เห็นสักแต่ว่าเห็น [พาหิยสูตร]

 
khampan.a
วันที่  17 เม.ย. 2553
หมายเลข  15906
อ่าน  10,835

[เล่มที่ 44] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ 127

ความบางตอนจาก

พาหิยสูตร

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนพาหิยะ เพราะเหตุนั้นแล ท่านพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เมื่อเห็นจักเป็นสักว่าเห็น เมื่อฟังจักเป็นสักว่าฟังเมื่อทราบจักเป็นสักว่าทราบ เมื่อรู้แจ้งจักเป็นสักว่ารู้แจ้ง ดูก่อนพาหิยะท่านพึงศึกษาอย่างนี้แล ดูก่อนพาหิยะ ในกาลใดแล เมื่อท่านเห็นจักเป็นสักว่าเห็น เมื่อฟังจักเป็นสักว่าฟัง เมื่อทราบจักเป็นสักว่าทราบ เมื่อรู้แจ้งจักเป็นสักว่ารู้แจ้ง ในกาลนั้น ท่านย่อมไม่มี ในกาลใด ท่านไม่มีในกาลนั้น ท่านย่อมไม่มีในโลกนี้ ย่อมไม่มีในโลกหน้า ย่อมไม่มีในระหว่างโลกทั้งสอง นี้แลเป็นที่สุดแห่งทุกข์. ลำดับนั้นแล จิตของพาหิยทารุจีริยกุลบุตรหลุดพ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลายเพราะไม่ถือมั่นในขณะนั้นเอง ด้วยพระธรรมเทศนาโดยย่อนี้ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสอนพาหิยทารุจีริยกุลบุตรด้วยพระโอวาทโดยย่อนี้แล้ว เสด็จหลีกไป.

คำอธิบายจากอรรถกถา

แต่เมื่อพระองค์จะทรงแสดงอาการที่จะพึงศึกษา จึงตรัสคำมีอาทิว่า ทิฏฺเฐ ทิฏฺฐมตฺตํ ภวิสฺสติ เมื่อเห็นก็เป็นเพียงแต่เห็น. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทิฏฺเฐ ทิฏฺฐมตฺตํ ได้แก่ สักว่าการเห็นรูปายตนะ ด้วยจักขุวิญญาณ. อธิบายว่า เธอพึงศึกษาว่า จักขุวิญญาณเห็นซึ่งรูปในรูปเท่านั้น หาเห็นสภาพลักษณะมีอนิจจลักษณะเป็นต้นไม่ ฉันใด รูปที่เหลือจักเป็นเพียงอันเราเห็นด้วยวิญญาณที่เป็นไปทางจักขุทวารนั้นเท่านั้น. อีกอย่างหนึ่ง อธิบายว่า การรู้แจ้งซึ่งรูปในรูปด้วยจักขุวิญญาณ ชื่อว่า เห็นรูปในรูปที่เห็น.

บทว่า มตฺตา แปลว่าประมาณ. ประมาณแห่งรูปนี้ที่เห็นแล้ว เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ทิฏฐ มัตตะ อธิบายว่า จิตเป็นเพียงจักขุวิญญาณเป็นประมาณเท่านั้น. ท่านอธิบายไว้ว่า จักขุวิญญาณ ย่อมไม่กำหนัด ขัดเคือง หลงในรูปที่มาปรากฏฉันใด เราจักตั้งชวนจิตไว้โดยประมาณแห่งจักขุวิญญาณอย่างนี้ว่า ชวนจิตของเราจักเป็นเพียงจักขุวิญญาณเท่านั้น เพราะเว้นจากราคะเป็นต้น. อีกอย่างหนึ่ง รูปที่จักขุวิญญาณเห็น ชื่อว่า ทิฏฐะ. จิต ๓ ดวง คือ สัมปฏิจฉนจิต สันติรณจิตและโวฏฐัพพนจิต ที่เกิดขึ้นเหมือนอย่างนั้นนั่นแหละชื่อว่า ทิฏฐมัตตะ. พึงทราบความในข้อนี้อย่างนี้ว่า จิต ๓ ดวงนี้ ย่อมไม่กำหนัด ขัดเคือง ลุ่มหลง ฉันใด เมื่อรูปมาปรากฏ เราก็จักให้ชวนจิตเกิดขึ้นโดยประมาณสัมปฏิจฉนจิตเป็นต้นนั้นนั่นแหละ เราจะไม่ให้ก้าวล่วงประมาณนั้นเกิดขึ้นด้วยความกำหนัดเป็นต้น ฉันนั้น. ในสุตะและมุตะก็นัยนี้เหมือนกัน.

ก็บทว่า มุตํ พึงทราบคันธายตนะ รสายตนะและโผฏฐัพพายตนะกับด้วยวิญญาณ ซึ่งมีคันธายตนะ รสายตนะ และโผฏฐัพพายตนะนั้นเป็นอารมณ์. ก็ในคำว่า วิญฺญาเต วิญฺญาณมตฺตํ นี้ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ ชื่อว่า วิญญาตะ ได้แก่ อารมณ์ที่มโนทวาราวัชชนจิต แจ้งแล้ว. เมื่อรู้แจ้งอารมณ์นั้นก็เป็นอันชื่อว่า มโนทวาราวัชชนจิตรู้แจ้งแล้ว เหตุนั้น จึงชื่อว่า มีอาวัชชนจิตเป็นประมาณ. ในข้อนี้มีอธิบายดังนี้ว่า อาวัชชนจิตย่อมไม่กำหนัด ขัดเคือง ลุ่มหลง ฉันใด เราจักพักจิตโดยประมาณแห่งอาวัชชนจิตเท่านั้น ไม่ยอมให้เกิดขึ้นด้วยความกำหนัดเป็นต้น ฉันนั้น.

บทว่า เอวญฺหิ เต พาหิย สิกฺขิตพฺพํ ความว่า พาหิยะเธอพึงศึกษาโดยคล้อยตามสิกขาทั้ง ๓ ด้วยปฏิปทานี้อย่างนี้. ดังนี้นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงทรงจำแนกอารมณ์อันแตกต่าง โดยประเภทอารมณ์ ๖ พร้อมวิญญาณกาย ๖ อย่างย่อและตามความพอใจของพาหิยะ ด้วยวิปัสสนา โดยโกุฏฐาสะทั้ง ๔ มีรูปอันตนเห็นแล้วเป็นต้นแล้วจึงทรงแสดงญาตปริญญาและตีรณปริญญาในข้อนั้นแก่เธอ. อย่างไร เพราะว่า ในข้อนี้รูปารมณ์เป็นอันชื่อว่า ทิฏฐะ เพราะอรรถว่าอันจักขุ-วิญญาณพึงเห็น. ส่วนจักขุวิญญาณพร้อมวิญญาณที่เป็นไปทางจักขุทวารนั้น ชื่อว่า ทิฏฐะ เพราะอรรถว่าเห็น. แม้ทั้งสองอย่างนั้น เป็นเพียงธรรมที่เป็นไปตามปัจจัยเท่านั้น. ในข้อนี้ ใครๆ จะทำเองหรือให้ผู้อื่นทำก็หาได้ไม่. จริงอยู่ ในข้อนี้ มีอธิบายดังนี้ ว่า จักขุวิญาณนั้นชื่อว่าไม่เที่ยง เพราะมีแล้วกลับไม่มี ชื่อว่า เป็นทุกข์ เพราะถูกความเกิดขึ้นและดับไปบีบคั้น ชื่อว่า เป็นอนัตตา เพราะอรรถว่าไม่เป็นไปในอำนาจเหตุนั้น ในข้อนั้น จะจัดเป็นโอกาสของธรรมมีความกำหนัดเป็นต้นแห่งบัณฑิตได้ที่ไหน. ฯลฯ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 18 เม.ย. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ