อย่าเชื่อโดยตักกะ อย่าเชื่อโดยนยะ คืออย่างไร

 
นาวาเอกทองย้อย
วันที่  7 ก.ค. 2554
หมายเลข  18697
อ่าน  3,662

ในพระไตรปิฎกมีคำสอนเรื่องไม่ควรเชื่อโดยยกเหตุ ๑๐ อย่างขึ้นอ้าง ตามคำบาลี และคำแปล มีดังนี้ (ภาษาบาลีเขียนเป็นคำอ่าน)

๑. มา อะนุสสะเวนะ อย่าได้ยึดถือตามถ้อยคำที่ได้ยินได้ฟังมา

๒. มา ปะรัมปะรายะ อย่าได้ยึดถือตามถ้อยคำสืบๆ กันมา

๓. มา อิติกิรายะ อย่าได้ยึดถือโดยตื่นข่าวว่า ได้ยินอย่างนี้

๔. มา ปิฏะกะสัมปะทาเนนะ อย่าได้ยึดถือโดยอ้างตำรา

๕. มา ตักกะเห-ตุ อย่าได้ยึดถือโดยเดาเอาเอง

๖. มา นะยะเห-ตุ อย่าได้ยึดถือโดยคาดคะเน

๗. มา อาการะปะริวิตักเกนะ อย่าได้ยึดถือโดยความตรึกตามอาการ

๘. มา ทิฏฐินิชฌานักขันติยา อย่าได้ยึดถือโดยชอบใจว่าต้องกันกับทิฏฐิของตัว

๙. มา ภัพพะรูปะตายะ อย่าได้ยึดถือโดยเชื่อว่าผู้พูดสมควรจะเชื่อได้

๑๐. มา สะมะโณ โน คะรูติ อย่าได้ยึดถือโดยความนับถือว่า สมณะนี้เป็นครูของเรา

กระผมติดขัดอยู่ ๒ ข้อ คือ ข้อ ๕ อย่าเชื่อโดยเดาเอาเอง กับข้อ ๖ อย่าเชื่อโดยคาดคะเน ยังไม่เข้าใจว่า เชื่อโดยเดาเอาเอง (โดยตักกะ) คืออย่างไร เชื่อโดยคาดคะเน (โดยนยะ) คืออย่างไร และการเชื่อทั้งสองอย่างนี้ต่างกันอย่างไร

ขอความกรุณาจากท่านผู้รู้ได้โปรดอธิบายโดยยกตัวอย่างให้ด้วยนะครับว่า เชื่ออย่างนี้ๆ คือเชื่อโดยตักกะ (เดาเอาเอง) เชื่ออย่างนี้ๆ คือเชื่อโดยนยะ (คาดคะเน) ส่วนข้ออื่นๆ นั้นพอทำความเข้าใจได้ไม่ยาก แต่ ๒ ข้อนี้ติดขัดมานานแล้วครับเพราะไม่มีความรู้เรื่องตักกะ เรื่องนยะ ขอความรู้ด้วยนะครับ

ขอบพระคุณล่วงหน้าครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 7 ก.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรแสดง ละเอียดลึกซึ้งด้วยพระปัญญาคุณ สำหรับในพระสูตรที่แสดง ในเรื่อง การไม่ให้ถือเอา เชื่อ โดยเหตุ ๑๐ ประการนั้น มีที่มาเพราะว่า ชาวกาลามะ ทูลถามในเรื่องที่ มีสมณพราหมณ์บางพวก มาแสดงความคิดเห็นของตน และก็ปฏิเสธความเห็นอื่น สมณพราหมณ์พวกอื่นอีก ก็มาแสดงความเห็นของตน พวกชนชาวกาลามะ จึงสงสัยว่าควรเชื่อใคร พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสว่า ควรแล้วที่ท่านทั้งหลายจะสงสัยในสิ่งที่ได้ฟังมา พระพุทธองค์จึงแสดงธรรม การไม่ควรยึดถือ หรือเชื่อ ด้วยเหตุ ๑๐ ประการ ตามที่ท่านเจ้าของกระทู้ได้กล่าวมาแล้ว

สำหรับประเด็นที่สงสัยคือ ข้อ ๕ มา ตักกะเห-ตุ อย่าได้ยึดถือโดยเดาเอาเอง กับข้อ ๖ มา นะยะเห-ตุ อย่าได้ยึดถือโดยคาดคะเน ว่าต่างกันอย่างไร


การยึดถือโดยการเดาเอาเอง

[เล่มที่ 34] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ 347

บทว่า มา ตกฺกเหตุ ได้แก่อย่าเชื่อถือ แม้โดยการถือเอาตามที่ตรึกไว้.


สำหรับการยึดถือโดยการเดาเอาเอง ที่เป็นตักกะ มุ่งหมายถึง การตรึกนึกคิดเท่านั้นและก็เดาเอา สรุปเอาตามความตรึกนึกคิดของตน ยกตัวอย่างเช่น พวกที่เป็นความเห็นผิด มีพวกอัญญเดียรถีย์ ที่มีคำสอนที่ผิด คำสอนที่ผิดก็เกิดจากนึกคิดในสิ่งที่ตนเข้าใจอย่างนั้น อย่างเช่น คนที่เคยได้ฌาน ไปเกิดเป็นพรหม และก็มีความสุขในพรหมอายุยืนนาน และเมื่อจุติ ตายจากความเป็นพรหมแล้วก็กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ เมื่อเป็นมนุษย์ก็ได้เจริญฌาน สามารถระลึกชาติได้ แต่ไม่สามารถระลึกไปได้ไกล เพียงชาติก่อนหรือไม่กี่ชาติ ก็สำคัญในขาติก่อนว่า มีพรหมผู้สร้าง และมีความสุข ยั่งยืน เที่ยงเป็นต้น เพราะตัวเองไม่มีปัญญาประจักษ์ความจริงที่ไปได้ไกล เพียงระลึกชาติได้เพียงไม่กี่ชาติ ก็เลยอาศัยความเห็นที่ระลึกชาติได้ จึงตรึกเอาเองว่า มีความเที่ยงที่เป็นสุขส่วนเดียวหลังจากตาย อันเป็นความเห็นผิดที่เข้าใจผิดว่า ตายแล้วก็ไปเกิดในภพที่เที่ยง มีความสุขยั่งยืนนั่นเอง นี่คือ อาศัยความตรึก นึกคิดเอาเอง เพราะตัวเองมีความรู้จำกัด จึงเดาเอาในสิ่งที่เพียงคิดได้เท่านั้น ซึ่งพระพุทธเจ้า จึงไม่ให้เชื่อในสิ่งที่คิดเอาเอง เพราะไม่ใช่ปัญญาที่ประจักษ์ความจริง แต่นึกคิด ในสิ่งที่คิดเข้าใจเอาเองครับ

ดังนั้นความเห็นผิดทั้งหลาย ก็เพราะอาศัยการตรึก เดาเอาเองนั่นเองครับ รวมทั้ง แม้ผู้ที่ระลึกชาติไม่ได้ คนทั่วไปก็คิดเอาเอง ว่าตายแล้วก็จบ ตายแล้วสูญ ตายแล้วก็ไปอยู่ในสถานที่หนึ่งที่เที่ยง เป็นต้น นี่คือการตรึกนึกคิดเอาเอง คิดขึ้นมาเองโดยไม่ไ่ด้อาศัยการเห็น การได้ยินจากใครก็คิดผิดได้ครับ

ดังพระไตรปิฎกที่แสดงในเรื่องของ ตักกะ คือ การคิดเอาเองทำให้เข้าใจผิด เห็นผิด

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 7 ก.ค. 2554

[เล่มที่ 27] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้าที่ 508

๒๓. เอกันตสุขีสูตร

ว่าด้วยอัตตาที่มีสุขโดยส่วนเดียว

[๔๕๔] ฯลฯ อัตตาที่มีสุขโดยส่วนเดียว หลังจากตายไปแล้วย่อมไม่สลายไป. ฯลฯ

จบ เอกันตสุขีสูตร

อรรถกถาเอกันตสุขีสูตรที่ ๒๓

บทว่า เอกนฺตสุขี ได้แก่ ทิฏฐิที่เกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ได้ฌานผู้ใช้ตักกะ (เป็นนักตักกวิทยา) และผู้ระลึกชาติได้.

อธิบายว่า ทิฏฐิอย่างนี้ (อัตตามีสุขโดยส่วนเดียว) ย่อมเกิดขึ้นแม้แก่บุคคลผู้ได้ฌาน ใส่ใจถึงอัตตภาพที่มีสุขส่วนเดียวในอดีต.

สำหรับบุคคลผู้ใช้ ตักก ทิฏฐิย่อมเกิดขึ้น (อย่างนี้) ว่า ในปัจจุบันเรามีสุขโดยส่วนเดียว. ฉันใด แม้ในอนาคต เราก็จักเป็นผู้มีสุขโดยส่วนเดียว ฉันนั้น. ทิฏฐิอย่างนี้ย่อมเกิดขึ้น แม้แก่บุคคลผู้ระลึกชาติได้ คือระลึกถึงภาวะที่เป็นสุขได้ถึง ๗-๘ ภพ.

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 7 ก.ค. 2554

การถือเอาโดยการคาดคะเน หรือ ถือเอาโดยนัย

[เล่มที่ 34] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ 347

บทว่า มา นยเหตุ ได้แก่อย่าเชื่อถือ แม้โดยการถือเอาตามนัย.

สำหรับในส่วนของมา นะยะเห-ตุ อย่าได้ยึดถือโดยคาดคะเน หมายถึง อย่ายืดถือ ถือเอาตามนัยที่ได้เห็น ได้ยินและก็คิดว่าต้องเป็นอย่างนั้น ซึ่งจากตัวอย่างในพระไตรปิฎกก็แสดงถึงเรื่อง การถือเอาตามนัยที่ผิด อันเป็นการคาดคะเน ดังเช่น

ท่านลกุณฏกภัททิยเถระ ซึ่งเป็นพระอรหันต์ แต่เพราะกรรมบางอย่างทำให้ท่าน มีรูปร่างเตี้ย ไม่น่าดู ดังนั้น ก็มีบางคนดูถูกเหยียดยามท่าน ท่านได้กล่าวคาถา มีเนื้อความพอสรุปได้ว่า คนที่ถือรูปและเสียงเราเป็นประมาณ ย่อมถือเอาด้วยการเห็นและได้ยินเสียงคนร่ำลือ ก็ถือเอา ถือเอาโดยนัย (ถือเอาโดยคาดคะเน) ว่าท่านไม่ดี ต่ำทราม เพราะถือเอาโดยนัยเพียง การเห็นรูปร่างท่านต่ำตี้ยไม่ดี หรือใครก็ตามที่ถือประมาณคนอื่นโดยตัดสินว่า เพราะมีคนกล่าวว่าให้ได้ยินว่าคนนี้เก่ง หรือ ดี ก็ยึดถือเอา ตามนัยนั้นว่า คนนั้นก็ต้องเป็นคนดี เก่งและมีคุณธรรมเพียงเสียงร่ำลือ โฆษณา ก็ชื่อว่าลอยไปตามเสียง แต่ไม่ได้รู้จักบุคคลนั้นจริงๆ เพราะการจะรู้จักใคร ไม่ใช่ถือเอาตามนัยที่รูปร่าง หรือ ชื่อเสียงของบุคคลนั้น แต่ต้องเป็นปัญญาที่ประจักษ์ความจริง และตัดสินที่ภายใน คือ คุณธรรมของบุคคลนั้น ไม่ใช่ถือเอา คาดคะเน โดยนัยจากการเห็นเพียงภายนอก หรือ จากเสียงคำร่ำลือนั่นเองครับ

ดังนั้น การถือเอาโดยนัย ที่เป็นการคาดคะเน ก็คือ การอาศัยเพียงเห็นอิริยาบถ รูปร่าง เสียงร่ำลือ จึงตัดสิน ถือเอาโดยนัยนั้น คาดคะเนว่าจะต้องเป็น คนที่ดี คนเก่ง คนมีคุณธรรม เพียงเสียงร่ำลือ คนพูดกันหรือเพียงรูปร่างภายนอก ว่าดูน่าเชื่อถือ เป็นต้นซึ่งในเรื่องพระลกุกุณฏกภัททิยเถระ ก็ได้แสดง การถือเอาโดยนัย อันเป็นการถึงการคาดคะเน จากการเห็นเพียงรูปร่างภายนอกของท่าน หรือ เสียงร่ำลือ ถือเอาเพราะสิ่งนั้นก็เป็นการถือเอาโดยนัย หรือ คาดคะเน ซึ่งพระพุทธองค์ได้ตรัสให้อย่าถือเอาโดยนัย หรือ คาดคะเน ตามที่กล่าวมานั่นเอง ซึ่งท่านพระลกุกุณฏกภัททิยเถระ ก็ได้แสดงถึงว่า ผู้มีปัญญาเห็นภายนอก ย่อมควรถือเอา นั่นแสดงว่า ต้องเป็นปัญญาเท่านั้นและเห็นที่คุณธรรมภายในนั่นเองครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ ... การถือเอาโดยนัย คาดคะเน [เถรคาถา]

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
paderm
วันที่ 7 ก.ค. 2554

ความต่างขอการอย่าเชื่อโดยการตรึกเดาเอาเอง

และการอย่าเชื่อโดยคาคคะเนถือเอาโดยนัย

ดังนั้นความต่างของ อย่าเชื่อ เพราะตรึกนึกคิดเดาเอาเอง กับ อย่าเชื่อเพราะคาดคะเน หรือ ถือเอาโดยนัย ความต่าง คือ ถ้าเป็นการตรึกนึกเดาเอาเอง ก็อาศัยความคิดของตนอย่างเดียว ไม่ได้คาดคะเนดูจากภายนอก จากการเห็น ได้ยิน ภายนอก แต่อาศัยการตรึกนึกคิดของตน ดังเช่น พวกที่ระลึกชาติได้ ก็คิดเองเองว่าโลกนี้คงเที่ยงเพราะตนเคยเกิดเป็นพรหมที่อายุยืน ก็อาศัยการคิดนึกนั้นเอง ทำให้สรุปผิด คิดเอาเองว่าโลกนี้เที่ยง ตายแล้วต้องเกิดอีกแน่นอน หรือ เมื่อระลึกชาติได้ ก็จำได้ว่าเกิดเป็นคนนั้นคนนี้ ก็คิดเอาเองว่ามีสัตว์ บุคคลจริงๆ อันเป็นความสำคัญผิด อันเกิดจากนึกคิดเอาเอง อันอาศัยการนึกคิดเดิมครับ การตรึกเดาเอาเอง จึงอาศัยการนึกคิดเดิมแล้วก็ทำให้สรุปผิดนั่นเองครับ แต่การคาดคะเน การถือเอาโดยนัย เป็นการถือเอาเพราะอาศัยการเห็น ได้ยินภายนอกและก็ถือเอาตามนัยนั้นว่าจะต้องเป็นอย่างนี้ ตามตัวอย่างท่านพระลกุณฏกภัททิยเถระ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
paderm
วันที่ 7 ก.ค. 2554

การอย่าถือ เชื่อ ด้วยเหตุ ๑๐ ประการ เป็นการแสดงถึงความจริงว่า ไม่ว่าจะได้ยินจากใคร ผู้ใด ไม่พึงเชื่อทันที และพึงคัดค้านคำที่ได้ยิน แต่ต้องพิจารณาด้วยปัญญา เมื่อปัญญาเกิดก็ย่อมรู้ความจริงว่าสิ่งใดจริง สิ่งใดไม่จริงครับ การถือเอาจึงต้องถือเอาด้วยปัญญานั่นเอง ซึ่งพระพุทธองค์ได้แสดงการอย่าถือเอา เชื่อ ในเหตุ ๑๐ ประการ จบ พระพุทธองค์ก็ถาม ชนชาวกาลาม ว่า โลภะ มีโทษไม่มีโทษ คนประพฤติได้รับสิ่งที่ดี มีประโยชน์หรือไม่ เป็นต้น แสดงให้เห็นว่า พระพุทธองค์กำลังให้ชาวกาลาม พิจารณาด้วยปัญญาของตนเองว่า อกุศลมีโทษจริงไหม เมื่อชาวกาลาม พิจารณาและเห็นจริง ปัญญาก็เกิดรู้ความจริงในขณะนั้น เพราะอาศัยการสอบถามและให้พิจารณาให้เห็นจริง เมื่อปัญญาเกิด ก็ย่อมรู้ว่าสิ่งใดควรเชื่อไม่ควรเชื่อ สิ่งใดถูกต้องนั่นเองครับ ดังที่พระพุทธองค์ได้ตรัสกับชาวกาลามว่า หากท่านรู้ด้วยตน รู้ด้วยด้วยปัญญานั่นเอง

ดังนั้นจึงต้องเป็นปัญญาของบุคคลนั้นเอง ที่จะตัดสินความถูกต้องครับ

ขออนุโมทนา

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ ... รู้ด้วยปัญญาของตน [ติกนิบาต]

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
khampan.a
วันที่ 7 ก.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พยัญชนะ ต่างกัน ความหมาย รวมถึงความละเอียดก็ย่อมต่างกัน ทั้งโดยการตรึก นึกคิด เดาเอาเอง, คิดเอาเอง และการคาดคะเน (คาดว่าจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้) ซึ่งไม่ควรที่จะมีการเชื่อถืออย่างนี้ เป็นการตรัสเตือนโดยพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อให้ผู้ฟังได้พิจารณาไตร่ตรองในเหตุในผลจริงๆ ไม่ใช่ให้เชื่ออะไรโดยง่าย เพราะความสำคัญผิด ความเห็นผิดย่อมจะเกิดได้เสมอ ตราบใดที่ยังไม่มีการอบรมเจริญปัญญาจนถึงขั้นเป็นพระอริยบุคคล ตั้งแต่พระโสดาบัน ขึ้นไป เพราะฉะนั้น ก็จะต้องมีปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาเห็นตามความเป็นจริงตรงตามพระธรรมอย่างแท้จริง

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้และทรงแสดง ไม่สามารถรู้ได้ด้วยการคิดนึกเดาเอาเอง ไม่สามารถรู้ได้ด้วยการคาดคะเน แต่ต้องด้วยการฟัง การศึกษาพิจารณาไตร่ตรอง เป็นปัญญาของตนเองจริงๆ ซึ่งปัญญานี้เอง เป็นสภาพธรรมที่เข้าใจถูก เห็นถูก บุคคลผู้ที่จะมีธรรมรู้ตามพระองค์ได้นั้น ต้องเป็นบัณฑิตผู้มีปัญญา, สภาพธรรมทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นกุศล หรือ อกุศล เป็นต้น พระองค์ทรงแสดงไว้โดยละเอียด เพื่อประโยชน์ คือ ปัญญาของผู้ฟัง จะได้เข้าใจตามความเป็นจริงว่า กุศล กับ อกุศล มีความต่างกันอย่างไร อย่างไหนมีโทษ อย่างไหน ไม่มีโทษ อย่างไหนควรละ อย่างไหนควรอบรมเจริญให้มีขึ้น โดยพระองค์ทรงเป็นผู้แสดงให้ได้พิจารณาไตร่ตรองเท่านั้น ส่วนจะมีความเห็นถูกต้องมากน้อยแค่ไหนนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับการสะสมมาของแต่ละบุคคลจริงๆ

บุคคลผู้ที่ได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม เพราะได้สะสมบุญมาแล้วตั้งแต่ชาติปางก่อน จึงทำให้ได้ฟังได้ศึกษาได้สะสมปัญญาต่อไปอีก เป็นผู้เห็นประโยชน์ของการเข้าใจพระธรรม และได้รับประโยชน์จากพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงตามกำลังปัญญาของตนเอง ซึ่งจะเห็นได้ว่าประโยชน์สูงสุดของการได้เกิดมาเป็นมนุษย์คือ ได้ฟังและได้เข้าใจสิ่งที่มีจริง ซึ่งเป็นคำสอนที่ประเสริฐอันมาจากการตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของท่าน นอ.ทองย้อย, คุณผเดิม และทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
akrapat
วันที่ 8 ก.ค. 2554

ตัวความเชื่อ หรือศรัทธา ก็เป็น เจตสิก มีการเกิด ดับ ถ้าเชื่อสิ่งไหน ก็ยึดสิ่งนั้น ไม่ว่า ยึด ความคิดโดย ตรรกะ หรือโดย คาดคะเน เชื่อครูบาอาจารย์ ก็ยึด ครูบาอาจารย์ พระพุทธเจ้าท่านจึงกล่าว ไว้ว่าจงอย่าเชื่อ แต่ท่านเชิญมาลองดูเถิด จนกระทั่ง ประจักษ์ด้วยตัวเองนั่นแหละ ประจักษ์อะไร ประจักษ์ในความไม่มีเรา ในขันธ์ ๕ หรือ จิต เจตสิก รูป ประจักษ์ ในการ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ของ จิต เจตสิก รูป และ หนึ่ง ในนั้นก็รวมถึง ศรัทธาหรือความเชื่อ ซึ่งก็เป็น เจตสิก ที่เกิด ดับเช่นกัน

อนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
พุทธรักษา
วันที่ 8 ก.ค. 2554
ขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 8 ก.ค. 2554

เมื่อได้ฟังคำอธิบายของอาจารย์ผเดิมและอาจารย์คำปั่นแล้ว ทำให้ย้อนคิดได้ว่า แม้เราจะมีโอกาสได้ฟัง ได้ศึกษาพระธรรมแล้วก็จริง แต่เราก็ยังสามารถที่จะตกอยู่ในความเชื่อที่พระองค์ทรงเตือนไว้ทั้ง ๑๐ ประการ ไม่ประการใดก็ประการหนึ่งเสมอๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่คิดเอาเอง เดาไปเอง คาดคะเนไปเอง ตรึกไปเอง ยิ่งถูกใจตัวเองด้วยแล้ว ก็ยิ่งเชื่อไปกันใหญ่ กล่าวคือ เชื่อว่าเข้าใจธรรมะแล้ว ซึ่งท่านอาจารย์สุจินต์ท่านเมตตาคอยตักเตือนอยู่เสมอๆ ว่า ต้องเป็นไปตามลำดับ จนกระทั่งมั่นคง ไม่สงสัยในสิ่งที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง เมื่อปัญญายังไม่ถึงขั้นนั้น ก็คงต้องอาศัยหลักความเชื่อที่ถูกต้องของพระพุทธองค์นี้คอยตรวจสอบ คอยพินิจพิจารณาต่อไปนะครับ

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ