อารมณ์ของสติ

 
จักรกฤษณ์
วันที่  8 ก.ค. 2553
หมายเลข  16673
อ่าน  2,418

ขออนุญาตเรียนถามท่านวิทยากรครับว่า

อารมณ์ที่สติระลึกรู้ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย

แตกต่างจากทางใจ ในแง่ของการเกิดดับของอารมณ์

ดังนั้น การที่มีอารมณ์ทางใจที่สติระลึกรู้ได้ชัดเจนนั้น

ก็จะด้วยกำลังของสัญญาเจตสิก (จำอารมณ์ได้) ใช่หรือไม่ครับ

เพราะอารมณ์ทางใจที่สติระลึกรู้นั้นดับไปแล้ว

ยกเว้นอารมณ์ทางใจที่มีกำลัง เช่น รักมาก โกรธมาก

ก็จะเกิดดับสลับไปมา ระหว่างอกุศลและกุศล (สติ) แต่ละวาระ

สติก็ระลึกได้ชัดเจนมาก

เป็นการเข้าใจที่ถูกต้องหรือไม่ครับ

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
prachern.s
วันที่ 8 ก.ค. 2553
เข้าใจว่า อารมณ์ทุกทวารที่กำลังปรากฏก็เช่นเดียวกันหมด เพราะขณะนั้นกำลังปรากฏอยู่ สติระลึกรู้ได้ทันที ความชัดหรือไม่ชัดไม่ต่างกันโดยทวารดังนั้นคงไม่ต้องคำนึงถึงทวารหรือความชัดหรือไม่ชัด สิ่งใดปรากฏ สติระลึกรู้ในสิ่งนั้น เป็นกิจของสติสัมปชัญญะ และขึ้นอยู่ที่ความเข้าใจในธรรมะครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
รากไม้
วันที่ 8 ก.ค. 2553

ขออนุญาต ร่วมสนทนาด้วยนะครับ ในประเด็นนี้

ผมเข้าใจว่า สัญญาจำหมดทุกอย่างเท่าเทียมกัน ตลอดเวลาตราบที่เราดำรงชีวิตอยู่

แต่สิ่งที่ปรากฎทางมโนทวารนั้น ได้แก่ อารมณ์และบัญญัติทั้งหลาย จะปรากฎชัดหรือไม่ชัดขึ้นอยู่กับ กุศลและอกุศลจิต ที่เกิดร่วมด้วยในขณะนั้นๆ

จึงปรากฎให้เห็นว่า สิ่งที่เราชอบมากหรือเกลียดชังมาก จะปรากฎทางมโนทวารได้ชัดเจนกว่าและบ่อยกว่า ...จนเหมือนกับว่า เรามักจำสิ่งที่เราชอบมากและเกลียดชังมาก ได้แม่นยำเป็นพิเศษ มากกว่าสิ่งที่เรารู้สึกเฉยๆ

เพราะว่า สิ่งที่เราเฉยๆ นั้น จะไม่่ค่อยกลับมาปรากฎทางมโนทวารอีกเลย หรืออาจจะไม่หวนคืนมาเลยก็ได้ เหมือนกับว่าไม่มีอยู่ในความทรงจำเลย ก็ว่าได้ ...แต่ว่าจริงๆ แล้วมีการจำไปแล้ว โดยตัวสัญญา เพราะสัญญาจำทุกอย่าง ไม่มีเว้นเลย

เรื่องนี้ เพราะผมสังเกตุเอาจากตัวผมเองว่า ถ้าจิตที่สงบจากกิเลสลงเรื่อยๆ จะมีเรื่องราวในอดีตที่เคยจำไม่ได้ จนคิดว่าลืมไปหมดแล้วนั้น จู่ๆ ก็กลับหวนคืนมาปรากฎอีก ซึ่งมีมากมายหลายเรื่องราวเลยทีเดียว เช่น เรื่องราวตอนเด็กๆ ...คล้า่ยๆ กับว่า ในปัจจุบันนี้ การที่เราหลงๆ ลืมๆ บางเรื่องราว เพราะกิเลสพาเราไปคิดเฉพาะสิ่งที่จิตอยากรู้เท่านั้น ส่วนที่จิตไ่ม่อยากรู้จึงถูกบดบังไป

ผิดถูกประการใด กรุณาชี้แนะด้วยครับ ...ขอบคุณครับ

สิ่งที่ปรากฎให้มีการรับรู้ได้ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย จะมีลักษณะเป็นปัจจุบันเท่านั้น , ส่วนสิ่งที่ปรากฎให้มีการรับรู้ได้ทางใจนั้น จะมีลักษณะที่เป็นได้ทั้ง อดีต ปัจจุบัน และอนาคต เพราะเกิดจากการปรุงขึ้นจากสัญญา

เพราะผมสังเกตุเอาเองว่า ขณะที่จิตสงบดีแล้วระดับนึง จะไม่ค่อยมีอะไรปรากฎทางมโนทวาร (ไม่ค่อยมีสิ่งที่ต้องคิดฟุ้งซ่านไปเรื่อยๆ คือมันจะว่างๆ อยู่) แต่จะคงมีแต่ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ซึ่งเป็นปัจจุบันให้จิตเข้าไปรู้เท่านั้น

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
จักรกฤษณ์
วันที่ 9 ก.ค. 2553

ขออนุญาตสนทนาเพื่อให้หายสงสัยเพิ่มเติมนะครับ

เนื่องจาก อารมณ์ที่ปรากฏทางปัญจทวารเป็นรูป การเกิดดับของรูปต่างกับจิต

อีกทั้งรูปปรากฏได้เรื่อยๆ เมื่อ วิญญาณจิตเกิด

แต่อารมณ์ที่ปรากฏทางมโนทวาร เป็นธรรมารมณ์ เกิดดับไวกว่า

และการเกิดขึ้นซ้ำๆ ก็แตกต่างจากอารมณ์ทางปัญจทวาร

เมื่อกล่าวถึงเฉพาะอารมณ์ของสติทางมโนทวาร

จึงเป็นเรื่องของ จิตและเจตสิกเท่านั้น

(ส่วนรูปละเอียดและนิพพาน นั้น ไม่ต้องกล่าวถึง)

และไม่รวมเอาเรื่องราวบัญญัติทั้งหมดมาเป็นอารมณ์

อีกทั้งต้องเป็นอารมณ์ปัจจุบันด้วย

ในเงื่อนไขข้างต้น อ.ประเชิญ เห็นว่าไม่มีผลต่างกันหากสติจะระลึกรู้

แต่ชัดเจนเพียงใดขึ้นอยู่กับสัมปชัญญะและความเข้าใจในธรรมะเป็นสำคัญ

ถูกต้องไหมครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 9 ก.ค. 2553

สภาพธรรมะใดปรากฏกับสติ สติก็ระลึกรู้สภาพธรรมะนั้น ไม่มี

ตัวเราที่เลือก ที่จะรู้รูปทางปัญจทวาร หรือทางมโนทวาร แสดง

ให้เห็นถึงความเป็นอนัตตาของสติและอารมณ์ของสติค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
BudCoP
วันที่ 10 ก.ค. 2553

นมตฺถุ สุคตสฺส

ขอนอบน้อมพระสุคต


สวัสดี ครับ, ขอโอกาสทุกท่านเข้าร่วมสนทนาธรรมด้วยคน ครับ.

อารมณ์ที่สติระลึกรู้ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย

แตกต่างจากทางใจ ในแง่ของการเกิดดับของอารมณ์

ไม่แน่ ครับ, บางทีทางใจ ก็เป็นปัจจุบันได้, การเกิดดับ จึงเท่ากันได้ ครับ.

ดังนั้น การที่มีอารมณ์ทางใจที่สติระลึกรู้ได้ชัดเจนนั้น

ก็จะด้วยกำลังของสัญญาเจตสิก (จำอารมณ์ได้) ใช่หรือไม่ครับ

ด้วยกำลังของสัมปยุตตธรรมทั้งหมด มีสัมปชัญญะเป็นประธาน ครับ.

การที่มีสัญญามาดี จะทำให้สติเกิดได้ง่าย เพราะพระอรรถกถาจารย์ท่านว่า "สติมีสัญญาที่เสถียรเป็นเหตุใกล้ให้เกิด" (สติ ... ถิรสญฺญาปทฏฺฐานา) .

ส่วนการที่หมั่นพิจารณาอริยสัจจ์ 4 และ หมั่นทำอุปจาระ และ อัปปนาสมาธิ * ให้เกิด จะช่วยให้วิปัสสนาปัญญาคมกล้า พิจารณาธรรมะได้ปรากฎชัด เพราะพระอรรถกถาจารย์ท่านกล่าวไว้ว่า "ปัญญามีสัจจะ 4 และ สมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิด (ปญฺญา ... สมาธิปทฏฺฐานา, จตุสจฺจปทฏฺฐานา วา) " ครับ.

ส่วนกาลเวลา ที่วิปัสสนาปัญญาเข้าไปพิจารณาธรรมะนั้น ไม่ใช่ตัวระบุว่า จะพิจารณาสภาพธรรมได้ชัดหรือไม่ ครับ เพราะในสัมมสนญาณกถา ของวิสุทธิมรรค ท่านยกข้อความในปฏิสัมภิทามรรคมาแสดงไว้ มีใจความสรุป (ควรเปิดอ่านเอง เพราะผมจำข้อความมาไม่ครบ) ว่า "การที่พิจารณาขันธ์ที่เป็นอดีต อนาคต หรือ ปัจจุบันนั้น ให้พิจารณาว่า รูปในชาติที่แล้วก็ดับไปในชาติที่แล้ว ไม่มาถึงชาตินี้, รูปในชาตินี้ก็ดับไปในชาตินี้ไม่ถึงชาติหน้า, รูปในชาติหน้าก็ไม่ถึงชาติต่อไป" ครับ.

ส่วน สิ่งที่ระบุว่าจะพิจารณาแล้วปรากฎชัดหรือไม่นั่น ขึ้นอยู่กับกำลังของปัญญา, เพราะท่านกล่าวไว้ว่า "ปัญญา มีหน้าแสดงสภาวะธรรมให้ปรากฎชัดแจ้ง (ปญฺญา ... วิภวนรสา) ", ถ้าปัญญามีกำลัง สภาวะธรรมแม้หลายอสงขัยก็ปรากฎชัด ดังการเจริญวิปัสสนาก่อนบรรลุของพระโพธิสัตว์ และ การได้บุพเพนิวาสานุสสติญาณของผู้มีอภิญญา เป็นต้น ครับ.

* อนึ่ง ที่กล่าวว่า อุปจาระและอัปปนาสมาธิ นี้ เป็นปทัฏฐานของวิปัสสนา เป็นการกล่าวโดยทั่วไปที่พบในอรรถกถา และเท่าที่ค้นดูในบาลี ยังไม่พบว่า อรรถกถาแห่งใด แสดงสมาธิที่เป็น จิตตวิสุทธิ หรือ อธิจิตตสิกขา ว่าหมายถึงขณิกสมาธิเลย ครับ. อย่างไรก็ตาม เมื่อจะถือเอานัยหย่อนลงมาว่า ขณิกสมาธิก็เป็นปทัฏฐานของวิปัสสนาเช่นกัน ก็อาจพอได้ แต่จะไม่มีหลักฐานในอรรถกถา และ ฏีกายืนยัน นะ ครับ.

ด้วยความรักและปรารถนาดี ขอให้มีวิมุติหลุดพ้นด้วยกันทุกท่านทุกคน เทอญ.

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
choonj
วันที่ 10 ก.ค. 2553

ตอนนี้ผมรู้แล้วว่า ในหลายๆ ปีที่แล้วมานะ ผมมีอาการยังไง
 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
พุทธรักษา
วันที่ 11 ก.ค. 2553

สวัสดีค่ะ คุณ BudCoPขอโอกาสปรึกษาและสนทนา เพื่อความเข้าใจยิ่งขึ้น และ ขออนุญาตยกข้อความของท่านบางตอน มาเป็นประเด็นสนทนา ดังนี้ค่ะ

ส่วนการที่หมั่นพิจารณาอริยสัจจ์ 4 และ หมั่นทำอุปจาระ และ อัปปนาสมาธิ * ให้เกิดจะช่วยให้วิปัสสนาปัญญาคมกล้า พิจารณาธรรมะได้ปรากฎชัด เพราะพระอรรถกถาจารย์ท่านกล่าวไว้ว่า "ปัญญามีสัจจะ 4 และ สมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิด (ปญฺญา ... สมาธิปทฏฺฐานา, จตุสจฺจปทฏฺฐานา วา) " ครับ.
.........................
* อนึ่ง ที่กล่าวว่า อุปจาระ และ อัปปนาสมาธิ นี้ เป็นปทัฏฐานของวิปัสสนา เป็นการกล่าวโดยทั่วไปที่พบในอรรถกถา และเท่าที่ค้นดูในบาลี ยังไม่พบว่า อรรถกถาแห่งใด แสดงสมาธิที่เป็น จิตตวิสุทธิ หรือ อธิจิตตสิกขา ว่าหมายถึงขณิกสมาธิเลย ครับ. อย่างไรก็ตาม เมื่อจะถือเอานัยหย่อนลงมาว่า ขณิกสมาธิก็เป็นปทัฏฐานของวิปัสสนาเช่นกัน ก็อาจพอได้แต่จะไม่มีหลักฐานในอรรถกถา และ ฏีกายืนยัน นะ ครับ.
.........................

"ส่วนการที่หมั่นพิจารณาอริยสัจจ์ 4 และ หมั่นทำอุปจาระ และ อัปปนาสมาธิ * ให้เกิดจะช่วยให้วิปัสสนาปัญญาคมกล้า พิจารณาธรรมะได้ปรากฎชัด"
กรุณาอธิบาย....การหมั่นทำอุปจาระ และ อัปปนาสมาธิ หมายถึง หมั่นทำ อย่างไรจึงจะช่วยให้วิปัสสนาปัญญาคมกล้า.?
เพราะเท่าที่ทราบจากผู้ที่เคยฝึกสมาธิ ซึ่งเป็นสหายธรรมท่านหนึ่งท่านกล่าวว่า การฝึกสมาธิ (ไม่แน่ใจว่าเป็นสมถภาวนาหรือเปล่า) ช่วยให้ความจำดีและ ท่านผู้นั้นก็มีความจำดีจริงๆ ด้วย...โดยเฉพาะในเรื่องที่ท่านผู้นั้นสนใจคือ เรื่องของธรรมะ.โดยส่วนตัว.......ข้าพเจ้าเห็นด้วยว่า ความจำเรื่องของธรรมะได้เป็นอย่างดีนั้นเป็นปัจจัยหนึ่งในหลายๆ ปัจจัย ซึ่งเกื้อกูลต่อการอบรมเจริญปัญญา (วิปัสสนาภาวนา)
...................................
"ขณิกสมาธิก็เป็นปทัฏฐานของวิปัสสนาเช่นกัน ก็อาจพอได้"กรุณาอธิบายเพิ่มเติมได้ไหมคะ...คือ ยังไม่ค่อยเข้าใจน่ะค่ะ.
..................................
ขอขอบพระคุณ และ อนุโมทนา สำหรับธรรมทาน ทั้งทีผ่านมาและต่อไปด้วยค่ะ.

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
จักรกฤษณ์
วันที่ 11 ก.ค. 2553

ขออนุโมทนาคุณ Budcop ครับ

ขออนุญาตสอบถามอีกนิดนะครับที่ คุณ Budcop กล่าวว่า

ส่วนกาลเวลา ที่วิปัสสนาปัญญาเข้าไปพิจารณาธรรมะนั้น ไม่ใช่ตัวระบุว่า จะพิจารณาสภาพธรรมได้ชัดหรือไม่ ครับ เพราะในสัมมสนญาณกถา ของวิสุทธิมรรค ท่านยกข้อความในปฏิสัมภิทามรรคมาแสดงไว้ มีใจความสรุป (ควรเปิดอ่านเอง เพราะผมจำข้อความมาไม่ครบ) ว่า "การที่พิจารณาขันธ์ที่เป็นอดีต อนาคต หรือ ปัจจุบันนั้น ให้พิจารณาว่า รูปในชาติที่แล้วก็ดับไปในชาติที่แล้ว ไม่มาถึงชาตินี้, รูปในชาตินี้ก็ดับไปในชาตินี้ไม่ถึงชาติหน้า, รูปในชาติหน้าก็ไม่ถึงชาติต่อไป" ครับ.

ในส่วนนี้เป็น ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ใช่ไหมครับ

ต่างไปจาก กาย เวทนา และจิต อันเป็นอารมณ์ของสติที่ต้องเป็นปัจจุบันเท่านั้น

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
jintana
วันที่ 12 ก.ค. 2553

การที่เราฟังธรรมแล้วมีความสุข เป็นอารมณ์ที่มีกุศลสติ หรือเป็นเวทนาคะ

ขออภัยดิฉันยังไม่ค่อยกระจ่างเรื่องนี้

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
BudCoP
วันที่ 25 ก.ค. 2553

เรียนคุณพุทธรักษา และ คุณจักฤษณ์ :

จริงๆ ผมเขียนคำอธิบายอย่างละเอียดไว้ 2 ครั้งแล้ว ยาวมาก, แต่พิจารณาทีไร ก็รู้สึกว่า ยากไป ทุกที จึงไม่นำมาตอบ นะครับ.

ตอบสั้นๆ ว่า จำพระพุทธพจน์ และ อรรถกถา ที่ผมยกมาให้ดี แล้วค่อยๆ ศึกษาพระไตรปิฎกรวมถึงสังเกตธรรมะในชีวิตประจำวันไป จะพบสิ่งที่ผมกล่าวและค่อยๆ เข้าใจได้เอง ครับ.

ต้องขออภัย ที่ตอบสั้นเช่นนี้ ครับ, เรื่องเหล่านี้รายละเอียดมากจริงๆ ไม่แนะนำให้รีบศึกษา จะขยาดธรรมะไปได้เลยนะครับ (ยากมาก) .

ค่อยๆ เรียนไปนะ ครับ, เป็นกำลังใจให้เสมอ ครับ.

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
จักรกฤษณ์
วันที่ 27 ก.ค. 2553

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนา คุณ BudCoP ครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ