การศึกษาพระไตรปิฎกอย่างถูกต้อง

 
kanchana.c
วันที่  29 พ.ค. 2554
หมายเลข  18450
อ่าน  2,570

การศึกษาพระไตรปิฎกของตนเองนั้น เดิมไม่ชอบอ่านพระวินัย เพราะคิดว่า ไม่เกี่ยวกับตนเอง เป็นเรื่องของพระภิกษุที่ท่านจะต้องศึกษาเพื่อประพฤติปฏิบัติตาม และชอบอ่านพระสูตร โดยเฉพาะเรื่องชาดก เพราะสนุกดี เหมือนอ่านนิยาย มีพระเอก นางเอก ผู้ร้าย ซึ่งในที่สุดผู้ร้ายก็ต้องประสบเคราะห์กรรม เช่น ถูกธรณีสูบ อย่างในเรื่องของท่านขันติวาทีดาบส เป็นต้น เรื่องคนไม่ดี ที่ท่านเรียกว่า “โมฆบุรุษ” นั้นก็ไม่เกี่ยวกับตน เป็นคนอื่นๆ อ่านพระสูตรเพื่อนำข้อธรรมต่างๆ ไปสอนหรือตรวจสอบคนอื่น หรือไปเรียกร้องคนอื่นให้มาอ่าน มาศึกษาบ้าง เพราะพระสูตรนั้นๆ ไพเราะเหลือเกิน

ส่วนพระอภิธรรมนั้น คิดว่ายากมาก ละเอียดลึกซึ้งมาก คงจะอ่านไม่รู้เรื่อง ก็เลยไม่สนใจเลย แต่เมื่อได้มาฟัง “แนวทางเจริญวิปัสสนา” ที่ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์บรรยายออกอากาศเผยแพร่ทางสถานีวิทยุต่างๆ ก็ได้รู้เรื่องพระอภิธรรมตามที่ท่านอาจารย์บรรยายไปด้วยโดยไม่รู้ตัวว่า ได้ศึกษาพระอภิธรรมแล้ว และได้รู้เรื่องพระอภิธรรมมากขึ้นๆ ละเอียดขึ้นๆ จนพอเข้าใจได้บ้างว่า พระอภิธรรมนั้นเป็นเรื่องชีวิตประจำวันของทุกคนที่ประกอบด้วยจิต เจตสิก รูปที่มีลักษณะต่างๆ กันไป จนในที่สุดสรุปได้ว่า “ทุกอย่างเป็นธรรม และธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา” วันเสาร์ที่ ๒๘ พ.ค. ๕๔ มูลนิธิฯ นำ ธรรมจริยสูตรที่ ๖ (ว่าด้วยการประพฤติธรรม) มาสนทนา ได้รับความรู้จากท่านอาจารย์เพิ่มเติมจากการอ่านพระสูตรว่า

ที่มีพระวินัย พระสูตร พระอภิธรรม เพราะมีธรรม คือ สิ่งที่มีจริงซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เช่น ถ้าได้ยินเรื่องพระเจ้าปเสนทิโกศล ก็หมายความว่ามีสภาพธรรมที่เป็นจิต เจตสิก รูปอย่างนั้นๆ ที่มีชื่อเรียกว่า พระเจ้าปเสนทิโกศล อย่างในพระสูตรนี้ ไม่ได้หมายความว่า ให้เราประพฤติธรรม แต่ฟังเพื่อเข้าใจความจริงของสภาพธรรมที่กำลังเกิดปรากฏในขณะนี้ ฟังบ่อยๆ จนไม่ลืมว่า ทุกอย่างเป็นธรรม แล้วความเข้าใจนั้นจะทำกิจละอกุศล เจริญกุศล เจริญปัญญาเอง

ท่านอาจารย์กรุณาสรุปต่อในโต๊ะอาหารว่า การจะได้สาระจากพระธรรม ต้องเริ่มตั้งแต่ละความยินดีพอใจในการได้ยินเรื่องราว หรือคำต่างๆ แต่เข้าถึงลักษณะความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ตามความเป็นจริง จะเห็นความมืดบอดด้วยอวิชชาของตนเองที่มีอยู่มากมาย จึงขอกราบเท้าท่านอาจารย์ด้วยความเคารพอย่างสูงที่ทำให้ได้มีโอกาสเข้าใจพระไตรปิฎกบ้างตามสมควรแก่กำลังปัญญาที่ได้สะสมมาในอดีตชาติ และกำลังสะสมในปัจจุบัน


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 29 พ.ค. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาอาจารย์กาญจนา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
วิริยะ
วันที่ 30 พ.ค. 2554
ขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
bsomsuda
วันที่ 30 พ.ค. 2554

"..ฟังบ่อยๆ จนไม่ลืมว่า ทุกอย่างเป็น ธรรม แล้วความเข้าใจนั้นจะทำกิจละอกุศล เจริญกุศล.."

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะพี่แดง

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
จักรกฤษณ์
วันที่ 30 พ.ค. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
khampan.a
วันที่ 30 พ.ค. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาอาจารย์กาญจนา ด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
สมศรี
วันที่ 31 พ.ค. 2554
ขอบพระคุณและอนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
wittawat
วันที่ 31 พ.ค. 2554

ผมชื่นชอบใจคำว่า การจะได้สาระจากพระสูตร ต้องเริ่มตั้งแต่การละความพอใจที่ได้ยินเรื่องราว คำ และที่มีพระวินัย พระสูตร พระอภิธรรม เพราะมีธรรม ครับ

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
ไตรสรณคมน์
วันที่ 1 มิ.ย. 2554

ตอนที่ศึกษาธรรมใหม่ๆ ก็ชอบอ่านค่ะ อ่านพระอภิธรรมปิฎกไปถึงคัมภีร์สุดท้าย ปัฏฐานเล่มที่ ๒ เกิดคำถามขึ้นในใจมากมาย ว่าจริงๆ เรารู้อะไร ที่รู้น่ะ รู้แต่ชื่อ แต่ขณะนี้ ไม่รู้อะไรเลย! นับจากวันนั้นเริ่มเปลี่ยนทัศนคติต่อการศึกษาหันมาพิจารณาสภาพธรรมมากขึ้น อ่านตัวจริงของธรรม ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
panasda
วันที่ 1 มิ.ย. 2554
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
เมตตา
วันที่ 2 มิ.ย. 2554

กราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาพี่แดง ด้วยค่ะ

ขอนำคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ มาให้พิจารณาเพื่อความเข้าใจเพิ่มขึ้นคะ

แต่ทีนี้เราจะสังเกตได้ว่า จากการฟังพระธรรม ถ้าเข้าใจลักษณะของสติปัฏฐานจริงๆ ก็จะรู้ได้ว่า สภาพธรรมตามปกติไม่เปลี่ยน จักขุวิญญาณหรือจักขุทวารวิถีจิตที่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาก็คือขณะนี้ เราก็เห็นมาตลอด ไม่เห็นมีใครไม่เห็นเลย ใช่ไหมคะ แต่ขณะที่หลงลืมสติ คือ ไม่ได้คิดเลย หรือไม่ได้เข้าใจเลยว่า ขณะที่กำลังเห็นเป็นสภาพรู้ นั่นคือ ขณะหลงลืมสติ ทั้งๆ ที่เห็น เห็นทุกอย่าง แต่เวลาที่สติเกิดแล้ว การเห็นก็เหมือนปกติอย่างนี้ เป็นการรู้ค่อยๆ รู้ขึ้นว่า เป็นแต่เพียงอาการรู้ ลักษณะรู้อย่างหนึ่ง แม้ว่าจะน้อยสักเท่าไรก็ตาม แต่เป็นการเริ่มต้นของการอบรมเจริญปัญญา โดยที่เราไม่หวังว่า เราจะระลึกได้บ่อยๆ ขณะนั้นต้องระลึก ต้องมีสติถึงจะมารู้ว่า ขณะนี้เป็นสภาพรู้อย่างหนึ่งที่กำลังเห็นทางตา คนตายไม่เห็น ลักษณะเห็นเป็นของจริง มีจริงๆ เป็นสภาพรู้ชั่วขณะ อาศัยการฟังที่จะทำให้เราสามารถละคลายการยึดถือสภาพเห็นว่าเป็นตัวตน ก็คือ ต้องฟังมาก เหมือนกับมีดที่จะตัดอะไรได้ต้องคม ถ้าไม่มีการศึกษาปริยัติ ไม่มีการฟังโดยนัยต่างๆ ไม่มีการตื่นขึ้นมาคิดอีก พิจารณาอีก เข้าใจอีก ระลึกอีก ก็ไม่มีทางที่ปัญญาจะคมขึ้นมาได้

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านค่ะ...

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่ 2 มิ.ย. 2554
ขอบพระคุณ และ ขออนุโมทนาพี่แดงครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
homenumber5
วันที่ 2 มิ.ย. 2554

เรียนท่านเจ้าของกระทู้และ ท่านวิทยากรทุกท่าน ตามที่ดิฉัน เข้าใจนั้นหลังกึ่งพุทธกาลเช่นปัจจุบันนี้ ชาวพุทธ มีจำนวนน้อยที่ได้ประพฤติตนเป็นพุทธบริษัทที่ดี โดยเฉพาะ อุบาสกอุบาสิกาต่างพากันมอบหน้าที่ให้พระภิกษุเป็นผู้รับหน้าที่สืบทอดพระพุทธศาสนา และขาดการสิกขาพระธรรมวินัย พระสงฆ์ต้อง หาปัจจัยมาบำรุงวัดพัฒนาวัด ทั้งที่ในพระพุทธประวัติ เราจะอ่านถึง การสร้างวัดอย่างยิ่งใหญ่ และบำรุงพระสงฆ์ด้วยการสร้างมหาสังฆทานยิ่งใหญ่ เช่นท่านมหาอุบาสิกาวิสาขา พระโสดาบัน ท่านมหาอุบาสิกา อนาบิฯธกะเศรษฐี มีหน้าที่ของอุบาสกอุบาสิกาอีกหลายอย่าง ที่ชาวพุทธปัจจุบันมิได้ทำ จึงขอเขียนมาเพื่อพิจารณาด้วย

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
homenumber5
วันที่ 3 มิ.ย. 2554

(ต่อ)

ขอเรียนถามเจ้าของกระทูและวิทยากรบ้านธัมมะค่ะ

1. พระภิกษุ เวลาออกจากวัดไปนอกวัดทั้งทางการและไม่ทางการท่านต้องนุ่งห่ม จีวรครบสามผืนหรือไม่ หากไม่ครบ แล้วหราวาส ทำบุญด้วย บุญเราจะน้อยเหมือนทำกับเณรไหมคะ
2. บาตรและเสนาสนะนั้น พระสงฆ์หากต้องไปค้างแรมนอกวัดท่านต้องเอาไปด้วยไหมคะ
3. พระบวชแล้วตัดขาดจากลูกเมียพ่อแม่ทางกฎหมายไหมคะ ท่านทำพินัยกรรมได้ไหม ต้องมีทายาททางกฏหมายไหมคะเวลาที่ไปเกี่ยวข้องด้านธุรกรรม อันนี้ ทั้งด้าน วินัยและกฏหมายค่ะ

ขออนุโมทนา ทุกท่านที่เมตตาตอบคำถามค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
wannee.s
วันที่ 4 มิ.ย. 2554

พระภิกษุเวลาไปค้างแรมนอกวัด ต้องมี ไตรจีวร บาตร ผ้ากรองน้ำ เป็นต้น แต่เสนาสนะ คือ ที่นั่ง ไม่ต้องเอาไป พระภิกษุบวชแล้วต้องสละเงินทอง สละทุกอย่าง จะทำพินัยกรรมให้พ่อแม่หรือใครก็ตามทำไม่ได้ ผิดพระวินัย ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
pamali
วันที่ 6 มิ.ย. 2554
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
akrapat
วันที่ 7 มิ.ย. 2554

การศึกษาพระไตรปิฎก ในมุมมองของปุถุชนเอง ผู้ที่เริ่มศึกษา จากเริ่มต้นที่ยังไม่เข้าใจ ก็จะค่อยๆ เข้าใจ ผู้ที่ศึกษามานานๆ ก็สามารถที่จะเข้าใจมากขึ้น ตามลำดับ หากการศึกษานั้นเป็นไป เพื่อเป็นเหตุให้สติการระลึกในสภาพธรรมะ ที่ปรากฎ แต่ตราบใดที่ยังเป็นปุถุชน แม้จะอ่านพระไตรปิฎก จนจบเล่ม สามารถสอบเปรียญธรรม ได้ กี่ประโยคก็ตาม ถ้าจุดมุ่งหมาย ของการศึกษานั้นเป็นไปเพื่อที่จะจำเนื้อหา มากกว่าการระลึกในสภาพธรรมะ ที่ปรากฎตลอดเวลา (หรือที่บางคน "เพื่อปัจจุบันขณะ") ก็ยังไม่เรียกว่า เป็นการศึกษาที่แท้จริง ยิ่งคนบางที ยิ่งอ่านเยอะ รู้เยอะ กลายเป็น เพิ่มอัตตาไปเลยก็มี ทั้งที่จุดมุ่งหมายที่แท้จริง ของ ท่าน อ.สุจินต์ คือ ศึกษาเพื่อให้รู้ว่า ขณะนี้ มีธรรมะอะไรปรากฎ หรือที่ท่านชอบถามว่า ขณะนี้ "เห็น หรือได้ ยินคะ"

จะเห็นได้ว่าการจำเนื้อหาสาระ ไม่มีประโยชน์เลย ถ้าปราศจากความเข้าใจในธรรม เพราะโดยวิถีจิต เองจะจำเฉพาะสภาวะธรรม (ปรมัตถธรรม) ที่ปราศจากชื่อ ไม่ใช่สมมติ แต่สมมติก็ต้องทราบ เพื่อใช้ประกอบคำอธิบาย เพราะฉะนั้น ถ้าจำเฉพาะชื่อตายไป ชาติหน้าเกิดใหม่ก็ลืม แต่ถ้ามีความเข้าในธรรมนั้นก็ยังยังสะสมต่อไปได้ ยิ่งถ้าเข้าใจจนกระทั่งจนกลายเป็นเหตุให้สติระลึก หรือ สติปัฎฐานเกิดนั้น ยิ่งทำให้ผู้ศึกษา ตัดภพชาติที่เวียนว่ายตายเกิด ในสังสารวัฎให้สั้นลงได้ แต่แม้สติปัฎฐานเกิดแล้ว แต่ยังไม่พอที่จะเป็นเหตุให้เกิด วิปัสนาญาณ ก็ยังถือว่ายังละกิเลสไม่ได้ แต่ก็ถือว่าได้สะสมเหตุ และที่สำคัญที่สุดถ้ายังไม่ถึงขั้นเป็นพระอริยบุคคลนั้น ยังไม่ถือว่า บรรลุความมุ่งหมายของการศึกษาเรียนรู้พระพุทธศาสนา หรือที่เรียกว่า ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ

แม้กระทั่ง ความเข้าธรรมะในพระไตรปิฎก ของพระโสดา พระสกทา พระอนาคา และพระอรหันต์เองยังไม่เท่ากัน

ฉะนั้น การเผยแพร่ธรรมะจากความเข้าใจ ของปุถุชนยังอยู่ภายใต้อำนาจของกิเลส แต่ก็เป็นเหตุให้ผู้ที่ยังไม่รู้ ให้รู้มากขึ้น เข้าใจมากขึ้น แม้พระโสดาบันเอง ความเข้าใจในธรรมยังไม่มาก แต่ก็มากกว่าปุถุชน และยังเป็นไปโดยอำนาจของกิเลสที่ท่านยังละไม่ได้ พระสกทา อนาคา ก็เช่นกัน เว้นแต่พระอรหันต์ ที่ท่านการเผยแพร่ธรรมะนั้น ไม่ได้มีกิเลสบงการ นั้นคือ เผยแพร่ธรรมะ เพื่อความดำรงอยู่ของธรรมะ โดยแท้จริง ฉะนั้น คนที่จะใช้กิเลส เผยแพร่ธรรมะ คนนั้นต้องรู้เท่าทันกิเลส (ของตน) ถ้าปราศจากการรู้เท่าทันกิเลส ก็จะเป็นการเผยแพร่ธรรมะเพราะกิเลส

การเผยแพร่ธรรมะโดยอำนาจของกิเลส ก็ย่อมเป็นไปเพื่อกิเลสของคนเผยแพร่ นั่นคือ ลาภ ยศ สรรเสริญ ซึ่งตราบใดที่ยังเป็นปุถุชน ความหวั่นไหวในโลกธรรมย่อมมี แต่ธรรมดาของธรรมะย่อมเป็นเหตุปัจจัยซึ่งกันและกัน ผู้ไม่รู้ สอบถามผู้รู้เพื่อความรู้ยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพราะ พระโสดารู้กิเลสปุถุชน สกทารู้กิเลสโสดา พระอนาคารู้กิเลสพระสกทา และอรหันต์รู้กิเลสอนาคา ก็เป็นเหตุและปัจจัยซึ่งกันและกัน เพื่อความเจริญในธรรม หรือแม้แต่สำนักปฏิบัติเรียนจากสำนักอภิธรรม หรืออภิธรรมสอบถามสำนักปฏิบัติ สำนักปฏิบัติต่างๆ สอบถามซึ่งกันและกัน (โดยปราศจากอคติ) เพราะนี่คือ วิถีของสาวกภูมิ ซึ่งจะต้องอาศัยการฟังพระธรรม และประพฤติธรรม แม้ว่าการเริ่มต้นจะมาคนละสาย แต่แม่น้ำ หลายสายก็ย่อมไหลลงสู่แม่น้ำสายใหญ่ และไหลลงสู่มหาสมุทร ฉันใด สติปัฏฐานไม่ว่าจะเริ่มจากฐานใด ผู้ใดเจริญดีแล้ว ย่อมยังมรรค ผล ย่อมยังนิพพานให้ปรากฎ มรรค ผล นิพพานที่ปรากฎแก่ผู้ใด ผู้นั้นย่อมยังกงล้อแห่งธรรม หรือ ธรรมจักรให้เคลื่อนต่อไปได้

ขออนุโมทนาในความเกื้อกูลในธรรม ของเพื่อนสหธรรมิก บ้านธัมมะ ตลอดจน วิทยากร ผู้ดูแลเว็บไซด์ทุกท่าน

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
วินิจ
วันที่ 8 มิ.ย. 2554
 
  ความคิดเห็นที่ 18  
 
chatchai.k
วันที่ 23 มิ.ย. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 19  
 
chatchai.k
วันที่ 23 มิ.ย. 2564
 
  ความคิดเห็นที่ 20  
 
chatchai.k
วันที่ 23 มิ.ย. 2564
 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ