เจริญเมตตาในบุคคลอันเป็นที่รักได้อย่างไร

 
sirijata
วันที่  7 ก.ค. 2553
หมายเลข  16671
อ่าน  1,481

ดิฉันพบว่าตนเองไม่สามารถเจริญเมตตาในบุคคลอันเป็นที่รัก ได้แก่ บิดามารดา พี่น้องลูกหลาน ผู้ใกล้ชิด ได้เหมือนการเจริญเมตตาในบุคคลอื่นๆ สังเกตได้ว่าสำหรับบุคคลอันเป็นที่รัก ดิฉันจะเป็นผ้าไหมแคว้นกาสี (มีมานะมาก) กับบุคคลอื่นๆ ดิฉันพอจะเป็นผ้าฝ้ายได้บ้าง แต่ยังไม่สามารถเป็นผ้าเช็ดธุลี (ละมานะ) ได้

ดิฉันคิดว่าเพราะความรักมาก (โลภะมาก) เมื่อความหวังดีถูกปฎิเสธ จึงกลายเป็นโทสะอยู่บ่อยๆ ทำให้ล่วงเกินต่อบุคคลอันเป็นที่รักมากขึ้นๆ โดยไม่รู้ตัว ยิ่งศึกษาพระธรรมมากขึ้น ก็รู้ว่าแต่ละวัน สติไม่ค่อยมา ปัญญาไม่ค่อยเกิด ชักจะมองเห็นนรกรำไรๆ

จึงขอความกรุณาอาจารย์และทุกท่านช่วยแนะแนวทางให้ด้วยจะเป็นพระคุณยิ่ง


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
prachern.s
วันที่ 8 ก.ค. 2553

เข้าใจว่าเมื่อศึกษาพระธรรมเข้าใจละเอียดมากขึ้นจะเห็นอกุศลมากขึ้น เพราะแต่ เดิมไม่รู้ว่าเป็นอกุศล แม้กุศลก็จะค่อยๆ เกิดเพิ่มขึ้น เมตตาถ้าอบรมเจริญอย่างถูก ต้อง ด้วยความเข้าใจถูก เมตตาย่อมเจริญขึ้น แต่ด้วยความเป็นเราที่ใจร้อนและ อยากมีเมตตามาก เมตตาจึงไม่เกิด เป็นเรื่องยากจริงๆ ครับ

ขอเชิญคลิกอ่าน

เริ่มเมตตาจากทีละบุคคล

จะให้มีเมตตาเกิดขึ้นได้อย่างไรครับ

ไม่ควรเจริญเมตตาในบุคคล ๔ ประเภท [วิสุทธิมรรคแปล]

การแผ่เมตตาที่ถูกต้องเป็นอย่างไร และเมื่อไร

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
wannee.s
วันที่ 8 ก.ค. 2553

เมตตาเป็นกุศล ไม่ใช่โลภะ โทสะ โมหะ และเมตตา ไม่ใช่เจริญได้ง่าย ต้องมีความเข้าใจธรรม และต้องอาศัยการอบรมเจริญเมตตาบ่อยๆ เนืองๆ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ups
วันที่ 8 ก.ค. 2553

ขออนุโมทนาในกุศลจิตด้วยครับ ที่รู้ว่ายังมีอกุศลจิตอยู่ เป็นเรื่องปกติไม่ต้องกังวลอะไร ต้องเป็นอย่างนี้ ผมก็เป็น ถ้าศึกษาให้ดี พระสัทธรรม ไม่ใช่ง่าย และความเป็นจริง เราที่ยังเป็นเรา เพราะว่าสั่งสมมาไม่รู้กี่องส์ไขย์ แต่ก็ยังมีวาสนาที่ได้ยิน ได้ฟัง พระธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากได้

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 8 ก.ค. 2553

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

โลภะ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นอกุศลธรรมประเภทหนึ่ง ที่ติดข้อง ต้องการยินดีพอใจในสิ่งที่ปรากฏ มีตั้งแต่บางเบา จนกระทั่งถึงขั้นล่วงเป็นทุจริตกรรมประการต่างๆ เบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อน เพราะความติดข้องที่เกินประมาณ นั่นเอง เพราะฉะนั้น บุคคลผู้ที่อบรมเจริญปัญญาต้องเห็นโทษของอกุศลอย่างละเอียด แล้วก็ควรที่จะขัดเกลา ควรละคลาย ให้เบาบาง จนกระทั่งสามารถจะดับได้อย่างเด็ดขาด แต่การที่จะละคลายขัดเกลาอกุศลให้เบาบาง เป็นสิ่งที่ละเอียด และยากมาก ต้องอาศัยกาลเวลาอันยาวนานทีเดียว ค่อยๆ สะสมความเข้าใจไปทีละเล็กทีละน้อย ไม่ท้อถอยในการอบรมเจริญปัญญา และควรที่จะได้พิจารณาว่า โลภะ กับ เมตตา มีความต่างกัน มีลักษณะที่ต่างกัน

เพราะลักษณะของโลภะนั้นเป็นความติดข้อง เป็นอกุศล หนัก เดือดร้อน ดิ้นรน กระสับกระส่าย ไม่สงบ ไม่ว่าโลภะจะเกิดขึ้นในขณะใด ก็ทำให้จิตกระสับกระส่าย หวั่นไหวเดือดร้อนตามกำลังของโลภะ แต่ถ้าเป็นเมตตา ก็จะเป็นลักษณะของความเป็นไปโดยอาการที่เป็นประโยชน์เกื้อกูล เป็นกุศลที่เบาสบาย ไม่หนัก ไม่เดือดร้อน ไม่กระสับกระส่าย มีความปรารถนาดี มีความหวังดี มีความเป็นเพื่อนกับบุคคลอื่นได้จริงๆ ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม และที่สำคัญ ไม่ควรพอใจเพียงแค่มีเมตตากับบุคคลนั้นบุคคลนี้ได้เท่านั้น แต่กับบุคคลเหล่าอื่นก็ควรจะมีเมตตาเสมอกันหมด ไม่มีเว้น ถ้าเป็นเมตตาจริงๆ จะไม่ทุกข์เลย ครับ ...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ผิน
วันที่ 8 ก.ค. 2553

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
bsomsuda
วันที่ 8 ก.ค. 2553

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
sirijata
วันที่ 11 ก.ค. 2553

ขอขอบพระคุณอาจารย์และทุกท่านที่กรุณาเชื่อมโยงหัวข้อธรรม ให้ความเห็นและให้กำลังใจค่ะ ดิฉันได้นำมาพิจารณากับปัญหาของตนเองแล้ว ขอสรุปดังนี้ค่ะ

การเจริญเมตตา ต้องเจริญควบคู่ไปกับการเจริญปัญญา โดยเฉพาะการเจริญสติปัฏฐาน จึงจะมีความก้าวหน้า

แต่ระหว่างที่ปัญญายังเกิดบ้างไม่เกิดบ้าง (เช่นขณะนี้) ทำให้กำลังของปัญญาในการยับยั้งอกุศลได้รวดเร็วยังน้อยอยู่ ก็ควรพิจารณาธรรมอื่นๆ ประกอบเพื่อช่วยปัญญา คือ

ขันติ คือ ความอดทน อดกลั้นต่อการปฏิเสธความหวังดี (อดกลั้นไม่กล่าววาจาล่วงเกินเขา ....แต่โทสะในใจคงเบรคไม่อยู่) อดทนต่อความเสียหายของผู้อื่น (เมื่อเขาปฏิเสธความหวังดี เขาอาจเผชิญความยุ่งยาก) และอดทนต่อผลที่จะย้อนกลับมาหาเราได้ (เราต้องรับรู้ความเดือดร้อนของเขา และเราอาจต้องเดือดร้อนไปกับเขาด้วย)

อุเบกขา คือ ความวางเฉย โดยพยายามพิจารณาว่า ทุกคนมีกรรมเป็นของตน ทุกคนต่างกันตามการสะสม ขณะนี้เขาไม่รับความหวังดี ก็ถอยออกมาก่อน โดยไม่ไปเดือดร้อนกับเขา เขาต้องการเราเมื่อไรก็ค่อยเข้าไปช่วยเหลือ

พิจารณาให้เห็นโทษของโลภะ โทสะ ละความติดข้องต้องการ รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา... เมื่อเราโกรธ แสดงกิริยาไม่ดี ถ้ามีใครทำเช่นนั้นกับเรา เราก็ไม่ชอบเหมือนกัน และข้อเตือนใจที่ท่านอาจารย์สุจินต์ กล่าวไว้ ณ กาลครั้งหนึ่ง บนยอดเขาคิชฌกูฏ ว่า "จะติดข้อง อยู่ทำไม"

ขอความกรุณาอาจารย์และทุกท่านโปรดเมตตาให้คำแนะนำเพิ่มเติม เพื่อดิฉันจะได้นำไปเป็นแนวทางในการพิจารณาเจริญเมตตาต่อไปด้วยจะเป็นพระคุณค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
hadezz
วันที่ 12 ก.ค. 2553

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
chatchai.k
วันที่ 30 ม.ค. 2565

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ