พาลิสิกสูตร - สุญญสูตร - o๒ ก.ย. ๒๕๔๙

 
บ้านธัมมะ
วันที่  31 ส.ค. 2549
หมายเลข  1974
อ่าน  1,057

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส

พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ

••• ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย •••

สนทนาธรรมที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

พระสูตร ที่นำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ

วันเสาร์ที่ ๒ กันยายน ๒๕๔๙

เวลา ๐๙:๐๐ - ๑๒:๐๐ น.

พาลิสิกสูตร และ สุญญสูตร

[เล่มที่ 28] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้าที่ 342

๒. สุญญสูตร

ว่าด้วยสิ่งที่เรียกว่าโลกว่างเปล่า

[เล่มที่ 28] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้าที่ 342

นำการสนทนาโดย..

ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และคณะวิทยากร

ขอเชิญท่านอ่านพระสูตรนี้ได้ในกรอบต่อไป ครับ...


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ส.ค. 2549

[เล่มที่ 28] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้าที่ 342

๓. พาลิสิกสูตร

ว่าด้วยเบ็ด ๖ ชนิด

[๒๘๙] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พรานเบ็ดหย่อนเบ็ดที่มีเหยื่อลงในห้วงน้ำลึก ปลาที่เห็นแก่เหยื่อตัวหนึ่งกลืนกินเบ็ดนั้น ปลานั้นชื่อว่า กลืนกินเบ็ดของนายพรานเบ็ด ถึงความวิบัติ ถึงความพินาศ พรานเบ็ด พึงกระทำได้ตามชอบใจฉันใด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในโลกนี้มีเบ็ดอยู่ ๖ ชนิด เหล่านี้ สำหรับนำสัตว์ทั้งหลายไป สำหรับฆ่าสัตว์ทั้งหลายเสีย ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เบ็ด ๖ ชนิด คืออะไรบ้าง คือ

รูปอันจะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก อาศัยความใคร่ ชวนให้กำหนัด มีอยู่ ถ้าภิกษุเพลิดเพลิน สรรเสริญ หมกมุ่นในรูปนั้น ภิกษุนี้เราเรียกว่า กลืนกินเบ็ดของมาร ถึงความวิบัติ ถึงความพินาศ มารใจบาปพึงกระทำได้ตามชอบใจ

เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ อันจะพึงรู้แจ้งด้วยใจ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก อาศัยความใคร่ ชวนให้กำหนัด มีอยู่ ถ้าภิกษุเพลิดเพลิน สรรเสริญ หมกมุ่น ธรรมารมณ์นั้น ภิกษุนี้เราเรียกว่า กลืนกินเบ็ดของมาร ถึงความวิบัติ ถึงความพินาศ มารใจบาปพึงกระทำได้ตามชอบใจ.

[๒๙๐] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย รูปอันจะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ อันน่า ปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก อาศัยความใคร่ ชวนให้กำหนัด มีอยู่ ถ้าภิกษุไม่เพลิดเพลิน ไม่สรรเสริญ ไม่หมกมุ่นรูปนั้น ภิกษุนี้ เราเรียกว่า ไม่กลืนกินเบ็ดของมาร ได้ทำลายเบ็ด ตัดเบ็ด ไม่ถึงความวิบัติ ไม่ถึงความพินาศ มารใจบาปไม่พึงกระทำได้ตามชอบใจ

เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์อันจะพึงรู้ได้ด้วยใจ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก อาศัยความใคร่ ชวนให้กำหนัด มีอยู่ ถ้าภิกษุไม่ เพลิดเพลิน ไม่สรรเสริญ ไม่หมกมุ่นธรรมารมณ์นั้น ภิกษุนี้เราเรียกว่า ไม่กลืนกินเบ็ดของมาร ได้ทำลายเบ็ด ตัดเบ็ด ไม่ถึงความวิบัติ ไม่ถึง ความพินาศ มารใจบาปไม่พึงกระทำได้ตามชอบใจ

จบ พาลิสิกสูตรที่ ๓

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ส.ค. 2549

อรรถกถาพาลิสิกสูตรที่ ๓

พาลิสิกสูตรที่ ๓ มีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.

จบ อรรถกถาพาลิสิกสูตรที่ ๓

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ส.ค. 2549

๒. สุญญสูตร

ว่าด้วยสิ่งที่เรียกว่าโลกว่างเปล่า

[๑๐๒] ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์ ฯลฯ ได้ทูลถามพระผู้มี พระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่าโลกว่างเปล่าๆ ดังนี้ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอจึงเรียกว่า โลกว่างเปล่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส ตอบว่า ดูก่อนอานนท์ เพราะว่างเปล่าจากตนหรือจากของๆ ตน ฉะนั้น จึงเรียกว่า โลกว่างเปล่า

อะไรเล่าว่างเปล่าจากตนหรือจากของๆ ตน จักษุ แลว่างเปล่าจากตนหรือจากของๆ ตน รูปว่างเปล่าจากตนหรือจากของๆ ตน จักษุวิญญาณว่างเปล่าจากตนหรือจากของๆ ตน จักษุสัมผัสว่างเปล่าจากตน หรือจากของๆ ตน สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้น เพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย ก็ว่างเปล่าจากตนหรือจากของๆ ตน ฯลฯ ใจว่างเปล่าจากตนหรือจากของๆ ตน ธรรมารมณ์ว่างเปล่าจากตนหรือจากของๆ ตน มโนวิญญาณว่างเปล่าจากตนหรือจากของๆ ตน มโนสัมผัส ว่างเปล่าจากตนหรือจากของๆ ตน สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัยก็ว่างเปล่าจากตนหรือจากของๆ ตน ดูก่อนอานนท์ เพราะว่างเปล่าจากตนหรือจากของๆ ตน ฉะนั้น จึงเรียกว่าโลกว่างเปล่า

จบ สุญญสูตรที่ ๒

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ส.ค. 2549

อรรถกถาสุญญสูตรที่ ๒

ใน สุญฺญสูตรที่ ๒ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

บทว่า อตฺตนิเยน ได้แก่ ด้วยปริกขารอันเป็นสมบัติของตน. ในที่นี้ตรัสเฉพาะอนัตตลักขณสูตรเท่านั้น ด้วยประการฉะนี้

จบ อรรถกถาสุญญสูตรที่ ๒

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chatchai.k
วันที่ 17 พ.ย. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ