พาหิยสูตร ว่าด้วยการตรัสถึงที่สุดทุกข์ ... วันเสาร์ ๒๙ ก.ย. ๒๕๕๐

 
บ้านธัมมะ
วันที่  24 ก.ย. 2550
หมายเลข  4906
อ่าน  5,509

สนทนาธรรมที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

พระสูตร ที่นำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ

วันเสาร์ ๒๙ ก.ย. ๒๕๕๐

เวลา ๐๙:๐๐ - ๑๒:๐๐ น.

๑๐. พาหิยสูตร

ว่าด้วยการตรัสถึงที่สุดทุกข์

จาก ... [เล่มที่ 44] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ 124



  ความคิดเห็นที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 24 ก.ย. 2550

[เล่มที่ 44] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ 124

๑๐. พาหิยสูตร

ว่าด้วยการตรัสถึงที่สุดทุกข์

[๔๗]  ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล กุลบุตรชื่อพาหิยทารุจีริยะอาศัยอยู่ที่ท่าสุปปารกะ ใกล้ฝั่งสมุทร เป็นผู้อันมหาชนสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ยำเกรง ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะและคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ครั้งนั้นแล พาหิยทารุจีริยะหลีกเร้นอยู่ในที่ลับ เกิดความปริวิตกแห่งใจอย่างนี้ว่า เราเป็นคนหนึ่งในจำนวนพระอรหันต์หรือผู้ถึงอรหัตมรรคในโลก ลำดับนั้นแล เทวดาผู้เป็นสาโลหิตในกาลก่อนของพาหิยทารุจีริยะ เป็นผู้อนุเคราะห์ หวังประโยชน์ ได้ ทราบความปริวิตกแห่งใจของพาหิยทารุจีริยะด้วยใจ แล้วเข้าไปหาพาหิยทารุจีริยะ ครั้นแล้วได้กล่าวว่า ดูก่อนพาหิยะ ท่านไม่เป็นพระอรหันต์หรือไม่เป็นผู้ถึงอรหัตมรรคอย่างแน่นอน ท่านไม่มีปฏิปทาเครื่องให้เป็นพระอรหันต์หรือเครื่องเป็นผู้ถึงอรหัตมรรค พาหิยทารุจีริยะถามว่า เมื่อเป็นอย่างนั้น บัดนี้ ใครเล่าเป็นพระอรหันต์ หรือเป็นผู้ถึงอรหัตมรรคในโลกกับเทวโลก เทวดาตอบว่า ดูก่อนพาหิยะ ในชนบททางเหนือมีพระนครชื่อว่าสาวัตถี บัดนี้ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ประทับอยู่ในพระนครนั้น ดูก่อนพาหิยะ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นแลเป็นพระอรหันต์อย่างแน่นอน ทั้งทรงแสดงธรรมเพื่อความเป็นพระอรหันต์ด้วย ลำดับนั้นแล พาหิยทารุจีริยะผู้อันเทวดานั้นให้สลดใจแล้ว หลีกไปจากท่าสุปปารกะในทันใดนั้นเอง ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ประทับอยู่ในพระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี โดยการพักแรมสิ้นราตรีหนึ่งในที่ทั้งปวง.

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 24 ก.ย. 2550

[๔๘]  ก็สมัยนั้นแล ภิกษุมากด้วยกันจงกรมอยู่ในที่แจ้ง พาหิยทารุจีริยะเข้าไปหาภิกษุทั้งหลายถึงที่อยู่ ครั้นแล้วได้ถามภิกษุเหล่านั้นว่าข้าแต่ท่านผู้เจริญทั้งหลาย บัดนี้ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ประทับอยู่ ณ ที่ไหนหนอ ข้าพเจ้าประสงค์จะเฝ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ภิกษุเหล่านั้นตอบว่า ดูก่อนพาหิยะพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้าไปสู่ละแวกบ้านเพื่อบิณฑบาต ลำดับนั้นแลพาหิยทารุจีริยะรีบด่วนออกจากพระวิหารเชตวัน เข้าไปยังพระนครสาวัตถี ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า กำลังเสด็จเที่ยวบิณฑบาตในพระนครสาวัตถีน่าเลื่อมใส ควรเลื่อมใส มีอินทรีย์สงบ มีพระทัยสงบ ถึงความฝึกและความสงบอันสูงสุด มีตนอันฝึกแล้ว คุ้มครองแล้ว มีอินทรีย์สำรวมแล้วผู้ประเสริฐแล้ว ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า หมอบลงแทบพระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยเศียรเกล้าแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดทรงแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์ ขอพระสุคตโปรดทรงแสดงธรรมที่จะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข แก่ข้าพระองค์สิ้นกาลนานเถิด.

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 24 ก.ย. 2550

[๔๙]  เมื่อพาหิยทารุจีริยะกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า ดูก่อนพาหิยะ เวลานี้ยังไม่สมควรก่อน เพราะเรายังเข้าไปสู่ละแวกบ้านเพื่อบิณฑบาตอยู่ แม้ครั้งที่ ๒ พาหิยทารุจีริยะก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ความเป็นไปแห่งอันตรายแก่ชีวิตของพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ดี ความเป็นไปแห่งอันตรายแก่ชีวิตของข้าพระองค์ก็ดี รู้ได้ยากแล ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดทรงแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์ ขอพระสุคตโปรดทรงแสดงธรรมที่จะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข แก่ข้าพระองค์ตลอดกาลนานเถิด. แม้ครั่งที่ ๒ ... แม้ครั้งที่ ๓ พาหิยทารุจีริยะก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ความเป็นไปแห่งอันตรายแก่ชีวิตของพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ดี ความเป็นไปแห่งอันตรายแก่ชีวิตของข้าพระองค์ก็ดี รู้ได้ยากแล ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดทรงแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์ ขอพระสุคตโปรดทรงแสดงธรรมเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข แก่ข้าพระองค์สิ้นกาลนานเถิด.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนพาหิยะ เพราะเหตุนั้นแล ท่านพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เมื่อรูปอันท่านเห็นแล้วจักเป็นสักว่ารูปอันท่านเห็นแล้ว เมื่อเสียงอันท่านได้ยินแล้วจักเป็นสักว่าเสียงอันท่านได้ยินแล้ว เมื่ออารมณ์ (กลิ่น รส โผฏฐัพพะ) อันท่านทราบแล้วจักเป็นสักว่าอารมณ์อันท่านทราบแล้ว เมื่อธรรมารมณ์อันท่านรู้แจ้งแล้ว จักเป็นสักว่าธรรมารมณ์อันท่านรู้แจ้งแล้ว

ดูก่อนพาหิยะท่านพึงศึกษาอย่างนี้แล ดูก่อนพาหิยะ ในกาลใดแล เมื่อรูปอันท่านเห็นแล้วจักเป็นสักว่ารูปอันท่านเห็นแล้ว เมื่อเสียงอันท่านได้ยินแล้วจักเป็นสักว่าเสียงอันท่านได้ยินแล้ว เมื่ออารมณ์ (กลิ่น รส โผฏฐัพพะ) อันท่านทราบแล้วจักเป็นสักว่าอารมณ์อันท่านทราบแล้ว เมื่อธรรมารมณ์อันท่านรู้แจ้งแล้ว จักเป็นสักว่าธรรมารมณ์อันท่านรู้แจ้งแล้ว ในกาลนั้น ท่านย่อมไม่มี ในกาลใด ท่านไม่มี ในกาลนั้น ท่านย่อมไม่มีในโลกนี้ ย่อมไม่มีในโลกหน้า ย่อมไม่มีในระหว่างโลกทั้งสอง นี้แลเป็นที่สุดแห่งทุกข์. ลำดับนั้นแล จิตของพาหิยทารุจีริยกุลบุตรหลุดพ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลายเพราะไม่ถือมั่นในขณะนั้นเอง ด้วยพระธรรมเทศนาโดยย่อนี้ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสอนพาหิยทารุจีริยกุลบุตรด้วยพระโอวาทโดยย่อนี้แล้ว เสด็จหลีกไป.

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 24 ก.ย. 2550

[๕๐]  ครั้งนั้นแล เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จหลีกไปแล้วไม่นานแม่โคลูกอ่อนขวิดพาหิยทารุจีริยะให้ล้มลงปลงเสียจากชีวิต ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเที่ยวบิณฑบาตในพระนครสาวัตถีเสด็จกลับจากบิณฑบาตในเวลาปัจฉาภัต เสด็จออกจากพระนครพร้อมกับภิกษุเป็นอันมาก ได้ทอดพระเนตรเห็นพาหิยทารุจีริยะทำกาละแล้ว จึงตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่าดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงช่วยกันจับสรีระของพาหิยทารุจีริยะยกขึ้นสู่เตียงแล้ว จงนำไปเผาเสีย แล้วจงทำสถูปไว้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลายพาหิยทารุจีริยะประพฤติธรรมอันประเสริฐเสมอกับท่านทั้งหลาย ทำกาละแล้ว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ช่วยกันยกสรีระของ พระพาหิยทารุจีริยะขึ้นสู่เตียง แล้วนำไปเผา และทำสถูปไว้ แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ได้นั่งอยู่ ณ ที่ควรข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สรีระของพาหิยทารุจีริยะ ข้าพระองค์ทั้งหลายเผาแล้ว และสถูปของพาหิยทารุจีริยะนั้นข้าพระองค์ทั้งหลายทำไว้แล้ว คติของพาหิยทารุจีริยะนั้นเป็นอย่างไร ภพเบื้องหน้าของเขาเป็นอย่างไร. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พาหิยทารุจีริยะ.เป็นบัณฑิต ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม. ทั้งไม่ทำเราให้ลำบาก เพราะเหตุแห่งการแสดงธรรม ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พาหิยทารุจีริยะปรินิพพานแล้ว . ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า ดิน น้ำ ไฟ และลม ย่อมไม่หยั่งลงในนิพพานธาตุใด ในนิพพานธาตุนั้น ดาวทั้งหลายย่อมไม่สว่าง พระอาทิตย์ย่อมไม่ปรากฏ พระจันทร์ย่อมไม่สว่าง ความมืดย่อมไม่มี ก็เมื่อใด พราหมณ์ชื่อว่าเป็นมุนี เพราะรู้ (สัจจะ ๔) รู้แล้วด้วยตน เมื่อนั้น พราหมณ์ ย่อมหลุดพ้นจากรูปและอรูป จากสุขและทุกข์.

จบพาหิยสูตรที่ ๑๐

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 24 ก.ย. 2550

ข้อความบางตอนจาก ...

อรรถกถาพาหิยสูตร

บทว่า สิกฺขิตพฺพํ ความว่า พึงทำการศึกษาโดยสิกขาแม้ทั้ง ๓ มีอธิศีลสิกขาเป็นต้น แต่เมื่อพระองค์จะทรงแสดงอาการที่จะพึงศึกษา จึงตรัสคำมีอาทิว่า ทิฏฺเฐ ทิฏฺฐมตฺตํ ภวิสฺสติ เมื่อเห็นก็เป็นเพียงแต่เห็น บรรดาบทเหล่านั้น

บทว่า ทิฏฺเฐ ทิฏฺฐมตฺตํ ได้แก่ เมื่อรูปายตนะ อันจักขุวิญญาณเห็นแล้ว. อธิบายว่า เธอพึงศึกษาว่า จักขุวิญญาณเห็นซึ่งรูปในรูปเท่านั้น หาเห็นสภาพลักษณะมีอนิจจลักษณะเป็นต้นไม่ ฉันใด รูปที่เหลือจักเป็นเพียงอันเราเห็นด้วยวิญญาณที่เป็นไปทางจักขุทวารนั้นเท่านั้น. อีกอย่างหนึ่ง อธิบายว่า การรู้แจ้งซึ่งรูปในรูปด้วยจักขุวิญญาณ ชื่อว่า เห็นรูปในรูปที่เห็น

บทว่า มตฺตา แปลว่า ประมาณ ประมาณแห่งรูปนี้ที่เห็นแล้ว เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ทิฏฐมัตตะ. อธิบายว่า จิตเป็นเพียงจักขุวิญญาณเป็นประมาณเท่านั้น ท่านอธิบายไว้ว่า จักขุวิญญาณ ย่อมไม่กำหนัด ขัดเคือง หลงในรูปที่มาปรากฏ ฉันใด เราจักตั้งชวนจิตไว้โดยประมาณแห่งจักขุวิญญาณอย่างนี้ว่า ชวนจิตของเราจักเป็นเพียงจักขุวิญญาณเท่านั้น เพราะเว้นจากราคะ เป็นต้น

อีกอย่างหนึ่ง รูปที่จักขุวิญญาณเห็น ชื่อว่า ทิฏฐะ จิต ๓ ดวงคือสัมปฏิจ-ฉนจิต สันติรณจิตและโวฏฐัพพนจิต ที่เกิดขึ้นเหมือนอย่างนั้นนั่นแหละชื่อว่า ทิฏฐมัตตะ พึงทราบความในข้อนี้อย่างนี้ว่า จิต ๓ ดวงนี้ ย่อมไม่กำหนัด ขัดเคือง ลุ่มหลง ฉันใด เมื่อรูปม้าปรากฏ เราก็จักให้ชวนจิตเกิดขึ้นโดยประมาณสัมปฏิจฉนจิตเป็นต้นนั้นนั่นแหละ เราจะไม่ให้ก้าวล่วงประมาณนั้นเกิดขึ้นด้วยความกำหนัดเป็นต้น ฉันนั้น ในสุตะและมุตะก็นัยนี้เหมือนกัน

ก็บทว่า มุตํ พึงทราบคันธายตนะ รสายตนะและโผฏฐัพพายตนะกับด้วยวิญญาณ ซึ่งมีคันธายตนะ รสายตนะ และโผฏฐัพพายตนะนั้นเป็นอารมณ์ ก็ในคำว่า วิญฺญาเต วิญฺญาตมตฺตํ นี้ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ ชื่อว่า วิญญาตะ ได้แก่ อารมณ์ที่มโนทวาราวัชชนจิต แจ้งแล้ว. เมื่อรู้แจ้งอารมณ์นั้นก็เป็นอันชื่อว่า มโนทวาราวัชชนจิตรู้แจ้งแล้ว เหตุนั้น จึงชื่อว่า มีอาวัชชนจิตเป็นประมาณ. ในข้อนี้มีอธิบายดังนี้ว่า อาวัชชนจิตย่อมไม่กำหนัด ขัดเคือง ลุ่มหลง ฉันใด เราจักพักจิตโดยประมาณแห่งอาวัชชนจิตเท่านั้น ไม่ยอมให้เกิดขึ้นด้วยความกำหนัดเป็นต้น ฉันนั้น.

บทว่า เอวญฺหิ เต พาหิย สิกฺขิตพฺพํ ความว่า พาหิยะเธอพึงศึกษาโดยคล้อยตามสิกขาทั้ง ๓ ด้วยปฏิปทานี้อย่างนี้

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 24 ก.ย. 2550

ดังนี้นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงทรงจำแนกอารมณ์อันแตกต่าง โดยประเภทอารมณ์ ๖ พร้อมวิญญาณกาย ๖ อย่างย่อและตามความพอใจของพาหิยะ ด้วยวิปัสสนา โดยโกฏฐาสะทั้ง ๔ มีรูปอันตนเห็นแล้วเป็นต้นแล้วจึงทรงแสดงญาตปริญญาและตีรณปริญญาในข้อนั้นแก่เธอ อย่างไร เพราะว่า ในข้อนี้รูปารมณ์เป็นอันชื่อว่า ทิฏฐะ เพราะอรรถว่าอันจักขุวิญญาณพึงเห็น ส่วนจักขุวิญญาณพร้อมวิญญาณที่เป็นไปทางจักขุทวารนั้น ชื่อว่า ทิฏฐะ เพราะอรรถว่าเห็น. แม้ทั้งสองอย่างนั้น เป็นเพียงธรรมที่เป็นไปตามปัจจัยเท่านั้น. ในข้อนี้ ใครๆ จะทำเองหรือให้ผู้อื่นทำก็หาได้ไม่. จริงอยู่ ในข้อนี้ มีอธิบายดังนี้ ว่า จักขุวิญาณนั้นชื่อว่าไม่เที่ยง เพราะมีแล้วกลับไม่มี ชื่อว่า เป็นทุกข์ เพราะถูกความเกิดขึ้นและดับไปบีบคั้น ชื่อว่า เป็นอนัตตา เพราะอรรถว่าไม่เป็นไปในอำนาจเหตุนั้น ในข้อนั้น จะจัดเป็นโอกาสของธรรมมีความกำหนัดเป็นต้นแห่งบัณฑิตได้ที่ไหน

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 24 ก.ย. 2550

พึงทราบวินิจฉัยแม้ในสุตะเป็นต้น บัดนี้ เพื่อจะทรงแสดงปหานปริญญาพร้อมมูลเหตุเบื้องสูง แก่บัณฑิตผู้ตั้งอยู่ในญาตปริญญาและตีรณปริญญา จึงเริ่มคำมีอาทิว่า ยโต โข เต พาหิย ดังนี้ เป็นต้น ด้วยการหยั่งรู้สภาพที่ไม่วิปริต ในกาลนั้นหรือเพราะเหตุนั้น เธอจักไม่มีพร้อมด้วยกิเลสมีราคะเป็นต้น ที่เนื่องด้วยรูปที่เธอเห็นแล้วเป็นต้น เธอจักเป็นผู้ไม่กำหนัด ขัดเคือง หรือลุ่มหลง หรือจักไม่เป็นผู้เนื่องกับรูปที่เธอเห็นแล้วเป็นต้นนั้น เพราะละราคะเป็นต้นได้แล้ว

บทว่า ตโต ตฺวํ พาหิย น ตตฺถ ความว่า ในกาลใดหรือเพราะเหตุใดเธอจักไม่เป็นผู้กำหนัดเพราะราคะนั้น ขัดเคืองเพราะโทสะ หรือลุ่มหลงเพราะโมหะ ในกาลนั้นหรือเพราะเหตุนั้น เธอจักไม่มีในรูปที่เห็นแล้วเป็นต้นนั้น หรือเมื่อรูปนั้นที่เห็นแล้ว หรือเสียงและอารมณ์ที่ทราบแล้วเธอจักไม่เป็นผู้ข้องตั้งอยู่ด้วยตัณหามานะและทิฏฐิว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา ด้วยคำเพียงเท่านี้ พระองค์ทรงให้ปหานปริญญาถึงที่สุดแล้วแสดงขีณาสวภูมิ

บทว่า ตโต ตฺวํ พาหิย เนวิธ นหุรํ น อุภยมนฺตเรน ความว่า พาหิยะ ในกาลใด เธอจักไม่เป็นผู้เกี่ยวเนื่องในรูปที่เห็นแล้วเป็นต้นนั้น ด้วยกิเลสมีราคะเป็นต้นนั้น ในกาลนั้นเธอจักไม่มีในโลกนี้ ในโลกหน้าและในโลกทั้งสอง

บทว่า เอเสวนฺโต ทุกฺขสฺส ความว่า จริงอยู่ ในข้อนี้ มีอธิบายเพียงเท่านี้ ว่า ก็ที่สุด เขตกำหนด และความหมุนเวียนแห่งกิเลส ทุกข์และวัฏทุกข์เท่านี้

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 24 ก.ย. 2550

บทว่า รูปา ได้แก่ รูปธรรม ด้วยบทว่า รูปา นั้น เป็นอันท่านถือเอาปัญจโวการภพและเอกโวการภพ

บทว่า อรูปา ได้แก่อรูปธรรม ด้วยบทว่า อรูปา นั้น เป็นอันท่านถือเอาอรูปภพ เพราะไม่เจือปนกับรูปที่เรียกว่า จตุโวการภพก็มี

บทว่า สุขทุกฺขา ความว่า จากวัฏฏะแม้ที่มีทั้งสุขทั้งทุกข์อันเกิดขึ้นในที่ทุกแห่ง อีกอย่างหนึ่ง

บทว่า รูปา ได้แก่ เพราะปฏิสนธิในรูปโลก

บทว่า อรูปา ได้แก่ เพราะปฏิสนธิในอรูปโลก

บทว่า สุขทุกฺขา ได้แก่ เพราะปฏิสนธิในกามาวจรภูมิ จริงอยู่ กามภพมีทั้งสุขและทุกข์เจือปนกัน พราหมณ์นั้นย่อมพ้นจากวัฏฏะแม้ทั้งสิ้นนั้นโดยสิ้นเชิงทีเดียว ด้วยประการฉะนี้แล

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
natthaset
วันที่ 25 ก.ย. 2550

เป็นพระธรรมที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ดีแล้ว งดงามที่สุดครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
Ven.Sovath
วันที่ 25 ก.ย. 2550

i am very happy to join this web. it give me a lot of benefit in understanding the teahcing of the lord Buddha. Thanks for the dhammahome

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 18 พ.ค. 2552

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
suwit02
วันที่ 18 พ.ค. 2552

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
pornpaon
วันที่ 18 พ.ค. 2552

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
vnt
วันที่ 4 ต.ค. 2554

ขออนุโมทนาที่ท่านให้ธรรมะ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
chatchai.k
วันที่ 18 เม.ย. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
chatchai.k
วันที่ 21 มิ.ย. 2564
 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
Sea
วันที่ 19 ก.พ. 2565

ขอนอบน้อมแด่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น พระธรรมที่ทรงแสดงเป็นหนทางซึ่งไปถึงได้


ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธ พระธรรม และพระอริยสงฆ์ เป็นที่พึ่ง

 
  ความคิดเห็นที่ 18  
 
chatchai.k
วันที่ 19 ก.พ. 2565

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ