รายงานการศึกษาจากการฟังธรรมะ

 
ธรรมทัศนะ
วันที่  3 ก.ค. 2549
หมายเลข  1479
อ่าน  3,287

รายงานการศึกษาจากการฟังธรรมะจากท่านผู้ชมท่านหนึ่ง
พุธที่ 31 พฤษภาคม 2549 :19:28 น

ความตั้งใจของดิฉันในเรื่องการเผยแพร่พระพุทธศาสนา เพราะเท่าที่ดิฉันได้ ศึกษาพระธรรมแล้ว ได้เกิดความเลื่อมใส ในพระรัตนตรัย และเชื่อปัญญา การดับ ทุกข์ได้อย่างแท้จริง ของพระพุทธเจ้า

ดิฉันมีความสนใจ ฟังและพิจารณาตาม ยิ่งฟังก็รู้สึกว่า ยากมาก ลึกซึ้งมาก ละเอียดมาก ต้องฟังแล้วพิจารณาทบทวน ครั้งแล้วครั้งเล่า เหมือนเดินเข้าไปในถ้ำ แห่งหนึ่ง ซึ่งเราอยู่ในถ้ำนั้น แต่ดูเหมือนเราไม่รู้จักถ้ำนั้นเลย ตามความเป็นจริง เรา คิดว่าถ้ำนั้น เป็นสถานที่ ที่ดีที่สุด เราเลยไม่คิดออกจากถ้ำนั้น แต่พอถึงเวลาที่รู้ว่า มีที่ที่ดีกว่าการอยู่ในถ้ำนั้น แล้วเราต้องการออกจากถ้ำ มันยากเสียจริงๆ

อ. สุจินต์ พูดเรียบๆ ง่ายๆ แต่เป็นเพราะท่านพูดเรื่อง "จริง" เราเลยตามไม่ค่อย ถูกและทัน เพราะเรายังติดอยู่กับ "สิ่งที่ไม่จริง" ที่เราสะสมมาในจิตว่า สิ่งนั้นจริง ความสุขที่เกิดขึ้นคือ รู้สึกว่าตนได้พบครูที่แสวงหา ครูที่ชี้ให้เห็นว่า นี่คือกิ่งไม้ ใบไม้ นี่คือสะเก็ดไม้ นี่คือเปลือกไม้ นี่คือกระพี้ไม้ และนี่คือแก่นไม้

ดิฉันเริ่มมองตนเอง อ่านตนเอง ศึกษาตนเอง และทำความรู้สึกกับตนเอง รู้ว่าเรา ตื่นมากขึ้น เราอยู่กับปัจจุบันมากขึ้น โลกนี้คือโรงเรียน สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น เป็นสิ่งที่สอนเราอยู่ตลอดเวลา สอนเราทั้งข้างนอกและข้างใน ความรู้สึกสุข ทุกข์ ไม่ค่อย เข้ามาข้องเกี่ยว เพราะเป็นความรู้สึกของการศึกษา เรื่องการเกิด - ดับ เท่านั้น


  ความคิดเห็นที่ 2  
 
namarupa
วันที่ 3 ก.ค. 2549

อนุโมทนาด้วยเช่นกันค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
aniwat52
วันที่ 4 ก.ค. 2549
ขออนุโมทนา สาธุ ครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
luck
วันที่ 4 ก.ค. 2549

อยากจะเสนอว่า การศึกษาพระธรรมนั้น ป็นสิ่งที่ดีอยู่ สมควรอยู่ แต่ว่ายังไม่เลิศ เพราะธรรมะทั้งปวงที่เราศึกษากันอยู่นั้น เป็นเพียงแนวทางหรือเป็นเพียงหนทาง ที่บอกเราให้เดินไปสู่ความสงบเท่านั้น แต่ผู้ศึกษาธรรมทั้งหลาย ท่านไม่อาจไปถึงฝั่ง ได้ ถ้าท่านไม่มีการออกเดินตามไป หมายถึงการปฏิบัติควบคู่ไปด้วย เปรียบเสมือน ว่า ท่านเคยเรียนหรือรู้มาว่า ผลไม้ชนิดหนึ่งมีรสหวาน ท่านเพียงรับรู้ ภายนอกเท่านั้น ตราบใดที่ท่านยังไม่ได้ลิ้มรสผลไม้ผลนั้น ท่านจะไม่มีวันรู้เลยว่า รสหวาน ของผลไม้เป็นอย่างไร ก็เหมือนกับ การพูดธรรมะการฟังธรรมะนั้น เป็นเพียงการจำ โดยสัญญา ซึ่งท่านจะไม่สามารถเห็นธรรม หรือบรรลุถึงธรรมะได้เลย ถ้าท่านเพียง แต่พูด เพียงแต่ฟัง หรืออ่านธรรมะ แต่ท่านไม่ได้ปฏิบัติ เพราะฉะนั้นการเดินไป ในทางที่ถึงความสงบนั้น ควรมีสองอย่างควบคู่กันไป แต่ถึงท่านไม่มีโอกาส ในการ ศึกษาพระธรรม แต่ท่านมีการฝึก และการปฏิบัติธรรม ท่านก็สามารถไปสู่ความสงบ ได้เช่นกัน แต่ทั้งนี้ต้องอาศัยวิริยะ อุตสาหะ มีความเพียร ไม่ลดละ ไม่ทิ้งเป้าหมาย หรือความตั้งใจใว้ ปฏิบัติไปเรื่อยๆ ผลที่สุด มันก็จะเป็นของมันเองอย่างธรรมชาติ แต่ในการปฏิบัติ ก็ไม่ควรคาดหวังเอา แม้แต่ความสงบ เพราะนั่นเป็นนิวรณ์หรือเป็น ตัณหา อีกอย่างหนึ่งที่จะทำให้ท่านไม่สงบ

ความคิดเห็นนี้ถูกต้องอย่างไร กรุณาให้คำชี้แนะด้วยนะคะ

ขอบคุณค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
study
วันที่ 4 ก.ค. 2549

ความหมายคำว่า "ศึกษา หรือ สิกขา" ตามคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ไม่ ได้หมายถึงการเรียน จากตำราเพียงอย่างเดียว แต่ความจริงหมายถึง การศึกษา ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ตามทวารทั้ง ๖ ด้วย ซึ่งนั่นหมายถึงการ เจริญสติปัฏฐาน ที่เรียกกันว่า การปฏิบัติธรรม ที่เกิดจากการศึกษา พระปริยัติธรรม และค่อยๆ ศึกษา สังเกตและรู้ ตามที่ฟังมา สำหรับผู้ที่ไม่ได้ศึกษาปริยัติธรรม จะมี การปฏิบัติ ที่ถูกต้องไม่ได้ เพราะการปฏิบัติ คือการรู้ลักษณะสภาพธรรม ตามที่ ศึกษา ผู้ไม่ได้ศึกษาจะรู้อะไร และจะสงบได้อย่างไร

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 ก.ค. 2549

การฟังเป็นเหตุให้เจริญปัญญา

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ -
หน้าที่ 49

เถรคาถา เอกนิบาต วรรคที่ ๒

๑. มหาจุนทเถรคาถา

ว่าด้วยคาถาของพระมหาจุนเถระ

[๒๖๘] ได้ยินว่า พระมหาจุนทเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้ อย่างนี้ว่า

การฟังดี เป็นเหตุให้การฟังเจริญ การฟังเป็น

เหตุให้เจริญปัญญา บุคคลจะรู้ประโยชนก็เพราะปัญญา

ประโยชน์ที่บุคคลรู้แล้ว ย่อมนำสุขมาให้ ฯลฯ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 ก.ค. 2549

การฟังแต่ละครั้งก็จะทำให้เข้าใจธรรมะเพิ่มขึ้น

การฟังแต่ละครั้ง ก็จะทำให้เข้าใจธรรมะเพิ่มขึ้น ปัญญาก็จะเจริญขึ้น ตามลำดับ จนกว่าจะเป็นสติปัฏฐาน ซึ่งไม่ใช่เราจะไปทำ แต่เพราะปัญญา มีความเข้าใจถูกต้อง เพิ่มขึ้นตามลำดับ เพราะฉะนั้น ก็เป็นปัจจัยปรุงแต่ง เป็นสังขารขันธ์ ที่จะทำให้สติอีก ระดับหนึ่งเกิดขึ้น เป็นสติปัฏฐาน

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 ก.ค. 2549

การปฏิบัติผิดนั้น เกิดจากการหวังผลอย่างรวดเร็ว

การปฏิบัติผิดนั้น เกิดจากการหวังผลอย่างรวดเร็ว เพราะไม่เข้าใจหนทางปฏิบัติ ที่ถูก โลภมูลจิต ที่เกิดร่วมกับความเห็นผิด จึงเป็นมิจฉามรรค ที่นำไปสู่ มิจฉาวิมุตติ คือ การพ้นอย่างผิดๆ เพราะไม่ใช่การพ้นจากกิเลสอย่างถูกต้อง แต่เข้าใจผิดว่าพ้น จากกิเลสแล้ว

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 ก.ค. 2549

พระพุทธศาสนาผ่านมาถึง 2500 กว่าปีแล้ว การปฏิบัติโดยที่ยังไม่ได้ศึกษา ให้เข้าใจก่อน แล้วจะปฏิบัติอย่างไร บางคนยังไม่เข้าใจว่าธรรมคืออะไรเลย แล้วจะปฏิบัติ จะปฏิบัติถูกได้อย่างไร ต้องเริ่มที่การศึกษาธรรม ให้เข้าใจก่อน แม้แต่การศึกษาธรรมให้เข้าใจถูกต้อง ก็เป็นเรื่องยากมาก

โดยสมาชิก : dron IP : 203.155.45.160วันที่ : 29-06-2549

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
tanya
วันที่ 4 ก.ค. 2549

สวัสดีคุณ luck ประโยคที่ว่า ... "แต่ถึงท่านไม่มีโอกาสในการศึกษาพระธรรม แต่ท่านมีการฝึกและการปฏิบัติธรรม

ท่านก็สามารถไปสู่ความสงบได้เช่นกัน" ประโยคนี้ของ คุณ luck ต้องขอเรียนว่าป็นไปไม่ได้เลย ศาสนาเป็นคำสอน ใช่ไหม หากเราไปทำอะไร โดยไม่ได้ศึกษาคำสอนเสียก่อน มันก็ต้องเป็นการ

เลี้ยงแพะปนกับแกะนั่นแหละ มันจะเป็นไปได้ยังไง ไปนั่งคิดเอง อย่างนั้นก็ไม่ ต้องมีศาสนาสิ อย่าว่าแต่ไม่ศึกษาแล้ว ไปปฏิบัติเลย ต่อให้ศึกษาแล้วคิดจะปฏิบัติ นี่ก็ผิดแล้ว ทำไมหรือ ... บอกได้เลยว่า ท่านผู้นั้นยังศึกษาเพียงผิวเผิน แล้วก็เกิด ความอยาก อยากบรรลุบ้าง อยากได้บุญบ้าง อยากพ้นทุกข์บ้าง ผู้ที่ศึกษาถูกต้อง ตามคำสอน เขาจะรู้ว่า ไม่ต้องไปหาหนทางปฏิบัติหรอก ขอให้เข้าใจจริงๆ เถอะ ปัญญาที่เกิดนั่นแหละ จะปฏิบัติธรรมเอง ไม่ต้องห่วงเรื่องลิ้มรสผลไม้หรอก ถ้าศึกษาถูกวิธี ก็จะรู้ว่าผลไม้อะไรควรจะลิ้มรส หรือไม่ แบบรีบหาทางปฏิบัติ โดยไม่ลืมหูลืมตานั่นแหละ ไม่มีรสอะไรให้ลิ้มแน่ๆ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
wirat.k
วันที่ 6 ก.ค. 2549

ขออนุโมทนาตามความเห็นของคุณ tanya ครับ คุณ luck ครับ ธรรม ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไม่ใช่เรื่องง่าย เราควร ศึกษาตาม ลำดับ และไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องการปฏิบัติอะไรนะครับ ถ้าเข้าใจถูก ก็จะรู้ว่า สภาพ ธรรม เขาปฏิบัติกิจของเขาอยู่แล้วทุกขณะ แต่เราไม่รู้ และลืมรู้ เป็นประจำเป็นส่วน ใหญ่ ต้องตอบตัวเองให้ได้ว่า เข้าใจจริงๆ หรือยังว่า ธรรมคืออะไร รูปธรรมต่างจาก นามธรรมอย่างไร แล้วตรวจสอบตามหลักฐาน ที่พุทธองค์ทรงแสดงนะครับ ไม่ใช่ ตามที่เขาว่ามา หรือตามความคิดเห็นของเราเอง

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
luck
วันที่ 16 ก.ค. 2549

ขอบคุณทุกท่านค่ะที่ช่วยแสดงความเห็น แต่ดิฉันต้องขอโทษด้วยค่ะที่อาจจะใช้ คำพูดผิดไปหรือรวบรัด จนเกินไปจนทำให้ผู้ฟังเข้าใจผิดได้ ที่ดิฉันบอกว่าถึงท่าน ไม่มีโอกาสศึกษาพระธรรม แต่ท่านมีการฝึกและปฏิธรรมนั้น ท่านก็สามารถไปสู่ความ สงบได้ ดิฉันหมายความว่าเราเป็นชาวพุทธ เราเคยได้เล่าเรียนเกี่ยวกับ พุทธประวัติ และคำสอนของพระพุทธเจ้ามาบ้างแล้ว พอเข้าใจแนวทางและการปฏิบัติเบื้องต้น ก็ เพียงพอแล้ว ดิฉันกำลังจะบอกว่า การปฏิธรรมนั้นสำคัญมากกว่าปริยัติ เพราะการ อ่านจะนำไปสู่ความเห็นชอบ คือความเห็นเกี่ยวกับสภาพธรรมะที่เป็นจริง ที่ถูกต้อง และก็จะนำไปสู่การปฏิบัติที่ถูกต้อง ที่จะนำไปสู่ความสงบได้ เพราะถึงคุณจะ ศึกษาธรรมะมากไปเพียงใดก็ตาม คุณก็จะเพียงรู้ตามสัญญา คือความจำ แต่คุณ จะไม่รู้จริงเลย คือสภาพธรรมะที่เกิดขึ้น ตามความเป็นจริง ในขณะที่คุณได้สัมผัส อยู่ อย่างความโกรธ คุณคงเคยมีกันทุกคน เมื่อคุณไปอ่านหนังสือคุณก็พอจะนึกและ เข้าใจได้ว่าความโกรธเป็นอย่างไร เมื่อขณะรู้สึกโกรธขึ้นมา แต่คุณจะไม่สามารถละ ถอน หรือระงับไม่ให้มีความโกรธเกิดขึ้นได้เลย ถ้าคุณไม่มีการปฏิบัติฝึกหัดจิต หรือ ที่เรียกว่า การปฎิบัติกรรมฐานนั่นเอง ขอบคุณ คุณtanya มากนะคะ ที่ช่วยให้คำ แนะนำ แต่คำพูดที่ดิฉันแสดงความคิดเห็นนั้น ไม่ใช่ที่เลื่อนลอย แต่ก็มาจาก การได้ศึกษาธรรมะ มาบ้างแล้วเหมือนกัน ก็จากการศึกษามา ทำให้ดิฉันเข้าใจ สภาพความเป็นจริงของธรรมมะบ้าง ถ้าคุณได้ศึกษาไปนานๆ คุณจะเข้าใจคำพูด ของดิฉันค่ะ

ความคิดเห็นนี้ผิดหรือถูกอย่างไร กรุณาให้คำชี้แนะด้วยนะคะ ขอบคุณค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
saowanee.n
วันที่ 16 ก.ค. 2549

เรียนคุณ luck

ผู้ที่สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ โดยไม่จำเป็นต้องฟังพระธรรมหรือ ศึกษาพระ ธรรม คือพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าและ พระปัจเจกพุทธเจ้าเท่านั้นนะคะ ที่คุณluck กล่าวว่า "พอเข้าใจแนวทางและการปฏิบัติเบื้องต้น ก็เพียงพอแล้ว ดิฉันกำลังจะบอกว่า การปฏิบัติธรรมนั้น สำคัญมากกว่าปริยัติ" ขอเรียนให้ทราบว่า การศึกษาพระธรรมนั้น คึกษาเท่าไหร่ก็ไม่พอค่ะ แม้แต่พระเสขะบุคคล (พระอริยะ บุคคลขั้นพระโสดาบัน พระสกทาคามีและพระอนาคามี) ก็ยังเป็นผู้ที่ต้องศึกษาอยู่ ยกเว้นพระอเสกขะบุคคลคือพระอรหันต์เท่านั้น ท่านหมดกิจที่จะต้องกระทำอีกต่อ ไปแล้วเพราะสามารถดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท คือไม่เกิดอีกเลย

ชาวพุทธที่แท้จริง ถ้าไม่ศึกษาพระธรรมคำสอนของ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธ เจ้า แล้วควรศึกษาอะไรคะ การบำเพ็ญพระบารมี มาถึง ๔ อสงไขยยิ่งด้วยแสน กัป ก็เพื่อการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม คือความจริงของชีวิต เพราะฉะนั้นแนวทางการ ปฏิบัติของคุณluck โดยไม่จำเป็นต้องศึกษาพระธรรมนั้น จะช่วยให้คุณ luck รู้ความจริงของชีวิตได้อย่างไร และความสงบที่ว่านั้นรู้อะไรคะ ถ้าไม่รู้แล้ว จะละอะไรได้

ความสงบเองก็เป็นสภาพธรรมที่ไม่เที่ยง

การศึกษาพระธรรม เพื่อความเข้าใจนะคะ ไม่ใช่เพื่อจำ นั่นเป็นการผิดวัตถุ ประสงค์ และความเข้าใจ ก็จะนำไปสู่การปฏิบัติเอง นั่นคือธรรม (ปัญญา) ทำกิจ หน้าที่ของธรรม (ปัญญา) โดยที่ไม่ต้องมีตัวเราไปทำอะไรทั้งสิ้น เพราะทำไม่ได้ ธรรมทั้งหลายเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป ไม่กลับมาอีกเลย ลองพิจารณาดู นะคะว่าความเป็นตัวตนนั้นอยู่ที่ไหน

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
chatchai.k
วันที่ 16 ก.ค. 2549

ขออนุโมทนาคุณsaowanee ที่ให้ความกระจ่างในเรื่องของปัญญาและการปฏิบัติ

ธรรมที่ถูกต้อง

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
luck
วันที่ 18 ก.ค. 2549

ดิฉันขอกล่าวถึงข้อความในพระไตรปิฎก (ทุกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๐/๒๖) ว่า "ผู้กล่าวตู่พระตถาคต " ดังมีข้อความว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลายบุคคล ๒ ประเภท เหล่านี้ย่อมกล่าวตู่ (หาความ) คถาคต คือ บุคคลผู้คิดประทุษร้าย โดยมีโทษะภาย ใน ๑ ผู้มีศรัทธา ๑ กล่าวตู่ด้วยถือเอาความหมายผิด*

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๒ ประเภทเหล่านี้แล ย่อมกล่าวตู่ตถาคต" (*แสดงให้เห็นว่า ผู้ให้ร้าย พระพุทธเจ้า ไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่โกรธหรือเกลียดชังเท่านั้น ผู้เคารพนับถือ ที่มี ศรัทธานั่นแหละ ถ้าเรียนผิดหรือเข้าใจผิดก็อาจพูดด้วยความเข้าใจผิดนั้น เป็นในทางให้ร้ายได้เหมือนกัน) ฉะนั้นจากข้อความที่ดิฉันได้เขียนผิดให้ข้างต้น คือ "ถึง ท่านไม่มีโอกาสในการศึกษาพระธรรม แต่ท่านมีการฝึกและการปฎิบัติธรรม ท่านก็ สามารถไปสู่ความสงบได้ โดยได้เช่นกันซึ่งจริงๆ แล้วตีความหมายได้ ๒ อย่างคือ ได้เรียนรู้พระธรรมมาบ้าง แต่ไม่มีโอกาสที่จะได้ศึกษาเท่าไหร่ กับไม่ได้เรียนรู้พระ ธรรมมาเลย แต่ก็สามารถปฏิบัติธรรมได้ ซึ่งมีความหมายกำกวม ทำให้ผู้อ่านส่วนมากเข้าใจผิด ซึ่งจัดเป็นการ กล่าวตู่พระตถาคตได้เหมือนกัน (ซึ่งในความหมาย จริงๆ คือ ดิฉันต้องการจะบอกว่า ท่านที่ได้ศึกษาพระธรรมมาบ้างแล้ว และพอรู้แนว ทางที่จะปฎิบัติ ท่านก็สามรถปฎิบัติ ไปให้ถึงความสงบได้ โดยไม่จำเป็นต้องมุ่งศึกษาแต่พระธรรมจนเกินไป เพราะศึกษางัยงัยก็คงยังไม่จบ จบยาก ควรจะเห็นความสำคัญของการปฏิธรรมให้มากขึ้น) ฉะนั้นดิฉันจึงอยากให้ ผู้ศึกษาพระธรรมทั้งหลาย เห็นความสำคัญในการใช้ภาษาธรรมต้องให้ถูกต้องที่สุด จะผิดจากความ หมายของพระพุทธองค์ ที่ทรงกล่าวใว้ไม่ได้เลย เพราะถ้าความหมายผิด ก็จะนำไป สู่ความเข้าใจผิด เห็นผิด ซึ่งจะเป็นการให้ร้าย กับพระพุทธองค์ด้วยความไม่รู้ หรือ ไม่ตั้งใจก็ตาม ทำให้เกิดอกุศลกรรมขึ้นได้ ดิฉันจึงขอยกหัวข้อธรรมนี้ เพื่อเป็นการ เตือนสติ แก่ผู้ศึกษาธรรมทั้งหลาย ที่จะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับพระธรรม และขอบคุณท่านทั้งหลาย ที่ตอบกระทู้มา เพื่อเตือนสติของดิฉัน ให้เห็นข้อผิดพลาด

ของตนเองค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
kchat
วันที่ 18 ก.ค. 2549

ข้อความในอังคุตตรนิกาย ปฐมปัณณาสก์ อวิชชาสูตร

ข้อความบางตอน มีว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าววิชชาและวิมุตติว่า มีอาหาร มิได้กล่าวว่า ไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของวิชชาและวิมุตติ ควรกล่าวว่า โพชฌงค์ ๗ แม้โพชฌงค์ ๗ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของ โพชฌงค์ ๗ ควรกล่าวว่า สติปัฏฐาน ๔ แม้สติปัฏฐาน ๔ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มี อาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของสติปัฏฐาน ๔ ควรกล่าวว่า สุจริต ๓ (เพื่อที่จะไม่ให้ขาดสติ และประพฤติทุจริต เพราะถ้ากิเลสยังมีกำลังแรง เป็นผู้ที่กระทำทุจริตอยู่ เสมอ และหวังที่จะให้สติปัฏฐานเกิด ก็ย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะสติปัฏฐานเป็นสติขั้น ที่สูงกว่า สติทั่วๆ ไป) แม้สุจริต ๓ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็ อะไรเป็นอาหารของสุจริต ๓ ควรกล่าวว่า การสำรวมอินทรีย์ แม้การสำรวมอินทรีย์ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของ การสำรวม อินทรีย์ ควรกล่าวว่า สติสัมปชัญญะ แม้สติสัมปชัญญะ เราก็กล่าวว่า มีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของสติสัมปชัญญะ ควรกล่าวว่า การทำ ไว้ในใจโดยแยบคาย แม้การทำไว้ในใจ โดยแยบคาย เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของการกระทำไว้ในใจ โดยแยบคาย ควรกล่าวว่าศรัทธา แม้ศรัทธา เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหาร ของศรัทธา ควรกล่าวว่า การฟังสัทธรรม แม้การฟังสัทธรรม เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของการฟังสัทธรรม ควรกล่าวว่าการ คบสัปบุรุษ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการดังนี้ การคบสัปบุรุษที่บริบูรณ์ ย่อมยังการ ฟังสัทธรรมให้บริบูรณ์ การฟังสัทธรรมที่บริบูรณ์ ย่อมยังศรัทธาให้บริบูรณ์ ศรัทธาที่ บริบูรณ์ ย่อมยังการทำไว้ในใจโดยแยบคายให้บริบูรณ์ การทำไว้ในใจโดยแยบคายที่ บริบูรณ์ ย่อมยังสติสัมปชัญญะให้บริบูรณ์ สติสัมปชัญญะที่บริบูรณ์ ย่อมยังการสำรวม อินทรีย์ให้บริบูรณ์ การสำรวมอินทรีย์ที่บริบูรณ์ ย่อมยังสุจริต ๓ ให้บริบูรณ์ สุจริต ๓ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์ สติปัฏฐาน ๔ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์ โพชฌงค์ ๗ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ วิชชาและ วิมุตตินี้มีอาหารอย่างนี้ และบริบูรณ์อย่างนี้ ฯ

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
tanya
วันที่ 18 ก.ค. 2549

คำว่า "ดิฉันกำลังจะบอกว่า การปฏิธรรมนั้น สำคัญมากกว่าปริยัติ" เป็นอย่างที่ ว่าหรือ คุณluck "ปฏิบัติฝึกหัดจิตหรือที่เรียกว่า การปฎิบัติกรรมฐาน" แล้วไม่โกรธ จริงๆ หรือ การปฎิบัติกรรมฐาน ของคุณluck ทำอย่างไรหรือ เล่าให้ฟังได้ไหม มีปัญญาเกิดไหม

 
  ความคิดเห็นที่ 18  
 
luck
วันที่ 19 ก.ค. 2549

ดิฉันมั่นใจค่ะว่า การปฎิบัติธรรมสำคัญมากกว่าปริยัติ ขอกล่าวถึงทุกขนิกาย อังคุตตรนิกาย ๒๐/๗๘ กล่าวใว้ว่า ธรรมที่เป็นไปในส่วนแห่งความรู้ (วิชาภาคิยะ) มีดังนี้ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมอันเป็นไปในส่วนแห่งวิชชา (วิชชาภาคิยะ) ๒ อย่างเหล่านี้ คือ ๑. สมถะ (ความสงบ) ๒. วิปัสสนา (ความเห็นแจ้ง) ๑. สมถะอันบุคคลเจริญแล้วย่อมทำให้จิตได้รับการอบรม จิตได้รับการอบรมแล้ว ย่อมทำให้ละราคะ (ความกำหนัดยินดีหรือความติดอกติดใจ) ได้ ๒. วิปัสสนา อันบุคคลเจริญแล้วย่อมทำให้ปัญญาได้รับการอบรม ปัญญาได้รับ การอบรมแล้วย่อมทำให้ละอวิชชา (ความไม่รู้จริง) ได้ " ดิฉันจึงเห็นว่า ธรรมที่จะนำไปสู่ความรู้ ที่จะทำให้เกิดปัญญา ที่ทำให้เกิด ความรู้จริงนั้น ต้องเริ่มการปฏิบัติ สติปัฏฐาน ๔ โดยเริ่มจากสมถะกรรมฐานก่อน ถึงจะเข้าถึงวิปัสสนาตามลำดับ แต่ธรรมที่เราได้รับรู้ โดยทางปริยัตินั้น (หมายถึง การอ่านหรือการฟังมานั้น) ผู้ที่เป็นปุถุชน หมายถึงบุคคลทั่วไปที่มีกิเลสหนานั้น เมื่อได้สดับฟังธรรม ก็ย่อมขัดเกลากิเลสบางส่วนให้เบาบางลงได้ แต่ไม่สามารถที่ จะละราคะหรือละอวิชชาได้เลย ถ้าไม่มีการฝึกปฏิบัติสมถกรรมฐานไปจนถึงวิปัสสนา กรรมฐาน (ทำให้เกิดปัญญา) ฉะนั้นการปฏิบัติธรรม จึงสำคัญมากกว่าค่ะ แต่ก็ ไม่ควรทิ้งปริยัติ เพราะจะทำให้เราเข้าใจดียิ่งขึ้นในภาพธรรมที่เกิดขึ้นค่ะ ส่วนการปฏิบัติกรรมฐาน ในการปฏิบัติ สติปัฏฐาน ๔ นั้นถ้าสามารถทำได้ถึง ขั้นสูงสุดของปัญญาแล้ว คือปัญญาวิมุตติ สามารถที่จะหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ ทั้งหลายที่นอนเนื่องในสันดานได้ ฉะนั้นจึงเป็นไปได้อย่างแน่นอน ที่จะระงับ ไม่ให้เกิดความรัก โลภ โกรธ หลง ได้ ดิฉันก็ปฏิบัติอยู่ในขั้นสมถะกรรมฐาน บางครั้งก็สงบแต่บางครั้งก็ไม่สงบ แต่ สงบอย่างไรหรือเป็นยังไง คุณต้องไปปฎิบัติเองค่ะ เพราะเป็นปัจจัตตัง วิญญูหิ คือรู้ได้เฉพาะตน ไม่สามารถบรรยายเป็นคำพูดได้ แต่เป็นสงบจากสมถะนะคะ ยังไม่รู้ว่าต้องบำเพ็ญเพียรอีกกี่ชาติ ถึงจะเป็นการสงบที่เกิดจากปัญญา ในขั้นสูง (แต่มีหลายระดับนะคะ ความสงบที่เกิดจากปัญญา) แต่ก็ไม่ควรทิ้งการศึกษาทั้ง สองอย่างนะคะ เพราะอย่างน้อย ก็ยังเป็นนิสัยปัจจัยติดตัวไปในภพภูมิข้างหน้า

 
  ความคิดเห็นที่ 19  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 20 ก.ค. 2549

ก่อนการตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาค ก็มีผู้บำเพ็ญเพียรเจริญสมถภาวนา จนบรรลุถึง เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน และฝึกอบรมจิต จนอธิษฐานให้มีตาทิพย์ หูทิพย์ ระลึกชาติได้ และสามารถกระทำอิทธิปาฏิหาริย์ได้ แต่แม้กระนั้นท่านเหล่านั้นก็ยังไม่ สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรม เมื่อไม่ได้อบรมเจริญเหตุ คือ วิปัสสนาภาวนาจนสมบูรณ์ ที่จะเป็นปัจจัยให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ และบางท่านก็ยังเห็นผิด ยึดมั่นในการปฏิบัติ ซึ่งไม่ใช่หนทางให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม แม้เมื่อพระผู้มีพระภาค ทรงตรัสรู้ และทรง แสดงพระธรรมแล้ว ผู้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ถึงความเป็นพระอริยสาวกที่ไม่บรรลุฌานจิต ก็มีมากกว่า พระอริยสาวก ผู้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม พร้อมด้วยองค์ของฌานขั้นต่างๆ ทั้งนี้ย่อมแสดงให้เห็นว่า การเจริญสมถภาวนาที่ถูกต้องนั้น เป็นสิ่งกระทำได้ยาก เพียงใด

 
  ความคิดเห็นที่ 20  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 20 ก.ค. 2549

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม 35 หน้าที่ 402

๑๐. ยุคนัทธสูตร

[๑๗๐] สมัยหนึ่ง พระอานนท์อยู่ ณโฆสิตาราม กรุงโกสัมพี ท่านเรียกภิกษุทั้งหลายในที่นั้นมา ฯลฯ แสดงธรรมว่า อาวุโสทั้งหลาย สหธรรมิกผู้ใดผู้หนึ่ง เป็นภิกษุก็ตาม ภิกษุณีก็ตาม พยากรณ์ การบรรลุ พระอรหัตในสำนักของเรา ด้วยมรรค ๔ โดยประการทั้งปวง หรือว่าด้วย มรรคใดมรรคหนึ่งในมรรค ๔ นั้น มรรค ๘ เป็นไฉน

ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้บำเพ็ญวิปัสสนามีสมถะเป็นเบื้องหน้าเมื่อเธอ บำเพ็ญวิปัสสนามีสมถะเป็นเบื้องหน้าอยู่ มรรคย่อมบังเกิดขึ้น เธอส้องเสพ เจริญกระทำให้มากซึ่งมรรคนั้น เมื่อเธอส้องเสพเจริญการทำให้มากซึ่งมรรค นั้นอยู่ ย่อมละสังโยชน์ได้ อนุสัยก็ย่อมสิ้นไป

อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้บำเพ็ญสมถะมีวิปัสสนาเป็น เบื้องหน้า เมื่อเธอบำเพ็ญสมถะมีวิปัสสนาเป็นเบื้องหน้าอยู่ มรรคย่อมบังเกิด ขึ้น เธอส้องเสพเจริญกระทำให้มากซึ่งมรรคนั้น เมื่อเธอส้องเสพเจริญการทำ ให้มากซึ่งมรรคนั้นอยู่ ย่อมละสังโยชน์ได้ อนุสัยก็ย่อมสิ้นไป อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุในธรรมวินัยนี้บำเพ็ญสมถะและวิปัสสนาเป็นคู่ กันไป เมื่อเธอบำเพ็ญสมถะและวิปัสสนาเป็นคู่กันไปอยู่ มรรคย่อมบังเกิดขึ้น เธอส้องเสพเจริญกระทำให้มากซึ่งมรรคนั้นเมื่อเธอส้องเสพเจริญกระทำให้มาก ซึ่งมรรคนั้นอยู่ ย่อมละสังโยชน์ได้ อนุสัยก็ย่อมสิ้นไป

อีกอย่างหนึ่ง ใจของภิกษุปราศจากอุทธัจจะในธรรมแล้ว สมัยนั้น จิตนั้นย่อมตั้งมั่น หยุดนิ่งอยู่ภายในเป็นหนึ่งแน่วแน่เป็นสมาธิ มรรคย่อมเกิดแก่ ภิกษุนั้น เธอส้องเสพเจริญกระทำให้มากซึ่งมรรคนั้น เมื่อเธอส้องเสพเจริญ กระทำให้มากซึ่งมรรคนั้น ย่อมละสังโยชน์ได้ อนุสัยก็ย่อมสิ้นไป อาวุโสทั้งหลาย ผู้ใดผู้หนึ่ง เป็นภิกษุก็ตาม ภิกษุณีก็ตาม มา พยากรณ์การบรรลุพระอรหัตในสำนักของเรา ด้วยมรรค ๔ นี้ โดยประการ ทั้งปวง หรือด้วยมรรคใดมรรคหนึ่งใน ๔ มรรคนั้น.

จบยุคนันธสูตรที่ ๑๐

จบปฏิปทาวรรคที่ ๒

 
  ความคิดเห็นที่ 21  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 20 ก.ค. 2549

การเจริญสมถภาวนาดับกิเลสไม่ได้

การเจริญสมถภาวนา ที่จะบรรลุถึงแม้อุปจารสมาธิ ก็แสนยาก เพราะปกติเมื่อ อารมณ์ใดกระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ย่อมคล้อยตามอารมณ์นั้น ด้วยโลภะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง กุศลที่เป็นไปในทานบ้าง ในศีลบ้าง ในภาวนาบ้างนั้น ในวันหนึ่งๆ มีเป็นส่วนน้อยมาก เมื่อเทียบกับอกุศลที่เกิดขึ้นรวดเร็วเป็นประจำ ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และการเจริญสมถภาวนานั้น ก็ดับกิเลสไม่ได้ เมื่อกิเลสเกิด ขึ้นครอบงำจิตใจขณะใด สมถภาวนา ที่เพียรอบรมมาจนถึงขั้นสามารถแสดงอิทธิ ปฏิหาริย์ต่างๆ ได้ ก็เสื่อมหมดสิ้นไป

 
  ความคิดเห็นที่ 22  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 20 ก.ค. 2549

ผู้เจริญสมถภาวนาต้องรู้ความต่างกันของโลภมูลจิตและกุศลจิต

ผู้ที่จะเจริญสมถภาวนาจึงต้องรู้ความต่างกันของโลภมูลจิตและกุศลจิต มิฉะนั้น ก็จะทำสมาธิด้วยโลภมูลจิตเป็นมิจฉาสมาธิ เมื่อไม่ประกอบด้วยปัญญา ส่วนใหญ่ผู้ที่ทำสมาธิ ไม่ต้องการให้จิตวุ่นวายเดือดร้อนกังวลไปกับเรื่องราวต่างๆ พอใจที่จะให้จิตตั้งมั่นอยู่ที่อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง โดยไม่รู้ว่าขณะที่กำลังต้องการให้ จิตจดจ่อที่อารมณ์ที่ต้องการนั้น ไม่ใช่มหากุศลญาณสัมปยุตต์

 
  ความคิดเห็นที่ 25  
 
luck
วันที่ 20 ก.ค. 2549

กรุณาช่วยอธิบายถึงความหมายที่ ผู้ที่ทำสมาธิไม่ต้องการให้จิตวุ่นวาย พอใจที่จะ ให้จิตตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง โดยไม่รู้ว่า ขณะที่กำลังต้องการให้จิตจ่อที่ อารมณ์ที่ต้องการนั้น ไม่ใช่มหากุศลญานสัมปยุตต์ หมายความว่าอย่างไรคะ ขอ ความหมายของคำว่า มหากุศลญาณสัมปยุตต์ด้วยค่ะ ในการฝึกสมาธิเท่าที่ทราบมา การตั้งจิตให้มั่นอยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งนั้น (เช่นการกำหนดลมหายใจเข้า-ออก เป็นต้น) เป็นสิ่งที่ถูกต้องไม่ใช่เหรอคะ เพื่อเป็นการรวมสติโดยเพ่งหรือให้เกิดความ สนใจในจุดๆ เดียว กรุณาช่วยอธิบายด้วยค่ะว่า ดิฉันเห็นถูกหรือผิดอย่างไร และ ควรเจริญสมาธิอย่างไรถึงจะถูกต้องคะ

ขออนุญาตแทรกคำตอบ ความหมายคำที่คุณ luck ถามนะครับ

สำหรับคำตอบอื่นๆ อ่านในกรอบถัดไปนะครับ ... จากบ้านธัมมะ

ถาม ขอความหมายของคำว่า มหากุศลญาณสัมปยุตต์ด้วยค่ะ

ตอบ มหากุศลญาณสัมปยุตต์ เป็นชื่อของกุศลจิตประเภทหนึ่ง เมื่อเกิดขึ้นมีปัญญา เกิดร่วมด้วย คือ เป็นจิตที่ดีงาม มีเจตสิก ฝ่ายดีเกิดร่วมด้วยเป็นจำนวนมาก เช่น ศรัทธา สติ หิริ โอตตัปปะ อโลภะ อโทสะ ปัญญา เป็นต้น

 
  ความคิดเห็นที่ 26  
 
email
วันที่ 20 ก.ค. 2549

การทำสมาธิเมื่อไม่ประกอบด้วยปัญญาก็เป็นมิจฉาสมาธิ

การทำสมาธิให้จิตจดจ่อที่อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งนานๆ นั้น เมื่อไม่ประกอบด้วย ปัญญาก็เป็นมิจฉาสมาธิ เพราะขณะนั้นเป็นความพอใจ ที่จะให้จิตตั้งมั่นแน่วแน่อยู่ที่ อารมณ์เดียว เมื่อปราศจากปัญญา ก็ไม่สามารถรู้ความต่างกันของโลภมูลจิตและกุศล จิต เพราะโลภมูลจิต และกามาวจรกุศลจิต มีเวทนาประเภทเดียวกันเกิดร่วมกันด้วย โลภมูลจิต ๘ ดวง มีอุเบกขาเวทนาเกิดร่วมด้วย ๔ ดวง มีโสมนัสเวทนาเกิดร่วมด้วย ๔ ดวง กามาวจรกุศลจิต ๘ ดวง มีอุเบกขาเวทนาเกิดร่วมด้วย ๔ ดวง มีโสมนัสเวทนาเกิดร่วมด้วย ๔ ดวง

ฉะนั้น ขณะใดที่อุเบกขาเวทนาเกิดขึ้น หรือโสมนัสเวทนาเกิดขึ้น จึงยากที่จะ รู้ว่า จิตที่ไม่สุข ไม่ทุกข์ ไม่เดือดร้อน หรือขณะที่โสมนัสยินดีเป็นสุขนั้น เป็น โลภมูลจิตหรือเป็น มหากุศลจิต

 
  ความคิดเห็นที่ 27  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 20 ก.ค. 2549

สมาธิเป็นสภาพธรรมที่ตั้งมั่นในอารมณ์

สมถภาวนาไม่ใช่การทำสมาธิ สมาธิเป็นสภาพธรรมที่ตั้งมั่นในอารมณ์ ซึ่งได้แก่ เอกัคคตาเจตสิก ที่เกิดกับจิตทุกดวง เมื่อจิตฝักใฝ่มีอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งนานๆ ลักษณะของเอกัคคตาเจตสิก ก็ปรากฏเป็นสมาธิ คือตั้งมั่นแน่วแน่อยู่ที่อารมณ์ใด อารมณ์หนึ่งเพียงอารมณ์เดียว เอกัคคตาเจตสิกที่เกิดกับอกุศลจิต เป็นมิจฉาสมาธิ เอกัคคตาเจตสิก ที่เกิดกับกุศลจิตเป็นสัมมาสมาธิ

 
  ความคิดเห็นที่ 28  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 20 ก.ค. 2549

วิปัสสนาจำเป็นจะต้องฝึกสมาธิก่อนหรือไม่

ก่อนการตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาค ก็มีผู้ที่อบรมเจริญความสงบของจิต ถึงขั้นอรูป ฌาน ขั้นสูงสุด คือ เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน แต่ไม่ใช่หนทางดับกิเลส ไม่ใช่ หนทางดับทุกข์ การอบรมเจริญสมถะภาวนา จึงเป็นการเจริญกุศลจิต ซึ่งสงบจาก อกุศล จนจิตสงบมั่นคงเป็นสมาธิขั้นต่างๆ เมื่อพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมสัมพุทธ- เจ้า ทรงตรัสรู้แล้ว จึงทรงแสดงพระธรรม เพื่ออนุเคราะห์บุคคลอื่น ให้อบรมเจริญ ปัญญา จนสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมดับกิเลสได้ การอบรมเจริญวิปัสสนา เป็นการอบรมเจริญปัญญาที่ดับกิเลส ฉะนั้น ผู้ที่อบรม เจริญวิปัสสนา ทั้งในสมัยที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ตลอดมาจนถึงสมัยนี้และ ทุกสมัย จึงไม่จำเป็นต้องอบรมเจริญสมถะภาวนา ถึงขั้นของฌานจิต เมื่อศึกษาโดย ละเอียดจะเห็นได้ว่า การอบรมเจริญวิปัสสนานั้นเป็นการอบรมเจริญปัญญา ที่สามารถ รู้ชัดประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ คือขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังคิดนึก กำลังเป็นสุขเป็นทุกข์ในขณะนี้นั่นเอง

ฉะนั้น ที่ถามว่า การปฏิบัติวิปัสสนาจำเป็นจะต้องฝึกสมาธิก่อนหรือไม่ ถ้าศึกษา ในมหาสติปัฎฐานสูตร จะเห็นว่าไม่มีความจำเป็นต้องฝึกสมาธิก่อน เพราะเหตุว่า การ เห็น ก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นอนัตตา สติจะ ต้องระลึกจนกว่าจะรู้ชัดว่า ขณะเห็นนี้ก็เป็นสภาพธรรมที่เป็นอนัตตา สติจะต้องระลึก จนกว่าจะรู้ชัดว่า ขณะที่กำลังคิดนึก ก็ไม่ใช่ตัวตน เป็นจิตที่กำลังคิดเรื่องราวต่างๆ จิตแต่ละขณะแต่ละประเภทเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สติจะต้อง ระลึกรู้จนกว่าปัญญาจะประจักษ์แจ้ง

 
  ความคิดเห็นที่ 29  
 
tanya
วันที่ 20 ก.ค. 2549

สวัสดี คุณ luck

ขออธิบายอย่างนี้นะ ถ้าเรากล่าวถึงระดับของการอบรมเจริญภาวนา ตามคำ สอนขององค์พระบรมศาสดาที่เรียกว่า สัทธรรม 3 ซึ่งเป็นแก่นของพระศาสนา จะมีอยู่ 3 ขั้นใหญ่ๆ ขั้นที่ 1 เรียกว่าขั้นปริยัติ คือขั้นที่เราเรียนรู้ตามตำรา ตามคำสอนของพระผู้มี พระภาค จนมีความเข้าใจในเนื้อหา หรือเข้าใจเรื่องราวของธรรมมะนั่นแหละ ซึ่ง ความรู้ขั้นนี้ ไม่สามารถประหารกิเลสใดๆ ได้เลย ในขั้นนี้จำเป็นต้องเล่าเรียน หรือ ฟังตามคำสอนตามพุทธพจน์ ... ครั้นเราเข้าใจเรื่อราวแล้วจึงเป็น

ขั้นที่ 2 ที่เรียกว่าปฏิบัตินั้น ไม่ได้หมายถึง การออกไปดำเนินการตามที่เรียนมา อย่าเอาไปทำเหมือนกับการเรียนภาคทฤษฎี แล้วต้องไปออกฝึกภาคสนาม เรา ไม่ได้กำลังเรียน รด. คำว่าปฏิบัติ ไม่ใช่เป็นคำไทย มีความหมายว่า ถึงเฉพาะ ก็คือ เราเข้าใจเรื่องราวของธรรมมะแล้ว เราก็พิจารณาด้วยตัวเราเองว่า สภาพธรรมทั้ง หลายที่อยู่ในตำรานั้น เราต้องเข้าถึงตัวธรรมะจริงๆ ตามสัจจธรรม ด้วยการระลึกรู้ สภาพธรรมที่ปรากฎ เฉพาะในแต่ละลักษณะ หรือที่เรียกว่า การเจริญสติปัฏฐาน ตรงนี้แหละ บรรดาผู้ที่ไม่ศึกษาปริยัติให้ดี ก็คิดวิธีปฏิบัติ ในความหมายแบบไทยๆ กันยกใหญ่ ด้วยการไปยึดเรื่องราวบางตอน ในพระไตรปิฎก เช่น การเดินจงกรม การนั่งสมาธิ การเจริญอานาปานสติ การเจริญกรรมฐาน แล้วก็กระทำตามๆ กันโดย ขาดการศึกษาที่เป็นการอบรมเจริญปัญญา

สำหรับขั้นที่ 3 ปฏิเวธ นั้นเป็นขั้นสูงสุด เป็นขั้นที่อบรมผ่านการเจริญสติปัฏฐาน เป็นปกติ จนถึงขั้นวิปัสสนาญาณหลายระดับ อบรมจะต้องเข้าใจสภาพธรรมทั้งหลายว่า เป็นเพียงรูปธรรม นามธรรม เกิดขึ้นและดับไปอย่างรวดเร็ว ตามเหตุและ ปัจจัย ผู้อบรมต้องเข้าใจถึงสามัญลักษณะที่เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน จนกระทั่งมีพระนิพพานเป็นอารมณ์ เมื่อถึงขั้นนี้ ชาติของจิตที่เป็น กามาวจรจิต ก็จะดับไป มีโลกุตตรจิต ที่เรีกว่า มรรคจิต ผลจิต เกิดขึ้นประหารกิเลส เป็นพระอริยบุคคล

ที่กล่าวมานี้เป็นเพียงย่อๆ ตามที่ได้รับฟังจากผู้รู้มาบ้าง เพียงเล็กน้อย รู้ดีว่า การอบรมเจริญภาวนา ไม่ใช่เรืองที่จะไปเสาะหากรรมวิธีมาจัดการได้ด้วยความอยาก หรือมีตัวตนต้องการ การอบรมต้องไปในทาง ละคลาย ไม่มีใครไปกำหนดการปฏิบัติ ได้ ความเข้าใจในปริยัติ บ่อยๆ เนืองๆ จะเป็นสังขารขันธ์ เกิดปัญญา ทำการปฏิบัติ เอง ไม่ใช่เรา ยิ่งเราไปเสาะหา จดจ้องด้วยความต้องการ เหตุไม่สมกับผล ก็จะต้อง ติดข้องอยู่ในอกุศลจิต ไม่มีทางได้เข้าใกล้สัจจธรรมอย่างแน่นอน

 
  ความคิดเห็นที่ 30  
 
prakaimuk.k
วันที่ 21 ก.ค. 2549

ขออนุโมทนามูลนิธิฯ บ้านธัมมะ และสหายธรรมทุกๆ ท่านค่ะ ที่ช่วยกันให้ความ

กระจ่างในเรื่องต่างๆ ที่หลายๆ คนยังสงสัยอยู่ หรือยังเข้าใจไม่ชัดเจน ... ถีอเป็น กัลยาณมิตรอย่างแท้จริงค่ะ ... A friend in Dhamma is a friend indeed ... The Buddha has said to Ananda, "Having good friends and advancing together with them, is not half the Bhuddhist way, it is all the Buddhist way".

 
  ความคิดเห็นที่ 32  
 
luck
วันที่ 25 ก.ค. 2549

ในการศึกษาทางด้านปริยัติ ดิฉันอาจจะมีไม่มากนัก ดิฉันขอเรียนถามว่า ในพระ ไตรปิฏกหรือในพระธรรมทั้งหลาย มีบอกบ้างไหมคะว่า เด็กๆ ก็สามารถปฏิบัติธรรม ได้ และผลออกมาเป็นอย่างไรบ้างคะ หรือผู้ที่ไม่รู้หนังสือ แต่ได้ฟังพระธรรมก็ สามารถปฏิบัติธรรมจนบรรลุธรรมขั้นหนึ่งได้ มีมั้ยคะ เพราะอะไร

 
  ความคิดเห็นที่ 33  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 ก.ค. 2549

การฟังเป็นเหตุให้เจริญปัญญา

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้าที่ 49

เถรคาถา เอกนิบาต วรรคที่ ๒

๑. มหาจุนทเถรคาถา

ว่าด้วยคาถาของพระมหาจุนเถระ

[๒๖๘] ได้ยินว่า พระมหาจุนทเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้ อย่างนี้ว่า

การฟังดี เป็นเหตุให้การฟังเจริญ การฟังเป็น

เหตุให้เจริญปัญญา บุคคลจะรู้ประโยชนก็เพราะปัญญา

ประโยชน์ที่บุคคลรู้แล้ว ย่อมนำสุขมาให้ ฯลฯ

 
  ความคิดเห็นที่ 34  
 
webdh
วันที่ 25 ก.ค. 2549

ธรรมเป็นเรื่องละเอียดไม่สามารถคิดหรือปฏิบัติเองโดยไม่ฟังพระธรรม นี่เป็นข้อที่ สำคัญมาก ที่เป็นเช่นนี้ เพราะผู้ที่สามารถ คิดถูก ปฏิบัติถูก โดยไม่ต้องฟังพระธรรม (คือสามารถตรัสรู้ได้เองโดยไม่ต้องฟังคำสอนของผู้ใด) มีเพียงบุคคล 2 ประเภท เท่านั้น คือ

1. พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า (ตรัสรู้แล้ว สามารถสอนผู้อื่นให้ตรัสรู้ตามได้)

2. พระปัจเจกพุทธเจ้า (ตรัสรู้แล้ว ไม่สามารถสอนผู้อื่นให้ตรัสรู้ตามได้)

 
  ความคิดเห็นที่ 35  
 
webdh
วันที่ 25 ก.ค. 2549

การปฏิบัติผิดนั้น เกิดจากการหวังผลอย่างรวดเร็ว

การปฏิบัติผิดนั้น เกิดจากการหวังผลอย่างรวดเร็ว เพราะไม่เข้าใจหนทางปฏิบัติ ที่ถูกโลภมูลจิต ที่เกิดร่วมกับความเห็นผิด จึงเป็นมิจฉามรรค ที่นำไปสู่มิจฉาวิมุตติ คือการพ้นอย่างผิดๆ เพราะไม่ใช่การพ้นจากกิเลสอย่างถูกต้อง แต่เข้าใจผิด ว่าพ้น จากกิเลสแล้ว

 
  ความคิดเห็นที่ 36  
 
saowanee.n
วันที่ 25 ก.ค. 2549

ตัวอย่างของผู้ที่บรรลุธรรม ตั้งแต่อายุยังน้อย คือท่านวิสาขา มหาอุบาสิกาค่ะ ท่านบรรลุเป็นพระโสดาบัน เมื่ออายุเพียง ๗ ขวบเท่านั้น หลังจากที่บิดาของท่าน ให้ท่านไปรับเสด็จ พระผู้มีพระภาคเจ้า และได้ฟังพระธรรม จะเห็นได้ว่าการบรรลุ ธรรมนั้นไม่ได้จำกัดเพศ วัย หรือฐานะ แต่อยู่ที่การสั่งสม ของแต่ละบุคคลเป็น สำคัญ สังสารวัฏฏ์นั้นยาวนานมากนะคะ หาที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้เลย จิตที่กำลังเกิดดับสืบต่ออยู่ในขณะนี้ ก็มีการสั่งสมทั้งกุศลและอกุศล ไม่ได้หาย หกตกหล่นไปไหนแม้สักขณะเดียว เมื่อเหตุมีอยู่ (คือการอบรมสั่งสมความรู้ความ เข้าใจ) ผลก็ย่อมมี (คือการบรรลุธรรม) การปฏิบัติธรรมเป็นการเข้าถึงสภาพธรรม นั้นๆ ตามความเป็นจริงค่ะ ซึ่งก็ต้องเริ่มจากการศึกษาพระธรรม (ปริยัติ) จนกว่า จะเข้าใจจริงๆ ไม่มีหนทางอื่นค่ะ ถ้าคึกษาจากพระไตรปิฎก จะเห็นได้ว่าผู้ที่ตรัสรู้ ตามเป็นสาวกคือผู้ฟังทั้งสิ้น

 
  ความคิดเห็นที่ 37  
 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่ 26 ก.ค. 2549

พระพุทธศาสนาเชื่อในหลักกรรม ผู้ใดเชื่อในกรรมจะเห็นว่า การสั่งสมกุศลใน แต่ละบุคคลมีมาต่างๆ กัน ปัญญาแต่ละระดับขั้นต่างๆ กัน จะเห็นคุณของปัญญา (ที่ว่าประดุจดังอาวุธ หรือ แสงสว่างเสมอด้วยปัญญาไม่มี) พระพุทธศาสนาเป็น ศาสนาของผู้รู้ เป็นศาสนาแห่งปัญญา จึงขออนุโมทนาในกุศลของทุกท่าน ที่ พาก เพียรเจริญปัญญา โดยไม่มีผู้พากเพียร มีแต่ธรรมที่พากเพียร อยู่เสมอ ทุกเมื่อ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 39  
 
luck
วันที่ 26 ก.ค. 2549

ขอโทษนะคะ บ้านธัมมะตอบไม่ตรงคำถามค่ะ ที่ดิฉันถามว่าใ นพระไตรปิฏก หรือในพระธรรมทั้งหลายมีบอกบ้างไหมคะว่า เด็กๆ ก็สามารถปฏิบัติธรรมได้ และ ผลออกมาเป็นอย่างไรบ้าง ดิฉันถามเพราะอยากรู้เกี่ยวกับพระธรรม คำสอนของ พระพุทธเจ้า ที่ท่านทรงสอนใว้เกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมค่ะ ว่าเป็นอย่างไรบ้าง กรุณาช่วยชี้แจง เพื่อจะได้เกิดประโยชน์แก่ดิฉันและคนที่กำลังศึกษาพระธรรมค่ะ

ขอบคุณค่ะ

คุณtanya คะ ข้อความที่คุณบอกว่า การอบรมภาวนา ไม่ใช่เรื่องที่จะไปหากรรม วิธี มาจัดการได้ด้วยความอยากหรือความมีตัวตนต้องการ การอบรมต้องไปในทาง ละคลาย ไม่มีใครไปกำหนดการปฏิบัติได้ คุณลองทวนคำพูดของคุณ และคิดดูใหม่ ซิคะว่า เป็นความเห็นที่เป็นมิจฉาทิฏฐิหรือเปล่า เพราะมันขัดแย้งกับความเป็นจริง ค่ะ คุณลองถามตัวเองดูซิคะว่า ถ้าคุณไม่มีความอยาก คุณจะปฏิบัติธรรมได้มั้ย เพราะการฟังพระธรรมไม่ใช่หรือ ที่ทำให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง และนำมาสู่การ ปฏิบัติ ก็ความอยากนี่แหละที่นำมาสู่การปฏิบัติ (แต่ถ้าความอยากนี้หวังผลในการ ปฏิบัติ อย่างนี้ซิคะ ที่เรียกว่าผิด การปฏิบัติที่ถูกต้องนั้น ต้องไม่หวังอะไร) เพราะ ความที่ยังมีตัวตนอยู่นี่แหละ จึงต้องอาศัยตัวตนนี้ ในการเจริญภาวนาวิปัสสนา- กรรมฐาน และที่ว่าไม่มีใครกำหนดการปฏิบัติได้ (ถ้าหมายถึงผลของการปฏิบัติถูก ต้องค่ะ เพราะไม่มีใครสามารถจะกำหนดผลของการปฏิบัติได้ แต่ในการปฏิบัติก็ ต้องอาศัยจิตหรือตัวผู้รู้นี่แหละ เป็นตัวกำหนด) ฉะนั้นการปฏิบัติธรรมนั้นก็เพื่อละ คลายแน่นอน เพื่อละและคลายกิเลสต่างๆ เพื่อที่จะถอนกิเลสที่มีอยู่ในตัวตนนั้น ให้ออกจากสันดาน) ใช่หรือเปล่าคะ จริงๆ แล้ว ผู้ที่ศึกษาพระธรรมกับศึกษาการ ปฏิบัติธรรมนั้น มักจะมีความเห็นไม่ค่อยจะตรงกัน เพราะมักจะเห็นกันไปคนละด้าน เพราะรู้ เห็นและเข้าใจกันคนละทาง เรียกว่าเถียงกันไม่จบ เอาเป็นว่าดิฉันขอยก ข้อธรรมมะจากพระอาจารย์สมัยก่อนรูปหนึ่ง ที่ท่านได้เผยแพร่พระธรรมใว้ เพื่อผู้ฟัง จะได้เข้าใจมากขึ้นนะคะ ดังมีข้อความดังต่อไปนี้

จิตนั้นคืออะไร จิตนั้นอยู่ที่ไหน จิตนั้นคือตัวผู้รู้ เป็นสักแต่ว่าความรู้สึก รู้สึกดีรู้สึก ชั่ว รู้สึกผิดหรือถูก คนที่รู้สึกนั่นแหละเป็นผู้รู้สึก ตัวรู้สึกมันคืออะไร มันก็ไม่คืออะไร ถ้ามันรู้สึกผิดมันก็ไปทำผิด มันรู้สึกถูกมันก็ไปทำถูก ฉะนั้นท่านจึงให้เกิดความรู้สึก ขึ้นมา เรื่องของจิตเรานั้นมันเป็นอาการของจิต เรื่องมันคิดมันคิดไปทั่วเช่นว่า บัดนี้ เราคิดอิจฉาคน นี้เป็นอาการของจิต แต่ไม่เป็นของจริง มันไม่เป็นของจริงนี้เรียกว่า อาการของจิต ถ้าหากคนไม่รู้ตามความเป็นจริงของมันแล้วก็น้อยใจว่า จิตของเราไม่ หยุดนิ่ง จิตเราไม่สงบ อันนี้เราต้องใช้การพิจารณาอีกทีหนึ่งให้มันเข้าใจ เรื่องของ จิตนั้นนะ มันเป็นเรื่องอาการของมัน แต่ที่สำคัญคือมันรู้ รู้ดีมันก็รู้ รู้ชั่วมันก็รู้ รู้ไม่สงบ มันก็รู้ อันนี้คือ ตัวรู้ พระพุทธเจ้าของเราท่านให้ตามรู้ ตามดูจิตของเรา ฉะนั้นผู้รู้ คือ ปัญญาของเราตามรู้ ตามรู้อันนั้นตามความเป็นจริง

ถ้าเราเห็นอารมณ์ตามความเป็นจริงแล้ว มันก็เปลี่ยนไปอีกประเภหนึ่ง (วิปัสสนา กรรมฐาน) เช่นว่า เราได้ยินว่า รถทับคนตายเป็นต้น เราก็เฉยๆ ความรู้ชนิดนี้ มันก็มี แต่มันรู้ไม่เห็น รู้ไม่จริง รู้ด้วยสัญญา (ความจำ) ขนาดนี้มันรู้อย่างนี้ ทีนี้ถ้า หากว่าเดินไปดูซิ รถมันทับคนตายที่ไหน ไปเห็นร่างกายแล้วมันเละหมดแล้ว อันความรู้ครั้งที่สองนี้ มันดีขึ้น เพราะมันไปเห็น เห็นอวัยวะที่ถูกรถทับ มันเกิดสลด สังเวช ความรู้ที่เห็นด้วยตา มันยิ่งมีราคาสูงยิ่งกว่าเขา เมื่อเราไปเห็นสิ่งอันนี้ มัน เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่แน่ไม่นอนในร่างกายเรานี้ ไม่มีอะไรเป็นแก่นสาร ไม่ สดไม่สวย ความรู้สึกนึกคิดในเวลานั้นมันก็เกิดปัญญา (วิปัสสนา) เป็นเหตุให้ถอน อุปาทาน (ความยึดมั่นถือมั่น) ออกได้ เรียกว่า ความรู้สึกอันนี้มันสูงขึ้นๆ ต้อง พิจารณาอย่างนี้ การทำกรรมฐานถ้าไม่รู้จักแล้วก็จะลำบาก บางคนไม่เคยทำ เมื่อ มาทำสองวันสามวันมันก็ไม่สงบ มันก็เลยนึกว่า เราทำไม่ได้ เราต้องคิดว่า เมื่อเรา เกิดมาเคยถูกสอนหรือยัง เราเคยทำความสงบหรือเปล่า เราปล่อยมานานแล้ว ไม่ เคยหัดมัน มาฝึกมันชั่วระยะหนึ่ง อยากให้มันสงบ อย่างนี้เหตุมันไม่พอ ผลมันก็ไม่ มี เป็นเรื่องของธรรมดา เป็นเรื่องอันตัวเรา ท่านทั้งหลายจะหลุดพ้น (ต้องอดทน การอดทนเป็นแม่บทของการปฏิบัติ) ให้เห็นกายให้เห็นใจ เมื่อรู้จักธรรมตามความเป็นจริงแล้วนั่น ความที่เรายึดมั่นถือ มั่น (อุปาทาน) แต่ก่อนๆ มันจะผ่อนออก เห็นตามความเป็นจริงของมัน อุปาทาน มั่นหมาย ในความดี ความชั่ว ทั้งหลาย มันจะคลายออก คลายออก เห็นมันเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นของไม่แน่นอน ความรู้สึกนึกคิดของเราไปมีอุปาทานมั่นหมายมันขึ้นมาเมื่อไร มันก็เป็นทุกข์เมื่อ นั้น ฉะนั้นการปฏิบัติ ท่านจึงให้ปล่อยวาง เราต้องการธรรมไปทำไม ต้องการ ธรรมไปเพื่อรู้ตามความเป็นจริงเท่านั้นเอง เช่น ถ้าเจ็บป่วยขึ้นมาก็ให้รู้จัก สังขาร รู้ธรรมตามความเป็นจริง ตายก็เอาหายก็เอา เพราะอันนี้ไม่ใช่ธุระหน้าที่ ของเรา มันเป็นธุระหน้าที่ของสังขาร ถ้าเราภาวนาเห็นเช่นนี้ทุกขณะ จิตก็ปล่อยวางสบาย การภาวนานั้น ไม่ใช่ว่า นั่งหลับตาภาวนาอย่างเดียว การภาวนานั้นตลอดเวลา การยืน การเดิน การนั่ง การนอน ให้มีสติประคับประคองเสมอเลยทีเดียว เวลาเรามีไม่มาก เรามาฝึกจิตก็ต้องดูจิต ดูอาการของจิต มองดูจิตให้เห็นจิต ของเรา อย่าไปยึดมั่นถือมั่น ถ้าถือมั่นก็จะเห็นสุขทุกข์เป็นของจริง เป็นเรา เป็น ของเรา มันคิดเช่นนี้ แต่ความเป็นจริง สุขก็สักแต่ว่าสุข ไม่ใช่เราไม่ใช่เขาไม่ใช่สัตว์ บุคคลตัวตนเราเขา ทุกข์นี้ก็ไม่ใช่เราไม่ใช่เขา ตัวคนที่รู้ทุกข์หรือสุขนี้ ก็ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ถ้าเห็นเช่นนี้ก็ไม่มีอะไรจะเกาะ เกิดสุขหรือทุกข์ขึ้นมา ก็เกาะเราไม่ได้ ทำไมไม่ได้เพราะว่า มันไม่แน่ เป็นของปลอมทั้งนั้น เป็นของไม่แน่นอน ถ้าคิดได้ เช่นนี้แล้วจะภาวนาได้เร็ว

พระพุทธเจ้าของเรา ได้แยกสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ออกมา จนจิตท่านเห็นสิ่งทั้ง หลายทั้งปวงเหล่านี้เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เห็นจริงๆ ชัดๆ ไม่ใช่ สัญญา (ความจำ) สังขารร่างกายมันจะเป็นไปอย่างไร ก็ให้มันเป็นไปตามเรื่อง ของมัน ท่านเห็นเช่นนี้ การกำหนดพิจารณา เรียกว่า ภาวนากรรมฐาน เพื่อให้มันเห็น ขนาดนั้นมันยังไม่ค่อยจะเห็น อันใดไม่สวยก็เห็นว่ามันสวย อันใดมันไม่เป็น แก่นสาร มันก็เห็นว่าเป็นแก่นสาร นี่จิตมันไม่ยอม มันจึงไม่เห็น พระพุทธเจ้าท่าน จึงสอนส่วนจิต ให้จิตเป็นคนเห็น ถ้าจิตมันเห็นแล้ว จิตมันรู้ของมันแล้ว ไม่ต้อง เป็นห่วง เรียกว่า ภาวนาเป็น ไม่ต้องเอาทีละมากๆ หรอก เอาน้อยๆ แต่เอาทุกวัน นั่งสมาธิทุกวัน แล้วเดิน จงกรมทุกวัน มันจะมากหรือน้อย เราก็ต้องทำทุกวัน แล้วก็เป็นคนที่พูดน้อย แล้ว ก็ดูจิตของตัวเองตลอดเวลา เมื่อดูจิตของตนเองอะไรมันจะเกิดขึ้นมา แล้วมันจะ สุขหรือว่ามันจะทุกข์อะไรเหล่านี้ ก็บอกปฏิเสธมัน เสียว่า เป็นของไม่แน่นอนเป็น ของหลอกลวงทั้งนั้น ผู้ที่เรียนศึกษามามากๆ นั้น่ะ มันเป็นด้วยสัญญา ไม่ใช่ปัญญา สัญญาเป็น ความจำ ปัญญาเป็นความรู้เท่าทัน มันไม่เหมือนกันมันต่างกัน บางคนจำสัญญา เป็นปัญญา ถ้าเป็นปัญญาแล้ว ไม่มีสุขกับใคร ไม่มีทุกข์กับใคร ไม่เดือดร้อนกับใคร ไม่เป็นทุกข์เป็นร้อนกับจิตที่มันสงบหรือไม่สงบ ถ้าเป็นสัญญาไม่ใช่อย่างนั้นนะ มัน จะเกิดความยึดมั่นถือมั่นเป็นทุกข์เป็นร้อน ไปตามอารมณ์ทั้งหลายเหล่านั้น

 
  ความคิดเห็นที่ 40  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 ก.ค. 2549

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 74

เมณฑลเศรษฐีให้นางวิสาขาไปรับพระศาสดา ในท่านเหล่านั้น เมณฑกเศรษฐีนี้ ได้ทราบความที่พระทศพลเสด็จถึงนครของตน จึงให้เรียกเด็กหญิงวิสาขาลูกสาวธนญชัยเศรษฐีผู้บุตรมา บอกว่า "แม่หนู เป็นมงคล ทั้งแก่เจ้า, ทั้งแก่เรา; แม่หนูกับพวกเด็กหญิงบริวารของเจ้า ๕๐๐ จงขึ้นรถ ๕๐๐ คัน แวดล้อมด้วยทาสี ๕๐๐ คน (ไป) ทำการต้อนรับพระทศพล." นางรับว่า "ดีละ"แล้วได้ทำอย่างนั้น. แต่เพราะความที่นางเป็นเด็กฉลาดในเหตุอันควรและไม่ควร นางจึงไปด้วยยาน เท่าที่ยาน (ไปได้) ลงจากยานแล้ว ก็เดินเท้าไปเฝ้าพระศาสดา ถวายบังคมแล้ว ได้ยืน ณ ส่วนข้างหนึ่ง. ครั้งนั้นพระศาสดาทรงแสดงธรรม ด้วยสามารถแห่งบุรพจรรยาของนาง. นางได้โสดาปัตติผลแต่อายุ ๗ ขวบ ในเวลาจบเทศนา นางพร้อมด้วยเด็กหญิง ๕๐๐ ตั้งอยู่ในโสดา-ปัตติผลแล้ว. ฝ่ายเมณฑกเศรษฐีแล เข้าเฝ้าพระศาสดา ฟังธรรมกถาตั้งอยู่ในโสดาปัตติผลแล้ว จึงนิมนต์เพื่อเสวยอาหารเช้าในวันรุ่งขึ้นอังคาสภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ด้วยขาทนียะโภชนียะอันประณีตที่เรือนของตน ได้ถวายมหาทานโดยอุบายนี้แล ตลอดกึ่งเดือน.พระศาสดา ประทับอยู่ในภัททิยนคร ตามความพอพระหฤทัยแล้ว ก็เสด็จหลีกไป.

 
  ความคิดเห็นที่ 41  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 ก.ค. 2549

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 81

๕ ทัพพเถรคาถา ฯลฯ

ก็ในวันที่ทารกนั้น มีอายุได้ ๗ ขวบ พระบรมศาสดามีภิกษุสงฆ์เป็นบริวารเสด็จจาริกไปในแคว้นมัลละ ประทับอยู่ในอนุปิยัมพวัน. ทัพพกุมารเห็นพระศาสดาแล้ว เลื่อมใสด้วยการเห็นเท่านั้น ประสงค์จะบวชบอกลายายว่า ข้าพเจ้าจักบวชในสำนักของพระทศพล. ยายพูดว่า ดีแล้ว พ่อคุณ แล้วพาทัพพกุมารไปยังสำนักของพระบรมศาสดา กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์จงทรงยังกุมารนี้ให้บรรพชาเถิด. พระศาสดาทรงให้สัญญาแก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งว่า ดูก่อนภิกษุ เธอจงยังทารกนี้ให้บรรพชา พระเถระนั้นฟังคำของพระศาสดาแล้ว เมื่อจะยังทัพพกุมารให้บรรพชาบอกตจปัญจกัมมัฏฐานแล้ว. สัตว์ผู้สมบูรณ์ด้วยบุรพเหตุ มีอภินิหารอันกระทำแล้ว ดำรงอยู่แล้วในโสดาปัตติผล ในขณะปลงเกลียวผมครั้งแรก เมื่อเกลียวผมที่สองถูกยกขึ้นก็ดำรงอยู่ในสกทาคามิผล เมื่อเกลียวผมที่สามถูกยกขึ้น ก็ดำรงอยู่ในอนาคามิ-ผล ก็เวลาที่ปลงผมเสร็จ และการทำให้แจ้งซึ่งพระอรหัตผลได้มีในเวลาไม่ก่อนไม่หลังกัน. พระบรมศาสดา เสด็จประทับสำราญพระอิริยาบถ ในแคว้นมัลละแล้ว เสด็จไปยังกรุงราชคฤห์ ประทับอยู่ในเวฬุวันมหาวิหาร.

 
  ความคิดเห็นที่ 42  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 ก.ค. 2549

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๓ - หน้าที่ 419

๑ สังกิจจเถรคาถา

ฯลฯ ในเวลาเธอมีอายุ ๗ ขวบ ได้ยินเรื่องที่ตนอยู่ในครรภ์ และการตายของมารดา ก็เกิดความสลดใจจึงกล่าวว่า ฉันจักบวช. พวกญาติกล่าวว่า ดีละพ่อ ดังนี้แล้วนำไปยังสำนักของพระธรรมเสนาบดี ได้มอบให้ด้วยคำว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ โปรดให้เด็กนี้บวชเถิด. พระเถระได้ให้ตจปัญจกกรรมฐานแล้วให้เธอบวช. เธอบรรลุพระอรหัตพร้อมด้วย ปฏิสัมภิทาในขณะปลงผมนั้นเอง

 
  ความคิดเห็นที่ 43  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 ก.ค. 2549

ข้อความบางส่วนจากความคิดเห็นที่ 39

"ขอโทษนะคะ บ้านธรรมะตอบไม่ตรงคำถามค่ะ ที่ดิฉันถามว่าในพระไตรปิฏกหรือ ในพระธรรมทั้งหลายมีบอกบ้างไหมคะว่า เด็กๆ ก็สามารถปฏิบัติธรรมได้และ ผลออก มาเป็นอย่างไรบ้าง ดิฉันถามเพราะอยากรู้เกี่ยวกับพระธรรมคำสอนของ พระพุทธเจ้า ที่ท่านทรงสอนใว้เกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมค่ะว่า เป็นอย่างไรบ้าง กรุณาช่วยชี้แจง เพื่อจะได้เกิดประโยชน์แก่ดิฉันและคนที่กำลังศึกษาพระธรรมค่ะ ขอบคุณค่ะ "

จากพระไตรปิฎกจะพบว่าผู้ที่สะสมปัญญามาในอดีตนับชาติไม่ถ้วน เมื่อได้ฟังพระ ธรรมก็บรรลุธรรมได้แม้ขณะที่อายุเพียง ๗ ขวบ ท่านเหล่านี้ไม่ได้ไปทำอะไรแต่บรรลุ ด้วยปัญญา ที่ท่านสะสมมาและจากการฟังธรรมในชาตินี้ ตัวอย่าง เช่น

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 74

นางวิสาขาบรรลุโสดาปัตติผลเมื่ออายุ ๗ ขวบ

ในเวลาจบเทศนา ด.ญ.วิสาขาพร้อมด้วยเด็กหญิง ๕๐๐ ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผลแล้ว.

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 81

ทัพพเถรทำให้แจ้งซึ่งพระอรหัตผล

ก็ในวันที่มีอายุได้ ๗ ขวบ ดำรงอยู่แล้วในโสดาปัตติผลในขณะปลงเกลียวผมครั้งแรก เมื่อเกลียวผมที่สองถูกยกขึ้นก็ดำรงอยู่ในสกทาคามิผล เมื่อเกลียวผมที่สามถูกยกขึ้นก็ ดำรงอยู่ในอนาคามิผล ก็เวลาที่ปลงผมเสร็จและการทำให้แจ้งซึ่งพระอรหัตผลได้มีใน เวลาไม่ก่อน ไม่หลังกัน.

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๓ - หน้าที่ 419

สังกิจจเถรบรรลุพระอรหัต

ในเวลาเธอมีอายุ ๗ ขวบ เธอบรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาในขณะปลงผมนั้นเอง ท่านสามารถอ่านรายละเอียดได้จากพระสูตรที่นำมาแสดงข้างต้น หรือ จาก link พระไตรปิฎกที่ทำไว้ให้แล้วนะครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 44  
 
saowanee.n
วันที่ 26 ก.ค. 2549

ตอบความคิดเห็นที่ 39

" ถ้าคุณไม่มีความอยากคุณจะปฏิบัติธรรมได้มั้ย ... ก็ความอยากนี่แหละที่นำมาสู่ การปฏิบัติ " สำหรับผู้ที่มีความเข้าใจในพระธรรม จะไม่ปฏิบัติธรรมด้วยความอยาก แต่เพราะเห็นโทษของอกุศลจึงเจริญกุศล ขณะนั้นมีความพอใจ คือฉันทะไม่ใช่โลภะ เพราะโลภะ (ความอยาก) จะเกิดกับกุศลจิตไม่ได้

"เพราะความที่ยังมีตัวตนอยู่นี่แหละ จึงต้องอาศัยตัวตนนี้ ในการเจริญภาวนา วิปัสสนากรรมฐาน และที่ว่าไม่มีใครกำหนดการปฏิบัติได้ (ถ้าหมายถึงผลของการ ปฏิบัติ ถูกต้องค่ะ เพราะไม่มีใครสามารถจะกำหนดผลของการปฏิบัติได้ แต่ในการ ปฏิบัติก็ต้องอาศัยจิตหรือตัวผู้รู้นี่แหละเป็นตัวกำหนด) " สภาพธรรมทั้งหลายเป็น อนัตตานะคะ เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยและไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ถ้ายังมีความเป็นตัวตนอยู่ วิปัสสนาญาณขั้นที่ ๑ ก็ไม่ผ่านแล้ว เพราะวิปัสสนา ญาณขั้นที่ ๑ (นามรูปปริเฉทญาณ) นั้น เป็นการประจักษ์ลักษณะของรูปธรรมและ นามธรรมโดยแยกขาดจากกัน

ขอบพระคุณค่ะสำหรับข้อธรรมของพระอาจารย์ ขอเรียนถามว่าพระอาจารย์ ของพระอาจารย์ท่านนี้คือใคร ถ้าไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

 
  ความคิดเห็นที่ 45  
 
tanya
วันที่ 26 ก.ค. 2549

"คุณtanya คะข้อความที่คุณบอกว่า การอบรมภาวนา ไม่ใช่เรื่องที่จะไปหากรรมวิธีมาจัดการได้ด้วยความอยาก หรือความมีตัวตนต้องการ การอบรมต้องไปในทางละคลาย ไม่มีใครไปกำหนดการปฏิบัติได้ คุณลองทวนคำพูดของคุณ และคิดดูใหม่ซิคะว่า เป็นความเห็นที่เป็นมิจฉาทิฏฐิหรือเปล่า เพราะมันขัดแย้งกับความเป็นจริงค่ะคุณลองถามตัวเองดูซิคะว่า ถ้าคุณไม่มีความอยากคุณจะปฏิบัติธรรมได้มั้ย เพราะการฟังพระธรรมไม่ใช่เหรอที่ทำให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องและนำมาสู่การปฏิบัติ ก็ความอยากนี่แหละที่นำมาสู่การปฏิบัติ" ... อือมม ความเห็นแบบที่คุณ luck กล่าวมาอย่างข้างต้นนี่ มีคนนำมาสนทนาบ่อยๆ แรกๆ ก็คิดอย่างนี้กัน เป็นเพราะไม่เข้าใจปริยัตินั่นแหละ จึงคิดอย่างนี้พอศึกษาเข้าใจแล้วก็เปลี่ยนไปเข้าใจถูกได้

เอาง่ายๆ แค่นี้ว่า ถ้าเราเจริญภาวนาไปด้วยความอยาก มันจะเป็นกุศลไปได้ยังไงก็ความอยากมันเป็นโลภะ ที่เป็นความติดข้องต้องการ ยิ่งอยากมาก มันก็ยิ่งบาปมาก ไม่ว่าจะอยากอะไร มันก็ไม่เว้นหรอก ต่อให้อยากไปนิพพานด้วย จิตตอนนั้นแหละกำลังถูกกิเลสรุมเร้าอยู่โดยไม่รู้ตัว

การปฎิบัติธรรมเป็นไปได้โดยต้องไม่มีความอยาก แต่เป็นไปได้ด้วยองค์ประกอบของ " โสภณเจตสิก " เช่น สติ ศรัทธา หิริ โอตตัปปะ อโลภะ อโทสะ และมี ฉันทะ ปีติวิริยะ เกิดร่วมด้วย ไม่เห็นต้องอยากนี่นา เรื่องการเป็นมิจฉาทิฏฐิหรือเปล่านี่ ยังยืนยันไม่ได้หรอก ว่าใครเป็น ใครไม่เป็น พยากรณ์ไม่ได้หรอก ตราบใดที่ยังไม่ใช่พระอริยะบุคคล แต่ในสมัยพุทธกาล พวกที่ว่าคนอื่นเป็นมิจฉาทิฏฐิ ทั้งๆ ที่ตัวเองเป็นเดียรถีย์นั้น เป็นพวกที่มีความเห็นแบบที่เรียกว่า "อิทังสัจจาภินิเวสกายคันถะ" พวกนี้แหละท่านแสดงว่าเป็นพวกมิจฉาทิฎฐิอย่างแน่นอน แล้วพวกนี้ไม่เป็นแต่ตัวคนเดียวนะ ตั้งเป็นลัทธิ เป็นสำนัก คิดค้นวิธีต่างๆ มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย เชื่อถือกันอย่าไม่ลืมหูลืมตา อวดอ้างสรรพคุณตัวเองว่ามีความรู้มาก ต้องเอาแผ่นเหล็กมาคาดพุงเอาไว้เพราะกลัวท้องจะแตกเพราะมีความรู้มากเกิน จนกระทั่งมาพบพระบรมศาสดา จึงยอมแพ้ ละคลายความเห็นผิดลง

 
  ความคิดเห็นที่ 46  
 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่ 27 ก.ค. 2549

การศึกษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ ตามแนวทางของท่านอาจารย์เป็นการศึกษาในลักษณะองค์รวม คือ ศึกษาจากพระไตรปิฎก (พระวินัย, พระสูตร, พระอภิ-ธรรม) ไม่ใช่การศึกษาแบบตาบอดคลำช้าง อย่างที่พระพุทธองค์ทรงเปรียบเทียบในพระสูตร และมิใช่เป็นเพียงการศึกษาเพื่อความทรงจำแต่เป็นการศึกษาเพื่อความเข้าใจ เข้าใจอะไร? ก็เข้าใจว่าพระพุทธองค์สอนอะไร อย่างไร โดยการเชื่อมโยงเทียบเคียงสอบทานพยัญชนะทั้งหลายในพระไตรปิฎก ให้ถูกต้องตรงกันตามพระพุทธประสงค์จริงๆ ในการแสดงพระธรรมของพระองค์ เมื่อเข้าใจแน่แล้วว่าพระองค์สอนอะไร ก็มาศึกษา ทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ แล้วใครศึกษา ใครเข้าใจ ก็ธรรมะเท่านั้นที่ศึกษา ธรรมะนั้นแหละที่เข้าใจ ปัญญานั้นแหละคมกล้าขึ้นเอง หามีผู้ใดไปกระทำไม่ ดังเช่นที่ท่านอาจารย์พูดย้ำอยู่เสมอๆ ว่า ผู้ที่เป็นสาวก (คือผู้ฟัง) ของพระพุทธองค์ ต้องเป็นผู้ตรงจริงๆ เราศึกษาเพื่อเจริญปัญญา มิได้ศึกษาเพื่อไปทำนา ทำสวน จึงจะไปปฏิบัติอะไร? (นี่ผมพูดเอง) การรู้หนทางที่ถูกเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับชีวิตนี้ที่ได้เกิดมา

อย่างไรก็ตามพึงระลึกไว้เสมอว่า การสั่งสมในปัญญามีมาต่างๆ กัน กุศลและอกุศลมีการสั่งสมมาต่างๆ กัน ผู้รู้ย่อมไม่สงสัยเลย ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 48  
 
luck
วันที่ 3 ส.ค. 2549
สวัสดีค่ะคุณ saowanee.n และคุณ tanya

ดิฉันอยากให้คุณลองทาวคำพูดของดิฉันใหม่นะคะว่าคุณเข้าใจกันผิดหรือเปล่าที่ว่าความอยากที่ดิฉันพูดถึงนี้ หมายถึง ความอยากที่นำมาสู่การปฏิบัติธรรมนะคะ ไม่ได้หมายความว่าปฏิบัติธรรมไปด้วยความอยาก หรือการเจริญภาวนาไปด้วยความอยากดังที่คุณ tanya ว่า กรุณาอ่านทวนใหม่นะคะเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง
 
  ความคิดเห็นที่ 49  
 
luck
วันที่ 3 ส.ค. 2549

ดิฉันต้องขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ทางบ้านธัมมะทุกท่านนะคะ ที่ช่วยทำให้ดิฉันเข้าใจในพระธรรมมากยิ่งขึ้น

ขออนุโมทนาบุญนี้ด้วยค่ะ ขอบคุณมากค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 50  
 
saowanee.n
วันที่ 3 ส.ค. 2549

สวัสดีค่ะคุณ luck

ถ้ามีความเข้าใจผิดไป เกี่ยวกับพยัญชนะ ก็ต้องกราบขออภัยด้วยคะ แต่สำหรับ เรื่องปฏิบัติแล้ว ไม่เข้าใจผิดแน่นอนค่ะ เพราะไม่เคยคิดที่จะปฏิบัติธรรมด้วยความเป็นตัวตน มีเราที่จะปฏิบัติ มีเราที่จะนั่ง นอน ยืน เดิน มีเราที่จะบรรลุ แต่ดิฉันมีเพียงพระรัตนตรัยเท่านั้นที่เป็นสรณะ และเชื่อมั่นในการตรัสรู้ว่า "ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา"

 
  ความคิดเห็นที่ 51  
 
sms
วันที่ 3 ส.ค. 2549

ผู้ที่ศึกษาธรรมต้องมีความอดทน

ไม่มีบุคคลผู้ใดที่จะสามารถรู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ โดยไม่มีการฟังพระธรรม การศึกษาพระธรรม การฟังพระธรรมจะทำให้เรามีความเข้าใจในสภาพธรรมตามความเป็นจริงมากขึ้น จากการเป็นผู้ที่ไม่เคยรู้ก็จะค่อยๆ รู้ขึ้น ฉะนั้น ผู้ที่ศึกษาธรรมต้องมีความอดทนในการที่จะศึกษา ในการที่จะฟัง พิจารณาไตร่ตรองความลึกซึ้งของพระธรรม

ธรรมทัศนะ วันที่ : 10-06-2549

 
  ความคิดเห็นที่ 52  
 
saowanee.n
วันที่ 4 ส.ค. 2549

ข้อความบางส่วนจาก คำบรรยายของท่านอาจารย์ ครั้งที่ ๒๐๔๕ ค่ะ

ในวันหนึ่งๆ ผู้ที่ฟังพระธรรม เห็นคุณประโยชน์และเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานเป็นผู้ที่ตรงต่อตัวเอง ก็จะรู้ได้ว่า วันหนึ่งๆ กุศลจิตเกิดยากกว่าอกุศล แล้วเวลาที่กุศลจิตเกิด ก็จะเกิดเพียงชั่วขณะเล็กๆ น้อยๆ สั้นมาก แทรกสลับกับอกุศลซึ่งมีมากทีเดียวไม่ว่าจะเป็นไปในเรื่องของทานก็ดี หรือศีลก็ดี หรือคิดนึกก็ดี จะเห็นได้ว่าส่วนที่เป็นกุศลเล็กน้อย เกิดแทรกกับขณะที่เป็นอกุศลที่มีมาก คิดถึงเรื่องอะไรคะวันหนึ่งๆ จะเห็นสิ่งใด คิดถึงสิ่งนั้น ถ้าไม่สังเกตจะไม่รู้เลยค่ะว่า เป็นอกุศลตามตาที่เห็น ได้ยินเสียงอะไร ถ้าไม่สังเกตก็ไม่รู้อีกว่า เป็นอกุศลคล้อยตามเสียงที่ได้ยินนั้นแล้ว ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ยากเหลือเกินนะคะ ที่ใครสามารถจะฟันฝ่าคลื่นของอกุศลธรรมได้บ่อยๆ เนืองๆ ในวันหนึ่ง แ ต่สำหรับผู้ที่สะสมกุศลแม้เพียงเล็กๆ น้อยๆ แต่สะสมไปเรื่อยๆ จนกระทั่งมีกำลัง วันหนึ่งก็ย่อมสามารถที่จะประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ ซึ่งจะต้องศึกษาเรื่องของธรรมโดยละเอียด ทั้งที่เป็นอกุศลและทั้งที่เป็นกุศล ซึ่ งท่านผู้ฟังจะศึกษาต่อไปเองได้จากพระไตรปิฎกและอรรถกถา

โดย : kanchana.c วันที่ : 07-07-2549

 
  ความคิดเห็นที่ 53  
 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่ 6 ส.ค. 2549

อ่านความเห็นของท่านมาทั้งหมดแล้ว ขอยืนยันให้ฟังก่อน อ่านก่อน ศึกษาก่อนเถอะครับ อย่าเพิ่งรีบไปปฏิบัติเลย ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 54  
 
luck
วันที่ 7 ส.ค. 2549
ขอบคุณทุกท่านค่ะธรรมะไม่ได้มีด้านเดียวนะคะ แล้วแต่กุศลกรรมของแต่ละคนแล้วกันนะคะ ว่าต้องการจะทำอะไร แค่ไหน อย่างไร ดิฉันเพียงต้องการไม่อยากให้คุณมองข้ามหรือลืมธรรมะอีกด้านหนึ่ง เมื่อดิฉันได้บอกแล้ว คุณจะรับรู้ได้แค่ไหนก็สุดแล้วแต่ความปรารถนาเถิดค่ะ แต่คุณอาจมานั่งเสียดายเวลาเมื่อคุณคิดย้อนหลังได้ว่า กว่าจะรู้จริงก็ต้องเสียเวลาไปมากกว่าจะมาเริ่มเรียนปฏิบัติ
 
  ความคิดเห็นที่ 55  
 
kchat
วันที่ 8 ส.ค. 2549

ขออนุโมทนาในจิตอันเป็นกุศลของแต่ละท่าน ...

ที่พยายามช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันในทางธรรม

ขอนำขัอคิดทางธรรมมาให้ท่านได้พิจารณาอีกครั้ง การพิจารณาบ่อยๆ เนืองๆ น่าจะช่วยเกื้อกูลให้เกิดความเข้าใจยิ่งๆ ขึ้นนะครับ ผู้ที่เคยมีความเห็นคลาดเคลื่อนจากพระธรรมวินัย อาจเกิดความเห็นถูกเข้าใจถูกขึ้นบ้าง แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่ที่การสะสมของแต่ละท่าน ควรเริ่มสะสมความเห็นถูกตั้งแต่บัดนี้นะครับ อนุโมทนา

ผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิทำให้คนเป็นอันมากออกจากสัทธรรม บุคคลคนเดียว เมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล ไม่เป็นความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เป็นไปเพื่อความพินาศ เพื่อความทุกข์แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย บุคคลคนเดียวคือใคร? คือ บุคคลผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิ มีความเห็นวิปริต เขาทำให้คนเป็นอันมากออกจากสัทธรรม แล้วให้ตั้งอยู่ในอสัทธรรม

แสดงให้เห็นว่า ไม่ใช่แต่ตนเพียงคนเดียว แต่ยังเผยแพร่ไปยังบุคคลเป็นจำนวนมากด้วย

ธรรมทัศนะ วันที่ : 28-07-2549

ว่าด้วยเรื่อง การจับด้ามมีด

รอยนิ้วมือย่อมปรากฏ หรือรอยนิ้วหัวแม่มือย่อมปรากฏที่ด้ามมีดของนายช่างไม้ หรือ ลูกน้องของนายช่างไม้ แต่นายช่างไม้ หรือ ลูกมือของนายช่างไม้นั้น หารู้ไม่ว่า วันนี้ด้ามมีดของเราสึกไปประมาณเท่านี้ วันนี้สึกไปประมาณเท่านี้ ... นายช่างไม้ หรือ ลูกมือนายช่างไม้นั้น รู้แต่ว่า สึกไปแล้ว สึกไปแล้วโดยแท้แล แม้ฉันใด.. ความเห็นผิดว่า เป็นตัวตน ลดลงทุกขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของนาม และ รูป แต่เราไม่รู้ว่าละคลายลงวันละเท่าใด

โดยสมาชิก : pannipa.v

ธรรมทัศนะ วันที่ : 06-08-2549

ผู้เคารพธรรม ย่อมประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม

ผู้เคารพธรรม ย่อมประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม ผู้ไม่ประพฤติสมควรแก่ธรรม ย่อมเข้าใจผิด เมื่อเห็นผิด ย่อมปฏิบัติผิด (สีลัพพตปรมาสะ) ชื่อว่าไม่สมควร คือ ธรรมะมีปรากฏอยู่ ก็ไม่รู้จักว่าเป็นธรรมะ การเข้าใจสิ่งหนึ่งเป็นอื่นไป เช่น เข้าใจว่าให้เอกัคคตา (สมาธิ) เกิดกับจิตที่มีอาการไม่รับรู้สภาวธรรมใดๆ ว่าเป็นการปฏิบัติ แล้วตัวตนก็จะยกจิตอีก เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ทั้งประพฤติไม่สมควร และผิดธรรม (อื่นจากธรรม) จากผิดไม่มั่นคง ก็ผิดมั่นคงในที่สุด

ธรรมทัศนะ วันที่ : 01-07-2549

 
  ความคิดเห็นที่ 56  
 
saowanee.n
วันที่ 8 ส.ค. 2549

ตอบความคิดเห็นที่ 54

สวัสดีค่ะคุณ luck,

โลกในวินัยของพระอริยเจ้ามีเพียง ๖ โลกเท่านั้นนะคะ คือ โลกทางตา, โลกทางหู, โลกทางจมูก, โลกทางลิ้น, โลกทางกายและโลกทางใจ การศึกษาพระธรรมก็เพื่อให้เข้าใจโลกทั้ง ๖ นี้ตรงตามความเป็นจริง ซึ่งก็ครอบคลุมหมดทุกอย่างแล้ว หรือคุณ luckคิดว่ายังมีโลกอื่นอีกที่นอกเหนือไปจากนี้ค่ะ? เพราะฉะนั้นความเข้าใจจากการศึกษาพระธรรม จึงไม่ใช่การรู้เพียงด้านเดียวตามที่คุณเข้าใจแน่นอนค่ะ

ส่วนคำว่า "เสียดาย" นั้นคงไม่มีนะคะสำหรับผู้ที่เข้าใจธรรม เพราะทุกอย่างเป็นไปเพื่อการ "ละ" ทั้งสิ้น ขณะนี้พระธรรมวินัยยังมีอยู่ครบทั้ง ๓ ปิฎก เราควรศึกษาพระธรรมนะคะ ส่วนการเจริญสมถภาวนานั้น เรายังมีโอกาสได้ฝึกอบรมอีกเยอะค่ะในยุคที่ไม่มีการอุบัติ

ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะคงอีกนานมากเลยนะคะ ... กว่าที่เราจะออกจากสังสารวัฏฏ์ได้

 
  ความคิดเห็นที่ 57  
 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่ 8 ส.ค. 2549

ธรรมปฏิบัติกิจของธรรมเอง หามีผู้ใด ไป ปฏิบัติไม่... หากยังมีตัวตนที่จะ ไป แล้วเมื่อไหร่จะพ้น ขอขอบพระคุณในความปรารถนาดีของท่าน แต่กระผมยังหาตัวผู้จะ ไป ยังไม่ได้เลยครับ ยินดีที่ได้แลกเปลี่ยนความเห็นกันครับ ทุกอย่างเป็นประโยชน์มากครับ รู้ได้ว่าปัญญาเพิ่มขึ้นจริงๆ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 58  
 
tanya
วันที่ 8 ส.ค. 2549

ต้องขอชื่นชมในการแสดงความคิดเห็นของทุกท่าน ที่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของพระศาสนา และทรงความรู้จริงๆ ต้องยอมรับว่าในยุคนี้ จะหาผู้ที่ศึกษาได้ตรงทางและเข้าใจอย่างมั่นคงนั้นยากมากๆ เจอเยอะเลย พวกที่ไปนอนวัดสองสามวันฟังเรื่องราวมาเผินๆ แล้วก็จะปฏิบัติธรรมจนเป็นพระโสดาบันในชาตินี้ พอไปถามว่าโสดาบันนั้นคืออะไรกันแน่ ก็จะเถียงว่าจะรู้ไปทำไมเสียเวลา ปฏิบัติเลยดีกว่า นั่งสมาธิเดี๋ยวปัญญาก็เกิด พูดยังกับว่าจะมีเทวดาแปลงร่างมามอบปัญญาให้ด้วยความเห็นใจอย่างนั้นแหละ ต้องระลึกถึงไปอีกนาน สำหรับท่านบ้านธัมมะ ท่านลักษณ์ ท่านนามะรูปะ ท่านเสาวณีย์ ท่านวันชัย ท่านวิรัตน์ ท่านเอ็สเอ็มเอ็ส ท่านเคฉัตร ท่านประกายมุกท่านอีเมล์ ท่านกาญจนา ท่านฉัตรชัย รวมทั้งท่าน tanya เอง ที่ทำให้หัวข้อนี้ติดอันดับการเข้าชมสูงลิ่ว และมีการเอาไปอ้างถึงหลายครั้ง เชิญเข้ามาได้อีกเชื่อว่าบ้านธัมมะยังมีเนื้อที่ให้ได้อีกเยอะ

 
  ความคิดเห็นที่ 59  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 ส.ค. 2549

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ 307

ดูก่อนอานนท์

พระตถาคตจะชื่อว่า อันบริษัทสักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อมด้วยเครื่องสักการะประมาณเท่านี้หามิได้ ผู้ใดแลจะเป็นภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก หรืออุบาสิกา ก็ตาม เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ประพฤติตามธรรมอยู่ ผู้นั้นย่อมชื่อว่าสักการะเคารพ นับถือ บูชา ด้วยการบูชาอย่างยิ่ง เพราะเหตุนั้นแหละ อานนท์ พวกเธอพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักเป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ประพฤติตามธรรมอยู่.

 
  ความคิดเห็นที่ 60  
 
suntarara
วันที่ 4 มิ.ย. 2550

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 61  
 
chatchai.k
วันที่ 27 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ