กลัวตาย ศึกษาธรรมะอย่างไรให้ลดความกลัวลงบ้าง

 
Jesse
วันที่  9 ม.ค. 2555
หมายเลข  20333
อ่าน  990

จะมีวิธีศึกษาธรรมะอย่างไรให้ลดความกลัวลงบ้างไหมคะ ตอนนี้มีความรู้สึกกลัวความตายขึ้นมาบ่อยมากค่ะ จนทำให้นอนไม่หลับ อยากจะรบกวนท่านอาจารย์ช่วยให้คำแนะนำเพื่อลดความรู้สึกนี้ด้วยค่ะ

ขอขอบพระคุณมากๆ ค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 9 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เมื่อกี้ก็ตายแล้วครับ ตายจริงๆ ด้วย รู้สึกยังไบ้างครับ ที่ถามอยู่ ไม่รู้สึกอะไรใช่ไหมครับ ไม่รู้สึกกลัวใช่ไหมครับ ดังนั้น ตายแล้วก็ไม่รู้ว่าตายอยู่ทุกขณะ ดังนั้น กำลังจากไป กำลังตาย ทุกขณะ ขณะที่สภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไป ก็ตายทุกขณะอยู่แล้วครับ และก็ไม่กลัวด้วย เพราะไม่รู้ว่ากำลังตาย ส่วน การกลัวตาย ก็คือ ความตายที่เป็นการสมมติขึ้นว่าตายจากความเป็นบุคคลนี้ แต่สัจจะความจริง คือ ตายอยู่ทุกขณะที่สภาพธรรมนั้นดับไป และที่สำคัญ หากกลัวตายจากความเป็นบุคคลนี้ที่ชาวโลกเข้าใจ ก็ขอให้อุ่นใจเลยครับว่า ขณะที่กลัวอยู่ ยังไม่ตายจากความเป็นบุคคลนี้ครับ ยิ่งกลัว ก็แสดงว่ายังไม่ตายในขณะนั้น ขณะนี้กำลังอ่าน กำลังเห็นก็ยังไม่จาก ยังไม่พรากจากความเป็นบุคคลนี้ครับ และจะตาย หรือ ไม่ตายจากความเป็นบุคคลนี้ ก็คือ จุติเกิด ก็ต้องเป็นไปตามกรรมที่จะให้ผลเกิดขึ้น ซึ่งไม่รู้เลยว่าเมื่อไหร่ กลัวไปก็เท่านั้น เพราะยังไม่เกิดขึ้น เพราะตอนนี้ยังไม่ตายจากความเป็นบุคคลนี้ เพราะกำลังเห็น กำลังอ่าน กำลังคิดนึก และอาจกำลังกลัวอยู่ครับ และจุติ คือ ตาย เพียงชั่วขณะเดียว ขณะที่ตาย ไม่เจ็บ ไม่รู้สึกอะไรทั้งสิ้น เพียงชั่วขณะจิตเดียวแล้วก็เกิด ดังนั้น จะกลัวหรือไม่กลัวก็ไม่รู้สึกอะไรทั้งสิ้นขณะที่ตายครับ

ดังนั้น ไหนๆ ก็จะต้องตาย ก็ใช้ชีวิตที่มีค่า ที่มีเวลาไม่มาก ด้วยการศึกษาพระธรรมเจริญกุศลทุกประการ อบรมปัญญา เมื่อปัญญาเจริญขึ้น ก็จะเข้าใจความจริงของชีวิตและกลัวตายน้อยลง เพราะเข้าใจความตาย ว่าตายอยู่ทุกขณะแล้วครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 9 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

แต่ละบุคคลที่เกิดมา ล้วนมีความตายเป็นที่สุดด้วยกันทั้งนั้น ไม่มีใครหลีกพ้นได้ ขึ้นอยู่กับว่าจะตายช้าหรือตายเร็วเท่านั้น ขณะที่กลัวต่อความตายในลักษณะที่กล่าวมานั้น เป็นอกุศล เป็นจิตที่เศร้าหมองไม่สบายใจ แต่ควรที่จะได้พิจารณา ว่า ความตาย (สิ้นสุดความเป็นบุคคล) ก็เป็นธรรมประการหนึ่ง เป็นจิตสุดท้ายของภพนี้ชาตินี้เกิดขึ้น คือ จุติจิต ทำกิจเคลื่อนจากความเป็นบุคคลนี้ ไม่สามารถกลับมาเป็นบุคคลนี้ได้อีกเลย ซึ่งเป็นธรรมที่เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัยแล้วก็ดับไป เท่านั้น จะเกิดขึ้นเมื่อใด ไม่มีใครทราบได้เลย เรื่องตาย ไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่เรื่องใหญ่ คือ ในขณะที่ยังไม่ตาย ควรทำอะไร จึงจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องดีงาม บุคคลผู้ไม่ระลึกถึงความตายว่าตนเองจักต้องตายแน่นอน ก็เป็นผู้ที่ประมาทมัวเมา ประมาทในชีวิต และไม่เจริญกุศลประการต่างๆ อันจะเป็นที่พึ่งสำหรับตนเอง เมื่อถึงคราวใกล้ตาย ย่อมเกิดความกลัวเพราะที่ผ่านมากระทำแต่อกุศลกรรม ไม่ได้สร้างกุศลไว้ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ภพต่อไปย่อมไม่พ้นไปจากอบายภูมิ ซึ่งเป็นภูมิที่เต็มไปด้วยความทุกข์ทรมานนานาประการ กล่าวได้ว่าเดือดร้อนในโลกนี้ยังไม่พอ ยังจะต้องเดือดร้อนในโลกหน้าอีกด้วย พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปรียบด้วยข้ออุปมาที่เห็นได้ชัด คือ คนที่ประมาทมัวเมาในชีวิต ไม่ระลึกถึงความตายอันจะเป็นเครื่องเตือนให้กระทำความดีนั้น เป็นผู้ไม่มีที่พึ่ง ไม่มีเครื่องป้องกัน เปรียบเหมือนกับผู้ที่เห็นอสรพิษเมื่อจวนตัวแล้ว (คืออยู่ใกล้ตัวแล้ว) หมดทางป้องกัน มีแต่จะถูกอสรพิษกัดทำร้ายอย่างเดียว ผู้ประมาทในชีวิต ก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ ในทางตรงกันข้าม ผู้ที่ระลึกถึงความตายอยู่เสมอ ย่อมเป็นผู้ไม่ประมาทมัวเมาในชีวิต เป็นผู้ที่เจริญกุศล สะสมความดีเป็นที่พึ่งสำหรับตนเอง ย่อมเป็นผู้ไม่หวั่นกลัว หรือไม่เดือดร้อนเมื่อถึงคราวใกล้ตาย เพราะได้กระทำที่พึ่งสำหรับตนเอง กล่าวคือ กุศลทุกประการไว้พร้อมแล้ว มีเครื่องป้องกันที่ดีแล้ว เนื่องจากว่าตั้งอยู่ในความไม่ประมาทอยู่เสมอ นั่นเอง ในข้อนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าอุปมาเหมือนกับ ผู้ที่เห็นอสรพิษมาแต่ไกล ย่อมมีเวลาที่จะหาทางป้องกันให้ตนเองรอดพ้นจากอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นจากอสรพิษดังกล่าวได้อย่างทันท่วงที

ดังนั้น ในเมื่อทุกคนต้องตายอย่างแน่นอน จึงควรพิจารณาอยู่เสมอว่า ก่อนที่วันนั้นจะมาถึง เราควรทำอะไรบ้าง ซึ่งจะเป็นที่พึ่งสำหรับตนเองอย่างแท้จริง โดยไม่ต้องรอไปทำความดีเมื่อใกล้ตาย ถ้ารอ ก็แสดงว่าประมาทแล้ว และอาจจะไม่มีโอกาสได้ทำก็ได้ การละอกุศลกรรม (ความชั่ว) แล้วเจริญกุศล (ความดี) จีบ่อยๆ เนืองๆ ตามกำลังของตน และไม่ละเลยในการอบรมเจริญปัญญา ด้วยการศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรมให้เข้าใจเพื่อน้อมประพฤติปฏิบัติตาม นั้น เป็นความดีที่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง เพราะว่าบุคคลผู้ไม่ประมาทในชีวิตอันมีประมาณน้อยนี้ ย่อมจะไม่เดือดร้อนทั้งในโลกนี้และในโลกหน้า ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
pat_jesty
วันที่ 9 ม.ค. 2555

ความกลัว หรือความกังวลใจไม่สามารถหยุดยั้งความตายได้ ดังนั้นเวลาที่เหลืออยู่จึงควรอยู่อย่างคุ้มค่าที่สุด นั่นคือสะสมความดี และความเข้าใจพระธรรม เพราะความเข้าใจพระธรรมเท่านั้นที่จะทำให้สิ้นสุดจากความตายอย่างแท้จริง เพราะไม่กลับมาเกิดอีกเลย ...

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Jesse
วันที่ 10 ม.ค. 2555

ขอขอบพระคุณมากเลยค่ะ ที่แนะนำชี้แจงให้ทราบถึงความเป็นจริง ตอนนี้มีความเข้าใจมากขึ้นแล้วค่ะ เพราะศึกษาพระธรรมไม่ละเอียดลึกซึ้งจึงทำให้เกิดความรู้สึกหวั่นกลัวขึ้นมา ขอขอบพระคุณอีกครั้งนะคะสำหรับอ.คำปั่นและอ.เผดิมที่ให้ข้อธรรมะเตือนสติอีกครั้ง

ขอขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านด้วยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
เซจาน้อย
วันที่ 10 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
jaturong
วันที่ 12 ม.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
chatchai.k
วันที่ 30 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ