อุทยชาดก ... เสาร์ที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๕๓

 
บ้านธัมมะ
วันที่  27 ก.ย. 2553
หมายเลข  17270
อ่าน  2,360

••• ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย •••

... สนทนาธรรมที่ ...

••• มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา •••

พระสูตร ที่นำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ

วันเสาร์ที่ ๒ ต.ค. ๒๕๕๓ เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. คือ

อุทยชาดก

(ว่าด้วยพระเจ้าอุทัยภัทระ และ พระนางอุทัยภัทรา)

... จาก ...

[เล่มที่ 33] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่มที่ ๓๓ - หน้าที่ 146 - 149

 

... นำสนทนาโดย ...

ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และคณะวิทยากร

[เล่มที่ 60] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่มที่ ๖๐ - หน้าที่ 31 - 50

๔. อุทยชาดก

(ว่าด้วยพระเจ้าอุทัยภัทระ และ พระนางอุทัยภัทรา)

[๑๕๒๖] ดูก่อนพระนางผู้มีพระวรกายงามหาที่ติมิได้ มีช่วงพระเพลากลมกลึงผึ่งผาย ทรงวัตถาภรณ์อันสะอาด เสด็จขึ้นสู่ปราสาทประทับนั่งอยู่พระองค์เดียว ดูก่อนพระนางผู้มีพระเนตรงามดังเนตรกินนร หม่อมฉันขอวิงวอนพระนาง เราทั้งสองควรอยู่ร่วมกันตลอดคืนหนึ่งนี้.

[๑๕๒๗] นครนี้มีคูรายรอบ มีป้อมแลซุ้มประตูมั่นคง มีหมู่ทหารถือกระบี่รักษา ยากที่ใครๆ จะเข้าได้ ทหารนักรบหนุ่มก็ไม่มีเลย เมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านปรารถนามาพบข้าพเจ้าด้วยเหตุอะไรหนอ.

[๑๕๒๘] ดูก่อนพระนางผู้เลอโฉม หม่อมฉันเป็นเทพบุตรมาในตำหนักของพระนาง ดูก่อนพระนางผู้เจริญ เชิญพระนางชื่นชมกับหม่อมฉันเถิด หม่อมฉันจะถวายถาดทอง อันเต็มด้วยทองแก่นาง.

[๑๕๒๙] นอกจากเจ้าชายอุทัยแล้ว ข้าพเจ้าไม่พึงปรารถนาเทวดา ยักษ์ หรือมนุษย์ผู้อื่นเลย ดูก่อน เทพบุตรผู้มีอานุภาพมาก ท่านจงไปเสียเถิด อย่ากลับมาอีกเลย.

[๑๕๓๐] ความยินดีอันใด เป็นที่สุดของผู้บริโภคกาม สัตว์ทั้งหลายประพฤติไม่สมควร เพราะเหตุแห่งความยินดีอันใด พระนางอย่าพลาดความยินดีในทางอันสะอาดของพระนางนั้นเลย หม่อมฉันขอถวายถาดเงินอันเต็มด้วยทองแก่พระนาง.

[๑๕๓๑] ธรรมดาชาย หมายจะให้หญิงเอออวยด้วยทรัพย์ ย่อมประมูลราคาขึ้นจนให้พอใจ ของท่าน ตรงกันข้าม ท่านประมูลราคาโดยลดลงดังที่เห็นประจักษ์อยู่.

[๑๕๓๒] ดูก่อนพระนางผู้มีพระวรกายงาม อายุ และวรรณะของหมู่มนุษย์ในมนุษยโลก ย่อมเสื่อมลง ด้วยเหตุนั้นแล แม้ทรัพย์สำหรับพระนางก็จำต้องลดลง เพราะวันนี้ พระนางชราลงกว่าวันก่อน ดูก่อนพระราชบุตรีผู้มีพระยศ เมื่อหม่อมฉันกำลังเพ่งมองอยู่อย่างนี้ พระฉวีวรรณของพระนางย่อมเสื่อมไป เพราะวันคืน ล่วงไปๆ ดูก่อนพระราชบุตรผู้มีปรีชา เพราะเหตุนั้น พระนางพึงประพฤติพรหมจรรย์เสียวันนี้ทีเดียว จะได้มีพระฉวีวรรณงดงามยิ่งขึ้นอีก.

[๑๕๓๓] เทวดาทั้งหลายไม่แก่ เหมือนมนุษย์หรือ เส้นเอ็นในร่างกายของเทวดาเหล่านั้นไม่มีหรือ ดูก่อน เทพบุตร ข้าพเจ้าขอถามท่านผู้มีอานุภาพมาก ร่างกายของเทวดาเป็นอย่างไร.

[๑๕๓๔] เทวดาทั้งหลาย ไม่แก่เหมือนมนุษย์ เส้นเอ็นในร่างกายของเทวดาเหล่านั้นไม่มี ฉวีวรรณอันเป็นทิพย์ของเทวดาเหล่านั้น ผุดผ่องยิ่งขึ้นทุกๆ วัน และโภคสมบัติก็ไพบูลย์ขึ้น.

[๑๕๓๔] หมู่ชนเป็นอันมากในโลกนี้ กลัวอะไรเล่า จึงไม่ไปเทวโลกกัน ก็หนทางไปเทวโลก บัณฑิตทั้งหลายกล่าวไว้หลายด้าน ดูก่อนเทพบุตรผู้มีอานุภาพมาก ข้าพเจ้าขอถามท่านว่า บุคคลตั้งอยู่ในหนทางไหน จึงจะไม่กลัวปรโลก.

[๑๕๓๖] บุคคลผู้ตั้งวาจาและใจไว้โดยชอบ ไม่กระทำบาปด้วยกาย อยู่ครองเรือนอันมีข้าวและน้ำมาก เป็นผู้มีศรัทธา อ่อนโยน จำแนกแจกทาน รู้ความประสงค์ ชอบสงเคราะห์ มีถ้อยคำกลมกล่อม อ่อนหวาน ผู้ตั้งอยู่ในคุณธรรมดังกล่าวมานี้ ไม่พึงกลัว ปรโลก.

[๑๕๓๗] ข้าแต่เทพบุตร ท่านพร่ำสอนข้าพเจ้า เหมือนมารดาบิดา ข้าแต่ท่านผู้มีผิวพรรณงามยิ่ง ข้าพเจ้าขอถาม ท่านเป็นใครหนอ จึงมีร่างกายสง่างามนัก.

[๑๕๓๘] ดูก่อนพระนางผู้เลอโฉม ข้าพเจ้าเป็น พระเจ้าอุทัย มาในที่นี้ เพื่อต้องการจะเปลื้องข้อผูกพัน ข้าพเจ้าบอกพระนางแล้ว จะขอลาไป ข้าพเจ้าพ้นจากข้อผูกพันของพระนางแล้ว.

[๑๕๓๙] ข้าแต่พระลูกเจ้า ถ้าพระองค์เป็นพระเจ้าอุทัย เสด็จมา ณ ที่นี้ เพื่อต้องการจะเปลื้องข้อผูกพันไซร้ ข้าแต่พระราชบุตร ขอเชิญพระองค์จงโปรดพร่ำสอนหม่อมฉัน ด้วยวิธีที่เราทั้งสองจะได้พบกันใหม่อีกเถิด เพคะ.

[๑๕๔๐] วัยล่วงไปเร็วยิ่งนัก ขณะก็เช่นนั้นเหมือนกัน ความตั้งอยู่ยั่งยืน ไม่มี สัตว์ทั้งหลายย่อมจุติไปแน่แท้ สรีระไม่ยั่งยืน ย่อมเสื่อมถอย ดูก่อน พระนางอุทัย เธออย่าประมาท จงประพฤติธรรม พื้นแผ่นดินทั้งสิ้นเต็มไปด้วยทรัพย์ ถ้าพึงเป็นของของพระราชาพระองค์เดียว ไม่มีผู้อื่นครอบครอง ถึงกระนั้น ผู้ที่ยังไม่ปราศจากความกำหนัด ก็ต้องทิ้งสมบัตินั้นไป ดูก่อนพระนางอุทัย เธออย่าประมาท จงประพฤติธรรม มารดา บิดา พี่ชาย น้องชาย พี่สาว น้องสาว ภรรยาและสามีพร้อมทั้งทรัพย์ แม้เขาเหล่านั้นต่างก็จะละทิ้งกันไป ดูก่อน พระนางอุทัย เธออย่าประมาท จงประพฤติธรรม ดูก่อนพระนางอุทัย เธอพึงทราบว่า ร่างกายเป็นอาหารของสัตว์อื่นๆ พึงทราบว่า สุคติและทุคติในสังสาระ เป็นที่พักชั่วคราว เธออย่าประมาท จงประพฤติธรรมเถิด.

[๑๕๔๑] เทพบุตรพูดดีจริง ชีวิตของสัตว์ทั้งหลาย น้อย ทั้งลำเค็ญ ทั้งนิดหน่อย ทั้งประกอบไปด้วยทุกข์ หม่อมฉันจักสละสุรุนธนนคร แคว้นกาสี ออกบวชอยู่ลำพังผู้เดียว.

จบอุทยชาดกที่ ๔.


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 27 ก.ย. 2553

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ข้อความโดยสรุป

อุทยชาดก (ว่าด้วยพระเจ้าอุทัยภัทระ และ พระนางอุทัยภัทรา)

ก่อนจะถึงข้อความที่ปรากฏในพระสูตร

พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงปรารภภิกษุรูปหนึ่งผู้เกิดความเบื่อหน่ายด้วยอำนาจของกิเลส โดยที่พระองค์ตรัสกับภิกษุรูปนั้นว่า การที่เธอบวชในพระศาสนาที่นำออกจากทุกข์เช่นนี้แล้วเกิดความเบื่อหน่ายด้วยอำนาจของกิเลส เป็นสิ่งที่ไม่สมควร เพราะเหตุว่า บัณฑิตในปางก่อน ทรงครองราชย์ ในสุรุนธนนคร แม้จะทรงอยู่ร่วมห้องเดียวกันกับพระอัครมเหสี ก็มิได้ทรงแลดูกันและกันด้วยอำนาจแห่งโลภะ เลย จึงทรงนำเรื่องในอดีตมาแสดง

(โดยสรุปความจากอรรถกถา) ดังต่อไปนี้

ในอดีตกาล เมื่อครั้งที่พระเจ้ากาสี ทรงครองราชย์ในสุรุนธนนคร แคว้นกาสี พระโพธิสัตว์ (จุติจากพรหมโลก) ถือปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระอัครมเหสี เมื่อประสูติแล้ว ทรงมีพระนามว่า อุทัยภัทระ (แปลว่าผู้เกิดมาทำให้หทัยของมหาชนเจริญเบิกบาน เพราะเป็นพระโอรสพระองค์แรกของพระเจ้ากาสี) เมื่อพระโพธิสัตว์ทรงย่างพระบาทไปได้ ก็มีสัตว์อื่น (จุติจากพรหมโลก) บังเกิดเป็นกุมาริกาในพระครรภ์ของพระเทวีองค์ใดองค์หนึ่งของพระเจ้ากาสี เมื่อประสูติแล้วทรงมีพระนามว่า อุทัยภัทรา

เมื่อพระโพธิสัตว์ทรงเจริญวัยก็ทรงศึกษาศิลปวิทยา พอถึงเวลาอันสมควร พระราชบิดา ทรงประสงค์จะให้พระโพธิสัตว์อภิเษกสมรส แต่พระโพธิสัตว์ไม่ทรงมีความต้องการเช่นนั้น เพราะเหตุว่าทรงเป็นพรหมจารีตั้งแต่กำเนิด ไม่รู้จักเมถุนธรรมแม้ด้วยความฝัน แต่เมื่อถูกรบเร้าจากพระราชบิดาบ่อยๆ จึงกราบทูลว่า ถ้าหาสตรีที่สวยเท่ากับรูปปั้นสตรีที่ทำด้วยทองคำชมพูนุท ได้ ก็จะกระทำตามพระประสงค์ของพระราชบิดา พวกข้าราชบริวาร ก็ได้นำรูปปั้นทองคำตระเวนไปในเมืองต่างๆ ก็หาสตรีที่สวยเท่ากับรูปปั้นดังกล่าวไม่ได้ พระราชาจึงรับสั่งให้ตกแต่งพระนางอุทัยภัทรา (ซึ่งเป็นน้อง ต่างพระมารดา) ไปประทับนั่งในห้องของพระเจ้าอุทัยภัทระ ซึ่งพระนางมีความสวยงามยิ่งกว่ารูปปั้นทองคำนั้น และในที่สุด พระเจ้ากาสี ก็ได้จัดให้มีการอภิเษกสมรสขึ้นระหว่างพระโพธิสัตว์ กับ พระนางอุทัยภัทรา โดยที่ทั้งสองไม่มีความต้องการเลย แต่ก็ต้องกระทำตามพระประสงค์ของพระเจ้ากาสี และได้ทรงครองราชย์สมบัติต่อจากพระเจ้ากาสี ทั้งสองพระองค์แม้จะทรงอยู่ร่วมห้องเดียวกัน แต่ก็มิได้ทรงแลดูกันด้วยอำนาจแห่งโลภะ เลย ทรงอยู่อย่างบุคคลผู้ประพฤติพรหมจรรย์ แต่ทั้งสองได้ทรงกระทำข้อผูกพันกันว่า ถ้าใครสิ้นพระชนม์ไปก่อน ไปเกิดที่ใด ให้กลับมาบอกด้วย

คนในยุคนั้น มีอายุ ๑๐,๐๐๐ ปี พระเจ้าอุทัยภัทระ ทรงครองราชย์ได้ ๗๐๐ ปี ก็สิ้นพระชนม์ ไปเกิดเป็นท้าวสักกะในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ส่วนพระนางอุทัยภัทรา ไม่ทรงมีพระราชาองค์ใหม่ ทรงสำเร็จราชการแทนทุกอย่าง โดยมีพวกอำมาตย์เป็นผู้ช่วยในการครองราชย์ ต่อมาเมื่อล่วงไป ๗๐๐ ปี โดยการนับปีในเมืองมนุษย์ (ซึ่งก็เท่ากับ ๗ วันในสวรรค์) ท้าวสักกะ (พระโพธิสัตว์) ทรงระลึกถึงข้อผูกพันที่เคยกระทำไว้กับพระนางอุทัยภัทรา ทรงมีพระประสงค์จะทดลองพระนางด้วยทรัพย์ แล้วจึงจะแสดงธรรมให้พระนางได้สดับในภายหลัง เพื่อจะทรงปลดเปลื้องข้อผูกพันดังกล่าว จึงได้เสด็จเข้าไปหาพระนางอุทัยภัทราที่ประทับ นั่งระลึกถึงศีลของตน อยู่ในห้องบนปราสาทชั้นที่ ๗ โดย (ท้าวสักกะ) ทรงมาพร้อมกับถาดทอง ๑ ใบ บรรจุทองจนเต็ม (วันแรกทรงมาพร้อมกับถาดทอง บรรจุทอง วันที่สอง ทรงมาพร้อมกับถาดเงิน บรรจุทอง และวันที่สามทรงมาพร้อมกับถาดโลหะ บรรจุกษาปณ์ ซึ่งลดลงเรื่อยๆ ) และได้มีการสนทนากันไปมา ตามข้อความที่ปรากฏในพระสูตร นั่นแล ในที่สุด พระนางอุทัยภัทรา ได้สละราชสัมบัติ ออกผนวช (บวช) เป็นฤาษิณี (ฤาษีผู้หญิง) อยู่ที่พระราชอุทยาน ในพระนครนั้นนั่นเอง ทรงประพฤติธรรม เมื่อสิ้นพระชนม์แล้ว ไปเกิดเป็นบาทปริจาริกา (เทพธิดาผู้รับใช้ใกล้พระบาท) ของท้าวสักกะ ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงชาดกนี้จบลง พระภิกษุรูปดังกล่าวได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน (พระนางอุทัยภัทรา ได้มาเป็นพระนางยโสธราพิมพา พระมารดาของพระราหุล ส่วนท้าวสักกเทวราช ได้มาเป็นพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า) .

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความต่อไปนี้เพิ่มเติม เพื่อความเข้าใจยิ่งขึ้น ครับ

ไม่กลัวปรโลก เพราะมีคุณธรรมเหล่านี้ [อรรถกถา อุทยชาดก]

ที่พักชั่วคราว [อรรถกถา อุทยชาดก]

ที่พักและเสบียงในการเดินทางไกล

จะรอทำไมให้ถึงก่อนตาย

ชีวิตเนื่องด้วยปัจจัยหลายอย่าง

ก่อนที่วันนั้นจะมาถึง เราควรทำอะไร?

...ฯลฯ...

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
hadezz
วันที่ 28 ก.ย. 2553

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
Noparat
วันที่ 28 ก.ย. 2553

ขอบพระคุณ และ ขออนุโมทนาในกุศลจิตค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
tanakase
วันที่ 28 ก.ย. 2553

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ผิน
วันที่ 28 ก.ย. 2553

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
เอกอัษฎางค์
วันที่ 28 ก.ย. 2553
ขออนุโมทนา และดีใจมากที่ทราบหัวข้อล่วงหน้าเพื่อการศึกษาก่อนสนทนาจริง
 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่ 28 ก.ย. 2553

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
พุทธรักษา
วันที่ 28 ก.ย. 2553

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขออนุโมทนาค่ะ.

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
จักรกฤษณ์
วันที่ 28 ก.ย. 2553

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
orawan.c
วันที่ 29 ก.ย. 2553

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
ที่พึ่งที่ระลึก
วันที่ 29 ก.ย. 2553

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
raynu.p
วันที่ 29 ก.ย. 2553

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 30 ก.ย. 2553

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
Charlie
วันที่ 1 ต.ค. 2553

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
สุภาพร
วันที่ 1 ต.ค. 2553

ขอขอบพระคุณค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
เมตตา
วันที่ 2 ต.ค. 2553

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
ประสาน
วันที่ 3 ต.ค. 2553

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 18  
 
jaturong
วันที่ 4 เม.ย. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 19  
 
Nataya
วันที่ 4 เม.ย. 2561

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ