วิญญาณจิตรู้อารมณ์ที่ไหน-รูปเกิดที่ไหน

 
Sam
วันที่  20 ม.ค. 2553
หมายเลข  15197
อ่าน  2,865

ขณะที่จิตเห็นเกิดขึ้นนั้น ผมเข้าใจว่าจักขุวิญญาณจิตเกิดขึ้นรู้รูปารมณ์ที่จักขุปสาทรูป จึงอยากขอเรียนถามครับว่า วรรณรูปที่ทำให้มีรูปารมณ์นั้น เกิดขึ้นที่จักขุปสาทรูปด้วยหรือไม่ และทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย นั้น รูปที่เป็นอารมณ์ของวิญญาณจิตแต่ละทวารนั้น เกิดขึ้นที่ปสาทรูปด้วยหรือไม่ครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
prachern.s
วันที่ 20 ม.ค. 2553

ก่อนอื่นควรทราบว่า รูปที่เกิดขึ้นไม่ได้เพียงรูปเดียว ต้องมีรูปเกิดขึ้นหลายรูปเกิดเป็นกลุ่ม (กลาป) อย่างน้อยต้องมี ๘ รูป และทุกๆ กลุ่มก็มีวรรณรูปอยู่ด้วย แต่วรรณรูปจะเป็นอารมณ์ของจักขุวิญญาณเท่านั้น วรรณรูปทีเกิดพร้อมกับจักขุปสาทรูปอันเป็นวัตถุของจักขุวิญญาณ ไม่เป็นอารมณ์ของจักขุวิญญาณและทวารอื่นๆ ก็นัยเดียวกัน ทุกกลุ่มของรูปต้องมีวรรณรูปด้วย

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
Sam
วันที่ 20 ม.ค. 2553

ขอบคุณท่านอาจารย์ prachern.s ครับสำหรับคำอธิบาย

ที่ผมสงสัยนั้น ไม่ใช่วรรณรูปที่จักขุปสาทครับ แต่เป็นวรรณรูปที่เป็นรูปารมณ์ (ขออนุญาตใช้คำไทยอธิบายนะครับ) เวลาที่เห็นสีนั้น เสมือนว่าสีนั้นอยู่ไกลบ้างหรือใกล้บ้าง และเสมือนว่าอยู่นอกตัว (นอกตา) แต่เมื่อพระธรรมแสดงไว้ว่าจิตเห็นเกิดขึ้นเห็นสีที่ตา และสภาพที่ไกลหรือใกล้นั้นผมคิดว่าเป็นบัญญัติ จึงเกิดความสงสัยครับว่า สีที่เห็นที่ตานั้นเกิดที่ตาด้วยหรือไม่
สำหรับทางกายนั้น กระทบสัมผัสตรงไหน ก็รู้สึกเย็น-ร้อน อ่อน-แข็ง ตึง-ไหวตรงนั้น ซึ่งผมคิดว่ารูปที่รู้ทางกาย (มหาภูตรูป) เกิดขึ้นกระทบที่กายปสาทะโดยตรง ไม่เหมือนกับทางตากับทางหู (ส่วนทางจมูกกับทางลิ้นนั้น ไม่ค่อยแน่ใจ) หากเข้าใจผิดอย่างไร ขอความกรุณาท่านผู้รู้ช่วยแนะนำด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
choonj
วันที่ 21 ม.ค. 2553

ผมเข้าใจว่า วรรณรูปไม่ได้เกิดขึ้นที่จักขุปสาทรูป รูปทางทวารอื่นรวมทั้งวรรณรูปมี่อยู่ทั่วไป แต่เมื่อมี เรียกว่าบังเอิญกระทบปสาทรูป เพราะปสาทรูปเกิดอยู่ จึงเป็นปัจจัยให้เกิดและเป็นทีเกิดของ จักขุวิญญาน จำได้ว่าเป็นปุเรชาตปัจจัย (อาจจำผิด) ทวารอื่นๆ ก็ในนัยเดียวกัน ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
prachern.s
วันที่ 21 ม.ค. 2553
เรียนความเห็นที่ ๒ การจำแนกรูปโดยนัยโอกาส สีมีในที่ไกล และมีในที่ใกล้ แต่สีที่เห็นนั้นกระทบที่ตา แต่สีไม่ได้มากระทบตาโดยตรง ซึ่งจากกลิ่น รส โผฏฐัพพะ กลิ่นต้องมากระทบกับจมูกจึงรู้ได้ แต่สีไม่ใช่ย่อมปรากฏแม้ในที่ไกลได้ ดังนั้น สีที่เห็นไม่ใช่เกิดที่ตาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
majweerasak
วันที่ 21 ม.ค. 2553

ไม่แน่ใจว่าพอจะช่วยให้คุณ Sam หายสงสัยได้หรือป่าวนะครับเคยอ่านเรื่อง โคจรคาหิกรูป กับ อโคจรคาหิกรูป ในพระอภิธัมมัตถสังคหะ ปริจเฉทที่ 6 รูปสังคหวิภาค หน้า 63-64 พอจะสรุปได้ว่า โคจรคาหิกรูป บางแห่งเรียก โคจรัคคาหิกรูป บางแห่งเรียก โคจรัคคหกรูป แปลว่า รูปที่รับปัญจารมณ์ได้ องค์ธรรมได้แก่ ปสาทรูป ๕
อโคจรคาหิกรูป แปลว่า รูปที่รับปัญจารมณ์ไม่ได้ องค์ธรรมได้แก่ รูปที่เหลือ ๒๓ โคจรคาหิกรูป ยังจำแนกได้ ๒ อย่าง คือ
๑. อสัมปัตตโคจรคาหิกรูป หมายความว่า เป็นรูปที่สามารถรับอารมณ์ที่ ยังไม่มาถึงตนได้ มี ๒ รูป ได้แก่ จักขุปสาทรูป และโสตปสาทรูป
๒. สัมปัตตโคจรคาหิกรูป หมายความว่า เป็นรูปที่สามารถรับได้แต่อารมณ์ ที่มาถึงตนมี ๓ รูป ฆานปสาทรูป ชิวหาปสาทรูป และกายปสาทรูป

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
Sam
วันที่ 22 ม.ค. 2553

ขอขอบพระคุณทุกท่านอย่างสูงครับ ที่ได้ช่วยให้ความกระจ่างมากขึ้น ซึ่งขณะนี้ เพียงเข้าใจถึงความแตกต่างระหว่างการรู้อารมณ์ทางตาและหู กับทางจมูก ลิ้นและกาย ส่วนรายละเอียดการรู้อารมณ์โดยที่ปสาทรูปไม่ได้กระทบกับรูปโดยตรง ในทางตาและทางหูนั้น ผมคงต้องไปศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม และหากยังมีข้อสงสัยที่พอจะสรุปเป็นประเด็นได้ จะขออนุญาตกลับมาถามท่านผู้รู้ต่อไปครับ
ชีวิตประจำวันที่ดูเหมือนธรรมดาที่สุด คือการเห็น และการได้ยิน ในความเป็นจริงแล้วมีความละเอียดลึกซึ้งสุดประมาณ หากพระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดงพระธรรมไว้โดยละเอียดแล้ว ไม่มีทางเลยที่เราจะเข้าใจชีวิตตามความเป็นจริง

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
พุทธรักษา
วันที่ 22 ม.ค. 2553

หากพระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดงพระธรรมไว้โดยละเอียดแล้ว ไม่มีทางเลยที่เราจะเข้าใจชีวิตตามความเป็นจริง

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
สามารถ
วันที่ 19 ก.พ. 2553

ผมมีความเห็นว่า สีมีอยู่ทุกๆ ที่ ทุกหนทุกแห่งตามปัจจัยตามธรรมชาติครับ
(ที่แคบ, ที่เล็ก, ที่โล่ง, ที่ใกล้, ที่ไกล, ที่ลึก, ที่ตื้น, ที่มืด ,ที่สลัว, ที่สว่าง,หรือที่เราเรียกสถานที่นั้น มีความเป็นอยู่อย่างไร ก็ย่อมมีความเป็นอยู่อย่างนั้น มีคนอาศัยหรือไม่มีคนอาศัยหรือไม่ก็ไม่สำคัญ พื้นดินบนโลกหรือบนดวงจันทร์ก็มีความเป็นอยู่อย่างนั้นตามปัจจัย)
แต่การที่ปรากฎอยู่ก็เพราะการทำกิจของจักขุวิญญาณที่มีธรรมชาติรู้ได้ในลักษณะสีนั้นดังนั้น การที่มี "สิ่งที่ปรากฎทางตา" ปรากฎ เป็นปัจจัยจากการมีจักขุวิญญาณ
คำกล่าวที่ว่า "มีรูปมากระทบจักขุประสาทรูป" นั้น ผมมีความเห็นว่าหมายความว่า มีผัสสะระหว่างสีและเห็นบนประสาทรูป มีจักขุวิญญาณเกิด (ที่ประสาทรูป) รูปคือวรรณธาตุ จึงเกิดการมีอยู่ร่วมกันของธรรมทั้งสอง (ผัสสะ) คือสีและเห็น (อันมีจักขุประสาทรูปเป็นที่อาศัย) จึงมีขึ้น มีการลืมตาตลอดเวลาและแสงสีแสงสว่างของสิ่งต่างๆ ก็ม๊ทั้งวัน แสงย่อมส่องตาบ้าง แต่ก็ไม่ได้เห็นตลอดเวลา เพราะจักขุวิญญาณไม่มีหากจะกล่าวว่าแสงสีเหล่านั้นกำลังกระทบจักขุประสาทรูปอยู่ (ประสาทรูปนี้ไม่ได้หมายถึงประสาทตา/ Obtic nerve แต่เป็นประสาทรูปที่พระพุทธองค์บัญญัติไว้) ก็คงไม่ถูกต้อง เพราะหนึ่งจักขุประสาทรูปก็ไม่ได้มีตลอดเวลา จะเกิดมีก็เมื่อจักขุวิญญาณเป็นปัจจัยหรือวรรณธาตุที่แรงเป็นปัจจัย
ลักษณะเช่นนี้ (แสงส่องตา) จะเรียกว่า "คือการมีรูปมากระทบจักขุประสาทรูป" คงไม่ถูกต้อง แต่ผมมีความเห็นว่าหมายถึง มีผัสสะระหว่างสีและเห็นบนประสาทรูป (เมื่อทั้งสามเกิดที่เดียวกันก็จึงเรียกได้ว่ามีรูปมากระทบประสาทรูปได้ แต่เมื่อไม่มีจิตเห็นเกิด ก็ไม่มีรูป ก็ไม่มีประสาทะ ก็ไม่มีผัสสะ ก็ไม่มีการอยู่ร่วมกัน ก็ไม่มีการใช้คำว่า "กระทบ" ระหว่างอะไร กับอะไร) ท่านอื่นมีความเห็นว่าอย่างไรครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
wannee.s
วันที่ 21 ก.พ. 2553

ขออนุโมทนาคำถามของคุณ Sam และในกุศลจิตของทุกๆ ท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
Sam
วันที่ 21 ก.พ. 2553

เรียนความคิดเห็นที่ ๑๐ ครับ

เท่าที่ผมศึกษาและจำได้ในขณะนี้ จักขุปสาทรูปเป็นกลุ่มของรูปที่มีกรรมเป็นสมุฏฐาน ซึ่งจะเกิดขึ้นทุกอนุขณะของจิตทุกดวงครับ นอกจากนี้ ในขณะที่จักขุวิญญาณจิตเกิดขึ้นทำกิจเห็นที่จักขุปสาทะ ขณะนั้นจักขุปสาทะเป็นจักขุวัตถุ แต่ขณะที่จิตเกิดขึ้นทำกิจที่อื่นเช่นที่หทยวัตถุ จักขุปสาทะก็ยังมีอยู่ (ยังเกิดดับอยู่) แต่ไม่ได้เป็นจักขุวัตถุครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
สามารถ
วันที่ 23 ก.พ. 2553

เรียนคุณ K ครับ
อยากให้ช่วยอธิบายข้อความที่ว่า
"...ขณะที่จิตเกิดขึ้นทำกิจที่อื่นเช่นที่หทยวัตถุ จักขุปสาทะก็ยังมีอยู่ (ยังเกิด - ดับอยู่) แต่ไม่ได้เป็นจักขุวัตถุครับ ..." ครับ (เนื่องจากเป็นความรู้ใหม่ครับ) ด้วยผมเข้าใจว่าประสาทะ เช่น จักขุประสาทะที่เราสนทนา เป็นต้น จะเกิดขึ้นเมื่อมีปัจจัย คือ มีวรรณธาตุที่สมควรแก่การเป็นวิบากกระทบ หรือ มีจิตเห็นเกิดขึ้น ครับผมจึงสงสัยว่า ที่ว่า "จักขุประสาทะก็ยังมีอยู่ (ยังเกิดดับอยู่) " นัั้นเป็นอย่างไรครับ, ที่ว่ามีอยู่และเกิดดับอยู่นั้น ไม่ได้ปรากฎแก่บุคคลใช่หรือไม่ครับ (ในบุคคลที่สามารถประจักษ์ประสาทรูปได้) ขอรบกวนครับ
ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
Sam
วันที่ 23 ก.พ. 2553

เรียน ความคิดเห็นที่ ๑๓ ครับ

จักขุปสาทรูป มีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ แต่ในวิถีจิตทางจักขุทวารนั้นมีจักขุวิญญาณจิต (จิตเห็น) เพียงดวงเดียวเท่านั้นที่เกิดที่จักขุปสาทรูป ส่วนจิตอื่นๆ ในวิถีจิตนั้น เกิดที่หทยวัตถุ ดังนั้น ขณะที่จิตเกิดที่หทยวัตถุดังที่กล่าวแล้วนั้น จักขุปสาทรูปอันเป็นที่เกิดของจิตเห็นก็ยังไม่ดับจนกว่าจะมีอายุ ๑๗ ขณะจิตครั
นอกจากนี้ ยังมีจักขุปสาทรูปเกิดขึ้นในทุกอนุขณะของจิตทุกดวง จนกว่ากรรมจะไม่เป็นสมุฏฐานให้จักขุปสาทรูปเกิดขึ้น (ตาบอด) หรือก่อนทีจุติจิตจะเกิด ๑๗ ขณะ จักขุปสาทรูปก็ไม่เกิดขึ้น และจักขุปสาทรูปที่เกิดขึ้นมากมายนั้น เมื่อรูปใดอายุครบ ๑๗ ขณะจิต ก็จะดับไปทันที ไม่ว่าจะได้ทำหน้าที่เป็นจักขุวัตถุหรือไม่
สำหรับการมีอยู่ของจักขุปสาทรูปนั้น ผมหมายถึงมีอยู่แต่ไม่ได้ปรากฎครับ คือมีอยู่เพราะรูปนั้นยังไม่ดับ ซึ่งเป็นเพียงการเข้าใจตามพระธรรมที่ทรงแสดงไว้
ส่วนการพิจารณาธรรมะในชีวิตประจำวันนั้น ธรรมะใดไม่ปรากฎ ย่อมไม่เป็นอารมน์ที่สติจะระลึกรู้ลักษณะของเขาได้ จึงไม่ควรใส่ใจ และอาจกล่าวได้ว่า แม้มีแต่หากไม่ปรากฎ ก็คือไม่มี คือไม่เป็นอารมณ์ของสติและปัญญานั่นเองครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
สามารถ
วันที่ 24 ก.พ. 2553

ขอขอบคุณ คุณ K ครับ ดังนั้นที่เรากล่าวว่า "มีรูปมากระทบจักขุประสาทรูป" นั้นประสาทรูปก็เสมือนมีเพียงครั้งเดียวในโลกแล้วหมดไปแก่บุคคล (เนื่องจากไม่ปรากฎให้รู้ได้อีก) (ในบุคคลที่สามารถประจักษ์ประสาทรูปได้) ใช่หรือไม่ครับ
และในส่วนของสติปัญญาที่รู้การกระทบของ สี และ เห็น (ผัสสะ) นั้นจะมีลักษณะเป็นอย่างไรครับ และขอคำอธิบาย "การเกิดขึ้นของประสาทรูปของทุกอนุขณะของจิตทุกดวง" ครับขอบพระคุณครับ
ขอนี้เรียนถามคุณ K และผู้รู้ทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
Sam
วันที่ 24 ก.พ. 2553

เรียน ความคิดเห็นที่ ๑๕ ครับ

โดยปริยัติ ซึ่งเป็นการรู้ตามพระธรรมที่ทรงแสดง จักขุปสาทรูปมีอยู่ คือ เกิดดับอยู่ตลอดเวลา เว้นคนตาบอด และขณะก่อนตาย แต่โดยปฏิบัติ ซึ่งเป็นการระลึกรู้ลักษณะของธรรมะที่กำลังปรากฎนั้น จักขุปสาทรูปไม่ปรากฎกับบุคคลโดยทั่วไปครับ เพราะแม้ขณะจิตเห็นเกิด สิ่งที่ปรากฎเป็นอารมณ์คือวรรณรูป ไม่ใช่จักขุปสาทะครับ
สำหรับปัญญาและสติที่ระลึกรู้ลักษณะของการเห็น และสิ่งที่ปรากฎทางตานั้นเป็นปัญญาขั้นปฏิบัติซึ่งเกิดขึ้นพร้อมสติ (ไม่ใช่เรา) ระลึกรู้ลักษณะของการเห็นที่เป็นนามธรรม และลักษณะของสิ่งที่ปรากฎทางตาที่เป็นรูปธรรม ซึ่งไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา และไม่ใช่สัตว์ หรือสิ่งของใดๆ
ส่วนการเกิดขึ้นของจักขุปสาทรูป และรูปที่มีกรรมเป็นสมุฏฐานให้เกิดขึ้นนั้น จะเกิดขึ้นทุกอนุขณะของจิต ได้แก่ อุปาทขณะ ขณะที่จิตเกิด ฐีติขณะ ขณะที่จิตดำรงอยู่ และภังคขณะ ขณะที่จิตดับ ซึ่งชีวิตในขณะหนึ่งนั้น มีจิตเพียงดวงหนึ่งเกิดขึ้น ดำรงอยู่ แล้วดับไปอย่างรวดเร็ว แล้วจิตดวงต่อไปก็เกิดขึ้นเป็น ๓ อนุขณะ (เกิดขึ้น ดำรงอยู่ แล้วดับไป) และเป็นเช่นนี้ต่อไป ต่อไป ส่วนรูปที่มีกรรมเป็นสมุฏฐาน เช่น ปสาทรูป ๕ และหทยรูป ก็เกิดดับอยู่ตลอดเวลา ดำรงความเป็นบุคคลนี้จนกว่ากรรมจะทำให้เป็นอย่างอื่นไปครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
พุทธรักษา
วันที่ 24 ก.พ. 2553

ขออนุโมทนาค่ะ
ขอเรียนถามคุณ K เพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจเพิ่มขึ้น ดังนี้ค่ะ
๑. หมายความว่า "รูปที่เป็นกลุ่ม-รวมกันแล้วบัญญัติว่าเป็นร่างกาย" (แม้แต่ เล็บ-ผม-เซลที่ตายแล้วทั้งหมด) เกิด-ดับอยู่ตลอดเวลา ใช่ไหมคะ.?
๒. เมื่อ สิ่งที่บัญญัติเรียกว่า "คน และ สัตว์เดรัจฉาน" ตายแล้ว คือ ไม่มีใจครองรูปที่เรียกว่าร่างกายของคน และ สัตว์ "ทุกๆ รูป" ก็ยังคงเกิด-ดับ...แม้จะกลายเป็นฝุ่นก็ยังเกิดดับต่อไป ใช่ไหมคะ.?

 
  ความคิดเห็นที่ 18  
 
Sam
วันที่ 24 ก.พ. 2553

เรียน ความคิดเห็นที่ ๑๗ ครับ

๑. รูปที่รวมกันแล้วบัญญัติเป็นร่างกาย มีทั้งรูปที่เกิดจากกรรม จิต อุตุ และอาหารครับ และรูปธรรมทั้งหลาย เกิด-ดับ และเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ด้วยความเป็นอนัตตา แต่การจะประจักษ์การเกิด-ดับได้ ก็ด้วยวิปัสนาญาณ ซึ่งเป็นผลจากการระลึกเฉพาะตรงลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฎทีละทวาร ทั่วทุกทวารแล้วครับ

๒. สิ่งมีชีวิตที่ตายแล้ว และรูปที่ไม่มีใจครอง เป็นรูปที่มีอุตุเป็นสมุฏฐาน และก็ไม่พ้นความไม่เที่ยง (เกิด-ดับ) เป็นทุกข์ (เปลี่ยนแปลง) และเป็นอนัตตา (ไม่ใชสัตว์หรือสิ่งของ ควบคุมไม่ได้ และเป็นไปตามปัจจัย) ครับ

ขออนุญาตเพิ่มเติมครับว่า ไตรลักษณ์เป็นสามัญลักษณะของสังขารธรรมทั้งปวง ซึ่งรวมไปถึงรูปทั้งหมด แต่ก่อนการประจักลักษณะของไตรลักษณ์นั้น ปัญญาต้องมีความเข้าใจในลักษณะของรูปที่เป็นรูปธรรมตามที่ทรงแสดงไว้ และไม่สับสนกับคำว่ารูปที่สื่อความหมายถึงบัญญัติครับ เช่นเมื่อกล่าวว่า ผม ขน เล็บ เป็นบัญญัติที่ไม่มีภาวลักษณะ แต่รูปธรรมที่ปรากฎเมื่อเห็น ผม ขน เล็บ คือวรรณรูป ซึ่งไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตาครับ (ทางทวารอื่นๆ ก็โดยนัยเดียวกัน)

 
  ความคิดเห็นที่ 19  
 
สามารถ
วันที่ 24 ก.พ. 2553

เรียนถามคุณ K และทุกท่าน
ในคำถามของคุณ พุทธรักษา "...รูปที่เรียกว่าร่างกายของคน และ สัตว์ "ทุกๆ รูป" ก็ยังคงเกิด-ดับ...แม้จะกลายเป็นฝุ่น...ก็ยังเกิดดับต่อไป ใช่ไหมคะ.?" การเกิดดับนี้ควรจะหมายถึงลักษณะของ "ลักขณรูป" ใช่หรือไม่ครับ เพราะหากเรากล่าวถึงการเกิดดับอย่างรวดเร็วของอารมณ์และสิ่งที่รู้อารมณ์ (จิต) นั้น การเกิดดับของรูปเหล่านี้ การเสื่อมของรูปเหล่านี้ไม่เป็นอย่างนั้น เพราะไม่ใช่โลกขอรบกวนทุกท่านครับ
ขอบพระคุณครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 20  
 
พุทธรักษา
วันที่ 24 ก.พ. 2553

เข้าใจขึ้นแล้วค่ะขอบพระคุณสำหรับคำอธิบายที่ชัดเจน และขออนุโมทนาด้วยค่ะ.

 
  ความคิดเห็นที่ 21  
 
paderm
วันที่ 24 ก.พ. 2553

เรียนความเห็นที่ 19 รูปคือสภาพธรรมที่ไม่รู้อะไร และทื่สำคัญเกิดขึ้นและดับไป ไม่ว่ารูปนั้นจะเป็นอารมณ์ของจิตหรือไม่เป็นอารมณ์ของจิตก็ตาม สภาพธรรมใดก็ตามที่เกิดขึ้นและดับไป แตกสลายไป ไม่เที่ยงชื่อว่าโลกครับ รูปก็ไม่เที่ยง มีความแตกไปเป็นธรรมดาจึงเป็นโลก รูปกลาป ต้องมีลักขณรูป ทั้ง 4 คือ เมื่อมีอุปจยะ คือ การเกิดของรูป แล้วก็ต้องมีสันตติ คือ ความสืบต่อจาก การเกิดนั้นเพราะรูปนั้นยังไม่ดับ และเมื่อพิจารณาถึงลักษณะของสภาพธรรม รูป เป็นสังขตธรรมต้องมีการเกิดดับ (เป็นโลก) ดังนั้นในระหว่างขณะที่เกิดกับขณะที่ดับก็ต้อง มีความสืบต่อที่จะต้องเป็นไปและเสื่อมลงจนกว่าจะถึงขณะที่รูปนั้นดับไป โดย อุปจยะและสันตติเป็นฝ่ายเกิด ชรตา และอนิจจตาเป็นฝ่ายดับ

 
  ความคิดเห็นที่ 22  
 
booms
วันที่ 27 ก.พ. 2553

ดิฉันขออนุโมทนากับทุกท่านด้วยค่ะ และที่ได้อ่าน ความคิดเห็นของทุกท่านแล้ว ดิฉันเกิดสะดุดใจกับประโยคของคุณ K ในความคิดเห็นที่ 14 ที่ว่า “จักขุปสาทรูป มีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ ..........................จักขุปสาทรูปอันเป็นที่เกิดของจิตเห็นก็ยังไม่ดับจนกว่าจะมีอายุ ๑๗ ขณะจิตครับ”

จากที่ดิฉันทราบว่า

“สภาวรูป รูปหนึ่งเกิดดับ เท่ากับจิตเกิดดับ 17 ขณะ “ หรือกล่าวอีกอย่างคือ อายุของสภาวรูป 1 รูป เท่ากับ การเกิดดับของจิต 17 ขณะ หรือ 51 อนุขณะ (จากขณะจิต, จิตแต่ละดวงจะมีอายุ 3 อนุขณะ คือ อุปาทะขณะ 1, ฐีติขณะ 1, ภังคขณะ 1 ดังนั้น จิต 17 ขณะจึงเท่ากับ 17 x 3 = 51 อนุขณะ)
โดยดิฉันเข้าใจว่า สภาวรูปนี้หมายถีง รูปารมณ์, หรือรูปธรรม ที่มาเป็นอารมณ์ทางจักขุทวารวิถีซึ่งไม่น่าจะหมายถึง จักขุปสาทรูป อย่างที่คุณ K กล่าว ด้วยเหตุว่า........... การเห็นรูปหรือการเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตานั้นต้องอาศัยองค์ประกอ
ทางด้านวัตถุ ได้แก่ มีจักขุวัตถุทำหน้าที่รับรูปารมณ์นั้น ต้องเป็นจักขุปสาทที่ดี ไม่พิการแม้แต่เล็กน้อย มีความใสของปสาทรูปซึ่งสามารถรับรูปารมณ์ได้เป็นอย่างดี
ทางด้านอารมณ์ ได้แก่ รูปารมณ์ที่มาเป็นอารมณ์นั้นต้องชัดและเด่น ตั้งอยู่ไม่ไกลเกินไป เคลื่อนที่ผ่านไปไม่เร็วนัก รูปารมณ์นั้นต้องอยู่ในที่แสงสว่างพอที่จักขุปาสทจะรับได้ชัดเจน
เมื่อจักขุวัตถุได้รับรูปารมณ์ที่ชัดเจนแจ่มแจ้งครบองค์ประกอบที่ดีเหล่านี้ จะทำให้ขณะจิตเกิดได้มากที่สุด (อติมหันตารมณ์) จะมีจิตตุปปาทะ (คือจิตที่เกิดขึ้นในวิถี) ถึง 14 ขณะ โดยไม่นับภวังคจิต 3 ขณะ (เพราะไม่ใช่จิตในวิถี)
ซึ่งอารมณ์ที่มี ขณะจิตเกิด ได้มากที่สุด ที่ชื่อว่า อติมหันตารมณ์ นี้ ดิฉันจะขอยกมาเป็นประเด็นตัวอย่าง ที่ทำให้ ดิฉันเข้าใจว่า. “.สภาวรูป รูปหนึ่งเท่ากับ จิตเกิด-ดับ 17 ขณะ” ด้วยจะให้เห็น ลำดับการเกิดวิถีจิตทางปัญจทวาร (ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะจักขุทวารวิถี) ประกอบในสิ่งที่ดิฉันกำลัง เข้าใจอยู่ ดังนี้

อตีตภวังค์ 1 ขณะ คือขณะที่รูปเริ่มกระทบขณะแรก
ภวังคจลนะ 1 ขณะ
ภวังคุปัจเฉทะ 1 ขณะ (ตัดกระแสภวังค์เพื่อเข้าสู่ วิถีจิต)
ปัญจทวาราวัชชนจิต 1 ขณะ (รำพึงถึงอารมณ์ที่กระทบจักขุทวาร)
จักขุวิญญาณจิต 1 ขณะ (โดยกระทำกิจรู้, เห็นรูปารมณ์ ที่จักขุปสาทรูป ซึ่งเป็นจักขุวัตถุ)
สัมปฏิจฉนะจิต 1 ขณะ (รับอารมณ์ ของจักขุวิญญาณ แล้วส่งต่อ)
สันตีรณะจิต 1 ขณะ (ไต่สวนอารมณ์)
โวฏฐัพพนะจิต 1 ขณะ (กระทำทางให้ กุศล หรือ อกุศล เกิดต่อ)
ชวนจิต 7 ขณะ (เสพ ,แล่นไปในอารมณ์ คือสำเร็จกิจ เป็นอกุศล กุศล)
ตทาลัมพนจิต 2 ขณะ (รู้อารมณ์ที่รูป ยังไม่ดับ ที่เหลือ ต่อจาก ชวนจิต)
จะเห็นได้ว่าจักขุวิญญาณจิตคือจิตที่เห็นรูปารมณ์ หรือเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตานั้น เกิดที่จักขุปสาทรูปเกิด 1 ขณะแล้วดับ แต่รูปารมณ์นั้นยังไม่ดับ และจากรูปปรมัตถ์ทั้งหมด 28 รูปนี้ ก็ไม่ใช่ทุกรูปที่จะมีอายุ 17 ขณะจิตด้วย มีเพียง 22 รูปเท่านั้น ที่มีอายุ 17 ขณะจิต อีก 6 รูปคือ วิญญัติรูป 2 และลักขณะรูป 4 จะมีอายุไม่ถึง 17 ขณะจิตเพราะวิญญัติรูป 2 เป็นรูปที่เกิดพร้อมกับจิต และดับไปพร้อมกับจิต จึงมีอายุเท่ากับ อายุของจิตดวงเดียว คือ 3 อนุขณะเท่านั้น ส่วนลักขณะรูป 4 นั้น อุปจยรูป กับ สันตติรูป เป็นรูปขณะแรกเกิด คือ อุปาทขณะ มีอายุเพียง 1 อนุขณะเท่านั้น (ไม่ถึง 51 อนุขณะ)
ชรตารูป เป็นรูปที่ตั้งอยู่คือ ฐีติขณะมีอายุ 49 อนุขณะเท่านั้น
อนิจจตารูป ที่กำลังดับไปคือภังคขณะ ก็มีอายุเพียง 1 อนุขณะ ซึ่งลักขณะรูป 4 นี้ แต่ละรูปจะมีอายุไม่ถึง 51 อนุขณะ หรือ 17 ขณะจิต
ความเข้าใจของดิฉันจะคลาดเคลื่อนหรือไม่ประการใด ขอคุณ K หรือท่านผู้รู้ทั้งหลาย โปรดชี้แนะด้วยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 23  
 
Sam
วันที่ 2 มี.ค. 2553

เรียน ความคิดเห็นที่ ๒๒ และทุกท่านครับ

ก่อนอื่น ผมขอเรียนว่า ความคิดเห็นที่ผมแสดงไปนั้น มาจากความเข้าใจที่ได้ศึกษามา ซึ่งผมเองก็เป็นคนที่ความจำไม่ดีนัก และอีกทั้งช่วงนี้มีภาระทางโลกมาก จึงขาดการศึกษาทบทวนพระปริยัติ ดังนั้น หากมีการแสดงข้อความที่คลาดเคลื่อนประการใด ผมจะรู้สึกยินดีเป็นอย่างมากที่มีผู้สนทนา สอบถาม และทบทวนกันและกัน เพื่อป้องกันความเห็นผิดครับ
สำหรับประเด็นที่คุณ booms แสดงข้อสงสัยนั้น เท่าที่ผมจับประเด็นได้คือท่านมีความเห็นว่า จักขุปสาทรูปไม่ใช่สภาวรูป ตามข้อความที่กล่าวว่า "...ดิฉันเข้าใจว่า สภาวรูปนี้หมายถีง รูปารมณ์, หรือรูปธรรม ที่มาเป็นอารมณ์ทางจักขุทวารวิถี ซึ่งไม่น่าจะหมายถึง จักขุปสาทรูป... "
แต่เนื่องจากท่านได้อธิบายไว้แล้วว่า "...จากรูปปรมัตถ์ทั้งหมด 28 รูปนี้ ก็ไม่ใช่ทุกรูปที่จะมีอายุ 17 ขณะจิตด้วย มีเพียง 22 รูปเท่านั้น ที่มีอายุ 17 ขณะจิต อีก 6 รูปคือ วิญญัติรูป 2 และลักขณะรูป 4 จะมีอายุไม่ถึง 17 ขณะจิต..." จึงขอความกรุณาคุณbooms ช่วยขยายความครับว่า เหตุใดจึงเห็นว่า จักขุปสาทรูป ซึ่งไม่ใช่วิญญัติรูปและไม่ใช่ลักขณะรูป จึงไม่ใช่สภาวรูปครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 24  
 
booms
วันที่ 4 มี.ค. 2553

การแสดงความคิดเห็น ในเรื่องที่ละเอียด เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจ ในสิ่งที่เราเขียน
บางครั้งก็อาจ ทำให้ท่านผู้อ่านบางท่าน เข้าใจไม่ตรงกับ สิ่งที่ผู้แสดงความคิดเห็น เขียน ก็ได้ (คงไม่ดีเหมือน การได้พูดคุยสนทนาธรรมกัน)
ดังเช่น ความสงสัยของดิฉันในข้อความของคุณ K ......
ก่อนอื่นดิฉัน ขอเรียนว่า จักขุปสาทรูป ก็เป็นสภาวรูป ค่ะ แต่จากที่ดิฉันอ่าน
ความคิดเห็นที่14 ของคุณ K ในครั้งแรกนั้น ดิฉันเข้าใจว่า คุณK จะหมายถึง จักขุปสาทรูป แต่เพียงอย่างเดียว โดยดิฉันขอเพิ่มเติม เป็น

โดยดิฉันเข้าใจว่า สภาวรูปนี้หมายถีง รูปารมณ์, หรือรูปธรรม ที่มาเป็นอารมณ์ทางจักขุทวารวิถี

ซึ่งไม่น่าจะหมายถึง จักขุปสาทรูป แต่เพียงอย่างเดียวอย่างที่คุณ K กล่าว ......
ถ้าหากคุณ K ไม่ได้หมายถึง จักขุปสาทรูป เพียงอย่างเดียวที่จะเป็นอารมณ์ทางจักขุทวารวิถี (ให้เกิดสิ่งที่ปรากฏทางตา) โดยคุณ K ได้ ละไว้ในฐานที่เข้าใจว่า
ยังมีรูปอื่นอีกละก้อ ดิฉันก็ขออภัย คุณ K อย่างมากที่ดิฉันเข้าใจ ผิดต่อ นัย ที่คุณ Kแสดงไว้ นะคะ

และในความคิดเห็นของคุณ K ที่เขียนแสดงมาทั้งหมด ในกระทู้นี้ ดิฉันขออนุโมทนาในความรู้ ความเข้าใจทางธรรม ของคุณด้วย จะมีก็เพียงบางประโยค ที่ดิฉัน
อาจไม่เข้าใจ นัย ที่คุณแสดงไว้จริงๆ

 
  ความคิดเห็นที่ 25  
 
พุทธรักษา
วันที่ 4 มี.ค. 2553

ขออนุญาตร่วมสนทนาด้วยค่ะการแสดงธรรมในส่วนที่ละเอียดและลึกซึ้งอย่างมาก โดยเฉพาะในส่วนของ "พระอภิธรรม" ซึ่งเป็นการแสดงถึงสภาพธรรมที่เป็น "ปรมัตถธรรม" นั้น เป็นเรื่องที่ยากที่จะเข้าใจจริงๆ ค่ะ (โดยส่วนตัว...ก็เป็นผู้ที่ยังมีพื้นฐานพระอภิธรรมที่น้อยมาก) ดังนั้น การสนทนากันในส่วนของ"พระอภิธรรม" นั้นเป็นประโยชน์และเกื้อกูลอย่างมากสำหรับข้าพเจ้าผู้ติดตามอ่านอย่างน้อย ก็เป็นการสะสมความเข้าใจทีละเล็ก ทีละน้อย...........
ขอบคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 26  
 
paderm
วันที่ 6 มี.ค. 2553

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

พื้นฐานพระอภิธรรมอยู่ที่ไหน เป็นคำถามที่น่าคิด แต่เมื่อมีความเข้าใจถูกแล้ว ไม่ได้อยู่ในหนังสือหรือเรื่องราวแต่ขณะนี้เองคือพื้นฐานพระอภิธรรม การเข้าใจอภิธรรมคือ การเข้าใจตัวจริงของสภาพธรรมที่มีในขณะนี้ เพราะฉะนั้นหากมีความเข้าใจถูกในเรื่องของสภาพธรรมโดยเริ่มจากขั้นการฟัง เข้าใจในเรื่องสติปัฏฐานอย่างถูกต้อง นี่ต่างหากที่เป็นเหตุปัจจัยให้เข้าใจพระอภิธรรมเพราะอภิธรรมอยู่ในชีวิตประจำวันครับ
เชิญคลิกฟังที่นี่ครับ จะเข้าใจว่าพื้นฐานพระอภิธรรมคืออย่างไร

พื้นฐานอภิธรรมอยู่ที่ไหน

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 27  
 
Sam
วันที่ 8 มี.ค. 2553

เรียน ความคิดเห็นที่ ๒๔

ผมต้องขออภัยอย่างสูงครับ ที่เข้าใจประเด็นข้อสงสัยของคุณ booms ผิดไป

ซึ่งตามความคิดเห็นที่ผมกล่าวว่า จักขุปสาทรูป มีอายุ ๑๗ ขณะจิตนั้น เป็นการ

อธิบายตามที่มีท่านผู้ร่วมสนทนาเข้าใจว่าจักขุปสาทรูป มีอยู่เฉพาะในขณะจิตที่เห็น

ครับ และได้ละไว้ในฐานที่เข้าใจว่า สภาวรูปอื่นๆ ที่มีอยู่มากมายในขณะนั้น ก็มีอายุ

๑๗ ขณะจิตเช่นเดียวกัน

พระธรรมที่ทรงแสดงไว้นั้น มีความละเอียดมาก ทำให้ยากยิ่งที่จะกล่าวได้

อย่างครบถ้วนรอบด้านด้วยการอธิบายเพียงครั้งเดียว จึงต้องอาศัยการฟังและการ

สนทนาธรรมกันต่อไป โดยไม่ท้อถอยไปเสียก่อนครับ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 28  
 
booms
วันที่ 10 มี.ค. 2553

ขออนุโมทนา คุณ K และทุกท่านอีกครั้งค่ะ ขอเป็นกำลังใจ และขออนุโมทนาแด่ สหายธรรมทุกท่าน ที่มีความเพียร ความอดทน ความตั้งใจ ที่จะศึกษา พระสัทธรรม ด้วยค่ะ
สำหรับ ในประเด็น เรื่องการศึกษา พระอภิธรรม นั้น ดิฉันคิดว่า แต่ละคนมี
จุดประสงค์ในการศึกษาพระอภิธรรม ซึ่งเป็น ธรรมมะส่วนละเอียด แตกต่างกันค่ะ และ
คงมีอีกหลายๆ ท่าน ที่ ทิ้ง ไม่สนใจเลย เพราะ คิดว่า ยาก , ไม่มีความจำเป็น ,ไม่เห็นประโยชน์ ที่จะนำไปใช้ ในชีวิตประจำวันได้ และ อีกหลายเหตุผล.... สำหรับตัวดิฉันนั้น เริ่มศึกษา พระอภิธรรม มาประมาณ 2-3 ปีก่อนหน้านี้ เหตุผล
ที่มาศึกษาตอนแรกนั้น คือ อยากรู้ว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านทรง ตรัสรู้อะไรบ้าง?
โดยดิฉัน มี ศรัทธา ในตอนนั้นว่า สิ่งที่พระองค์ท่าน ทรง ตรัสรู้นั้น ต้องเป็นสิ่งที่
ลึกซึ้ง ลุ่มลึก มาก ประกอบกับดิฉันมี ข้อสงสัยมากมาย หลายๆ ประเด็น เมื่อศึกษาพระวินัยและพระสูตร ดิฉันไม่สามารถอธิบายเหตุผล ทีคลายความสงสัยให้กระจ่างได้ จึงต้อง หันมาเริ่มศึกษาธรรมมะส่วนที่ละเอียดขึ้นๆ

ซึ่งพระอภิธรรมก็คือสภาวธรรม ที่ปฏิเสธความเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน ฯลฯ เป็นการศึกษาปรมัตถธรรม อันได้แก่จิต เจตสิก รูป และนิพพาน (พร้อมด้วยเรื่องของวิถีจิต ปัจจัย 24 กรรม สภาวธรรม 72 ปฏิจจสมุปบาท ฯลฯ) เป็นสิ่งที่น่าเรียนรู้ น่าศึกษา เพราะเป็นสิ่งที่ปรากฏอยู่ในทุกๆ ขณะในชีวิตประจำวันตั้งแต่เกิดจนหลับ แต่ อวิชชา ปิดบังให้เรา ไม่รู้ ไม่เข้าใจ สภาพธรรมมะ ที่กำลัง ปรากฎตามความเป็นจริง ในการศึกษาพระธรรม นั้น ควร ศึกษาให้ กว้าง และ ลึก ผู้ศึกษาธรรมมะ ควรศึกษาด้วยความเข้าใจ รู้ประโยชน์ รู้คุณค่า ที่แท้จริง ไม่ควรศึกษาแบบ ท่องจำ โดยที่ไม่เข้าใจใน อรรถ , นัย ของพระสัทธรรม

ทุกวันนี้ ก็รู้กับตนเอง ดีว่า การเข้าใจในพระธรรม ที่ละเอียดขึ้น ละเอียดขึ้น นั้น
ช่วยเกื้อกูล ให้ค่อยๆ เข้าใจ สภาพของ อนัตตา ได้ดีขึ้น มาก
ช่วยให้ ค่อยๆ เข้าใจ สภาพธรรมมะที่กำลัง ปรากฏ ได้ทีละน้อย ทีละน้อย
ช่วยละ คลาย ทุกข์ ในใจ ได้มาก จริงๆ ค่ะ

ที่เขียนมาก็เป็นเพียง ทัศนคติ ส่วนตัว นะคะ บางท่านที่มี ปัญญา และ บารมีสะสมมามาก ก็อาจเพียงแค่ศึกษา พระสูตร บางสูตร ก็สามารถเข้าใจ ธรรม ทะลุ ปรุโปร่ง แทงตลอด อริยสัจ บรรลุธรรมเลยก็ได้ค่ะ ดิฉันยังมี ปัญญา น้อย ไม่หวังที่จะบรรลุธรรมอะไรในชาตินี้หรอกค่ะ คิดแต่ว่าต้องค่อยๆ สะสม ไปทั้ง กุศล และ ปัญญา ให้มากที่สุด ก่อนจะหมดลมหายใจ จากชาตินี้ไปเสียก่อน เท่านั้นเอง

 
  ความคิดเห็นที่ 29  
 
ไตรสรณคมน์
วันที่ 17 มี.ค. 2553

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของผู้ร่วมสนทนาทุกท่านค่ะ และขออนุโมทนาคุณ k ที่ได้กรุณาอธิบายอย่างละเอียดและถูกต้องค่ะ
จักขุปสาทรูปเป็นรูปที่เกิดจากกรรม ซึ่งรูปประเภทนี้จะเกิดทุกๆ อนุขณะของจิต และมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ แม้ไม่เป็นวัตถุหรืออารมณ์ของจิต จักขุปสาทรูปก็ยังเกิดดับสืบต่อไปเรื่อยๆ ไม่ขาดสาย ตราบใดที่กรรมนั้นๆ ยังให้ผลค่ะ
สภาวรูปทั้งภายในและภายนอก ทั้งที่เป็นอารมณ์ของจิตและไม่เป็นอารมณ์ของจิตต่างก็เกิดดับตามสมุฏฐานของตนๆ เราจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม แต่สภาพธรรมก็เป็นเช่นนั้นค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 30  
 
natre
วันที่ 9 มิ.ย. 2554

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 31  
 
่jurairat91
วันที่ 7 ก.พ. 2563

กราบอนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านค่ะ

ขอกราบเรียนถามท่านผู้รู้

๑. จิตรู้อารมณ์ได้ทุกอย่าง ขอถามว่าจักขุปสาทรูปเป็นอารมณ์ให้จิตรู้ได้หรือไม่คะ

๒.ถ้าไม่ได้ จักขุปสาทรูปก็ไม่อาจเป็นปัฏฐานให้สติระลึกรู้ ดิฉันเข้าใจถูกไหมคะ แต่เคยได้ฟังมาว่าธรรมะทุกอย่างเป็นปัฏฐานให้สติระลึกได้เมื่อสติเกิด

กราบอนุโมทนาในกุศลจิตและความดีงามทุกประการของทุกๆ ท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 32  
 
paderm
วันที่ 12 มี.ค. 2563
อ้างอิงจาก ความคิดเห็นที่ 31 โดย ่jurairat91

1.กุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา (สติปัฏฐาน) สามารถรู้รูป ได้ ที่เป็นจักขุปสาทรูปว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ที่เป็นสติปัฏฐาน ครับ

ข้อ 2 ตามข้อ 1 ครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ