตถาคตก็ไม่พึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลจำพวก ๑ ดังนี้เป็นต้นซิ. แต่เพราะพระองค์ตรัสอย่างนั้น ฉะนั้น จึงถือว่า บุคคลมีอยู่โดยปรมัตถ์ ชื่อว่า ย่อมแสดงสุตตันตะมีเนื้อความควรแนะนำว่าเป็นสุตตันตะ มีเนื้อความแนะนำแล้ว.

บทว่า นีตตฺถํ ได้แก่ มีเนื้อความที่ตรัสไว้อย่างนี้ว่า อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ซึ่งในที่นี้ ก็มีเนื้อความชัดอยู่แล้วว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน. แต่บุคคลผู้นี้โง่เขลาคิดว่า ยังมีสุตตันตะที่มีเนื้อความพึงแนะนำ เราจักนำเนื้อความของสุตตันตะนั้นมา ถือว่า ที่เที่ยง ที่เป็นสุข ที่เป็นตัวตนก็มีอยู่ ดังนี้ ชื่อว่าย่อมแสดงสุตตันตะมีเนื้อความแนะนำแล้ว ว่าเป็นสุตตันตะมีเนื้อความควรแนะนำ.

เรียน คุณ apitum ครับ.

ผมขออนุโมทนากับ พระพุทธพจน์ ในพระสุตตันตปิฎก ที่คุณได้ยกมา ซึ่งเป็นคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้วโดยส่วนเดียว ไม่มีโทษเลยครับแต่คุณ apitum กำลังแสดงพระสุตตันตะที่มีอรรถจะพึงนำไป ว่า พระสุตตันตะมีอรรถนำไปแล้ว หรือไม่ ครับ อนึ่ง ข้อความใน

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค วัตตสูตร ในความคิดเห็นที่ 16

ก็เป็นข้อความที่ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวไว้ดีแล้ว

คุณ apitum อบรมปัญญาถึงความเป็นพระอรหันต์อย่างท่านพระสารีบุตรแล้วหรือครับ? จึงกล่าวว่า "เราจะเลือกธรรมะหมวดไหนมา ใช้เจริญได้ไหม" คือ จะเลือกอยู่โดยโพชฌงค์ข้อใดข้อหนึ่ง ตามเวลาที่ปรารถนา ในผลสมาบัติ เพราะได้อบรมแล้ว

แม้ท่านพระสารีบุตร ได้อบรมปัญญาถึงความเป็นพระอรหันต์แล้ว มีโพชฌงค์ ๗ สมบูรณ์แล้ว ก็ไม่มีข้อความใดที่ท่านแสดงว่า ให้มีตัวตนไปทำโพชฌงค์ให้เกิด หรือ แสดงว่า ท่านบังคับบัญชาด้วยความเป็นตัวตนที่จะอยู่ในโพชฌงค์ข้อใดข้อหนึ่งได้ ที่ท่านประพฤติได้อย่างนั้น ไม่ใช่เพราะท่านมี "ตัวตน" เลือกได้ แต่เพราะมีเหตุ คือ ได้อบรมโพชฌงค์ ๗ บริบูรณ์ และถึงความชำนาญในผลสมาบัติแล้ว ผลจึงเป็นไปอย่างที่ท่านได้แสดงในพระสูตรนี้ ครับ

"ธรรม" เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน ก็จริง แต่ก็ "ไม่เป็นอิสระ" เพราะธรรมต้องเป็นไปตาม "ปัจจัย" ครับ

ดังนั้น การที่ท่านเลือกอยู่ในโพชฌงค์ ได้ตามปรารถนาไม่ใช่เพราะ ธรรม มีตัวตน บังคับบัญชาได้ แต่เพราะโพชฌงค์นั้น มีปัจจัยให้เกิด ไม่ใช่เกิดขึ้นเองลอยๆ ครับ

ในอรรถกถาแสดงว่า พระเถระแสดงความชำนาญที่ท่านได้อบรมมาในผลสมาบัติ จึงกล่าวพระสูตรนี้

ขณะอย่าได้ล่วงเลยท่านทั้งหลายไปเสีย.

 
  ความคิดเห็นที่ 18  
 
ไตรสรณคมน์
วันที่ 17 ม.ค. 2555

ตราบใดที่ยังไม่มีการอบรมเจริญปัญญา ย่อมไม่รู้หนทางในการปฏิบัติ ไม่รู้ว่าอย่างไรคือปฏิบัติผิด และอย่างไรคือปฏิบัติถูก แต่เมื่อใดที่มีปัญญา ความสงสัยในหนทางและแนวทางปฏิบัติจะหมดไป เพราะปัญญานั้นเองทำหน้าที่ปฏิบัติด้วยตัวของปัญญาเอง

ดังนั้น เราควรแสวงหาแนวทางปฏิบัติ หรือว่า ควรแสวงหาปัญญาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 19  
 
เซจาน้อย
วันที่ 18 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ปัญญานั้นเองทำหน้าที่ปฏิบัติด้วยตัวของปัญญาเอง

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 20  
 
ธุลีพุทธบาท
วันที่ 18 ม.ค. 2555

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ฯ

(ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น)

ผมขออนุโมทนากับ คุณ ไตรสรณคมน์ และคุณ เซจาน้อย ด้วยครับ เพราะข้อปฏิบัติในพระพุทธศาสนาทั้งหมด ตั้งแต่ขั้นต้นจนกระทั่งถึงความเป็นพระอรหันต์ ไม่พ้นไปจาก "ปัญญา" ที่เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ตามความเป็นจริง ไม่ต้องคิด "ไปละตัวตนแล้วจึงปฏิบัติ" หรือ "ไปปฏิบัติเพื่อละตัวตน" เพราะถ้าหากเป็นปัญญาที่รู้ลักษณะที่แท้จริงของสภาพธรรม เข้าถึงลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตนของสภาพธรรมในขณะนั้น ย่อม "ละ" ความเป็นตัวตนในขณะนั้นทันที ตามกำลังของปัญญา และปัญญานั้นเองที่เกิดขึ้น ก็เป็นการ "ปฏิบัติ" อยู่แล้ว

โพธิปักขิยธรรมทั้งหมด ที่จะให้ถึงความตรัสรู้ เป็นความเจริญขึ้นของปัญญา และกุศลธรรมที่เกิดร่วมกับปัญญาในขณะนั้น ที่เข้าใจถูกต้องจริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรมจนกว่าปัญญาจะสมบูรณ์พร้อมเพียงพอรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ดับกิเลสโดยสิ้นเชิง หากไปติดที่คำ จำเพียงชื่อ สับสนในพยัญชนะ หรือสนใจเรื่องอื่นโดยปราศจากปัญญา ยิ่งห่างไกลจากข้อปฏิบัติในพระพุทธศาสนา และความเข้าใจพระธรรมครับ

ขณะอย่าได้ล่วงเลยท่านทั้งหลายไปเสีย.

 
  ความคิดเห็นที่ 21  
 
ธุลีพุทธบาท
วันที่ 18 ม.ค. 2555

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ฯ

(ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น)

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์

อลคัททูปมสูตร

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีความต้องการด้วยงูพิษ เสาะหางูพิษ เที่ยวแสวงหางูพิษ เขาพึงพบงูพิษตัวใหญ่ พึงจับงูพิษนั้นที่ขนดหรือที่หาง งูพิษ นั้นพึงแว้งกัดเขาที่ข้อมือ ที่แขน หรือที่อวัยวะใหญ่น้อยแห่งใดแห่งหนึ่ง เขาพึงถึงความตายหรือความทุกข์ปางตาย มีการกัดนั้นเป็นเหตุ ข้อนั้นเป็นเหตุ

เพราะอะไร เพราะงูพิษตนจับไม่ดีแล้ว แม้ฉันใด

ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกบุรุษเปล่า บางพวกในธรรมวินัยนี้ ก็ฉันนั้นนั่นแล ย่อมเล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูต ธรรม บุรุษเปล่าเหล่านั้นเล่าเรียนธรรมนั้นแล้ว ย่อมไม่ไตร่ตรองเนื้อความ แห่งธรรม เหล่านั้นด้วยปัญญา ธรรมเหล่านั้น ย่อมไม่ควรซึ่ง การเพ่งแก่บุรุษเปล่าเหล่านั้น ผู้ไม่ไตร่ตรองเนื้อความด้วยปัญญา

บุรุษเปล่าเหล่านั้น เป็นผู้มีการข่มผู้อื่น เป็นอานิสงส์ และมีการเปลื้องเสียซึ่ง ความนินทาเป็นอานิสงส์ ย่อมเล่าเรียนธรรม

ก็กุลบุตรทั้งหลาย ย่อมเล่าเรียนธรรมเพื่อประโยชน์อันใด บุรุษเปล่าเหล่านั้น

ย่อมไม่ได้เสวยประโยชน์นั้นแห่งธรรมนั้น ธรรมเหล่านั้น อันบุรุษเปล่าเหล่านั้นเรียน ไม่ดีแล้วย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์สิ้นกาลนาน

ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุอะไร เพราะธรรมทั้งหลาย อันตนเรียนไม่ดีแล้ว.

การศึกษาพระธรรม การสนทนาธรรม ควรจะเป็นไปเพื่อการศึกษาให้เข้าใจถูกต้องในพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง เพื่ออบรมเจริญปัญญาต่อไป ควรเป็นผู้ตรง และจริงใจ ที่จะใคร่ครวญไต่ตรองพระธรรมด้วยปัญญา โดยไม่มีอกุศลจิตแอบแฝงมากับการศึกษาพระธรรม เพื่อจุดประสงค์อื่นครับ

การสนทนาธรรม ก็ควรจะเป็นการเกื้อกูลกันเพื่อให้เข้าใจพระธรรมเพิ่มขึ้น ชี้แจงแสดงเหตุผลเพื่อความเข้าใจพระธรรมที่ถูกต้อง ตรงต่อเหตุผลในการไตร่ตรองจริงๆ เพื่อพ้นจากความเห็นผิด และพ้นจากอกุศลทั้งหลายอันเป็นภัยอย่างยิ่ง ไม่ควรมุ่งถามเพียงเพื่อโต้แย้ง หรือคัดค้านเอาชนะในสิ่งที่ตนไม่เห็นด้วยเท่านั้น

ไม่มุ่งแม้แต่จะจับผิด ตำหนิติเตียน ในการใช้ถ้อยคำสำนวนโวหารของผู้อื่นในการแสดงธรรม โดยไม่รับฟังเหตุผลหรือไตร่ตรองในความละเอียดลึกซึ้งของพระธรรม ครับ

เพราะ พระธรรม ไม่ได้มีไว้สำหรับโต้แย้ง จับผิด แต่มีไว้สำหรับศึกษาให้เข้าใจถูก ต้องโดยละเอียดลึกซึ้ง เพื่ออบรมเจริญปัญญาในการรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง

ดังนั้น หากจะตั้งกระทู้ใหม่ถามปัญหาธรรมในการสนทนาครั้งต่อไป ขอให้พิจารณาว่า ท่านตั้งกระทู้ถามเพื่อจะโต้แย้งกับผู้อื่น เพื่อแสดงข้อผิดพลาดในการแสดงธรรมของผู้อื่น หรือมุ่งสนทนาเพื่อความเข้าใจพระธรรมที่ลึกซึ้งกระจ่างขึ้นด้วยความเคารพครับ

ขณะอย่าได้ล่วงเลยท่านทั้งหลายไปเสีย.

 
  ความคิดเห็นที่ 22  
 
ผู้รู้น้อย
วันที่ 18 ม.ค. 2555

"การสนทนาธรรม ก็ควรจะเป็นการเกื้อกูลกันเพื่อให้เข้าใจพระธรรมเพิ่มขึ้น ชี้แจง แสดงเหตุผลเพื่อความเข้าใจพระธรรมที่ถูกต้อง ตรงต่อเหตุผลในการไตร่ตรองจริงๆ เพื่อพ้นจากความเห็นผิด และพ้นจากอกุศลทั้งหลายอันเป็นภัยอย่างยิ่ง ไม่ควรมุ่งถามเพียงเพื่อโต้แย้ง หรือคัดค้านเอาชนะในสิ่งที่ตนไม่เห็นด้วยเท่านั้น ไม่มุ่งแม้แต่จะจับผิด ตำหนิติเตียน ในการใช้ถ้อยคำสำนวนโวหารของผู้อื่นในการแสดงธรรม โดยไม่รับฟังเหตุผลหรือไตร่ตรองในความละเอียดลึกซึ้งของพระธรรม ครับ

เพราะ พระธรรม ไม่ได้มีไว้สำหรับโต้แย้ง จับผิด แต่มีไว้สำหรับศึกษาให้เข้าใจถูก ต้องโดยละเอียดลึกซึ้ง เพื่ออบรมเจริญปัญญาในการรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง"

ถูกต้องตามที่กล่าวทุกประการครับ

ขอน้อมจิตอนุโมทนาในกุศลจิตด้วยเศียรเกล้าครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 23  
 
ปุ้ม
วันที่ 18 ม.ค. 2555

เรียน ความคิดเห็นที่ 17

ท่านกล่าวได้ชัดเจนยิ่งนัก

ขอขอบคุณ มากเลยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 24  
 
เซจาน้อย
วันที่ 18 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขออนุโมทนาในกุศลจิตวิริยะของคุณธุลีพุทธบาทที่เปรียบประดุจจุดประทีปให้ปัญญาเกิดแก่ผู้ร่วมสนนทนาธรรมทุกๆ ท่านครับ

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 26  
 
apitum
วันที่ 19 ม.ค. 2555

ความคิดเห็นที่ 17 คุณ ธุลีพุทธบาท

คุณ apitum อบรมปัญญาถึงความเป็นพระอรหันต์อย่างท่านพระสารีบุตรแล้วหรือครับ? จึงกล่าวว่า "เราจะเลือกธรรมะหมวดไหนมา ใช้เจริญได้ไหม" คือ จะเลือกอยู่โดยโพชฌงค์ข้อใดข้อหนึ่ง

มีข้อความในพระสูตรตรงไหนที่กล่าวว่า ตรัสสอนเฉพาะตัว ท่านพระสารีบุตร เพียงองค์เดียวครับ หรือผู้ที่มีธรรมะเท่าเทียมกับท่าน (ถ้าเป็นอย่างนั้น ธรรมะทื่พระพุทธองค์ตรัสก็คงตรัสเฉพาะ พระพุทธเจ้าเท่านั้นหรือ) ไปเอาความคิดมาจากไหนครับ

ผมจะยกข้อความมาเสนอ ให้พิจารณาดูนะครับ

[๓๘๕] ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ถ้าสติสัมโพชฌงค์มีอยู่แก่เรา ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย

(ไม่ได้เรียกชื่อใครโดยเฉพาะ) อย่าบิดเบือน ไม่ต้องยกพระสูตร งูพิษมาสกัดผมหรอกครับ เพราะไม่รู้ว่า คุณหรือผม อาจจะโดนพิษงูอยู่ จนไม่สามารถจะเยียวยาได้ อีกประเด็นหนึ่ง ไม่สามารถโต้แย้งได้ใช่ไหมครับ

พระสูตร

[๑๖๖๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงอย่าตรึกถึงอกุศลวิตกอันลามก

ผมเสนอว่า คุณ ธุลีพุทธบาท ขีดเส้นทางการปฏิบัติที่คับแคบให้ตนเอง เนื่องจากแนวทางปฏิบัติที่ผมอ่านจากสื่อของคุณ ไม่สนับสนุนการเจริญสัมมาสมาธิ ไม่เดินจงกรม ไม่สนับสนุนการเจริญอานาปานสติ ไม่สนับสนุนการเจริญกายานุปัสสนา และได้นิยามคำว่า การเจริญสติปัฏฐาน ๔ เสียใหม่ ว่าจะต้องเป็นปรมัตถอารมณ์เท่านั้น (เป็นความเห็นส่วนตัวของผมเอง โต้แย้งได้ครับ)

คุณ ธุลีพุทธบาท คิดเห็นว่าอย่างไรครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 27  
 
SOAMUSA
วันที่ 19 ม.ค. 2555

กราบอนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านค่ะ

อ่านคำตอบและพิจารณาตาม จะเข้าใจได้บ้าง ไม่มากก็น้อย แล้วแต่การสะสม

 
  ความคิดเห็นที่ 28  
 
ธุลีพุทธบาท
วันที่ 19 ม.ค. 2555

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ฯ

(ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น)

เรียน คุณ apitum ครับ.

- ประเด็นที่ ๑

อ้างอิง : [๓๘๕] ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ถ้าสติสัมโพชฌงค์มีอยู่แก่เรา ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย (ไม่ได้เรียกชื่อใครโดยเฉพาะ) อย่าบิดเบือน

ตอบ : ถ้าใครสะสมปัจจัยมาเพียงพอ ที่ถึงความเป็นพระอรหันต์แล้ว เข้าผลสมาบัติได้ ก็สามารถอยู่ด้วยโพชฌงค์ ๗ ได้ ตามที่ปรารถนา เหมือนอย่างท่านพระสารีบุตร ครับ ซึ่งไม่ได้เกิดจากการบังคับบัญชาด้วย ตัวตน ที่ต้องการ แต่ต้องอบรมด้วยปัญญา ครับ (ไม่ได้จำกัดเฉพาะตัว ใครก็ตามที่อบรมปัญญามา ตามปัจจัย ก็เป็นไปได้)

- ประเด็นที่ ๒

อ้างอิง : ไม่ต้องยกพระสูตร งูพิษมาสกัดผมหรอกครับ เพราะไม่รู้ว่า คุณหรือผมอาจจะโดนพิษงูอยู่ จนไม่สามารถจะเยียวยาได้

ตอบ : ขอน้อมรับคำเตือนโดยเคารพ ครับ เพราะ พระพุทธพจน์นี้ ทรงแสดงเพื่อเกื้อกูลทุกคน แม้ผมเองก็ควรพิจารณาบ่อยๆ เนืองๆ เพราะผมยังเป็นปุถุชน กิเลสที่ได้สะสมมาพร้อมที่จะกำเริบ ศึกษาผิดทางด้วยอกุศลได้เสมอ ผมจึงต้องอบรมเจริญปัญญาต่อไป เพื่อขัดเกลากิเลส ครับ แต่ไม่ขออบรม "ตัวตน" เพื่อขัดเกลากิเลส แน่นอนครับ

- ประเด็นที่ ๓

อ้างอิง : อีกประเด็นหนึ่ง ไม่สามารถโต้แย้งได้ใช่ไหมครับ : พระสูตร [๑๖๖๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงอย่าตรึกถึงอกุศลวิตกอัน ลามก

ตอบ : ถูกต้องครับ ไม่อาจโต้แย้งใดๆ ได้เลยครับ เพราะพระศาสดาตรัสไว้ดีแล้ว การที่พระองค์ทรงแสดงว่า จงอย่าตรึกถึงอกุศลวิตกอันลามก เพราะ อกุศลวิตกอันลามก คือ ความตรึกในทางอกุศล เป็นสภาพธรรมที่ควรละด้วย "ปัญญา" ที่เห็นโทษภัยจริงๆ แต่ อกุศลวิตกอันลามก จะละด้วยความเป็นตัวตนไม่ได้แน่ ครับ

คำว่า "เธอทั้งหลาย" เป็นสมมติเทศนา เป็น พระสุตตันตะที่มีอรรถะจะพึงนำไป เธอทั้งหลายในที่นี้ คือ "ปัญญา" ที่เกิดขึ้นแก่ผู้ที่่กำลังฟังพระสูตรนี้ ครับ

เมื่อฟังพระสูตรนี้แล้ว "ปัญญา" เกิด ปัญญา ย่อมละอกุศลวิตกอันลามกครับ แต่ "ตัวตน" ละอกุศลวิตกอะไรๆ ไม่ได้ ทั้งในพระพุทธพจน์ ก็ไม่มีข้อความใดที่ตรัสว่า "เธอทั้งหลายพึงมีตัวตนละอกุศลวิตกอันลามกเถิด" หรือ "อกุศลวิตกอันลามก เธอทั้งหลายพึงละด้วยความเป็นตัวตนก่อน พอปฏิบัติๆ ไป ตัวตนก็จะละไปเอง"

ผมไม่อาจกล่าวตู่พระพุทธพจน์ โดยการแสดงพระสุตตันตะที่มีอรรถจะพึงนำไป ว่า มีอรรถนำไปแล้วได้ จริงๆ เพราะ พระพุทธพจน์ เป็นสิ่งที่ควรศึกษาโดยเคารพยิ่ง ครับ

(ดู ความคิดเห็นที่ 17 ครับ)

- ประเด็นที่ ๔

อ้างอิง : เนื่องจากแนวทางปฏิบัติที่ผมอ่านจากสื่อของคุณ ไม่สนับสนุนการเจริญสัมมาสมาธิ ไม่เดินจงกรม ไม่สนับสนุนการเจริญอานาปานสติ ไม่สนับสนุนการเจริญกายานุปัสสนา

ตอบ : แท้จริงแล้ว ผู้ที่เข้าใจพระธรรมถูกต้อง ย่อมสนับสนุนให้ "เข้าใจถูกต้อง" จริงๆ ว่า "สัมมาสมาธิ" คือ อะไร?, "เดินจงกรม" คือ อะไร?, "อานาปานสติ" คือ อะไร? และ "กายานุปัสสนา" คือ อะไร? ครับ

เมื่อมีความเข้าใจถูกต้องแล้ว ย่อมรู้ความละเอียดลึกซึ้งของคำแต่ละคำ ครับ

๑.) "สัมมาสมาธิ"

ผู้ที่เข้าใจพระธรรมถูกต้อง สนับสนุน "สัมมาสมาธิ" แน่นอนครับ เพราะขณะที่สติกำลังระลึกรู้ และปัญญากำลังเข้าใจถูกต้องในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ สมาธิในขณะนั้นเป็น "สัมมาสมาธิ" แน่นอนครับ

ถึงแม้ สัมมาสมาธิ ที่เกิดกับสติปัฏฐาน จะไม่ใช่ "อารัมณูปนิชฌาน" ซึ่ง หมายถึง อัปนาสมาธิ ก็จริง แต่ก็เป็น "ลักขณูปณิชฌาน" ตามพระพุทธพจน์ ครับ

และ แม้ว่า สัมมาสมาธิ ในสติปัฏฐาน จะเป็น "ขณิกสมาธิ" คือเป็นสมาธิชั่วขณะ แต่สติที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมต่อเนื่องขึ้น เพราะปัญญาที่ได้อบรมแล้ว สัมมาสมาธิ ก็มีกำลังมากขึ้น ตามกำลังของสติสัมปชัญญะที่มี ครับ

๒.) "เดินจงกรม"

ผู้ที่เข้าใจพระธรรมถูกต้อง ทราบว่า "เดินจงกรม" หมายถึง การก้าวไปตามลำดับ คือ การเดินตามปกติในชีวิตประจำวัน แม้ผมเองก็เดินจงกรมเป็นปกติ ครับ คือ ก้าวเดินไปตามลำดับเพื่อไปสู่สถานที่ต่างๆ ในชีวิตประจำวัน จึงไม่สามารถห้ามอิริยาบถเดิน ในชีวิตประจำวันได้เลย ถึงไม่สนับสนุน ก็ต้องมีการเดินในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว ครับ

เพียงแต่ไม่สนับสนุนให้มีความเห็นผิดว่า เพราะอาศัยการเดิน จึงทำให้รู้แจ้งธรรม แต่พระศาสดา ตรัส ให้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏชัดในขณะที่กำลังเดิน "ปัญญา" ที่เกิดขึ้น รู้สภาพธรรมในขณะเดิน ต่างหาก ที่เป็นไปเพื่อรู้แจ้งธรรม ครับ

ถ้าหากการเดินจะเป็นเหตุให้ รู้แจ้งธรรม ได้ "นักกีฬาเดิน" ก็คงรู้แจ้งธรรมก่อนใคร ส่วนการเดินจงกรมของพระผู้มีพระภาค และพระสาวกในสมัยพุทธกาล เป็นปกติ อิริยาบถของบุคคลในยุคนั้น ที่เหมาะควรแก่เพศบรรพชิต เป็นการผลัดเปลี่ยนอิริยาบถ โดยการเดินกลับไปกลับมา ซึ่งในขณะที่ท่านเดิน ท่านเดินพร้อมด้วย "สติสัมปชัญญะ" เพราะ ไม่ว่าท่านจะยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม เคี้ยว คู้เข้า เหยียดออก หรือ อิริยาบถใดๆ ท่านย่อมสมบูรณ์พร้อมด้วย "สติสัมปชัญญะ" เสมอ

แม้พระภิกษุในยุคใด ที่บวชในพระศาสนาของพระพุทธเจ้าผู้สงบระงับแล้ว เมื่อจะก้าวเดิน ย่อมอยู่ในอิริยาบถอันสมควร คือ สำรวมระวังในการก้าวเดินไปตามลำดับ ไม่คะนองกาย คะนองวาจา มีความสงบสำรวมตามพระวินัย ครับ

ส่วนฆราวาสท่านใดประสงค์จะเดินอย่างบรรพชิตบ้าง ก็แล้วแต่อัธยาศัยจริงๆ ครับ แต่ก็ควรจะพิจารณาเหตุผลว่า ที่ท่านเดินอย่างนั้น เพราะอะไร?

๓.) "อานาปานสติ"

ผู้ที่เข้าใจพระธรรมถูกต้อง หากทราบว่า ผู้ใดเป็นมหาบุรุษ บำเพ็ญบารมีมาในชาติสุดท้ายที่จะถึงความเป็นพระอรหันต์พร้อมด้วยคุณวิเศษทั้งปวง สะสมปัญญาที่ละเอียดยิ่ง ที่จะเข้าใจถูกต้องจริงๆ และอบรมเจริญหนทางที่จะถึง "อานาปานสติสมาธิ" ได้ มีแต่จะอนุโมทนาในกุศลที่ได้สะสมมา ครับ

แต่บุคคลในยุคนี้ต้องตรง และจริงใจ ที่จะรู้จักตนเองตามความเป็นจริงว่า ตนเองสะสมปัญญามาพอที่จะเป็นมหาบุรุษหรือไม่?

เพราะพระศาสดา ทรงแสดงว่า "อานาปานสติสมาธิ" เป็นอารมณ์ของพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระมหาสาวก ที่เป็นมหาบุรุษ ครับ (อานาปานสติสมาธิ มุ่งให้ฌานจิตเกิด)

ส่วน "อานาปานสติ" ใน สติปัฏฐาน นั้น หากมีปัจจัยให้สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพไหว ที่กระทบกาย ในส่วนปลายจมูก ซึ่งเป็นปรมัตถธรรม ด้วยสติสัมปชัญญะ ด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง จริงๆ เพราะได้อบรมมา ขณะนั้นเป็นสติปัฏฐาน ครับ

ดังนั้น จึงไม่มีการห้าม หรือการสนับสนุน ในเรื่องดังกล่าวเพราะเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน เป็นเรื่องเฉพาะตัวจริงๆ คือ แล้วแต่ว่า ใครสะสมปัจจัยของ ปัญญา ที่จะระลึกรู้สภาพธรรมใด ซึ่ง เป็นไปในกายบ้าง เป็นไปในเวทนาบ้าง เป็นไปในจิตบ้าง เป็นไปในธรรมบ้าง ก็แล้วแต่ การสะสม ครับ

แต่ไม่ใช่ ว่า ใครจะไปเลือกได้ตามใจชอบ คือ ชอบอันนี้ ขอเจริญเฉพาะอันนี้ ไม่ชอบอันนั้นก็ขอไม่ศึกษาล่ะ เพราะยากเกินไป ทำไมไม่ทำง่ายๆ ก่อน

เพราะฉะนั้น จึงไม่มีการสนับสนุนให้เจริญสติปัฏฐานหมวดใดหมวดหนึ่งโดยเฉพาะ นอกจาก สนับสนุน ให้มี "ความเข้าใจถูกต้อง" ในสติปัฏฐานทั้ง ๔ ครับ โดยการศึกษาพระธรรมให้ละเอียดรอบคอบทุกประการ

๔.) "กายานุปัสสนา"

ดังนั้น ผู้ที่เข้าใจพระธรรมถูกต้อง ย่อมสนับสนุน "กายานุปัสสนา" ด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องแน่นอน เพราะหากได้อบรมปัญญามา ที่จะมีปัจจัยให้สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของรูปธรรมที่ปรากฏที่กาย จริงๆ ใครก็ยับยั้ง หรือห้ามไม่ให้เกิดไม่ได้ ครับ

ผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานจริงๆ ไม่ได้มุ่งเพียงเจริญสมาธิเท่านั้น ครับ แต่น้อมไป เพื่ออบรมเจริญปัญญาและกุศลทุกประการในชีวิตประจำวันเท่าที่ได้สะสมปัจจัย มาอย่างดีที่สุด โดยมี "ปัญญา" เป็นเครื่องอบรม แต่ไม่ใช่ด้วย "ตัวตน" ที่ต้องการ ครับ จึงไม่มีความจำเป็นต้องมีตัวตนใดๆ เลยครับ แค่ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ และน้อมประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมด้วยปัญญา ครับ และคำว่า กุศลทุกประการ ครอบคลุมความสงบทั้งหมดอยู่แล้ว ไม่ใช่เฉพาะกุศลที่เป็นสมาธิ เพราะกุศลทุกประการเป็น "สมถะ" ที่จะเกื้อกูลต่อ "วิปัสสนา" ครับ

กล่าวอีกนัยหนึ่ง ถ้ามุ่งแต่จะศึกษาพระธรรม เพื่อให้สติปัฏฐานเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏอย่างเดียว โดยไม่มี "บารมี" หรือ กุศลขั้นอื่นๆ ที่น้อมไปเพื่อขัดเกลากิเลส ก็ไม่มีกำลังเพียงพอที่จะให้ปัญญารู้แจ้งธรรมได้

ถ้าจะกล่าวให้ถูกต้อง ตามที่คุณกล่าวว่า การเจริญวิปัสสนา ต้องอาศัยกุศลอื่นๆ ที่มีกำลัง ที่จะเกื้อหนุนอุปการะให้ปัญญาสามารถเข้าใจสภาพธรรมได้ชัดเจนขึ้น กุศลนั้น คือ "บารมี ๑๐" ซึ่งได้แก่กุศลทุกประการที่ได้อบรมมาแล้ว เพื่อการขัดเกลากิเลส ถ้ามีแต่ "อัปปนาสมาธิ" โดยไม่มี "บารมี ๑๐" ไม่มีทางรู้แจ้งธรรมได้ แต่ในพระสูตรหลายแห่ง แสดงว่า พระสาวกที่ไม่ได้บรรลุฌาน แต่รู้แจ้งอริยสัจจธรรม เพราะได้อบรมเจริญสัมมาสมาธิในการเจริญสติปัฏฐานตามปกติ ต้อง "บำเพ็ญบารมี" มาแล้ว ดังนั้น ถ้ามี "บารมี" สมบูรณ์พร้อม โดยไม่มีอัปปนาสมาธิ ก็สามารถรู้แจ้งธรรมได้

คุณ apitum ไม่พึงเข้าใจว่า เป็นการปิดกั้นให้ทุกคนต้องรู้แจ้งธรรมโดยไม่มีฌาน เท่านั้นนะครับ เพียงแต่ทุกคนย่อมเป็นไปตามปัจจัยที่ได้สะสมมาครับ

"บ้านธัมมะ" ไม่เคยห้าม หรือ สนับสนุน ให้ใครทำอะไรทั้งสิ้น นอกจาก ให้ความเข้าใจพระธรรมที่ถูกต้อง และไตร่ตรองพิจารณาจนเกิดปัญญาของตนเอง ที่จะได้น้อมประพฤติปฏิบัติตามพระธรรม ตามกำลังของปัญญาที่ได้สะสมมา ไม่ใช่ไปทำในสิ่งที่เกินกำลังของปัญญาที่ได้สะสมมา ต้องตรง และจริงใจ ที่จะรู้จักกำลังปัญญาของตนจริงๆ

เพราะถ้าทำได้ ด้วยความเป็นตัวตน โดยไม่ต้องอาศัยปัจจัยจริงๆ อย่างที่คุณได้กล่าว อย่าว่าแต่ กุศลขั้นฌาน เลยครับ ที่ทำให้เกิดได้ แม้ อรหัตตมรรค ก็ สามารถทำให้เกิดได้ ตามใจปรารถนา ในขณะนี้ทีเดียว

- ประเด็นที่ ๕

อ้างอิง : และได้นิยามคำว่า การเจริญสติปัฏฐาน ๔ เสียใหม่

ตอบ : ถ้าคุณศึกษาอรรถกถา มหาสติปัฏฐานสูตร ปฏิสัมภิทามรรค พระอภิธรรมปิฎก และพระไตรปิฎกทั้งหมด โดยละเอียดลึกซึ้ง โดยนัยต่างๆ จะไม่กล่าวอย่างนี้ ครับ บเพราะการอธิบายความละเอียดทั้งหมด ในการเจริญสติปัฏฐาน อธิบายโดยอาศัยความสอดคล้องของพระธรรมทั้ง ๓ ปิฎก ไม่มีแม้แต่คำเดียวที่คิดนึกคาดเดาเอาเอง ครับ

หากผมยกพระไตรปิฎกทั้งหมด มาแสดง ก็ตัดความสงสัยของคุณไม่ได้ ถ้าคุณไม่พิจารณาตามโดยละเอียด จึงขอให้คุณศึกษาโดยละเอียดลึกซึ้งขึ้น โดยไม่ใช่เพียงอ่านเฉพาะที่ตนเองชอบ หรือเข้ากันได้กับความคิดเห็นของตนเท่านั้น ครับ

หาก "สติปัฏฐาน" ในขณะนี้ กำลังเกิดขึ้น รู้ลักษณะของนามธรรม หรือ รูปธรรม ที่กำลังปรากฏ เป็นไปในกายบ้าง เวทนาบ้าง จิตบ้าง ธรรมบ้าง จริงๆ ความสงสัยในข้อปฏิบัติก็จะค่อยๆ คลายลงไป เพราะขณะนั้น เป็น "ปัญญา" จริงๆ ครับ

ผมได้ตอบคำถาม ตามประเด็นที่ คุณ apitum ถามแล้ว ครบถ้วนทุกประเด็น ผมเห็นว่า คุณ apitum เป็น ผู้มีใจตรงไปตรงมา คำตอบของผมจึงตรงไปตรงมา ซึ่งถ้าคุณพิจารณาใคร่ครวญทั้งหมด โดยไม่มุ่งแต่จะโต้แย้ง เข้าใจว่าคุณสามารถเข้าใจได้ ครับ

หากคุณปรารถนาจะศึกษาพระธรรม สนทนาธรรมเพื่อเกื้อกูลกันในการอบรมเจริญปัญญา อย่างสหธรรมิกที่ประกอบด้วยเมตตาต่อกัน ผมมีใจยินดีที่จะร่วมสนทนาอีกเสมอ เพราะเป็นประโยชน์ที่จะเกื้อกูลกันในพระธรรมต่อไป ครับ

แต่ถ้าเพียงกล่าวเพื่อโต้แย้ง เอาชนะ มุ่งจับผิดว่าถามกี่ประเด็น ตอบไม่ตรงคำถาม ไม่ได้สนทนาด้วยเมตตาจิต คิดใคร่ครวญข้อความที่สนทนาด้วยความเข้าใจ ขอเชิญคุณถามโต้แย้ง ต่อได้ ตามอัธยาศัย ครับ แต่ผมขอไม่ตอบคำถาม หรือ ร่วม สนทนา ใดๆ ด้วยอีก เพราะคำตอบที่เป็นไปเพื่อความเข้าใจพระธรรม จะกลายเป็นการ "โต้วาทะธรรม" ถามมาแย้งไป แย้งมาตอบไป ไม่มีวันจบได้เลย ครับ

ที่สิ้นสุดของการสนทนาจะ ไม่ใช่ "ปัญญา" แต่เป็น "อกุศล" แน่นอน เพราะ หากสนทนาธรรมแล้ว "อกุศลวิตกอันลามก" เจริญขึ้น นั่นไม่ใช่จุดประสงค์ของการสนทนาธรรม ครับ พระศาสดาย่อมแสดงว่า "จงอย่าตรึก" ด้วย "ปัญญา" จริงๆ

ขอกราบนมัสการอย่างสูงสุด แด่พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ และสังฆรัตนะ

ขอกราบขอบพระคุณและอนุโมทนา

ในกุศลศรัทธาของทุกท่านที่ศึกษาพระธรรมด้วยความเคารพ ครับ

ขณะอย่าได้ล่วงเลยท่านทั้งหลายไปเสีย.

 
  ความคิดเห็นที่ 29  
 
ผู้รู้น้อย
วันที่ 19 ม.ค. 2555

แต่ถ้าเพียงกล่าวเพื่อโต้แย้ง เอาชนะ มุ่งจับผิดว่าถามกี่ประเด็น ตอบไม่ตรงคำถาม ไม่ได้สนทนาด้วยเมตตาจิต คิดใคร่ครวญข้อความที่สนทนาด้วยความเข้าใจ ขอเชิญคุณถามโต้แย้ง ต่อได้ ตามอัธยาศัย ครับ แต่ผมขอไม่ตอบคำถาม หรือ ร่วม สนทนา ใดๆ ด้วยอีก เพราะคำตอบที่เป็นไปเพื่อความเข้าใจพระธรรม จะกลายเป็นการ "โต้วาทะธรรม" ถามมาแย้งไป แย้งมาตอบไป ไม่มีวันจบได้เลย ครับ ที่สิ้นสุดของการสนทนาจะ ไม่ใช่ "ปัญญา" แต่เป็น "อกุศล" แน่นอน เพราะ หากสนทนาธรรมแล้ว "อกุศลวิตกอันลามก" เจริญขึ้น นั่นไม่ใช่จุดประสงค์ ของการสนทนาธรรม ครับ พระศาสดาย่อมแสดงว่า "จงอย่าตรึก" ด้วย "ปัญญา" จริงๆ

สมดังคำที่คุณธุลีพุทธบาท กล่าวทุกประการ

ขอน้อมจิตอนุโมทนาในกุศลจิตที่เป็นสัมมาทิฐฏิของท่าน ในการเผยแพร่ธรรม ที่ถูกต้องด้วยเศียรเกล้าครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 30  
 
ปุ้ม
วันที่ 19 ม.ค. 2555

คุณ ธุลีพุทธบาท ขอขอบคุณในความอย่างยิ่ง ที่ให้ความรู้ในพระธรรมครับ

สาธุ สาธุ สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 31  
 
เซจาน้อย
วันที่ 19 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การศึกษาพระธรรม การสนทนาธรรม ควรจะเป็นไปเพื่อการศึกษาให้เข้าใจถูกต้องในพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง เพื่ออบรมเจริญปัญญาต่อไป ควรเป็นผู้ตรง และจริงใจ ที่จะใคร่ครวญไต่ตรองพระธรรมด้วยปัญญา โดยไม่มีอกุศลจิตแอบแฝงมากับการศึกษาพระธรรม เพื่อจุดประสงค์อื่นครับ

การสนทนาธรรม ก็ควรจะเป็นการเกื้อกูลกันเพื่อให้เข้าใจพระธรรมเพิ่มขึ้น ชี้แจงแสดงเหตุผลเพื่อความเข้าใจพระธรรมที่ถูกต้อง ตรงต่อเหตุผลในการไตร่ตรองจริงๆ เพื่อพ้นจากความเห็นผิด และพ้นจากอกุศลทั้งหลายอันเป็นภัยอย่างยิ่ง

ขอบคุณคุณธุลีพุทธบาท และ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 32  
 
captpok
วันที่ 20 ม.ค. 2555

การศึกษาพระธรรมต้องเป็นผู้ละเอียด

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 33  
 
ธมฺม
วันที่ 20 ม.ค. 2555

จะเลือกตรึกธรรมะได้ไหม มีตัวตน หรือไม่มีตัวตนมาตรึกไหม? ความคิดเห็น กำลังตรึกถึงธรรมะ ที่เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง ด้วย อกุศลวิตก หรือกุศลวิตก เพราะมีธรรม อื่นฯ เป็น [ ปัจจัย (เลือก) ] การตรึกจึงเกิดได้ จะเลือกตรึก (ธรรมะ) ก็ยังเรียกอารมณ์ที่ตรึกได้ว่าเป็น (ธรรมะ) เรียก การตรึกได้ว่าตรึก (ธรรมะ) แต่เรียก คำว่า เลือก เป็น ธรรมะ ที่เป็น (ปัจจัย) ไม่ได้ ต้องมีความเห็นลงไปว่า ตัวตน (อัตตา) เลือก ตรึก ได้ ขณะที่สติปัฏฐาน ไม่เกิด ผู้มีปัญญามั่นคงในระดับการฟัง แล้วเข้าใจว่ามี เพียงธรรมะ ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตนเลย แม้กุศลวิตกเกิด หรืออกุศลวิตกเกิดขึ้น ขณะ นั้นสัจจญาณก็มีความรู้ ขั้นคิดได้ว่า มีความเป็น เราด้วยตัณหาบ้าง เราด้วยมานะบ้าง เราด้วยทิฏฐิบ้าง ตามอยู่เหมือนเงาตามตัวอยู่แล้ว เพราะยังละตัณหา มานะ ทิฏฐิ ไม่ได้ แม้สติปัฏฐานเกิดแล้ว ดับไป ยังไม่ได้ละความเป็นเรา ความรู้สึกเป็นเรา ก็ตามยึดสติบ้างว่าเป็นเรามีสติ เป็นปรกติอยู่ แล้ว ความรู้เช่นนี้เป็นญาณ ในอริยสัจ ๔ เป็นปัจจัยให้ตัณหา มานะ ทิฏฐิเกิดเบาบางลงตามลำดับด้วยกำลังของสัจจญาณ แต่หากสัจจญาณไม่มั่นคง ความยึดถือผิดว่าเป็นเรา ก็ตามมา คิดว่าความเป็นเราคือตัวโลภะเลือกตรึกได้ เราต้องตั้งใจทำศีล สมาธิ ก่อนมีสัจจญาณ แต่เพราะยังไม่ได้ละความเป็น เรา เป็นตัวตน จึงคิดตั้งใจทำ เลือก หรือคิดว่าเรา แต่นั่นคืออวิชชา

อวิชชาเจริญซ่อนความไม่รู้จักว่า ตัณหาเป็นสมุทยสัจจะ ตัณหาจึงเป็นเหตุแห่ง การติดข้องลูบคลำข้อปฏิบัติ เก็บสภาพตัวตนไว้ไม่ต้องรู้จักว่าเป็นธรรมะที่มีโทษ แต่กลับ เห็นว่า ไม่ต้องกลัว เสมือนว่าเป็นธรรมะฝ่ายดีมีคุณ ที่ทำให้เลือก บังคับบัญชา สติและปัญญาได้ เมื่อสมาธิมีมาก บางท่าน ได้ศึกษาปัฏฐาน ปฏิจจสมุปบาทมาแล้วบ้างก็ตาม แต่ความที่ อวิชชาเกิดกับความต้องการที่จะเลือกจัดการธรรมะ ก็ปิดบัง การที่ได้เคยศึกษาปัฏฐาน ปฏิจจสมุปบาท ว่าเป็นเพียงอาศัยกันและกัน ยังธรรมที่สืบเนื่องกันให้เกิดขึ้นเป็นต้น

สรุปความคิดเห็นได้ว่า การที่ให้โลภะ (เรา หรือ ตัวตน) เกิดก่อนกุศลต่างๆ โดยไม่ศึกษาให้ละเอียดว่ากุศลเหล่านี้ จะไม่เป็นเหตุให้สติปัฏฐานเกิด หรือเจริญ (ไม่ภาวนา) เพราะ โลภะ เป็นผู้นำและเป็นบริวาร และไม่กลัวโลภะ โดยเห็นว่าต้องให้โลภะ (ตัวตน) เกิดก่อน กุศลธรรม และโลภะก็ตาม เป็นบริวารโดยไม่ระวังภัย คือความเห็นผิด

ขออนุโมททนาทุกๆ ท่าน ที่ร่วมสนทนา ตามพระธรรมวินัย และทุกท่าน ที่ประพฤติเพื่อความเห็นถูก

ประภาส

 
  ความคิดเห็นที่ 35  
 
เมตตา
วันที่ 22 ม.ค. 2555

ขออนุญาตร่วมสนทนาค่ะ

ไม่ว่าในกาลไหนๆ ที่เรียกว่าชีวิต บุคคล สัตว์ ใดๆ ก็เป็นเพียงจิต เจตสิก รูป ที่เกิดดับสืบต่อที่เรียกว่าสังสารวัฏฏ์ ... จนกว่าปัญญาได้อบรมเจริญจนสามารถดับกิเลสหมดสิ้นเป็นสมุจเฉทเป็นพระอรหันต์ จึงไม่มีการเกิดอีก (ไม่มีจิต เจตสิก และรูปเกิดขึ้นอีก)

เพราะฉะนั้น ในสมัยพุทธกาล พระภิกษุท่านได้สะสมปัญญามามาก เพียงฟังเทศนาสั้นๆ ท่านผู้มีปัญญาสะสมมาแล้วย่อมสามารถแทงตลอดในสภาพธรรมตามความเป็นจริง บรรลุเป็นพระอรหันต์ได้ แล้วเราสมัยนี้ต้องยอมรับว่ายังไม่ได้อบรมความเห็นถูก เข้าใจถูกในสภาพธรรมที่มีจริงที่กำลังปรากฏ แล้วจะเอาปัญญาจากไหนมาดับอวิชชาความไม่รู้ และกิเลสต่างๆ ได้ เพราะปัญญาเกิดจากการค่อยๆ อบรมให้มีขึ้น

แม้หนทางดับกิเลสคือ อริยมรรคมีองค์ ๘ ก็ต้องเริ่มจากมรรคแรก คือ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูกต้องในสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏ ไม่เช่นนั้นไม่มีหนทางอื่นที่จะดับกิเลสใดๆ ได้ ความเห็นถูก เข้าใจถูกที่ค่อยๆ อบรมให้มีขึ้นคือ ภาวนา (ภาวนา เกิดจากการค่อยๆ อบรมให้มีขึ้น ปัญญาจะเกิดเองไม่ได้) ธรรมะเป็นสิ่งที่ลึกซึ้ง ยากที่จะรู้ตามได้ ควรพิจารณาเหตุ และผลให้รอบคอบจึงจะได้ประโยชน์จากพระธรรม ...

....ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านด้วยค่ะ...

 
  ความคิดเห็นที่ 36  
 
mikemongo1
วันที่ 23 ม.ค. 2555

[เล่มที่ 13] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ 320

ประทานโอวาทแก่ภิกษุสงฆ์ (ธรรมทัศนะ-01472)

[๑๔๑] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งกะท่านพระอานนท์ว่า ดูก่อนอานนท์ บางทีพวกเธอจะพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า ปาพจน์มีพระศาสดาล่วงแล้ว พระศาสดาของพวกเราไม่มี ข้อนี้พวกเธอไม่พึงเห็นอย่างนั้น ธรรมก็ดี วินัยก็ดีอันใด อันเราแสดงแล้ว ได้บัญญัติไว้แล้วแก่พวกเธอ ธรรมและวินัยอันนั้น จักเป็นศาสดาแห่งพวกเธอ โดยกาลล่วงไปแห่งเรา

พระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ทรงปัญญาทางธรรมสูงสุด คือพระธรรมและพระวินัยที่ได้ทรงแสดงและบัญญัติไว้ ในสมัยพุทธกาลก็ใช่ว่าจะเข้าใจสัจจธรรมที่ทรงแสดงได้ทุกคนไป เมื่อยังไม่เข้าใจ จะด่วนบอกว่าผู้แสดงไม่รู้ ไม่ควร เพราะยังมีผู้ฟังอีกจำนวนมากที่เข้าใจสิ่งที่ทรงแสดง -

จกฺธมฺโม

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 37  
 
หลานตาจอน
วันที่ 24 ม.ค. 2555

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาทุกท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 38  
 
lack
วันที่ 28 พ.ย. 2557

ความคิดเห็นที่ 13 คุณ ธุลีพุทธบาท

"ผู้ที่เข้าใจพระธรรมถูกต้อง ไม่ได้มี "ความกลัว" ว่าจะมี "ตัวตน" ในการปฏิบัติ แต่มี "ปัญญา" ที่ "รู้ตามความเป็นจริง" ว่า "ไม่มีตัวตน" อยู่แล้ว ตามความเป็นจริง

ถ้าเริ่มต้นมี "ความเห็นผิด" ที่เข้าใจว่ามี "ตัวตน" จริงๆ ไปปฏิบัติ เพื่อละตัวตน ก็มีแต่จะพอกพูนความเห็นผิด ว่ามีตัวตนจริงๆ ให้หนาแน่นขึ้นเรื่อยๆ "

ขอบพระคุณเจ้าของคำถาม และ ท่านผู้ตอบคำถามทุกท่าน ที่ได้ยกที่มาที่ไปของพระพุทธพจน์ และอธิบายได้แจ่มแจ้งยิ่งนัก ทำให้ผมเข้าใจพระธรรมยิ่งขึ้น และได้สำเหนียกตนเองว่า ต้องเป็นผู้ละเอียด ไตร่ตรอง ในพระธรรม ให้รอบคอบ เผินไม่ได้จริงๆ

สาธุ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตทุกท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 39  
 
chatchai.k
วันที่ 19 พ.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาทุกท่าน ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 40  
 
ก.ไก่
วันที่ 11 พ.ค. 2564

อนุโมทามิ

สาธุ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ