คำสอนเรื่องนี้มีหรือไม่

 
นาวาเอกทองย้อย
วันที่  13 มิ.ย. 2554
หมายเลข  18543
อ่าน  6,395

ขอเรียนถามท่านผู้รู้ ด้วยความเคารพ ว่า

ในพระพุทธศาสนา มีคำสอนให้รักชาติบ้านเมืองของตน ให้ทำนุบำรุงประเทศ

ชาติของตน ตลอดจนให้สละชีพเพื่อชาติของตน บ้างหรือไม่ มีปรากฏในพระสูตรไหน

ในหัวข้อธรรมหมวดไหน หรือกล่าวไว้เป็นสุภาษิตในที่ไหนว่าอย่างไรบ้าง

กระผมถูกถามมาอีกทีหนึ่ง แต่นึกไม่ออก บอกไม่ถูก เลยตอบเขาไม่ได้ครับ แม้จะ

ไม่ใช่เรื่องเจริญสติอบรมปัญญาโดยตรง แต่ก็เป็นเครื่องเจริญความรู้ทางหนึ่ง

ขอขอบพระคุณที่จะกรุณาให้ความรู้ครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 14 มิ.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย ในพระพุทธศานา พระพุทธเจ้าได้แสดงพระธรรมที่เกี่ยวกับการทำนุบำรุงบ้านเมืองไว้

เช่นกันครับ ซึ่งในปัตตกัมมสูตรและอาทิยสูตร แสดงถึงเรื่องการสละ 5 อย่าง ที่เป็น

พลี 5 ประการ มีดังนี้ครับ

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้าที่ 93

อีกประการหนึ่ง อริยสาวกย่อมใช้จ่ายโภคทรัพย์ที่ตนหามาได้ด้วย

ความหมั่น ความขยัน สะสมขึ้นด้วยกำลังแขน อาบเหงื่อต่างน้ำ ชอบธรรม

ได้มาโดยธรรม ทำพลี ๕ อย่าง คือ

๑. ญาติพลี [บำรุงญาติ]

๒. อติถิพลี [ต้อนรับแขก]

๓. ปุพพเปตพลี [ทำบุญอุทิศกุศลให้ผู้ตาย]

๔. ราชพลี [บริจาคทรัพย์ช่วยชาติ]

๕. เทวตาพลี [ทำบุญอุทิศให้เทวดา]

ราชพลีคือการบริจาคทรัพย์ ช่วยประเทศชาติ เช่น การเสียภาษี การบริจาคทรัพย์แก่

องค์กรกุศลที่ช่วยประเทศชาติก็ได้ครับ

ในความเป็นจริงแล้วพระพุทธเจ้าแสดงธรรมในการเจริญกุศลทุกๆ ประการ ดังนั้นกุศล

ทั้งการให้ทาน ให้กับประเทศชาติทำนุบำรุง การช่วยเหลือกิจการงานของสังคม ก็เป็น

การช่วยเหลือประเทศชาติที่เป็นเวยยาวัจจะ เป็นต้น

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ

หลักการใช้โภคทรัพย์ให้เป็นประโยชน์ [อาทิยสูตร]

การเสียภาษี

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 14 มิ.ย. 2554

ดังนั้นหนทางใดที่พอจะช่วยเหลือสังคมได้ ช่วยเหลือประเทศชาติ ด้วยกุศลประการ

ต่างๆ ก็เป็นสิ่งที่ควรทำ พระธรรมของพระพุทธเจ้า จึงไมได้แยกโลกในชีวิตประจำวัน

และจากสังคมภายนอก ดังนั้นการอยู่ด้วยความเข้าใจ อยู่ด้วยปัญยาก็ทำให้กุศลเจริญ

ขึ้นกับตัวเอง และเมื่อจิตฝ่ายดีเกิดขึ้นก็ทำให้ กาย วาจาก็ย่อมดีตามไปด้วย ก็ย่อมเป็น

ประโยชน์กับผู้อื่น คนรอบข้าง ดังนั้นประเทศ คือ สังคมหลายสังคมใหญ่ อันบัญญัติว่า

เป็นประเทศ และสังคมก็คือ คนแต่ละคนรวมกันเป็นสังคมนั่นเอง ดังนั้นการเป็นคนดี

อันเกิดจากการศึกษาพระธรรม น้อมประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมด้วยปัญญา ก็เท่ากับ

ว่ารักษาตนเองด้วยกุศลด้วยและรักษาผู้อื่นด้วยเช่นกัน เพราะมีจิตที่ดีเกิดขึ้น ทั้งเมตตา

และขันติก็ย่อมเป็นประโยชน์กับสังคม กับประเทศชาติ เพราะกุศลและปัญญาจะไม่ทำ

ความเดือดร้อนกับใครและกับสังคม และประเทศชาติเลย แต่จะมองด้วยความเห็นถูก

และก็ย่อมประพฤติปฏิบัติถูกต้องกับคนรอบข้าง กับสังคม กับประเทศชาติด้วยครับ

ดังนั้นการศึกษาพระธรรมที่ถูกต้องและปัญญาเจริญขึ้น กุศลก็เจริญขึ้น การกระทำทาง

กายและวาจาและใจก็ถูกต้องขึ้นก็ย่อมเป็นประโยชน์กับประเทศชาติ และกระทำสิ่งที่ดี

กับประเทศชาติครับ ดังนั้นการรักประเทศ การทำนุบำรุงประเทศ คือการเป็นคนดีและ

ศึกษาพระธรรมและกุศลต่างๆ ที่เจริญขึ้นก็ย่อมทำสิ่งที่ดีๆ กับประเทศ กับแต่ละคนนั่น

เองครับ ขออนุโมทนา

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ

กับคำว่า...รักประเทศ

รักษาตนและรักษาผู้อื่น [อรรถกถาจักกวัตติสูตร]

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
นาวาเอกทองย้อย
วันที่ 14 มิ.ย. 2554

พอท่าน paderm ชี้ไปที่ ราชพลี [บริจาคทรัพย์ช่วยชาติ] กระผมก็ Oh I see !

ทันที (ทำไมตอนถูกถามจึงนึกไม่ออก แปลกจัง) หลักธรรมในลักษณะนี้แหละครับที่ผู้

ถามต้องการ

ถ้ายังมีข้ออื่นอีก ขอความกรุณาชี้แนะต่อนะครับ รวมทั้งเหตุการณ์ เรื่องราว หรือ

เรื่องที่เล่าไว้ในคัมภีร์อันแสดงถึงว่า ผู้นับถือธรรมได้ทำนุบำรุชาติบ้านเมือง หรือสละชีพ

เพื่อปกป้องชาติบ้านเมืองกันมาแล้วแบบนี้ๆ ดังตัวอย่างในสูตรนั้นๆ

ประเด็นหลักอยู่ตรงที่ว่า ถ้าเราในทุกวันนี้จะสละชีพเพื้อปกป้องบ้านเมือง

ป้องกันหรือกำจัดคนที่คิดร้ายทำร้ายบ้านเมืองของเรา ก็เป็นการกระทำที่ไม่ขัดต่อหลัก

คำสอนในพระพุทธศาสนาในระดับที่เป็นโลกียธรรมคือหลักธรรมเพื่อสังคม ทั้งนี้ตาม

หลักคำสอนข้อนั้นๆ ข้อนี้ๆ เท่านี้แหละครับที่ผู้ถามต้องการ

ตามไปดูตามที่ชี้แนะแล้วครับ เป็นการแสดงความคิดเห็นทั้งหมด ไม่ใช่แสดง

หลักธรรมตามหัวข้อที่ต้องการ แต่ก็ได้แนวคิดมาประกอบการพิจารณาพอสมควร - ขอบ

พระคุณมากครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
paderm
วันที่ 14 มิ.ย. 2554

เรียนความเห็นที่ 3 ครับ

จากคำกล่าวที่ว่า

ถ้ายังมีข้ออื่นอีก ขอความกรุณาชี้แนะต่อนะครับ รวมทั้งเหตุการณ์ เรื่องราว หรือเรื่อง

ที่เล่าไว้ในคัมภีร์อันแสดงถึงว่า ผู้นับถือธรรมได้ทำนุบำรุชาติบ้านเมือง หรือสละชีพ

เพื่อปกป้องชาติบ้านเมืองกันมาแล้วแบบนี้ๆ ดังตัวอย่างในสูตรนั้นๆ

-------------------------------------------------------------------------

เคยอ่านชาดกเรื่องหนึ่งครับ เรื่องโภชาชานียชาดก เล่ม 55 แสดงถึงการเสียสละ

ชีวิตของตัวเองเพื่อปกปป้องรักษาประเทศครับ ขอเล่าย่อๆ นะครับ พระโพธิสัตว์ของ

เราเกิดเป็นม้าสินธพ เป็นม้ามงคลของพระราชาเมืองพาราณสี ชื่อว่า โภชาชานียะ

ต่อมามีพระราชา 7 เมือง มาล้อมเมืองพาราณสี พระราชาจึงถามพวกทหารม้าว่าจะ

ทำอย่างไรนายทหารม้ากราบทูลว่า ถ้าข้าพระองค์ได้ม้าชื่อ โภชาชานียะ อย่าว่าแต่

พระราชา 7เมืองเลย แม้พระราชาทั่วชมพูทวีป ข้าพระองค์ก็สามารถปราบได้ พระราชา

จึงอนุญาติให้ใช้ม้าโภชาชานียะ คือ พระโพธิสัตว์ของเราเอง พระโพธิสัตว์สามารถ

ชนะชนะพระราชาทั้ง 6 เมือง แต่ไม่ได้ฆ่าพระราชาเหล่านั้นเลย จับเป็นมา จนถึงคราว

จับพระราชา องค์ที่ 6 พระโพธิสัตว์ที่เป็นม้าก็ได้รับบาดจ็บมาก เมื่อนายทหารม้าขี่กลับ

มาที่พระนคร ก็ให้ม้าพระโพธิสัตว์นอนที่สมควรและจะถอดเกราะออก เพื่อไปใส่ม้าตัว

อื่น พระโพธิสัตว์คิดว่า หากให้ม้าตัวอื่นที่ไม่ใช่เรา ทีแป็นม้ากระจอก ก็จะไม่สามารถ

จะชนะพระราชาองค์ที่ 7 ได้และนายทหารม้าก็จะมีอันตราย พระราชาของเราเองก็จะ

ถูกจับด้วย ทั้งที่นอนอยู่ จึงกล่าวกับนายทหารม้าว่า ท่านอย่าเปลี่ยนไปเป็นม้าตัวอื่น

เลย เว้นเราเสียไม่มีใครสามารถเอาชนะพระราชาองค์ที่ 7 ได้ นายทหารม้าจึงเอาผ้าพัน

แผลและใส่เกราะเหมือนเดิม และออกไปรบสามารถชนะพระราชาองค์ที่ 7 และจับเป็น

มาได้ ม้าพระโพธิสัตว์กลับเข้าพระนคร พระราชาเมืองพาราณสีออกมารับพระโพธิสัตว์

พระโพธิสัตว์ผู้เป็นม้าจึงกราบทูลพระราชาว่า พระองค์อย่าได้ฆ่า พระราชา 7 พระองค์

เลย ควรสาบานที่จะไม่ทำร้ายกันอีก และไม่ควรทำลายทหารทั้งหลายที่จับมา และ

พระองค์ควรปกครองแผ่นดินโดยธรรม เมื่อพระโพธิสัตว์ให้โอวาทเสร็จ เมื่อคนถอด

เกราะม้าพ ระโพธิสัตว์ก็สิ้นชีวิตในทันใดนั้นนั่นเองครับ

-----------------------------------------------------

เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า พระโพธิสัตว์ สละชีวิตของตนเองเพื่อรักษาบ้านเมือง แต่ไม่

ได้ใช้วิธีทำร้ายบุคคลใดเลย ไม่ฆ่าใครเลย และก็ยังให้โอวาทพระราชาให้ทำความดี ไม่

ทำร้ายศัตรูด้วยครับ นี่คือการเสียสละชีวิตโดยธรรม โดยถูกธรรมครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
paderm
วันที่ 14 มิ.ย. 2554

และจากคำกล่าวที่ว่า ประเด็นหลักอยู่ตรงที่ว่า ถ้าเราในทุกวันนี้จะสละชีพเพื้อปกป้องบ้านเมือง

ป้องกันหรือกำจัดคนที่คิดร้ายทำร้ายบ้านเมืองของเรา ก็เป็นการกระทำที่ไม่ขัดต่อหลัก

คำสอนในพระพุทธศาสนาในระดับที่เป็นโลกียธรรมคือหลักธรรมเพื่อสังคม ทั้งนี้ตาม

หลักคำสอนข้อนั้นๆ ข้อนี้ๆ เท่านี้แหละครับที่ผู้ถามต้องการ ------------------------------------------------------------------------

กุศลเป็นกุศล อกุศล เป็น อกุศลครับ เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ไม่ว่าจะอ้างเหตุผลว่าทำ

เพื่ออะไรก็ตามครับ ดังนั้นกระทำทีเป็นอกุศล มีการฆ่า มีการทำร้าย ทำให้ผู้อื่นพินาศ

แน่นอนครับว่าด้วยจิตที่เป็นอกุศลแน่นอน เมื่อเป็นอกุศลกรรม จะให้เป็นสิ่งทีดีไม่ได้

เลย ดังนั้นเมื่อทำอกุศลกรรม ก็ต้องได้รับที่ไม่ดีด้วยครับ ดังนั้นสิ่งใดที่เป็นอกุศลธรรม

พระพุทธเจ้าไม่สรรเสริญและควรละด้วยปัญญาครับ เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะทำด้วย

เหตุผลใด แต่ถ้าจิตเป็นอกุศลทำร้ายผู้อื่นเพื่อปกป้องประเทศนั่นก็ขัดกับหลักคำสอน

ของพระพุทธเจ้าครับ

ซึ่งตัวอย่างในชาดก พระโพธิสัตว์เป็นพระราชา เมื่อมีคนไม่ดี รับราชการ ทำไม่ดี

ก่อกบฏขึ้น พระโพธิสัตว์ ไม่ทำร้ายหรือฆ่า แต่เนรเทศไปอยู่ที่อื่นครับ และอีกเรื่องหนึ่ง

ที่ชัดเจนว่าถ้าทำอกุศลกรรมแล้วไม่ว่าเหตุผลใดก็บาปครับ มีพราหมณ์ท่านหนึ่ง ท่าน

ทำบาป และท่านก็อ้างว่าท่านทำเพราะครอบครัว พระสารีบุตรท่านก็ตอบว่า นาย

นิรยบาลจะไม่ลงโทษเหตุเพราะทำบาปแพราะเหตุผลเรื่องครอบครับหรือไม่ คำตอบ

คือไม่ครับ และอีกเรื่องหนึ่ง นักรบอาชีพ เข้าเฝ้าทูลถามว่า อาจารย์เขาสอนว่า บุคคล

ผู้เป็นักรบเข้าสู่สงคราม ฆ่า ข้าศึกศัตรู ย่อมไปสวรรค์ พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า นั่นเป็น

ความเห็นผิดเพราะบุคคลฆ่าผู้อื่นด้วยเจตนาฆ่า ย่อมไปสู่นรกชื่อ สรชิต เป็นต้นครับ

ดังนั้นอกุศล ก็ต้องเป็นอกุศล ไม่ว่ากรณีใดๆ เหตุผลใดๆ ทั้งสิ้น ดังนั้นการกำจัดคน

ไม่ดี คิดร้ายกับบ้านเมืองด้วยวิธีที่ไม่เป็นอกุศลกรรมครับ มีการเนรเทศ เป็นต้น

ขออนุโมทนาครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ

ปัญหาของนักรบอาชีพ [โยธาชีวสูตร]

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
จักรกฤษณ์
วันที่ 14 มิ.ย. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาอาจารย์ผเดิมครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
khampan.a
วันที่ 14 มิ.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตามความเป็นจริงแล้วธรรมเป็นธรรม ธรรมเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร ไม่มีใครอยากเป็นคนชั่ว ไม่มีใครไม่อยากเป็นคนดี แต่ก็เป็นไปแล้วตามการสะสม ปกติในชีวิตประจำวัน ในบุคคลคนหนึ่งๆ ก็มีทั้งดีบ้าง ไม่ดีบ้างและส่วนที่ไม่ดีนั้นจะมีมากกว่า แต่เพราะได้อาศัยพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง แล้วน้อมประพฤติปฏิบัติตามด้วยความจริงใจ โดยการเป็นผู้ตั้งตนไว้ชอบในความดีประการต่างๆ ไม่เป็นผู้อยู่ด้วยความประมาท เมื่อเป็นเช่นนี้ความดีในชีวิตประจำวันก็จะค่อยๆ เจริญขึ้นไปตามลำดับ มีความประพฤติดีงามทั้งทางกาย วาจาและใจ กล่าวได้ว่าเป็นคนดี ถ้าแต่ละบุคคลเป็นอย่างนี้ได้ สังคมก็จะมากไปด้วยคนดี มีคุณธรรม มีเมตตา กรุณาต่อกัน ซึ่งจะเป็นเหตุนำมาซึ่งความสุข ร่มเย็น มาสู่คนในชาติอย่างแท้จริง ดังนั้น พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้ดีแล้วเท่านั้น ที่จะทำให้บุคคลผู้ที่มีความเข้าใจ เป็นคนดี มีคุณธรรม กระทำในสิ่งที่ถูกต้องดีงาม ไม่เป็นไปกับด้วยอกุศลกรรม และสูงสุดถึงกับสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมดับกิเลสได้ในที่สุด ครับ. ...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
นาวาเอกทองย้อย
วันที่ 14 มิ.ย. 2554

ฟังความเห็นของญาติธรรมทุกท่านแล้ว กระผมระลึกไปถึงเรื่องพระเตมีย์ใบ้

เหตุผลที่ท่านแสร้งทำเป็นคนบ้าใบ้ไม่สมประกอบก็เพื่อว่าจะได้ไม่ต้องเป็นกษัตริย์

เพราะท่านประจักษ์แล้วว่า ถ้าเป็นกษัตริย์ก็จะต้องสั่งบังคับกิจการต่างๆ ของบ้านเมือง

เพื่อให้ราษฎรอยู่เย็นเป็นสุข กิจการเหล่านั้นย่อมหลีกไม่พ้นที่จะต้องกำจัดคนชั่วตัว

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้สังคมเดือดร้อน เช่นต้องสั่งประหารชีวิตโจรผู้ร้ายเป็นต้น ถึงจะ

อ้างว่าทำไปเพื่อความสงบสุขของสังคม แต่อกุศลก็ต้องเป็นอกุศลตามหลักที่ผู้รู้ได้นำ

มายืนยันข้างต้นโน้น ท่านเห็นบรรพบุรุษที่เป็นกษัตริย์ต้องไปตกนรกเพราะทำหน้าที่

กษัตริย์ ท่านจึงเสียวสยองไม่ประสงค์ที่จะเป็นเช่นนั้นด้วยอีกคนหนึ่ง เป็นเหตุให้คิด

อุบายแสร้างทำเป็นบ้าใบ้ไม่สมประกอบ สรุปสั้นๆ ว่า ท่านไม่ต้องการจะตกนรกแทนคน

อื่นนั่นเอง

กระผมสรุปเอาเองว่า ในสังคมที่คนยังไม่มีระดับจิตใจสูงเหมือนชาวอุตตรกุรุทวีป

หรือยุคศาสนาพระศรีอารย์ ในแง่ของการบริหารบ้านเมืองถ้าไม่มีคนยอมตกนรกเพื่อ

ความสงบสุขของส่วนรวมบ้างแล้วละก็ คนพาลก็จะระรานสังคมให้เดือดร้อนไปทุก

หย่อมหญ้า

ครับ กุศลต้องเป็นกุศล อกุศลก็ต้องเป็นอกุศล เปลี่ยนไม่ได้

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
paderm
วันที่ 14 มิ.ย. 2554

ผมขอรวมสนทนาด้วยในประเ็ด็นความเห็นที่ 8 ครับ พุทธพยากรณ์ มหาสุปินชาดกครับ ว่าในอนาคตกาล อธรรม จะมีกำลังดังนั้นจึงเป็น

ธรรมดาที่ ความวนเวียนไปของโลก จากที่มีคุณธรรมมากก็จะไปสู่มีคุณธรรมน้อยครับ

อธรรมจึงมีกำลังเป็นธรรมดาครับ ดังพุทธพยากรณ์ ดังนั้นเมื่อรู้ว่าโดยมากไม่มีคุณธรรม

ก็ไม่ควรทำสิ่งที่ไม่ใช่คุณธรรม มีการทำร้าย หรือการฆ่า เป็นต้น แต่ทำเป็นสิ่งที่เป็น

ธรรม เพราะถ้าทำสิ่งที่ไม่เป็นธรรม ก็จะเป็นส่วนหนึ่งของผู้ที่ไม่มีคุณธรรมด้วยครับ

ดังนั้นขอให้เข้าใจความจริงว่า เป็นไปตามพุทธพยากรณ์และเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้นว่า

เป็นธรรมดา อธรรมมีกำลังนั่นเองครับ

" พึงชำนะคนโกรธ ด้วยความไม่โกรธ, พึง

ชนะคนไม่ดี ด้วยความดี. พึงชนะคนตระหนี่ ด้วย

การให้ปัน, พึงชนะคนพูดพล่อยๆ ด้วยคำจริง. "

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
paderm
วันที่ 14 มิ.ย. 2554

[๘๗๒] มาตลีเทพบุตรทูลว่า คนพาลไม่มีผู้กำราบ มันยิ่งกำเริบ เพราะฉะนั้น ธีรชนพึงกำราบคนพาลด้วย อาชญาอย่างรุนแรง. [๘๗๓] ท้าวสักกะตรัสตอบว่า ผู้ใดรู้ว่าคนอื่นโกรธแล้ว เป็นผู้มีสติ สงบระงับได้ เราเห็นว่าการสงบระงับได้ ของผู้นั้นแล เป็นการกำราบคนพาลละ.

[๘๗๔] มาตลีเทพบุตรทูลว่า ข้าแต่ท้าววาสวะ ข้าพระองค์เห็น โทษในความอดทนนี้แล เมื่อใด คนพาล ย่อมสำคัญบุคคลนั้นว่า ผู้นี้ย่อมอดกลั้น ต่อเราเพราะความกลัว เมื่อนั้น คนมี ปัญญาทรามยิ่งข่มขี่ผู้นั้น เหมือนโคยิ่ง ข่มขี่โคตัวแพ้ที่หนีไป ฉะนั้น.

[๘๗๕] ท้าวสักกะตรัสตอบว่า บุคคลจะสำคัญเห็นว่า ผู้นี้อดกลั้น ต่อเรา เพราะความกลัวหรือหาไม่ ก็ตามที ประโยชน์ทั้งหลาย มีประโยชน์ของตนเป็น อย่างยิ่ง ประโยชน์ยิ่งกว่าขันติไม่มี

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
นาวาเอกทองย้อย
วันที่ 15 มิ.ย. 2554

อ่านความคิดเห็นที่ 10 แล้ว โดยเฉพาะภาษิตในเชิงเสนอ ข้อ [๘๗๒] และ

ภาษิตในเชิงค้าน ข้อ [๘๗๓] แล้ว ก็ค่อยสว่างกระจ่างใจขึ้นอักโข

ไม่ผิดหวังครับที่เรามีญาติธรรมที่คอยดูแลกันและกันเช่นนี้

จะขอเวลาศึกษาค้นคว้าประเด็นนี้ต่อไป โปรดคอยชี้แนะด้วยครับ

ญาติธรรมท่านอื่นๆ เชิญแวะเข้ามาช่วยกันดูแลกันและกันโดยพลัน โดยเฉพาะ

ท่าน wannee.s ที่มักจะช่วยเติมช่องว่างเล็กๆ น้อยๆ แต่คมเข้ม ให้อยู่เสมอ - ขอบพระ

คุณทุกท่านไว้ล่วงหน้าครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
traveller
วันที่ 15 มิ.ย. 2554

ขอร่วมแสดงความเห็นด้วยครับ ในอดีตกาลนานโพ้นเมื่อครั้งที่พระโพธิสัตว์เสวยพระ

ชาติเป็นจันทกุมาร พระองค์ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนอันเนื่องจากอำมาตย์ผู้

ตัดสินคดีเป็นผู้คดโกง ชั่วร้าย ตัดสินอย่างไม่ยุติธรรม เมื่อจันทกุมารได้นำคดีมา

พิจารณาแล้วตัดสินตามความเป็นจริง ประชาชนทั้งหลายจึงแซ่ซ้องสรรเสริญ จนพระ

ราชบิดาต้องแต่งตั้งพระจันทกุมารให้ทำหน้าที่ดูแลการตัดสินคดีความ

ซึ่งแน่นอนว่าย่อมสร้างความเคียดแค้นชิงชังต่ออำมาตย์ผู้เสื่อมประโยชน์นั้น และวัน

หนึ่งก็สบช่อง อำมาตย์ได้แนะนำให้พระราชานำตัวพระโอรสคือพระจันทกุมารและพระ

ชายาตลอดจนประชาชนและสัตว์จำนวนมาก ไปเชือดคอเพื่อบูชาต่อเทพ นัยว่า "เทพ"

จะได้พอใจและให้สวรรค์สมบัติแก่พระราชาเมื่อสวรรคต

พระราชาผู้เขลาและละโมบ จึงหลงเชื่อและสั่งให้ดำเนินการตามคำแนะนำของอำมาตย์

ผู้ชั่วร้าย เมื่อเหยื่อทั้งหลายเดินขึ้นสู่ตะแลงแกรง รอเวลาถูก "เชือด" คอ ท้าวสักกะใน

คราวนั้นไม่อาจจะนิ่งเฉยอยู่ได้ จึงหายตัวจากเวชยันตปราสาท มาปรากฏตัวลอยอยู่

เหนือบูชาสถาน แสดงอิทธิฤทธิ์ ข่มให้พระราชาผู้เขลาได้เข้าใจความจริงว่า การจะได้

สมบัติในสวรรค์ หาใช่ด้วยการ "ฆ่า" ผู้บริสุทธิ์ แต่ด้วยการทำกุศลทั้งปวง

ดังนั้นแล้วประชาชนจำนวนมากที่เจ็บแค้นจิตใจที่ต้องอดกลั้น อดทนต่อความชั่วร้าย

ความอยุติธรรมมานานเนิ่นนาน ก็หยิบก้อนหิน ข้าวของ ศาสตรา แล้วขว้างปา อำมาตย์

ผู้ชั่วร้ายนั้นจนถึงแก่ความตาย ไปเกิดในนรกภูมิ

ประชาชนหาหยุดแค่นั้นไม่ ยังจะฮือกันเข้าจัดการพระราชาผู้เขลา แต่พระโพธิสัตว์ได้

เข้ากำบังและวิงวอนขอชีวิตพระบิดาไว้ ประชาชนเห็นแก่พระโพธิสัตว์ จึงยอมเว้นชีวิต

พระราชา แต่ต้องเนรเทศให้ไปอยู่นอกเมืองไม่มาวุ่นวายอีก

เหล่านี้คือ จันทกุมารชาดก ได้เกิดขึ้นแล้วในอดีตชาติ นานนับเนื่อง อันนับด้วยแสนปี

ด้วยล้านปีไม่ได้ แต่ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง!

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
นาวาเอกทองย้อย
วันที่ 16 มิ.ย. 2554

ขอบพระคุณครับ อ่านแล้วได้สติและได้ปัญญาดีครับ

สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ