นิพพานธาตุ

 
samroang69
วันที่  2 ม.ค. 2555
หมายเลข  20290
อ่าน  2,126

เจตสิก ๕๒ - อาการและคุณสมบัติต่างๆ ของจิต หรือก็คือกลุ่มอาการของจิต ท่านได้แบ่งออกเป็น ๕๒ ชนิด อันนอกจากเวทนาและสัญญาแล้วต่างก็ล้วนจัดเป็นสังขารขันธ์ชนิดจิตตสังขาร (มโนสังขาร) อีกด้วย เจตสิก ๕๒ ได้แก่

๑. ผัสสะ - ความกระทบอารมณ์

๒. เวทนา - ความเสวยอารมณ์

๓. สัญญา - ความหมายรู้อารมณ์

๔. เจตนา - ความจงใจต่ออารมณ์

๕. เอกัคคตา - ความมีอารมณ์เป็นหนึ่งเดียว

๖. ชีวิตินทรีย์ - อินทรีย์คือชีวิต,สภาวะที่เป็นใหญ่ในการรักษานามธรรมทั้งปวง

๗. มนสิการ - ความกระทำอารมณ์ไว้ในใจ,ใส่ใจ

๘. วิตก - ความตรึกอารมณ์

๙. วิจาร - ความตรองหรือพิจารณาอารมณ์

๑๐. อธิโมกข์ - ความปลงใจหรือปักใจในอารมณ์

๑๑. วิริยะ - ความเพียร

๑๒. ปีติ - ความปลาบปลื้มในอารมณ์,ความอิ่มใจ

๑๓. ฉันทะ - ความพอใจในอารมณ์

๑๔. โมหะ - ความหลง

๑๕. อหิริกะ - ความไม่ละอายต่อบาป

๑๖. อโนตตัปปะ - ความไม่สะดุ้งกลัวต่อบาป

๑๗. อุทธัจจะ - ความฟุ้งซ่าน

๑๘. โลภะ - ความอยากได้อารมณ์

๑๙. ทิฎฐิ - ความเห็นผิด

๒๐. มานะ - ความถือตัว

๒๑. โทสะ - ความคิดประทุษร้าย

๒๒. อิสสา - ความริษยา

๒๓. มัจฉริยะ - ความตระหนี่

๒๔. กุกกุจจะ - ความเดือดร้อนใจ

๒๕. ถีนะ - ความหดหู่

๒๖. มิทธะ - ความง่วงเหงา

๒๗. วิจิกิจฉา - ความคลางแคลงสงสัย

๒๘. สัธทา (ศรัทธา) - ความเชื่อ

๒๙. สติ - ความระลึกได้, ความสำนึกพร้อมอยู่

๓๐. หิริ - ความละอายต่อบาป

๓๑. โอตตัปปะ - ความสะดุ้งกลัวต่อบาป

๓๒. อโลภะ - ความไม่อยากได้อารมณ์

๓๓. อโหสิ - อโทสะ - ความไม่คิดประทุษร้าย

๓๔. ตัตรมัชฌัตตตาหรืออุเบกขา - ความเป็นกลางในอารมณ์นั้นๆ

๓๕. กายปัสสัทธิ - ความสงบแห่งกองเจตสิก

๓๖. จิตตปัสสัทธิ - ความสงบแห่งจิต

๓๗. กายลหุตา - ความเบากองเจตสิก

๓๘. จิตตลหุตา - ความเบาแห่งจิต

๓๙. กายมุทุตา - ความอ่อนหรือนุ่มนวลแห่งกายหรือกองเจตสิก

๔๐. จิตตมุทุตา - ความอ่อนหรือนุ่มนวลแห่งจิต

๔๑. กายกัมมัญญตา - ความควรแก่การใช้งานแห่งกายหรือกองแห่งเจตสิก

๔๒. จิตตกัมมัญญตา - ความควรแก่การใช้งานแห่งจิต

๔๓. กายปาคุญญตา - ความคล่องแคล่วแห่งกองเจตสิก

๔๔. จิตตปาคุญญตา - ความคล่องแคล่วแห่งจิต

๔๕. กายุชุกตา - ความซื่อตรงแห่งกองเจตสิก

๔๖. จิตตุชุกตา - ความซื่อตรงแห่งจิต

๔๗. สัมมาวาจา - เจรจาชอบ

๔๘. สัมมากัมมันตะ - กระทำชอบ

๔๙. สัมมาอาชีวะ - เลี้ยงชีพชอบ

๕๐. กรุณา - ความสงสารสัตว์ผู้ถึงทุกข์

๕๑. มุทิตา - ความยินดีต่อสัตว์ผู้ได้สุข

๕๒. ปัญญินทรีย์หรืออโมหะ - ความรู้เข้าใจ, ไม่หลง.

ทั้ง ๕๒ นี้ ยกเว้นเพียงเวทนาและสัญญาแล้ว ที่เหลือทั้ง ๕๐ ล้วนจัดเป็นสังขารขันธ์ชนิดมโนสังขารหรือจิตตสังขารด้วย

ดังข้อความที่ได้เอามานี้ ได้สังเกตว่าไม่มีนิพพานเลย เป็นไปได้หรือไม่ที่นิพพานไม่ใช้เจติสิก เพราะไม่ได้กล่าวไว้ แล้วนิพพานไม่ได้เป็นอาการหนึ่งของจิตที่รู้อารมณ์พระนิพพานหรือครับ นิพพานเป็นเจตสิกหรือไม่ แล้วจิตที่เป็นนิพพานของพระอรหันต์ เกิดดับในอะไรเพราะยังมีขันธ์ทั้ง ๕ อยู่ถ้าไม่ใช้เจตสิกที่เป็นฝ่ายของโลกุตรธรรม แล้วนิพพานเป็นอะไร อาการของจิตที่เกิดดับอยู่ในนิพพานธาตุของพระอรหันต์นั้นมีโลกิยะหรือไม่ เช่น สุข ทุกข์ มาแทรกบางขณะบ้างหรือไม่

ขอความกรุณาด้วยครับอยากทราบจริงๆ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 2 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ปรมัตถธรรม ที่เป็นสภาพธรรมที่มีจริง แบ่งเป็นามธรรมและรูปธรรม นามธรรม คือ จิตเจตสิก และนิพพาน ส่วนรูปธรรม คือ รูป ปรมัตถธรรม จึงแบ่งเป็นจิต เจตสิก รูปและนิพพาน

นิพพานเป็นสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมด้วย แต่ไม่ใช่นามธรรมแบบจิต เจตสิก เพราะนามธรรมที่เป็นจิต เจตสิก เป็นสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมที่ยังมีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง เป็นสังขารธรรม ที่เกิดขึ้นและดับไป จิต เจตสิก เป็นนามธรรมที่รู้อารมณ์ แต่นิพพาน เป็นสภาพธรรมที่ไม่มีเหตุปัจจัย ปรุงแต่ง ไม่เกิดขึ้นและดับไป ต่างกับ จิตเจตสิก ที่เป็นสภาพธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่ง เกิดขึ้นและดับไปครับ ดังนั้นเราจะต้องแยกระหว่างนามธรรมที่เป็นพระนิพพาน กับ นามธรรมที่เป็นจิต เจตสิก คือ เป็น นามธรรมที่ไม่รู้อารมณ์ ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง เป็นพระนิพพาน กับ นามธรรมที่รู้อามรณ์ มีปัจจัยปรุแต่ง เกิดขึ้นและดับไปเป็น จิต เจตสิกครับ

นิพพาน จึงไม่ใช่เจตสิก ๕๒ ไม่ใช่จิต ไม่ใช่รูปครับ เพราะพระนิพพานเป็นสภาพธรรมที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง ไม่เกิดขึ้นและดับไป แต่เจตสิกเป็นสภาพธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่ง เกิดขึ้นและดับไปครับ จึงไม่มีจิต เจตสิก เกิดดับในนิพพานธาตุเลยครับ และ นิพพาน เป็นโลกุตตรธรรมเท่านั้น

ขออนุโมทนา

เชิญคลิกอ่านที่นี่ ...

นิพพานปรมัตถ์

ธรรมชาติพระนิพพาน [ตติยนิพพานสูตร]

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
samroang69
วันที่ 2 ม.ค. 2555

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 2 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียด ลึกซึ้ง แสดงถึงความเป็นจริงทั้งหมด เมื่อกล่าวถึงธรรมแล้ว ไม่พ้นไปจากนามธรรม และ รูปธรรม,

สภาพธรรมที่ไม่รู้อะไรเลย ไม่ใช่นามธรรมก็เป็นรูปธรรมทั้งหมด

นามธรรม แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือนามธรรมที่รู้อารมณ์ได้แก่

จิต (สภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์) และ เจตสิก (สภาพธรรมที่ร่วมกับจิต) และนามธรรมที่ไม่รู้อารมณ์ ได้แก่พระนิพพาน ที่เป็นสภาพธรรมที่ไม่เกิด ไม่ดับ แต่มีจริง พระอริยบุคคลขั้นต่างๆ เท่านั้นที่ประจักษ์แจ้งพระนิพพานได้

ดังนั้น พระนิพพาน เป็นสภาพธรรมที่มีจริงไม่เกิดไม่ดับ ไม่ใช่จิต ไม่ใช่เจตสิก ไม่ใช่รูป ไม่มีสภาพธรรมใดๆ แทรกอยู่ในพระนิพพานได้เลย ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
samroang69
วันที่ 2 ม.ค. 2555

ถ้านิพพานเป็นสภาพที่ไม่เกิดไม่ดับ แล้วพระอรหันต์ที่ยังมีชีวิตอยู่นั้น จิตเกิดดับอยู่ในนิพพานเช่นนั้นหรือไม่ หรือไม่เกิดไม่ดับ แล้วสภาพที่ยังต้องใช่ชีวิตคือมีธาตุขันธ์อยู่นั้นจิตอยู่ในสภาพใดถ้าไม่เกิดไม่ดับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
paderm
วันที่ 2 ม.ค. 2555

เรียนความเห็นทื 4 ครับ

พระอรหันต์ ที่ยังมีชีวิตอยู่ ท่านประจักษ์พระนิพพาน แต่ไม่ใช่ว่า ท่านจะต้องไปอยู่ใน นิพพานนะครับ เพียงแต่ จิตของท่าน ที่เป็นมรรคจิต ผลจิต ที่เกิดบางขณะ ขณะที่เกิด มรรคจิต หรือ ผลจิต ก็เป็นการประจักษ์พระนิพพาน ซึ่ง พระนิพพาน เ็ป็นเพียงอารมณ์ หรือ สิ่งที่ถูกรู้ ของ จิต เจตสิกของท่าน ที่เป็นมรรคจิตและผลจิตที่เกิดขึ้นครับ แต่ไม่มี จิต เจตสิกที่อยู่ในนิพพาน เป็นสภาพธรรมที่แยกขาดจากัน เพราะพระนิพพานเป็น สภาพธรรมที่ไม่เกิดขึ้นและดับไป แต่ จิต เจตสิก เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไป จึงไม่ปะปนกัน และเป็นสภาพธรรมคนละอย่างกันครับ ดังนั้น พระอรหันต์ที่ท่านมีชีวิตอยู่ ท่านดับกิเลสแล้ว แต่ยังมีขันธ์ มี จิต เจตสิกและรูป แต่ท่านดับกิเลสหมดแล้ว เรียกว่า สอุปาทิเสสนิพพาน แต่ ไม่ใช่ว่า ท่านะจะต้องอยู่กับพระนิพพานตลอด เพียงแต่ขณะใด ที่ท่านเข้าผลสมาบัติ คือ จิตของท่านมีพระนิพพานเป็นอารมณ์ จิตก็เกิดขึ้นและดับไป คนละส่วนกัน กับพระนิพพานครับ เพียงแต่ว่า ขณะนั้น จิตและเจตสิก กำลังรู้พระ นิพพาน แต่ จิตและเจตสิกก็ไม่ได้ไปเกิด ดับ กับพระนิพพาน เพราะจิต เจตสิกเกิด ดับ กับ หทยรูป ที่เป็นรูปธรรมครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
samroang69
วันที่ 2 ม.ค. 2555

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
SOAMUSA
วันที่ 3 ม.ค. 2555

กราบอนุโมทนาค่ะได้อ่านคำอธิบายจากอาจารย์ทั้งสอง ขอบพระคุณอย่างสูงค่ะ

นิพพาน เป็น ขันธวิมุต

- เป็นนามธรรมแต่ไม่เป็นนามขันธ์

- คือพ้นจากขันธ์ทั้ง ๕

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
วิริยะ
วันที่ 3 ม.ค. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
เซจาน้อย
วันที่ 3 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
chatchai.k
วันที่ 21 พ.ย. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ