คัททูลสูตร - อุปมาขันธ์ ๕ - ๑๒ ส.ค. ๒๕๔๙

 
บ้านธัมมะ
วันที่  10 ส.ค. 2549
หมายเลข  1800
อ่าน  2,010

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส

พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ

••• ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย •••

สนทนาธรรมที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

พระสูตร ที่นำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ

วันเสาร์ที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๔๙

เวลา ๐๙:๐๐ - ๑๒:๐๐น.

คัททูลสูตร

ว่าด้วยอุปมาขันธ์ ๕ ด้วยเสาล่ามสุนัข

จาก.. พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - เริ่มหน้าที่ 339

นำการสนทนาโดย..

ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และคณะวิทยากร

ขอเชิญท่านอ่านพระสูตรนี้ได้ในกรอบต่อไปนะครับ...


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 ส.ค. 2549

[เล่มที่ 27] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้าที่ 339

๗. คัททูลสูตร

ว่าด้วยอุปมาขันธ์ ๕ ด้วยเสาล่ามสุนัข

[๒๕๖] กรุงสาวัตถี. ในพระเชตวันวิหาร พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สงสารนี้ มีที่สุดเบื้องต้น ที่ใครๆ ตามไป รู้ไม่ได้แล้ว เงื่อนต้น (ของสงสาร) ไม่ปรากฏ สำหรับ สัตว์ทั้งหลาย ผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องกางกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูกไว้ ท่องเที่ยวไปมาอยู่

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมัยที่มหาสมุทรเหือดแห้งไม่มีน้ำ ยังมีอยู่ แต่เราตถาคต ไม่กล่าวว่า สัตว์ทั้งหลายผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องกางกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูกไว้ ท่องเที่ยวไปมาอยู่ จะกระทำที่สุด แห่งทุกข์ได้เลย

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมัยที่ภูเขาสิเนรุราช ถูกไฟไหม้พินาศไป ไม่ปรากฏ ยังมีอยู่ แต่เราตถาคตไม่กล่าวว่า สัตว์ทั้งหลาย ผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องกางกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูกมัด ท่องเที่ยวไปมาอยู่ จะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้เลย

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมัยที่ผืนแผ่นดินใหญ่ ถูกไฟไหม้พินาศไป ไม่ปรากฏ ยังมีอยู่ แต่เราตถาคตไม่กล่าวว่า สัตว์ทั้งหลาย ผู้มีอวิชชา อวิชชาเป็นเครื่องกางกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูกไว้ ท่องเที่ยวไปมาอยู่จะทำที่สุด แห่งทุกข์ได้เลย

[๒๕๗] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สุนัขที่เขาล่ามเชือกแล้ว ถูกล่ามไว้ที่เสาอันมั่นคง ย่อมวิ่งวนหลักหรือเสานั้นเอง แม้ฉันใด ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ไม่ได้เห็นพระอริยเจ้า ไม่ฉลาดในอริยธรรม ฯลฯ ไม่ได้รับแนะนำใน สัปปุริสธรรม ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ตามเห็นรูปโดยความเป็นอัตตา ตาม เห็นเวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... วิญญาณ โดยความเป็นอัตตา ตามเห็น อัตตาว่ามีวิญญาณ ตามเห็นวิญญาณในอัตตาหรือ ตามเห็นอัตตาในวิญญาณ เขาจะแล่นวนเวียน รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อยู่ เมื่อเขา วนเวียน รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อยู่ ก็จะไม่พ้นจากรูป จากเวทนา จากสัญญา จากสังขาร จากวิญญาณ จะไม่พ้น จากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส เราตถาคตกล่าวว่า เขาจะไม่พ้นไปจากทุกข์

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ฟังแล้ว ผู้ได้เห็นพระอริยเจ้าทั้งหลาย ฯลฯ ผู้ได้รับแนะนำในธรรมของสัตบุรุษทั้งหลาย จะไม่ตามเห็นรูปโดยเป็นอัตตา จะไม่ตามเห็นเวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... จะไม่ตามเห็นวิญญาณ โดยความเป็นอัตตา ไม่ตามเห็นอัดตาว่ามีวิญญาณ ไม่ตามเห็นวิญญาณในอัตตา ไม่ตามเห็นอัตตาในวิญญาณ เธอจะไม่แล่น วนเวียนรูปอยู่ จะไม่แล่นวนเวียน เวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... วิญญาณ อยู่ เธอเมื่อไม่วิ่งวนเวียนรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อยู่ ก็จะ พ้นจากรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จะพ้นจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส เราตถาคตกล่าวว่า เขาจะพ้นไปจากทุกข์

จบ คัททูลสูตรที่ ๑

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 10 ส.ค. 2549

อรรถกถาคัททูลสูตรที่ ๑

พึงทราบวินิจฉัย ในคัททูลสูตรที่ ๑ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า ย มหาสมุทฺโท ความว่า ในสมัยใด เมื่อพระอาทิตย์ ดวงที่ ๕ อุทัยขึ้น มหาสมุทร (ทะเลหลวง) ก็จักเหือดแห้ง

บทว่า ทุกฺขสฺส อนฺตกิริย ความว่า เราตถาคตไม่กล่าว ๑ ถึงการกระทำที่สุด คือ การสิ้นสุด แห่งวัฏฏทุกข์ของสัตบุรุษผู้ยังมิได้ ๑ ปาฐะว่า วทามิ ฉบับพม่าเป็น น วทามิ แปลตามฉบับพม่า แทงตลอดอริยสัจจ์ ๔ แล้ว ถูกอวิชชาร้อยรัดไว้แล้ว

บทว่า คทฺทูลพนฺโธ ได้แก่ สุนัขที่ถูกล่ามโซ่

บทว่า ขีเล คือ ที่เสาใหญ่ที่ยังไม่ได้ตอกลงในแผ่นดิน

บทว่า ถมฺเภ คือ ที่เสา (เล็ก) ที่ฝังไว้

ในบทว่า เอวเมว โข นี้ พึงทราบอธิบายดังต่อไปนี้ :- คนพาลที่อาศัยวัฏฏะ พึงทราบว่า เปรียบเหมือนสุนัข. ทิฏฐิ พึงทราบว่า เปรียบเหมือนโซ่ตรวน สักกายะ พึงทราบว่า เปรียบเหมือนเสา การหมุนไปตามสักกายะของปุถุชนผู้ถูกผูกติดไว้ที่กายของตน ด้วยทิฏฐิและตัณหา พึงทราบว่า เหมือนการวิ่งวนรอบเสาของสุนัข ตัวที่ถูกล่ามโซ่และเชือกไว้ติดกับเสา.

จบ อรรคกถาคัททูลสูตรที่ ๑

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
prakaimuk.k
วันที่ 11 ส.ค. 2549
ขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
chatchai.k
วันที่ 17 พ.ย. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ