ขณะที่สติปัฏฐานดำรงอยู่นั้น เราจะรู้สึกอย่างไรบ้าง

 
รากไม้
วันที่  20 ม.ค. 2553
หมายเลข  15203
อ่าน  1,292

ขอรบกวนท่านผู้รู้ ช่วยชี้แนะด้วยนะครับ ว่า...

ขณะที่สติปัฏฐานดำรงอยู่นั้น เราจะรู้สึกอย่างไรบ้าง ...การรับรู้ และความรู้สึกต่อสิ่งรอบๆ ตัว จะแปลกๆ ไปจากสภาวะปกติหรือเปล่าครับ

ถึงแม้ว่าสติปัฏฐานจะเกิดขึ้นเองโดยที่ไม่มีอะไรบังคับได้ แต่ว่าถ้าหากเกิดขึ้นแล้วเราเจริญสติปัฏฐานประคับประคองไว้ได้นานๆ หรือเปล่า

แล้วสติปัฏฐานจะสิ้นสุดเมื่อไหร่ จู่ๆ จะหลุดไปเอง หรือว่าจะสิ้นสุดตอนที่เราหลับไป

ขอขอบพระคุณครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
prachern.s
วันที่ 22 ม.ค. 2553

ควรทราบว่า ขณะที่สติปัฏฐานเกิด ทุกอย่างเป็นปกติ แต่เข้าใจขึ้น สติปัฏฐานเกิดชั่วขณะเล็กน้อย สติปัฏฐานเกิดเพราะเหตุที่สมควรเพราะอาศัยการฟังการศึกษาจนเข้าใจจริงๆ สติปัฏฐานจึงเกิดระลึกรู้สภาพธรรมตามที่ได้ศึกษามา ตามที่ได้ฟังมา ไม่ผิดปกติ ครับ

ขอเชิญคลิกอ่าน

การปฏิบัติเป็นปรกติกับการปฏิบัติที่ผิดปรกติ

ปัญญารู้โดยความเป็นธาตุ ความเป็นปรกติ

เป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ... ... ..คืออย่างไร?

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
วิริยะ
วันที่ 22 ม.ค. 2553

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
รากไม้
วันที่ 22 ม.ค. 2553

ขอบพระคุณครับ

ขอความกรุณา ผู้รู้ท่านอื่นๆ ที่เคยเจริญสติปัฏฐานได้แล้ว ได้โปรดเข้ามาชี้แนะ เพื่อเป็นธรรมทานเพิ่มเติมแก่ผมด้วยนะครับ

คือผมมีข้อสงสัยหลายประการ ที่ไม่รู้ว่าจะถามอย่างไร ให้คำถามนั้นตรงกับสิ่งที่มี เช่นว่า จะเป็นการเข้าใจผิดไหม ในประเด็นที่ว่า เมื่อเกิดสติปัฏฐาน จะเกิดสภาพว่าง สภาพปล่อยวางร่วมด้วย และรู้แจ้งเห็นจริงในธรรมะส่วนที่เป็นปรมัตถธรรมทั้งหมดร่วมด้วย

ประการหนึ่ง ที่ผมน่าจะต้องทราบด้วย ซึ่งยังไม่พบในคำบรรยายของท่านอาจารย์ คือว่า... เมื่อเคยสัมผัสสติปัฏฐานแล้ว แล้วหมั่นเจริญกุศล จนมีกุศลมากพอที่จะทำให้สติปัฏฐานเกิดบ่อยๆ อยู่เป็นนิจแล้ว ควรจะกระทำการใดต่อไป เช่นว่า ศึกษาพระธรรมในส่วนที่ลึกยิ่งๆ ขึ้นไป เพื่อที่จะเข้าใจสภาพธรรมมะในส่วนนั้นๆ และส่วนที่ละเอียดขึ้นไปอีก / หรือว่า ควรจะไปน้อมนำไปสู่การเจริญวิปัสสนา / หรือว่าหมั่นเจริญสติปัฏฐานไปให้ได้ตลอดเวลา แค่นั้นก็เพียงพอแล้ว

ขอขอบพระคุณ ผู้ที่จะเข้ามาให้คำชี้แนะครับ

...อนุโมทนาในกุศลจิต ของทุกดวงจิตที่ใกล้พระธรรม

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
รากไม้
วันที่ 22 ม.ค. 2553

ขอเพิ่มอีกคำถามครับ ...ถามท่าน prachern.s หรือผู้อื่นๆ ก็ได้ครับ

แล้วถ้าเป็นสติปัฏฐาน ที่ไม่ได้เกิดเพียงช่วงเวลาสั้นๆ ล่ะครับ คือเกิดติดต่อกันหลายๆ ชั่วโมง อย่างมั่นคง จวบจนกระทั่งเราง่วงแล้วนอนหลับไป เมื่อตื่นขึ้นมาใหม่ ก็รู้สึกได้ว่าสติปัฏฐานไม่มีแล้ว

...เราจะบัญญัติลักษณะที่เกิดขึ้นนี้ว่า เป็นอะไร จะเรียกว่าเป็น "สติปัฏฐานที่เกิดยาวๆ " แค่นั้นหรือเปล่าครับ หรือว่า ไม่ใช่สติปัฏฐาน

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ING
วันที่ 22 ม.ค. 2553

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
prachern.s
วันที่ 22 ม.ค. 2553

เรียนความเห็นที่ ๓, ๔

การศึกษาพระธรรมโดยละเอียด เป็นการดี แต่ต้องไม่ลืมว่า ศึกษาเพืออะไร และสติปัฏฐานเกิดต่อเนื่อง เป็นชั่วโมง ไม่มีครับ เพราะแต่ละวิถี เพียง ชวนะ ๗ ขณะ ที่เหลือก็จะเป็นจิตประเภท เป็นส่วนใหญ่

อนึ่งผมขอเสนอความเห็น ส่วนตัวนะครับว่า อย่าเพิ่งไปสนใจสติปัฏฐานมาก ถ้าไม่เข้าใจธัมมะตั้งแต่เบื้องต้น สติปัฏฐานก็เกิดไม่ได้ เพราะสติปัฏฐานก็ระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏนี่เอง

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
kulwilai
วันที่ 22 ม.ค. 2553

สติปัฏฐานเป็นขณะที่สติระลึกตรงลักษณะธรรมที่กำลังปรากฏ ประกอบด้วยปัญญาที่เห็นถูกตามความเป็นจริง เกิดขึ้นได้เพราะต้องมีปัจจัย ในการอบรมปัญญาในขั้นสติปัฏฐาน เป็นการระลึกรู้ลักษณะของธรรมที่มีจริง (ปรมัตถธรรม ได้แก่ นามธรรมและรูปธรรม) อาศัยการฟังพระธรรมที่ทรงแสดงลักษณะของธรรมที่มีจริง จนเกิดปัญญาของผู้ที่ศึกษา สามารถเข้าใจและเห็นจริงตามที่ทรงแสดงได้

การฟังพระธรรมเพื่อการขัดเกลาอกุศลธรรม ถ้ามีความเข้าใจขณะที่ฟัง กุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญาเกิดขึ้นได้ และย่อมเป็นปัจจัยแก่กุศลจิตขั้นอื่น เช่น ขั้นทาน ขั้นศีล หรือแม้แต่เมตตาในชีวิตประจำวันเจริญขึ้นได้ ถ้ามีปัญญาเข้าใจธรรม หรือบ่อยครั้งที่เกิดอกุศลจิตก็ไม่เดือดร้อนเหมือนก่อนที่ไม่เข้าใจธรรม แต่ต้องอาศัยเวลาสะสมการฟังพระธรรม เจริญที่เหตุจนกว่าเหตุจะสมควรแก่ผล เพราะการฟังพระธรรมยังน้อยจึงมีแต่ความสงสัย ขอให้ฟังพระธรรมต่อไป พร้อมอ่านหนังสือปรมัตธรรมสังเขป เพื่อความเข้าใจจิตในชีวิตประจำวัน

ขอให้พระธรรมที่ท่านได้ฟังด้วยดีแล้ว เป็นที่อาศัยที่มีกำลัง และเป็นที่พึ่งตลอดไป

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
พุทธรักษา
วันที่ 22 ม.ค. 2553

ไม่ควรลืมว่า...จุดประสงค์ที่แท้จริงในการศึกษาพระธรรม "เป็นไปเพื่อการละ"
เป็นต้นว่า ขณะที่หวังว่าจะให้สติปัฏฐานเกิด หรือ หวังว่าจะรู้เรื่องของพระธรรมมากๆ ขณะนั้นก็เป็นอกุศลแล้วค่ะ...ไม่ใช่การละ ไม่ใช่จุดประสงค์ในการศึกษาพระธรรมซึ่งผู้ศึกษาพระธรรม ต้องเป็นผู้ตรงต่อสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า ขณะใดเป็นกุศลจิต ขณะใดเป็นอกุศลจิตถ้าไม่รู้ความต่างกันของอกุศลและกุศล...สติปัฏฐานก็เกิดไม่ได้

เพราะอาจจะเกิดความเข้าใจผิด ว่า สติปัฏฐานเกิดแล้วทั้งๆ ที่ไม่ใช่.
อกุศลเกิดเป็นปกติในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะโลภะ ความติดข้องต้องการดังนั้น ก่อนจะมุ่งไปที่เรื่องสติปัฏฐานเพียงประการเดียวควรพิจารณาว่า ขณะที่คิด พูด กระทำกิจต่างๆ ในชีวิตประจำวันนั้นลักษณะของจิตใจ เป็นไปด้วยกุศลหรืออกุศล.
เมื่อรู้ความต่างกัน ระหว่างกุศลจิต และ อกุศลจิต และเริ่มเห็นโทษของอกุศลจิตเริ่มเห็นคุณของกุศลจิต....ก็จะเป็นปัจจัยให้มีฉันทะในการเจริญกุศลทุกประการและ มีฉันทะในการที่จะละคลายอกุศลธรรม คือ โลภะ-ความติดข้องและ โทสะ-ความขุ่นใจ...ตามกำลังปัญญา ตามการสั่งสมของตนซึ่งหมายถึง การเริ่มต้นความเข้าใจด้วยการฟังพระธรรมให้เข้าใจจริงๆ ก่อน...เพื่อเป็นเหตุปัจจัยให้ปัญญาเจริญขึ้น

ตามลำดับขั้น...ขั้นฟัง...ขั้นเข้าใจ...ขั้นพิจารณา...ค่อยเป็นค่อยไป.
ไม่ควรลืมว่า โลภะ ความหวัง-ความติดข้อง-ต้องการ นั้น เป็นครื่องกั้นปัญญา กั้นสติปัฏฐาน ค่ะ.

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
booms
วันที่ 23 ม.ค. 2553

ไม่ทราบว่า .....คุณ จะเห็นด้วยหรือไม่ กับ ความเห็นที่ว่า... " หากสัจจญาณ ไม่แนบแน่น....จะเจริญ สติปัฏฐาน ไม่ได้ " เพราะเหตุว่า สติปัฏฐาน คือ การอบรมเจริญปัญญา ที่สติระลึกรู้ ลักษณะ (ไม่ใช่ระลีกที่ชื่อ ,ไม่ใช่ระลึกในสมมติบัญญัติ) ของสภาพธรรม ที่เป็น นามธรรม หรือ รูปธรรมที่กำลังปรากฏ.....

โดย " ลักษณะของสภาพธรรม" นี้ เป็นลักษณะ พิเศษจำเพาะ ของ ปรมัตถธรรม แต่ละอย่าง ซึ่งไม่เหมือนกันเลย ผิดแผกแตกต่างกันทั้งนั้น ....เป็นลักษณะที่เรียกกันว่า

วิเสสลักขณะ หรือ ลักขณาทิจตุกะ (หากสนใจ รู้...คุณสามารถ หารายละเอียด เพิ่มเติมได้) ซึ่ง ปรมัตถธรรม อันได้แก่ จิต เจตสิก รูป มีวิเสสลักษณะ ... ส่วน บัญญัติธรรม นั้น ไม่มีวิเสสลักษณะ เลย เพราะ บัญญัติ ไม่ใช่ ปรมัตถธรรม..... การได้ เรียนรู้ วิเสสลักษณะ ซี่งแสดงสภาวะ ประจำตัว โดยเฉพาะ แห่งปรมัตถธรรม แต่ละอย่างด้วยแล้ว จะทำให้มี ความเข้าใจ ลึกซึ้งถึง สภาพแห่งปรมัตถธรรม นั้นๆ ดียิ่งขึ้น....... และเมื่อได้มีการ สะสม การฟังพระสัทธรรม ที่มาก.....มาก..... เมื่อได้มีการ สะสม การศึกษา ความรู้ ความเข้าใจ ในลักษณะ ของปรมัต ถธรรม อย่างละเอียด ... พิจารณา ใคร่ครวญ ในสิ่งที่ได้ ฟัง ที่ได้ศึกษา จนเข้าใจ อย่างถ่องแท้...

การสะสม ต่างๆ เหล่านี้....จะเป็นสังขารขันธ์ ปรุงแต่ง ช่วยให้ "สติ" เกิดระลึกได้มาก.... เมื่อการสะสมต่างๆ เหล่านี้ มีมากขึ้น....มากขึ้น...ปัญญา (ความรู้ชัดในสภาวธรรม) เจริญขึ้น....เจริญขึ้น.....สติปัฏฐาน ย่อมเกิดระลึกรู้ได้ แน่นอน ....แม้จะเกิดเพียงชั่วขณะ สั้นๆ ก็ตาม .....หากยังมีความเพียร ในการอบรมเจริญปัญญาอยู่ อย่างสมําเสมอ .....ผู้นั้นย่อมรู้ ว่า "สติ" แม้ว่าจะเกิดเพียงชั่วขณะที่สั้น....แต่ก็จะเกิดได้ ถี่ขึ้น..ถี่ขึ้น....บ่อยขึ้น....บ่อยขึ้น......

หนทางนี้....วิธีนี้.... น่าจะเป็นทางหนึ่ง....สำหรับการเจริญสติปัฏฐาน อันจะเป็นเหตุ เป็นปัจจัย ก้าวไปสู่ วิปัสสนาญาณ ขั้นต่อๆ ไป......

ดิฉัน ชอบ ตรึก ระลึก ในคำพูดที่ท่าน อ. สุจินต์..... พูดถึงพระสูตร เรื่องการเจริญสติปัฏฐาน ที่อุปมาเหมือนการ จับด้ามมีด ซึ่งเวลาที่จับบ่อยๆ ...ก็ไม่ได้รู้เลยว่าด้ามมีด นั้นสึกไปเท่าไหร่ เพราะว่า เป็นเรื่องที่ สึกไปทีละเล็ก ทีละน้อย...

ดิฉัน ขออนุโมทนา ใน ความศรัทธา ต่อการใฝ่รู้ ศึกษาพระธรรม ของ คุณ รากไม้ และ สหายธรรม ทุกท่าน ที่เข้ามา ...ใน Web นี้.....ขอเป็นกำลังใจ..และ ขอส่งความ ปรารถนาดี ต่อ สหายธรรมทุกท่าน....ให้ อดทน เพียรอบรมเจริญปัญญา ให้มาก......หนทางสู่ความรู้แจ้งยังอีกไกล.....แต่อย่างน้อยๆ ก็ได้สะสมปัญญามาบ้างแล้วใน..ชาตินี้

อดทนทำในสิ่งที่ทำได้ยาก เสียสละ ในสิ่งที่ สละได้ยาก ให้ ในสิ่งที่ให้ได้ยาก

แล้วจะได้ ใน สิ่งที่ "ได้โดยยาก"

หมายเหตุ ; การอดทน การเสียสละ การให้ ต้องมี "ปัญญา" ประกอบร่วมด้วย

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
narong.p
วันที่ 23 ม.ค. 2553

ธรรมะนั้นละเอียด หากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงแสดง ก็ไม่มีผู้ใดที่

สามารถจะรู้ได้ ดังนั้นความเข้าใจต้องเป็นไปตามลำดับ เริ่มตั้งแต่

ธรรมะ คืออะไรก่อนครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
รากไม้
วันที่ 23 ม.ค. 2553

ขอขอบพระคุณ ทุกความคิดเห็นครับ

เนื้อหาจากคำตอบทั้งหมดในกระทู้นี้ รวมกับความรู้และความคิดผม

ทำให้รู้ชัดแล้วว่า "สติปัฏฐาน" นั้น ถึงแม้ว่าจะ "เคย" เกิดขึ้นแล้ว ก็อาจจะ "ไม่เกิด" ขึ้นอีกเลย ตลอดชีวิตนี้ก็ได้ เพราะปัจจัยที่ทำให้เกิดขึ้นได้นั้น มากจริงๆ ความเป็นไปได้นั้น...ไม่มี ...ถึงเพียรพยายามไป ก็น่าจะ เสียเวลาเปล่า

ดังนั้นผมจึงเห็นควรที่จะ "หมดคำถาม" และ "ไม่สงสัย" อะไรอีกแล้ว เกี่ยวกับเรื่องสติปัฏฐาน ...โดยจะศึกษา ธรรมะ ในส่วนอื่นๆ ต่อๆ ไป เพื่อเป็น "ความรู้" เพื่อที่จะเอาไว้ใช้ประโยชน์ในการอบรม สั่งสอน และ แนะนำผู้อื่น ต่อไป

ด้วยเหตุว่า สติปัฏฐานนั้น ถึงแม้ว่ามีได้อีก ก็จะเกิดประโยชน์นั้นแก่ตัวเป็นส่วนใหญ่ ...คือ เราไม่อาจเอาสติฯ ซึ่งเป็นนามธรรม ไปถ่ายทอดให้ใครเข้าใจได้โดยง่ายได้เลย สู้เอาธรรมะพื้นๆ ไปสอนคนใกล้ตัว ให้มีคุณธรรม น่าจะเกิดผลดีกว่าในเรื่องจำนวนคน

ขอกราบอนุโมทนา ทุกดวงจิตที่ใกล้พระธรรม

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
รากไม้
วันที่ 23 ม.ค. 2553

วันนี้ผมไปฟังบรรยายธรรม ที่มูลนิธิมาครับ

ได้เห็นท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ เป็นครั้งแรกในชีวิต ...รู้สึกดีมากมาย ท่านดูสดใส เดินเหินคล่องตัว เหมือนไม่ใช่ผู้มีอายุมาก อัธยาศัยดีมากกว่าที่คิดไว้เยอะเลย ท่านยิ้มรับทุกคนอย่างเป็นกันเองสุดๆ ท่านรับมอบดอกไม้จากลูกศิษย์ทุกๆ ท่านด้วยความนอบน้อม แล้วก็นำไปบูชาพระธาตุด้านหลัง ...ยิ่งทำให้นับถือท่านมากขึ้นไปอีก

แต่เสียดายว่า ได้แต่เพียงเห็นไกลๆ เพราะผมไปทีหลัง เลยต้องนั่งแถวหลังๆ พอพักเบรคก็ไม่กล้าเดินเข้าหาท่านใกล้ๆ ้ ...เพราะรู้สึกว่า ตื่นเต้นเกินไป เกรงว่าหากท่านถามอะไรแล้วจะตอบไม่ถูก

ใจจริงว่า วันนี้จะไปถามคำถามเกี่ยวกับ สติปัฏฐาน นั่นแหละครับ ...คือผมอยาก (จำเป็นต้องใช้คำว่าอยาก) รู้ว่า สิ่งที่ผมได้สัมผัสถึงโดยบังเอิญนั้น ใช่สติปัฏฐานหรือไม่ , ถ้าไม่ใช่ สิ่งนั้นคืออะไร , ถ้าไม่ใช่แล้วเป็นอวิชชา ที่ควรรีบสลัดทิ้งไปหรือเปล่า , แล้วถ้าใช่ผมควรจะทำสิ่งใดต่อไป ...เท่านั้นเองแหละครับ (เหมือนกับเนื้อหาที่ได้ถามในกระทู้นี้)

แต่เห็นว่า วันนี้ไม่ได้บรรยายเรื่องนี้โดยตรง และมีสหายธรรมกำลังให้ความสนใจเรื่องที่กำลังบรรยายนั้นอยู่ด้วย จึงไม่กล้าแทรกปัญหาไปถามท่านอาจารย์สุจินต์และท่านวิทยากร

อีกประการหนึ่ง คือด้วยความที่ผมยังเป็นผู้รู้น้อย ในเรื่องปรมัตถธรรม ...เกิดผมถูกยิงคำถามที่เกี่ยวกับ จิต เจตสิก รูป เพื่อเชื่อมโยงกับ สติปัฏฐาน ที่ผมถามแล้วล่ะก็ ผมจะตอบผิดตอบถูกแน่ๆ หรือตอบไม่ได้เลยด้วยซ้ำ

สุดท้ายก็เลยนั่งทำใจว่า คงไม่ได้ถามคำถามคาใจในวันนี้แน่ๆ ระหว่างที่กำลังทานข้าวที่ร้านข้างนอกมูลนิธิฯ เพราะข้างในคนเยอะ เกรงว่าอาหารจะไม่พอทาน (คิดเอาเอง) ...ก็คิดได้ว่า ยกเลิกความตั้งใจดีกว่า

ตลอดช่วงบ่ายของวันนี้ อาจารย์สุจินต์ท่านกลับไปแล้ว ผมก็นั่งฟังบรรยายธรรมต่อไปเรื่อยๆ แล้วก็แอบไปหากาแฟทานด้านหลัง เป็นแก้วที่ 2 เพราะว่าง่วงมากครับ วันนี้ เมื่อคืนนอนไปประมาณ 3-4 ชม. เท่านั้นเอง

...พอกลับมาถึงบ้าน ผมจึงคิดได้ ดังที่กล่าวไปแล้วในเนื้อหาความเห็นที่ 12 นั่นแหละครับ ...ทั้งหมดนี้ เพียงเพื่อเล่าสู่กันฟังนะครับ ไม่ได้มีเจตนาอื่่นใดเลย
ขอขอบคุณทุกท่าน ที่สละเวลามาตอบคำถามของผมอีกครั้ง ด้วยความเคารพ

และขอปิดกระทู้นี้ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
ไตรสรณคมน์
วันที่ 23 ม.ค. 2553

คุณรากไม้ค่ะ ...

อ่านความเห็นของท่านที่กล่าวมาในตอนต้น ดูเหมือนว่ากำลัง พยายามคิดนึกถึงสภาวะที่ยังไม่ได้เกิดปรากฎ จึงทำให้เต็มไปด้วยความสงสัย ถ้าไม่ใช้คำว่า "สติปัฏฐาน" เลยล่ะค่ะ ... ขณะนี้กำลัง "เห็น" มีสภาพเห็นและสิ่งที่ ถูกเห็น ... ใช่มั้ยค่ะ สภาพธรรมสองอย่างนี้แหละเป็นสิ่งที่เราควรใส่ใจและพิจารณา เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องยิ่งขึ้น โดยที่ไม่ต้องไปนึกถึงชื่อหรือเรื่องราวใดๆ ให้ วุ่นวาย และ ไม่ต้องกังวลด้วยว่าเป็น "สติปัฏฐาน" หรือไม่ เพราะถ้าเป็นสติปัฏฐานจะ ไม่มีความสงสัยในสิ่งที่กำลังปรากฎเลย จะมีแต่ความเข้าใจ ... ที่ชัดขึ้นๆ

ขณะนี้มีสภาพธรรมกำลังปรากฎ ... ทั้ง "เห็น" และ "สิ่งที่ถูกเห็น" สติสามารถ ระลึก และปัญญาก็ศึกษาและพิจารณาสภาพธรรมในขณะนี้ได้ทันที สภาพธรรมใน ขณะนี้จึงเป็น "ฐาน" หรือ "ที่ตั้ง" ของสติเพื่อการอบรมเจริญปัญญาที่ถูกต้องยิ่งขึ้นต่อ ไปค่ะ

ส่วนทางทวารอื่นๆ ก็ศึกษาพิจารณาโดยนัยเดียวกัน ข้อสำคัญเป็นการศึกษาเพื่อรู้ "ความจริง" ความจริง ... ที่ไม่มีเรา ไม่มีเขา ไม่มีคน สัตว์ วัตถุ ... แต่เป็นสภาพธรรม ล้วนๆ เท่านั้นเป็นไปอยู่

ขออนุโมทนาและขอความเจริญในพระสัทธรรมจงมีแด่ท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่ 23 ม.ค. 2553

"...ความจริง.....ที่ไม่มีเรา ไม่มีเขา ไม่มีคน สัตว์ วัตถุ.........แต่เป็นสภาพธรรม

ล้วนๆ เท่านั้นเป็นไปอยู่..."

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
ชีวิตคือขณะจิต
วันที่ 24 ม.ค. 2553

ขออนุญาตถามท่านวิทยากรในกระทู้นี้ว่าสัมปชัญญะเป็นอย่างไรครับขณะมีสติและสมาธิ สัมปชัญญะเกิดร่วมด้วยไหมครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
prachern.s
วันที่ 25 ม.ค. 2553

เรื่องสัมปชัญญะ ขอเชิญคลิกอ่านที่

สัมปชัญญะเป็นอย่างไร?

สัมปชัญญะ ๔

 
  ความคิดเห็นที่ 18  
 
ชีวิตคือขณะจิต
วันที่ 26 ม.ค. 2553
อ่านแล้วครับ ขออนุโมทนาครับ สัมปชัญญะคือปัญญา
สติต้องกอปรด้วยสัมปชัญญะครับ สาธุ
 
  ความคิดเห็นที่ 19  
 
รากไม้
วันที่ 26 ม.ค. 2553

ที่คุณ ไตรสนณาคมน์ กล่าวมานั้น ..ถูกต้อง และจริงตามนั้น ทุกบรรทัด ทุกประการครับ

ขอกราบอนุโมทนา ในจิตที่ใกล้พระธรรม

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ