พระสงฆ์กล่าวคำหยาบ เสียดสี บริภาษ กิริยาไม่สำรวม ฯลฯ

 
Pigmy
วันที่  20 ก.ย. 2554
หมายเลข  19766
อ่าน  12,869

เป็นคำถามจากรุ่นน้องนะครับ

เขาอยากทราบว่า พระสงฆ์ที่กล่าวคำหยาบ คำเสียดสี บริภาษฝ่ายตรงข้าม

รวมทั้งทำกิริยาไม่สำรวม

แต่พระท่านบอกว่า ใจท่านไม่ได้เป็นอกุศล

ท่านแก้ต่างว่า ที่พูดคำหยาบ คำเสียดสี คำบริภาษก็พูดด้วยกุศล

และที่ทำกิริยาไม่สำรวม ที่เตะข้าวของ ยกแข้งยกขาแสดงท่าเป็นนักเลง

เพื่อสอนญาติโยม จึงไม่ผิด

แต่น้องผมเริ่มเสื่อมศรัทธา จึงฝากคำถามมาถามว่า

การกระทำเหล่านี้ ผิดพระวินัยหรือไม่ครับ

อยากขอคำตอบจากกัลยาณมิตรในมูลนิธิฯ

หรือหากมีข้อความในพระไตรปิฎกอ้างอิงจะดีมากเลยครับ เพื่อให้น้องได้มั่นใจมากขึ้น


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 20 ก.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

เพศบรรพชิต เป็นเพศที่ขัดเกลายิ่ง เพราะต้องเว้นทั่วจากอกุศลทุกๆ ประการด้วยการ

ประพฤติตามพระวินัยบัญญัติที่พระพุทธเจ้า บัญญัติไว้ เพื่อประโยชน์สูงสุดของการ

บวช คือ ทำให้ถึงที่สุดทุกข์ ดังนั้น กิริยาอาการของพระภิกษุ จึงต้องเป็นไปด้วยความ

ขัดเกลาตามพระธรรมวินัย อันจะไม่นำมาซึ่งอาสวะกิเลสที่จะเกิดขึ้นและไม่นำมาซึ่ง

ความไม่เลื่อมใสของผู้ที่พบเห็นครับ กิริยาอาการจึงต้องเหมาะสมและขัดเกลา

แม้แต่เรื่องการพูด ก็ต้องพูดด้วยกุศล เมื่อพูดด้วยกุศลจิต กิริยาอาการภายนอก ย่อม

น้อมไปตามจิตที่เป็นกุศล คือ ไม่พูดหยาบ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดโกหกและไม่พูด

เพ้อเจ้อ อันเป็นอกุศลธรรม ดังนั้นการพูดคำหยาบของผู้ที่เป็นปุถุชน จะปฏิเสธไม่ได้

เลยว่ามาจากจิตที่เป็นอกุศล เพราะไม่ใช่กุศลแน่นอนครับ เพราะถ้าเป็นกุศลย่อมไม่พูด

ด้วยวาจาที่หยาบ หรือพูดด้วยวาจาที่เป็นอกุศลประเภทอื่น มีการพูดเสียดสี เป็นต้น

เมื่อเป็นอกุศลที่แสดงออกมาทางวาจา สภาพธรรมที่เป็นอกุศล ไม่ดีเลย ไม่ว่าจะเกิด

กับบุคคลใด เพศไหน ไม่ว่าจะคฤหัสถ์ หรือ บรรพชิต ก็เป็นสภาพธรรมที่ไม่ดี มีโทษ

ควรละ ไม่ควรเจริญครับ ดังนั้นการพูดไม่ดี ด้วยอกุศลประการต่างๆ จึงไม่สมควรกับทุก

คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพศบรรพชิตที่เป็นเพศที่ขัดเกลาครับ

การกระทำทางกายก็เช่นกัน พระภิกษุก็ต้องเป็นผู้สำรวม มือและเท้า ไม่เป็นผู้คะนอง

มือ คะนองเท้า เพราะขณะนั้นเกิดจากจิตที่เป็นอกุศลครับ จึงมีการกระทำทางกายที่

ไม่สำรวม ไม่เหมาะสมกับพระภิกษุ อันผิดพระวินัยบัญญัติครับ ซึ่งกระผมจะขอยกข้อ

ความในพระไตรปิฎกในส่วนของการพูดวาจาไม่ดี ของพระภิกษุ ในการว่ากล่าวผู้อื่น

ประการต่างๆ ว่าต้องอาบัติผิดพระวินัย เป็นอาบัติปาจิตตีย์ครับ ดังข้อความในพระ

ไตรปิฎกครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 20 ก.ย. 2554

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ทุติยภาค เล่ม ๒- หน้าที่ 26

[๑๘๒] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระ -

เชตวัน อารามของอานาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้น

พระฉัพพัคคีย์ทะเลาะกับพวก ภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก กล่าวเสียดแทงพวกภิกษุผู้มี

ศีลเป็นที่รัก คือด่าว่า สบประมาท กระทบกำเนิดบ้าง ชื่อบ้าง วงศ์ตระกูล

บ้าง การงานบ้าง ศิลปบ้าง โรคบ้าง รูปพรรณบ้าง กิเลสบ้าง อาบัติบ้าง

คำด่าที่ทรามบ้าง .......................................

ทรงติเตียน

พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูก่อนโมฆบุรุษทั้งหลาย ไฉน

พวกเธอจึงได้ทะเลาะกับพวกภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก กล่าวเสียดแทงพวกภิกษุผู้มี

ศีลเป็นที่รัก คือด่าว่า สบประมาท กระทบกำเนิดบ้าง ชื่อบ้าง วงศ์ตระกูลบ้าง

การงานบ้าง ศิลปบ้าง โรคบ้าง รูปพรรณบ้าง กิเลสบ้าง อาบัติบ้าง คำด่า

ที่ทรามบ้าง การกระทำของพวกเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชน

ที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว . . . ครั้นแล้ว

ทรงกระทำธรรมีกถารับส่งกะภิกษุทั้งหลายดังต่อไปนี้.

[๑๘๕] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้ครั้งนั้น คำด่า คำสบประมาทก็

มิได้เป็นที่พอใจของเรา ไฉน ในบัดนี้ คำด่า คำสบประมาท จักเป็นที่

พอใจเล่า การกระทำของพวกเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชน

ที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว . . .

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้น แสดงอย่างนี้ว่าดังนี้:-

พระบัญญัติ

๕๑.๒. เป็นปาจิตตีย์ ในเพราะโอมสวาท.

เรื่องพระฉัพพัคคีย์ จบ

สิกขาบทวิภังค์

[๑๘๖] ที่ชื่อว่า โอมสวาท ได้แก่คำพูดเสียดแทงให้เจ็บใจด้วย

อาการ ๑๐ อย่าง คือ ชาติ ๑ ชื่อ ๑ โคตร ๑ การงาน ๑ ศิลป ๑ โรค ๑

รูปพรรณ ๑ กิเลส ๑ อาบัติ ๑ คำด่า ๑.

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 20 ก.ย. 2554

และจากที่ผู้ถามได้ยกมาว่า พระ แสดงกิริยาไม่สำรวม ยกแข้ง ยกขา เตะข้าวของ คนเห็นก็ไม่ชอบ ไม่เลื่อมใส ก็เป็นการคะนอง คะนองเท้าได้ครับ ต้องอาบัติทุกกฎครับเรื่องภิกษุ เดิน หรือ นั่งคะนองมือ คะนองเท้าเที่ยวไปในละแวกบ้าน ต้องอาบัติทุกกฎ พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ทุติยภาค เล่ม ๒ - หน้าที่ 884 [๘๐๔] สาวัตถีนิทาน. ครั้งนั้น พระฉัพพัคคีย์เดินคะนองมือบ้างคะนองเท้าบ้าง ไปในละแวกบ้าน . . . ๑๕๐. ๕. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักสำรวมดี ไปในละแวกบ้าน.

สิกขาบทวิภังค์ อันภิกษุพึงสำรวมด้วยดีไปในละแวกบ้าน ภิกษุใดอาศัยความไม่เอื้อเฟื้อ คะนองมือก็ดี คะนองเท้าก็ดี ไปในละแวกบ้าน ต้องอาบัติทุกกฏ. [๘๐๕] สาวัตถีนิทาน. ครั้งนั้น พระฉัพพัคคีย์คะนองมือบ้าง คะนองเท้าบ้าง นั่งในละแวกบ้าน. . .

๑๕๑. ๖ . ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักสำรวมดี นั่งในละแวกบ้าน.

สิกขาบทวิภังค์ อันภิกษุพึงสำรวมดี นั่งในละแวกบ้าน ภิกษุใดอาศัยความไม่เอื้อเฟื้อคะนองมือก็ดี คะนองเท้าก็ดี นั่งในละแวกบ้าน ต้องอาบัติทุกกฏ. อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 20 ก.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง เป็นสิ่งที่มีจริง เป็นสภาพธรรมที่มีจริงเกิดขึ้นปรากฏเป็นไปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ทุกวัน ทุกขณะ เพื่อให้พุทธบริษัทเห็นโทษภัยของอกุศลธรรม และเห็นถึงภัยของสังสารวัฏฏ์

ซึ่ง ตราบใดที่ปัญญายังไม่ได้อบรมเจริญจนกระทั่งถึงขั้นที่จะดับกิเลสทั้งปวง ได้โดยเด็ดขาด สังสารวัฏฏ์ก็จะไม่มีวันจบสิ้น ดังนั้นถ้าไม่ได้อาศัยพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง พุทธบริษัทก็จะไม่เห็นโทษภัยของอกุศลธรรมและภัยของสังสารวัฏฏ์

แล้วก็จะไม่มีการอบรมเจริญปัญญา เพื่อที่จะประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง แต่เพราะพระผู้มีพระภาคทรงมีพระมหากรุณาคุณต่อสัตว์โลกทั้งปวง พระองค์จึงทรงแสดงธรรม เพื่อปลดเปลื้องหมู่สัตว์ออกจากสังสารวัฏฏ์ โดยที่พระองค์ไม่ทรงหวังสิ่งตอบแทนใดๆ เลย จากการแสดงธรรมของพระองค์ พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง เป็นความจริง ผู้แสดงก็ควรที่จะแสดงแต่ความจริงตามที่พระองค์ทรงแสดง โดยไม่มีการหาวิธีการใดๆ มาประกอบเืพื่อให้ผู้ฟังเกิดความสนใจ หรือ หวังลาภสักการะ ชื่อเสียง อยู่ลึกๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง และ จากกรณีตัวอย่างที่ยกมานั้น ไม่ไ้ด้มีในคำสอนในทางพระพุทธศาสนาเลยว่า ต้องแสดงอาการหรือพฤติกรรมอันไม่เหมาะสมเพื่อให้ผู้เกิดความกลัว แล้วจะได้ตั้งใจฟัง เพราะผู้แสดงธรรมที่ดี ต้องเป็นผู้มีจิตประกอบด้วยเมตตา มุ่งที่จะให้ผู้ฟังได้รับประโยชน์จากพระธรรมเท่านั้น ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ ลักษณะของผู้แสดงธรรมที่ีดี [อุทายิสูตร] บุคคลผู้ที่อยู่ในเพศบรรพชิต ก็ยิ่งจะต้องเป็นผู้ที่สำรวมระวังในสิกขาบทที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้อย่างเคร่งครัด สิกขาบทที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้เกี่ยวกับพูด และ ความประพฤติเป็นไปทางกาย ก็มีเป็นจำนวนมาก [ดังที่คุณผเดิมได้ยกมาในความคิดเห็นที่ ๒ และ ๓] ถ้าเป็นผู้ที่ไม่ได้ศึกษา ไม่ได้เข้าใจ ไม่มีความเคารพในพระวินัยแล้ว โอกาสที่จะเป็นอาบัติก็ย่อมจะมีมาก ซึ่งเป็นอันตรายมากในเพศของบรรพชิต เป็นเครื่องกั้นการบรรลุมรรคผลนิพพาน กั้นการไปสู่สุคติอีกด้วย ถ้าหากมรณภาพลงในขณะที่ต้องอาบัติ ย่อมเป็นผู้มีอบายภูิมิ เป็นที่ไปในเบื้องหน้าเท่านั้น และตามความเป็นจริงแล้ว อกุศล เมื่อเกิดกับใครไม่ว่าจะเป็นบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ก็เป็นอกุศล เพราะเป็นสิ่งที่มีจริง ไม่เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น อกุศลเป็นสิ่งที่ควรรังเกียจ เป็นสิ่งที่ควรละ ไม่ควรสะสมอกุศลให้มีมากขึ้น ครับ ...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
Pigmy
วันที่ 20 ก.ย. 2554

สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทนาครับและขอบพระคุณที่ยกข้อความในพระไตรปิฎกมาประกอบชัดเจนมากครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
หลานตาจอน
วันที่ 22 ก.ย. 2554
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
kinder
วันที่ 22 ก.ย. 2554
สาธุ
 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
Khun
วันที่ 10 ต.ค. 2554

ขอรบกวนถามความหมายของคำว่า "อาบัติทุกกฏ" ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
paderm
วันที่ 10 ต.ค. 2554

เรียนความเห็นที่ 8 ครับ เมื่อว่าโดยศัพท์แล้ว ทุกกฏ หมายถึง การกระทำไม่ดี, การกระทำไม่สมควร, การกระทำผิด ตามข้อความที่ว่า พระวินัยปิฎก ปริวาร เล่ม ๘ - หน้าที่ ๖๒๒

จริงอยู่ กรรมใด อันบุคคลทำไม่ดี หรือ ทำผิดรูป กรรมนั้น ชื่อว่าทุกกฏ. ก็ทุกกฏนั้นแล ชื่อว่าผิด เพราะเหตุที่ไม่ทำตามประการที่พระศาสดาตรัส,ชื่อว่าแย้ง เพราะเป็นไปแย้งกุศล, ชื่อว่าพลาด เพราะไม่ย่างขึ้นสู่ข้อปฏิบัติในอริยมรรค.

อาบัติทุกกฏ เป็นอาบัติที่เบา เมื่อต้องเข้าแล้ว ก็สามารถแก้ไขได้ตามพระวินัยด้วยแสดงแสดงอาบัติต่อหน้าพระภิกษุด้วยกัน ด้วยการมีความจริงใจที่จะสำรวมระวังต่อไป แต่ถ้าไม่แก้ไขด้วยการปลงอาบัิติ ก็เป็นเครื่องกั้นการบรรลุมรรคผลนิพพานกั้นสุคติภูมิ ด้วย ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
Khun
วันที่ 11 ต.ค. 2554

ขอบคุณความคิดเห็นที่9ค่ะ

เคยได้ยินว่าหลังจากอาบัติถ้าไม่รีบแก้ไข (คงหมายถึงปลงอาบัติ) จะทำอะไรต่อไป ไม่

ว่าจะเป็นทุกก้าวที่เดินก็จะเป็น "อาบัติทุกกฏ" ก็ติดใจคำนี้แต่ยังไม่มีโอกาสได้ศึกษา

และคิดว่า คงหมายความว่าไม่ว่าจะทำอะไรต่อจากนั้นก็ถือว่าเป็นอาบัติแต่ไม่ทราบว่า

เป็นอาบัติอะไร ทุกกฏหมายความว่าทุกๆ ข้อที่มีในวินัยหรืออย่างไร ตอนนี้พอเข้าใจขึ้น

มาบ้างค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
วิริยะ
วันที่ 14 ต.ค. 2554

เรียนถามความเห็นที่ 2

พระฉัพพัคคีย์ ที่ทะเลาะกับภิกษุ คือใคร หรือบุคคลจำพวกใด

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
paderm
วันที่ 14 ต.ค. 2554

เรียนความเห็นที่ 13 ครับ

พระฉัพพัคคีย์ คือ กลุ่มภิกษุ พวก 6 คือ มี 6 รูป ที่มักทำเรื่องไม่ดีเสมอครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
lnwcat
วันที่ 30 ต.ค. 2554
วาจาไม่เป็นที่รัก [๙๓]อภัยราชกุมารประทับ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระตถาคตจะพึงตรัสพระวาจา อันไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของคนอื่น บ้างหรือหนอ. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรราชกุมาร ในปัญหาข้อนี้ จะวิสัชนาโดยส่วนเดียวมิได้. อ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะปัญหาข้อนี้ พวกนิครนถ์ได้ฉิบหายแล้ว. พ. ดูกรราชกุมาร เหตุไฉนพระองค์จึงตรัสอย่างนี้เล่า? ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะปัญหาข้อนี้ พวกนิครนถ์ได้ฉิบหายแล้ว ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส หม่อมฉันเข้าไปหานิครนถ์นาฏบุตรถึงที่อยู่ อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง นิครนถ์นาฏบุตรได้บอกว่า ไปเถิด พระราชกุมาร เชิญพระองค์เสด็จไป ยกวาทะแก่พระสมณโคดมเถิด เมื่อพระองค์ยกวาทะแก่พระสมณโคดมอย่างนี้ กิตติศัพท์อันงาม ของพระองค์จักระบือไปว่า อภัยราชกุมารยกวาทะแก่พระสมณโคดม ผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก อย่างนี้ เมื่อนิครนถ์นาฏบุตรกล่าวอย่างนี้ หม่อมฉันได้ถามว่า ท่านผู้เจริญ ก็ข้าพเจ้าจะยกวาทะ แก่พระสมณโคดมผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากอย่างนี้ได้อย่างไร นิครนถ์นาฏบุตรตอบว่า ไปเถิด พระราชกุมาร เชิญพระองค์เสด็จเข้าไปเฝ้าพระสมณโคดมถึงที่ประทับ แล้วจงทูลถามอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระตถาคตจะพึงตรัสพระวาจาอันไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น บ้างหรือหนอ ถ้าพระสมณโคดมถูกพระองค์ทูลถามอย่างนี้แล้ว จะทรงพยากรณ์อย่างนี้ว่า ดูกร ราชกุมาร ตถาคตพึงกล่าววาจาอันไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ดังนี้ไซร้ พระองค์พึง ทูลพระสมณโคดมอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นอย่างนั้น การกระทำของพระองค์ จะต่างอะไรจากปุถุชนเล่า เพราะแม้ปุถุชนก็กล่าววาจาอันไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น แต่ถ้าพระสมณโคดมถูกพระองค์ทูลถามอย่างนี้แล้ว จะทรงพยากรณ์อย่างนี้ว่า ดูกรราชกุมาร ตถาคตไม่พึงกล่าววาจา อันไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ดังนี้ไซร้ พระองค์พึงทูล พระสมณโคดมอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นอย่างนั้น อย่างไรพระองค์จึงทรงพยากรณ์ เทวทัตต์ว่า เทวทัตต์จักเกิดในอบาย จักเกิดในนรก ตั้งอยู่สิ้นกัปหนึ่ง เป็นผู้อันใครๆ เยียวยา ไม่ได้ ดังนี้ เพราะพระวาจาของพระองค์นั้น พระเทวทัตต์โกรธ เสียใจ ดูกรพระราชกุมาร พระสมณโคดมถูกพระองค์ทูลถามปัญหาสองเงื่อนนี้แล้ว จะไม่อาจกลืนเข้า ไม่อาจคายออกได้เลย เปรียบเหมือนกระจับเหล็กติดอยู่ในคอของบุรุษ บุรุษนั้นจะไม่อาจกลืนเข้า ไม่อาจคายออกได้ ฉันใด ดูกรพระราชกุมาร พระสมณโคดมก็ฉันนั้น ถูกพระองค์ทูลถามปัญหาสองเงื่อนนี้แล้ว ไม่อาจกลืนเข้า จะไม่อาจคายออกได้เลย. วาจาที่ประกอบด้วยประโยชน์ [๙๔] สมัยนั้นแล เด็กอ่อนเพียงได้แต่นอน นั่งอยู่บนตักของอภัยราชกุมาร ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะอภัยราชกุมารว่า ดูกรราชกุมาร ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ถ้ากุมารนี้อาศัยความเผลอของพระองค์ หรือของหญิงพี่เลี้ยง พึงนำไม้หรือก้อนกรวดมาใส่ในปาก พระองค์จะพึงทำเด็กนั้นอย่างไร? ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันจะพึงนำออกเสีย ถ้าหม่อมฉันไม่อาจจะนำออกได้แต่ ทีแรก หม่อมฉันก็จะเอามือซ้ายประคองศีรษะแล้วงอนิ้วมือขวาควักไม้หรือก้อนกรวดแม้พร้อม ด้วยเลือดออกเสีย ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะหม่อมฉันมีความเอ็นดูในกุมาร. ดูกรราชกุมาร ตถาคตก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมรู้วาจาที่ไม่จริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วย ประโยชน์ และวาจานั้นไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ตถาคตไม่กล่าววาจานั้น อนึ่ง ตถาคตย่อมรู้วาจาที่จริง ที่แท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ และวาจานั้นไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ ชอบใจของผู้อื่น ตถาคตไม่กล่าววาจานั้น อนึ่ง ตถาคตย่อมรู้วาจาที่จริง วาจาที่แท้ และประกอบ ด้วยประโยชน์ แต่วาจานั้นไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ในข้อนั้น ตถาคตย่อมรู้กาลที่ จะพยากรณ์วาจานั้น ตถาคตย่อมรู้วาจาที่ไม่จริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ แต่วาจานั้น เป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ตถาคตไม่กล่าววาจานั้น ตถาคตย่อมรู้วาจาที่จริง ที่แท้ ไม่ ประกอบด้วยประโยชน์ แต่วาจานั้นเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ตถาคตไม่กล่าววาจานั้น อนึ่ง ตถาคตย่อมรู้วาจาที่จริง ที่แท้ และประกอบด้วยประโยชน์ และวาจานั้นเป็นที่รัก เป็นที่ ชอบใจของผู้อื่น ในข้อนั้น ตถาคตย่อมรู้กาลที่จะพยากรณ์วาจานั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะ ตถาคตมีความเอ็นดูในสัตว์ทั้งหลาย. พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๕ มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ อภัยราชกุมารสูตร
 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
เซจาน้อย
วันที่ 1 พ.ย. 2554

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ